Group Blog
 
All Blogs
 
เกร็ดการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี 1 - "ข้อจำกัด"

ในความเห็นของผม เทคโนโลยีที่ยังไม่มีในปัจจุบัน
หรือเทคโนโลยีล้ำยุค ทว่ามาจากอารยธรรมแห่งอดีตกาล เป็นเสน่ห์อย่างแรง ที่ทำให้ผมติดตามอ่านนิยายแนวนี้มาเป็นสิบๆปี

ผมเองก็ลืมที่อ่านเล่ม How to write science fiction ของ Orson Scott Card ไปมากพอสมควร แต่จำได้อย่างหนึ่งว่า เขาแนะว่า เวลาเราสร้าง World ไม่ว่าจะเป็น World ของไซไฟ หรือแฟนตาซี นั้น

เทคโนโลยีในเรื่อง หรือ เวทย์มนต์ อำนาจพิเศษของตัวละคร จะต้องไม่ให้มีไม่จำกัด หากแต่เราควรจะต้องกำหนดให้มีข้อจำกัดแบบใดแบบหนึ่งอยู่เสมอ หรือการจะได้อำนาจนั้นมา ก็ต้องเสียอะไรที่สำคัญไป เป็นต้นว่า การทำดาบต้องสาป อาจจะต้องสังเวยด้วยแขนของตัวละคร หรือแม้แต่ชีวิตของคนสำคัญ

พ่อมดรินซ์วินด์ ในซีรีส์พิภพแบน แกไม่สามารถร่ายมนต์ใดๆได้เลย เนื่องจากหนึ่งในมหาเวทย์ทั้งแปด ซึ่งเป็นมหาเวทย์ปฐมกาลของผู้สร้างจักรวาลแห่งดิสก์ บัญญัติขึ้น ที่อยู่ในหนังสืออ็อคตาโว (คัมภีร์แปดทิศ) ที่แกไปแอบอ่านสมัยเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยลับแล(Unseen University) กระโดดเข้ามาในหัวแก แล้วอำนาจนั้นทำให้คาถาอื่นๆไม่กล้าเข้ามาในหัวของพ่อมดผู้น่าสงสารคนนี้อีกเลย แต่ถึงแกร่ายเวทย์ไม่ได้ แกก็ได้เป็นหนึ่งในพ่อมดที่มีบทบาทมากที่สุดในมหาวิทยาลัยลับแลซะอีก

ส่วนในแง่ของเทคโนโลยีแล้ว ดูอย่างสเตซิสฟีลด์ ในเรื่องสงครามชั่วนิรันดร์ มันมีประโยชน์ในการทำสงครามในแง่ของการทำให้ระเบิดนิวตรอนไม่ระเบิดก็จริง แต่ของที่จะสิ่งได้ในนั้น ก็จะต้องมีความเร็วจำกัดไม่มากไปกว่าค่าหนึ่งๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้อาวุธโบราณต่อสู้กันไปโดยปริยาย และต้องเคลือบชุดของเหล่าทหารหาญด้วยชั้นสารเคลือบพิเศษ ที่กันไม่ให้อำนาจของสนามพลังเข้ามากระทบร่างกาย เพราะจะทำให้เมตาโบลิซึมหยุด เป็นต้น (จำได้ลางๆว่าหากมีรอยขีดข่วนจนสารนั้นหลุดไป ตัวคนใส่ก็จะตายด้วย)

หรือเป็นต้นว่า แม้อารยธรรมเครื่องจักรขั้นสูงสุดอย่าง The Culture ในชุดนิยายของ Ian M. Banks จะมี a.i. ที่มีสติปัญญาสูงล้น อำนาจเกินจินตนาการ และเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในกาแลกซี แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะก้าวข้ามไปสู่สภาวะหยั่งรู้(Trancend state) อย่างอารยธรรมก่อนๆได้ และยังถูกกดดันให้จนตรอก ได้จากเผ่าพันธุ์ที่มีอำนาจด้อยกว่า แถมยังมีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีชีวภาพมากกว่าเครื่องจักร อย่าง The Idirans อีกด้วย ทั้งที่จัดว่าเป็น "มวยคนละชั้น" ด้วยซ้ำไป

ในการเดินทางจัมพ์ผ่านไฮเพอร์สเปซ ในเงื่อนไขของนิยายชุดสองเล่ม A Fire upon the deep กับ A Deepness in the sky ของ Vernor Vinge นั้น เส้นใยอะกราฟที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเดินทางข้ามอวกาศ (เดาว่าคงมีฟังก์ชันไม่ต่างอะไรกับเครื่องยนต์กราวิทัต ในนิยายสถาบันสถาปนา ของอาซิมอฟ) ไม่สามารถสร้างได้เลย ที่บริเวณของอวกาศใกล้กับระนาบของกาแลกซี ที่มีอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงสูง แถมระบบคอมพิวเตอร์ก็ยังทำงานได้ช้าลง เนื่องจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง (คือแรงโน้มถ่วงมีผลต่อกาลอวกาศ และทำให้เวลาผ่านไปเร็วหรือช้านั่นเอง) ส่วนในเล่มสอง ซึ่งจริงๆแล้วคือภาคแรก ของนิยายชุดนี้นั้น เป็นเรื่องราวของจักรวรรดิการค้าของมนุษยชาติ ที่ชื่อ "เค็งโฮ" ซึ่งในเวลานั้นมนุษย์ยังไม่สามารถหลุดจาก slow zone (บริเวณที่อวกาศมีแรงดึงดูดสูง ในแขนเกลียวของกาแลกซี) มาสู่บริเวณ The Beyond ซึ่งเป็นบริเวณเหนือระนาบดาราจักร ในส่วนที่เป็นที่อยู่ของกระจุกดาวทรงกลม(Halo) ต่างๆได้ จึงไม่สามารถเดินทางที่ความเร็วเหนือแสงได้ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนแบบแรมสกู๊ป แบบเก่า เดินทางกันครั้งหนึ่งเป็นพันๆปีใน sleeper ship และประดิษฐ์ สิ่งที่เหมือนกับเป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างระบบดาวขึ้นมาเพื่อใช้เก็บข้อมูลต่างๆ ที่อาจสูญหายไปเมื่ออารยธรรมบนพื้นผิวดาวเคราะห์อาณานิคมของมนุษย์แต่ละแห่งเกิดการดับสูญไปก่อนหน้าที่พวกพ่อค้า เค็งโฮ จะเดินทางไปถึง

จะเห็นว่า "ข้อจำกัด" พวกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้นิยายมีรสชาติขึ้น และผู้เขียนเองก็สามารถสร้างวิกฤติให้กับตัวละครได้ เนื่องจากข้อจำกัดของพลังอำนาจทางเทคโนโลยี และ/หรือเวทย์มนต์ พวกนี้นั่นเองครับ



Create Date : 25 ธันวาคม 2547
Last Update : 25 ธันวาคม 2547 15:23:20 น. 0 comments
Counter : 734 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DigiTaL-KRASH!!!
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add DigiTaL-KRASH!!!'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.