๑ สิ่งเหล่าใดเกิดมาเพราะมีเหตุทำให้เกิด พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้นเพราะหมดเหตุ
๒ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
๓ อย่าทำชั่ว ให้ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
๔ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์แล้ว หามีอะไรเกิดอะไรดับไม่
๕ ถ้าเราไม่พึงมี ของเราก็ไม่พึงมี , ตัวเราของเรา ก็คือ อุปาทานขันธ์๕
Group Blog
 
All blogs
 

อานาปานสติ


ลมหายใจเข้าออกของทุกๆคนนี้เป็นแหล่งบังเกิดขึ้นแห่งสมาธิและปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าเองตามที่ปรากฏในพระสูตรก็ได้ทรงจับปฏิบัติกำหนด ตั้งแต่เป็นพระราชกุมารดังได้กล่าวแล้ว และเมื่อจะทรงพบทางอันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ได้ทรงหวนระลึกถึงสมาธิที่ทรงได้จากการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่เคยทรงได้สมาธิ ด้วยทรงกำหนดในขณะเป็นพระราชกุมารนั้น จึงมาทรงจับกำหนดลมหายใจเข้าออก และก็เป็นอันว่าได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง เป็นการเริ่มแรก
จึงได้กล่าวว่า เหมือนกับทรงได้พระองค์เองขณะเมื่อเป็นพระราชกุมารน้อยนั้น มาเป็นพระอาจารย์บอกทางปฏิบัติแก่พระองค์ ในขณะที่เสด็จออกทรงผนวชแล้วนั้นเพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานสูตร จึงได้ตรัสแสดงอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้เป็นข้อแรก และก็ได้กล่าวแล้วว่าผู้ปฏิบัติควรจะได้ถือเอาหลักที่ทรงสั่งสอนไว้ด้วยพระองค์เอง ในการทำอานาปานสติเป็นหลักสำคัญ พิจารณาให้เข้าใจในแนวปฏิบัติที่ได้ตรัสสอนไว้ ส่วนแนวปฏิบัติของพระอาจารย์ทั้งหลาย เลือกปฏิบัติมาประกอบเข้า ตามที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยของตน
ข้อปฏิบัติที่ตรัสสอน
ให้ทำความเข้าใจว่า ให้ปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำไว้ตั้งแต่ในขั้นต้น ที่ตรัสสอนให้ไปสู่ที่อันสงบสงัด เป็นป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ซึ่งรวมความเข้ามาก็คือที่อันสงบสงัด
และได้กล่าวแล้วว่า แม้ในที่นี้ซึ่งมีผู้มาประชุมกันเป็นจำนวนมาก เช่นในบ้านเรือนของตน แต่แม้เช่นนั้นก็พยายามที่จะทำจิตให้สงบ ไม่ส่งจิตออกไปรับเสียงเป็นต้นในภายนอก แต่รวมจิตเข้ามาในภายใน ไม่สนใจต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบทั้งหลาย ซึ่งมีเป็นประจำอยู่ในบ้านเรือนเป็นปรกติ หัดเข้าบ่อยๆดั่งนี้ก็จะพอทำได้ขึ้นบ้าง แม้ไม่ดีนักก็ยังดีกว่าที่จะทอดทิ้งเสีย ไม่ทำเสียเลย และที่ตรัสสอนให้นั่งขัดบัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รวมจิตเข้ามากำหนดหายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ แม้ว่าจะนั่งขัดบัลลังก์หรือขัดสะหมาดไม่สะดวก จะนั่งเก้าอี้ก็ใช้ได้ และการตั้งกายตรงไม่พิงนั้น ถ้าทำได้ก็เป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็พิงได้ แต่ว่าการตั้งสติไว้จำเพาะหน้า คือไม่ส่งสติไปข้างไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำ รวมใจเข้ามานั้นเอง เมื่อรวมใจเข้ามาดั่งนี้ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็จะปรากฏแก่ความรู้ เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ จิตอยู่ที่ไหนก็รู้ที่นั่น
เมื่อจิตเกาะอยู่กับอารมณ์ภายนอก ก็รู้อารมณ์ภายนอกนั้น
เมื่อจิตปล่อยอารมณ์ภายนอก เข้ามาตั้งอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้ นี้เป็นความรู้ขั้นแรก
แล้วก็หัดทำความรู้เพิ่มเติมว่า หายใจเข้าออกยาว หายใจเข้าออกสั้น
อันที่จริงยาวหรือสั้นนั้นอยู่ที่ระยะทางของลมหายใจ และระยะทางของลมหายใจนั้น สำหรับในทางปฏิบัติกรรมฐาน ย่อมกำหนดได้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เมื่อลมเข้าก็กระทบที่นี่เมื่อขาเข้า ลมออกก็กระทบที่นี่เมื่อขาออก คราวนี้เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้านั้นเดินทางไปถึงไหน ตามหลักสรีรวิทยานั้น ย่อมไม่อาจกำหนดได้ แต่ว่าอาจกำหนดได้ในอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ที่ปรากฏอยู่ในขณะที่ทุกคนหายใจ ดังหายใจเข้านาภี(ท้อง)ก็พอง หายใจออกก็ยุบ
กำหนด ๓ จุด
เพราะฉะนั้น จึงมาถึงท่านพระอาจารย์ที่สอนวิธีกำหนด ที่ท่านสอนว่าในขาเข้านั้นลมหายใจกระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน นับว่าเป็นต้นทาง และนาภีที่พองก็เป็นปลายทางของลมหายใจ ส่วนในขาออกนั้น นาภีที่ยุบก็เป็นต้นทาง ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนก็เป็นปลายทาง เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ท่านจึงสอนให้กำหนดปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนจุดหนึ่ง กับนาภีอีกจุดหนึ่ง เป็น ๒ จุด เป็นต้นทาง เป็นปลายทางของลมหายใจ และก็สอนให้กำหนดที่อุระ(อก)อีกจุดหนึ่ง สมมติว่าให้เป็นกลางทาง หรือเป็นกึ่งกลางทั้งขาเข้าทั้งขาออก เพื่อให้ตั้งสติกำหนด นี้เป็นข้อที่ท่านอาจารย์สอนไว้

