ทำความเข้าใจ และอ่าน code

โค้ดที่ใช้ในแพทเทิ้ลการถักตุ๊กตานั้น มีออกมาให้เวียนหัวอยู่หลายแบบด้วยกัน ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะรู้สึกคุ้นเคย และชอบแบบไหนที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า เพราะว่าสุดท้ายไม่ว่า แพทเทิ้ลจะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันยังไง แต่วิธีการถัก และชิ้นงานที่ได้ก็จะออกมาในรูปแบบเดียวกัน

ผมจะขอยกตัวอย่างรูปแบบของแพทเทิ้ลที่เคยผ่านมือชายอย่างผมก็แล้วกัน

.:: แบบที่ 1 ผังลายสไตล์ญี่ปุ่น ::.


แพทเทิ้ลลักษณะนี้จะพบเห็นได้จากหนังสือถักตุ๊กตาของญี่ปุ่น ราคาไม่ธรรมดาจริงๆ เริ่มแรกผมก็ฝึกหัดจากผังลายแบบนี้ ซึ่งมีข้อดี คือดูแล้วทำให้เราเข้าใจ concept ในการถักว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้ว อะไรๆ ก็จะดูง่ายขึ้น และทำให้เราสามารถดัดแปลงแพทเทิ้ลเองได้ในอนาคต

ส่วนข้อเสีย คือ ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นรึเปล่า เวลาผมมองไอ้เจ้าผังลาย วนๆ เป็นก้นหอยแล้วมี code ซ้ำๆ มันทำให้ผมตาลาย และเวียนหัว และทำให้ผมหลงแถวบ่อยมาก ถ้าดูแต่ผังแล้วไม่ได้ดู ตัวเลขกำกับโซ่ที่เป็นบรรทัดๆ ซึ่งจะอยู่ข้างๆเจ้าผังลายอันนี้ 555



.:: แบบที่ 2 ผังลายสไตล์ฝรั่ง ::.
R1-Ch2, 6sc in 1st chain, mm
R2-2sc in each sc around (12scs) mm
R3-*2sc in first sc, 1sc in next, repeat from * around, mm
R4-*2sc in first sc, 1sc in next 2sc, repeat from * around, mm
R5-*2sc in first sc, 1sc in next 3sc, repeat from * around, mm


ผังลายวนๆ แบบญี่ปุ่นว่าเวียนหัวแล้ว มาเจอแบบฝรั่งนี่ถึงกับมึนตึ้บ ถ้ายิ่งเป็นตุ๊กตาแบบตัวใหญ่ๆ สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนยืมตังค์แล้วไม่คืน นี่ถึงกับอ้วกได้ อาจจะต้องมีการเชิญองค์ โรเบิร์ต แลงดอน ยามว่างจากไขปริศนาดาวิชี่ มาช่วยแปล



.:: แบบที่ 3 ผังลายแบบไทย ::.
อันนี้เคยเห็นแบบผ่านๆ จะคล้ายกับผังลายแบบฝรั่ง แต่จะใช้อักษรย่อไทย เช่น คธ, ลห, พ1ค ฯลฯ แบบไทยก็ดูน่าจะเข้าใจได้ง่ายดี เพราะคำย่อก็บอกลักษณะการถักในตัว
คธ = ควักธรรมดา
คธ เพิ่ม = ควักธรรมดา 2 ครั้งในรูเดียวกัน
คธ รวบ = ควักธรรมดารวบ 2 รูในครั้งเดียวกัน
ลห = เลื่อนห่วง
พ1ค = พันไหมแล้วควัก 555

ดังนั้น

คธ = X
คธ เพิ่ม = V
คธ รวบ= A
ลห = C ปิดงาน

ทุกวันนี้เจอคำย่อทางทีวีมากมาย คมช. กกต. สตง. กรอมน. ไม่ไหวๆ ขอบายโค้ดแบบไทยๆ แล้วกัน



.:: แบบที่ 4 ผังลายแบบประหยัด ::.
หลายคนคงจะงง ว่าแบบประหยัดเป็นยังไง 555

6
12
18
24
30
36
36
30

ไม่ได้ใบ้หวยแต่อย่างใด นี่เป็นโค้ดแบบประหยัด ประหยัด กระดาษ หมึก เวลา และแรงในการเขียนสุดๆ แต่ก็เหมาะกับคนที่เข้าใจพื้นฐานการถัก และก็เหมาะกับตุ๊กตาแบบง่ายๆ ไม่ advance อะไรมากมาย



.:: แบบที่ 5 ผังลายสไตล์ห้องงานฝีมือ ณ พันทิป ::.
เป็นแบบสุดท้ายที่จะพูดถึง และอธิบายกัน เพราะว่าผมจะใช้แบบนี้กับโค้ดที่ผมแจกครับ โค้ดที่ใช้ในแบบนี้ หลักๆก็จะเป็น X V A และมีตัวอื่นๆเช่น O C T F ซึ่งมีไม่บ่อยนัก

ถ้าย้อนขึ้นไปดูผังลาย แบบที่ 1 สไตล์ญี่ปุ่น ก็จะเห็นว่า โค้ดในแบบที่ 5 นี้เป็นการดัดแปลง และตัดทอน ผังแบบวนๆ ให้ออกมาเป็นในรูปแบบแถวแยกบรรทัด เพื่อง่ายต่อการอ่าน และการเขียนแพทเทิ้ลเพื่อจ่ายแจกแบ่งปันกัน ตัวอย่างเช่น

แถวที่ 1 : 6X (6โซ่)
แถวที่ 2 : 6V (12โซ่)
แถวที่ 3 : XV (18โซ่)
แถวที่ 4 : 2XV (24โซ่)
แถวที่ 5 : 3XV (30โซ่)

*** เนื่องจากในช่วงเริ่มแรกที่ทำ how to ยังไม่รู้จักโค้ดสากลของการถัก จึงมีการเปลี่ยนแปลงทีหลังดังนี้นะครับ

X = X
W = V
M = A

ถ้าแพทเทิ้ลไหนยังเป็น W,M ก็เปลื่ยนเป็น V,A ได้เลยครับ


ซึ่งโค้ดแต่ละตัวจะมีความหมายและวิธีการถักยังไงเดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มเติมด้านล่างครับ



.:: การจับไหม ::.
การจับไหมดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่ถ้าจับได้ถูกวิธีก็จะทำให้สามารถถักได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เริ่มแรกผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับการจับไหมนัก สักแต่ว่าเอามาพันๆ เป็นก้อนกลมๆไว้ที่นิ้วชี้ ซึ่งมันไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ไม่เสียหายอะไรสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกหัดถัก



จากรูปจะเป็นการจับไหมที่หนังสือทั่วไปเค้าสอนไว้
1. ตรงลูกศรหมายเลข1 จะเป็นปลายไหมที่เราใช้ในการเริ่มต้นขึ้นชิ้นงานถัก
2. จะใช้นิ้วโป้งและนิ้วกลาง ในการจับประคองชิ้นงานในการถัก
3. นิ้วชี้จะเป็นตัวควบคุมการผ่อนหนักเบา ของการถักแต่ละโค้ด เพราะจะเป็นตัวคอยรั้งดึงไหมกลับจากเข็ม เมื่อเราเกี่ยวไหมลอดโซ่ฐาน หรือห่วงบนเข็มเยอะเกินไป
4. นิ้วก้อย จะเป็นส่วนที่ควบคุมการปล่อยไหมจากกลุ่มไหมไปสู่การถักโซ่ต่างๆ

** ปกติผมจะไม่พันไหมรอบนิ้วก้อย แต่จะให้ไหมอยู่ระหว่างนิ้วก้อย และนิ้วนางอย่างเดียว เพราะผมรู้สึกว่า ถ้าพันไหมที่นิ้วก้อย 1 รอบ เวลาปล่อยไหมจากกลุ่ม มันจะฝืดๆ ไม่ถนัดมือครับ อันนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนแล้วกัน



.:: การขึ้นต้นงานแบบห่วง ::.
ตุ๊กตาทุกตัวจะต้องมีการขึ้นต้นงานแบบนี้ เพราะฉนั้นเตรียมตัวฝึกให้เชี่ยวไว้ได้เลย บางคนทำไม่ได้ก็ถอดใจตั่งแต่แรก ยังไงก็พยายามเข้านะครับถ้ารักที่จะถักจริงๆ ขอให้นึกว่าเสมอว่า โรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ก็ไม่ได้ทิ้งไว้แต่ตอม้อ เหมือนโครการโฮปเวลล์ - -"



