วิทยาศาตร์แห่งการเชื่อมโยง โดย เดวิด โบห์ม

“ความสามารถในการรับรู้หรือ คิดต่าง
มีความสำคัญมากกว่าตัวความรู้ที่ได้รับ”

“สมมุติว่าเราสามารถแลกเปลี่ยนความหมายได้อย่างอิสระ ปราศจากแรงกระตุ้นที่บังคับให้เรายัดเยียดทัศนะของเรา หรือปรับเปลี่ยนความคิดเราให้คล้อยตามผู้อื่น และปราศจากการบิดเบือนและ หลอกตัวเอง นี่จะไม่ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมหรอกหรือ?”

“ความคิดสร้างความต่างจากตัวมันเอง และบอกว่าความต่างเหล่านั้นมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ”

การเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งที่เขาใช้คือ คลื่นในมหาสมุทร
คล้ายจะเป็นสิ่งแยกจากกัน
แต่ทว่าความมีอยู่ของมันกลับขึ้นอยู่กับการกระทำของมหาสมุทรทั้งมหาสมุทร
ซึ่งเนื้อแท้ของมันมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนยึดโยงกันอยู่ภายในเหมือนกับแผ่นภาพ โฮโลแกรม
ที่ในทุกส่วน ประกอบด้วยข้อมูลทั้งหมด
ความยึดโยงดังกล่าวจึงเป็นพื้นฐานที่ลึกซึ้งมาก




 

Create Date : 27 มีนาคม 2554   
Last Update : 27 มีนาคม 2554 20:55:34 น.   
Counter : 775 Pageviews.  

เรื่องเล่าอาจารย์ชา : ศีล สมาธิ ปัญญา การค้นหาตัวรู้ ความรู้

ขอขอบคุณ มติชน สุดสัปดาห์ และ Forward mail ค่ะ






 

Create Date : 14 มีนาคม 2554   
Last Update : 14 มีนาคม 2554 1:15:15 น.   
Counter : 1222 Pageviews.  

คิด แบบไม่คิด โดย ศ.นพ. ประเวศ วะสี

ทีนี้มาความคิดแบบที่ ๗ ผมไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร เรียกว่า ไม่คิด ที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้นมันให้คิด แต่ข้อนี้คือ แบบไม่คิด หรือ ไม่คิดเลยก็ได้ ผมว่า การคิดด้านหนึ่งก็มีประโยชน์ แต่อีกด้านหนี่งก็มีโทษ อันนี้ก็ไปคาบเรื่องทวิลักษณ์ คือ บางทีเราคิดวุ่นวาย คิดผิด เช่น เรามีเกณฑ์ของเราอยู่ในใจแล้วเอาเกณฑ์ของเราเข้าไปจับ เอาประสบการณ์จากอดีตหรือความฝังใจเข้าไปจับกับเรื่องใหม่ ซึ่งเรื่องใหม่นั้นบางทีมันคนละสถานการณ์ กับเรื่องเก่าแล้ว แต่เรายังไปใช้เกณฑ์เก่าก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันคนละเรื่องกัน การที่เราไปฝังใจในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว จนไม่เห็นสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน เพราะตัวความคิดมันเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดจากอดีตเข้ามาทำให้เรามองไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการหยุดคิดจึงมีประโยชน์ เพราะคิดแล้วมันยุ่ง หรือว่าคิดผิดทางแล้วก็ยังคิดอีก มันก็ไปในทางที่ผิดเรื่อยไป สมมุติว่ามีทางอยู่ 5 ทาง มีถูกอยู่เพียง 1 ทาง อีก 4 ทางผิด แล้วเราเข้าไปในทางที่ผิดนั้น มันก็ผิดไปเรื่อย

ถาม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรครับว่า สิ่งที่คิดอยู่นั้นมันผิด

ตอบ เราไม่รู้ แต่ผลก็คือ ไม่ประสบผล แถมยิ่งทำให้ยุ่งหนักเข้าไปอีก มันต้องย้อนกลับมา เหมือนกับเราจะไปเชียงใหม่ แต่ดันไปทางทิศใต้ ไปเท่าไร ๆ เปลี่ยนพาหนะต่างๆก็แล้ว มันก็ยังไปไม่ถึง เพราะมันไปผิดทาง วิธีแก้ไขนั้น คือ ต้องจับความคิดนั้นออกมา มันจะทำให้เรามองเห็น แต่ว่าถ้าเข้าไปอยู่ มันก็จะคิดอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ไปผิดทางตลอด เพราะฉะนั้นการไม่คิดจะทำให้เกิดความเป็นกลาง เกิดความสงบ แล้วตรงนี้สมองจะปรับระบบของมันได้ ทำให้ข้อมูลที่วิ่งวุ่นอยู่เป็นระบบขึ้น เหมือนเราประชุมมาทั้งวัน ข้อมูลอะไรเข้ามาเยอะ พอตกเย็นสมองจะยุ่งเชียว เคยสังเกตไหมครับว่าสมองช่วงเย็นจะยุ่งกว่าตอนเช้า แล้วบางทีมันคิดไม่ค่อยออกเพราะมันวุ่นมาก แต่พอได้นอนหลับแล้วตื่นตอนเช้า สิ่งที่คิดไม่ออกในตอนเย็นจะคิดออกในตอนเช้า ผมเจอแบบนี้บ่อย เรารู้สึกว่าตอนหลับไปสมองมีการจัดระบบอะไรของมัน เพราะมันรับข้อมูลเข้ามาอย่างไม่ค่อยเป็นระบบ

ขณะที่เรารู้สึกตัว สมองไม่เคยหยุดคิดหรอก มันจะคิดอยู่เรื่อย เพราะมันมีเรื่องให้คิด เช่น ตาเราเห็นอะไร หู ได้ยินอะไร มันก็เป็นตัวที่นำความคิด ทางอื่นก็มีอีก เช่น ทางจมูก ลิ้น สัมผัส อีกอันคือ ตัวความจำ หรือความคิด ที่มันค้างอยู่โดยไม่ต้องรับเข้ามาใหม่ มันก็มีอยู่ข้างในแล้ว ที่เขาเรียกว่า เป็นการสัมผัสทางใจ ผมว่าตรงนี้คือ ตัวข้อมูลข่าวสาร สัมผัสเก่า ที่มันเข้าไปจำเอาไว้ และยังอยู่ในความทรงจำนั้น ทำให้สมองคิดอยู่ตลอดเวลา คิดเรื่องที่เกิดในอดีต คิดไปในอนาคต คิดจนหยุดคิดไม่ได้ ทีนี้สมองมันก็จะทำงานหนัก แล้วก็เนือยๆ จนไม่สามารถจะใช้ความคิดให้พุ่งไป ก็คงเหมือนกับแสง ถ้ามันไปเปะปะทุกทิศทุกทาง แสงมันก็อ่อน แต่ถ้าเอาแสงพวกนั้นมาเพ่งจุดลงไปที่ไหน กำลังมันก็แรง แบบแสงเลเซอร์ ซึ่งจะมีแรงมาก ความคิดของเราก็เหมือนกัน ปกติมันจะเปะปะไปทางโน้นทางนี้วุ่นไปหมด ถ้าเราหยุดคิดมันจะปรากฏการณ์เยอะเชียว บางคนอาจจะหยุดคิดได้โดยธรรมชาติ แต่คงมีน้อยคน ส่วนใหญ่ต้องฝึก ถ้าคนที่ฝึกแล้วหยุดคิดได้ เขาจะเจอะอะไรหลายๆอย่าง