แต่ที่เป็นพระพุทธภาษิตเองไม่ได้ตรัสอธิบายออกไปดั่งนี้ ตรัสไว้แต่เพียงว่า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็ให้รู้ว่ายาว หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ตรัสสอนไว้เพียงเท่านี้ แต่ว่ากำหนดลมหายใจที่ไหน และยาวหรือสั้นนั้นมีระยะทางอย่างไรไม่ได้ตรัสสอนไว้ แต่พระอาจารย์ท่านมาอธิบายสอนให้กำหนดดั่งนี้ แต่ก็พึงเข้าใจว่า เป็นแหล่งสำหรับกำหนดตั้งสติเท่านั้น ส่วนความจริงที่ลมหายใจเข้าไปไหน และออกจากไหน ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดกำหนดในการปฏิบัติทำสมาธิ เพราะว่ามุ่งผลเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คือเพื่อให้เป็นที่ตั้งของจิต ก็เอาเป็นจุดสมมติเอาบ้าง แต่ว่าจุดจริงนั้นก็คือปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน ที่เมื่อลมเข้าก็ไปกระทบที่นั่นจริง ลมออกก็ไปกระทบที่นั่นจริง และที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ แม้ว่าจะมิได้ทรงอธิบาย ผู้ปฏิบัติเมื่อกำหนดจิตเข้ามา กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้รู้ตั้งแต่เบื้องต้นรวมๆว่าหายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ และเมื่อจิตรวมอยู่ดั่งนี้ หายใจเข้าออกยาวก็รู้เอง หายใจเข้าออกสั้นก็รู้เอง และในการที่จะรู้เองได้นี้ทุกคนก็ย่อมทราบได้ว่า โดยปรกตินั้นก็จะต้องว่า หายใจเข้าหายใจออกยาวก่อน ในเมื่อการหายใจนั้นเป็นการหายใจสะดวก เราจึงเรียกกันว่าหายใจทั่วท้อง ซึ่งมีอาการท้องที่พองหรือยุบไปตามธรรมดา ก็เป็นหายใจสะดวก หายใจเป็นปรกติ ก็เป็นอันว่ายาวก่อน แต่ว่าแม้การหายใจปรกติ หรือหายใจสะดวกดั่งนี้ จะถือว่ายาวก็ตามก็อาจจะมีบางคนที่มีการหายใจยาวไม่เท่ากัน ความที่ยาวไม่เท่ากันนั้นเมื่อมาเทียบกันเข้า ก็จะต้องว่าสั้นไปกว่าบ้าง หรือยาวไปกว่าบ้าง แต่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดเทียบกัน เอาของตนเองนี่แหละ เมื่อหายใจอยู่เป็นปรกติเหมือนอย่างที่มิได้ปฏิบัติ ก็เป็นอันถือว่ายาวเป็นปรกติ หรือใครจะสั้นกว่านั้นก็สั้นกว่าเป็นปรกติ ก็เป็นอันว่ายาว แต่เรียกว่ายาวไม่เท่ากันก็แล้วกัน
ดั่งนี้ ก็เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ให้รู้หนึ่งเข้า หรือออกสองเข้าหรือออกยาวเป็นปรกติ คือให้รู้การหายใจที่เป็นปรกติของตนเองนี่เอง คราวนี้เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ดั่งนี้ จิตก็จะสงบเข้า กายก็จะสงบเข้า เมื่อจิตและกายสงบลง การหายใจเข้าหายใจออกก็จะสงบเข้า เมื่อสงบเข้าดั่งนี้ ก็ดูเหมือนจะสั้นเข้า ที่ว่าดูเหมือนนั้นก็คืออาการที่หายใจเมื่อตนเองสังเกตุที่ตนเอง ก็จะรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของร่างกาย ของอวัยวะที่กระทำการหายใจ ที่ปรากฏแก่ความกำหนด เช่นนาภีที่พองหรือยุบนั้นก็จะน้อยลง เมื่อกายและจิตสงบยิ่งขึ้น อาการของร่างกายที่หายใจก็จะยิ่งน้อยเข้า ผู้ปฏิบัติย่อมจะรู้ได้เองในเมื่อจับปฏิบัติไป
การหายใจอย่างละเอียด
จนถึงอาการที่หายใจของนาภีที่พองหรือยุบนั้นสงบเหมือนอย่างไม่พองไม่ยุบ ลมหายใจคล้ายกับหายใจอยู่ในระหว่างจมูกกับอุระเท่านั้น หายใจเข้าก็ลงไปคล้ายๆแค่ถึงอุระ ออกก็ออกจากอุระ และเมื่อละเอียดยิ่งขึ้น ก็ยิ่งสงบยิ่งขึ้น เหมือนกับหายใจอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น และเมื่อสงบยิ่งขึ้น อาการที่รู้สึกเหมือนอย่างหายใจอยู่แค่ปลายจมูกก็จะสงบหายไปอีก เหมือนกับคล้ายไม่หายใจ แต่อันที่จริงนั้นหายใจ แต่ว่าเป็นการหายใจอย่างละเอียด เมื่อร่างกายและจิตละเอียดที่สุด คือสงบมากที่สุด การหายใจก็จะสงบมากที่สุด เหมือนอย่างไม่หายใจ แต่อันที่จริงนั้นลมหายใจนั้นก็ยังเข้าออกอยู่ แต่อวัยวะที่ทำการหายใจนั้นสงบละเอียด จึงเหมือนอย่างไม่หายใจ เพราะว่า ที่เข้าใจว่าหายใจนั้น เราไม่เห็นลมที่เข้าออก รู้ได้จากการกระทบเท่านั้น คือสิ่งที่มากระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเมื่อหายใจเข้าเมื่อหายใจออก และอวัยวะของร่างกายที่ทำการหายใจที่เคลื่อนไหวอยู่ ก็กำหนดรู้ได้ดั่งนี้ แต่ลมนั้นมองไม่เห็น และเมื่อร่างกายสงบ สงบที่สุด จิตสงบที่สุด อวัยวะต่างๆที่เคลื่อนไหวก็จะสงบ เมื่อเป็นดั่งนี้ลมหายใจที่เข้าออกอยู่ก็ไม่ปรากฏ จึงเข้าใจว่าไม่หายใจ ความจริงนั้นหายใจ การหายใจนั้นไม่ได้อยู่ที่อวัยวะที่ทำการหายใจ แต่อยู่ที่ลมซึ่งเข้าออกได้ ไปเลี้ยงร่างกายได้ เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าไม่หายใจ ในเมื่อจิตสงบ ผู้ทำอานาปานสติย่อมจะรู้สึกดั่งนี้ แต่ว่าการที่จะปฏิบัติถึงขั้นนี้ได้นั้น ก็จะต้องอาศัยความตั้งใจปฏิบัติติดต่อกันไป ให้ทุกวันๆ และเมื่อได้ความสงบมากขึ้นเพียงใด ความสามารถในการที่ปฏิบัติสมาธิ ก็จะทำได้นานยิ่งขึ้นเพียงนั้น โดยที่จะไม่รู้สึกขบเมื่อยที่ร่างกาย ไม่รู้สึกเป็นเหน็บอะไรทั้งหมด จะมีความสบายทั้งกาย มีความสบายทั้งใจ อันเป็นตัวความสุข
อุปการธรรมในการปฏิบัติ
ในการปฏิบัติดั่งนี้พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้
๑ อาตาปี มีความเพียร คือมีความเพียรปฏิบัติ ไม่ทอดทิ้งความเพียร
๒ สัมปชาโน มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว
๓ สติมา มีสติคือความระลึกได้
๔ วินยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายต่างๆในโลกที่เข้ามา
ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นหลักที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมี

ขาดความเพียรเสีย ก็ไม่บังเกิดการกระทำการปฏิบัติขึ้นมา ขาดความรู้ตัวเสีย ขาดสติเสีย ก็ปฏิบัติให้เป็นสติให้เป็นสมาธิขึ้นไม่ได้ และถ้ายังมีความยินดีความยินร้ายอยู่ ก็ทำให้ทำสติ ทำสัมปชัญญะในลมหายใจเข้าออกนี้มิได้ ความยินดีความยินร้ายนั้น ก็เป็นต้นว่าความยินดีในอารมณ์ภายนอกที่เข้ามา และดึงใจออกไปไม่ให้ตั้งกำหนดอยู่ ความยินร้ายในอารมณ์ภายนอกที่เข้ามา แล้วดึงใจให้ออกไปยินร้ายอยู่ อันนับว่าเป็นพวกนิวรณ์ ทั้งที่เป็นฝ่ายยินดี ทั้งที่เป็นฝ่ายยินร้าย และทั้งที่เป็นฝ่ายหลงต่างๆ หรือว่าแม้ในการปฏิบัติเอง เช่นเมื่อเริ่มปฏิบัติทีแรก ย่อมไม่ได้ความสุขในการปฏิบัติ จิตก็รวมไม่ได้ ร่างกายเริ่มจะเมื่อยขบ ปวดนั่นปวดนี่ ก็เป็นความยินร้าย เมื่อยินร้ายขึ้นดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้ต้องเลิกการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความยินร้ายขึ้นในการปฏิบัติเพราะเหตุต่างๆดั่งนี้ ก็ต้องพยายามระงับเสีย ในเมื่อตั้งใจว่าปฏิบัตินานเท่านั้นเท่านี้ก็ตั้งใจ ก็ทำไป ทนเอาไป โดยมีขันติความอดทนเข้าช่วย เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้การปฏิบัติคืบหน้า คือจิตจะเริ่มสงบ เมื่อจิตเริ่มสงบ กายก็สงบตาม ความทุกข์ต่างๆที่เกิดจากการปฏิบัติก็ลดลงไป กลับเป็นความสุข
บางทีเมื่อได้ความสุขในการปฏิบัติก็เลยติดสุข ทำกันเรื่อยจนไม่ยอมที่จะหยุด จะพักจะเลิกในเวลาที่ควรหยุดควรพักควรเลิก ดั่งนี้ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน ต้องระงับความยินดีที่จะเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติเกินไปดั่งนี้เสีย เพราะว่าบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นย่อมมีขอบเขตของการปฏิบัติ ถ้าเป็นบรรพชิตก็ย่อมสามารถปฏิบัติได้มาก แต่ถ้าเป็นฆราวาสคฤหัสถ์จะต้องมีขอบเขต ของการปฏิบัติให้พอเหมาะพอสมอีกด้วย เพราะมีกิจการที่จะต้องประกอบกระทำ หรือแม้บรรพชิตเองที่มีกิจการที่ต้องประกอบกระทำ ต้องเล่าเรียนศึกษา ก็จะต้องไม่ให้เสียกิจการที่พึงประกอบกระทำนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความรู้ประมาณ

- สมเด็จพระญาณสังวร




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2550    
Last Update : 2 ธันวาคม 2550 12:00:29 น.
Counter : 335 Pageviews.  