ดูจากภาพประกอบแล้วก็น่าจะทำได้นะครับ
1. พันไหมรอบนิ้วชี้ 2 รอบแล้วดึงออก
2. จับไหมตามวิธีที่แนะนำไว้ก่อนหน้านี้ โดยใช้นิ้วโป้ง+กลาง บีบไหมดังรูป(ผมแนะนำให้จับแล้วใช้นิ้วบีบในลักษณะของรูปที่3เลยจะสดวกกว่า) จากนั้นเกี่ยวไหมลอดข้ามห่วงมา 1 ครั้ง
3. เกี่ยวไหมลอดห่วงที่เกิดจากข้อ 2 อีก 1 ครั้ง ตามลูกศร
4. ก็จะได้การขึ้นห่วง เพื่อจะใช้ในการถัก code ต่างๆที่จะเริ่มต้นในแถวที่ 1





:: Code รูปแบบต่างๆ ::

:: 1. การถัก X ::
การถัก X จะเป็นการถักเพื่อเพิ่มความสูง หรือความยาวของชิ้นงาน



จากรูป จะเห็นว่า
ขั้นตอนที่ 1 ก่อนที่เราจะเริ่มถัก X แรก เราจะเห็นว่าบนเข็มมีไหม(สีเขียว)อยู่ 1 ห่วงบนเข็ม จากนั้นเราก็จะสอดเข็มเข้าไปยังใต้โซ่ฐาน(สีฟ้า*) เพื่อเกี่ยวไหม(สีเขียว)ลอดกลับมา

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อเราเกี่ยวไหม(สีเขียว)ข้ามกลับมาแล้ว เราจะเห็นว่ามีห่วง 2 ห่วงบนเข็ม

ขั้นตอนที่ 3 เราจะทำการเกี่ยวไหม ในขณะที่ยังมีไหม 2 ห่วงอยู่บนเข็ม ให้เราเกี่ยวไหม ลอด 2 ห่วงนั้นออกมาตามลูกศร

ขั้นตอนที่ 4 เป็นอันเสร็จสิ้นการถัก X ตอนนี้เราจะได้โค้ด X มา1 ตัว จะเห็นได้ว่า ตอนนี้บนเข็มจะมีห่วงเพียง 1 ห่วงเหมือนตอนเริ่มต้นการถัก เพื่อรอการถักโค้ดต่อไป

*** จากรูปจะเห็นว่าเค้าสอดเข็มลอดโซ่ฐานสีฟ้า ซึ่งมันเป็นห่วงแค่ 1 ห่วง อันที่จริงถ้าเราถักแพทเทิ้ลสำหรับตุ๊กตา เราจะต้องสอดเข็มลอดไหม(สีส้ม) ซึ่งเป็น2 ห่วงคู่ครับ พอดีผมได้รูปซึ่งน่าจะมาจากการถักชิ้นงานในแบบอื่นๆที่ต้องการความสวยงามของขอบชิ้นงาน


ตัวอย่างภาพการถัก X อีกภาพ



อันนี้จะเป็น การถัก X ลอดใต้ห่วงซึ่งเราจะใช้แทบทุกครั้งในการถักแถวแรก เพื่อใช้ในการรูดปิดรูครับ ซึ่งวิธีการถักก็จะเหมือนกับการถัก X ด้านบน ต่างกันแค่สอดเข็มลอดใต้ห่วงใหญ่ๆ ห่วงเดียวกันทุก X แค่นั้นเอง



:: 2. การถัก V ::
การถัก V จะเป็นการถักเพื่อเพิ่มความกว้าง ขยายชิ้นงาน ถ้าอยากได้ตุ๊กตาตัวใหญ่กว่าแบบเดิม โดยคิดแพทเทิ้ลใหม่ ก็ต้องอาศัยการถัก V ในการเพิ่มขนาด



จากรูป วิธีการถักโค้ด V คือ ใช้ขั้นตอนเหมือนการถัก X ทุกอย่าง เพียงแค่ถัก X ซ้ำอีกครั้ง ในรูโซ่ฐานเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า X แรก สีเหลือง และ X ที่2 สีเขียว จะใช้โซ่ฐานร่วมกันคือ สีฟ้า

*** การถักโค้ด V ผลที่ได้คือ จะทำให้เกิดโซ่ฐาน เพื่อใช้ในการถักแถวต่อไป 2 โซ่ (โซ่ฐานคือ บริเวณที่เราสอดเข็มเพื่อใช้ในการเกี่ยวไหมลอดข้ามมาในการถักโค้ดต่างๆ)



:: 3. การถัก A ::
การถัก A จะเป็นการถักลดขนาด หรือทำให้ชิ้นงานแคบลง



จากรูป วิธีการถัก ก็จะคล้ายโค้ด X เช่นเคย แต่ให้สังเกตข้อแตกต่างนิดหน่อยคือ
เมื่อเราสอดเข็มในโซ่ฐานแรก เพื่อเกี่ยวไหม(สีเหลือง) กลับมา จะมีไหม 2 ห่วงบนเข็ม(ถ้าเราเกี่ยวไหมลอดผ่าน 2 ห่วงบนเข็ม มันก็จะเปนการถัก X) ให้เราสอดเข็มในรูโซ่ฐานถัดไป เพื่อเกี่ยวไหม(สีเขียว)ลอดกลับมา เราก็จะเห็นได้ว่าตอนนี้จะมี ห่วง 3 ห่วงบนเข็มดังรูป

จากนั้นให้เราเกี่ยวไหม(สีเขียว) ลอดผ่าน ทั้ง 3 ห่วงบนเข็ม ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการถัก A จะเห็นได้ว่าตอนนี้เราเหลือไหมบนเข็ม 1 ห่วงเหมือนเดิมเพื่อรอถักโค้ดต่อไป

*** การถัก A นั้นผลที่ได้คือจะเป็นการลดโซ่ฐาน จาก 2 โซ่ ให้เหลือเพียง 1 โซ่ เพื่อใช้ในการถักแถวต่อไป



:: 4. การถัก O ::
การถัก O ปกติผมไม่ค่อยจะใช้โค้ดนี้ซะเท่าไหร่ เพราะส่วนมากผมจะใช้คำว่า ซักโซ่ แล้วตามด้วยจำนวนห่วงแทน เช่น "ขึ้นต้นแบบโซ่ 12 โซ่" ก็จะใช้วิธีถักตามรูปครับ



ให้ทำตามขั้นตอน 1-3 ตามรูปเลย แค่เกี่ยวไหมลอดห่วง ก็นับเป็น1โซ่ จะทำกี่โซ่ก็ว่ากันไป

การขึ้นต้นด้วยโซ่แบบนี้ สำหรับการถักตุ๊กตาจะใช้กับการขึ้นต้นชิ้นส่วนที่เราต้องการให้มีลักษณะเป็นวงรี เช่นอุ้งเท้าหมี, หัวคุตตู้ หรือส่วนลำตัวที่เราต้องการให้มันแบนๆ นอกจากนี้ก็จะใช้ในการถักชิ้นส่วนที่เป็นหางของสารพัดสัตว์ครับ



:: 5. การถัก C ::
หรือที่ผมมักจะเรียกว่า ปิดงาน

การถัก C ปิดงานนั้น สำหรับการถักชิ้นงานแบบก้นหอย เราจะทำการปิดงานเพียงแต่ครั้งเดียว คือต่อจากการถักโค้ดสุดท้ายของแถวสุดท้ายในการถักชิ้นส่วนนั้นๆ วัตถุประสงค์เพื่อ ป้องกันไม่ให้โซ่ต่างๆที่เราถักมามันหลุดครับ

ส่วนการถักที่ให้แต่ละแถวมันบรรจบกันพอดี(แบบกระดานปาเป้า) จะต้องมีการถัก C เพื่อปิดงานในทุกๆ แถวครับ เพื่อให้แต่ละแถวมันบรรจบกันพอดีนั่นเอง



ดูจากรูปจะเห็นว่า การถัก c เพื่อปิดงานทำได้โดย สอดเข็มในโซ่ฐานถัดไป(สีชมพู) แล้วเกี่ยวไหมลากผ่านตลอด(ห่วงสีชมพู และ สีฟ้า)

สังเกตดูดีๆ มันจะไม่เหมือนการถัก X นะครับ แต่จะเป็น 1/2 ของการถัก X ก็ว่าได้



:: การอ่าน code ::
ตัวอย่างเช่น

ห้ว (ขึ้นงานแบบก้นหอย)
แถวที่ 1 : 6X (6โซ่)
แถวที่ 2 : 6V (12โซ่)
แถวที่ 3 : XV (18โซ่)
แถวที่ 4 : 2XV (24โซ่)
แถวที่ 5 : 3XV (30โซ่)
แถวที่ 6 : X (30โซ่)
แถวที่ 7 : X (30โซ่)
แถวที่ 8 : 3XA (24โซ่)
แถวที่ 9 : 2XA (18โซ่) (ปิดงาน)


จากโค้ดด้านบน ก็จะระบุว่าเราจะถักอะไร ซึ่งตัวอย่างนี้ก็คือ ถักส่วนหัว และจะกำกับไว้ว่าเราจะถักงานวนเป็นก้นหอย คือเราจะไม่มีการปิดงานทุกๆแถว

ให้เราจับไหมพันรอบนิ้วแล้วทำห่วงเพื่อเตรียมถักแถวแรกได้เลย
แถวที่ 1 : 6X หมายถึง ให้เราถัก code X ทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน (ซึ่งแถวแรกเราจะถักแบบรอบห่วงเพื่อเป็นการขึ้นต้นงาน

*** วงเล็บ (6โซ่) ท้ายแถว หมายถึง เมื่อเราถักแถวนั้นๆ เสร็จแล้ว เราจะได้โซ่ฐานเพื่อใช้ในการถักแถวต่อไปเท่าไหร่ ในที่นี้จะได้โซ่ฐาน = 6โซ่ เพราะว่าการถัก X 1 ครั้งจะได้โซ่ฐาน 1 โซ่

แถวที่ 2 : 6V (12โซ่) หมายถึง ให้เราถัก code V ทั้งหมด 6 ครั้ง (ซึ่งรูมันจะพอดี สำหรับ V 6 ตัว เพราะแถวก่อนหน้านี้ มันมีโซ่ฐานให้เรา 6 โซ่
*** เมื่อเราถักแถวนี้เสร็จ เราก็จะได้โซ่ฐาน 12 โซ่ตามวงเล็บท้ายแถว เพราะว่า การถัก V 1 ครั้ง จะได้โซ่ฐาน 2 โซ่ ( 6*2=12)

แถวที่ 3 : XV (18โซ่) หมายถึง ให้เราถัก X สลับกับ V ไปเรื่อยๆ XV,XV,XV....XV จบเต็มแถว เนื่องจากแถวก่อนหน้านี้ มีโซ่ฐาน 12 โซ่ ดังนั้น แถวนี้ เมื่อเราถัก XV สลับไปเรื่อยๆ ก็จะเท่ากับเราถัก XV ซ้ำกัน 6 ครั้งก็จะเต็มแถวพอดี และจะทำให้ได้ โซ่ฐานในวงเล็บท้ายแถวเป็น 18 เพราะ XV 1 ครั้งจะได้ 3โซ่ฐานจาก X1 โซ่ และ V 2 โซ่ ดังนั้น 3*6=18

แถวที่ 4 : 2XV (24โซ่) หมายถึง ให้เราถัก X 2ครั้ง แล้วตามด้วย V สลับไปเรื่อยๆ XXV,XXV,XXV....XXV จบเต็มแถว ก็จะได้ 24 โซ่ฐาน

แถวที่ 5 : 3XV (30โซ่) หมายถึง ให้เราถัก X 3ครั้ง แล้วตามด้วย V สลับไปเรื่อยๆ XXXV,XXXV,XXXV....XXXV จบเต็มแถว ก็จะได้ 30 โซ่ฐาน

แถวที่ 6 : X (30โซ่) หมายถึง ให้เราถัก X อย่างเดียวเต็มแถว ก็จะได้ 30 โซ่ฐาน เหมือนเดิม เพราะเราถักแต่ X

แถวที่ 7 : X ก็เช่นเดียวกับแถวที่6

แถวที่ 8 : 3XA (24โซ่) หมายถึง ให้เราถัก X 3ครั้ง แล้วตามด้วย A สลับไปเรื่อยๆ XXXA,XXXA,XXXA....XXXA จบเต็มแถว ก็จะได้ 24 โซ่ฐาน เพราะว่า การถัก A 1 ครั้งจะเป็นการลดโซ่ฐานจาก 2 โซ่เหลือ 1 โซ่ เมื่อเราถักจนเต็มแถวนี้ก็จะมีการถัก A 6 ครั้งด้วยกัน ทำให้โซ่ฐานลดลง 6 โซ่ เหลือเพียง 24 โซ่

แถวที่ 9 : 2XA (18โซ่) หมายถึง ให้เราถัก X 2ครั้ง แล้วตามด้วย A สลับไปเรื่อยๆ XXA,XXA,XXA....XXA จบเต็มแถว ก็จะได้ 18 โซ่ฐาน เพราะว่า เหตุผลเดียวกับแถวที่8 ดังนั้น 24 - 6 = 18



:: การอ่าน code (เพิ่มเติม)::
จากโค้ดเดิมที่ยกตัวอย่างไว้

ห้ว (ขึ้นงานแบบก้นหอย)
แถวที่ 1 : 6X = X X X X X X
แถวที่ 2 : 6V = V V V VV V
แถวที่ 3 : XV = XV XV XV XV XV XV
แถวที่ 4 : 2XV = XXV XXV XXV ... XXV
แถวที่ 5 : 3XV = XXXV XXXV ... XXXV
แถวที่ 6 : X = X........X
แถวที่ 7 : X = X........X
แถวที่ 8 : 3XA = XXXA XXXA ....XXXA
แถวที่ 9 : 2XA = XXA XXA XXA ...XXA

ซึ่งถ้าจะให้เขียนเต็มๆ แบบ code ที่อยู่ด้านหลังเครื่องหมายเท่ากับ(=) ก็อาจจะทำให้ทั้งคนแจกโค้ด และคนอ่านโค้ด ตาลายตายกันไปข้างนึง จึงต้องทำการตัดทอนย่อโค้ดที่มันซ้ำๆ ให้เหลือเพียงชุดเดียวแบบด้านหน้าเครื่องหมายเท่ากับ(=)

ซึ่งละไว้เป็นที่รู้กันว่าผู้ถักจะต้องทำการถักวนซ้ำให้ครบเซ็ตเองในแถวนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนัก เพียงแค่นับการถักเป็นเซ็ตๆ ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง เหมือนเรานับเซ็ตในท่าออกกำลังกายน่ะครับ XV นับ1, XV นับ2, XV นับ3 ... XV นับ 6 เป็นต้น

บางคนอาจจะสงสัยว่าเออะ แล้วชั้นจะรู้ได้ยังไงว่ามันต้องถักกี่เซ็ตต่อ1 แถวกันแน่
ง่ายๆเลยครับ ให้ลองสังเกตดูถ้า แถวที่1 เริ่มต้นด้วย 6X แล้วแถวที่2 เป็นV ทั้งแถว แล้วจากแถวที่ 3 เป็นต้นไปค่าตัวเลข X ค่อยๆเพิ่มค่าทีละ1 ไปเรื่อยๆในแถวถัดไป มันจะเป็นการถัก โค้ดเดิม วนไป6 เซ็ตทุกแถว และโซ่ฐานที่ได้ก็จะใช้สูตรคูณแม่ 6 เข้ามาคูณครับ ไม่เชื่อลองคูณดู

โอ้ว... งานถักตุ๊กตามันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จริงๆเลยซาร่า มีการให้หลักสูตรคูณด้วย และถ้าถักไปเรื่อยๆเจอแบบถักต่างๆ เราจะรู้ว่ามันต้องอาศัยทั้ง หลักสมมาตร หลักกระจายความหนาแน่น และหลักการมั่วผสมปนเปกันไป

*** ถ้าแถวแรกเริ่มต้นด้วย 5 X แล้วหลักการเพิ่มในแถวต่อๆไปเป็นเหมือนเดิม เราก็จะได้โซ่ฐานจากการเอา 5 คูณด้วยแถว และการถักแต่ละแถว เราก็จะถัก 5 เซ็ตครับ




เอ่อ ง่วงแล้ว วันนี้พอแค่นี้ก่อนแล้วครับ 55




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 20 กันยายน 2550 8:34:02 น.
Counter : 45253 Pageviews.  

