All Blog
การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทด้วยแนวทางแห่งอริยสัจจ์ 4
ในการดับทุกข์ตามแนวทางแห่งอริยสัจจ์ ๔ ประการนั้น พระพุทธองค์ทรงให้เริ่มจากการหาตัวทุกข์นั้นให้เจอ มองให้ชัดเจนเสียก่อน จากนั้นให้วิเคราะห์หาสาเหตุที่มาแห่งทุกข์ดังกล่าว แล้วให้คิดหาแนวทางในการระงับดับทุกข์โดยมุ่งไปที่สาเหตุ สุดท้ายให้กำหนดเป็นวิธีการปฎิบัติออกมา ดังนั้น หากจะนำแนวคิดแห่งอริยสัจจ์ 4 นี้มาประยุกต์ใช้ในการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยก็ควรที่จะเริ่มด้วยการช่วยให้คู่พิพาทหรือคู่ความค้นให้พบตัวทุกข์ของพวกเขาเสียก่อน

• สำรวจปัญหาหรือความขัดแย้ง (ทุกข์)
ทุกข์หรือปัญหาที่คู่พิพาทหรือคู่ความเผชิญอยู่ตรงหน้าได้แก่ ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทนั่นเอง คู่พิพาทส่วนมากมักมีทั้งความขัดแย้งในทางเนื้อหาสาระและในทางอารมณ์ ความรู้สึก หรือความสัมพันธ์ โดยมีแนวโน้มที่จะนำทั้งสองเรื่องเข้าไปปะปนกันเสมอ การพยายามแยกทั้งสองเรื่องออกจากกัน และกำหนดประเด็นที่พิพาทให้ชัดเจนจะช่วยให้การหาทางแก้ไขปัญหา หรือดับทุกข์เป็นไปได้ตรงจุดและง่ายขึ้น
• ค้นหาสาเหตุของปัญหาหรือความขัดแย้ง (สมุทัย)
สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์นั้นเป็นผลอันมีที่มาจากสาเหตุ การจะดับทุกข์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตรงจุด จะต้องทราบสาเหตุแห่งทุกข์นั้นให้ชัดเสียก่อน เหมือนคนที่รู้อาการและสมุฏฐานของโรคแล้วย่อมเห็นแนวทางที่จะรักษาโรคให้หายได้ การวิเคราะห์ให้เห็นเหตุแห่งปัญหาหรือเหตุแห่งความขัดแย้งจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เหตุของทุกข์หาใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกตัวมนุษย์เอง ทุกข์ทั้งหลายอยู่ในตัวมนุษย์ เหตุของทุกข์จึงอยู่ในตัวมนุษย์เช่นกัน พระพุทธองค์ทรงพบว่า ทุกข์มีสาเหตุมาจากตัณหา ความอยากหรือความต้องการในใจของมนุษย์นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากในสิ่งที่เกินความจำเป็นหรือเกินสมควรของชีวิต โดยทรงแบ่งตัณหาออกเป็น ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่
1. กามตัณหา หมายถึง ความต้องการ อยากให้ได้มา ซึ่งสิ่งต่างๆถ้าไม่ได้สมความปรารถนา ก็เกิดความทุกข์ เป็นเหตุให้ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มา บางทีก็เกิดความโกรธแค้นชิงชัง
2. ภวตัณหา หมายถึง ความต้องการ อยากให้อยู่ อยากให้เป็นอย่างใจคิด อยากให้สิ่งนั้นคงอยู่ตลอดกาล อยู่ด้วยตลอดไป เกิดความกระวนกระวายใจ เป็นเหตุให้ต่อสู่ดิ้นรนเพื่อให้อยู่กับตน
3. วิภวตัณหา หมายถึง ความต้องการ อยากให้ไป หรืออยากให้พ้น เมื่อไม่พอใจในสิ่งใดก็อยากให้สิ่งนั้นไปเสียให้พ้น
ตัณหาเหล่านี้เปรียบได้กับความต้องการหรือความปรารถนาที่อยู่ภายในใจของคู่พิพาทหรือคู่ความ บางครั้งก็ปรากฏตามข้อเรียกร้องหรือจุดยืนที่แสดงออกมา แต่บางครั้งกลับซ่อนอยู่ภายใน ไม่เปิดเผยออกมา ในการไกล่เกลี่ย หลายครั้งที่ผู้ไกล่เกลี่ยพบว่า ความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาทหรือคู่ความไม่ตรงกับข้อเรียกร้องหรือจุดยืนที่แสดงออกมา ตราบใดที่ยังไม่สามารถค้นพบหรือบรรลุถึงความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาทหรือคู่ความ ปัญหาก็ไม่อาจระงับดับได้สิ้น
ความต้องการของคู่พิพาท อาจเป็นการต้องการให้อีกฝ่ายชำระหนี้ให้ครบถ้วน หรือให้ส่งมอบทรัพย์สินที่พิพาท บางครั้งต้องการให้อีกฝ่ายงดเว้นไม่กระทำการบางอย่าง หรือหยุดการกระทำละเมิด และหลายครั้งต้องการเพียงคำขอโทษหรือการให้ความเคารพจากอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้นเอง