หลักปฏิบัติ 4 ข้อ

๑ ความที่มีความหลีกเร้นเป็นอาราม
คือเป็นที่มายินดี ยินดีในความหลีกเร้น อันหมายถึงทั้งสถานที่ ทั้งกายวาจาใจของตนเอง มีอาการที่สงบสงัด สถานที่ก็สงบสงัดเท่าที่จะมีได้ กายวาจาใจของตนเองก็สงบสงัด เป็นศีล เป็นอินทรียสังวร เป็นสติสัมปชัญญะ และก็รวมเข้าซึ่งข้อความรู้ประมาณในโภชนะด้วย คือในการบริโภคซึ่งเหมาะแก่การที่จะปฏิบัติ ดั่งนี้แหละคืออาราม
ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงต้องมีอารามดังกล่าวนี้เป็นประการแรกเป็นวิหารคือเป็นที่อยู่ของทั้งทางกาย และทั้งของทางจิตใจ ศีลก็รวมอยู่ในอารามอินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ ชาคริยานุโยคการประกอบความเพียรของผู้ที่ตื่นอยู่ความรู้ประมาณในโภชนาหารในภัตตาหาร สติสัมปชัญญะก็รวมอยู่ในคำว่าอารามนี้
๒ ความสงบในภายในใจของตน
ใจของตนนี้ เมื่อไม่สงบประกอบด้วยนิวรณ์ทั้งหลาย อันเป็นกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ไปในกามบ้าง เป็นพยาบาทความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายปองร้ายบ้าง เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่าน รำคาญใจบ้าง เป็นวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยบ้าง รวมความว่าฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะโทสะโมหะทั้งหลาย จึงฟุ้งซ่านไปด้วยราคะ หรือโลภะโทสะโมหะทั้งหลาย ดั่งนี้ ก็เป็นจิตที่ไม่สงบในภายใน ฟุ้งออกไปในภายนอกคือในอารมณ์ทั้งหลาย ในกิเลสทั้งหลายดังกล่าวนั้น
ฉะนั้น แม้ว่าจะอยู่ในอารามดังกล่าวมาในข้อ ๑ กายเข้ามาอยู่ได้จริง แต่ว่าจิตไม่เข้ามาอยู่ จิตยังออกไปนอกอาราม ฟุ้งไปในอารมณ์ และในกิเลสทั้งหลาย กองราคะหรือโลภะโทสะโมหะ หรือในนิวรณ์ดังกล่าวมานั้น ก็เป็นอันว่าจิตยังไม่สงบ จิตยังไม่เป็นอาราม จึงต้องปฏิบัติทำจิตให้สงบในภายใน คือสงบจากการคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งของกิเลสดังกล่าวนั้น นำมากำหนดให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน เช่นในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือในข้อใดข้อหนึ่ง ให้จิตตั้งสงบอยู่ในภายใน คือภายในสมถกรรมฐาน
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าปฏิบัติสมาธิหรือสมถกรรมฐาน การที่จะได้ความสงบของใจในภายในนั้น จึงต้องทำฌานคือความเพ่งพินิจ ไม่ให้เสื่อมด้วย และในการที่จะทำฌานคือความเพ่งพินิจไม่ให้เสื่อมนี้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าไม่ให้ไปเพ่งพินิจในภายนอก เมื่อไปเพ่งพินิจในภายนอก คือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส เพ่งพินิจรูปเสียงเป็นต้นที่เข้ามาทางตาทางหู อันเป็นที่ตั้งของกิเลส ก็เกิดกิเลส กองราคะบ้างโทสะบ้างโมหะบ้าง หรือโลภโกรธหลง หรือนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนั้น ดั่งนี้ก็คือว่าเพ่งพินิจอารมณ์ข้างนอกอันเป็นที่ตั้งของกิเลส กิเลสก็เกิดขึ้น ฉะนั้นก็ต้องรักษาความเพ่งพินิจนี้ไม่ให้ออกไปเพ่งพินิจข้างนอก กระทำให้เพ่งพินิจอยู่ข้างใน คือในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ในกายเวทนาจิตธรรม หรือในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ดั่งนี้ก็คือว่าทำฌานคือความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก คือไม่ให้เสื่อม เมื่อออกไปข้างนอกก็เรียกว่าเสื่อม นี่เป็นหลักปฏิบัติ เพราะทำความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก ไม่ให้เสื่อม จิตก็จะได้สมาธิในภายใน ได้ความสงบในภายใน
๓ ประกอบด้วยวิปัสสนา
คือความเห็นแจ้ง หรือปัญญาที่เห็นแจ้งน้อมจิตที่สงบนั้นกำหนดพิจารณา แม้ตามข้อที่แสดงในสัญญาทั้ง ๑๐
อนิจจสัญญา กำหนดพิจารณาอายตนะภายในภายนอก หรือขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง
อนัตตสัญญา กำหนดพิจาณาอายตนะภายในภายนอก หรือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน
อสุภสัญญา กำหนดพิจารณาร่างกายอันนี้ อันประกอบด้วยผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น ว่าไม่งดงาม เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ
อาทีนวสัญญา กำหนดพิจารณากายนี้ว่าเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมาย
ปหานสัญญา กำหนดพิจารณาจิตนี้คอยละอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย อันได้แก่กามวิตก ตรึกนึกคิดในกาม พยาบาทวิตกตรึกนึกคิดในทางพยาบาทปองร้าย วิหิงสาวิตกตรึกนึกคิดในทางเบียดเบียน หากความตรึกนึกคิดนี้ผุดขึ้นมาก็ละเสียไม่รับเอาไว้ ทำให้สงบไป ให้หายไป
วิราคสัญญา กำหนดพิจารณาวิราคธรรม ธรรมะที่สำรอกจิตจากกิเลส ตั้งแต่ในเบื้องต้นจนถึงเบื้องสูง คือสำรอกราคะโทสะโมหะเหล่านี้เอง ไม่ให้ราคะโทสะโมหะมาย้อมจิตใจ เมื่อราคะโทสะโมหะมาย้อมจิตใจได้ จิตใจนี้ที่เปรียบเหมือนว่าน้ำที่ใสสะอาดไม่มีสี ก็กลายเป็นมีสี เป็นสีเขียว สีแดง สีเหลืองอะไรเป็นต้น คือกิเลสต่างๆ แต่เมื่อปฏิบัติฟอกจิตของตนมาโดยลำดับ
แม้ในสายปฏิบัติที่ได้แสดงมา คือมีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดีเป็นอาราม ตามประกอบความสงบของใจในภายใน ทำความเพ่งพินิจไม่ให้ออกไปข้างนอก คือให้อยู่ในภายใน เพ่งพินิจอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน และประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้ง คือน้อมจิตที่สงบนี่แหละมากำหนดพิจารณา ตั้งต้นแต่อายตนะภายในภายนอก ขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ร่างกายนี่เป็นของไม่งดงาม เต็มไปด้วยของปฏิกูล ประกอบไปด้วยโทษโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมากมาย ตรวจดูจิตหากอกุศลวิตกอันใดอันหนึ่งผุดขึ้นมาก็ไม่รับเอาไว้ สงบไปเสีย ก็เป็นการปฏิบัติฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาดจากอารมณ์และกิเลสโดยลำดับ
วิปัสสนาปัญญา
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็กำหนดดูให้รู้จักจิตอันนี้เองที่บริสุทธิ์ คือเป็นจิตที่สำรอก ราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภโกรธหลงไปได้โดยลำดับ น้อยหรือมาก น้อยก็แปลว่าบริสุทธิ์น้อย มากก็บริสุทธิ์มาก เป็นตัววิราคะคือเป็นตัวความสำรอก น้อยหรือมาก ดูให้รู้จักตัววิราคะคือตัวความสำรอกนี้ที่จิตเอง ก็เป็น วิราคสัญญา ต่อจากนั้นก็ นิโรธสัญญา กำหนดหมายความดับ ก็ดับกิเลสดับทุกข์นี่แหละ เพราะเมื่อสำรอกออกได้เท่าใด ก็ดับได้เท่านั้น ดับกิเลสได้เท่านั้น ดับทุกข์ได้เท่านั้น ดูให้รู้จักตัวนิโรธคือตัวความดับ ดับกิเลสและดับทุกข์ในจิตนี้เอง จะน้อยก็ตาม ก็ให้รู้จักว่าเมื่อปฏิบัติก็จะต้องได้ ได้ความดับกิเลสได้ดับทุกข์น้อยหรือมาก ให้รู้จักเอาไว้ และก็ปฏิบัติต่อไป คอยระวังจิตไม่ให้ยินดีในโลกทั้งหมด และปฏิบัติต่อไปคอยระวังจิตมิให้พอใจยินดีในสังขารทั้งหมด สิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด และรวมเข้ามาก็กำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเมื่อปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกประกอบด้วยสัญญาเหล่านี้
ก็ย่อมจะได้ข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรมไปโดยลำดับ
จิตก็จะพบกับความสำรอกและความดับยิ่งๆขึ้นไป ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้ง หรือรู้แจ้งเห็นจริง แต่ว่าการปฏิบัตินั้นจะไปมุ่งว่าจะต้องละกิเลสได้ จะต้องสำเร็จเมื่อนั่นเมื่อนี่นั้นไม่ได้ ผู้ปฏิบัติก็มีหน้าที่ปฏิบัติไป น้อยหรือมากก็ตาม ก็ย่อมจะได้ไปโดยลำดับ และขั้นตอนของการปฏิบัติก็จะเลื่อนขึ้นไปเอง ไม่ต้องไปใช้ตัณหาอยากได้ ถ้าใช้ตัณหาอยากได้อยากถึงแล้วย่อมจะไม่ได้ เพราะนั่นเป็นตัณหา ซึ่งคอยขัดขวาง
๔ ให้พอกพูนเรือนว่าง
อันหมายความว่า ให้ผู้ปฏิบัตินั้นพอกพูนคือกระทำอยู่บ่อยๆ
หาโอกาสที่จะหลีกเร้นเข้าไปสู่เรือนว่างคือที่ว่าง แล้วก็ทำกายวาจาใจนี้ให้ว่าง ทำจิตนี้ให้ว่าง ว่างจากอารมณ์ ว่างจากกิเลส ว่างจากกองทุกข์ไปโดยลำดับ ผลของการปฏิบัติก็ได้เอง ได้มาโดยลำดับ ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

- สมเด็จพระญาณสังวร




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2550    
Last Update : 2 ธันวาคม 2550 1:18:54 น.
Counter : 171 Pageviews.  