อย่างแรก คือ เจอความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย คนที่ไม่เคยเจอ จะอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ว่าพอหยุดคิดแล้วมันเกิดความสุข เกิดความปราโมทย์ ปิติ ความสุข เพราะเดิมนั้นความคิดต่างๆ เข้ามาจนมีความหนัก ความหงุดหงิดและรำคาญ เรียกว่าคิดอยู่เรื่อยแล้วแต่ว่าจะมีอะไรมากระทบ เรื่องอะไรมันก็หนักสมอง พอหยุดคิดมันก็เกิดความสงบ แล้วก็เกิดความสุข เพราะฉะนั้นอย่างที่เขาพูดว่า ความสุข คือ ความสงบ บางทีเราอาจจะไม่เข้าใจ หรือว่าเข้าใจเหมือนกันบางส่วน ว่าคือสงบจากเสียงเอะอะต่างๆ แต่ว่าอันนี้คือ ความสงบของความคิด เมื่อสงบจาากการหยุดคิด รู้สึกเลยว่า มันเห็นอะไรต่างๆ ด้วยความเป็นจริงมากขึ้น ไม่อย่างนั้นเวลาเราเห็นอะไร เราจะเอาความคิดของเราเข้าไปใส่ เพราะความคิดและความรู้สึกมันเชื่อมกันเหมือนกับที่พูดว่า ถ้าเราเกลียดคนนี้ เราก็จะเห็นเขาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆที่เขาเป็นอย่างเดียวกัน แต่เวลาที่เราชอบเราก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง ของอย่างเดียวกันเราจะเห็นไม่เหมือนกัน แต่เวลาหยุดคิดตรงนี้ จะเป็นกลาง ไม่ได้รู้สึกชอบ หรือ ไม่ชอบ แต่จะเห็นเขาตามที่เป็นจริงมากขึ้น ปัญญา จะเกิดที่ตรงนี้ แล้วเวลาจิตสงบ จะเกิดปรากฏการณ์ว่า สิ่งที่คิดไม่ออก ก็จะคิดขึ้นมาได้เอง ที่จริงมันคงจะมีกระบวนการอะไรข้างในสมอง ที่ว่าจะจัดระบบอะไรของมันแล้วสังเคราะห์อะไรขึ้นมา เมื่อคนได้อยู่สงบจึงมักคิดอะไรออก ท่านกฤษณมูรติ ก็พูดเรื่องนี้เรื่องเดียว ถ้าไปอ่านงานของกฤษณมูรติกี่เรื่องๆ ก็พูดเรื่องนี้ คือ เรื่องไม่คิด ของท่านจะเป็นธรรมชาติหรือไง ไม่ทราบ เพราะท่านไม่ได้บอกเลย ว่าทำอย่างไรจะไม่คิด แต่ท่านบอกว่า ความคิดทำให้เกิดอะไรๆ ได้ รวมทั้งความรุนแรงต่างๆ ก็เกิดจากความคิด

การไม่คิดก็คือ การเจริญสติ ซึ่งทำให้เรารู้ และอยู่กับปัจจุบัน รวมทั้งไม่เข้าไปสู่ความคิด แล้วยังเชื่อมโยงไปสู่ปัญญา ทำให้เกิดความสุข ความรู้สึกอีกอันหนึ่ง ที่ปรากฏขณะที่สมองหยุดคิดและรู้อยู่กับปัจจุบัน คือเวลาที่เราไปสัมผัสกับอะไร มันจะเป็นความปิติชื่นชมไปหมด มันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่างๆ เพราะบางครั้งเวลาเราสัมผัสสิ่งต่างๆ บางทีเราไม่รู้เรื่องเลยหรือไม่รู้สึกตัวเลย เพราะเราเข้าไปอยู่ในความคิดหมด ไม่เห็นถึงต้นไม้ ดอกไม้ หรือความงามตามธรรมชาติ เพราะเวลาคิด มันไม่รู้สึก ดังนั้นเวลาเราเจริญสติ การหยุดคิดทำให้เห็นอะไรงามไปหมด เห็นใบไม้ เห็นมด เห็นกิ่งไม้มันเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ผมเคยถามคุณเนววรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เพราะสงสัยว่า คนที่เป็นศิลปิน จิตจะต้องต่างจากคนอืน ผมเองนั้นไม่มีหัวทางศิลปะเลยตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะวาดรูปหรือร้องเพลง ก็ไม่มีหัวเลย แต่เวลาเราเจริญสติ มันจะเจอสภาพจิตใหม่ ที่เห็นอะไรงามไปหมด เวลาเดินจงกรม คือ การเจริญสติ โดยการเดิน แบบรู้ตัว ผมจะรู้สึกว่าเห็นใบไม้ ดอกไม้ มดตัวหนึ่ง มันก็รู้สึกเป็นความปิติ ความชื่นชม ผมก็เลยนึกว่าจิตใจของศิลปิน จะต้องมีอะไรที่ต่างจากคนธรรมดา สามารถเห็นความงามของอะไรๆได้ คุณเนาวรัตน์ บอกว่าต้องมีสมาธิ สูงมากตอนที่วาดรูป เพื่อที่จะทำอะไรแล้วเห็นความงามของมันและสะท้อนออกมา เขาใช้คำว่า สมาธิ ผมใช้คำว่า สติ สมาธิ คือ การเพ่งเล็งที่จุดเดียว เวลาที่เราเจออย่างนี้ก็นึกอยากให้คนอื่นได้เจอบ้าง

