Group Blog
 
All Blogs
 

เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนสภาพดาวเคราะห์ กับพล็อตนิยายวิทยาศาสตร์

ที่มา : //topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A2955647/A2955647.html

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเบื่อๆขึ้นมาลองค้นเว็บเกี่ยวกับ terraforming ดู

เว็บเหล่านั้นมีการพูดถึงความเป็นไปได้ และเทคโนโลยีที่ต้องการ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพดาวเคราะห์ให้เหมือนกับโลก ในหลายเว็บเหล่านี้ เว็บที่เสนอรายละเอียดทางเทคนิคก็มีมากมาย ผมเลยลองเลือกมาสักสองเว็บ ซึ่งสามารถคลิกอ่านได้ที่ลิงก์พวกนี้ครับ
//www.users.globalnet.co.uk/~mfogg/zubrin.htm
//www.geocities.com/alt_cosmos/

จากเว็บเหล่านี้ทำให้ผมคิดถึงนิยายวิทยาศาสตร์ชุดหนึ่งที่ผมพยายามอดใจจนได้เล่มมือสอง ครบไตรภาคเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือชุด Mars Trilogy ของ Kim Stanley Robinson ซึ่งประกอบด้วย Red Mars(ได้รับรางวัลเนบิวลา), Green Mars(เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลฮิวโก), และ Blue Marsเล่มสุดท้ายในชุดไตรภาค ที่ผู้ประพันธ์ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ในการเขียนถึงสิบเจ็ดปี

ในเล่ม(ผมยังไม่ได้อ่าน) พลิกคร่าวๆมีกล่าวถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุค ตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนกระทั่งยุคที่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติซ้ำรอย เมื่อชาวอาณานิคม เกิดขัดแย้งทางการเมืองกับโลกจนมีการเรียกร้องเอกราช เช่นเดียวกับโลกในสมัยบุกเบิก
อเมริกานั่นเอง

แต่ในทางเทคนิคนั้นเล่า เราจะเปลี่ยนสภาพของดาวเคราะห์(Terraform) ดาวที่แห้งแล้ง มีบรรยากาศเบาบาง มีความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภายในดาวเพียงเล็กน้อย จนเกือบปราศจากสนามแม่เหล็ก(magnetosphere) ที่ห่อหุ้มดาวอยู่ให้พ้นจากลมสุริยะ และรังสีต่างๆจากดวงอาทิตย์ได้อย่างไร

ในเปเปอร์ที่อยู่ในเว็บไซต์นี้นั้น การเปลี่ยนสภาพดาวเคราะห์แดงดวงนี้สามารถกระทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุจำพวกไมลาร์เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม ที่ใช้ทำเรือใบอวกาศ ที่นาซาเคยทดสอบไปเมื่อไม่นานมานี้ ร่วมกับการใช้อุกกาบาตที่มีแอมโมเนียอยู่มากในการบอมบาร์ดพื้นผิวดาว ซึ่งได้ประโยชน์สองต่อนั่นคือ นอกจากเพิ่มก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานจลน์ในการตกกระทบของวัตถุไปเป็นความร้อนเพิ่มอุณหภูมิให้กับผิวดาวอีกด้วย ไปจนถึงการสร้างก๊าซเรือนกระจกจำพวกคลอโรฟลูออโรคาร์บอน แต่จะต้องมีอัตราส่วนของคลอรีนน้อยลง หากต้องการสัดส่วนของก๊าซผสมที่พอดีสำหรับการก่อให้เกิดโอโซน

แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถกักเก็บก๊าซพวกนี้ได้บนดาวเคราะห์ที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำได้ โดยมันจะค่อยๆหลุดออกไปในอวกาศ เนื่องจากความเร็วหลุดพ้นบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้มีค่าน้อยนั่นเอง ซึ่งอาจจะต้องมีการคิดกันต่อไปว่าเราจะหาทางกักเก็บก๊าซในบรรยากาศภายหลังเทอร์ราฟอร์ม ไม่ให้เสียไปได้อย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้มีการป้อนก๊าซให้กับบรรยากาศอย่างต่อเนื่องให้พอดีกับที่มีการสูญเสียไป

ในความคิดของผม พล็อตที่น่าสนใจนำมาเล่น ได้แก่

- อุบัติเหตุในการนำส่งอุกกาบาต หรือเศษชิ้นส่วนดาวหางพวกนั้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
- โรคระบาดจากการที่นาซ่านำเศษชิ้นส่วนก้อนหินจากดาวอังคารที่(อาจจะ)มีจุลินทรีย์ก่อโรคติดอยู่ กลับมาวิเคราะห์บนโลกในปี 2008 – 2010
- เครื่องสร้างสนามแม่เหล็กเทียมให้กับดาวเคราะห์ดวงนี้
- การสร้าง “หลังคา” ให้กับดาวอังคาร(สร้างทรงกลมวัสดุใสน้ำหนักเบา ป้องกันก๊าซระเหยจากผิวดาว) ด้วยเทคโนโลยีที่ดูจะเหนือกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่อาจจะพัฒนาต่อให้เป็น Dyson Sphere ได้
- พล็อตเกี่ยวกับการค้นพบร่องรอยอารยธรรมบนผิวดาว(พล็อตนี้เก่าแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต้องระวัง)
- ระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก(Inter-Planetary Network)ระหว่างอาณานิคม และผลกระทบต่อมนุษย์ชาวอาณานิคม กับมนุษย์โลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง อารมณ์ และสังคม แน่นอนว่า อินเตอร์เน็ตยุคปัจจุบันในตอนนั้น คงกลายเป็นตำนานเล่าขานแบบเดียวกับอาร์พาเน็ต และ BBS ไปแล้ว

*หมายเหตุ* อ่านต่อได้ในคลังกระทู้เก่าด้านบน




 

Create Date : 25 ธันวาคม 2547    
Last Update : 25 ธันวาคม 2547 14:23:01 น.
Counter : 508 Pageviews.  

แนวคิดเกี่ยวกับ Active Skin Display และการนำมาใช้ในนิยายวิทยาศาสตร์

ที่มา: //topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A2644060/A2644060.html

ลองนึกถึงว่า วันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในอนาคตอันใกล้ ถ้าคุณมีจอติดตัว มันจะดีสักปานใด

จะเห็นว่าในปี 2001 ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการพัฒนาของจอโพลิเมอร์ที่สามารถพับงอได้ โดยมีการตั้งความหวังว่าหากมีราคาถูกลง มันจะเข้ามาเสริมความน่าสนใจให้กับสื่อสิ่งพิมพ์แบบที่ใช้หมึกในเร็วๆนี้ โดยสร้างภาพเคลื่อนไหวบนหน้าหนังสือพิมพ์ จอที่ว่านี้คงไม่ได้ชัดอะไรหนักหนา แต่ภาพเบลอๆก็ยังดีกว่าไม่มีภาพเลย...

ทีนี้ หากมีหนทางในการติดตั้งโพลิเมอร์แผ่นบางเฉียบลงบนผิวหนัง... ผลิตภัณฑ์ที่ได้อาจกลายเป็น..รอยสัก..ที่สามารถเปลี่ยนรูปได้(Video Tattoo) เรียกได้ว่าเป็น Active Skin กันเลย

นอกจากนี้ ถ้าไอเดียของ Active Skin เป็นรูปร่างขึ้นมา เราอาจจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอีกมาก

มองแนวโน้มแล้ว จะเห็นได้ว่าชิป และส่วนประกอบอิเลกทรอนิกส์ต่างๆมีแนวโน้มจะลดขนาดลงเรื่อยๆ เร็วๆนี้มีการวิจัยหน่วยเก็บความจำที่สร้างจากโปรตีน มีการวิจัยปลูกคาร์บอนนาโนทิวบ์ให้ยาวขึ้น แล้วก็มีงานวิจัยที่จะใช้คาร์บอนนาโนทิวบ์มาทำเป็นสายไฟเส้นละเอียดยิ่งกว่าที่เคยมีมา ซึ่งเพียงพอสำหรับนำกระแสไฟฟ้าในวงจรขนาดจิ๋ว ภายในสิ้นทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เราอาจได้เห็นความก้าวหน้าขนาดที่สามารถสร้างหน่วยความจำ ชิปประมวลผล เซนเซอร์ และอุปกรณ์สื่อสารที่มีรัศมีทำการจำกัด ที่มีขนาดเล็กเพียง 10 ไมครอนเท่านั้น

ลองดูข่าวในลิงก์ข้างล่าง จะเห็นว่า Prof Kevin Warwick ศาสตราจารย์ทางด้านไซเบอร์เนติกส์ ที่มหาวิทยาลัยเร็ดดิ้ง (ผมไม่ได้เรียนกับแกหรอก แกอยู่คนละภาคฯ) ได้สาธิตให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยี Implant ชิ้นส่วนวงจรลงในตัวมนุษย์โดยไม่เกิดอาการแพ้นั้น มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แม้ว่ากระบวนการที่แกทำนั้น ต้องอาศัยการผ่าตัดที่เจ็บปวดอยู่บ้าง...

//www.findarticles.com/cf_dls/m0COW/2002_August_29/90852600/p1/article.jhtml
//www.sweb.cz/raades/warwick/
//www.realrobots.co.uk/Reading-uni.html
//www.cyber.rdg.ac.uk/news/cirg.htm?00045

ดังนั้น ในอนาคตที่จะมาถึง เราอาจสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในการ พ่นฝัง(blast) ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วพวกนี้ลงไปหลายๆชั้นบนผิวหนังมนุษย์ และใช้เทคโนโลยีในการจัดเรียงตัวโดยอัตโนมัติ(self-organisation technology) เพื่อให้ชิ้นส่วนจิ๋วพวกนี้ กลายเป็นวงจรหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้

ถามถึงความเป็นไปได้ ในปัจจุบัน วงจรเซมิคอนดักเตอร์สามารถพิมพ์ได้โดยใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตแล้ว ดังนั้นลองจินตนาการดูถึงวงจรที่สามารถพิมพ์ลงบนผิวหนังได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดดูสิครับ (ก็มันเล็กนี่นะ)

ถ้าหากใช้สถาปัตยกรรมแบบ five layered architecture โดยที่มีอุปกรณ์บางชิ้นที่จะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังเป็นการถาวรโดยมีการสัมผัสต่อกับเส้นเลือดฝอย และปลายประสาท มันก็อาจเป็นไปได้

อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะสื่อสารกันโดยสัญญาณอินฟราเรดกับวงจรชั่วคราวที่ถูกพิมพ์ลงบนบนผิวหนังที่อาจจะหลุดลอกออกไปในเวลาไม่กี่วัน(ซึ่งดี เพราะเราจะได้เปลี่ยนอุปกรณ์ตัวใหม่ๆได้)

หรือไม่เช่นนั้น วงจรขนาดจิ๋วพวกนี้อาจถูกประกอบมาจากโรงงานในลักษณะเป็นแผ่นเหมือนแผ่นสติกเกอร์รอยสัก ที่เป็นของเล่นแถมมากับขนม หรือที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าหลายคนคงเคยเล่น เมื่อรวมกับตัวที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังแล้ว นอกจากทำเป็นจอภาพแล้ว อาจจะใช้เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ด้วย

ลองมาดูดีกว่า ว่าเราสามารถสร้างอะไรได้บ้าง จากไอเดียนี้

1. ระบบอุปกรณ์เซนเซอร์ ที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถตรวจวัดระดับสารเคมีต่างๆในเลือด และออนไลน์กับระบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลตลอดเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ระบบ Tele-medicine(คงเคยได้ยินจากงาน นิทรรศการไฮเทคจุฬาฯ ครั้งต่างๆที่ผ่านมา) กับระบบ A.I. ที่ใช้ร่วมกับฐานข้อมูลทางการแพทย์จะเป็นระบบ expert system ที่คอยสังเกตคนไข้อยู่ตลอดเวลา และแจ้งแพทย์ที่เป็นมนุษย์ เมื่อร่างกายของคนไข้ส่อแววมีปัญหา นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล อาจจะควบคุมการจ่ายยาจากระยะไกล โดยผ่านระบบปั๊มพ์ยาขนาดเล็ก(ที่เพิ่งเป็นข่าวมาเมื่อไม่กี่ปี) ช่วยให้คนไข้อาการดีขึ้น นอกจากนี้เรายังอาจสามารถใช้เทคโนโลยีทางการพิมพ์ พิมพ์เยื่อเมมเบรนพิเศษที่สามารถควบคุมขนาดของรูปิดเปิดได้ด้วยระดับของกระแสไฟฟ้า เพื่อให้โดสยาที่ได้มีความแม่นยำขึ้น

2. อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วไปต่างๆ อันได้แก่ มือถือ, เครื่องเล่น mp3, PDA, ฯลฯ ก็สามารถพิมพ์ลงไปบนข้อมือได้โดยมีคีย์บอร์ดให้อีกด้วย โดยที่เนื่องจากเป็นระบบจอภาพแบบสัมผัส มันก็จะไม่เห็นชัด ดูเหมือนผิวหนังปกติ จนกว่าเราจะไปสัมผัสมัน จึงจะมีแสงเรืองขึ้นมารับคำสั่ง เป็นทั้งนาฬิกาข้อมือ จอคอมพิวเตอร์ แม้แต่ทีวี

3. เครื่องสำอางค์ นอกจากนี้ active skin technology จากนาโนเทคโนโลยี ยังน่าจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ได้ด้วย เนื่องจากสีสันต่างๆสามารถมองเห็นเปลี่ยนไปได้ เมื่อมีการเลี้ยวเบนของคลื่นแสง ฉะนั้นหากพิ้นผิวของวัสดุมีการเปลี่ยนแปลงไป เราสามารถทำให้สีสันของมันเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมาก(เช่นเดียวกับกลไกที่เกิดขึ้นกับสีของปีกผีเสื้อบางชนิด) ดังนั้นถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของอนุภาคขนาดนาโนที่นำมาใช้ทำเครื่องสำอางค์ได้ เราก็สามารถเปลี่ยนสีของเครื่องสำอางค์นั้นๆได้ หากหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความพิถีพิถัน ใช้เวลาในการอาบน้ำ 30 นาที แต่งหน้า 30 นาที เราอาจสามารถย่นระยะเวลาตรงนั้นได้ โดยใช้กระจกประกอบกับระบบจอดิจิตอลชนิดจอสัมผัส เพื่อแสดงให้เธอดูถึงความเป็นไปได้หลากแบบบนใบหน้า รวมถึงซอฟท์แวร์ที่สามารถแนะนำในเรื่องของการแต่งหน้าได้อีกด้วย

เมื่อเธอโบ๊ะฉ่ำ "เครื่องสำอางค์อัจฉริยะ(smart make-up)" ลงไปแล้วกดภาพใบหน้าที่เธอต้องการบนจอภาพ เมคอัพก็จะสามารถเปลี่ยนสี และลักษณะการเรียงตัวของผงอนุภาค ให้เหมือนกันกับภาพนั้นได้ โดยใช้คลื่นไฟฟ้าจากวงจรที่ฝังอยู่เป็นชั้นบาง(อย่างมองไม่เห็น) ใต้ผิวหนัง

หลักการเดียวกันสามารถนำมาใช้ได้กับยาทาเล็บที่เป็นจอไปด้วยในตัว(video nail varnish) และน้ำหอมอีกด้วย โดยใช้การฝังวงจรในรูปแบบเดียวกับที่ใช้จ่ายยาให้กับคนไข้ เพียงแต่เป็นการเลือกปล่อยโมเลกุลสารหอมระเหยต่างๆชนิดกันในสัดส่วนพอเหมาะ โดยประกอบกับชิ้นส่วนที่ผลิตความอุ่นเพียงบางเบา เพื่อเร้งอัตราการถ่ายเทมวลขององค์ประกอบเหล่านั้น

4. นอกจากนี้(ไม่ได้ลามก แต่คิดในแง่ของการใช้ประโยชน์) ปริมาตรในส่วนของซิลิโคน ของผู้ที่ทำศัลยกรรมเสริมทรวงอก อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากความเล็กลงของวงจร และปริมาตรที่นับว่ามีขนาดใหญ่ภายในทรวงอก ซึ่งอาจใช้บรรจุหน่วยความจำขนาดใหญ่ หรือคอมพิวเตอร์(ในอนาคต)ลงไปได้ทั้งเครื่องอย่างสบายๆ

5. ความเป็นไปได้ในการสร้างสัญญาณเทียมผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก เป็นไปได้ที่อุปกรณ์พวกนี้จะสามารถบันทึกความรู้สึกทางผิวหนัง อย่างเช่น การสัมผัส ความเอร็ดอร่อยของอาหารมื้อโปรด การเล่นกีฬาฯต่างๆ การจับมือทักทาย ตบไหล่ หรือแม้แต่การจุมพิต และอาจเลยไปถึงด้านอื่นๆที่ติดเรท (ใครเคยดูหนังไซไฟเรื่อง Strange Day มาแล้วมั่ง) แน่นอนว่าหากเราพบใครบางคนในระบบความเป็นจริงเสมือน หากมีการสร้างสัญญาณพวกนี้ป้อนเข้าเป็นอินพุทในระบบประสาท เราก็สามารถรู้ถึงประสบการณ์นั้นได้อีก เหมือนกับประสบทางร่างกายมาโดยตรง นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับระบบความเป็นจริงเสมือนในเกมคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย(อย่างในเรื่อง .hack//) แต่แน่นอน ในประการสุดท้ายนี้ยังต้องการการพัฒนาอีกไกล...

คุณๆได้อ่านแล้ว เก็ทไอเดีย อะไรบ้างที่จะนำมาเขียนเป็นสิ่งประดิษฐ์ในนิยายวิทยาศาสตร์(หรือแม้แต่ในชีวิตจริงในอนาคต)ได้ ลองมาเล่าสู่กันฟังนะครับ..




 

Create Date : 25 ธันวาคม 2547    
Last Update : 25 ธันวาคม 2547 14:19:58 น.
Counter : 289 Pageviews.  


DigiTaL-KRASH!!!
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add DigiTaL-KRASH!!!'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.