สมาธิ - สมเด็จพระญาณสังวร

ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นหลักปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น และต้องมีสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบตั้งมั่น และปฏิบัติพิจารณาสืบต่อทางปัญญาต่อไป ในการปฏิบัติศีลนั้นอาศัย วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวรนั้นๆ ดังเช่นศีล ๕ เป็นต้น ย่อมทำกายวาจาใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม พร้อมที่จะทำสมาธิ อันเป็นเครื่องอบรมจิตให้สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย และสมาธินี้ก็ย่อมอุปการะศีลให้บริสุทธิ์ ตลอดถึงจิตใจ ทั้งเป็นบาทคือเป็นเท้าของปัญญา ด้วยน้อมจิตที่เป็นสมาธิคือที่สงบ พิจารณาขันธ์ ๕ ย่นลงเป็นนามรูป โดยความเป็นไตรลักษณ์
การพิจารณาค้นคว้าทางปัญญานี้เป็นข้อสำคัญ ผู้ปฏิบัติธรรมไม่พึงหยุดอยู่แค่ศีล ให้ปฏิบัติสมาธิต่อ และก็ไม่พึงหยุดอยู่แค่สมาธิ แต่ว่าถ้าไม่มีสมาธิ ก็ยากที่จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ได้ และยากที่จะปฏิบัติทางปัญญาได้ จึงต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐานทั้งหลาย อันเป็นฝ่ายสมถกรรมฐาน เพื่อให้จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตที่สงบนี้แรง เป็นจิตที่ควรแก่การงานทางปัญญา คือที่พิจารณาทางปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจะคือความจริงของขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูปกายใจนี้
เพื่อให้เห็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์และก็พิจารณาค้นคว้าสืบต่อถึงตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ จับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก หรือ อวิชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นฝ่ายกิเลสทั้งหลาย อันมีอวิชชาเป็นหัวหน้า ล้วนเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และให้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก่อน ว่าจะดับทุกข์ก็ต้องดับตัณหาเป็นต้นเสียได้ หรือจะดับตัณหาเป็นต้นเสียได้ ก็จะต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ย่นย่อลงเป็นศีลสมาธิปัญญานั้นเอง
จิตที่เป็นสมาธิคือที่สงบตั้งมั่น ย่อมเป็นจิตควรแก่ปัญญา ที่จะมองเห็นสัจจะคือความจริง รวมเข้าก็ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยการปฏิบัติตามสัญญา คือความกำหนดจดจำ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ก่อน และน้อมมาพิจารณาตรวจตราดูที่กายใจอันนี้เอง อันเป็นที่ตั้งของอริยสัจจ์ทั้งหลาย ค่อยๆทำสัญญาให้เป็นตัวปัญญาขึ้นด้วยตนเองโดยลำดับ ดั่งนี้ จึงจะดับกิเลสดับกองทุกข์ได้
การปฏิบัติทำสมาธิ
ในการปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธินี้ ทางปฏิบัติก็อาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา อันเป็นองค์ของปฐมฌาน แต่ว่าปฐมฌานนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ในชั้นต้นก็เป็นปฐมฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตาแต่ว่าในการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่ในขั้นต้น ที่กล่าวได้ว่าเป็น บริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม คือการเริ่มปฏิบัติ และเริ่มได้สมาธิ เกือบจะแนบแน่นอันเรียก อุปจาระสมาธิ จนถึง อัปปนาสมาธิ อันเป็นปฐมฌาน
ตั้งแต่เบื้องต้นมาดังกล่าวนี้ก็ต้องอาศัยวิตกวิจารเป็นต้นเป็นแนวปฏิบัติ กล่าวคือวิตกอันเป็นข้อที่ ๑ นั้น ก็ได้แก่การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิคือกรรมฐาน เช่นว่า เมื่อตั้งสติกำหนดพิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔
คือพิจารณากายก็ยกจิตขึ้นสู่กาย พิจารณาเวทนาก็ยกจิตขึ้นสู่เวทนา
เมื่อพิจารณาจิตก็ยกจิตขึ้นสู่จิต เมื่อพิจารณาธรรมะก็ยกจิตขึ้นสู่ธรรมะ
นี้คือวิตก ได้แก่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิคือกรรมฐาน หรือว่ายกจิตขึ้นกำหนดสมาธิกรรมฐาน หรือสมถกรรมฐาน ดังเช่นในการยกจิตขึ้นสู่กาย ในหมวดกายก็มีหลายข้อ ในข้อแรกก็คืออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก คือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ลมเข้าออกเป็นที่ตั้งของจิต เป็นอารมณ์ของจิต หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตอยู่ที่ลมหายใจ หรือให้ลมหายใจอยู่ที่จิต ดั่งนี้เรียกว่าวิตก
มาถึงข้อ ๒ วิจาร ก็ได้แก่คอยประคองจิตไว้ ในอารมณ์ของสมาธิคือในกรรมฐานเช่นประคองจิตให้ตั้งอยู่ ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ติดต่อกันไป ดั่งนี้คือวิจาร คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ดังกล่าว
แต่ในการปฏิบัติเบื้องต้น จิตยังดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายอยู่มาก จิตจึงมักจะตกจากกรรมฐาน ดิ้นรนไปในอารมณ์ตามใคร่ตามปรารถนา ก็ต้องอาศัยสติคือความระลึกได้ พร้อมทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว นำจิตมาจับตั้งไว้ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกอีก ในเบื้องต้นก็ต้องทำอยู่ดั่งนี้บ่อยๆ คือ
ต้องมี วิตก นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน เช่นในลมหายใจเข้าออก
ต้องมี วิจาร คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ ไม่ให้หลบหลุดไป
ต้องอาศัย อาตาปะ คือความเพียร เรียกว่าต้องมีความเพียรกันเต็มที่ ไม่ยอมหยุดเลิกพ่ายแพ้ต่อความดิ้นรนของจิตอันเป็นตัวกิเลส
โดยที่มี สัมปชานะ ความรู้พร้อมคือตัวสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติ ดังที่ตรัสสอนไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สัมปชาโน มีความรู้พร้อมรู้ตัว สติมา มีสติดั่งนี้ โดยต้องคอยกำจัดคือสงบความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย หรือที่เรียกว่าความยินดีความยินร้ายต่างๆในโลก ไม่ให้ฉุดลากดึงจิตไปได้ ต้องมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ยินดียินร้ายดังกล่าวอยู่เนืองๆ ดั่งนี้ จิตก็จะค่อยสงบขึ้น ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ
ปีติ ๕ อันปีตินั้นมี ๕ คือ
ขุททกาปีติ ปีติเป็นส่วนน้อยอันทำให้ขนชันน้ำตาไหล
ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันมีอาการให้รู้สึกเสียวแปลบปลาบเหมือนอย่างฟ้าแลบ
โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ อันมีอาการซู่ซ่า เหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง แรงกว่าที่เสียวแปลบปลาบ
อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน อันมีอาการให้ใจฟูขึ้น และให้กระทำ หรือเปล่งอุทานเว้นจากเจตนาคือความจงใจ ท่านแสดงว่าอย่างแรงทำให้กายลอยขึ้นได้
และ ผรณาปีติ คือปีติซาบซ่าน อันปีติอย่างละเอียด
ปีติที่ได้ในเมื่อจิตเริ่มสงบโดยอาศัยวิตกวิจารดังแสดงมาแล้ว ก็ย่อมจะเป็นปีติส่วนน้อยที่ให้ขนชันน้ำตาไหล หรือขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ อันทำให้เสียวแปลบปลาบเหมือนอย่างกับฟ้าแลบ หรือว่าถึงโอกกันติกา ปีติเป็นพักๆ ที่ทำให้รู้สึกซู่ซ่าเหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง อันแรงกว่าเสียวแปลบปลาบ ปีติที่ได้ในชั้นแรกจึงมักจะเป็นปีติชนิดที่เป็นอย่างน้อยเป็นต้นดังที่กล่าวมา แล้วก็ได้สุข คือความสบายกาย ความสบายใจ
สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ย่อมจะทำให้ได้สมาธิคือความที่จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นอันเดียว แม้ในขั้นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่เฉียดๆจะแน่วแน่ ก็เพราะว่าสมาธินี้ย่อมมีสุขเป็นที่ตั้ง
การปฏิบัติในการเริ่มต้นในขั้นวิตกวิจาร ยังไม่ได้สุข ยังไม่ได้ปีติ ก็ต้องใช้ความเพียรอย่างเต็มที่ ใช้สติ ใช้สัมปชัญญะอย่างเต็มที่ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายยินดียินร้ายต่างๆ จนเมื่อได้ปีติขึ้นใจก็เริ่มเชื่องเข้าสงบเข้า และเมื่อได้ปีติก็ย่อมได้สุขสืบต่อกันไป ก็ทำให้ได้สมาธิ คือเอกัคคตาความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้ติดต่อกันไป แนบแน่นเข้ามา เรียกว่า จิตลง คือลงสู่ความสงบ ลงสู่สมาธิ เพราะว่ามีความสุขอยู่ในความสงบ มีความสุขอยู่ในสมาธิ มีความสุขอยู่ในการกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงสงบความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ที่มีอยู่ในขั้นแรกเสียได้ ซึ่งในแรกนั้นยังไม่ได้สุขจิตจึงดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหาสุข คือหาอารมณ์อื่นๆ ที่ดึงใจไป
อันมีอาลัยคือความผูกพันใจอยู่ หรือมีสัญโญชน์คือเกาะเกี่ยวใจอยู่ใจยังติดอยู่ในความสุขของสังโญชน์หรือของอารมณ์เหล่านั้นตัวสังโญชน์หรืออารมณ์เหล่านั้นก็คอยดึงใจออกไป ใจยังไม่ได้สุขในสมาธิ
ต่อเมื่อได้ปีติได้สุขในสมาธิ ใจก็อยู่ตัว เพราะไม่ต้องไปหาความสุขที่อื่น ได้ความสุขจากความสงบ ได้ความสุขจากสมาธิแล้วดั่งนี้จิตก็เป็นเอกัคคตา กล่าวได้ว่าเข้าขั้นอุปจาระสมาธิ และเมื่อไม่หยุดความเพียรเพียงแค่นั้น ประกอบความเพียรต่อไป พร้อมทั้งมีสัมปชัญญะมีสติ คอยกำจัดความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายของใจ แม้อย่างละเอียดสืบต่อไป ก็จะนำไปสู่อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ทำให้ปรากฏองค์ คือวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ วิจารประคองจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ ปีติ สุข และเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกันอย่างเต็มที่ จึงเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นขั้นปฐมฌาน
การปฏิบัติในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยองค์ของปฐมฌานนี้มาโดยลำดับ และเมื่อจิตได้สมาธิ แม้ในขั้นอุปจาระสมาธิ ก็เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่ตั้งมั่น ควรแก่การงานทางปัญญา สามารถน้อมจิตที่สงบตั้งมั่นนี้ไปพิจารณาขันธ์ ๕ นามรูป โดยไตรลักษณ์ คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ตลอดจนถึงพิจารณาอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่กายใจอันนี้ต่อไปได้สะดวก เป็นการปฏิบัติทางปัญญาสืบต่อไป

- สมเด็จพระญาณสังวร

** ทำไมไม่มีสมาธิ โปรดดูเรื่อง นิวรณ์5 ครับ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2550    
Last Update : 1 ธันวาคม 2550 23:19:14 น.
Counter : 209 Pageviews.  

