All Blog
ความสัมพันธุ์ระหว่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น
1 คำนำ
  1.1 ความสัมพันธ์ระหว่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ปี1935) กับประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น (ปี1898)
  1.2 ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
  1.3 การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการในกฎหมายแพ่ง 
aกฎหมายละเมิด
bกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน
cกฎหมายว่าด้วยสัญญา

2 จุดเริ่มต้นของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่น : การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีเกี่ยวกับเหมืองแร่
  2.1 คดีสารพิษจากเหมืองแร่ทองแดงอาชิโอะ
  2.2 การออกกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ : การจัดตั้งระบบชดเชยค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหมืองแร่
  2.3 พระราชบัญญัติเหมืองแร่ มาตรา 109 = ความรับผิดฐานละเมิดโดยเด็ดขาด (Strict liability) ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ 
3 หลักการสำคัญของกฎหมายสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น : การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และการร้องต่อศาลให้มีคำสั่งงดการกระทำละเมิด (Injunction) ในคดีที่เกี่ยวกับมลพิษ
3.1 “คดีสำคัญเกี่ยวกับมลพิษ 4 คดี” : ความรับผิดฐานละเมิด(ธรรมดา)ของบริษัทเอกชน
 (คำพิพากษาศาลชั้นต้น ปี1971~1973)
• การออกกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษโดยใช้หลักการว่าด้วยความรับผิดฐานละเมิดโดยเด็ดขาด (Strict liability) (ปี1972), พระราชบัญญัติชดเชยค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมลพิษ (ปี1973)
  3.2 การฟ้องร้องรูปแบบใหม่ในคดีที่เกี่ยวกับมลพิษ(1) : การร้องต่อศาลให้มีคำสั่งงดการกระทำละเมิด (Injunction)    
• คดีที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการเพื่อสาธารณะ เช่น คดีสนามบินนานาชาติโอซาก้า คดีรถไฟชินกันเซน
• คดีที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศที่กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เช่น คดีแม่น้ำนิชิโยโดะ คดีคาวาซากิ
• การร้องต่อศาลให้มีคำสั่งงดการกระทำละเมิดโดยอาศัยสิทธิส่วนบุคคล (Personal right) เช่น คดีอามาซากิ คดีนาโกย่า (ปี2000)
  3.3 การฟ้องร้องรูปแบบใหม่ในคดีที่เกี่ยวกับมลพิษ(2) : การฟ้องร้องโดยให้รัฐ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (จังหวัด อำเภอ) เป็นจำเลย
• การยื่นฟ้องโดยผู้เสียหายที่ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นโรคมินามาตะ แก้ไขข้อพิพาทด้วยการเจรจาประนีประนอม
• คดีมลภาวะในอากาศเมืองโตเกียว

4 การขยายขอบเขตของกฎหมายสิ่งแวดล้อม:การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน คำสั่งให้งดการกระทำละเมิด และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีสิ่งแวดล้อม
4.1 นโยบายสิ่งแวดล้อมกับการออกกฎหมาย
• พระราชบัญญัติพื้นฐานสิ่งแวดล้อม(ปี1993) พระราชบัญญัติสำรวจและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(1997)
  4.2 ประชาชนทั่วไปตระหนักในความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
• การอนุรักษ์ธรรมชาติ  
• การอนุรักษ์ทัศนียภาพของเมือง  
• การกำจัดขยะ
• การใช้พลังงานนิวเคลียร์  
• ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก   
• อื่นๆ
4.3 ประเด็นข้อกฎหมายในกฎหมายแพ่ง
aประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย
b วิธีการช่วยเหลือหรือบรรเทาความเสียหาย  
• คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการรักษาทัศนียภาพเมืองคุนิตาจิ : ฎีกา (30/3/2006)


5 บทบาทของกฎหมายแพ่ง(กฎหมายเอกชน) ที่มีต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยรวม
  5.1 การบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ
• อนุสัญญาเกียวโต (ปี 1997) : การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  5.2 การสนับสนุนให้มีการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อม   
• สังคมทรัพยากรหมุนเวียน (Society with an Environmentally-Sound Material Cycle) = 3R (Reduce, Reuse, Recycle)



Create Date : 04 เมษายน 2553
Last Update : 4 เมษายน 2553 0:08:21 น.
Counter : 1814 Pageviews.

