Group Blog
 
All blogs
 
คนอันธพาล



สวัสดีทุกท่านครับ

คนอันธพาล หลักฐานทางศาสนาแสดงว่า คนประเภทนี้มีมาในโลกนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนตั้งศาสนาไหน ๆ ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเสด็จจาริกประกาศศาสนา ก็ได้ทรงสนพระทัยกับเรื่องคนพาลนี้อยู่เป็นอันมาก จะสังเกตได้จากพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงคนพาล มีมากจนพระอรรถกถาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย ต้องจัดไว้เป็นวรรคหนึ่งต่างหากจากเรื่องอื่น เรียกว่าพาลวรรค เท่าที่สังเกตดูความที่ตรัสถึงคนพาลนั้น ส่อให้เห็นน้ำพระทัยของพระพุทธองค์ใน ๓ ทาง คือ

๑. ทรงหวังดีต่อคนพาลที่จะช่วยให้กลับตัวเป็นคนดี
๒. ทรงเป็นห่วงคนดี ๆ จะถูกคนพาลรังแก
๓. ทรงเป็นห่วงคนที่ยังไม่เป็นพาลจะกลายเป็นคนพาล

ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนทุกฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายคนพาลทั้งฝ่ายคนที่ไม่ใช่พาล

การไม่คบคนพาล เป็นมงคลชีวิตข้อหนึ่ง วันนี้เป็นวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม นำปาฐกถาธรรมเรื่องคนอันธพาล มาฝากครับ

คนอย่างไรเรียกว่า “อันธพาล !” ตอบได้ยากเพราะศัพท์ทางศาสนาที่พบเห็นส่วนมาก มีแต่คำว่าพาละ หรือพาล มีบางแห่งใช้คำว่า “อติพาล” เห็นจะแปลว่ายอดพาล คำว่า อันธพาลหาพบในอรรถกถาธรรมบท เป็นคำของคนโรคเรื้อนด่าพระอินทร์ความในเรื่องนั้นว่า มีคนฐานะยากจนคนหนึ่ง แกเป็นโรคเรื้อนกุฏฐัง ต่อมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระอินทร์เกิดอยากจะลองใจดูว่า คนจน ๆ อย่างนั้นจะเห็นเงินดีกว่าพระ (ศาสนา) หรือเห็นพระดีกว่าเงิน จึงได้ไปบอกให้สินบนแก่ชายผู้นั้นว่า ให้เลิกนับถือพระเสียแล้วจะได้เงินทองเท่านั้นเท่านี้ พอว่าเท่านั้นก็ถูกนายคนนั้นตอกหน้าเอาว่า “อันธพาโลสิ !” แปลว่า “อ้ายคนอันธพาล”

ลักษณะปัญญาที่ทำให้คนพ้นจากความเป็นพาลนั้นคือปัญญาเครื่องรู้จักตน ปัญญาชนิดนี้มีแล้วดูตัวออกตัวทำผิดก็รู้ว่าผิด ตัวทำถูกก็รู้ว่าถูก ใครมีความรู้ชนิดนี้อยู่ เรียกว่ามีปัญญาเครื่องรู้ตัว ไม่เป็นพาล แต่ถ้าปัญญาที่ว่านี้ดับลงเมื่อไรเราก็เป็นพาลขอให้สังเกตดูว่า คนพาลนั้นจะขาดความรู้อยู่อย่างหนึ่งคือความรู้จักตัวเอง ตัวผิดก็ไม่รู้ว่าผิด ปะเหมาะยังคิดว่าตัวถูกเสียด้วยซ้ำ เหตุใดปัญญาที่ว่านี้จึงดับลง ? เป็นปัญหาที่ตอบง่าย เพราะปัญญาของคนเรานี้มีสิ่งที่เป็นข้าศึกกันอยู่อย่างหนึ่งคือ กิเลส ในใจของใครยังมีกิเลส ปัญญาของผู้นั้นก็ย่อมมีโอกาสที่จะดับได้ เพราะถ้ากิเลสกำเริบขึ้น ปัญญาก็อับแสงลง ถ้ากิเลสโหมหนักปัญญาก็ดับไป

วิธีสังเกตคนพาล คือเราจงสังเกตดูว่าเราเป็นพาลหรือไม่ และคนอื่นใครบ้างเป็นพาล ทางศาสนาท่านว่าไว้สองวิธี เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเองวิธีหนึ่ง กับอีกวิธีหนึ่งท่านเล่าถึงวิธีสังเกตของคนอื่นผมอยากจะเรียนสั้น ๆ ว่า วิธีของพระกับวิธีของชาวบ้าน