ถาม อาจารย์ครับ แล้วที่บางคนทำสมาธิแล้วหงุดหงิด คือ เห็นอะไรแล้ว แทนที่จะสงบ กลับขวางหูขวางตาไปหมด ว่ามันกวนสมาธิของเขานั้น เป็นเพราะอะไรครับ

ตอบ อันนี้เพราะเขาไปเล่นกับสมาธิ ที่ผมเรียกคือ สติ สมาธิ พยายามจะไปโฟกัสจิตอยู่จุดเดียว ทีนี้พอโฟกัสไม่ได้ เพราะมีอะไรมาดึง มันก็หงุดหงิด เพราะไปพยายามจะเพ่ง มันก็เลยเครียด ทีนี้การเจริญสติ มันไม่เหมือนกันเพราะ ไม่เพ่งอยู่จุดเดียว จะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ตามรู้ตลอดเวลา คือ ไม่พยายามยึดเอาไว้ที่จุดเดียว มันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ปล่อยมันไปตามนั้น การเจริญสตินี้จึงไม่เครียด คือ เพียงแต่ตามรู้ เพราะตามปกติ ขณะที่คิดเราไม่รู้ตัว เหมือนที่เราหายใจเข้า หายใจออก เราก็ไม่รู้ตัว เพราะเราคิด บางทีคิดไปจนไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ นั่งอยู่ หรือกินน้ำก็ไม่รู้ตัว เพราะคิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ โดยไปอ่านหรือไปศึกษาเกี่ยวกับสติ ซึ่งพระพุทธเจ้าพูดไว้มาก จะเน้นอานาปานสติก็ดี มหาสติปัฏฐาน ๔ ก็ดี จะเห็นความมหัศจรรย์ของสติ ซึ่งท่านพูดไว้ละเอียดมาก และถ้าปฏิบัติด้วยแล้ว มันจะเป็นจริงตามที่ผมพูด แต่ถ้าไปอ่านอย่างเดียวก็จะไม่รู้ว่ามันดีอย่างไร ต้องปฏิบัติจึงจะเห็น แล้วกลับไปอ่านที่ท่านพูดไว้ จะเข้าใจได้ละเอียดยิ่งขึ้นอีก และจะเห็นความมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก เป็นธรรมดาที่เราไปเจออะไรว่ามีประโยชน์ หรือเจอความสุขความสงบก็อยากให้คนอื่นเจอ

คิดดูสิว่า ที่เกิดมาก็อยู่ไม่นานเท่าไร เพียง ๖oปี ๗oปี หรือ ๑oo ปี ถ้าอยู่แล้วต้องทุกข์ เสียใจ เดือดร้อนเรื่องต่างๆ ไปเรื่อย ชีวิตก็ขาดทุน แต่ถ้าทำงานที่มีประโยชน์ และมีความสุขไปด้วย ก็จะเป็นชีวิตที่ดี ผมรู้สึกอยากให้คนอื่นเจอตรงนี้ เพราะมันเป็นความสุขจริงๆ และอย่างที่พูดว่ามันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ชัดเจน ให้สัมพันธ์กันด้วยสันติมากกว่าเดิม มนุษย์นี่มีสิ่งที่ผมเรียกว่าทุกขสัมพันธ์ คือสัมพันธ์แบบมีความขัดแย้ง การคิดในแง่ดี มันจะเกี่ยวกับตรงนี้เยอะ เพราะอะไรๆ หลายเรื่องขึ้นกับการมอง และการคิดของเรา อย่างอิทัปปัจจยตา ถ้าพูดเป็นทฤษฎีก็ยังไม่ซึมซาบ แต่พอปฏิบัติเข้ามันก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีเหตุปัจจัย แต่เวลาเราเรียนรู้อะไร พอถึงเวลาที่เรื่องนั้นเกิดขึ้นจริง เราเอามาใช้ไม่ทัน แต่ถ้าเราฝึกเจริญสติ จะทำให้เอาปัญญามาใช้ได้ทันมากขึ้นๆ และถ้าฝึกได้สมบูรณ์ ก็ใช้ทันอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเรื่องอะไรมสัมผัสปั๊ป มันก็สัมผัสด้วยปัญญาจริงๆ จึงไม่เกิดความทุกข์ขึ้น อันนี้ก็เป็นความคิดอันสุดท้าย คือ การไม่คิด