0 comment
บ่อเกิดแห่งกฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา
ด้วยการริเริ่มของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของกฎหมายสภาพอากาศ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมัยประธานาธิบดีคลินตันและสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่กฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีผลบังคับใช้เท่าที่ควร
ในสมัยประธานาธิบดีบุช มีการอนุมัตินโยบายลด “ความเข้มข้น” ซึ่งหมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อ 1 ดอลลาร์ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวมีผลทางปฏิบัติน้อยมาก เพราะปริมาณผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการลดลงของก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ มุมมองของรัฐบาลในสมัยประธานาธิบดีบุชคือ ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมเสียก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และการกระทำฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกาไม่มีผลใดๆ เพราะเป็นเพียงส่วนเล็กๆของปัญหาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ระหว่างสมัยประธานาธิบดีบุชเอง หน่วยงานภาคอื่นได้เริ่มตื่นตัวกับปัญหาสภาพอากาศ โดยเฉพาะรัฐบาลระดับมลรัฐและศาลฎีกา
ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา รัฐบาลสหพันธรัฐกำลังเตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างน้อยพระราชบัญญัติหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ กฎหมายใหม่ที่กำลังจะผ่านภายใน 2 ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้า (Cap-and-trade) ผสมผสานกับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลสหพันธรัฐยังได้เริ่มคำนึงถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนแนวทางให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอีกด้วย
1. กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กฎหมายปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่เราจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของกฎหมายสหพันธรัฐฉบับใหม่ในส่วนต่อไป เราจะพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในบัจจุบันในส่วนนี้เสียก่อน ซึ่งมีสถานการณ์ 3 ประการ ที่จะต้องพิจารณา ประการแรก มลรัฐต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประการที่สองศาลฎีกาก็ได้พาดพิงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นกัน และประการที่สามกฎหมายสหพันธรัฐที่มีอยู่ได้กำหนดถึงวิธีการที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ก. บทบาทของมลรัฐต่างๆในการออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นปัญหาระดับโลก อย่างไรก็ตามมลรัฐต่างๆได้ตระหนักถึง
การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นการตอบโต้ความไม่สนใจในปัญหานี้ของรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุช สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงความมุ่งหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนมลรัฐต่างๆให้ปฏิบัติอย่างเป็นอิสระ โดยมิใช่เป็นเพียงตัวแทนในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสหพันธรัฐเท่านั้น
รัฐบาลของมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นตัวอย่างที่ดีที่เลือกจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหาหลักที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียจัดการคือ ปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยวิธีการแก้ปัญหาของมลรัฐแคลิฟอร์เนียคือการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม เป็นต้น
มลรัฐอื่นๆล้วนมีการดำเนินการแก้ปัญหาสภาพอากาศเช่นกัน ความพยายามของมลรัฐต่างๆเหล่านี้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลสหพันธรัฐดำเนินการเพื่อให้มีโครงการระดับชาติเพียงโครงการเดียวเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ข. บทบาทของศาล
1. ความเป็นมา
ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาตัดสินคดีแรกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
คำตัดสินของศาลในคดีนี้เป็นก้าวสำคัญ ศาลได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และยังได้ยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซสามารถช่วยแก้ปัญหาได้
คดีนี้เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากรถยนต์ ซึ่งประเด็นแห่งคดีไม่ใช่ว่ามลรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซได้หรือไม่ แต่ประเด็นคือรัฐบาลสหพันธรัฐสามารถออกกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศของสหพันธรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งข้อจำกัดมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชนิยามว่าก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ “มลพิษ” ตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นรัฐบาลสหพันธรัฐไม่มีอำนาจที่จะออกกฎหมายดังกล่าวได้ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลได้ยืนยันว่า แม้รัฐบาลจะมีอำนาจที่จะออกกฎเกณฑ์ควบคุมก๊าซเรือนกระจก แต่การใช้อำนาจดังกล่าวมิใช่เรื่องที่ควรกระทำเนื่องจาก ประการแรก รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชให้เหตุผลว่าควรจะใช้การเจรจาระหว่างประเทศมากกว่า เช่นการเจรจากับประเทศจีน ประการที่สอง กฎเกณฑ์หรือกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซอาจขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ของสหพันธรัฐเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์