การค้นหาให้พบความต้องการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ไกล่เกลี่ยจำเป็นต้องค้นหาความต้องการที่แท้จริงนั้นให้เจอเสียก่อน แล้วจึงหาทางดับหรือระงับข้อพิพาทนั้นได้อย่างเหมาะสมตรงจุด กระบวนการในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงมักเกิดปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของทั้งสองฝ่าย
การได้มาซึ่งข้อมูลจากคู่ความนั้นจะช่วยให้ผู้ไกล่เกลี่ยทราบถึงความต้องการที่แท้จริงได้ ดังนั้น จึงต้องพยายามให้คู่พิพาทหรือคู่ความแสดงความต้องการที่แท้จริงออกมาให้ปรากฏ ไม่ว่าจะโดยวัจนะภาษา(คำพูด)หรืออวัจนะภาษา(ภาษากาย) แล้วนำมาพิจารณา
ผู้ไกล่เกลี่ยจำเป็นต้องฟัง โดยการให้คู่พิพาทหรือคู่ความเล่าเหตุการณ์ เรื่องราว ความต้องการ และความประสงค์ให้ผู้ไกล่เกลี่ยฟัง ประกอบกับการสังเกตภาษากายของคู่พิพาทหรือคู่ความ
เมื่อได้ฟังและสังเกต จากภาษาพูดและภาษากายของคู่พิพาทหรือคู่ความแล้ว ควรพินิจพิจารณาต่อไปว่า สิ่งที่พูดมานั้น สิ่งใดเป็นความต้องการที่แท้จริง หรือสิ่งที่แสดงออกมานั้น เป็นความต้องการที่แท้จริงหรือไม่
หากมีข้อสงสัย ก็ควรถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด และการรู้จักใช้คำถามหรือเทคนิคต่างๆ เพื่อให้คู่พิพาทหรือคู่ความให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากที่สุดนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ ผู้ไกล่เกลี่ยกระจ่างชัดถึงความต้องการที่แท้จริงของคู่ความ บางกรณีอาจต้องพูดคุยทีละฝ่ายเพื่อให้คู่พิพาทหรือคู่ความรู้สึกสะดวกใจหรือผ่อนคลายที่จะเปิดเผยข้อมูลของตนมากขึ้น
ควรเขียน หรือจดบันทึกข้อมูลที่ได้รับจากคู่พิพาทหรือคู่ความเพื่อช่วยในการจำและใช้ในการวิเคราะห์หาความต้องการที่แท้จริงของคู่ความ
เมื่อพบความต้องการที่แท้จริงของคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือทุกข์ฝ่ายแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการค้นหาทางแก้ปัญหา
• วางแนวคิดหรือทฤษฎีในการแก้ไขปัญหาหรือระงับความขัดแย้ง (นิโรธ)
นิโรธ หรือความดับทุกข์ การที่จะบรรลุถึงความดับทุกข์ได้จำเป็นที่จะต้องมีการวางแนวคิดหรือทฤษฎีในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เมื่อเราทราบแล้วว่าทุกข์มาจากตัณหา ความต้องการหรือความปรารถนาอันอยู่จิตในของคน ๆ นั้น เราก็จำเป็นต้องดับระงับปัญหาที่ต้นกำเนิดในจิตของคน ๆ นั้น แต่ใครจะช่วยเขาดับทุกข์ของตัวเขาเองให้ดีที่สุดได้ นอกจากตัวของเขาเอง ทั้งนี้ เมื่อทุกข์หรือปัญหาความขัดแย้งนั้น เป็นเรื่องของคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายก็ดี ผู้ที่จะช่วยในการแก้ปัญหาระงับความขัดแย้งได้ดีที่สุด จึงควรจะเป็นตัวคู่ความทุกฝ่ายนั่นเอง
การให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการหาทางออกเป็นสิ่งสำคัญ การระดมความคิดค้นหาทางออกด้วยกันทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่จะช่วยให้บรรลุถึงทางแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งมักมีสาเหตุมาจากความต้องการที่ซ่อนอยู่ในใจของคู่พิพาทหรือคู่ความ ซึ่งต่างต้องการและพยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไว้ก่อน จึงเป็นการยากที่ลำพังเพียงคู่พิพาทหรือคู่ความจะสามารถพูดคุยตกลงกันได้ด้วยดี บนภาวะความขัดแย้ง หากปราศจากความช่วยเหลือจากผู้ไกล่เกลี่ย คู่พิพาทหรือคู่ความนั้นยากที่จะพูดคุยเจรจาตกลงกันได้อย่างราบรื่น
ผู้ไกล่เกลี่ยจึงมีหน้าที่อีกด้านหนึ่งเป็นผู้ประสานความต้องการของทุกฝ่าย แต่มิใช่ว่าฝ่ายใดจะเรียกร้องตามความปรารถนาและความต้องการของตนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรัชญาของการรอมชอมให้เกิดความยั่งยืน คือหลักของการสร้างความพอเหมาะพอดีได้สัดส่วน ตามที่ชอบที่ควร เป็นการสร้างสมดุลตามหลักทางสายกลาง
พยายามให้เกิดความพอดี พอเหมาะ ไม่ได้เปรียบ เสียเปรียบ และเป็นธรรม ตามที่คู่พิพาทหรือคู่ความสามารถจะยอมรับได้ ทั้งในแง่ผลประโยชน์ และความรู้สึก ผู้ไกล่เกลี่ยควรกระตุ้นให้เกิดกระบวนการค้นหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งควบคุมและประสานความต้องการให้ได้อย่างลงตัว ซึ่งมิใช่งานที่ง่ายเลย อย่างไรก็ดี เมื่อสามารถไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทสำเร็จ ก็มักยังความปิติแก่ผู้ไกล่เกลี่ยทุกท่าน

• กำหนดแนวทางหรือวีธีปฏิบัติเพื่อยุติปัญหาหรือความขัดแย้ง (มรรค)
มรรคหรือทางดับทุกข์ ในการดับทุกข์ของบุคคล พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงมรรค ๘ ประการอันเป็นหนทางสู่การดับทุกข์ ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา พูดชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ
7. สัมมาสติ ตื่นตัวรู้ชอบ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ
มรรคแปดประการนี้เป็นหนทางของความชอบในทางความคิดและการกระทำ หรือกล่าวโดยสรุปคือ คิดดี พูดดี ทำดี หนทางการดับทุกข์นั้นพระพุทธองค์ให้ถือหลักทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ถือหลักของความพอดี และปฏิบัติได้จริง
ในส่วนของการระงับความขัดแย้งหรือปัญหาของคู่พิพาทนั้น เมื่อสามารถตกลงรอมชอมกันได้ด้วยดีแล้ว การกำหนดข้อตกลงให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายและสามารถปฏิบัติได้โดยชอบด้วยกฎหมายนับเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้การประนีประนอมนั้นบรรลุผลในที่สุด เป็นธรรมดาที่การเอารัดเอาเปรียบ ย่อมทำให้อีกฝ่ายไม่อยากปฏิบัติตามข้อตกลงหรือตามสัญญาประนีประนอมยอมความ รวมทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ย่อมไม่เกิดผลในที่สุด หากข้อตกลงนั้นต่างเป็นที่พอใจ สามารถปฏิบัติได้จริงและชอบด้วยกฎหมาย ทุกฝ่ายย่อมยินดีปฏิบัติ
การมีสัมมาทิฏฐิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากคู่พิพาทหรือคู่ความ รวมทั้งผู้ไกล่เกลี่ยเองไม่มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมยากที่จะปฏิบัติให้สำเร็จได้ เมื่อคู่พิพาทหรือคู่ความมีมิจฉาทิฏฐิ อาจเป็นเพราะ ความโลภ ความโกรธ ความไม่รู้หรือความหลงผิด ด้วยประสบการณ์ ภูมิหลังหรือมุมมองในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับการประนีประนอมรอมชอมข้อพิพาทนั้นๆ ผู้ไกล่เกลี่ยอาจจำเป็นต้องพยายามช่วยให้คู่พิพาทหรือคู่ความ ปรับทัศนะคติหรือมุมมองต่อปัญหา ตลอดจนการสร้างสรรค์ทางเลือกและทางออกได้อย่างเหมาะสมกับปัญหา ข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง
ดังนั้น ผู้ไกล่เกลี่ยจึงควรศึกษาหาความรู้และเทคนิคในการไกล่เกลี่ย รวมทั้งสะสมประสบการณ์เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้คู่พิพาทได้ค้นพบมรรคหรือทางในการแก้ปัญหา ระงับข้อพิพาทและความขัดแย้งของพวกเขาได้สำเร็จ





Create Date : 03 เมษายน 2553
Last Update : 3 เมษายน 2553 23:34:32 น.
Counter : 619 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments