εїз ต้นธรรม εїз เติบโตงดงามด้วยคุณธรรม
แหงนหน้ามองขึ้นใปจากโคนต้น เห็นรูปทรงแผ่ระย้ากิ่งสาขา จากร่มเงาแต่ละใบที่ได้มา เกิดจากว่าผู้มีใจไฝ่ในบุญ
Group Blog
 
All blogs
 
พินัยกรรมและมรดก ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา 491216

พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาติให้พระภิกษุทำพินัยกรรมอย่างนั้นหรือ แล้วตามพระวินัยล่ะทำไมถือว่าเป็นโมฆะ

การทำบุญโดยบริจาคอวัยวะ ทำไมได้บุญน้อย ว่าไปแล้วใครจะยอมควักลูกตาให้ทันทีเมื่อมีผู้ขอ


Chatธรรมวันเสาร์ เรื่องพินัยกรรมและมรดก
(เมื่อวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๔๙)
ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง says:
ผู้รู้มาพอดีเลย แฮะ

ดวงดารามากมาย แต่หาทนอยู่ได้ตลอดไปสั says:
อิอิ ท่านปิมาแล้ว ไปเที่ยวกันซะไกลประเด็นเลย

(รู้จัก,เชื่อ,บังคับ,พอใจ,เคารพตัว says:
มีแต่นอกเรื่องธรรมครับพระอาจารย์ เอ้หรือเฉียดๆ อิอิ

น.น้ำใจดี (FM89.25Mhz) says:
เรื่องการแบ่งทรัพย์ของชายตัดฟืนครับ และกำลังสงสัยเรื่องการเปรียบเทียบ งูเห่ากับภรรยา ผมเลยยกตัวอย่าง อดีตกรรมของพระโมคคัลลานะครับ แต่อยากให้พระอาจารย์เล่าน่าจะละเอียดกว่าครับ

พระปิยะลักษณ์ ปญฺญาวโร says:
ขออ่านก่อนนะ ว่าคุยกันถึงไหนแล้ว

dutycompleted says:
นมัสการพระปิครับและทุกท่าน
หวัดดีครับ คุณเทิด
วันนี้คุยหัวข้ออะไรกันอยู่ครับ
เดี๋ยวจะคุยเรื่องนี้ค่ะ “ใครมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งมรดกของผู้ตาย ว่าควรจะแบ่งอย่างไร”
ถ้ามิได้มีพินัยกรรมไว้ ก็คงต้องใช้วิธีลงคะแนนเพื่อหาทางออก ทางออก อาจเป็น
๑.แบ่งเท่ากัน และ
๒.แบ่งโดยให้อำนาจคนที่ได้รับการโหวตให้เป็นผู้รับมรดก ผู้จัดสรรมรดก
เอาล่ะ อาตมาได้อ่านข้อความทั้งหมดที่ได้สนทนากันแล้ว โดยเฉพาะน่าสนใจมากที่คุณนัฐเล่าให้ฟังน่ะ ขออนุโมทนาด้วย
เรามาเริ่มต้นจากคำว่า พินัยกรรม และ มรดก ใครรู้บ้าง แปลว่าอะไร

ความตั้งใจ
ผมขอเดาก่อนนะครับ “พินัย” ใกล้เคียงกับ “วินัย” น่าจะเป็นระเบียบแบบแผน กรรม คือ การกระทำ พินัยกรรม ก็คือ การกระทำที่เป็นแบบแผนที่ถูกต้อง
ทรัพย์สมบัติ ที่ยกให้ การรับช่วง
สิ่งที่ตกทอดของผู้ตาย อิอิ
คิดว่าเราคงจะมีแต่อริยทรัพย์ให้เขาเท่านั้นน่าจะเป็นการดีที่สุด มรดกคิดว่าเป็นสำหรับผู้ที่ยังติดยู่ในโลกธรรม แต่ถ้าเรามุ่งที่จะเป็นพระอรหันต์ เราน่าจะทิ้งอริยทรัพย์ไว้น่าจะดีกว่า
มร-ดก มระ มาจาก มรณา แปลว่า ตายครับ, ดก แปลว่า มีมาก น่าจะมายถึงทรัพย์ครับ
คำว่า พินัยกรรม มาจากศัพท์ ๒ คำ คือ วินัย+กรรม จ๊ะ
วินัย แปลว่า นำไปสู่สิ่งที่ดีงามวิเศษ ส่วน กรรม ก็หมายถึง การกระทำ เหมือนกับที่คุณนัฐพลตอบนั่นล่ะจ๊ะ ถูกต้องแล้ว
คำว่า พินัยกรรม แผลงมาจาก วินัยกรรม ซึ่งหมายถึง ระเบียบปฏิบัติหรือการกระทำอันเป็นแบบแผนที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีงามหรือสิ่งที่ดีงาม หรือจะแปลว่า ความประพฤติหรือแบบแผนที่ดีงามอันพึงกระทำก็ได้ (อันนี้แปลแบบขยายความหน่อยนะ)

ผมเดา โดยอาศัยวิชาหลักวิชาภาษาไทย สมัยเรียนตอนมัธยมครับ เรื่องคำสมาส คำสนธิ คำแผลง ครับ
ส่วนคำว่า มรดก มาจากคำบาลีว่า มตกะ สันสกฤตว่า มรตะ มีความหมายว่า ของๆ ผู้ตาย โดยแท้แล้วรากศัพท์ก็มาจากคำว่า มร หรือ มต ซึ่งแปลว่า ความตาย
ฉะนั้นในภาษาไทยคำว่า มรดก จึงมีความหมายว่า สิ่งที่ตกทอดมาจากผู้ตาย หรือสิ่งอันเป็นของผู้ตายนั่นเอง
ในภาษาไทย คำว่า มระ มีใช้อยู่มากมายนะในที่ต่างๆ เช่น คำว่า “อมร” ซึ่งมาจาก น+มร หรือ อ+มร แปลว่า ไม่ตาย ก็หมายถึงเทวดานั่นเอง เพราะตามคติความเชื่อแต่โบราณ โดยเฉพาะในประเทศอินเดียซึ่งศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลอยู่มากนั้น มีความเชื่อว่า เทวดาเป็นอมตะ คือ ไม่มีวันตาย ซึ่งต่างจากพระพุทธศาสนาเราที่สอนว่า สัตว์ทั้งหลายตราบใดที่ยังมีอาสวะกิเลส ย่อมเวียนว่ายตายเกิดไปในสงสารไม่มีสิ้นสุด
หรืออย่างคำว่า อมรินทร์ ก็มาจากคำว่า อมร+อินท ซึ่งคำว่า อินท แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ คำว่า อมรินทร์ ก็แปลว่า เทวดาผู้เป็นใหญ่ หรือเจ้าแห่งเทวดาทั้งหลาย ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์หรือท้าวสักกะนั่นเอง แต่สำหรับคนจีน เขานิยมเรียกกันว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้” ซึ่งหมายถึง ราชาแห่งเทวดา
เอาล่ะนะ เราจะย้อนกลับมาสู่เรื่องของมรดกกัน โดยปกติถ้าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้นี่สิ บางครั้งก็อาจจะเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นได้
การทำพินัยกรรมนั้น เป็นส่วนแห่งความตั้งใจของผู้ตายที่ได้สั่งไว้ ซึ่งบางครั้งหลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย บางฝ่ายอาจเห็นว่าเป็นสิ่งยุติธรรม แต่บางฝ่ายก็อาจเห็นว่าไม่ยุติธรรมบ้างก็ได้ นี่ล่ะคือปัญหาประการหนึ่ง

ทรัพย์ ที่ใครๆ ก็อยากได้
พระอาจารย์ครับ คนที่บวชเป็นพระ ทางกฎหมายเขาว่าไม่สามารถรับมรดกได้ใช่ไหมครับ รู้สึกจะเคยได้ยินมาแว่วๆ นะครับ แฮะๆ ความจำไม่ค่อยดี
ได้ยินเสียงแว่ว ดังแผ่วมาแต่ไกล
ต้องแยกกรณี ในพระพุทธศาสนา การรับมรดกเป็นเรื่องหนึ่ง การให้มรดกหรือพินัยกรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำพินัยกรรม
(๑) (ไม่ว่าจะให้แก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิตด้วยกันก็ตาม) แต่สำหรับการรับพินัยกรรมนั้นสามารถกระทำได้ เช่น ผู้ตายทำพินัยกรรมมอบกุฏิ(บ้าน) หรือสิ่งของให้แก่พระภิกษุ ถ้ามีผู้นำมาถวายอย่างนี้ก็รับได้
ในทางกฏหมาย แม้พระภิกษุยังคงดำรงสมณเพศอยู่ ก็สามารถรับพินัยกรรมหรือทรัพย์มรดกนั้นได้เช่นเดียวกัน แต่จะไม่อาจต่อสู้คดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์มรดกได้เท่านั้น นั่นหมายถึงถ้ามีผู้นำมาถวายก็รับได้ แต่ไม่พึงเรียกร้องสิทธิ์
หากพระภิกษุรูปนั้นปรารถนาจะต่อสู้คดีเพื่อรับทรัพย์มรดก จะต้องสละสมณเพศออกมาเสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์ต่อสู้คดีในเรื่องทรัพย์มรดกได้
ส่วนในการทำพินัยกรรมของพระภิกษุนั้น ในทางกฏหมายสามารถกระทำได้

โห
แล้วถ้าเกิด พระบวชหลังจากมีบุตรแล้วละครับ
ในกรณีนี้เข้าใจว่าคุณจะถามเรื่องของการทำพินัยกรรมของพระภิกษุรูปนั้นใช่หรือไม่ ในส่วนนี้ต้องแยกประเด็นออกเป็น ๒ อย่าง คือ
๑. ทรัพย์ที่เกิดขึ้นก่อนการดำรงสมณเพศ และ
๒. ทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำรงสมณเพศ หรือทรัพย์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยการดำรงสมณเพศ
(หมายความว่าอาศัยการดำรงสมณเพศเป็นเหตุแห่งการได้มาซึ่งทรัพย์)
ในส่วนของทรัพย์ที่เกิดขึ้นก่อนการดำรงสมณเพศนั้นไม่มีปัญหา เพราะก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ผู้บวชจะมอบแก่ใครหรือยกให้ใครไว้ก่อนก็ได้หรือแม้การทำพินัยกรรมไว้ในส่วนของทรัพย์ที่เกิดขึ้นก่อนการดำรงสมณเพศนั้นก็พึงกระทำได้
แต่ทว่า โดยหลักการของพระพุทธศาสนานั้น เมื่อบุคคลออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ควรสละเสียซึ่งทรัพย์ทั้งหลาย และอำนาจในทรัพย์นั้นให้แก่บุคคลผู้อยู่ภายหลังเสียก่อนจึงจะสมควร
เรียกว่าตัดภาระผูกพันในทางโลกเสีย เรียกตามภาษาเดิมว่า “สละเรือนออกบวช หรือ สละกองโภคะสมบัติน้อยใหญ่บวชเป็นบรรพชิต เป็นอนาคาริกะ (ผู้ไม่มีเรือน)”
คำว่า “ผู้ไม่มีเรือน” นั้นมีความหมายว่า ไม่มีทรัพย์สมบัติหรือไม่ครอบครองทรัพย์สมบัตินั่นเอง มิใช่หมายถึง ไม่มีที่อยู่อาศัย

แล้วในขณะบวช ถ้าพระองค์นั้นเกิดมีทรัพย์ขึ้นมา พอพระท่านตาย ทรัพย์นั้น บุตรจะนำมาแบ่งกันไม่ได้ด้วยใช่ไหมครับ ต้องตกเป็นของสงฆ์ใช่ไหมครับ หรือว่าเป็นของลูกหลานของพระท่านนั้น นำมาแบ่งกันได้ครับ
อืมมม ทรัพย์นั้นก็ตกเป็นของสงฆ์หรือเปล่า
ซึ่งสำหรับทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำรงสมณเพศนั้น โดยวินัยของสงฆ์พระภิกษุไม่มีสิทธิ์ที่จะทำพินัยกรรมเพื่อจะยกให้ใคร เมื่อพระภิกษุรูปนั้นถึงแก่มรณภาพลง ทรัพย์ทั้งปวงย่อมตกเป็นของสงฆ์หรือเป็นของกลางทันที (๑)
เพราะในธรรมวินัยนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระภิกษุไม่พึงมีสิทธิ์ในทรัพย์ภายหลังเมื่อตนนั้นถึงแก่ความตาย เพราะเหตุใด ?
เพราะเหตุว่า อันการกระทำที่บุคคลกระทำแล้วด้วยเจตนาเท่านั้นจึงจะถือได้ว่าเป็นกรรม คือ จะต้องกระทำเมื่อตนยังสามารถกระทำได้ หรือเมื่อตนยังคงมีชีวิตอยู่เท่านั้น มิใช่ให้เป็นไปภายหลังที่ตนไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินนั้นได้แล้ว
เพราะบุคคลย่อมไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมต่อทรัพย์อันตนมิได้เป็นเจ้าของแล้ว ฉันใด บรรดาสิทธิ์ทั้งหลายในทรัพย์นั้นของเจ้าของทรัพย์ก็ย่อมหมดสิ้นไปด้วย ภายหลังเมื่อตนได้เสียชีวิตไปแล้ว ก็ฉันนั้น
เช่นว่า ถ้าเราปรารถนาจะให้อะไรกับใครสักคนหนึ่ง เราจะต้องให้ในขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่นะ ไม่ใช่ว่า ‘รอฉันตายก่อนแล้วเธอจึงค่อยมารับ’ อย่างนี้ใช้ไม่ได้
เรียกว่า การกระทำนั้น ไม่เป็นกรรมที่สมบูรณ์โดยเจตนา เพราะขาดเจตนาในการให้
(๒) และขาดองค์ประกอบในข้อที่ว่า ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน (๓) เป็นแต่เพียงว่า “จะให้ จะให้” เท่านั้น หรือเป็นแต่เพียงความตั้งใจที่จะให้ แต่ยังมิได้มีการให้เกิดขึ้นจริง
เมื่อกล่าวในด้านบุญกุศลแล้ว บุญกุศลอันเกิดแต่ทรัพย์ที่ตนบริจาคแก่ลูกหลานนั้นจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเป็นการให้โดยสิทธิ์ขาดแก่ผู้นั้นทันทีในขณะที่ตนยังคงมีชีวิตอยู่ เรียกว่า ให้เขาไปโดยเราก็รู้อยู่ว่า เขาย่อมได้รับแล้วอย่างแน่นอน อีกทั้งยังถือว่า เป็นการสละขาดจากการครอบครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นด้วยเจตนาสละของตนเอง โดยตนก็พร้อมที่จะสูญเสีย หรือเสียสละไปให้แก่เขาโดยไม่เหลือเยื่อใย

เอ แล้วการบริจาคร่างกายเมื่อตายแล้ว ก็ไม่ถือว่าได้บุญด้วยสิ
Annie says:
แต่ก็มีการตัดสินใจจะบริจาคก่อนตายนี่คะ

ก็เหมือนพินัยกรรมค่ะ ตามที่ท่านปิกำลังอธิบายอยู่
ในเรื่องของการบริจาคร่างกายนั้น ความจริงก็เป็นบุญเช่นกัน แต่ก็มีอานิสงส์น้อย เพราะตนยินยอมพร้อมใจที่จะให้ภายหลังเมื่อตนใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว (๔) แต่แม้อย่างนั้น คนในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสละร่างกายให้กับโรงพยาบาลหรือผู้พิการได้ เพราะความตระหนี่หวงแหนเป็นสำคัญ หรือด้วยความเห็นผิดบางประการเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย (เช่น เชื่อว่าจะเกิดมาพิการ เป็นต้น)
อย่างนี้การบริจาคตา ถ้าให้ได้กุศลจริง ก็ต้องทันทีที่รู้ว่ามีคนต้องการดวงตา
การทำพินัยกรรมเพื่อให้มีผลภายหลังการสิ้นชีวิตนั้น แม้ว่าผู้ตายจะต้องการให้ผู้นั้นผู้นี้ได้รับ แต่ทว่า ความเป็นจริง ผู้ตายมิได้มีเจตนาสละเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นการให้ภายหลังที่ตนไม่อาจใช้สอยได้แล้ว เช่นว่าหรือคล้ายๆ กับว่า อาหารบางอย่างเรากินไม่ได้หรือเป็นของแสลง แม้อยากจะกินก็กินไม่ได้ จึงต้องให้ผู้อื่นไป อย่างนี้เจตนาในการให้ไม่บริบูรณ์ คือมีกำลังอ่อนมาก
อืม น่าคิด
นั่นซิ
โห ชัดเจน ด้วยเพราะตนยังไม่ได้สละอย่างแท้จริง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า การให้ทานนั้นจะมีผลมากมีอานิสงส์มากขึ้นกับองค์ประกอบ ๓ ประการ (๕) คือ
๑. ความตั้งใจของผู้ให้ (ศรัทธา)
๒. สิ่งของที่ให้ได้มาโดยบริสุทธิ์และมีประโยชน์ (ไทยธรรม)
๓. ผู้รับเป็นผู้ที่มีศีลมีธรรม (ทักขิไณยบุคคล)
๑. ผู้ให้มีเจตนาให้การสละสิ่งนั้นจริงๆ จึงจะเริ่มต้นเป็นทาน การให้ และท่านกล่าวว่า ถ้าผู้ให้มีคุณธรรมสูง ย่อมทำให้เกิดบุญมาก ซึ่งในข้อนี้ หมายถึง เมื่อผู้ให้เป็นผู้มีคุณธรรม ย่อมให้โดยพิจารณาโดยแยบคายก่อนให้ ฉะนั้น ย่อมให้สิ่งที่สมควร ในกาลที่ควร แก่บุคคลผู้ที่สมควรได้รับด้วย ฉะนั้น จึงย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก

ถ้าจะให้ ก็ต้องให้ทันทีเลย ไม่ใช่ทำหนังสือบอกว่าจะให้เมื่อตายแล้ว แต่ก็มีคนให้ทันทีนะ แต่ก็ด้วยความหวังว่าลูกหลานคนนั้นๆ จะทำดีด้วย อย่างนี้ก็ไม่น่าจะใช่บุญนะ ให้เพื่อหวังการตอบแทน
และท่านได้กล่าวไว้อีกว่า ในการให้ทานนั้น ถ้าผู้ให้ก่อนการให้ก็มีจิตยินดีมีความตั้งใจ ระหว่างให้ก็มีจิตยินดีมีความตั้งใจ และหลังจากได้ให้ไปแล้ว คือ เขาได้รับไปแล้ว ก็มีจิตยินดีมีความพึงพอใจ อย่างนี้จึงจะทำให้การให้นั้น มีผลมากมีอานิสงส์มาก (๒)
ตรงนี้ล่ะที่สำคัญ คือ ในฝ่ายของผู้ให้ เมื่อผู้ให้ยังมิได้มีเจตนาที่จะให้โดยสละขาดอย่างแท้จริง จึงมิได้ให้(ทรัพย์นั้น)ในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ เป็นเหตุที่ทำให้การให้นั้น มิได้เป็นบุญที่แท้จริง

ตรงนี้ล่ะเด็ด เพราะยังไม่ได้มีเจตนาสละขาดอย่างแท้จริง
ฉะนั้น หากจะกล่าวในแง่ของความเป็นบุญกุศลแล้ว ในขณะที่ให้ เช่น ในขณะที่ทำพินัยกรรม ผู้นั้นก็มิได้ให้ในสิ่งที่เขามีอำนาจครอบครองต่อทรัพย์นั้นอย่างแท้จริง เพราะเมื่อถืงเวลานั้น ผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจครอบครองทรัพย์นั้นอีกต่อไป จำต้องสละ เรียกว่า เจตนาในบุญนั้นมีกำลังอ่อน
แต่หากกล่าวในแง่ของเจตนาของผู้ให้ ก็อาจกล่าวได้ว่า ผู้ให้มีเจตนาที่จะให้แก่ผู้รับจริง หรืออาจเชื่อว่ากระบวนการทางกฎหมายจะคุ้มครองเพื่อปฏิบัติต่อพินัยกรรมนั้น เพื่อให้ผู้นั้นได้รับจริง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เจตนาในการให้นั้นก็เป็นบุญประการหนึ่ง แต่ความเสียสละซึ่งเป็นสาระสำคัญของการให้ทานนั้นกลับไม่มี
และแม้ได้ให้ไปแล้วโดยการทำพินัยกรรมไว้ ผู้ให้ก็ไม่อาจทราบได้ว่า ผู้รับนั้นจะได้รับทรัพย์นั้นจริงหรือไม่ เพราะบุคคลนั้นๆ ก็ได้ตายไปแล้ว เรียกว่า เจตนาทั้ง ๓ กาลไม่บริบูรณ์
๑ เจตนาก่อนให้มีกำลังอ่อน เพราะมิได้คิดสละขาดในขณะที่มีชีวิตอยู่
๒ เจตนาในระหว่างการให้ก็ไม่มี เพราะยังมิได้ให้ จะให้ต้องเมื่อฉันตายแล้วเท่านั้น หรือแม้คิดว่า ขณะทำพินัยกรรมก็ได้ให้แล้ว แต่โดยแท้แล้วก็ยังมิได้ให้อยู่นั่นเอง
๓ เจตนาหลังการให้ คือ ความปราโมทย์ ปีติ จากการได้ให้ หรือจากการได้เห็นว่าเขาได้รับส่วนนั้นแล้ว ย่อมไม่มี
ฉะนั้น วินัยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำพินัยกรรม ซึ่งระบุไว้ในพระวินัยปิฎก ว่าหากต้องการให้ ต้องให้ในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
(๖)
ตอนนี้ ขอย้อนกลับมาสู่ความรู้สึกที่ว่า การแบ่งทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมนั้น บางครั้งอาจมีความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมในฐานะของบุตรธิดา เป็นต้น
ในกรณีการทำพินัยกรรมนั้น พึงเข้าใจว่า ควรต้องกลับมาพิจารณาความหมายของคำว่า “มรดก” โดยแท้กันเสียก่อน
คำว่า มรดก อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า เป็นส่วนของผู้ตาย ฉะนั้น ถ้าว่าโดยแท้แล้ว ย่อมเป็นสิทธิของผู้ตายในการมีจิตเสน่หาต่อผู้ใด และมอบทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้นั้นตามแต่ใจปรารถนาได้
นั่นหมายความว่า เป็นสิทธิของผู้ตายในทรัพย์ที่ตนหามาด้วยความยากลำบากนั่นเอง ฉะนั้น ย่อมมีสิทธิ์ที่จะแบ่งอย่างไรก็ได้ โดยแท้แล้ว ลูกหลาน(ผู้รับ)ย่อมไม่ควรโต้แย้งต่อเจตนาของผู้ที่จากไปโดยอำนาจแห่งความเป็นเจ้าของทรัพย์
เพียงแต่ว่าในขณะที่ผู้ใกล้ตายจะทำพินัยกรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำบนพื้นฐานแห่งความมีสติสัมปชัญญะโดยพร้อมมูลที่สุด
ซึ่งโดยปกติ พ่อแม่ย่อมรักลูกทุกคนและปรารถนาที่จะให้บุตรธิดาได้รับทรัพย์นั้นอย่างเท่าเทียมหรือโดยหน้าที่ๆ ตนรับผิดชอบอยู่แล้วตามสมควร และปรารถนาอย่างที่สุดที่จะให้บุตรธิดามีความสมัครสมานสามัคคี มีความรักความเข้าใจต่อกันและกัน และไม่ถือเอาทรัพย์สินเงินทองเป็นใหญ่จนนำมาซึ่งการทะเลาะวิวาท หรือบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน
สำหรับบุตรธิดา ภรรยา และผู้เกี่ยวข้องนั้น พึงทำใจไว้โดยแยบคายก่อนว่า ‘นั่นมิใช่ทรัพย์ของเรา’ แต่เป็นทรัพย์ที่ผู้ตายเขาทิ้งไว้ให้ แม้จะมากน้อยอย่างไรเราก็พึงยินดี เพราะนั่นคือส่วนแห่งทรัพย์ที่เพิ่มพูนขึ้นเองจากการให้ โดยได้เปล่า มิใช่ต้องลงทุนลงแรงอะไรไป จึงไม่ควรเสียใจ หากจะได้มากน้อยต่างกันไปบ้าง
คล้ายกับว่าก็เมื่อเรามิได้ทำขึ้น ก็เมื่อทรัพย์เรามิได้หามา ก็เมื่อทรัพย์เรามิได้เป็นเจ้าของ แล้วเราจะต้องการอะไรให้มากมายไปเล่า เพียงชีวิตที่บิดามารดามอบให้ ทั้งอัตตภาพแห่งความเป็นมนุษย์นี้ การดูแลคุ้มครองมาตลอดชั่วชีวิต ให้การศึกษา เท่านี้ยังไม่พออีกหรือ
ใยจะต้องนำเอาปัญหาการแบ่งปันทรัพย์ของบิดามารดา (ของบิดามารดานะ ไม่ใช่ของเรา) มาเป็นเหตุแห่งการทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงกันในหมู่แห่งญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตด้วยเล่า แล้วถ้าผู้ตายรู้ ท่านจะคิดอย่างไร ท่านจะเสียใจอย่างไร

ส่วนใหญ่ เท่าที่ผมรับรู้อ่ะครับพระอาจารย์ เหตุที่พี่น้องทะเลาะกัน หลายครอบครัว ก็เพราะเรื่องทรัพย์นี่แหละครับ ส่วนใหญ่จริง ๆ เกือบร้อยทั้งร้อยเลย ที่ได้รับรู้นะครับ
คนเราทุกคน จริงอยู่ย่อมมีความคาดหวังในทรัพย์มรดกของบิดามารดา แต่เราก็พึงต้องสำเหนียกไว้ว่า ชีวิตของคนทุกคนนั้นย่อมมีหน้าที่ๆ ต้องพึ่งพาตนเองเป็นอันดับแรก เมื่อเราได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลมาอย่างเพียงพอแล้ว ก็ควรใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษามาประกอบอาชีพด้วยความมั่นใจในตนเอง และพร้อมที่จะยืนหยัดขึ้นด้วยกำลังสติปัญญาของตน
ตามหลักของพระพุทธศาสนา ทรัพย์นั้นมี ๒ ประเภท
(๗) คือ
๑. ทรัพย์ภายใน ได้แก่ คุณธรรมความดีทั้งหลาย ทั้งความรู้และสติปัญญา
๒. ทรัพย์ภายนอก ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง
ในบรรดาทรัพย์ ๒ ประเภทนั้น ทรัพย์ภายในเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ท่านเรียกว่า “อริยทรัพย์” คือ ทรัพย์อันประเสริฐที่จะนำชีวิตไปสู่ความดีประเสริฐแท้จริง ส่วนทรัพย์ภายนอกนั้นไม่ประเสริฐอะไร เพราะมีแล้วก็มิได้ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ไปได้ แต่กลับเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนวุ่นวายใจ และยังเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนแย่งชิงกันอีกด้วย
นี่สิจึงจะเรียกว่ายุติธรรม คือ ต่างฝ่ายต่างก็จบลงด้วยธรรม ยุติลงด้วยธรรม คือ มีความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อทรัพย์นั้น แล้วมีความเมตตาต่อกัน ตกลงกัน แบ่งปันกันด้วยความรักความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นไปตามธรรมะและหน้าที่ของแต่ละบุคคล
และที่สำคัญพึงพิจารณาอยู่เสมอว่า ‘เรามีหน้าที่ๆ จะต้องขนขวายในกิจทั้งปวง ตามบทบาทและหน้าที่เพื่อความอยู่ได้ด้วยดีในชีวิตของตน


ครับ ผมก็พยายามอยู่เหมือนกันครับพระอาจารย์ เอ้ พยายามหรือเปล่าน้า อิอิ
เห็นด้วยครับ เข้าใจแจ่มแจ้งครับพระอาจารย์ สาธุครับ
อยากให้พิจารณาเช่นนี้จริงๆ ‘นี่คือส่วนเกินนะ นี่คือส่วนเกิน’ ที่เกินพอดีอยู่แล้วตั้งแต่เราเกิดมา เราได้รับอะไรมากมายพอแล้วจากบิดามารดา ฉะนั้น ไม่พึงเศร้าเสียใจ เมื่อคิดถึงทรัพย์นั้นว่าควรเป็นของเราเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงเลย
P*^~ I +N~^*K :กินอาหารหลากหลายมีผักผลไม้ 5 ชนิดต่อวัน อายุอ่ says:
ค่ะท่าน
ชีวิตของคนเรานั้น มาก็มาตัวเปล่า แม้เสื้อผ้าสักชิ้นก็ไม่ติดตัวมา ทุกอย่างเราหามาและได้รับมาภายหลังทั้งสิ้น ซึ่งนั่นก็เป็นกำไรของชีวิตแล้ว จะมัวแก่งแย่งกันไปให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ญาติเพื่ออะไร
ทรัพย์สินเงินทองไม่มี ภายหลังหากมีสติปัญญาก็สามารถหาได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องนี่สิ เป็นสิ่งที่หามาเพิ่มเติมอีกไม่ได้

ครับ
ถ้าพ่อแม่(ผู้ตาย) รู้ว่าลูกหลานมาแก่งแย่งหรือทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยเรื่องเช่นนี้ ท่านคงจะเสียใจว่าทรัพย์ที่ท่านหามาได้ด้วยความยากลำบาก กลับเป็นเหตุแห่งการทะเลาะเบาะแว้งและแตกความสามัคคีในหมู่พี่น้อง สู้ไม่มีทรัพย์แล้วพี่น้องมีความรักกันยังไม่ได้
เป็นแง่คิดที่น่านำไปพิจารณา ในเรื่องมรดกให้มากครับ
ถ้าสังคมมีการกำหนดไว้ว่าให้ทรัพย์ตกเป็นของสาธารณะล่ะเจ้าคะ
ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมว่าคนหลายคนคงไม่อยากสร้างทรัพย์มาก ๆ เพราะสร้างแล้วก็กลายเป็นของทุกคนไป
ก็ไม่แน่หรอกค่ะ คนที่ไม่มีทายาทแต่ก็มีการสร้างทรัพย์มากมายก็มีนะ ก็เพื่อตนเองได้สุขสบายไว้ก่อน ตายไปก็อีกเรื่อง
ในสมัยพระรัฐบาลท่านออกบวช เมื่อท่านบวชแล้ว มารดาบิดาปรารถนาจะให้ท่านสึกมารับทรัพย์สมบัติ เมื่อท่านไม่รับมารดาบิดากล่าวว่า “เจ้ารู้ไหมว่า ทรัพย์นี้พ่อแม่หามาก็เพื่อเจ้า ถ้าเจ้าไม่รับเอาแล้ว ก็จะต้องถูกหลวงยึดไป ขอเจ้าจงเห็นใจ อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย จงสึกออกมาเถิด”
เมื่อพระรัฐบาลได้ฟังจากโยมพ่อแม่แล้ว ก็ตอบว่า "หากทรัพย์เป็นเหตุที่ทำให้โยมเป็นทุกข์ถึงเพียงนี้ เพราะเกรงจะถูกหลวงยึดไป ก็ขอให้โยมนำทรัพย์ที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ไปโยนทิ้งในมหาสมุทรเสียเถิด เมื่อไม่มีทรัพย์ให้หวงแหนแล้ว โยมก็จะได้ไม่ต้องทุกข์อีกเพราะทรัพย์นั้น"

โอ้ว สุดยอด
เห็นด้วย คนเราก็โลภวันยังค่ำ
จะเห็นได้ว่าตามคติของพระพุทธศาสนา การมีอยู่ซึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้น ก็เป็นแต่เพียงปัจจัยในการดำรงชีวิตเท่านั้น หมายความว่า เป็นปัจจัยต่อการมีชีวิตนะ มิใช่เป็นจุดหมายของชีวิต
หลายต่อหลายคนมองว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นเป้าหมายของชีวิต หรือเป็นจุดหมายที่ควรจะเข้าถึง คือ ‘ความร่ำรวย’ มุ่งแสวงหาทรัพย์สินเงินทองไว้มากมาย บางครั้งก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ จนกระทั่งแม้จนตลอดชั่วชีวิต
ซึ่งทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้นั้น แม้จะจับจ่ายใช้สอย จะกินอยู่ฟุ่มเฟือยไปบ้างอย่างไรก็ไม่อาจให้หมดสิ้นไปได้ (เว้นแต่การสูญเสียไปเพราะอบายมุข เช่น การพนัน เป็นต้น) แต่ก็ยังคงเบียดเบียนกันเพื่อทรัพย์ อันเป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุนแก่การดำรงชีวิต
แท้จริงแล้วทรัพย์ทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยแก่การมีชีวิต แต่คนเรามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อการมีชีวิตและการมีทรัพย์เท่านั้นหรือ

อืมม นะ เพราะเขาไม่เข้าใจความหมายของชีวิตหรือเปล่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป้าหมายของชีวิตนั้นมีด้วยกัน ๓ ระดับ (๘) โดยในระดับที่ ๑ เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ประโยชน์ที่พึงเห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ และเป็นเป้าหมายของชีวิตในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น มิใช่เป้าหมายสูงสุด ๔ ประการ ได้แก่
๑ การมีสุขภาพแข็งแรง
๒.การมีอาชีพการงานที่สามารถเลี้ยงตนได้
๓.การได้รับการยอมรับในสังคม มีคนที่รักเรา
๔.การมีครอบครัวที่อบอุ่นผาสุข
พระพุทธองค์ตรัสว่า ๔ ประการนี้ เป็นเพียงจุดหมายในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น เพื่อทำให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดีเพียงในปัจจุบัน
แต่เป้าหมายของชีวิตในอีก ๒ ระดับนั้น เรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” และ “ปรมัตถะ” นั้น ยิ่งกว่านี้อีกมาก ซึ่งสรุปโดยย่อ คือ การกระทำคุณงามความดีทั้งหลาย เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจแก่ตนทั้งในปัจจุบัน อนาคต และในสัมปรายภพ และการมีปัญญาในการใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย เรียกว่า สามารถเอาชนะความโลภ โกรธ หลงในตนได้ จนมีจิตเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง มีความสงบเย็นเป็นนิพพาน นี่ล่ะจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตที่แท้จริง

สาธุครับพระอาจารย์
เอาไว้เท่านี้ก่อนนะ คืนนี้ดึกมากแล้ว
ครับ
จะมีใครรู้บ้างว่าเป้าหมายของชีวิตควรเป็นเช่นนี้
ขออนุโมทนาบุญกับทุกคนด้วย ที่ได้ร่วมฟังธรรม และสนทนาธรรมร่วมกัน
แหม แต่สองข้อสุดท้าย อธิบายสั้นจัง
สาธุค่ะ
สาธุ ครับพระอาจารย์ ขอบพระคุณมากครับ
กราบขอบพระคุณท่านที่สละเวลามาสนทนาธรรมค่ะ
ขอฝากพุทธภาษิตสำหรับสัปดาห์นี้ไว้ว่า
"อิจฺฉา หิ อนนฺตโคจรา"
ความอยากนั้น ไม่มีที่สิ้นสุดเลย
(ฉะนั้น อย่าไปตามใจกิเลสให้มันหลอกเอานะ)

กราบขอบพระคุณค่ะ
ขอบคุณค่ะ
........................................



๑ วิ.ม. ๕/๑๖๗/๑๘๓
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร.. บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นลหุภัณฑ์ ลหุบริขาร สิ่งนั้นเราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันแบ่ง บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร สิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา ไม่ควรแบ่ง ไม่ควรแจก”
๒ ขุ.ชาดก ๕๙ หน้า ๑๖๕ (อรรถกถามัยหกสกุณชาดก), องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๐๘/๓๐๖ (ขยาย ๓๖ หน้า ๖๓๐ อรรถกถา)
เจตนาในการให้มี ๓ กาล คือ
- บุพพเจตนา(เจตนาก่อนการให้)๑
- มุญจนเจตนา(เจตนาในระหว่างที่ให้อยู่)๑
- อปรเจตนา(เจตนาเมื่อได้ให้สำเร็จแล้ว)๑
ซึ่งในที่นี้ขาดองค์ประกอบ ๒ ข้อท้าย คือ มุญจนเจตนา และอปรเจตนา เพราะยังไม่มีการมอบทรัพย์นั้นจริงๆ
๓ ม.มู.๑๒/๔๘๕/๓๖๗ (ขยาย ม.มู.๑๗ หน้า ๕๔๗ อรรถกถา, อภิ.๗๕ หน้า ๒๘๖ อรรถกถา มมร.)
องค์แห่งอกุศลกรรมบถข้อที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องอทินนาทาน มี ๕ ข้อ คือ
- ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน (มีเจ้าของทรัพย์ และเจ้าของทรัพย์ยังคงมีชีวิตอยู่)๑
- รู้อยู่ว่ามีเจ้าของหวงแหน - มีจิตคิดจะลัก
- ทำความพยายามลัก - ได้ทรัพย์นั้นมา
ซึ่งในที่นี้ขาดองค์ประกอบในข้อแรก คือ ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
๔ องฺ.ปญฺจ.๓๖ หน้า ๘๑ อรรถกถาสีหสูตร, สํ.ส.๒๔ หน้า ๓๗๒ อรรถกถาเสรีสูตร (มมร.)
๕ องฺ.ติก.๒๐/๔๘๐/๑๖๘ (สัมมุขีสูตร)
๖ วิ.ม.๑ หน้า ๘๕๐ (อรรถกถา) ว่าด้วยเรื่อง การขาดประเคน(เสียสิทธิ์) เพราะเหตุ
๗ อย่าง
๗ องฺ.สตฺตก.๒๓/๕/๔, ขยาย ที.ปา.๑๖ หน้า ๓๗๕-๓๗๘ มมร., วิ.ม.๖ หน้า ๒๙๔ มมร.
๘ ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๑/๑๗๔ ขุ.อป.๗๐ หน้า ๓๐๓(มมร) (ขยาย องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๔๔/๒๘๙ องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๓๙/๒๑๓)



Create Date : 16 มกราคม 2550
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2550 20:33:01 น. 0 comments
Counter : 397 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กลุ่มต้นธรรม
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อันเวลาอันนับไม่ได้ที่เราหมักหมมมานานแสนนานแล้วนั้นถ้าเราไม่เริ่มรู้เราก็ไม่เริ่มตัด ถ้าไม่ตัดก็ไม่เห็นปลาย และเวลาอันนับไม่ได้นั้นก็เป็นปลายที่ยังอยู่
web site hit counter
We keep fighting fires because we keep adding fuel.
We truly putout fires only when we remove their fuel.

ถึงโลกกว้างไกล ใครๆ รู้
โลกภายในลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม
มองโลกภายนอก มองออกไป
มองโลกภายใน คือใจเรา

Friends' blogs
[Add กลุ่มต้นธรรม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.