มลรัฐแมซซาชูเสต และโจทก์รายอื่นๆ ได้ยื่นฟ้องคดีเพื่อบังคับให้รัฐบาลออกกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยก๊าซจากรถยนต์เช่นกัน และด้วยคำวินิจฉัยของศาล 5 ต่อ 4 ศาลได้ปฏิเสธข้ออ้างของรัฐบาลเกี่ยวกับการตีความพระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ
2. ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง
ก่อนที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดี ศาลต้องพิจารณาถึงอำนาจฟ้องตามกฎหมายของโจทก์เสียก่อน ซึ่ง
หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องได้ มี 3 ประการ คือ (1) โจทก์ต้องได้รับความเสียหายตามความเป็นจริง (2) จำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และ (3) ศาลหรือคำพิพากษาของศาลสามารถเยียวยาความเสียหายได้จริง ถ้าไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ดังนั้นศาลต้องพิจารณาตามความเป็นจริง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความเป็นไปได้ว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับภาคการคมนาคมสามารถแก้ปัญหาได้
องค์ประกอบประการแรกของอำนาจฟ้องคือ ความเสียหายเกิดขึ้นจริง หรือความเสี่ยงที่น่าจะเกิดความเสียหาย ศาลได้กล่าวว่าภัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต้องถึงขนาดและรับรู้ได้ ศาลให้ข้อสังเกตุว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นการคุกคามต่อผลประโยชน์หรือสิทธิของรัฐ เพราะทรัพย์สินชายฝั่งจำนวนมากจะถูกน้ำท่วม
องค์ประกอบของอำนาจฟ้องประการที่สองคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐยอมรับถึงการมีอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์และภาวะโลกร้อน แต่ก็ได้โต้แย้งว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซจากยานพาหนะในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพราะยานพาหนะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซ ศาลปฏิเสธข้อสันนิษฐานที่ผิดหลงว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกเพียงเล็กน้อยไม่อาจถูกฟ้องให้รับผิดในศาลสหพันธรัฐ ศาลย้ำว่าตัวแทนรัฐบาลไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาใหญ่ในคราวเดียว แต่สามารถแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนไปและอาจปรับเปลี่ยนแนวทางได้ตามความเหมาะสม
ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินการในก้าวแรกนี้มีความสำคัญ “พิจารณาเฉพาะการปล่อยก๊าซจากภาคคมนาคมซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งและน้อยกว่าหนึ่งในสามของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งประเทศ สหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ในลำดับสามของประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลกรองจากสหภาพยุโรป และจีน”
องค์ประกอบประการสุดท้าย ศาลไม่ยอมรับข้อโต้แย้งของรัฐบาลที่ว่าคำพิพากษาของศาลไม่สามารถเยียวยาปัญหาภาวะโลกร้อน “แม้จะเป็นความจริงว่าการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซจากรถยนต์จะไม่ได้แก้ไขภาวะโลกร้อนด้วยตัวของมันเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลไม่มีอำนาจตัดสินว่า องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อชะลอหรือลดภาวะโลกร้อน”
สรุปหลักกฎหมายที่ศาลได้วางไว้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ก่อให้เกิดซึ่งภัยคุกคาม แม้ความเสี่ยงของภัยอันตรายดังกล่าวยังคงห่างไกลแต่ก็เกิดขึ้นจริง และภัยนั้นสามารถลดลงได้ในระดับหนึ่งถ้าผู้เรียกร้องได้รับการเยียวยาตามที่ฟ้องร้อง ดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ทั้งนี้ แนวความเห็นของศาลคือ แม้ว่าก๊าซเรือนกระจกจะมาจากเพียงแหล่งใดแหล่งหนึ่งและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากทั้งหมด การลดปริมาณการปล่อยก๊าซจากแหล่งนั้นยังคงมีคุณค่าเสมอ
หลักที่ศาลฎีกาวางไว้ทำให้เกิดความชัดเจนว่าศาลจะมีบทบาทในการพัฒนากฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ บทบาทนี้อาจเกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามอย่างที่เราจะเห็นในส่วนต่อไปว่า บทบาทดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมายสหพันธรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย
ค. การใช้บทบัญญัติของสหพันธรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
1. พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ
ศาลฎีกาวางหลักว่า ไม่ควรพิจารณาว่าพระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการควบคุมก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ แต่ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นทางวิทยาศาสตร์ว่าก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ อย่างไรก็ดี รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชยังปฏิเสธที่จะดำเนินการใดๆ โดยยังคงเชื่อว่าการควบคุมก๊าซเรือนกระจกเป็นนโยบายที่ไม่ดี เนื่องจากเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่มีผลต่อการแก้ปัญหา
เมื่อเกิดมลภาวะทางอากาศ พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศกำหนดให้องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐกำหนดระดับมาตรฐานที่ปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการก่ออันตรายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ จากนั้นมลรัฐต่างๆถูกกำหนดให้ดำเนินการตามแผนเพื่อให้บรรลุถึงระดับความปลอดภัยดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมซึ่งต้องเป็นระยะเวลาอันสั้น ขั้นตอนของแผนการดังกล่าวนี้เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหามลพิษระดับท้องถิ่นแต่ไม่เหมาะสมกับปัญหาระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพราะกำหนดระยะเวลาอันสั้นไม่สามารถทำได้ตามความเป็นจริง และรัฐต่างๆไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยลำพัง อย่างไรก็ตามบทบัญญัติก็มีความยืดหยุ่นและมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาปรับใช้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาได้ดำเนินการในการแก้ปัญหานี้ โดยได้ประกาศว่ารัฐบาลประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยและสวัสดิภาพสาธารณะ การประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้เถียงในการร่างกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศเพราะถูกจับตามองว่าจะจัดการแก้ปัญหาในการใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกอย่างไร
2. พระราชบัญญัติสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์
พระราชบัญญัติสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พระราชบัญญัตินี้ห้ามตัวแทนของสหพันธรัฐในการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้งได้ห้ามรัฐบาลระดับมลรัฐและองค์กรเอกชนทำอันตรายใดๆ ต่อสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธุ์รวมถึงถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ตามทั้งรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชและโอบามาต่างมีจุดยืนเดียวกันว่า รัฐบาลจะไม่ใช้การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประกาศจุดยืนดังกล่าวทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อโต้แย้งการตีความกฎหมายฉบับนี้
3. แถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
พระราชบัญญัตินโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดให้แถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นไปตามการดำเนินการหลักของสหพันธรัฐที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญ แถลงการณ์ดังกล่าวต้องมีการกล่าวถึงผลกระทบของการดำเนินการ และทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ คำถามจึงเกิดมีขึ้นว่าเมื่อใดจะถือว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นผลกระทบของการดำเนินการของรัฐบาลตามวัตถุประสงค์ของบทบัญญัตินี้ ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์แห่งสหพันธรัฐได้วางหลักไว้ว่า หากเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชัดแจ้ง แม้จะเป็นผลกระทบทางอ้อม ก็ต้องนำมาพิจารณา
ดังนั้น บทบัญญัติที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถนำมาจัดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ความเป็นไปได้นี้เพิ่มแรงกดดันให้แก่สภานิติบัญญัติที่จะร่างกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาสภาพอากาศโดยตรง
2. แผนการในอนาคตของรัฐบาลสหพันธรัฐ
ประเด็นสำคัญคือ สภานิติบัญญัติจะผ่านกฎหมายใหม่ที่จัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยเฉพาะหรือไม่ ในส่วนนี้จะเริ่มจากการพิจารณาสถานการณ์ทางการเมือง หลังจากนั้นจะพิจารณาถึงประเด็นปัญหาหลักที่กฎหมายใหม่จะต้องเข้ามาจัดการแก้ไข และท้ายที่สุดเราจะพิจารณาจุดยืนที่เป็นไปได้ของสหรัฐอเมริกาในการเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศในระดับระหว่างประเทศ
ก. ความคาดหวังที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหพันธรัฐฉบับใหม่
สภานิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาได้พิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้าเกือบจะผ่านในชั้นวุฒิสภา ความหวังในการออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ครอบคลุมจะเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2009 เพราะเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตที่มีในสภานิติบัญญัติ นอกจากนี้ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศอย่างชัดแจ้ง ว่าจะให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าว
แนวโน้มที่จะใช้พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศมาจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้กฎหมายใหม่มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่นักรัฐศาสตร์กังวลเกี่ยวกับ“การใช้สิทธิยับยั้ง” (Veto) ในกระบวนการร่างกฎหมาย ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการใช้สิทธิยับยั้งอย่างมากมายเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหพันธรัฐ
ทั้งนี้ การออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการฟ้องร้องให้รับผิดภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ เพราะกระบวนพิจารณาจะมีความล่าช้ากว่าการออกกฎหมายและศาลอาจพิพากษาว่าไม่มีภัยอันตรายตามที่โจทก์ฟ้องและยกฟ้องได้
ข. ประเด็นในกฎหมายสหพันธรัฐฉบับใหม่
ลักษณะหลายประการของกฎหมายฉบับใหม่นี้ยังต้องได้รับการแก้ไขอีกหลายประการ ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่ากฎหมายใหม่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงการการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้า โครงการนี้เกี่ยวกับการอนุญาตให้ปล่อยก๊าซ เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนการอนุญาต จึงมีการจำกัดจำนวนรวมของการปล่อยก๊าซด้วย
หลักการพื้นฐานของโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้านั้นสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แต่กลับมีความซับซ้อนในรายละเอียด จากการเสนอร่างกฎหมายในครั้งก่อนๆในสภานิติบัญญัติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้านหลักๆคือ ระดับของการจำกัดการปล่อยก๊าซ ขอบเขตของโครงการการค้า การกระจายการให้การอนุญาต และผลกระทบของกฎหมายต่อโครงการระดับมลรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน
1. การจำกัดการปล่อยก๊าซ : ประธานาธิบดีโอบามาเห็นด้วยกับการลดการปล่อยก๊าซอย่างเฉียบพลัน ตัวอย่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังอยู่ภายใต้การพิจรณาของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ คือ พระราชบัญญัติแวกซ์แมน
2. ขอบเขตของโครงการ : ในแต่ละโครงการจะมีขอบเขตที่แตกต่างกันไป โครงการที่ครอบคลุมกว้างกว่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเพราะทำให้ค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซลดลง และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นด้วยกับการชดเชยโดยวิธีอื่นแทน ตัวอย่างเช่น การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ
3. การกระจายการให้การอนุญาต : ร่างกฎหมายบางฉบับกำหนดให้มีการอนุญาตบนพื้นฐานของการปล่อยก๊าซในอดีต ส่วนร่างกฎหมายบางฉบับก็กำหนดให้มีการประมูลการอนุญาต แต่ถ้านำการประมูลมาใช้ คำถามที่ตามมาคือ จะนำเงินที่ได้มาจากการประมูลไปทำประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ซึ่งคำตอบที่เป็นไปได้ก็เช่น การให้เงินช่วยเหลือในการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เป็นต้น
4. การมีอำนาจเหนือกฎหมายระดับรัฐ : โครงการระดับสหพันธรัฐอาจมีผลเหนือหรือชะลอการกระทำระดับมลรัฐ
การพิจารณาทั้ง 4 ด้านหลักของกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สภานิติบัญญัติก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหลายทิศทางให้ผ่านกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเจรจารอบกรุงโคเปนเฮเกน และในท้ายที่สุด แม้ว่าสภานิติบัญญัติจะไม่ดำเนินการใดๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาจะทำให้กฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลบังคับใช้ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศโดยไม่ต้องมีการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติก่อน
นอกจากโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้า ยังมีความพยายามที่จะกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีอยู่ และกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ประสิทธิภาพของพลังงานยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพของพลังงานมากขึ้น
รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาให้คำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาและใช้เทคโนโลยีพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ นอกจากนี้ เลขาธิการกระทรวงพลังงานคนใหม่ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์และได้มุ่งค้นคว้าพัฒนาเชื้อเพลิงในการคมนาคมที่มีการใช้ก๊าซคาร์บอนในปริมาณต่ำ
ค. การเจรจาของสหรัฐอเมริกาและระดับระหว่างประเทศ
คำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้คือ สหรัฐอเมริกาจะทำอย่างไรกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพอากาศระหว่างประเทศ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาจะตกลงจะเข้าผูกพันเฉพาะข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาอาจไม่ให้คำมั่นสัญญาใดๆ หากไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการควบคุมการปล่อยก๊าซในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน แต่ข้อตกลงก็อาจมีทางเป็นไปได้ เพราะสหรัฐอเมริกาจะร่วมโต๊ะเจรจาอีกครั้งและเต็มใจที่จะทำคำมั่นสัญญาบางประการ นอกจากนี้ ประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีทีท่าที่จะยืดหยุ่นมากขึ้น
3. การปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในบางระดับเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นมาตรการการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีความต้องการที่จะพิจารณามาตรการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะคาดหมายได้
ตัวอย่างเช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนียประสบปัญหาภัยแล้งในฤดูร้อน แต่กลับมีฝนตกมากในฤดูหนาว ซึ่งฝนในฤดูหนาวอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมที่รุนแรง จึงต้องการมาตรการป้องกันน้ำท่วมและมาตรการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูร้อนด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือ จำนวนงบประมาณที่ได้จากรัฐบาลสหพันธรัฐเพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และผลประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวด้วย
4. บทสรุป
นโยบายของสหรัฐอเมริกาหลายนโยบายได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ขึ้นเป็นผู้นำแทนอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ความแตกต่างทางด้านนโยบายที่สำคัญคือ นโยบายด้านสภาพอากาศและพลังงาน กล่าวคือ รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจากซากสิ่งมีชีวิต เหมืองถ่านหิน และอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยไม่มีความตื่นตัวเรื่องพลังงานทดแทนและการลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม
ในทางตรงกันข้าม ประธานาธิบดีโอบามาและรองประธานาธิบดีไบเดนเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญในการที่จะให้มีกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศและเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกพรรค เดโมแครตยังคุ้นเคยกับการทำข้อตกลงหลายฝ่ายทั่วไปและการเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศโดยเฉพาะ ดังนั้น ความหวังที่จะมีการดำเนินการระดับสหพันธรัฐเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศและพลังงานจึงมีความเป็นไปได้สูง




Create Date : 03 เมษายน 2553
Last Update : 3 เมษายน 2553 23:51:09 น.
Counter : 538 Pageviews.

0 comment
ค่าเสียหาย (Damages)

ค่าเสียหายตามกฎหมายสหรัฐสามารถแบ่งออกเป็น ค่าเสียหายที่เป็นการเยียวยาความเสียหาย (Compensatory Damages) กับค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages)
สำหรับค่าเสียหายที่เป็นการเยียวยาความเสียหายนั้นเป็นค่าเสียหายที่ตามปกติศาลจะสั่งให้จำเลยจ่ายแก่ผู้เสียหายเพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งแบ่งได้ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ค่าเสียหายในความเสียหายที่เป็นตัวเงิน {Pecuniary damages) โดยเป็นค่าเสียหายที่จ่ายให้แก่ผู้เสียหายแทนตัวเงินที่สูญเสียไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าขาดรายได้อันเนื่องจากอาการบาดเจ็บ ประการที่สองคือ ค่าเสียหายในความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน (Non-pecuniary damages) โดยเป็นการจ่ายเพื่อชดเชยความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทางกายและจิตใจ ประการสุดท้ายคือ ค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข (Hedonic losses) เป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่สูญเสียไป
ส่วนค่าเสียหายในเชิงลงโทษนั้น เป็นค่าเสียหายที่ศาลสั่งให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการลงโทษ โดยจะสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายประเภทนี้เมื่อการกระทำละเมิดนั้นเป็นการกระทำโดยมีเจตนาชั่วร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (Malicious and reckless) เช่นจำเลยมีเจตนาปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำโดยรู้อยู่แล้วว่าวัตถุที่ปล่อยออกมานั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ในบริเวณใก้เคียงได้รับอันตรายจากมลพิษนั้น หรือเกิดการรั่วไหลของมลพิษโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยหรือลูกจ้าง
สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมที่ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดนั้น ปกติจะพิจารณาโดยมีลูกขุน และลูกขุนจะเป็นผู้กำหนดจำนวนค่าเสียหาย ทั้งนี้ ในแต่ละรัฐอาจจะกำหนดจำนวนค่าเสียหายในเชิงลงโทษไว้แตกต่างกัน เช่นบางรัฐกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกินสองเท่า สามเท่าหรือสี่เท่าของค่าเสียหายตามปกติ (Compensatory damages) หรือบางรัฐก็ไม่มีข้อจำกัดไว้ก็อาจกำหนดสูงถึงร้อยเท่าของค่าเสียหายปกติได้ ส่วนคดีที่ไม่ได้พิจารณาโดยมีลูกขุนนั้น ผู้พิพากษาจะเป็นผู้กำหนดค่าเสียหาย เช่น คดีที่ฟ้องให้เจ้าของที่ดินที่มีการทิ้งของเสียรับผิดชอบในการฟื้นฟูสภาพที่ดินตาม CERCLA เป็นการพิจารณาโดยผู้พิพากษาไม่ใช้ลูกขุน เป็นต้น



Create Date : 06 มีนาคม 2551
Last Update : 6 มีนาคม 2551 15:33:28 น.
Counter : 1176 Pageviews.