ลมหายใจที่ปลายจมูก

ลมหายใจที่ปลายจมูก
หลักสมาธิวิปัสสนา

----------------------------------------------


เมื่อมีคนป่วยใกล้ตาย มักมีคำพูดกันเล่นๆ ว่า "ให้หายใจเข้าไว้แล้วจะไม่ตาย" คำนี้เล่นๆ แต่ว่าเป็นจริงนะ เพราะถ้ายังหายใจอยู่ คนมันก็ไม่ตายอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่หายใจ มันก็ตายเท่านั้นเอง แสดงให้เห็นว่า คนเราสำคัญที่ลมหายใจ ลมหายใจบางคนเป็นเงินเป็นทอง ลมหายใจบางคนเป็นหนี้เป็นสิน ควรกำหนดทางใจให้ดีๆ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป เจ้าสำนักวัดอรัญญวิเวก (บ้านปง) อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านสอนให้ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้ที่ปลายจมูกด้วยการบริกรรมพุทโธ
เมื่อเรานั่งดีแล้ว ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่ที่ปลายจมูกกำหนดไว้ในใจ บริกรรมว่า หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ และให้ตั้งสติปัญญาประคับประคองจิตใจของตนเอง ให้มาคิดหรือให้มากำหนดรู้อยู่ที่ลม ที่ถูกต้องสัมผัสที่ปลายจมูกของตนเองอยู่ก็ให้รู้ นี้เรียกว่าการเจริญอานาปานุสติกัมมัฏฐานเป็นข้อบริกรรมภาวนา
เมื่อเรารู้จักว่าจิตของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกพร้อมกับข้อบริกรรมพุทโธสัมพันธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ก็ให้รู้ (แต่ห้ามไม่ให้ส่งจิตของตนเองเดินตามลมลงไปที่หัวใจหรือลมลงไปที่ท้องน้อยเป็นอันขาด) เพราะการทำสมาธิชนิดนี้หรือแบบนี้ เป็นการทำทางลัด เป็นทางที่ทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้ง่ายที่สุดจึงให้กำหนดเอาแต่ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก กับพุทธโธอย่างเดียว เท่านั้นเป็นข้อเจริญ
เมื่อจิตใจของเราไม่อยู่กับลมที่ปลายจมูกก็ให้รู้จักว่าไม่อยู่ เราก็พยายามใช้สติปัญญาติดตาม ดึงจิตใจของตนเองที่ฟุ้งซ่านไปติดอยู่กับสิ่งอื่นนั้น ตามสัญญาอารมณ์ภายนอกที่เป็นกิเลสมารนั้น ให้จิตใจของตนเองมาติดอยู่กับข้อธรรมกัมมัฏฐาน คือ ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกของตนอย่างเดิม เมื่อเรารู้ว่า จิตของเราอยู่กับลมที่ปลายจมูก และข้อธรรมกัมมัฏฐาน สัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว
ต่อไปให้เราหายใจให้สบาย ให้ปลอดโปร่ง แล้วอย่าไปสะกดจิตของตนเองมาก ถ้าบุคคลใดบังคับ และสะกดจิตของตนเองเกิดไปแล้ว เมื่อบุคคลกำลังภาวนาอยู่ จะมีอาการปวดศีรษะบ้าง บางรายจะปวดประสาทมาก บางรายจะมีอาการตัวร้อน เหงื่อแตกอึดอัดแล้ว ก็ออกจากนั่งสมาธิทันทีทนไม่ไหว เป็นอย่างนี้แล บุคคลบางคนนั่งทำสมาธิจึงไม่สงบ อีกอย่างหนึ่งการนั่งทำสมาธินี้ เราอย่าไปอยากเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือบังคับจิตใจของตนเองให้สงบเร็วที่สุดอย่างนี้
บุคคลที่อยากเห็นก็ยิ่งจะไม่เห็นอะไรเลย บุคคลอยากสงบเกินไปก็ยิ่งไม่สงบ นี่เป็นเหตุให้จำเอาไว้ เมื่อเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับลมที่ปลายจมูกของตนแล้ว ให้เราตั้งสติสังเกตดูลมที่เดินเข้าเดินออกอยู่ที่ปลายจมูกนั้น ว่าลมเข้าแรงหรือออกแรงก็ให้รู้ ลมเข้าสั้นหรือออกสั้นก็ให้รู้ ลมเข้ายาวหรือออกยาวก็ให้รู้จักในกองลม และก็ให้สังเกตดูจิตของตนเองว่า จิตของเรานิ่งอยู่กับลมแน่นอน
เมื่อรู้ว่าจิตของตนอยู่จริงแล้ว ต่อไปเราก็ให้หายใจเบาๆ ลงอีกกว่าเดิม ตอนนี้เราก็ประคองจิตใจของตนเองไว้กับลมหายใจเข้าออก กับข้อบริกรรมพุทโธตามเดิมเหมือนแต่ก่อน แต่ตอนนี้บางบุคคลนั้นนั่งนานแล้ว ก็จะรู้สึกมีเวทนาความเจ็บปวดตามร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง บางบุคคลจะเจ็บแข็งขาหรือเจ็บหลัง หรือเจ็บปวดบั้นเอวเกิดขึ้น
จิตก็จะวิ่งออกไปตามที่เจ็บปวดนั้น จิตก็จะไม่นิ่งอยู่กับข้อธรรมกัมมัฏฐาน คือลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกอันเราตั้งไว้นั้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามใช้สติปัญญาดึงเอาจิต ของตนเองให้วางจากเวทนา ความเจ็บปวดนั้น ไม่ให้จิตของเราไปยึดไปถืออยู่กับเวทนานั้น ก็ให้พยายามปล่อยวางจนได้ แต่วิธีปล่อยวางเวทนาทั้งหลายนั้น คือว่าเราไม่เอาจิตของตนไปคิดอยู่กับความเจ็บปวดนั้นเอง ให้จิตของเราไปคิดอยู่กับข้อธรรมกัมมัฏฐาน คือ ลมหายใจเข้าออกตามเดิม
แต่ถ้ายิ่งพยายามปล่อยวางก็ยิ่งมีความเจ็บปวดมากขึ้นจนทนไม่ไหวอย่างนี้ ให้เราตั้งใจว่าเราจะทำจริง หาความสงบจริง เราไม่ต้องกลัวความตาย ทำให้กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ท้อแท้อ่อนแอกับเวทนาทั้งหลายเหล่านี้ ว่าถ้ามันเจ็บขา หรือบั้นเอวอย่างนี้ ก็ให้ตั้งมั่นคงว่าเอาเถอะ ขามันจะขาดก็ให้มันขาดออก หรือบั้นเอวมันปวดมาก บั้นเอวมันอยากขาดออกไป ก็ให้มันขาดจากกันลองดู
เรากล้าหาญ เอาจริงอย่างนี้ไม่ต้องกลัวตาย แม้ร่างกายจะแตกหักทำลายขาดออกจากกันหมด ก็ให้มันเป็น ลองดูมันจะเป็นไหม ถ้าเรามีความตั้งใจ ทำจริงอย่างนี้ได้ จิตใจของเราจึงจะปล่อยวางเวทนาความเจ็บปวดนั้นได้ เราต้องทำจริงอย่างนี้ เอาจริงอย่างนี้ จิตใจของตนจึงจะสงบเป็นสมาธิได้
เมื่อจิตของตนเองมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกตามเดิมแล้ว ก็ให้เราสังเกตดูลม ว่าลมนี้เบากว่าเดิม ละเอียดกว่าเดิมก็ให้รู้ ลมหายใจเข้าสั้นออกสั้นและเบาก็ให้รู้ ลมหายใจเข้ายาว ออกยาว และเข้าก็ให้รู้ตลอด ให้เราพยายามประคองเรือคุมจิตของตนอยู่แน่นอน ตอนนี้ให้เราเอาแต่ลมหายใจอย่างเดียวให้วางพุทโธเสีย ก็ให้เราหายใจให้เบาๆ ละเอียดสุขุมลงกว่าเดิมอีก และก็ให้ประคองจิตใจของตนให้อยู่กับลมนั้นตามเดิมอีก
ตอนนี้เมื่อลมเดินละเอียดสุขุมมาก เบามาก เราก็จะปรากฏว่าร่างกายของตนก็เบามาก เราก็จะปรากฏเห็นชัดว่า เวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่ก่อนนั้นก็รู้สึกว่าเบาลงไปมาก ไม่เจ็บมากเหมือนแต่ก่อนเลย เพราะเหตุไรเวทนาจึงเบาลงไปมาก ไม่เจ็บมากเหมือนแต่ก่อนเลย เพราะเหตุไรเวทนาจึงเบาลงมากให้เราเห็นชัด ก็เพราะเหตุเราหายใจให้เบาละเอียดสุขุมนั่นเองเป็นเหตุ
แต่ตอนนี้ บางบุคคลนั้น ก็จะมีปีติเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งเล็กน้อย จะเป็นปีติขนลุกขนพองก็ตาม จะเป็นแบบน้ำตาไหลก็ตาม จะเป็นแบบเหมือนมีลมถูกต้องกายเบาๆ ก็ตาม จะเป็นแบบแปลบปลาบในหัวใจก็ตาม จะเป็นแบบตัวเบาเหมือนตัวจะลอยขึ้นไปบนอากาศก็ตาม ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงปิติเท่านั้น เมื่อปีติหายไปแล้ว ก็จะมีความสุขเกิดขึ้นแทนเล็กน้อยต่อไป
นี้แล เราจะเห็นว่าของเหล่านี้ เกิดจากการทำความสงบที่เราไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อน จึงทำให้บุคคลเกิดปีติและความสุขได้แต่เราก็มาพิจารณาดูจิตของตนเองดีกว่า จิตของเราอยู่กับลมเบาละเอียดกับความสุขนั้นไหม ถ้าเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับลมสัมพันธ์ อยู่กับลมแน่นอนแล้วและอยู่ประมาณ ๑๕ - ๒๕ นาที แล้วก็ถอยออกจากสมาธิ
ถ้าบุคคลใด เจริญภาวนามาถึงที่นี่ ก็เรียกว่าจิตสงบแต่เพียงแค่ขนิกสมาธิเท่านั้น เรียกว่าสมาธิเพียงเฉียดๆ นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง
ต่อไป เมื่อบุคคลได้เจริญภาวนามาถึงที่นี้แล้ว ก็อย่าได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ให้พยายามทำความเพียรต่อไปอีก คือเมื่อเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกที่เบาและละเอียดสุขุมแล้ว ลมหายใจสั้นเบาละเอียดสุขุมมากก็ให้รู้ ว่าลมหายใจเข้ายาวออกยาวและละเอียดมากกว่า
เหมือนจะไม่มีลมอยู่ที่ปลายจมูกเลยก็ให้รู้ แต่ลมยังมีอยู่ เพราะลมเดินละเอียดสุขุมมากไปตามร่างกาย เราจะรู้ปรากฏทันทีว่าร่างกายของตนเองก็เบามากขึ้นทุกที เวทนาที่มีความเจ็บปวดในร่างกาย ก็เหมือนจะหายไปหมด จะทำให้เราได้รู้รส สัมผัสของความสงบเกิดขึ้น และตื่นเต้นมีปีติแรงมาก แล้วแต่จะเกิดปีติชนิดใดก็ตาม
เมื่อปีตินั้นหายไป ก็จะมีความสุขเกิดขึ้นทันที แล้วจิตของเราก็จะอยู่กับความสุขนั้น เมื่อเรามาสังเกตดูจิตของตนเองอยู่กับลมละเอียดสุขุมที่ปลายจมูก และทรงความสุขอยู่ตามเดิมแน่นอน
ต่อไป ให้เราหายใจให้สบาย ปลอดโปร่ง หายใจเบาๆ ละเอียดสุขุมที่สุด เบาที่สุดจนเหมือนไม่มีลมปรากฏอยู่ที่ปลายจมูกของเราเลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อเราพิจารณาและสังเกตดูอยู่ว่า แหมกายของตนเบามาก ไม่มีเวทนาและลมก็มองไม่ปรากฏเลย ตอนนี้ให้เราปล่อยวางเสีย เมื่อเราปล่อยวางลมแล้ว ลมก็จะไม่ปรากฏ แม้เรามองไม่เห็นลมปรากฏอยู่ที่ปลายจมูกของเรา
ตอนนี้ ขอเตือนนักปฏิบัติทั้งหลายให้เข้าใจ เอาไว้ให้จงดี อย่าพากันกลัวตาย ว่าลมหายใจของตนหมดสิ้นแล้ว เราจะตายหรืออย่างไร อย่าไปเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้ ก็ให้เราตั้งใจเอาไว้ว่า เราไม่ต้องกลัวความตาย ถ้าเราไม่กลัวความตายแล้ว จิตของเราก็จะนิ่งอยู่เป็นสมาธินั้นเอง
แต่บางบุคคล เมื่อเจริญภาวนามาถึงที่นี้แล้ว มองหาลมหายใจเข้าออกของตนไม่เห็น ก็เลยมาเกิดสัญญาว่าเราจะตายแล้ว ก็มีความอึดอัดในหัวใจเดือดร้อน หรือเหงื่อแตกออกมาเต็มร่างกายก็มี เพราะกลัวตนเองตายเป็นเหตุ เมื่อได้เป็นเช่นนี้ขึ้นมาแล้ว จิตของบุคคลนั้นก็ถอนออกมาจากสมาธิ วิ่งออกไปตามสัญญาอารมณ์ภายนอกอีก แล้วก็จะได้เริ่มต้นทำสมาธิใหม่
เมื่อทำสมาธิใหม่ก็เข้าไปได้ถึงที่เดิมก็มาเกิดความกลัวว่าตนเองจะตายอีกอย่างเดิม แล้วจิตของตนก็ถอนออกจากสมาธิอีก ถ้าบุคคลใดทำการเจริญภาวนาอยู่อย่างนี้ บุคคลนั้นจะเจริญภาวนาเนิ่นช้า จิตใจของบุคคลนั้นก็ไม่อาจสามารถจะสงบเป็นสมาธิลึกซึ้ง หนักแน่นลงไปได้เลย แม้บุคคลนั้นจะพยายามเท่าไรก็ไปถึงแต่ที่เดิมเท่านั้นเอง ฉะนั้น จึงขอให้นักปฏิบัติจงพากันเข้าใจเอาไว้
แต่ถ้าบุคคลใด เจริญภาวนามาถึงตอนนี้แล้วเป็นคนกล้าหาญองอาจสามารถไม่กลัวตายแล้ว บุคคลนั้นก็จะเจริญภาวนาต่อไปได้และทำจิตของตนให้สงบ เป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคงได้ ต่อไปจิตของตนก็จะมีความเพ่งอยู่กับความสุข และความเบานั้นสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียว เราก็ให้รู้ว่าจิตของเราอยู่ เมื่อจิตอยู่นิ่งตอนนี้จะเกิดปีติแรงมากขึ้นอีก แม้จะเป็นปิตีแบบไหนก็ตามเมื่อปีติหายไปความสุขก็เกิดขึ้นตามที่หลัง ว่าเป็นสุขมาก สุขุมมาก จะทำให้บุคคล ผู้เจริญภาวนาได้ประสบพบเห็นด้วยตนเองว่า การเจริญภาวนาหา ความสงบนี้ ก็เป็นของที่มีความสุขอันยิ่งจริงหนอ ก็หากเป็นของเกิดขึ้นมาเอง เป็นเอง
เมื่อเราทำจิตใจของตนให้สงบแล้ว มันก็เกิดขึ้นมาเองเท่านั้นเมื่อจิตของตนนิ่งอยู่กับความสุขและความเบา ก็ขอให้ใช้สติปัญญาประคับประคองจิตใจของตนให้สงบนิ่งอยู่กับอารมณ์นั้น เมื่อรู้ชัดว่า จิตของตนอยู่แน่นอนแล้วไม่ออกไปไหน จิตก็ยิ่งจะสงบเป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคงเข้าทุกที
เมื่อจิตของตนหนักแน่นอยู่อย่างนี้ ตอนนี้ก็จะเกิดนิมิตสีแสงสว่างเกิดขึ้น บางบุคคลก็เห็นแสงสว่างแบบหลอดไฟฟ้านีออน หลอดไฟฟ้านีออนแบบสั้นๆ บางคนบุคคลก็เห็นแสงสว่างเหมือนแสงไฟฉายผ่านหน้าตนเอง ส่วนบางคนนั้นก็จะเห็นแสงสว่างอยู่ตรงหน้าตนเอง ไม่มีดวง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาอีกใหม่ ก็เพราะเหตุใดจึงเกิดแล้วก็ดับอย่างนี้ เมื่อเราเห็นใหม่ ก็เพราะว่าจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นนั้นเอง จึงเป็นอย่างนี้
ต่อไป ให้เราจงประคับประคองจิตของตนเองให้ตั้งมั่นอยู่กับความเบาและความสุขที่ละเอียด จะพิจารณาให้จิตของตนอยู่ตรงหน้าอกของตนก็ได้ ไม่ให้เอาจิตไปเพ่งอยู่ที่อื่น ให้เพ่งอยู่ที่เดียวนั้น
เมื่อจิตของเรานิ่งอยู่นั้นนาน ก็จะยิ่งมีแสงสว่างเกิดมากขึ้น และเป็นแสงสว่างแบบดวงอาทิตย์ หรือแบบดวงจันทร์สว่างจ้า แต่บางบุคคลนั้นก็จะเห็นแสงสว่างสีขาวนวล แต่ก็สว่างไสวไปรอบๆ ตัวกว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร
เมื่อเราประคองจิตของตนให้ตั้งอยู่ตรงอยู่ในแสงสว่างนี้ เราก็จะมองเห็นภาพนิมิตต่างๆกัน ไม่เห็นเหมือนกันทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ชื่อว่าเห็นนิมิตแต่ละบุคคลนั้น บางคนจะเห็นนิมิตเป็นภาพ เห็นตนเองตายแล้ว เปื่อยเน่าขาดผุพัง ลงไปเป็นกระดูกก็มี บางคนนั้นจะเห็นตัวเองนั่งอยู่ตรงข้างหน้าของตน
บางคนนั้นจะเห็นภาพพระพุทธรูปสวยงามตั้งอยู่ตรงหน้าของตนเอง บางคนก็จะเห็นครูบาอาจารย์มานั่งอยู่ตรงหน้าเทศนาธรรมสั่งสอนตนเองอยู่ก็มี บางคนนั้นจะเห็นภาพร่างกระดูกเดินมาหาตนเอง บางคนนั้นก็จะเห็นร่างกระดูกลอยอยู่บนอากาศก็มี บางคนนั้นก็จะเห็นเหมือนรถเหมือนเรือมาชนตนเอง บางคนนั้นก็จะเหมือนตนเองอยู่บนอากาศ
บางคนนั้นก็จะเห็นเหมือนตนเองตกลงไปนั่งอยู่ในเหวลึกๆ บางคนนั้นก็จะเห็นคนไปมาหาตนเองผ่านไปผ่านมา เกิดๆ ดับๆ นิมิตนี้เกิดขึ้นดับไป นิมิตใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเหมือนๆ กันกับเราดูภาพยนต์ แต่อย่างไรก็ตาม ก็เรียกว่าการเห็นนิมิตกันทั้งนั้น
ก็ขอเตือนไว้ว่าเราอย่าไปกลัวในนิมิต จะนิมิตแบบไหนก็ตามเกิดขึ้นก็อย่าไปเกรงกลัวมันเลย ให้ทำจิตใจของตนเองให้กล้าหาญ ไม่ต้องเกรงกลัวมันล่ะ ให้ตั้งใจ ให้มั่งคงอย่างนี้ แม้เราจะเห็นนิมิตสิ่งใดแบบไหนก็ตาม เห็นแจ้งเห็นชัด เห็นจริงก็ตาม ตามที่เราได้เห็นนั้น แต่เราอย่าไปถือตามนิมิตนั้นว่าเป็นจริงอย่างนั้น อย่าไปเล่นนิมิต อย่าไปยึดนิมิต อย่าไปเชื่อนิมิต อย่าไปติดนิมิต
นิมิตเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน นักปราชญ์ทั้งหลายท่านไม่ให้เล่นนิมิตเลย ไม่ให้เราติดนิมิต ขอเตือนบุคคลที่ปัญญายังอ่อน ห้ามเล่นนิมิตเลย เอาละเมื่อจิตของเรามายับยั้งตั้งอยู่ในที่นี้แล้ว เราก็ควรพยายามประคองของตนให้สงบอยู่กับความเบา และความสุขที่ละเอียดยิ่งเข้าทุกที
เมื่อจิตของเรายิ่งสงบนานเข้าเท่าไร แสงสว่างก็ยิ่งเกิดขึ้น มองไปได้เห็นไกลมาก เป็นแสงสว่างชนิดที่ไม่ปรากฏเป็นดวงตอนนี้ แต่หากเป็นแสงสว่างสีขาวนวลมองได้รอบตัวและไปไกลมาก ก็ยิ่งเห็นนิมิตแจ้งชัดแน่นอนกว่าเดิม แม้จะเห็นนิมิตแบบไหน ชนิดใดก็ตาม ก็เห็นแจ้ง เห็นชัดมาก ในตอนนี้ แต่ก็จะเกิดปิตีแรงมากขึ้นแต่ตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยรู้เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อน จึงทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติได้พบได้เห็นเอง ได้รับความสุขสุขุมละเอียดยิ่งขึ้น
การที่บุคคลเจริญภาวนามาถึงที่นี้ และเราก็ประคับประคองจิตของตนให้อยู่กับความเบา และความสุขละเอียดสุขุมประณีต พร้อมทั้งมีแสงสว่างก็แจ่มแจ้งชัดเจน แล้วก็เห็นภาพนิมิตต่างๆ ที่เป็นเหตุการณ์ต่างๆ นั้นก็ดี ก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนไม่มีอะไรปิดปังไว้เลย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ของเหล่านี้ก็เป็นของ หากเกิดขึ้นมาเองเพราะเกิดจากการทำความสงบเท่านั้น ถ้าบุคคลไม่ทำความสงบนั้น แม้จะปรารถนาอยากเห็นเพียงใดก็ไม่เห็นอยู่นั่นเอง
ถ้าบุคคลทำจิตใจของตนให้สงบแล้ว ของนั้นหากเกิดขึ้นมาเองเท่านั้น เมื่อเรามาเองเท่านั้น เมื่อเราเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างนี้ ที่จิตของตนมาตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอารมณ์ที่สุขุมประณีตในความเบามาก สุขมาก ให้เราสังเกตดูจิตของตนเองว่า จิตของเราตั้งนานเท่าไรถ้าเราสังเกตดูว่าจิตของตนนี้ตั้งนาน ๔๕ นาที หรือ ๑ ช.ม นั้น ก็ถือว่าจิตของเราสงบถึงอุปจารสมาธิ เพราะจิตของเรามายึดหน่วงอารมณ์เบาๆ เพราะความสุขุมประณีต และเห็นแสงสว่างแจ่มแจ้งไปไกล แล้วก็เห็นภาพนิมิตชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็คือว่าจิตของตนให้เจริญภาวนาสงบมาถึง อุปจารสมาธิเพียงแค่นี้เท่านั้น ต่อไปจะได้ทำความเพียรให้จิตใจของตนให้สงบลึกซึ้งลงไปอีก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเจริญภาวนาได้มาถึงที่นี่แล้ว ถ้าเราเห็นแสงสว่างและเห็นนิมิตแจ้งชัดเจนแล้วเพียงใดก็ตาม หรือจิตของเราได้เสวยอยู่ในอารมณ์เบาและความสุขมากเพียงใดก็ตาม แต่เราก็อย่าไปติดอยู่กับแสงสว่างอันนั้นความเบา ความสุขนั้น ให้เราปล่อยวางสิ่งของเหล่านั้นเสีย วิธีปล่อยนิมิตนั้น คือว่า เมื่อจิตของตนจ้องมองดูภาพนิมิตอยู่ หรือวิ่งตามนิมิตอยู่ ก็ให้เราไม่ต้องสนใจกับภาพนิมิตทั้งหลายเราเห็นอยู่นั้น ถ้าจิตของตนยังอยากจะดูภาพนิมิตอยู่อีก ยังไม่ปล่อยวาง ก็ให้เราพยายามใช้สติปัญญาของตนประคองจิตของตน หรือดึงรั้งเอาจิตของตนมาคิดอยู่กับอารมณ์ที่เบาๆ และความสุขุมที่มีอยู่เดิมนั้นอีก
แต่ถ้าจิตของตนก็ยังดื้อดึง และยินดีเพ่งมองดูภาพนิมิตนั้นอยู่อีก ไม่ยอมปล่อยวางออกจากนิมิตนั้น ก็ให้เราอุบายใช้สติปัญญายกไตรลักษณ์ขึ้นมาพิจารณาว่า นิมิตนี้ก็เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงที่อยู่อย่างเดิมสมดั่งปราถนา ก็หากเป็นของที่เสื่อมหายไปได้ แม้บุคคลมีความปรารถนาอยากให้นิมิตนั้นตั้งอยู่ก็ตาม
ย่อมไม่ได้ตามใจหวังของตน นิมิตนี้ก็ยังเลอะเลือนหายไปได้ จึงทำให้ทุกข์เมื่อนิมิตได้เป็นเช่นนี้แล้ว นิมิตนี้ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตนตัวของใคร ของบุคคลใดเลย แต่เราก็ไปหลงยึดมั่นถือมั่นในนิมิต แต่นิมิตนั้นเมื่อได้หายไปแล้ว ก็ไม่เห็นว่ามีคนมีตัวอยู่ที่ไหน ก็มองไม่เห็นเลยเช่นนี้ จึงว่าเป็นอนัตตา ก็ทำไมเล่าเราจึงไปยึดถือนิมิตเล่า เมื่อมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ จิตของตนก็จะยอมจำนนต่อสติปัญญา จิตของเราก็จะกลับคืนมาพิจารณาอยู่ที่ความเบาและความสุขสุขุมละเอียดนั้น
ถ้าเราพิจารณาอีกแบบใหม่ คือว่า ยกตัวอย่างเปรียบเทียบการหาอุบายให้เรา ทำจิตของตนไม่สนใจกับนิมิตอะไรเลย ให้ทำจิตของตนให้ตั้งอยู่กับอารมณ์ที่มีความรู้ว่าเบา และความสุข ไม่ให้จิตของตนไปสนใจกับนิมิต เหมือนบุคคลคนหนึ่งไปยืนอยู่ที่ทางสี่แยก ที่มีรถหรือหมู่คนเดินผ่านสัญจรไปมาไม่ขาดสาย แล้วให้เราทำจิตของตนนิ่งอยู่กับอารมณ์เบา และความสุขนั้น ไม่สนใจกับนิมิตเลย
เปรียบเหมือนบุคคลหนึ่งนั้น ที่เขายืนอยู่ทางสี่แยก แต่เขาบุคคลนั้น เขาก็ไม่ได้สนใจอยากจะไต่ถามหมู่ฝูงคนที่เดินผ่านไปมาที่ผ่านสายตาของบุคคลนั้น เขาก็ยืนดูเฉยอยู่ ไม่สนใจเลยว่าใครไปอะไรมาอะไร เขาปล่อยวางเฉย
เมื่อเราปล่อยวางนิมิตได้อย่างนี้แล้ว เราก็พยายามสังเกตดูจิตของตนเองว่าตั้งอยู่กับอะไรให้รู้ เมื่อเรารู้ว่าจิตของตนนั้นตั้งอยู่กับอารมณ์เบา และความสุขละเอียดแล้ว เราก็พยายามประคองจิตของตนให้นิ่งอยู่ เมื่อจิตของตนนิ่งอยู่ก็ให้รู้ แล้วจิตก็จะปล่อยวางทั้งนิมิตและเสียงภายนอก จิตของตนก็จะสงบลึกซึ้งละเอียดลงทุกที อีกพักหนึ่ง ตอนนี้เมื่อจิตหยุดอยู่ในอารมณ์ที่สุขุมละเอียดกว่าเดิม แต่ก็ให้สังเกตดูจิตของตนให้รู้ด้วยว่า จิตของตนได้เสวยอารมณ์สุขุมละเอียดกว่าแต่ก่อนแน่นอน ตอนนี้จะเกิดปีติแรงมากขึ้น และความสุขก็ยิ่งมากขึ้นตามมา
ต่อไปเมื่อจิตของตนสงบอยู่ ก็รู้สึกว่าเสียงภายนอกเบาลงแล้วจะเกิดได้ยินเสียงอยู่ภายในความสงบ การที่ได้ยินเสียงภายในนั้น คือว่าเสียงที่คนอื่นพูดเรื่องของเราอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาพูดอยู่ไกลๆ ก็ได้ยิน ในเรื่องที่เขาพูดนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราจะได้ยินแน่นอนในตอนนี้
เมื่อจิตของเราสงบอยู่ แต่บางบุคคลนั้น จะได้ยินเป็นเสียงเหมือนครูบาอาจารย์เทศนาสั่งสอนธรรม หรือบอกภาษิตธรรมเป็นบาลีหลายอย่าง หลายข้อ แต่เราก็ทำได้แม่นยำไม่หลง บางบุคคลนั้นจะปราฏมีความรู้ความจำในสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เช่นเราดูหนังสือธรรมต่างๆ หรือท่องสวดมนต์บทใดบทหนึ่งได้ไว้แต่ก่อนแล้วนั้น เป็นบาลีธรรมก็จะมีความจำได้ดี และแปลได้ทุกอย่าง
เหมือนเกิดปัญญาแตกฉานในธรรม ว่องไวคล่องแคล่ว เหมือนรู้แจ้งในธรรมแน่นอนแล้ว ก็เกิดทิฏฐิมีความผิดว่า ตนรู้แจ้งในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าไม่มีคนอื่นใดรู้ธรรมเหมือนตนเองเลย เมื่อคนเห็นนี้เกิดขึ้นแล้ว จิตก็ถอนออกจากสมาธิอยู่ปกติตามเดิม บัดนี้เมื่อคนอื่นมาหาก็อยากเทศน์ธรรมให้เขาฟังว่า ตนนี้รู้แล้วก็เทศนาไปไม่หยุดยั้ง จนคนอื่นมาหาก็อยากเทศน์ธรรมให้เขาฟังรำคาญเบื่อหูแล้วก็ลุกหนีจาก
ถ้าบุคคลใดเจริญภาวนามาถึงตอนนี้ไม่หลงแล้ว ต่อไปนั้นก็ให้ประคับประคองจิตของตนเองให้นิ่งอยู่กับอารมณ์เบาๆ และสุขุมละเอียดนั้นแล้ว ให้วางเสียทั้งภายในและภายนอก คือไม่สนใจกับเสียงอะไรทั้งหมด แม้จะเป็นเสียงดีเพราะเสนาะหูก็ดี หรือเสียงไม่ดีก็ตาม ก็ปล่อยวางให้หมดสิ้น เมื่อจิตของเราปล่อยวางเสียทั้งหมดไปแล้ว
ตอนนี้จิตของเราก็สงบลึกลงไป และดับเสียงทั้งภายในและเสียงภายนอกทั้งหมด จิตก็วางเป็นอุเบกขา จิตของเราก็นิ่งอยู่ในอารมณ์ที่ว่างเปล่า และมีความสุขสุขุมละเอียดยิ่งมาก ในตอนนี้ดูเหมือนหนึ่งว่าร่างกายของตนว่างเปล่า เหมือนอากาศ หรือว่าเหมือนไม่มีร่างกาย เวทนา ความเจ็บปวดในร่างกายหายหมดสิ้น
ก็เหลือแต่จิตที่ตั้งอยู่กับความว่างเปล่าและความสุขอันประณีตอยู่เฉพาะหน้าตนเองเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเทียบอย่างหนึ่งนั้น ก็เหมือนแยกจิตออกจากกายนั้นเอง แต่ก็จริง กายกับจิตนั้น ก็แยกออกจากกันได้ เพราะเป็นคนละอย่าง
เหตุไฉนจึงพูดอย่างนั้น ว่ากายกับจิตแยกออกจากกันได้ ตัวอย่างว่าตัวเราเองนั่งอยู่ในสถานที่หนึ่ง แล้วเราก็คิดไปอีกสถานที่อื่นแล้วเราก็จะรู้ว่าจิตของตนก็จะไม่อยู่กับตัวเราเลย เรารู้ได้ทันทีหรืออีกอย่างหนึ่งเมื่อเราตายลงไปแล้วจิตวิญญาณก็จะออกจากร่างกาย ไปเกิดภพใหม่อีกได้ที่อย่างหนึ่งนี้แล เราจะเห็นได้ว่ากายกับจิตนี้แยกออกจากกันได้แน่นอน
เมื่อเราเจริญภาวนามาถึงตอนนี้ จิตของตนตั้งอยู่ในความว่างเปล่า และความสุขอันประณีตเยือกเย็นสมทบ จิตสงบได้นานมาก บุคคลนี้จะนั่งเป็นวันเป็นคืนตามความต้องการได้ตามสบาย ไม่รู้ความเหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่รู้ร้อน รู้หนาว ไม่อยากกินข้าว กินน้ำ ไม่หิวอะไร ไม่อยากคิดอะไร ไม่อยากได้อะไรเสียเลยทั้งหมด มีแต่ความสุขและอิ่มอยู่ตลอดเวลา
ถ้าออกจากสมาธิแล้วก็ยังมีความสุขอยู่ แล้วก็อยากหลบเข้าไปอยู่ที่เดิม เพราะเห็นเป็นที่ว่างเปล่าและมีความสุขมาก ปราศจากการคลุกคลีและเสียงต่างๆ ว่างจากความเจ็บปวดเวทนาในร่างกาย เป็นสถานที่หลบเวทนาความเจ็บปวดของร่างกายได้ดีมาก
เมื่อมีความเจ็บปวดในร่างกายเกิดขึ้น ก็หลบหนีเข้าไปอยู่ที่นั้น ก็สบาย ไม่มีความเจ็บปวดร่างกาย ฉะนั้น เมื่อจิตของเรามาตั้งอยู่สงบอยู่ในสถานที่อันว่างเปล่า และมีความสุขสุขุม ประณีตดับจากเสียงทั้งหมดแล้วก็ตั้งอยู่อย่างนี้แล้ว จะสมมุติว่าอะไร ว่าจิตสงบถึงภวังค์จิตหรือว่า ภพจิตอันหนึ่งหรือจะสมมุติว่าอยู่ในองค์ฌาน หรืออัปปนาสมาธิแล้วแต่จะสมมุติเอา แต่จะสมมุติว่าภพจิตอันหนึ่งก็ว่าได้ เพราะมีความเพ่งอยู่ในความสุขยินดีอยู่ในความสุขก็เกิดอยู่ในภพอีกนั่นเอง ถ้าจะสมมุติอยู่ในองค์ฌานนั้นก็เหมือนกันเพราะมีความเพ่งอยู่ในความว่างและความสุข แล้วแต่จะสมมุติขึ้น ก็จะเป็นสมมุติอันนั้น
แต่ในสถานที่นี้ เมื่อจิตของเราทรงอยู่นี้ตั้งอยู่นี้ และมาติดอยู่นี้ จิตของเราก็จะไม่เจริญขึ้น เพราะไม่อยากอะไร ไม่ค้นคิดอะไร อยากอยู่เฉยๆ แล้วก็ไม่เกิดปัญญาขึ้น มาติดอยู่ ก็ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นเลย.
- พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2550 23:35:54 น.
Counter : 1062 Pageviews.  


crimson king
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ร่างกายนี้ ไม่มีฉัน
จิตดวงนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความรู้สึกนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความจำนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความคิดนี้ ก็ไม่มีฉัน
ฉัน นั้นก็ไม่มี

นักศึกษาปฏิบัติธรรมมือใหม่
กิเลสหนา สมาธิ สติช้า ปัญญาด้อย
TIMEอย่าประมาทในชีวิต เวลาหมดลงทุกขณะ
ชีวิตนั้นสั้นนัก แต่วัฏสงสารยาวไร้สิ้นสุด
Friends' blogs
[Add crimson king's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.