สังเกตแบบชาวบ้าน คือแบบของท่านอกิตติดาบส ท่านผู้นี้เดิมเป็นคนมั่งคั่งอยู่ในเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ต่อมาภายหลังได้ออกบวชเป็นดาบส เหตุที่ออกบวชนั้นท่านไม่บอกไว้ แต่ลองสังเกตดูจากคำสนทนาของท่านกับท้าวสักกะแล้ว จะทราบตามเรื่องนั้นว่า เมื่อท่านออกบวช แล้วได้เดินทางหนีจากเมืองพาราณสีข้ามไปอยู่อีกแคว้นหนึ่ง คือแคว้นกปีฬะ เมื่อไปทำความเพียรอยู่ที่นั้นนานพอสมควร บ้านเมืองเกิดข้าวยากหมากแพงเพราะฝนแล้ง ประชาชนขาดแคลนจนกระทั่งไม่มีใครทำบุญ ท่านดาบสต้องฉันหัวเผือกหัวมัน เมื่อเผือกมันขาดแคลนลง ก็ฉันใบไม้และเปลือกไม้ ไม่ยอมอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น ความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงเสด็จลงมาหาพระดาบส โดยมีพระประสงค์จะถวายความอุปถัมภ์ ในเรื่องเกี่ยวกับความอดอยากของท่าน แต่ครั้นพระอินทร์แจ้งเรื่องให้พระดาบสทราบ ว่าพระองค์ขอปวารณาด้วยปัจจัย เมื่อท่านพระดาบสมีประสงค์สิ่งใดก็ให้บอก พระดาบสกลับปฏิเสธว่า ท่านไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น เวลานี้เปลือกไม้ใบไม้ในป่าก็ยังมีพอฉันอยู่ พระอินทร์ทรงแปลกพระทัยอย่างยิ่ง แม้จะปวารณาซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พระดาบสบอกความประสงค์ พระดาบสก็ยืนยันอยู่อย่างเดิมว่า ท่านไม่ต้องการอะไร

แต่เมื่อถูกพระอินทร์อ้อนวอนให้บอกความประสงค์หนักเข้า พระดาบสจึงแย้มออกมาว่า
“อาหารเครื่องขบฉันใด ๆ อาตมาไม่ต้องการ ถ้าหากบพิตรจะโปรดประทานพรแล้ว อาตมามีสิ่งอื่นที่ต้องการมากกว่า”
พระอินทร์ตรัสว่า “ไม่เป็นไรพระคุณเจ้า บอกโยมมาเถอะ พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใด เภสัชสำหรับบำบัดโรครึ ? หรือขัดข้องด้วยบริขารสิ่งใด ?”
“เภสัชก็ดี บริขารอื่น ๆ ก็ดี อาตมาภาพจะได้ต้องการก็หาไม่ มหาบพิตร”
“ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใด ?”
“มหาบพิตร อาตมาภาพใคร่ขอพรเกี่ยวกับคนพาล”
“พระคุณเจ้า จะขอสิ่งใดโปรดบอกโยมได้”
“ประการแรก ขอให้อาตมภาพ อย่าได้พบเห็นคนพาลเลย
ประการที่สอง ขออย่าให้อาตมภาพได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับคนพาลด้วย
ประการที่สาม ขออย่าให้อาตมภาพได้อยู่ร่วมกับคนพาล
ประการที่สี่ ขออย่าให้อาตมภาพได้ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพาล
ประการที่ห้า ขออย่าให้จิตใจของอาตมภาพไปหลงใหลใยดีกับคนพาลเลย”

ท่านผู้ฟังพอจะทายได้แล้วใช่ไหมว่า ท่านเศรษฐีอกิตติออกบวชเพราะเหตุไร ? แน่นอน ท่านคงจะถูกคนพาลรบกวนจนเบื่อหน่ายเต็มทน นึกดูว่าท่านเองขัดสนจนต้องฉันเปลือกไม้อยู่แล้ว ยังถือว่าความตายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องหนีอันธพาลสำคัญกว่า ท่านผู้นี้ได้ให้ข้อสังเกตคนพาลไว้อย่างเหมาะเจาะ ที่ผมเรียกว่าข้อสังเกตแบบชาวบ้าน มี ๕ ข้อ คือ

๑. อนยํ นยติ คนพาลชอบชักนำในทางผิด
๒. อธุรายํ นิยุญฺชติ คนพาลธุระไม่ใช่
๓. ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ คนพาลเห็นผิดเป็นชอบ
๔. สมฺมาวุตฺโตปิ กุปฺปติ คนพาลแม้เราพูดดี ๆ ก็โกรธ
๕. วินยํ โส น ชาชาติ คนพาลไม่รับรู้วินัย…

ส่วนวิธีสังเกตแบบพระคือจากพระไตรปิฎก พาลปัณฑิตสูตรในอุปริปัณณาสกะ มีใจความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุสงฆ์ว่า ลักษณะอันเป็นเครื่องสังเกต คนพาลมี ๓ อย่าง คือ ๑. ทุจฺจินฺติตจินฺตี มีความคิดชั่ว ๒. ทุพฺภาสิตภาสี พูดจาชั่ว ๓. ทุกฺกฏกมฺมการี ชอบทำชั่ว

