พระไพศาล วิสาโล - คำถามเปลี่ยนชีวิต ๑



Create Date : 15 เมษายน 2554
Last Update : 15 เมษายน 2554 11:09:32 น.
Counter : 995 Pageviews.

0 comment
การให้ทานที่ไม่ต้องเสียเงิน แล้วยังได้นิพพาน โดยอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
วันนี้ขอนำธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสมาให้อ่านกันครับ

การให้ทานที่ไม่ต้องเสียเงิน แล้วยังได้นิพพาน
พุทธทาสภิกขุ

การให้ทานที่ไม่ต้องเสียเงิน แล้วยังได้นิพพาน

วันนี้จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการให้ทานที่มีในพระบาลีต่างๆให้หมดทุกเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้รุดหน้าไปถึงพระนิพพานโดยเร็ว

โดยปกติทั่วไปเขาถือกันว่า เรื่องการให้ทานนี้เป็นเรื่องตื้นๆ คือ เป็นเพียงบันไดไปสู่สวรรค์ นั่นหมายถึงการให้ทานอย่างเด็กๆ เพราะการให้ทานชนิดที่จะเวียนว่ายในวัฏสงสารก็มีอยู่

ฉะนั้น ถ้าใครให้ทานเป็น ผลของทานก็จะทำให้ท่านผู้นั้นไม่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ

ถ้าเอาเรื่องการให้ทานทั้งหมดมารวมกันเข้าแล้ว ก็แบ่งทานได้เป็น ๒ ชนิดอีกตามเคย คือ ทานชนิดที่ต้องมีผู้รับ และทานที่ไม่ต้องมีใครมารับ
ทานที่ให้แล้วจะเวียนว่ายในวัฏฏะนั้น เป็นพวกทานชนิดที่ต้องเสียเงิน และต้องมีผู้รับทั้งนั้น

ส่วนทานที่ให้แล้วจะออกไปจากวัฏฏะนั้น ไม่เสียเงินและไม่ต้องมีผู้รับ
ทานซึ่งต้องมีผู้รับ ก็คือจาก

๑. วัตถุทาน (ให้วัตถุสิ่งของ)
๒. อภัยทาน (ให้อภัยโทษ)
๓. ธรรมทาน (ให้ธรรมะ)

ส่วนประเภทที่ไม่ต้องเสียเงิน และไม่ต้องมีคนอื่นมารับนั้น จะขอเรียกว่า
สุญญตาทาน ซึ่งทำให้ไม่เวียนว่ายไปในวัฏฏะอีกต่อไป

เหตุที่ให้วัตถุทาน

เหตุที่ให้วัตถุทาน ก็มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. ให้เพราะสงสาร
๒. ให้เพราะเลื่อมใสในผู้ปฏิบัติ
๓. ให้เพื่อบูชาคุณของผู้มีคุณ
๔. ให้เพื่อใช้หนี้บุญคุณ

การให้วัตถุทาน ก็ต้องเลือกผู้รับที่สมควรจริงๆ อย่าให้ทานนั้นไปได้แก่คนชั่ว แล้วต้องให้ไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อตกเบ็ดคนอื่นเพื่อเอามาเป็นพรรคพวก แล้วก็แสวงหาประโยชน์ร่วมกัน อย่างนี้เจตนาไม่บริสุทธิ์

การให้ต้องเกิดจากการพอใจจริงๆ เมื่อให้เสร็จแล้วก็ยังอิ่มอกอิ่มใจเวลาที่จะให้ก็ต้องเลือกให้เหมาะสม รวมความว่า

ต้องเลือกสิ่งของ
ต้องเลือกเวลา
เลือกสถานการณ์
เลือกบุคคล
เลือกประโยชน์ที่เขาได้รับ

ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า "เลือกเฟ้นเสียก่อนแล้วจึงให้ทาน นี้พระสุคตสรรเสริญ"

ข้อควรระวังในการให้วัตถุทาน

ทั้งนี้ ขอเตือนว่า ระวังให้ดี คือ การให้วัตถุทานนี้มันเป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสก็มี มันอยู่ที่เจตนาหากำไรหรือไม่

ถ้าทำบุญบาทหนึ่งโดยหวังจะได้วิมานหลังหนึ่ง อย่างนี้ถือเป็นการค้ากำไรเกินควร เป็นการให้ทานชนิดที่เป็นไปเพื่อกิเลส คือ เพิ่มความเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น แล้วก็จะมีความทุกข์ทรมาณมากขึ้น ความทุกข์มากขึ้น เพราะความยึดถือนั้นๆ

ส่วนทานที่ไม่เป็นไปเพื่อกิเลสนั้น คือ
การให้ไปทำลายความยึดมั่นถือมั่น
ทำลายความตระหนี่
ทำลายความเห็นแก่ตัวให้หมดไป เช่น บริจาคไปโดยคิดว่าจงไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเถิด

เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นไปเพื่อนิพพาน หรือการดับกิเลส

แต่ถึงกระนั้นก็อย่าให้อย่างหลับหูหลับตา เพราะมันจะทำให้มีคนขี้เกียจมากขึ้น มีคนเอาเปรียบมากขึ้น ทำให้มีอลัชชีในพระพุทธศาสนามากขึ้น

อภัยทาน สูงกว่าวัตถุทาน
อภัยทาน หมายถึง ให้อภัย
อภัย นี้แปลว่า ไม่ต้องกลัว เช่น

๑. ให้อภัยโทษ
๒. ยอมรับการขอขมา
๓. การไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายใครทางร่างกายและทางน้ำใจ
๔. หรือแผ่เมตตาจิตเป็นปกติ

อภัยทานนั้น ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์เดียว

ถ้าเราสร้างโบสถ์หลังหนึ่งก็ต้องเสียหลายแสนบาท แต่ให้อภัยทานนี้ไม่ต้องเสียสตางค์ แล้วยังจะมีผลสูงกว่าเสียด้วย เพราะมันทำยากกว่าที่จะให้วัตถุ
มันเป็นเรื่องจิตใจสูงมากขึ้นไปอีก

ถ้ามนุษย์มีการให้อภัยทานซึ่งกันและกัน การเบียดเบียนกันหรือสงครามก็จะไม่เกิดขึ้นในโลก

ธรรมทาน คือ การให้ความรู้ที่ทำให้พ้นทุกข์

ธรรมทาน คือ การให้ธรรมเป็นทาน หมายถึง ความรู้ที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ ไม่ค่อยเป็นไปเพื่อกิเลส

นอกจากทำไปเพื่อความโอ้อวดอยากดัง หรือหวังประโยชน์ตอบแทน ธรรมทานนี้ทำโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ได้ เช่น อาตมากำลังอธิบายธรรมะอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าให้ธรรมโดยตรง ส่วนผู้ที่ช่วยพิมพ์หนังสือธรรมะของอาตมาให้มันแพร่หลายก็เป็นผุ้ให้ธรรมทานโดยอ้อม แต่ก็ถือเป็นบุญเท่ากัน เพราะมีเจตนาเป็นกุศลอย่างเดียวกัน เป็นการเผยแพร่ธรรมอย่างเดียวกัน

แม้คำด่าเพื่อให้เพื่อนมนุษย์เป็นคนดีมีศีลธรรม หายจากความโลภ โกรธ หลงงมงาย หรือให้หมดความเห็นแก่ตัว ก็เป็นธรรมทานเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ทุกคนถือว่า คำด่าด้วยเจตนาเช่นนี้เป็นการชี้ขุมทรัพย์อันมีค่าอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น คำด่าชนิดนี้จึงเป็นธรรมทาน

ถ้าเราไม่ได้อาศัยธรรมทานชนิดนี้ เราคงเหลวไหลกว่านี้ คนชั่วในบ้านเมืองจะมีมากกว่านี้

ให้นิพพานเป็นทาน

ทีนี้อยากจะแถมทานอีกอย่างหนึ่ง คือ ให้นิพพานเป็นทาน

หลายคนชอบพูดว่า ท่านพุทธทาสนั้นชอบว่าเอาเอง พูดเอาเอง ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องในคัมภีร์

ฉะนั้น จึงขอยืนยันว่า ไม่ใช่พูดเอง มันอยู่ในคัมภีร์ แต่เรียกชื่อไม่เหมือนกัน
ให้นิพพานเป็นทาน ก็คือการทำให้คนได้ชิมรสของพระนิพพาน คือ ความสงบ ความเย็นใจ

อย่างว่าสวนโมกข์นี้ได้จัดอะไรหลายๆอย่าง พอใครมาสวนโมกข์แล้วก็เย็นอกเย็นใจ เพราะมันลืมเรื่องตัวกูของกู จิตมันเกิดว่าง มันเลยสงบเย็น
นี่คือตัวอย่างของการชิมรสพระนิพพาน

ถึงจะไม่ใช่นิพพานแท้ นิพพานถาวร นิพพานตลอดกาล แต่ก็รสชาติอย่างเดียวกัน คือ เย็นใจสบายใจอย่างบอกไม่ถูก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ"

ในบรรดาทานทั้งหลายนั้น ธรรมทานชนะทานทั้งหลายทั้งปวง

นี่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญธรรมทานที่เป็นธรรมะจริง และดับทุกข์ได้มากกว่าทานประเภทอื่นๆ

สุญญตาทาน ให้ความว่างเป็นทาน

สำหรับทานที่ไม่ต้องมีผู้รับ และไม่ต้องเสียเงินนั้น จะต้องวินิจฉัยคำบางคำกันเป็นพิเศษเสียก่อน คือ

คำว่า ทาน แปลว่า ให้
คำว่า บริจาค แปลว่า สละออกไปรอบด้าน
ปฏินิสสัคคะ แปลว่า สลัดคืน หรือให้คืน
เข้าใจคำ ๓ คำนี้แล้ว จะเข้าใจเรื่องสุญญตาทานได้

สุญญตาทาน นี้ อาตมาตั้งชื่อเอง จะหาชื่ออย่างนี้ไม่พบในพระไตรปิฎก แต่เรื่องราวนั้นมีเยอะแยะไปหมด คือ เรื่องบริจาคตัวกูของกู หรือความเห็นแก่ตัวออกไปเสียให้หมด

ทานนี้ ไม่ต้องมีผู้รับ ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเราผู้ให้ คือ ถ้าทำได้จริง ทำได้ถึงที่สุด ก็จะไม่มีตัวกูผู้ให้ทาน

ถ้าถามว่าเอาอะไรให้ ก็ตอบว่ากู “ตัวกู”นั่นแหละให้ คือ บริจาคอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นตัวกู นี้เป็นของกูให้หมดไป แล้วมันจะเหลือแต่ความว่าง

คือเหลือแต่จิตที่ประกอบด้วยสติปัญญา จิตที่ไม่เห็นแก่ตัว อันไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู แต่เป็นจิตบริสุทธิ์ หรือเบญจขันธ์บริสุทธิ์ที่ไม่ได้ถูกยึดถือไว้ด้วยอุปาทาน ซึ่งพระพุทธเจ้าถือว่าจะไม่เกิดทุกข์เลย ซึ่งก็คือนิพพาน นั่นเอง

สุญญตาทาน คือ การสละตัวกู

คำว่า บริจาค นี้มันต้องสละออกไปหมด มันจึงจะเป็นบริจาค ใครบริจาคแล้วยังหวังสิ่งตอบแทนอย่างนี้มันไม่ใช่บริจาค มันเป็นการลงทุนค้าขายหากำไร เป็นบริจาคที่คดโกง การบริจาคนี้มันต้องทำด้วยความสุจริตใจจึงจะได้บุญ

อนึ่ง ต้องศึกษาธรรมะในชั้นแรกอีกข้อหนึ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของธรรมชาติ และธรรมชาตินี้ไม่ใช่ตัวตนของใคร ธรรมชาติมันปรุงแต่งกันอยู่ตามธรรมชาติ มีบาลีว่า

สุทฺธธมฺมํ สมุปฺปนฺนํ เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นล้วนๆ
สุทฺสงฺขารํ สนุตติ เป็นการสืบต่อของธรรมชาติล้วนๆ

ฉะนั้น ก้อนดิน ก้อนหิน ต้นไม้ เลือดเนื้อ ร่างกาย ชีวิตจิตใจของเรานี้ จึงเป็นการเกิดขึ้น เป็นการปรุงแต่งขึ้นของธรรมชาติล้วน มันจึงไม่เป็นอะไรของใคร

แต่จิตมันโง่ไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน คือ ความโง่ที่แสนโง่เกิดขึ้นแล้วในใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นความโง่ คิดว่าเป็นความจริง

ดังนั้น ความยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกูมันก็เกิดขึ้นในใจ เห็นว่าร่างกายกับจิตใจนั้นเป็นตัวกู แล้วก็ยังมีอะไรๆเป็นของกูไปหมด ฉะนั้น เราจะต้องหัดสละคืนให้ธรรมชาติเป็นลำดับๆไป

วิธีการให้สุญญตาทาน

สละ ขั้นที่ ๑ สละ มานะทิฏฐิ อย่างหยาบๆ เช่น ความดื้อรั้น ความจองหองพองขนที่ไม่ยอมใคร ทั้งๆที่ตัวผิด

สละ ขั้นที่ ๒ สละความเห็นว่ามีอะไรๆ
เป็นของตัว ซึ่งเรียกว่า อัตตนียา กล่าวคือ ความเห็นแก่ตัวนั่นเอง

สละ ขั้นที่ ๓ ก็ละ อัสมิมานะ หรือ อัตตา คือ ตัวกูนั่นเอง สิ่งที่เรียกว่าอัตตานี้เป็นแกนกลางของกิเลสของความเห็นแก่ตัว หรือของความรู้สึกที่ผิดๆทั้งหลาย

ถ้าสามารถละอัตตาหรือตัวกูเสียได้ มันก็เป็นนิพพาน เพราะนิพพาน คือ ความว่างจากตัวกู ว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ ว่างจากความว่ายเวียน ว่างจากตัณหาอุปาทาน มันจึงเป็นความสงบสุขที่เยือกเย็น

เวลาที่ใจของเราสงบเพราะไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์เลย นั่นแหละเป็นตัวอย่างของนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า สุญญตาทาน

สละ ขั้นที่ ๕ ประการสุดท้าย คือ สละนิพพานออกไปเสียทีหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นนิพพานเป็นของกู เป็นเพียงความว่างอย่างยิ่งของอารมณ์เท่านั้น

สุญญตาทาน ไม่เสียเงินและยังได้นิพพาน

ถ้าใครได้ทำอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปสนใจเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาก็ได้ เพราะมันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาอยู่หมดแล้วในการให้ทานแบบนี้ การปฏิบัติธรรมมันก็หมดกันแค่นั้นเพราะมันได้นิพพานแล้ว

ดังนั้น ที่อาตมาอธิบายนี้ จริงหรือไม่จริงก็ลองไปคิดดู มันลัดที่สุดหรือไม่ลัด อาตมาว่าเอาเอง หรือพระพุทธเจ้าท่านว่า เพราะพระพุทธเจ้าท่านยืนย้นเองว่า

"เรื่องที่มันเนื่องด้วยสุญญตานั่นแหละ คือ เรื่องที่ฉันพูด นอกจากนั้นไม่ได้พูด"

(เย เต สุตตันตา = สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด
ตถาคตภาสิตะ = อันตถาคตบัญญัติแล้ว
คัมภีรา = ลึกซึ้ง
คัมภีรรัตถา = มีเนื้อความอันลึกซึ้ง
โลกุตตรา = เหนือโลก
สุญญตัปปฏิสังยุตตา = คือเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตา)

ถ้าใครไม่อยากจะทำอะไรมาก ไม่อยากเสียเงิน ไม่อยากจะยุ่งยาก
ก็ขอให้ทานอย่างที่ว่านี้เถิด แล้วยังได้นิพพาน และไม่มีทางที่จะถูกใครเขาหลอกด้วย

จบตอน

ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อปัญญาฯ พระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งผมได้บวชเรียนที่วัดชลประทานฯ เมื่ออายุ 20 ปี ที่ได้นำผมสู่เส้นทางที่สว่าง และสงบเป็นครั้งแรก

ขอขอบคุณสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำหรับเนื้อหาในต้นฉบับ

ขอขอบคุณยุวพุทธิกะสมาคมแห่งประเทศไทย

ขอขอบคุณภรรยาผู้เป็นที่รักที่ได้นำพาไปยังสถานที่อันสว่างใสวที่ผมได้พบคำสอนของท่านพุทธทาสอีกครั้งหนึ่ง

และขอขอบใจลูกสาว "น้องแตม" ที่ได้เข้าอบรมค่ายธรรมะ และถือศีล 8 ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านรวม 5 วัน ซึ่งตรงกับช่วงวันเกิดของพ่อพอดี พ่อภูมิใจมาก

ขอกราบพระอาจารย์ปิ่น พระอาจารย์วิวัฒน์ และพระอาจารย์ทุกรูปที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ และหลวงน้ามนัส สุขิโต ที่ได้ให้แนวทางในการศึกษาธรรมะ และการภาวนาในช่วงที่ผมไปบวชเข้าพรรษาเมื่อปลายปี 53

ขอกราบเท้าแม่ผู้ให้กำเนิด ผู้อยู่เคียงข้างลูกชายคนนี้มาตลอด 48 ปี แม่เป็นพระอรหันต์ของลูกอย่างที่พระท่านบอกจริงๆ

บุญกุศลใดๆที่ผมได้ทำไว้ ขออุทิศให้พ่อผู้ประเสริฐที่หมดกรรมไปแล้ว ขอให้พ่อไปอยู่ในภพภูมิที่สุข สงบ

หวังว่าธรรมะสั้นๆง่ายๆนี้จะเป็นกำลังใจแก่ทุกๆท่าน



Create Date : 20 ตุลาคม 2552
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2554 22:00:12 น.
Counter : 1568 Pageviews.

2 comment

Double07
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]