รวมเทคนิคที่น่าสนใจ

Q : มือใหม่หัดถัก ทำไงดีคะ?
A : ก็ต้องมีความตั้งใจ พยายาม อดทน น่ารัก เรียนดี มีบ้าน มีรถ ที่สำคัญห้ามมีแฟน 555 อ่ะล้อเล่ง แค่มีวัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน 3-4 อย่างน่ะครับ หรืออาจจะหาหนังสือคู่มือถักตุ๊กตามาซักเล่มนึงไว้ใกล้ๆ มือครับ จากนั้นก็ลงมือฝึกได้เลย



Q : ก้นหอยคืออะไรหรอ งง?
A : ก้นหอย เป็นคำเรียกลักษณะการถักชิ้นงานวน ไปเรื่อยๆ จนเสร็จชิ้นส่วนนั้นๆ โดยจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในแต่ละแถวจะไม่บรรจบกันพอดี ซึ่งผมขอเรียกแบบที่จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดบรรจบกันในแต่ละแถวว่าการถักแบบกระดานปาเป้านะครับ
กรุณานึกภาพก้นหอย และ กระดานปาเป้าตามโดยด่วน



Q : แล้วแบบก้นหอยและปาเป้ามีข้อดีข้อเสียไงบ้าง?
A : ข้อดีของก้นหอยคือ เราไม่ต้องถักปิดงานทุกแถวเพื่อให้แถวมันชนกันเหมือนปาเป้าไง ซึ่งการถักปิดงานทุกแถวมันจะเกิดรอยไหมปูดขึ้นมานิดหน่อย เมื่อเป็นแบบนี้ทุกแถวมันจะเกิดเป็นเส้นเด่นชัดตลอดแนวชิ้นงาน ซึ่งขอเรียกว่าแผลผ่าตัดครับ ถ้าถักไม่เชี่ยวชาญชำนาญศิลป์นักมันจะไม่สวยเอามากๆ ครับเพราะเราจะได้หมีหน้าบาก หมาหัวแบะได้

ข้อเสียของการถักแบบก้นหอยคือ เมื่อเรามีการถักแบบเล่นสีสันสลับกันทุกแถว เมื่อถึงจุดเปลียนสีมันจะทำให้สีบริเวณนั้นดูเหลื่อมกัน หรือแถวของแต่ละสีไม่ตรงกันนั่นเอง

ข้อดีของแบบกระดานปาเป้าคือได้แถวตรงบรรจบกันทุกแถว แต่แลกกับรอยบากนะครับ


ซึ่งผมขอแนะนำการถักแบบก้นหอยจะดีกว่า เพราะว่าเราสามารถปกปิดรอยตรงจุดเปลี่ยนสีได้ง่ายกว่า โดยซ่อนไว้ตามแนวเย็บแขนหรือด้านหลัง อย่าลืมว่าแบบปาเป้ามันจะเกิดรอยแผลผ่าตัดทั้งกับการถักไหมสีเดียวตลอดชิ้นงานหรือแบบสลับสี แต่ถ้ากับแบบก้นหอยแล้ว ถ้าเราถักสีเดียวทั้งชิ้นงานมันจะไม่มีร่องรอยอะไรให้เห็นครับ



Q : ดึงปิดก้นหอยไม่ได้อ่า แย่แล้ว แย่แล้ว


A : ไม่ต้องตกใจไปครับ ดูภาพ+คำอธิบายแล้วทำตามดูนะครับ
1. เมื่อถักโค้ดแถวแรกครบแล้ว ให้ค่อยๆดึงไหมตรงหมายเลข1 เบาๆ และไม่ต้องให้ปิดสนิท ให้มันแค่ขยับๆพอ

2. เราจะเห็นไหมจากข้อ1 ขยับหดเข้าให้แทนด้วยหมายเลข2 คราวนี้ให้ดึงตรงโคนหมายเลข2 แทน ทีนี้มีแรงเท่าไหร่ดึงให้สุดแรงเกิดเลยครับ(ระวังไหมขาด) เมื่อดึงตรงนี้แล้ว ไหมตรงหมายเลข3 มันจะรูดหดเข้าจนปิดรูให้เราครับ

3. ตายแล้ว...! ยังเหลือไหมโผล่อีกเส้นอยู่ดี(เส้นหมายเลข2) งงชิมิแค่ะ ง่ายๆเลยครับ ให้กลับไปดึงไหมหมายเลข1 อีกที ขอแทนด้วยหมายเลข4 แล้วกันนะครับ

4. ดึงไหมตรงหมายเลข4 ปรืด... หมายเลข2 ก็จะรูดปิดรูให้เรา เป็นอันเรียบร้อยครบ 4 step การปิดรูก้นหอยคร้าบ




A : หรือถ้าไม่ไหว ไม่ได้ ไม่รอดจริงๆ ก็ใช้อีกวิธี คือจัดไหมเป็นรูปเลข 9 เหมือนด้านบน แล้วใช้นิ้วโป้ง+กลางบีบตรงจุดที่ไหมทับกัน แล้วก็เริ่มถักโค้ดแถวที่ 1 ได้เลย เมื่อครบแล้วให้เราดึงปลายไหมรูดปิดรูก้นหอย

คราวนี้เราจะดึงแค่ที่เดียวครับ สบายมากๆ แต่วิธีนี้ต้องระวังนึดนึง บางทีไหมมันจะคลายทำให้รูบานได้ครับ 555 ถ้าจะให้ชัวร์เมื่อดึงปิดรูแล้วให้ร้อยไหมเข้าเข็มแล้วเย็บปมไว้เลย เสียเวลานิดหน่อยแต่ชัวร์ครับ




Q : นับผิดนับถูกตลอดเลยแล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามันครบแถวแล้ว?
A : ผมแนะนำให้ใช้วิธี "คั่นด้าย" ครับ





จากรูป ให้เรา ตัดด้ายที่สีแตกต่างจากไหมที่ใช้ในการถักตุ๊กตา เพราะว่าจะทำให้สังเกตได้ง่าย ความยาวซัก 10 ซม.

จากนั้น เมื่อเราจะลงมือที่จะถักโค้ดแรกของแถวให้เราเอาด้ายมาคั่นไว้ โดยนำด้ายไว้ระหว่าง เข็ม และไหมจากกลุ่มไหม (ดูรูปด้านล่างจะสังเกตเห็นได้ชัดกว่า) จากนั้นให้เราถักโค้ด ต่างๆในแถวนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อถักได้ครบตามจำนวนโค้ดในแถวนั้นแล้ว เราจะสังเกตได้ว่า โค้ดสุดท้ายที่เราถักเสร็จ มันจะไปสิ้นสุดที่โซ่ฐาน รูก่อนที่จะถึงจุดที่เราคั่นด้ายไว้

เมื่อเราจะถักแถวต่อไป ก็ให้เราตวัดปลายด้าย ขึ้นมาขั้นเพื่อบอกจุดเริ่มต้นของแถวถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องดึงด้ายออกตามรูปด้านล่างเราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆโดยยังไม่ต้องดึงด้ายออก จนกว่าเราจะถักชิ้นงานเสร็จ หรือจะดึงออกบ้างแต่ก็อยากให้มีคั่นไว้อยากน้อย 2-3 แถวครับ กันพลาด

ข้อดีของการคั่นด้ายเพื่อบอกจุดเริ่มต้นคือ
1. เป็นการลดขั้นตอนในการนับโค้ดในแต่ละแถว ว่าเราถักได้ครบเซ็ตรึยัง
2. เมื่อเรานับพลาดแล้วต้องดึงไหมออกเพื่อถักใหม่เราจะได้ดึงออกถึงแค่ตำแหน่งที่เราคั่นด้ายไว้ที่ต้นแถวเท่านั้น



Q : เวลาถักต้องปลิ้นด้านที่จะโชว์ออกมาเลยรึเปล่า?


A : ถะ ถะ ถะ ถูกต้องแล้วครับ ดูตามรูปเลย
รูปแรก เป็นรูปที่เรายังไม่ปลิ้นด้านที่จะโชว์ออกมา เราจะสังเกตเห็นไหมส่วนเกิน ตอนรูดปิดงานห้อยโทงเทงอยู่ด้านล่าง ถ้าเราไม่ปลิ้นออกมา ขณะถักมันจะถักลำบากเพราะเราจะจับไม่ถนัดเนื่องจากนิ้วโป้งของเรามันใหญ่ ตอนเริ่มต้นแถวแรกๆ มันจะยัดนิ้วโป้งเข้าไปในรูเพื่อประคองชิ้นงานลำบากครับ ให้เราปลิ้นชิ้นงานแล้วจะได้ตามรูปที่ 2

รูปที่สอง จะเห็นว่าด้านที่จะโชว์อยู่ข้างนอกแล้ว และไหมเหลือปิดรูก็จะอยู่ข้างในแทน การปลิ้นด้านถูกต้องออกมาจะช่วยให้ถักง่ายขึ้นเพราะนิ้วกลางแหย่เข้าไปช่วยประคองชิ้นงานได้สะดวกกว่า และทำให้เราเห็นลวดลายถักได้ชัดเจนครับ




Q : แล้วหนูจะแซ่บได้ยังคร่ะว่าด้านไหนถูกด้านไหนผิด
A : ที่จริงมันไม่มีด้านถูกด้านผิดหรอกครับ แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เค้าจะเอาด้านที่จะโชว์รูปข้างล่างออกมาซะส่วนใหญ่



A : จากรูปด้านบนรูปแรกนั้นจะนิยมเอาออกมาโชว์ ลักษณะลายจะเป็นเหมือนตัว V เรียงต่อกันไปตลอดทั้งแถว

ส่วนอีกรูป ด้านนี้ส่วนใหญ่เค้าจะเก็บไว้ด้านใน ลักษณะจะคล้ายๆกันแต่มีจุดให้สังเกตคือ มันจะมีไหมเป็นลาย - แนวขวางตลอดชิ้นงานครับ

อันนี้แล้วแต่ความชอบเลย ว่าจะเอาด้านไหนออกมา บางท่านเอาด้านที่ 2 ออกมาก็จะได้ตุ๊กตาลวดลายแปลกตาออกไป ที่สำคัญคือด้านนั้นมันจะให้พื้นผิวที่ดูฟูและนุ่มกว่า แต่แลกกับลายแปลกๆนิดหน่อยครับ




Q : กรี๊สสสส... จะจิ้มเข็มตรงไหนดีคะ?
A : อร๊าสสสสสสสส ตกใจค่ะคุณขา กรี๊ดซะลั่นเชียว




A : ดูรูปประกอบด้านบน ให้สังเกตไหมส่วนสีเขียว เราจะเห็นมันเป็นเส้นคู่ๆขนานกันไปจนครบแถว อันนี้ขอเรียกว่า โซ่ฐาน ปกติเราจะสอดเข็มเข้าใต้โซ่ฐานทั้งคู่เพื่อเกี่ยวไหมดึงลอดกลับมาในการถักโค้ดต่างๆ แต่จะมีบางครั้ง ที่จะถักโค้ดลอดใต้โซ่ฐานเส้นเดียวส่วนใหญ่จะเป็นด้านตามรูปที่ 2 เพื่อใช้ในการถักเน้นขอบต่างๆ ซึ่งจะบอกไว้ในโค้ดถักตุ๊กตา แต่ถ้าใครจะสอดเข็มรอดโซ่ฐานเส้นเดียวแบบรูป 2 ตลอดชิ้นงานก็ได้ครับ แต่มันจะได้ลายที่มีเส้นขอบรอบตัวชิ้นงานเท่านั้นเองครับ



Q : ถ้าจะเปลี่ยนสีไหมต้องทำไงบ้าง?
A : การเปลี่ยนสีไหมระหว่างแถวเพื่อให้ตุ๊กตาเราดูมีลูกเล่น ไม่ต่ำตุ๊ส สกุตเตอร์ ทำได้ไม่ยาก หรือถ้าเกิดไหมมันขาด หรือไหมหมดม้วน ก็จะใช้วิธีเดียวกันเลยครับ



จากรูป
1. ให้เราสอดเข็มเกี่ยวไหมลอดโซ่ฐาน เหมือนเราจะถัก X ปกติ แล้วหยุดโดยไม่ต้องเกี่ยวไหมลอด 2 ห่วงบนเข็ม เราจะค้างมันไว้อย่างนั้น

2. นำไหมสีที่ต้องการจะเปลี่ยนมาอยู่ในมือในท่าพร้อมถัก

3. จับชิ้นงานที่เราพักไว้ โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วกลางจับชิ้นงานแบบปกติ แต่คราวนี้เราต้องบีบ ปลายไหมสีใหม่ + ปลายไหมสีเก่า + ชิ้นงานตรงบริเวณที่เราจะถัก ให้ดีๆ พยายามดูห่วงที่2 บนเข็มซึ่งเป็นห่วงของสีเก่าด้วย บางทีมันอาจจะใหญ่เกินไปต้องพยายามดึงๆ ให้มีพอดีเหมือนเราถักปกติ

จากนั้นก็เกี่ยวไหมสีใหม่ลอด 2 ห่วงบนเข็มซึ่งเป็นสีเดิม เท่านี้เราก็จะเปลี่ยนสีไหมได้แล้ว ให้เราถัก code ต่างๆ ด้วยไหมสีไหมไปซัก 4-5 โค้ด จากนั้นให้เราพักงานไว้ แล้วจับปลายไหมสีเก่าและสีใหม่ผูกเป็นปมไว้เพื่อปัองกันหลุดก็ได้ แล้วก็ตัดไหมสีเก่าออก จะได้ไม่เกะกะเวลาถัก( อย่าตัดไหมเก่าชิดชิ้นงานจนเกินไป เว้นปลายไหมทิ้งไว้ซัก 5 ซม.ครับ)



Q : เหลี่ยมออกไป ! ชั้นไม่เอาเหลี่ยม font>
A : อร๊ายยยส์ อย่างนี้ต้องเจอยุทธการกำจัดจุดเหลี่ยม ถ้าเราถักตุ๊กตาตามโค้ดส่วนใหญ่ เมื่อเราถักเสร็จเรามักจะพบว่า ชิ้นส่วนนั้นๆ มันดูเป็นเหลี่ยมโดยเฉพาะตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ

สาเหตุมันก็มาจากการที่จุดที่เราทำการถัก V นั้นมันอยู่ที่ตำแหน่งสุดท้ายของแต่ละเซ็ตทุกแถวเลย ดังนั้นการกำจัดจุดเหลี่ยมก็คือเราต้องสลับตำแหน่งของการถัก V บ้างทุกๆ 4-5 แถว หรือที่ผมเรียกว่าการ
"เลื่อนโซ่" นั่นเอง



จากรูปผังลายแบบญี่ปุ่น แถวที่ 4 (ไฮไลท์สีเขียว) และแถวที่5 มีโค้ดดังนี้
แถวที่4 : 2XV = XXV XXV....XXV
แถวที่5 : 3XV = XXXV XXXV....XXXV

แต่ว่าในรูป แถวที่ 5 เค้าจะทำการถัก V3X (VXXX) เพื่อหลีกเลี่ยงการถัก V ในตำแหน่งท้ายเซ็ต เหมือนที่บอกครับ

หรือเราจะใช้การถัก X นำไปก่อนโดยให้ถัก X น้อยกว่าจำนวน X ในแถวก่อนหน้านี้เช่น


แถวที่ 6: 4XV = XXXXV XXXXV XXXXV.....XXXXV
แถวที่ 7: 5XV = XXXXXV XXXXXV XXXXXV.....XXXXXV

ให้เราเลื่อนโซ่แถวที่7 ดังนี้(ผมจะขอถัก X นำไปก่อน 2 ครั้ง)ในเซ็ตแรก แล้วถักโค้ดตามจำนวนปกติในเซ็ตต่อไป
แถวที่ 7: 5XV = XXV XXXXXV XXXXXV ..... XXXXXV XXX

เมื่อเราถักครบแถวแล้ว เราจะเห็นว่า ก่อนจบแถวเราจะถักโค้ดเซ็ตสุดท้ายเป็น 3X(สีแดงท้ายแถว) ซึ่งเมื่อมาบวกกับ เซ็ตที่เราถักไว้ต้นแถว 2XV มันก็จะครบเซ็ตปกติเหมือนเดิม ( 3X ท้ายแถว + 2XV ต้นแถว = 5XV)

ด้วยวิธีการเลื่อนโซ่ในการถักV นี้ เราก็จะใช้ในการถักลดโซ่ A ด้วยเช่นกัน เพราะ
การถัก V โดยไม่เลื่อนโซ่ผลที่ได้คือชิ้นงานจะเป็นเหลี่ยม
การถัก A โดยไม่เลื่อนโซ่ผลที่ได้คือชิ้นงานจะมีสันเป็นแฉกเหมือนดอกจัน




Q : เบี้ยวประจำเลยช่วยหน่อยได้ไหม?
A : อันนี้ต้องติดต่อบริษัททวงหนี้จ้ะ คิก คิก

เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับงานฝีมือที่มันต้องบิดไปทางซ้าย ต๊าย เด่ไปทางขวา ไม่ต้องกังวลครับ ถือว่าเป็น signature เฉพาะตัวของเรา 555 (ปลอบใจตัวเอง) วิธีแก้ไขคือเราต้องฝึกการถักเย็บประกอบบ่อยๆ เท่านั้นเองครับ แต่อีกวิธีที่ช่วยได้ค่อนข้างเยอะก็คือ การใช้เข็มหมุดปักเพื่อบอกตำแหน่งในการเย็บ




จากรูป ส่วนประกอบต่างๆเหมือนกันหมด เพียงแต่เราใช้เข็มหมุดปักยึดบอกตำแหน่งในการเย็บ เราก็จะเปลี่ยนจัดท่วงท่าตุ๊กตาได้หลากหลายรูปแบบด้วยกัน เมื่อเราได้ในแบบที่เราต้องการแล้ว ก็ค่อยๆ ดึงส่วนอื่นออกเหลือไว้แต่ส่วนที่เราต้องการจะเย็บ ตำแหน่งจะได้ไม่คลาดเคลื่อนจากที่เราต้องการมากนัก เข็มหมุดอาจจะเป็นอุปสรรค์บ้าง ค่อยๆ ฝึกไปรับรองเวิร์ค



Q : เย็บประกอบยังไงให้เนียนๆ?
A : อันนี้ก็ต้องฝึกฝนอีกเช่นกัน แล้วแต่พรแสวงของแต่ละคน วิธีที่ผมใช้เย็บก็คือ

1.แบบรูชนรู (แค่ชื่อก็เสียวแล้ว) ดูจากรูปได้เลยครับ



แบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่ชิ้นงาน แต่ละชิ้นมีรูปิดไว้สำหรับยัดโพลีเอสเตอร์ เช่นระหว่างส่วนหัว + ลำตัว (แพทเทิ้ลส่วนใหญ่ จำนวนโซ่ของทั้ง 2 ส่วน มักจะเท่าหรือใกล้เคียงกันครับ

ทำโดยใช้ไหมที่เหลือไว้ประมาณ 1 ฟุตจากชิ้นงาน(เลือกจากชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แล้วตัดของอีกชิ้นที่ไม่ใช้ซ่อนไว้ข้างในตัวตุ๊กตา) ร้อยไหมใส่เข็มครอสติส แล้วเย็บตามรูปไปเรื่อยๆ จนรอบชิ้นงาน เมื่อเราจะตัดไหม ให้เราพยายามแทงไหมเข้าไปในตัวตุ๊กตามุมทะแยงไป - มา ซัก 2-3 รอบ แล้วติดไหมออกโดยให้ไหมมันฝังไว้ในตัวตุ๊กตาครับ

2. แบบรูฉายเดี่ยว



รูปอาจจะดูไม่ค่อยถนัดนัก การเย็บแบบนี้จะใช้ในการเย็บประกอบพวก แขน ขา หู เป็นต้น ผมก็จะใช้วิธีเย็บแบบซ่อนด้ายครับ (สีชมพูแทนส่วนลำตัว สีฟ้าแทนส่วนแขน)

จากรูป เราก็จะใช้ไหมที่เหลือไว้สำหรับการเย็บเช่นเดิม โดย
1. แทงเข็มขึ้นมาจากลำตัว ให้โผล่ตรงตำแหน่งสีเขียว เลข1 ดึงไหมออกมาให้สุด
2. สอดเข็มลอดโซ่ฐานส่วนของแขน ดึงไหมให้สุด
3. แทงเข็มกลับเข้าไปในส่วนลำตัว บริเวณหมายเลข 2 (ปกติผมจะแทงกลับเข้าไปตำแหน่งเดียวกับ ข้อ 1 ที่ไหมโผล่ขึ้นมาครับ พอดีมันวาดรูปลำบาก) เมื่อแทงปลายเข็มเข้าไปในตัวตุ๊กตาแล้ว ให้จัดตำหน่งจุดที่เข็มจะโผล่ขึ้นมาอยู่ใกล้ๆตำแหน่งโซ่ฐานถัดไป ตามรูป จากนั้นก็ดึงไหมให้สุด

แล้วก็วนกลับไปทำตาม step 1 ใหม่เหมือนเดิมครับ

การเย็บ step ข้อ3. ไหมมันจะถูกซ่อนอยู่ในส่วนลำตัว(เส้นปะสีแดง)ครับ ส่วนการตัดและเก็บปลายไหมก็ทำเหมือนกับที่แนะนำไว้ในแบบแรก




Q : เฮ้อ... เด๋อมาเชียว
A : หลายๆ คนมักจะเจอปัญหานี้ครับ ทุกขั้นตอนที่ผ่านมาเหมือนมันจะสมบูรณ์ลงตัว แต่สุดท้ายมาตายกับการตกแต่งหน้าตาโดยเฉพาะลูกตาครับ

แบบ ขนาด และตำแหน่งของตา จะมีผลต่ออนาคตของตุ๊กตาเป็นอย่างมาก บางตัวอาจจะได้ขึ้นปกโว้ค บางตัวขึ้นปกแม่และเด็ก บางตัวขึ้นปก GM แต่บางตัวเอ่อ...อาจจะได้ขึ้นปกหนังสือแปลกพ่วงด้วยขวัญผวา เพราะว่าหน้าเด๋อได้ถ้วย จากการติดตำแหน่งตานี่แหล่ะครับ




จากรูปจะเห็นได้ว่า หมีแบบเดียวกัน แต่ตำแหน่งลูกตาเท่านั้นที่ทำให้มันดูแตกต่าง เพราะฉะนั้นเวลาจะติดลูกตา เล็งให้แม่นจะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง




Q : เล็กๆ มิต้าไม่ ใหญ่ๆ มิต้าทำ
A : เครื่องถ่ายเอกสารเคียวโอซิร่า มิต้า เจ้าของเดียวกับโทนัฟ อัฟฟ..อัฟฟ..อาฟฟฟฟ
เอ่อ....กิ๊บ มันไม่ใช่อะกิ๊บ น้องกิ๊บมาผิดงานแล้วมั้ง

คือ มิต้าชอบแบบใหญ่น่ะค่ะ แบบเล็กๆ มิต้าจับไม่เต็มไม้เต็มมือเลยคร่ะ ปุ ฮุ วุ๊ อ่ะ ฮ่ะ ฮ้า...... เอิ้กกกก มิต้า หมายถึงตุ๊กตาน่ะค่ะ อยากรู้ว่าถ้าจะถักตุ๊กตาให้ตัวใหญ่ขึ้นต้องทำยังไงบ้าง

ตอบ น้องมิต้า ถ้าต้องการให้ตุ๊กตาตัวใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ
1. การเปลี่ยนขนาดไหมในการถัก โดยการใช้ไหมเส้นใหญ่ขึ้น หรือใช้ไหม 2 หรือ 3 เส้นถักไปพร้อมกัน ในแพทเทิ้ลแบบเดิม ก็จะทำให้ได้ตุ๊กตาใหญ่ขึ้น (ต้องเปลี่ยนเข็มถักให้ขนาดเหมาะสมกับไหมที่เราใช้ด้วย)

2. สร้างแพทเทิ้ลใหม่ เป็นวิธีที่ไม่ยากจนเกินไป ถ้าเข้าใจหลักของโค้ด X V A ก็ลงมือลองผิดลองถูกได้เลยครับ
X = เป็นการถักเพื่อเพิ่มความยาวของชิ้นงาน
V = เป็นการถักเพื่อขยายชิ้นงานให้กว้างออก
A = เป็นการถักเพื่อลดขนาดชิ้นงานให้แคบลง



รูปที่1 จะเห็นว่าจำนวน X ในการถักแต่ละเซ็ตของแถว จะค่อยๆเพิ่มขึ้นที่ละ 1 ไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีการถัก V เพื่อให้ชิ้นงานขยายกว้างออกไป เมื่อได้ขนาดที่เราต้องการแล้วให้เริ่มถัก X อย่างเดียวทั้งแถว ไม่ต้องถัก V เพื่อหยุดการขยายความกว้าง เมื่อได้ส่วนโค้งด้านบนและด้านข้างชิ้นงานพอเหมาะแล้วก็จะเริ่มถัก A เพื่อลดให้งานแคบลง เราจะเห็นว่า X แต่ละเซ็ตค่อยๆลดลงที่ละ 1 ในแต่ละแถว ตามหลักของการถัก A เพื่อยุบโซ่

เมื่อเราถักเสร็จ เราก็จะได้ชิ้นงานออกมา ถ้าเราอยากถักให้ชิ้นงานใหญ่กว่าเดิมก็ให้ดูรูปต่อไป

รูปที่ 2 เราจะเห็นว่าหลักการถัก ยังคงเหมือนรูปแรกคือ ค่อยๆเพิ่มจำนวน X แต่ละเซ็ตของแถวไปเรื่อยๆ เมื่อเราอยากให้ได้ชิ้นงานที่ใหญ่กว่าเดิมคราวนี้เราต้องถักให้จำนวนตัวเลขหน้าโค้ด Xเพิ่มไปเรื่อยๆ (เช่นจากเดิมเพิ่มสูงสุดแค่ 3XV ก็ให้เราถักเพิ่มอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยในแถวต่อๆไปเป็น 4XV...5XV....6XV...7XVเป็นต้น)

จากนั้นเราก็จะหยุดทำการเพิ่มความโค้งเพื่อถักให้ได้ชิ้นงานด้านข้างโดยถัก แต่ X อย่างเดียว แต่เนื่องจากการที่เราเพิ่มแนวโค้งโดยถักให้จำนวนเลขหน้า X เพิ่มไปเยอะๆในช่วงแรกนั้น ทำให้รัศมีความโค้งมันกว้างกว่าแบบแพทเทิ้ลเดิมมาก ดังนั้นเราจึงจะต้องถัก แต่ X อย่างเดียวในส่วนตรงกลางชิ้นงานหลายๆแถวด้วยกัน ไม่เช่นนั้นถ้าเราถัก A เพื่อยุบชิ้นงานเลย ชิ้นส่วนที่เราได้มันจะไม่กลมครับ มันจะแบนๆเป็นลูกรักบี้ให้เราแทน(นึกภาพตามเอาเองนะครับ)

ดังนั้นเราจึงต้องถัก X อย่างเดียวหลายๆแถวด้วยกัน จากนั้นถึงค่อยถัก A ตามหลักเหมือนการเพิ่ม(เช่นแถวสุดท้ายการเพิ่มเป็น 7XV แถวแรกการถักยุบจึงควรจะเป็น 7XA เป็นต้น) ค่อยๆถักลดไปจนได้ชิ้นงานตามต้องการ

แต่ต้องสังเกตอีกว่า ถ้าเราถัก X อย่างเดียวหลายๆแถว มันจะทำให้ชิ้นงานด้านข้างมันเป็นแนวเส้นตรงจนเกินไปอีกครับ เลยต้องลองดูแบบต่อไป

รูปที่3 หลักการก็คล้ายกับรูปที่ 2 ครับ ต่างกันแค่ตรงจุดที่เราถัก X อย่างเดียวหลายๆแถว ให้แก้ไขโดย

ในแถวแรกที่เราถัก X อย่างเดียว ให้เรายังคงถัก V อยู่บ้างแต่ในจำนวนที่น้อยกว่าเดิม(ปกติจะถัก V 6 ครั้งในแต่ละแถว ) ดังนั้นแถวนี้ก็ลองถัก V ซัก 4 หรือ 3 ครั้ง และในแถวถัดไปค่อยลด V ลงอีกเหลือแค่ 3-2 ครั้ง แล้วแถวต่อไปค่อยถัก X อย่างเดียว และทำกลับกันในส่วนที่จะเป็นการถัก A เพื่อยุบชิ้นงานด้วย

หวังว่าน้องมิต้า คงจะเข้าใจและถักได้ใหญ่ตามต้องการนะครับ




Q : ทำไมเงียบไปคะ?
A : ขอพักบ้างซิเธอ




พอก่อนวันนี้ง่วงแล่ะ ไว้มาเพิ่มเติมใหม่ 555




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2550 17:57:30 น.
Counter : 15823 Pageviews.  

วัสดุ อุปกรณ์

วัสดุและอุปกรณ์ในการถักตุ๊กตานั้น หลักๆที่จำเป็นต้องใช้ก็มีไม่กี่อย่างครับ ก็จะขอแนะนำเท่าที่พอ รู้นะครับ ถ้าอันไหนไม่ถูกต้อง หรือใครอยากแนะนำอะไรเพิ่มเติมก็โพสบอกกันได้เลยครับ


1. ไหม
ไหมที่จะใช้ถักตุ๊กตา มีให้เลือกมากมายหลายขนาด ยี่ห้อ รูปแบบและราคา สำหรับผู้เริ่มต้น
อยากแนะนำให้ลองหาที่ราคาถูกๆ มาลองใช้ก่อน ไหมที่ผมใช้ประจำและอยากจะแนะนำ
ก็คือ ไหมฟูยี่ห้อวีนัส ซึ่งเป็นความชอบโดยส่วนตัวจริงๆ หลายคนบ่นว่ามันมีข้อเสียเยอะ
ผมก็ไม่เถียงครับ 555 เน้นถูกเข้าว่า สบายใจ สบายกระเป๋า



จากรูปด้านบน

ไหมสีแดงที่เห็นคือไหมฟูวีนัส ซึ่งมีข้อดีข้อเสียดังนี้
ข้อดี
- ราคาถูกครับ ผมซื้อจากร้านค้าแถวบางกะปิ ม้วนละ 17 บาท แต่ถ้าซื้อในห้าง ถ้าจำ
ไม่ผิด น่าจะ 26 บาท เค้าบวกค่าเปิดแอร์ให้ไหมลงไปด้วย
- เมื่อถักแล้วจะได้ชิ้นงานที่นุ่มมือ และเงากว่าการใช้ไหมพรมชนิดไม่ฟูเล็กน้อย


ข้อเสีย
- เวลาถักเส้นมันมักจะแตกทำให้ถักลำบาก
- ขนาดเส้นไม่ค่อยสม่ำเสมอภายในม้วนเดียวกันเป็นบางช่วง และบ่อยครั้งที่แต่ละม้วน
เส้นมันใหญ่ไม่เท่ากันครับ


ไหมสีครีมเส้นใหญ่ ยี่ห้อวีนัสเช่นกัน ปกติผมจะใช้ในการถักพวกถ้วย สำหรับใส่ของที่
ต้องการให้มันอยู่ตัวเป็นรูปเป็นร่าง เพราะว่าไหมมันค่อนข้างจะแข็ง ถ้าเอามาถักตุ๊กตา
จะได้ชิ้นงานที่ไม่ค่อยจะนุ่ม แถมไหมเส้นใหญ่มันจะทำให้เห็นลายถักชัดเจน ทำให้
ตุ๊กตาดูหยาบ และที่สำคัญต้องออกแรงถักเยอะ ซึ่งจะทำให้ปวดมือครับ


ไหมบาบาร่า ตรงกลางม้วนสีขาว บอกตรงๆว่า ยังไม่ได้ถักเป็นการเป็นงานเสียที
ตอนซื้อมากวันแรกลองถักดูรู้สึกว่าถักยากพอสมควร เพราะลักษณะไหมมันจะเป็นขด
เส้นๆ คล้ายผ้าขนหนูตลอดเส้น ทำให้มันดูฟูๆ เวลาถักจึงมองหารูที่จะสอดเข็มลำบาก
แต่ถ้าใครอยากลองก็หาซื้อมาลองได้ครับ

ไหมสีครีมด้านหลัง อันสุดท้ายยี่ห้อ little ike ลักษณะคล้ายไหมฟู นุ่ม ลื่น เงา ฟู
และแพงกว่าไหมฟูวีนัสนิดหน่อย เมื่อเทียบกับขนาดของม้วน ไหมยี่ห้อนี้ดูเหมือน
เส้นจะใหญ่กว่าไหมฟู เพราะว่ามันดูฟูกว่า แต่ว่าพอลองได้ถักดูจริงๆ แล้วมันดันได้
ตุ๊กตาตัวเล็กกว่านิดหน่อย คาดว่าผมจะถักหนักมือไปนิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ 55

นอกจากนี้เท่าที่ได้ติดตามผลงานเพื่อนๆในห้องงานฝีมือมา เห็นหลายๆท่านได้ลอง
ใช้ไหมแบบอื่นๆ ถักตุ๊กตามาโชว์ได้สวยน่ารักเช่นกัน เช่น

ไหมโมแฮร์ - นุ่มมือมากๆ(ฟังเค้ามา) ไหมเงางามดูไฮโซสมชื่อ แต่ราคาแพงและด้วย
ที่มันนุ่มเกินไป ถ้าถักตัวใหญ่ๆ อาจจะกำหนดรูปทรงตุ๊กตาได้ลำบาก


ไหมแฟนซี - 555 ตั้งชื่อเองเสร็จสรรพ คือไหมที่มี texture แปลกๆ เช่นเป็นขนๆ
เส้นตะปุ่มตะป่ำ เส้นเดินดิ้นเงินเลี่ยมทองฝังเพชร ส่วนใหญ่ใช้กับงานนิตติ้ง คิดว่า
ถ้าเอามาถักตุ๊กตาคงจะลำบากไปนิด แต่จะได้ตุ๊กตาที่สวยแปลกตาไปอีกแบบ


พอก่อนสำหรับไหม ถ้าได้ลองลิ้มไหมชนิดไหนแล้วจะเอามาบอกเล่าให้ฟังอีกทีครับ

2. เข็มโครเชต



เข็มที่ใช้ในการถัก เรียกว่า เข็มควัก ถ้าเรียกแบบชาวบ้านๆ หน่อยก็ เข็มฟัก แต่ถ้าเป็น
ฝรั่งก็เรียก เข็มฟัk .... ไม่ช่ายยย ก็เรียกเข็มโครเชต นั่นแหล่ะ

หลายๆคนถามว่าจะเลือกเข็มยังไง อันนี้ก็ตอบยากแต่ขอตอบแบบเอาแต่ใจตัวเองว่า
ผมใช้เข็ม ยี่ห้อ tulip เบอร์ 1 (ขนาด 1.6 mm) กับไหมฟู แต่ถ้าเมื่อไหร่ใช้ถักกับ
ไหมเส้นใหญ่ หรือถักด้วยไหมฟู2เส้นควบ ผมก็จะใช้เข็มเบอร์4 ซึ่งแน่นอนว่าหัวเข็ม
มันจะใหญ่กว่าเข็มเบอร์ 1

ไม่แน่ใจว่าเข็มแต่ละยี่ห้อจะมีขนาดเบอร์เข็มและขนาดต่างกันยังไง ของยี่ห้อ tulip
เท่าที่สังเกต เมื่อเลขมากขึ้น หัวเข็มจะใหญ่ขึ้น แต่คุ้นๆ ว่าบางยี่ห้อ เมื่อเลขมากขึ้น
หัวเข็มจะเล็กลง อันนี้ก็ต้องลองหยิบจับเล็งดูให้ขนาดที่เหมาะสมกับไหมกันเองครับ


3. ใยโพลีเอสเตอร์



เป็นวัสดุเส้นใยสังเคราะห์สีขาว เท่าที่เห็นตามท้องตลาดจะเป็นแบบแผ่น ซึ่งใช้ใน
งานควิลล์ และแบบก้อนแบ่งใส่ถุงขายเอาไว้ยัดหมอนซึ่งเราจะใช้แบบนี้ในการยัดไส้
ตุ๊กตาครับ หลายๆท่านอาจจะหาซื้อได้ยากนิดนึง ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็มองหาหมอน
ซักใบแล้วตัดใจปลอกเปลือกมันออกมาซะ (ต้องมั่นใจว่าหมอนตัวเองไม่ใช่หมอนยัด
ไส้นุ่นนะครับ) หมอนตามท้องตลาดเดี๋ยวนี้มักจะยัดไส้ด้วยใยโพลีเอสเตอร์หมดแล้ว
ทางที่ดีหาเวลาไปเดินโลตัส บิ๊กซี แล้วมองหาหมอนอิง นุ่มๆราคาถูกๆ ดูครับ จะได้
ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นหมอนเก่าและคราบน้ำลาย 555

4. เข็มครอสติส



เอาไว้ใช้ในการเย็บประกอบร่างตุ๊กตาครับ ที่ให้ใช้เข็มครอสติสเพราะว่ารูร้อยเข็ม
มันใหญ่จะสะดวกในการร้อยไหมเข้าเข็มมากๆ จะได้ไม่ต้องเสียอารมณ์เวลาเข้าได้
เข้าเข็ม อีกอย่างนึงคือหัวเข็มมันจะไม่แหลมคมเหมือนเข็มเย็บผ้า หมดปัญหาเข็ม
ตำมือได้ ที่สำคัญ เข็มมันค่อนข้างจะใหญ่แข็งแรงหักยาก(แต่ก็ยังมีคนทำหักจนได้)
พลังช้างสารจริงๆ

เห็นมีคนโพสถามในห้องงานฝีมือว่าเข็มสีทองต่างจากเข็มสีเงินยังไง........?
อันนี้ผมไม่รู้ครับ สีทองคงจะผสมซัลเฟอร์ หรือคอปเปอร์ออกไซด์ลงไปมั้ง เพื่อให้
เป็นสีทองเงางาม ดูไฮโซเพราะชั้นคู่ควร แต่ผมไม่เคยซื้อมาใช้ปกติใช้แต่สีเงินที่
เห็นในรูป เอ่อ.... สีเงินครับ แล้วก็กลายเป็นสนิมจะใช้ทีต้องมาขัดสนิมออกจนมัน
กลายเป็นสีดำไปแล้ว วี่ฮ่า

5. กรรไกร ,เข็มเย็บผ้า , เข็มหมุด , กาว



เบ็ดเตล็ด 1
- เข็มหมุด ใช้ปักยึดชิ้นส่วนเพื่อจัดตำแหน่ง ท่วงท่า ลีลาตุ๊กตาให้ได้ตามใจชอบ
- กาว ใช้ติดพวกลูกตา และของประดับต่างๆ ผมใช้กาวตามรูปครับ เพราะว่ามัน
ไม่แห้งเร็วหรือช้าจนเกินไป และสามารถเลาะออกได้ถ้าเกิดการผิดพลาด
- แปรงลวด ใช้ปัดขึ้นฟูชิ้นงาน
- ของประดับกระจุกกระจิก ไปสำเพ็งทีไรได้ติดไม้ติดมือมาทุกที

6. ลูกตา , ไหมครอสติส , ผ้าสักกะหราด



มีให้เลือกซื้อหลากหลายเช่นกัน แต่หาแหล่งยากนิดนึง ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องดัดแปลง
หาวัสดุทดแทนครับ พวกกระดุม ลูกปัด ไหมปัก หรือใช้ผ้าสักกะหราดดูครับ

แหล่งซื้อลูกตา ก็ที่
1. สำเพ็ง(ดูแผนที่จาก ตะลุยสำเพ็งนะครับ)
2. ร้านสงวนสุขสโตร์ อยู่ในซอยเดียวกันกับร้านพรสวัสดิ์แต่อยู่ตรงกลางๆซอย
3. ร้าน WTM อยู่ตรงถนนเสือป่า ตรงข้ามโรงพยาบาลกลาง ปิดวันอาทิตย์

( ร้านที่ 2 และ 3 ได้ข้อมูลมาจากคุณ โนดาเมะ ส่งมาให้ทางหลังไมค์ครับ)
ยังไม่เคยไปเคยเหมือนกัน



ผ้าลวดลายต่างๆ มีไว้ก็ไม่เสียหายครับ เอาไว้ตกแต่งตุ๊กตา เพิ่มความน่าสนใจ
ได้อีกแบบ

ผ้าสักกะหราด อาจจะหาซื้อยาก และถ้าคุณภาพดีๆ ราคาก็จะสูงไปนิด
ข้อดีของมันคือเอามาเย็บประดับตกแต่งตุ๊กตาได้ดีมากๆ เพราะตัดแล้วขอบผ้า
ไม่ยุ่ย เย็บแล้วไม่แตกครับ


จบการแนะนำวัสดุ อุปกรณ์แค่นี้นะครับ ถ้ามีอะไรน่าสนใจจะมาอัพเดทเพิ่มเติมอีกที


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก



ที่มาของ link เขียนโดนคุณ อ้อนติน ขออนุญาตทำ link ไปนะครับ




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2550 20:32:09 น.
Counter : 10532 Pageviews.  

เปิดบริการ 24 ชั่วโมง

1. บล็อกในส่วนนี้ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ แสดงผลงาน แนะนำ เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ ที่จะใช้ในการถักตุ๊กตา อันเกิดจากประสบการณ์ขนหัวลุก ขนหัวตั้งของข้าพเจ้าเอง

2. แพทเทิ้ลต่างๆ ในบล็อกนี้เกิดจากการคิดเอง ดัดแปลง และได้แรงบันดาลใจ มาจากหลายแหล่งด้วยกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจถ้าเห็นตุ๊กตาของข้าพเจ้าไปหน้าตาคล้ายของคนอื่นเขา

3. เนื่องจากเจ้าของบล็อก เป็นคนขี้เกียจ ขี้เหม็น และเอาแต่ใจ เพราะฉะนั้นไซร้อย่าได้คาดหวังอะไรกับมันให้มากนัก ถ้าองค์ประทับเมื่อไหร่มันก็จะมาอัพบล็อกเอง

4. ข้อมูลรูปภาพต่างๆ ในบล็อกนี้ท่านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางที่ถูกที่ควร ไม่แนะนำให้เอาไปแอบอ้างเป็นผลงานของตัวเองหรือนำรูปไปโพสประกาศตามเว็บเพื่อขายตุ๊กตา เพราะว่าเหล่าบรรดาพ่อแม่พี่น้องในห้องงานฝีมือ ล้วนแต่รับจ็อบเป็นสายให้ ICT ทั้งนั้น อย่าแม้แต่จะคิดเชียว

5. ห้ามนำ how to ต่างๆ ของข้าพเจ้า ไปพิมพ์สี่สี ปกอาบมัน ติดราคา 325 บาท ส่งขายทั่วราชอาณาจักร ถ้าคิดจะทำ ผมขอ 75% จากราคาปก

6. ผู้ใดโพสข้อความ หรือรูปภาพ ที่ทำให้บล็อกผิดรูปผิดร่าง ข้าพเจ้าขอลบโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าแต่ถ้าใครมาโพสด่าทอต่อว่ากันในนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตเก็บไว้อ่านเพราะถือคติว่า "เรื่องของชาวบ้านคืองานของเรา"

7. เจ้าของบล็อกอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ย่างเข้าวัยกลางคน บ่อยครั้งที่เคร่งเครียดจากการทำงานก็จะหาวิธีผ่อนคลายด้วยการมาปล่อยมุขฝืดๆ บางครั้งอาจเป็นมุขมีการศึกษาให้เสียเวลาขบคิด หรือมุขราคะ คาวโลกีย์ ก็ขอให้ทำใจไว้

8. นึกไม่ออกแล่ะ ไว้เดี๋ยวนึกได้จะมาโพสอีก - -"




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 17:54:09 น.
Counter : 1502 Pageviews.  


fozzil
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 77 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add fozzil's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.