คัดลอกมาจาก : //www.kanlayanatam.com




 

Create Date : 03 มีนาคม 2554   
Last Update : 3 มีนาคม 2554 1:07:06 น.   
Counter : 559 Pageviews.  

ธรรมะจากหลวงพ่อ

ปัจจุบันนั้นสำคัญกว่า
โ ด ย : หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งของที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริงแม้จะ ทำความผูกพัน และมั่นใจในสิ่งนั้น กลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปมิได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมาย นั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป

อนาคต ที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นสิ่งไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีต ควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบัน เท่านั้นที่จะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย




ทวนกระแสน้ำ
โ ด ย : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

การปฏิบัติ นั้นคือทวนกระแส ทวนกระแสน้ำใจของเราเอง ทวนกระแสของกิเลส อะไรที่เป็นของทวนกระแสแล้ว มันลำบากพายเรือทวนกระแสก็ลำบากสร้าง คุณงามความดีนั้น ก็ลำบากเสียหน่อยหนึ่ง เพราะว่าคนเรามีกิเลส ไม่อยากจะทำ ไม่อยากจะยุ่งยาก ไม่อยากจะอดทนอยากจะปล่อยไปตามอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่เหมือนน้ำน่ะแหละ มันก็ไหลไปตามเรื่องของมัน ถ้าปล่อยให้ไหลไปตามน้ำก็สบาย แต่ว่านั่นไม่ใช่ลักษณะการปฏิบัติลักษณะการปฏิบัติต้องฝืนกิเลส ฝืนใจ ของตัวเอง ข่มจิตเจ้าของทำความอดทนให้มากขึ้น มันจึงเป็นการปฏิบัติทวนกระแสน้ำ



เหนื่อยก็ไม่พัก หนักก็ไม่วาง
โ ด ย : ( หลวงพ่อชา สุภัทโท ) วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

โลกนี้มันก็สม่ำเสมอดีอยู่หรอก ที่มันไม่สม่ำเสมอนั้น เพราะจิตของเราหลงไปอุปาทานมั่น
หมายมัน เสียแล้วเช่นต้นไม้ในป่านี้แหละ ต้นนี้มันโตไป ต้นนี้มันเล็กไป ต้นนี้มันสูงไปต้นนี้มัน
เตี้ยไป นี่เราก็พูดแต่เรื่องของเรา ต้นไม้มันก็ไม่ว่าของมันยาวหรือสั้น มันก็เป็นของมันอยู่อย่าง
นั้นอารมณ์ เกิดมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นอยู่ของ มัน อยู่อย่างนั้น ถ้าจิตมันรู้เรื่อง
แล้วก็ปล่อยๆมันไป ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ถ้าเห็น
สภาพมันเป็น อย่างนั้น มันก็ ปล่อย รับรู้แล้ว มันก็ปล่อย อารมณ์ทั้งหลายนั้น มันก็เสมอกัน ไม่มี
อะไรดี ไม่มีอะไรชั่ว มันจะดี หรือมันจะชั่ว

ก็เพราะเราไปมีอุปาทาน มั่นหมายมันเท่านั้นตัวอารมณ์มัน เป็นอยู่อย่าง นั้นของมันถูกสมมติ
ขึ้นมาในจิตใจของเรา เราก็ไปสำคัญ มั่นหมายว่า มันเป็นที่จิตอย่างนั้น จากนั้นเราไปแบกมัน
มันก็หนัก ความ หนักนั้นก็ทำ ให้เกิดทุกข์ขึ้นมา ทีนี้จะวางก็วางไม่ได้... ทำไมจึงวางไม่ได้? ก็
เพราะนึกว่า ของหนักนั้นมันดี คิดว่าวางแล้ว มันจะไม่ได้ดี จึงไม่ยอมวาง มัน อย่าง บุรุษคน
หนึ่งแบกต้นไม้มาถามว่าหนักไหม? หนักก็วางมันเสีย ที่นี่ เขาไม่ ยอมวาง เพราะกลัวจะไม่ได้
สิ่งที่ได้จากการวางนั้นมีอยู่ แต่เขาไม่เห็น... มันก็แบกไป ดันไปจนกว่าจะตายนั่นเอง



ปล่อยงูพิษไป
โ ด ย : หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

อารมณ์ทั้งหลาย เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติ
ของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะ เราไม่ได้เข้าไปใกล้
มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่ามันก็อยู่อย่างนั้น ถ้าหากเป็นคน ที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด
สิ่งที่ดี ก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่ว ก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเรา ปล่อยงู
เห่า ตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไป ทั้งที่มี " พิษ " อยู่ในตัวมันนั่นเอง




 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2554 21:56:43 น.   
Counter : 509 Pageviews.  

รักแท้อยู่เหนือการต่อรอง โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ปุจฉา : เพื่อนชายของดิฉันมีหญิงสาวมาติดพัน ถึงขั้นลุ่มหลงอย่างหนัก เขาตอบปฏิเสธไปอย่างนุ่มนวลเพื่อถนอมน้ำใจเธอ เพราะเขามีคนรักอยู่แล้ว แต่ฝ่ายหญิงทำใจไม่ได้ โทษว่าเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอต้องทนทุกข์ทรมาน และถ้าหากเขาไม่ตอบรับรัก เธอก็จะฆ่าตัวตายเป็นการประชด ฝ่ายเพื่อนชายของดิฉันเกรงว่าหากเธอฆ่าตัวตายจริง ๆ เขาก็จะบาป เลยไม่กล้าตัดความสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำผิดต่อคนรักอยู่ การที่เราไม่ทำตามกิเลสหรือความต้องการของผู้อื่น และอาจเป็นสาเหตุให้เขาต้องจบชีวิตลงนั้น เราจะผิดบาปไหมคะ และเราควรจะหาทางออกให้ปัญหานี้อย่างไรจึงจะดีที่สุด



วิสัชชนา : สมมติว่าเราสร้างบ้านขึ้นมาหลังหนึ่ง เป็นบ้านที่สวยงามมาก และเราก็ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้กับสมาชิกในครอบครัวอีกหลายคนอย่างมีความสุข แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินผ่านมาแถวนั้น แล้วเห็นว่าบ้านของเราสวยมาก จึงอยากจะเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย แต่พอเจ้าของบ้านไม่ยอม นักท่องเที่ยวคนนั้นก็ประกาศว่า ถ้าไม่ยอมให้เขาเข้าไปอยู่ในบ้าน เขาจะฆ่าตัวตาย เจ้าของบ้านกลัวเขาจะฆ่าตัวตาย จึงตัดสินใจรับนักท่องเที่ยวคนนั้นมาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้านด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักมักคุ้น ไม่มีความผูกพัน ไม่มีความเต็มใจ ไม่มีความสุข มีเพียงอย่างเดียว ไม่อยากให้เขาต้องตายเพราะ "บ้าน" ของตนเองเป็นเหตุ

กับอีกกรณีหนึ่ง เจ้าของบ้านตัดสินใจเด็ดขาดว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของตน คนอื่นจะมาตู่เพื่อเข้ามาอยู่ง่าย ๆ ได้อย่างไร แม้ว่าเขายื่นข้อเสนอว่าจะฆ่าตัวตาย เจ้าของบ้านก็ยืนกรานว่า นี่เป็นบ้านของตน ตนมีสิทธิเต็มที่ที่จะให้ใครอยู่หรือไม่อยู่ในบ้านหลังนี้ก็ได้ทั้งนั้น ใครจะตายหรือไม่ตายเขาไม่รับรู้ด้วย เพราะเขาสร้างบ้านขึ้นมาเพื่ออยู่เอง ไม่ใช่เพื่อให้ใครมายื่นเงื่อนไขว่าจะตายหรือจะอยู่เพราะบ้านหลังนี้ บ้านของเขาเป็นสมบัตส่วนตัว ไม่ใช่สมบัติสาธารณะที่ใครจะมาอ้างสิทธิ์เพื่อครอบครองกันอย่างง่าย ๆ ดังนั้น เจ้าของบ้านในกรณีที่สองจึงยืนหยัดหัวเด็ดตีนขาดไม่ยอมให้ใครมาตั้งเงื่อนไขกับตน แม้จะอ้างอันตรายถึงชีวิตก็ตาม

ในกรณีตัวอย่างที่กล่าวมานี้ การตัดสินใจของเจ้าของบ้านคนไหนจะมีความชอบธรรมมากกว่ากัน ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ การตัดสินใจในแบบที่สอง เพราะบ้านของเราเราย่อมมีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ใครก็ได้ทั้งนั้นที่เรา "ยินยอม" ให้เขามาอาศัยอยู่ด้วย ส่วนคนที่เราไม่ยินยอม จะให้เขาเข้ามาอยู่ในฐานะอะไร ซึ่งถ้าใครยอมก็คงประหลาด

ถ้าคุณตามใจคนที่มารักคุณ คนที่มารักคุณเขาก็สมหวัง แต่คุณคงผิดหวังและมีปัญหาเพิ่มเติมมาเป็นของแถม

ถ้าคุณไม่ตามใจคนที่มารักคุณ เธอก็ผิดหวัง (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติมาก ที่เมื่อรักเขาแล้วเขาไม่รักตอบก็ควรจะเดินกันไปคนละเส้นทาง) แต่คุณยังคงสมหวังกับความรักที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

ชีวิตเป็นของเรา เราควรมีสิทธิ์ในการออกแบบชีวิตของเราด้วยตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาอ้างสิทธิ์บางอย่างเหนือชีวิตของเรา แล้วก็ปล่อยให้เขาริบเอา "อิสรภาพ" ในการใช้ชีวิตนั้นไปจากเราตลอดชีวิต

ส่วนคนที่ไปรักคนอื่นแล้วคนอื่นเขาไม่รักก็ควรจะทำใจให้กว้างว่า ความรักนั้นเป็นเรื่องที่คนสองคนต้องเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะมาต่อรองกันด้วยเล่ห์เพทุบายเหมือนต่อราคากับแม่ค้าแม่ขายในตลาด ความรักไม่ใช่เรื่องของการวางเงื่อนไขให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตามใจตนฝ่ายเดียว พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความหลง เป็นความเห็นแก่ตัว คิดถึงตนเป็นศูนย์กลาง จึงไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

ความรักที่แท้นั้นต้องลอยอยู่เหนือความเห็นแก่ตัว ต้องไม่กลัวที่คนอื่นเขาจะไม่รักตน แต่ขอแค่ได้เป็นคนที่รักคนอื่นอย่างซื่อสัตย์ต่อหัวใจตัวเองก็น่าจะใช้ได้แล้ว ความรักที่มาพร้อมกับการวางเงื่อนไขข่มขู่นั้นเป็นความรักในลักษณะจับเอาตัวคนรักมาเป็นตัวประกัน เชื่อเถอะว่า ต่อให้ได้คนที่คุณรักมาครอบครอง แต่ในเมื่อเขาไม่รักมาแต่ต้น สิ่งที่คุณได้มาก็คือกาย ไม่ใช่ใจ ความสมหวังนั้นก็เป็นเพียงความว่างเปล่าเท่านั้น

ความรักแท้นั้นวัดกันที่ใจสองดวงที่เต้นอยู่ในทรวงเดียวกัน ถ้าใจเราใจเขาไม่ได้เต้นอยู่ในทรวงเดียวกันเสียแล้ว ขืนพยายามไปก็เป็นความเหนื่อยเปล่า ปล่อยวางเสียยังจะดีกว่าพยายามทำในสิ่งซึ่งฝืนความจริง

เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้กันคนละไม่กี่ปี เลือกทำในสิ่งที่มีความเป็นไปได้และไม่ทำให้ใครเขาเดือดร้อนดีกว่า


ที่มา....นิตยสาร Secret. 10 กุมภาพันธ์ 2553
Web : //www.dhammatoday.com




 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2554 21:41:02 น.   
Counter : 510 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Crescent-Norther-Star
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Crescent-Norther-Star's blog to your web]