สรุปแล้ว จุดสังเกตคนพาลตามพระพุทธวจนะนี้มีสามจุด คือ ความคิด คำพูด และการกระทำ หรือถ้าจะชี้เข้ามาที่ตัวคนก็ ได้แก่ กาย วาจา ใจ เพียงแต่ในพระบาลีท่านเรียงใจไว้ต้น แล้วจึงเรียงวาจาและกายไปตามลำดับ

ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เรียกว่าชั่วนั้น คืออย่างไร ? พระอรรถกถาจารย์ (คือพระอาจารย์ผู้อธิบายพุทธวจนะ) ได้ขยายความไว้ชัดเจนแล้วว่า ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ ทุจริต ๑๐ (คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ เรียกว่าทุจริต ๑๐ ก็ได้ เพราะเป็นอันเดียวกัน)

ย่อจากปาฐกถาธรรมของ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ แสดง ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย พระนคร เมื่อ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

หลวงปู่เทศก์สอนว่า "อันธพาลและบัณฑิตตัวจริงนั้นไม่ใช่อยู่ที่มิตรภายนอกอย่างนั้น มันอยู่ที่ใจของเราต่างหาก มันเกิดขึ้นที่ใจของเราเอง ใครๆ ก็รู้จักใจของตนกันทุกคนว่ามันคิดชั่วก็ได้คิดดีก็ได้ เมื่อใดคิดทางชั่วทางไม่ดีแล้วเราไปสนับสนุนมันเข้าก็คือ ไปคบค้ากับ คนพาล ไม่ต้องไปคบใครที่อื่นหรอก มันมีอยู่ในตัวของเรานั่นเองถ้ามันคิดดี คิดชอบ ประกอบสุจริตแล้วเราสนับสนุน ได้ชื่อว่าเราคบ บัณฑิต การสนับสนุนเกิดขึ้นที่ตัวเรานั่นเองไม่ต้องโทษคนอื่น จะไปโทษเขาทำไม เขาก็มี บาปมิตร และ กัลยาณมิตร ของเขาอยู่แล้วเหมือนกัน ต่างคนต่างมีของตน เมื่อเรารู้แล้วว่า อันธพาล เกิดขึ้นที่ตัวของเรา บัณฑิต ก็เกิดขึ้นที่ตัวของเรา ดังนั้นเมื่อต้องการจะเป็น บัณฑิต ก็สร้างขึ้นมา สนับสนุนส่งเสริม บัณฑิต ให้เจริญขึ้นมา อย่าไปคบ พาล สนับสนุน พาล ก็แล้วกัน ถึงคนอื่นจะเป็นพาลกันทั้งโลก หากเราไม่คบพาลในตัวของเราแล้ว เราก็ไม่เป็นพาลไปได้"

บุคคลที่มีปัญญาเปลี่ยนแปลงโดยชอบย่อมดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และถึงความสิ้นกิเลสโดยลำดับครับ



Create Date : 19 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2551 9:22:04 น. 4 comments
Counter : 620 Pageviews.

 


๙๙
๙๙๙
๙๙๙๙
๙๙๙๙๙
๙๙๙๙๙๙
๙๙๙๙๙๙๙
๙๙๙๙๙๙๙๙
๙๙๙๙๙๙๙๙๙
เจิมค่ะ



โดย: หลงเข้ามา (yoja ) วันที่: 19 พฤศจิกายน 2551 เวลา:9:44:42 น.  

 
ได้อ่านธรรมดีๆขอบคุณมากมายค่ะ

พุทธองค์ทรงเมตตาต่อทุกชีวิตค่ะ

แม้แต่..เทวทัต...ซึ้งเป็นพระญาติ.....ที่จะ

พยายามทำร้าย...โดย..แอบขึ้นไปบนยอด

เขาคิชฌกูฏ ...หวังที่กลิ้งก้อนหินทับพระ
พุทธเจ้า
ก้อนหินเกิดกระทบกันแล้วแตกเป็นก้อนเล็ก

ก้อนน้อย สะเก็ดหินก้อน

หนึ่งกระเด็นปลิวมากระทบพระบาทพระ

พุทธเจ้า จนทำให้พระโลหิตห้อขึ้น

พุทธองค์ทรงเห็นแล้วว่าหากเรามิเป็นอะไร...
.
พระเทวทัตต้องอกแตกตายเป็นแน่......

พระองค์จึงยื้นพระบาท...ออกไปรับเพียงเล็ก

น้อยทำให้พระโลหิตห้อขึ้น .....

****ที่จิงพระองค์จะไม่รัยก็ได้ค่ะด้วย

ความ...

มีพระเมตตาต่อสัตว์....









โดย: หลงเข้ามา (yoja ) วันที่: 19 พฤศจิกายน 2551 เวลา:10:02:26 น.  

 
ผ่านมาอ่านบทความดีดีค่ะ


โดย: bow_relax วันที่: 19 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:06:49 น.  

 
ใช่ วันนี้ คนพาลเยอะกว่าคนไม่พาล


โดย: อัสติสะ วันที่: 3 ธันวาคม 2551 เวลา:13:32:22 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.