Group Blog
 
All Blogs
 
การบริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ เป็นกุศลสูงสุด
วันนี้คุณทำความดีบ้างหรือยัง?

ผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอจนถึง 108 จะได้เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเข็มและเหรียญ 5 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งที่ 36, 108 จะได้รับพระราชทานเข็มที่ระลึก

เมื่อบริจาคครบ 50, 75, 100 จะได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ครั้งที่ 3,2,1 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อบริจาคโลหิตครบตามกำหนดที่กล่าวแล้ว อาจต้องรอวันพระราชทานประมาณ 1-3 ปี ทั้งนี้ต้องรอให้ได้ผู้บริจาคจำนวนมากพอ จึงจะขอพระราชทานวันเข้าเฝ้าได้

ข้างล่างนี้คือลิงค์ไป ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติครับ
//www.redcross.or.th/qa/index.php4?grp_id=45

ในกรณีผู้บริจาคโลหิตมีญาติจำเป็นต้องได้รับโลหิต แล้วร.พ.ไม่มีโลหิตให้ โปรดแจ้งทันทีที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โทร. 0 2251 3111 ต่อ 119, 161 เพื่อจะได้ประสานไปยัง ร.พ.ได้

พญ.รัชนี โอเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย บอกว่า ภาวะการขาดแคลนเลือดที่ได้รับบริจาคจะเกิดขึ้นเสมอๆ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว กรุ๊ปเลือดที่มักขาดแคลน ก็คือ กรุ๊ป A กับ AB ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่กว่า 30% มีเลือดกรุ๊ป B และ O รองลงมา คือ กรุ๊ป A มี 13% ส่วนกรุ๊ป AB มีประมาณ 7%

ใครบ้างที่สามารถบริจาคเลือดได้? คุณหมอรัชนีบอกว่า นอกจากต้องดูช่วงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาคแล้ว ผู้บริจาคต้องไม่มีโรคประจำตัวหรือติดเชื้อร้ายแรง ที่อาจเกิดโทษแก่ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคด้วย

“1.ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในอายุที่เรากำหนด เช่น 17 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี แต่มิได้หมายความว่าบริจาคเริ่มต้นครั้งแรก 60 60 นี่หมายความว่าอาจจะบริจาคต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึง 60 น้ำหนักจะต้องไม่ต่ำกว่า 45 กก.และสุขภาพทั่วไปต้องเป็นคนที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เป็นโรคหัวใจ ไม่เป็นโรคปอด นอกจากนั้นที่สำคัญคือไม่ติดโรค ไม่มีโรคอะไรที่แฝงอยู่ในตัวที่อาจจะถ่ายทอดไปยังผู้รับได้ คือจะต้องไม่เป็นโรคที่ตัวเองบริจาคแล้ว ตัวเองมีปัญหา เช่น มีเลือดน้อย บริจาคแล้วเป็นลม หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความดันโลหิตสูง บริจาคแล้วอาจจะเกิดปัญหา และเลือดนั้นจะต้องไม่เกิดโทษกับผู้รับ คือไม่ทำให้ผู้รับได้รับเชื้อต่างๆ ที่อาจติดต่อได้ทางการให้เลือด เพราะฉะนั้นพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้ผู้บริจาคนั้นมีเชื้ออยู่ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี หรือตับอักเสบบี เช่น เรามีพฤติกรรมในแง่ที่ว่าเราอาจจะติดยาเสพติด หรือเราเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือเพิ่งไปสักมา พฤติกรรมเหล่านี้เราถือว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงในการที่จะติดโรคจากเข็มฉีดยาหรือเข็มต่างๆ ที่ใช้ร่วมกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้เราจะขอห้ามหรือขอร้องว่าไม่ให้บริจาค”

ส่วนเลือดที่ได้รับบริจาคมาแล้วไม่ใช่ว่าจะนำไปให้ผู้ป่วยได้ทันที เพราะต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเลือดที่ดีพอและปลอดภัยแก่ผู้รับ