0 comment
การฟ้องคดีโดยประชาชน(citizen suite)
การฟ้องคดีโดยประชาชน(citizen suite)นั้น กฎหมายสิ่งแวดล้อมอนุญาตให้ประชาชนฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้สองประเภท กล่าวคือ ประเภทแรก ประชาชนมีสิทธิฟ้องผู้บริหาร EPA ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย หรือไม่กระทำภายในกำหนดเวลา เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้การฟ้องคดีโดยประชาชน จึงเป็นการช่วยควบคุมให้EPAกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเภทที่สอง เป็นการอนุญาตให้ประชาชนสามารถฟ้องเพื่อดำเนินคดีผู้ก่อมลพิษหรือกระทำการใดๆอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้ การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ได้แก่ การปล่อยมลพิษโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเกินกว่าปริมาณที่ได้รับอนุญาต ล้มเหลวในการตรวจสอบมลพิษ หรือในการรายงานผลการตรวจสอบแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างกฎหมายที่อนุญาตให้ประชาชนอาจร้องขอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามกฎหมายสิ่งแดล้อมได้ อาทิ ตามClean Air Act (CAA) กำหนดให้บุคคลใดๆสามารถร้องต่อ EPAเพื่อให้โต้แย้งคัดค้านคำอนุญาตของมลรัฐตาม Title V โดยต้องร้องขอภายใน 60 วันหลังจากช่วงเวลาในการทบทวนของ EPA ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ไม่มีข้อท้วงติงใดๆจาก EPA ส่วน CERCLA กำหนดให้ผู้ใดที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยวัตถุอันตรายสามารถร้องขอต่อ EPA ให้ทำการประเมินเบื้องตนในเขตพื้นที่ซึ่งมีการปล่อยวัตถุเช่นว่านั้นว่ามีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน มิฉะนั้นต้องแจ้งให้ทราบถึงเหตุที่ไม่อาจกระทำการดังกล่าวได้ เป็นต้น ในส่วนการใช้สิทธิฟ้องร้องผู้กระทำความผิดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐสภาสหรัฐแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาชนจะต้องไม่ถูกรบกวนหรือสร้างปัญหาให้ และสามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเป็นการประกันว่ากฎหมาย(Clean Air Act)จะมีการบังคับใช้ โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นอัยการสูงสุดในภาคเอกชน (Private Attorney Generals) ทั้งนี้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้ที่ศาลมลรัฐเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามเพื่อบรรเทาความเสียหาย(Injunctive Relief) โดยให้แก้ไขหรือหยุดการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมาย และให้มีการชำระค่าปรับเป็นค่าเสียหายที่จ่ายให้แก่รัฐ(Civil Penalty) โดยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลักๆที่ให้อำนาจส่วนนี้แกประชาชนไว้ เช่น Clean Air Act (CAA) Clean Water Act (CWA) Resource Conservation and Recovery Act (RCRA) และ Comprehensive Environmental Response Compensation and Liability Act (CERCLA)
ในส่วนของ Clean Water Act เกี่ยวกับการฝ่าฝืน CWAนั้น ก่อนอื่น ผู้ปล่อยมลพิษต้องได้รับอนุญาตตามระบบการกำจัดของเสียที่มีการปลดปล่อยแห่งชาติ (National Pollutant Discharge Elimination System, NPDES) ให้ปล่อยของเสียลงสู่ทางน้ำของสหรัฐ โดยNPDES จะกำหนดมาตรฐานหรือข้อจำกัดในการปลดปล่อย รวมถึงการตรวจสอบและรายงานการปฏิบัติโดยใช้มาตรฐานการจัดการที่ดีที่สุด (Best Management Practices, BMPS) การฝ่าฝืนข้อจำกัดหรือเงื่อนไขตามคำอนุญาตที่ระบุไว้ใน NPDES ถือเป็นการละเมิด CWA มีการกำหนดเรื่องอำนาจฟ้องไว้ดังนี้ 1.บุคคลใดๆอาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อประโยชน์ของตนได้ 33 U.S.C. s 1365 (as) ประชาชน (Citizen) หมายถึงประชาชนใดๆหรือบุคคลหลายคนซึ่งมีผลประโยชน์ซึ่งหรืออาจจะได้รับผลกระทบ 2.