“เราต้องตรวจก่อน นอกจากว่าเราจะให้การประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าก่อนว่าคุณจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรแล้ว ตอนที่เข้ามาหลังจากที่คัดกรองตัวเองแล้วว่าคิดว่าตัวเองน่าจะปลอดภัย น่าจะมีเลือดดีพอที่จะบริจาคให้ผู้อื่นได้ เราก็จะมีแบบฟอร์มให้กรอกอีก จะมีแบบฟอร์มคำถามต่างๆ ที่จะถามเพื่อความแน่ใจว่าผู้บริจาคนั้นเป็นผู้บริจาคที่ดีจริง หลังจากนั้นก็มีการตรวจร่างกายโดยแพทย์และพยาบาลที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว รวมทั้งอาจจะมีการซักถามเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่าที่ให้คำตอบมานั้นถูกต้องหรือเปล่า หรือผู้บริจาคเองอาจจะมีคำถามว่า ไม่แน่ใจว่าข้อนี้จะตอบอย่างไร ก็สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเราได้ เราก็ตรวจความดันโลหิต ตรวจปอด ตรวจหัวใจ และตรวจด้วยว่ามีความเข้มข้นของเลือดเพียงพอหรือเปล่า ถ้าผ่านการตรวจเหล่านี้หมดทุกขั้นตอนแล้ว ก็จะมีการบริจาคเลือด และตัวอย่างของเลือดที่บริจาคไว้ก็จะมีการตรวจในห้องปฏิบัติการอีก ก็จะตรวจหมู่เลือด ตรวจว่ามีเชื้อต่างๆ เหล่านี้หรือเปล่า ตรวจเชื้อซิฟิลิส ตับอักเสบบี ตับอักเสบซี และเชื้อเอชไอวี หรือเชื้อเอดส์ ถ้าทุกอย่างผ่านหมด คือไม่มีเชื้อ เราถึงจะนำโลหิตที่ผ่านการตรวจกรองเหล่านี้ให้กับผู้ป่วย ในแบบฟอร์มที่เราให้กรอกนั้นจะมีคำถามอยู่ด้วยว่าเมื่อมีการตรวจสอบเชื้อเหล่านี้แล้ว ถ้าเผอิญเป็นผลบวก ผู้บริจาคต้องการให้เราแจ้งผลเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าต้องการให้แจ้งให้แจ้งที่ใด อาจจะไปแจ้งที่ทำงานหรือที่บ้านก็แล้วแต่ ก็จะมีการแจ้งหรือไม่แจ้งตามความประสงค์ของผู้บริจาค”

และหากเผอิญพบว่าเลือดของผู้บริจาครายใดเป็นเลือดบวก หรือติดเชื้อเอชไอวีเชื้อเอดส์ ก็จะมีการเชิญมาตรวจสอบซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

“เวลาจริงๆ ในการทดสอบคือประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่เราคงจะต้องมีเวลาตรวจสอบซ้ำ สมมุติว่าผลเป็นบวก เราจะมีกระบวนการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งอาจเป็นวันรุ่งขึ้นที่เราจะตรวจสอบซ้ำ และถ้าผลยังเป็นบวกอีก จริงๆ เริ่มต้นเราจะมีจดหมายไปก่อน ขอให้กลับมาตรวจเลือดใหม่ ยังไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร เพราะการตรวจเลือดใหม่อาจจะมีตั้งแต่หมู่เลือด ABO ไม่ชัดเจน อาจจะเป็นซิฟิลิส อาจจะเป็นตับอักเสบบี ตับอักเสบซี หรือเอชไอวี อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้การแจ้งผลนั้นเป็นการผิดตัว เราจะมีจดหมายแจ้งไป แล้วให้ผู้บริจาครายนั้นกลับมาเจาะเลือดโดยตรงจากเขาเลย แล้วก็ตรวจสอบซ้ำ ในระหว่างตรวจสอบซ้ำครั้งนี้เอง เราจะมีการสัมภาษณ์เพื่อจะดูด้วยว่าผู้บริจาคนั้นพอจะรู้ตัวอยู่หรือเปล่าว่าเขาอาจจะมีความเสี่ยงในการติดโรคบางอย่างมา ถ้าสมมุติเป็นเชื้อเอชไอวี ดูด้วยว่าเขามีการยอมรับตรงนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเผื่อผลการตรวจสอบซ้ำนั้นเป็นเชื้อเอชไอวีและเป็นบวกจริง”

ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งควรทิ้งช่วง 3 เดือน ซึ่งเลือดที่บริจาคไปไม่เพียงแต่ทำให้ได้เลือดไปช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสามารถแยกเป็นพลาสมาหรือน้ำเหลืองไปช่วยผู้ป่วยได้อีกทาง

“เลือดที่บริจาคมาจะมีทั้งเม็ดเลือดแดง และน้ำเหลือง แต่ปกติเราก็จะนำเลือดของผู้บริจาคมาปั่นแยกเป็นเม็ดเลือดแดง และน้ำเหลือง ถ้ามีอุบัติเหตุเข้ามา แพทย์ส่วนใหญ่ก็จะต้องให้น้ำเกลือไว้ก่อน หรือให้น้ำเหลืองไว้ก่อน จนกว่าจะทราบว่าผู้ป่วยหมู่เลือดอะไร เลือดยูนิตไหนของผู้บริจาคที่เข้ากันได้ อันนั้นต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอเข้ามาปุ๊บ เราจะเห็นเลยว่ากระบวนการของแพทย์คือต้องให้น้ำเกลือไว้ก่อน”

แม้บางคนจะยังกลัวการบริจาคเลือด แต่หลายคนก็เชื่อว่า การบริจาคเลือดนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังส่งผลดีกับร่างกายด้วย ลองไปฟังคำยืนยันชัดๆ อีกครั้งถึงข้อดีของการบริจาคเลือดจากคุณหมอรัชนี

“ในแง่ผลดีต่อร่างกายของผู้บริจาค 1.จะทราบเลยว่าตัวเองนั้นเลือดเข้มข้นเหมือนปกติหรือเปล่า
เพราะเราต้องตรวจก่อนว่ามีเลือดมากเพียงพอ
เข้มข้นเพียงพอ 2.จะทราบร่างกายทั่วๆ ไป เช่น ความดันเป็นอย่างไร ปอด หัวใจเต้นปกติหรือเปล่า นอกจากนั้นการเสียเลือดก็จะไปกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดออกมาใหม่ จะคล้ายๆ กับการที่เราออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะทราบ ถ้าเราไม่เคยออกกำลังกายเลย กล้ามเนื้อจะเมื่อยล้ามาก แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายประจำ กล้ามเนื้อจะแข็งแรง การบริจาคเลือดก็เหมือนกัน การที่เรากระตุ้นให้ไขกระดูกทำงาน และสร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา จะทำให้ไขกระดูกรู้หน้าที่ เวลาที่เรามีการเสียเลือดขึ้นมา ไขกระดูกก็จะรีบทำงานสร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ สร้างเม็ดเลือดออกมาอยู่ในกระแสเลือด อันนี้ก็เป็นสิ่งดีสำหรับผู้บริจาค ที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงตลอดเวลา และมีเม็ดเลือดใหม่ๆ ออกมาช่วยในการหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ตลอดเวลา”

คุณหมอรัชนียังรับรองด้วยว่า การบริจาคเลือดจะไม่ทำให้ผู้บริจาคติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อเอดส์อย่างแน่นอน เพราะเข็มที่ใช้เจาะเลือดไม่มีการใช้ซ้ำ จะใช้ครั้งเดียวทิ้ง
หากท่านใดสนใจบริจาคเลือด แล้วไม่สะดวกที่จะไปบริจาคที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ก็สามารถบริจาคเลือดได้ที่เหล่ากาชาดจังหวัด สาขาบริการโลหิต และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการบริจาคเลือดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-256-4300 อย่าลืมว่าหากทุกคนช่วยกันบริจาคเลือด เลือดที่ได้ไม่เพียงแต่ช่วยเพื่อนร่วมชาติได้อีกหลายชีวิตเท่านั้น แต่วันหนึ่งเลือดเหล่านั้นอาจจะเป็นประโยชน์กับตัวเราหรือญาติพี่น้องของเราก็เป็นได้!!



Create Date : 01 มิถุนายน 2550
Last Update : 22 ตุลาคม 2551 8:47:59 น. 0 comments
Counter : 374 Pageviews.

น้ำเค็ม
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้ำเค็ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.