ประชาชนจะมีอำนาจฟ้องก็เมื่อตนได้รับความเสียหายจากการกระทำอันละเมิดกฎหมายของจำเลย การปล่อยมลพิษซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ การพักผ่อนหย่อนใจ ความสุนทรีย์ และสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนที่จะฟ้องคดีนั้นต้องใช้น้ำที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นประจำ อาศัยหรือพักผ่อนหย่อนใจใกล้ทางน้ำนั้น ทั้งนี้ก่อนฟ้องคดีประชาชนผู้จะฟ้องคดีต้องส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ที่ฝ่าฝืน หน่วยงานที่ปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม(EPA) และ MPCA ตาม U.S.C. s 1365(b) ด้วยวิธีการตามที่กำหนดไว้ใน C.F.R. Part 135.1-135.3 เป็นเวลา 60 วันก่อนฟ้องคดี อายุความในการฟ้องคดีคือ 5 ปี ตาม U.S.C. s 2462 โดยเป็นกำหนดเวลาสำหรับศาลในการกำหนดค่าปรับ(Civil Penalty) CWAไม่ได้ให้อำนาจศาลมลรัฐในการพิจารณาคดีที่ฟ้องโดยประชาชนเพื่อบังคับเหนือทุกส่วนของการฝ่าฝืน และการฝ่าฝืนนั้นต้องยังคงมีอยู่ในขณะฟ้อง การฟ้องคดีต้องกระทำโดยเจตนาสุจริต(Good-Faith) และมีภาระการพิสูจน์ที่หนักตกแก่ผู้ฝ่าฝืนว่า จะต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพฤติกรรมการฝ่าฝืนนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ดี ประชาชนยังไม่อาจฟ้องคดีได้หาก EPA หรือ MPCA ได้ฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลก่อนแล้ว ในส่วนของโทษนั้น ค่าปรับสูงถึง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งการกำหนดค่าปรับนั้นศาลจะพิจารณาจาก ความรุนแรงของการฝ่าฝืน ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผู้ฝ่าฝืนได้รับจากการฝ่าฝืน ความจริงใจในการพยายามปฏิบัติตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ฝ่าฝืน และปัจจัยอื่นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ค่าปรับนั้นจะถูกส่งไปยังกระทวงการคลัง แต่ศาลอาจกำหนดให้มอบเงินดังกล่าวแก่โครงการสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของ CWA นอกจากนี้ ศาลอาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าฤชาธรรมเนียม ตลอดจนทนายความและค่าป่วยการพยานผู้เชี่ยวชาญแทนโจทก์ได้ โดยค่าทนายความจะกำหนดตามอัตราท้องตลาด(Market Rates) การทำยอมอาจมีได้ โดยมักต้องมี กำหนดการที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ค่าปรับ(Civil Penalty)ที่ต้องจ่ายให้แก่กระทรวงการคลัง ค่าใช้จ่ายที่จะมอบให้แก่โครงการสิ่งแวดล้อม ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งต้องส่งข้อตกลงไปให้รัฐบาลสหรัฐทราบก่อนศาลมีคำพิพากษาตามยอมเป็นเวลา 45 วัน และในการพิจารณาว่าจะพิพากษาตามยอมให้หรือไม่นั้น ศาลต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นไปโดยเป็นธรรม(Fair) สมเหตุสมผล (Reasonable) เที่ยงธรรม (Equitable) และไม่ขัดต่อความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน(Public Policy)



Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2551 15:20:26 น.
Counter : 1364 Pageviews.

0 comment
ประเภทคดีสิ่งแวดล้อม

ในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมนั้น หากเราถือเอาตามกฎหมายที่ให้สิทธิในการฟ้องคดี ก็อาจแบ่งประเภทคดีสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การฟ้องตามคอมมอนลอว์ (Common Law) กับการฟ้องคดีตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะ
ในส่วนของคอมมอนลอว์นั้นส่วนใหญ่เป็นคดีละเมิดทั่วไปได้แก่การฟ้องในมูลเรื่องการบุกรุก (Trespass) การก่อความเดือดร้อนรำคาญ (Nuisance) การกระทำละเมิดที่เป็นความรับผิดเด็ดขาด (Strict Liability) การกระทำละเมิดโดยประมาท (Negligence) นอกจากนี้ก็มีเรื่องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (Public Trust Doctrine)
การฟ้องคดีตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะ ได้แก่การฟ้องคดีตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ออกมาเป็นการเฉพาะ อาทิ กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบ การชดเชยและความรับผิดในสิ่งแวดล้อม (Comprehensive Environmental Response, Compensation and Liability Act of 1980, CERCLA) และกฎหมายว่าด้วยการรักษาและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากร (Resource Conservation and Recovery Act, RCRA) ซึ่งมุ่งคุ้มครอง ฟื้นฟู ดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินที่มีการทิ้งของเสียและวัตถุมีพิษจนเป็นหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสารพิษ (Toxic Substances Control Act) กฎหมายว่าด้วยคุณภาพของอากศ (Clean Air Act) กำหมายว่าด้วยคุณภกำหมายว่าด้วยคุณภาพน้ำ (Clean Water Act) กฎหมายว่าด้วยถังกักเก็บใต้ดิน (Underground Storage Tank Act, USTA) กฎหมายว่าด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Act) เป็นต้น



Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2551 15:17:22 น.
Counter : 917 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments