คุ้มไหม

ถ้าเรายังมีความอยาก
ต้องการมี ต้องการเป็น ไม่จบไม่สิ้น ไม่รู้ต้องเวียนเกิด เวียนตาย อีกนานสักกี่ร้อยชาติ

ละครอาจจบไม่เป็นอย่างที่ฝัน แต่คิดว่าภาพลวงตานี้คุ้ม กับการมาเกิดอีก เพื่อจะได้เป็นอย่างที่ฝัน/หวังเหรอ ไม่นับว่าจะถ้าไม่ได้อย่างฝันเลย
คุ้มไหม


ตัณหา ... ก่อเกิด..ไม่สิ้นสุด ...




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2555   
Last Update : 8 พฤษภาคม 2555 22:52:11 น.   
Counter : 1016 Pageviews.  

นายของหนังสือ โดยพระไพศาล วิสาโล

คนเรามักอยู่กับตัวเองไม่ได้และมีหลายวิธี ที่จะหนีตัวเอง เช่น เที่ยวห้างโทรศัพท์คลุกคลี กับผู้คนหรืออ่านหนังสือ การอ่าน หนังสือ เป็นการหนีตัวเองแบบหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้อง เผชิญหน้ากับ ตัวเองไม่ว่าหนังสือจะมี ประโยชน์แค่ไหนถึงจุดหนึ่งต้องรู้จักวาง หนังสืออาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ในระดับที่สูงขึ้นหรือลึก ขึ้น

สำหรับคนทั่วไปการสร้างนิสัยรักการอ่านจะมี โอกาสเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงตนเอง และเปิด โลกทัศน์แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่ อ่าน หนังสือจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ครูบาอาจารย์ นักปฏิบัติหลาย ท่านก็ไม่ได้อ่านหนังสือมาก เท่าไร แต่ท่านรู้จัก "อ่านใจ"ตนเอง ก็ ทำให้ เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน

ถึงแม้เรามีหนังสือเป็นกัลยาณมิตร แต่ก็ไม่ ทรงพลังเท่ากับการได้ เจอครูบาอาจารย์ แม้ว่าเราจะมีสื่อการสอนที่ดีแค่ไหน ทั้งจาก อินเทอร์เน็ตคอมพิวเตอร์ google wikipedia youtube แต่ครูก็ยังมี ความสำคัญแม้ว่าครู อาจมีความรู้น้อยกว่าแหล่งข้อมูลที่เราเข้าถึง ได้ง่ายแต่เหล่านี้ไม่สามารถมาแทนครูหรือ กัลยาณมิตรที่หมายรวม ถึงพ่อแม่ด้วย

เราต้องรู้ประโยชน์ของหนังสือและข้อจำกัด ถ้าเราไม่รู้จักข้อจำกัดของหนังสือเราจะตก เป็นทาสของมัน

ที่มา : การบรรยายธรรม- "ชีวิตและการอ่าน งานก็ได้ผล คนก็ เป็นสุข" โดย มูลนิธิเด็กและ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เมื่อวัน ที่ ๒๖มกราคม๒๕๕๕ณ หอจดหมายเหตุ พุทธทาสอิน ทปัญโญ

//www.bia.or.th




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2555   
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2555 20:42:41 น.   
Counter : 668 Pageviews.  

พระไพศาล วิสาโล กับการจาริกสู่ความสุขอันประเสริฐ

ขอขอบคุณ //www.visalo.org/article/secret255412.htm

นิตยสารซีเครท : Vol.4 No.84 26 December 2011

พระไพศาล วิสาโล กับการจาริกสู่ความสุขอันประเสริฐ

คอลัมน์ Secret of Life



เมื่อครั้งยังหนุ่ม

ผู้ชายร่างเล็กคนหนึ่งได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราเรียนไปเพื่ออะไร”และคำถามนั้นก็ได้นำไปสู่การค้นหาอีกหลากหลายคำตอบให้กับชีวิต

ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความสับสนของวัยแสวงหา ชายหนุ่มได้ตัดสินใจสละชื่อไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เอาไว้เบื้องหลัง และก้าวเข้าสู่เส้นทางธรรม กระทั่งได้พบกับคำตอบที่ค้นหามานาน

ในเพศบรรพชิต พระไพศาล วิสาโล ได้กลายเป็นหนึ่งในพระนักพัฒนาที่มุ่งมั่นเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนา รวมทั้งแฝงแนวคิดเรื่องการปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติกับพุทธศาสนิกชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยการจัดอบรมคอร์สภาวนา“สันติวิธี” กับ “การเผชิญความตายอย่างสงบ” ให้แก่อุบาสกอุบาสิกา ไปจนถึงตอบปัญหา “ปุจฉา วิสัชนา” ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ใน Facebook

จวบจนวันนี้ พระไพศาล ยังคงจาริกบรรยายธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ผ่านการเดินทาง ผ่านงานเขียนจำนวนมากมาย และผ่านการสนทนาธรรมอีกหลายวาระ เพื่อโปรดผู้ที่ยังแสวงหาความสงบสุขให้กับชีวิต รวมถึงในครั้งนี้….

จากที่ผ่านมา ประเด็นที่คนเข้าถามพระอาจารย์ทาง Facebook มากที่สุดคือเรื่องอะไรครับ

ประเด็นแรกเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ลูกกับพ่อแม่ หรือพ่อแม่กับลูก ส่วนประเด็นที่สองคือ ความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องบุญบาป เช่น ทำหมันสัตว์บาปไหม กำจัดปลวกในบ้านบาปไหม เลี้ยงสัตว์บาปไหม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัว

พระอาจารย์คิดว่าประเด็นเหล่านี้สะท้อนอะไรบ้างครับ

สะท้อนว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนมีปัญหาด้านความสัมพันธ์มาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนในยุคนี้มีความเป็นปัจเจกสูง ชีวิตของคนในเมืองส่งเสริมความเป็นปัจเจกมาก คือตราบเท่าที่คุณมีเงิน คุณก็สามารถอยู่คนเดียวหรือสนุกสนานคนเดียวได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเหมือนคนในชนบท คุณสามารถแสวงหาความบันเทิงโดยดูโทรทัศน์ หรือเปิดดีวีดีดูคนเดียวได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ความบันเทิงเป็นสิ่งที่ต้องเสพร่วมกัน เช่น การดูลิเก การดำเนินชีวิตของชุมชนก็เป็นอย่างนั้น คือไม่สามารถแยกขาดจากผู้อื่นได้ เช่น จะทำนาก็ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านมาช่วยกันปักดำเกี่ยวข้าว จะสร้างบ้านก็ต้องไหว้วานกันมาช่วยปลูก นี่คือชีวิตของชาวบ้านสมัยก่อน แต่พอมาเป็นสังคมเมือง เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครมาช่วยเลยก็ได้ แค่ไปจ้างเขามาก็เรียบร้อย ถ้าหิวข้าวก็แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อไปหาของมากิน หรือไม่ก็ไปที่ร้านอาหารเลย

แม้กระทั่งการใช้ชีวิตในครอบครัว ก็เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ คือกินข้าวไม่พร้อมหน้า ดูโทรทัศน์คนละเครื่อง นอนคนละห้อง ต่างคนต่างฟังเพลง เวลาติดต่อกันบางทีก็ไม่ได้พูดคุยกันโดยตรง แต่ต้องคุยผ่านโทรศัพท์ ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเดียวกัน เพราะฉะนั้นคนก็จะเกิดความเหงา ความอ้างว้าง ที่สำคัญก็คือ เดี๋ยวนี้คนคิดถึงตัวเองมากขึ้น นึกถึงคนอื่นน้อยลง แม้กระทั่งคนใกล้ชิด จึงมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คนง่ายขึ้น

ปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมเมืองมาตลอดเลยนะครับ

มันเป็นปัญหา ถ้าความเป็นปัจเจกนั้นนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว การตัดตัวเองออกจากสังคม ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่รู้สึกว่ามีความรับผิดชอบที่ต้องดูแล หรือช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ความเห็นแก่ตัวเช่นนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ได้ง่าย ตรงกันข้าม ถ้าความเป็นปัจเจกช่วยให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง เป็นมิตรกับตัวเอง หรือกระตุ้นให้หมั่นฝึกฝนพัฒนาจิตใจ เพื่อลดละขัดเกลากิเลส นั่นเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเมื่อความเห็นแก่ตัวลดลง จนกระทั่งไม่มีความยึดติดในตัวตนหลงเหลือ เมตตากรุณาก็จะเกิด ทำให้ออกไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอรหันต์รุ่นแรก ที่มี 60 รูปว่า “จงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง” ดังนั้นการปลีกวิเวกจึงถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตน ฝึกฝนตน เพื่อที่จะออกไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น

หากหัวใจของศาสนาคือการรักคนอื่นอย่างที่พระอาจารย์เคยเขียนเอาไว้ การบวชเรียนทำให้พระอาจารย์ได้เรียนรู้เรื่องความรักอย่างไรบ้างครับ

การรักคนอื่นในทางพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักๆ คือ การคลายความยึดติดถือมั่นในตัวตน ส่งผลให้ความเห็นแก่ตัวลดลง จิตใจจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ใจที่มีเมตตากรุณานั้นทำให้สามารถรักคนอื่นได้โดยบริสุทธิ์ใจ ปราศจากความอยากครอบครองหรือเอามาสนองตัวตน เรียกว่าเป็นจิตที่ไร้เขตแดน อาตมาคิดว่าความรักแบบนี้ต่างจากความรักของฆราวาสหรือของปุถุชนทั่วไป เพราะรักของฆราวาสนั้นเป็นความรักที่ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นของเรา เช่น ถ้าแต่งงานกับใคร คนนั้นก็ต้องเป็นของฉันทั้งๆ ที่เขาไม่มีทางเป็นของเราได้ ความรักแบบที่มี “ตัวกูของกูเป็นศูนย์กลาง” เป็นความรู้สึกที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สิเนหะ” หรือ เสน่หา ไม่ใช่ความเมตตาหรือกรุณา การได้มาศึกษาและบวชในพุทธศาสนา ทำให้อาตมาเรียนรู้เรื่องนี้ ได้เห็นความแตกต่างระหว่างความรักทั้ง 2 อย่างนี้

แต่การที่ปุถุชนจะมีความรู้สึกผูกพัน หรือมีความยึดมั่นในตัวกูของกู ถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสิเนหะที่มีเฉพาะกับเพศตรงข้าม หรือสิเนหะของแม่ที่มีต่อลูก ล้วนเป็นความรักที่มาพร้อมกับความคาดหวังที่ยึดโยงกับตัวตนทั้งสิ้น เช่นคาดหวังว่าลูกจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่ หรือว่าลูกจะต้องเรียนเก่ง เรียนในคณะที่แม่ชอบ ปุถุชนมักมีความรู้สึกแบบนี้ เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้ความรักของเรา เป็นความรักที่ขยายวงกว้าง หมายถึงไม่ว่าเราจะรักเพื่อน หรือว่ารักพ่อแม่ก็ตาม ก็ขอให้เป็นความรักที่ไม่ใช่เพื่อปรนเปรอตัวเอง แต่เป็นรักด้วยความเมตตากรุณา มีความปรารถนาดีต่อเขา โดยไม่ได้มุ่งประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

ถึงวันนี้ พระอาจารย์ยังหวั่นใจว่าจะมีมาตุคามมากล้ำกลายการบวชของพระอาจารย์บ้างไหมครับ

ทุกวันนี้ก็ยังมีความหวั่นใจอยู่นะ เพียงแต่ว่ามีน้อยลง สมัยที่บวชใหม่ๆ หรือแม้แต่ตอนที่บวชได้หลายปีแล้วก็ตาม บางทียังรู้สึกว่า การที่เราจะอยู่ในเพศบรรพชิตไปจนตายนี่เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะคิดถึงเลยด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าชีวิตคงแห้งแล้งมาก บางทีรู้สึกเหมือนติดคุกด้วยซ้ำ แต่หลังจากบวชมาเป็นสิบปี อาตมาก็พบว่า เราสามารถอยู่ในเพศนี้ได้ไปเรื่อย ๆ จนตลอดชีวิต เพราะความสุขที่ตัวเองเคยแสวงหาในวัยหนุ่ม และรู้สึกหวั่นไหวกับมัน ตอนนี้รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์น้อยลง ฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เสพความสุขที่เป็นกามสุขอย่างหยาบๆ แต่อาตมาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรเลย เพราะเราได้พบกับความสุขที่ประณีตและประเสริฐกว่าแล้ว ดังนั้น หากเราจะอยู่ในเพศนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนติดคุกอะไรเลย และสามารถจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

(ขณะสัมภาษณ์มียุงและริ้นบินมาตอมตลอดเวลา จนพระอาจารย์ต้องนำผ้ามาคลุมตัวไว้ พร้อมๆกับต้องคอยปัดแมลงไปด้วยขณะให้สัมภาษณ์)

การฝึกใจให้มีเมตตากับสัตว์ โดยเฉพาะที่สร้างความรำคาญให้กับเรามากๆนี่เป็นเรื่องยากไหมครับ

บางครั้งก็ยาก เพราะเป็นการทวนกระแสกิเลส แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ง่าย เพราะเราทุกคนต่างก็มีความเมตตากรุณาในจิตใจอยู่แล้ว อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความเมตตากรุณาต่อกัน มองในแง่นี้ การมีเมตตาไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะให้เมตตากรุณาในใจเราเบ่งบานหรือเปล่า และที่จริงยิ่งเรามีเมตตากรุณามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นถ้าเราปรารถนาความสุข ก็เพียงแค่มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าเราใจแคบ เห็นแก่ตัว เราก็จะกลายเป็นคนที่ทุกข์ง่าย และสุขยาก

เหมือนคำกล่าวที่ว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งสุขใช่ไหมครับ

ใช่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เราจึงพบว่าคนที่มีจิตอาสาจะมีความสุขมากกว่าคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง เพราะถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง เวลาทำอะไรก็จะถามว่า ทำแล้วฉันจะได้อะไร คนเหล่านี้จะมีความสุขยาก แม้ว่าเขาจะมีเงินมีทอง มีทรัพย์สมบัติปรนเปรอก็ตาม แต่ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากการเสพการบริโภค ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการทำความดี ซึ่งยั่งยืนกว่า

จะเห็นได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อย มีเงินเป็นร้อยล้าน แต่ไม่มีความสุข เพราะเขาคิดถึงแต่ตัวเอง จึงไม่ได้รู้จักความสุขที่ประณีต ที่ประเสริฐ ซึ่งก็คือความสุขจากการให้ จากการทำความดี จากการที่จิตใจสงบและรู้จักพอ อาตมาคิดว่า ถ้าคนเราพบความสุขแบบนี้ แรงจูงใจที่จะโกง คอร์รัปชัน หรือตักตวงเอาเปรียบ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวจะน้อยลงไป ปัญหาคือว่า เรารู้จักความสุขที่ประเสริฐกันหรือเปล่า

ความสุขนั้นมีหลายระดับ หลายประเภท ความสุขที่เกิดจากวัตถุถือเป็นความสุขขั้นต้น เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน และต้องแลกมาซึ่งความทุกข์ คือทุกข์ตั้งแต่รู้สึกอยากจะได้ ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อจะได้มา พอได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ ตรงกันข้าม ความสุขใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทันที แถมยังไม่มีใครขโมยไปได้ ก็เลยไม่ต้องห่วงหรือวิตกกังวลว่าจะมีใครมาแย่งไป จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้ว ความสุขอยู่ไม่ไกลเลย ตราบเท่าที่ใจเรามีสติรู้จักพอและรู้จักปล่อยวาง

หลังจากอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบมานาน ถึงวันนี้พระอาจารย์มองความตายอย่างไรครับ

สำหรับเรื่องความตายนั้น ถ้าหากมองไม่ถูก ก็จะเกิดความกลัว และทำให้หดหู่ แต่ถ้ามองเป็น ความตายจะคอยเตือนเราไม่ให้ประมาท ถึงอย่างไรเราก็ต้องตาย ฉะนั้นในขณะที่ยังมีสุขภาพดี ยังมีกำลังวังชา เราก็ต้องเร่งรีบทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล ทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดี ขณะเดียวกันก็ฝึกใจให้ปล่อยวาง เพื่อว่าเมื่อเราต้องพลัดพรากจากโลกนี้ไป เราจะไม่เสียใจ เพราะได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าแล้ว ขณะเดียวก็ไม่รู้สึกทุรนทุรายที่จะต้องพรากจากทุกสิ่ง แต่ถ้าวางใจไม่เป็น เราก็จะคิดแต่ว่า พรุ่งนี้ฉันอาจจะต้องตายแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ฉันขอเสพสุขเต็มที่ ความคิดแบบนี้เป็นการบั่นทอนตัวเอง คนที่คิดแบบนี้ พอถึงเวลาตาย ไม่เห็นตายสงบเลยสักคน เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับความตาย เนื่องจากมัวแต่เสพสุข ในขณะที่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ ส่วนความสุขหรือทรัพย์สมบัติที่มีก็เอาไปไม่ได้

มีภาษิตของพระโพธิสัตว์ว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยทำความชั่วในที่ไหน ๆ เลย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง” คนเราถ้าไม่มัวแต่เสพสุข หากพยายามทำความดี เวลาที่ความตายมาถึง เราก็จะไม่กลัว ถ้าเราระลึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิตอยู่เสมอ เราก็จะเห็นคุณค่าของทุกอย่างที่มีอยู่ตอนนี้ เมื่อเรารู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่ได้ลืมตาดูโลก วันแต่ละวันจะกลายเป็นวันที่มีค่ามีความหมาย เราจะไม่ท้อ ไม่เซ็ง จะไม่รู้สึกว่าอยู่ไปวันๆ แต่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีค่า และมีประโยชน์สูงสุด

จริงไหมครับที่มรณานุสติจะช่วยลดความกำหนัดได้

ความกำหนัดในที่นี้ ไม่ใช่ความกำหนัดในทางเพศอย่างเดียว แต่หมายถึงความติดใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ให้ความพึงพอใจไม่ว่ารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส เรียกอีกอย่างว่า ราคะ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราระลึกว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย ก็จะตระหนักว่า ความสุขที่มีในวันนี้ หรือสิ่งที่เราดิ้นรนแสวงหามาล้วนแต่เป็นของชั่วคราว และก็จะอยู่กับเราเพียงชั่วคราว เมื่อนั้นเราก็จะเห็นว่าทรัพย์สมบัติทั้งหลาย รวมทั้งความสุขหรือกามสุขที่เราแสวงหามา ล้วนแต่ไม่เที่ยง จึงไม่ควรที่เราจะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งนี้ เพราะตายแล้วก็เอาไปไม่ได้

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่แสวงหาความสุขเป็นบ้าเป็นหลัง ก็เพราะลืมไปว่าเขาจะต้องตาย การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ทำให้เราปล่อยวางได้ง่าย ขณะเดียวกันก็จะได้คิดว่าแทนที่เราจะมัวเสพสุข ปรนเปรอตนเองด้วยวัตถุสิ่งเสพ ทำไมเราไม่ทำความดีสร้างกุศล เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากให้ความสุขใจแก่เราแล้ว ยังช่วยให้เราพบกับความตายอย่างสงบได้ และถ้าหากโลกหน้ามีจริง บุญกุศลที่ทำไว้ก็สามารถจะอำนวยประโยชน์ให้กับเราในภพหน้าได้

แล้วตัวพระอาจารย์เองวางแผนรับมือกับความตายไว้อย่างไรบ้างครับ

อาตมาเจริญมรณสติอยู่เป็นประจำ คือระลึกอยู่เสมอว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น จึงพยายามใช้เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเพื่อเตือนใจเรื่องนี้ เช่น เวลาเดินทาง อาตมาเป็นคนเดินทางบ่อยมาก ก็จะเตือนตนเองว่านี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเราก็ได้ จากนั้นก็จะถามตัวเองต่อไปว่า หากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะวางใจอย่างไร ถือเป็นการซักซ้อมในใจ จะได้รับมือได้ทันเวลาเกิดเหตุปุบปับขึ้นมา เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวโทรทัศน์ ก็เตือนใจตัวเองว่า อุบัติเหตุหรือภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นกับตัวเองก็ได้ไม่วันใดวันหนึ่ง จึงต้องฝึกใจ เตรียมใจให้พร้อมตลอดเวลา

อีกอย่างหนึ่งที่อาตมาพยายามฝึกเป็นประจำก็คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกขเวทนาโดยไม่เป็นทุกข์ เพราะก่อนตายเรามักจะต้องเจอทุกขเวทนาอันแรงกล้า ถ้าไม่เตรียมใจไว้ก็จะทุรนทุราย และอาจทำให้ตายไม่สงบ วิธีหนึ่งที่ช่วยให้อยู่กับทุกขเวทนาได้คือการเจริญสติ มีสติรู้เวทนา โดยไม่ปล่อยให้เวทนาครอบงำใจ นอกจากการเจริญสติในชีวิตประจำวันแล้ว อาตมายังฝึกสติในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกสบาย เช่น เดินธรรมยาตรา ซึ่งต้องเดินกลางแดด การเดินเท้าเปล่าโดยไม่มีอะไรคลุมศีรษะ เป็นการฝึกสติที่ดีมาก คือ ทำอย่างไรแม้กายร้อนกายปวด แต่ใจไม่ร้อนใจไม่ปวด

อาตมาสนใจที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนเรื่อง "ตายก่อนตาย" จึงพยายามฝึกปล่อยวางตัวตนอยู่เสมอ โดยอาศัยเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นโอกาสฝึกฝนเรื่องนี้ เช่น เวลามีอะไรมากระทบกายก็ดี กระทบใจก็ดี ของหาย ถูกต่อว่า งานล้มเหลว ก็ถือว่าเป็นการฝึกปล่อยวางตัวตน โดยมีสติรู้ทัน เพื่อปิดช่องไม่ให้ปรุงแต่งตัวตนขึ้นมา ซึ่งช่วยให้จิตใจโปร่งโล่งมาก เพราะถ้าเผลอ ไม่มีสติเมื่อใด จิตก็จะปรุงแต่งตัวตนขึ้นมารับแรงกระทบ เกิดเป็นผู้ทุกข์ ผู้สูญเสีย ผู้เจ็บปวดขึ้นมา ที่ผ่านมาก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับเรื่องการงานและทรัพย์สมบัตินั้น อาตมาก็ฝึกปล่อยวางเช่นกัน ถือเป็นการเตรียมรับมือกับความตายอีกส่วนหนึ่ง เพราะถ้าจะตาย ก็อยากจะตายโดยไม่มีห่วงกังวลใด ๆ ถ้าเป็นฆราวาส ก็ต้องมีรายละเอียดมากหน่อย เช่น ต้องทำพินัยกรรม แต่พระไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะถ้าตายเมื่อไหร่ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ตกเป็นของสงฆ์โดยอัตโนมัติ จึงไม่ต้องเสียเวลาในการทำพินัยกรรม แค่ปล่อยวางได้ก็พอแล้ว

ขอเรียนถามถึงเรื่องครอบครัวบ้างนะครับ ตอนนี้พระอาจารย์มีการติดต่อกับครอบครัวญาติพี่น้องมากน้อยแค่ไหนครับ

ตอนนี้โยมพ่อโยมแม่เสียชีวิตหมดแล้ว คงเหลือแต่พี่สาวกับพี่ชาย อาตมายังติดต่อกับพี่สาวพี่ชายและญาติพี่น้องอยู่บ้าง ทุกปีเราจะมาพบกันเพื่อทำบุญให้โยมพ่อโยมแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไป นอกจากนั้นญาติพี่น้องก็ยังมาทอดผ้าป่าที่วัดอาตมาปีละครั้ง พี่สาวคนโตก็มาปฏิบัติธรรมที่วัดปีละครั้งสองครั้ง เวลาไปกรุงเทพ ฯ อาตมาก็ได้เจอญาติพี่น้องอยู่เป็นครั้งคราว จึงพูดได้ว่ายังมีการติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ

โยมพ่อโยมแม่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของพระอาจารย์ในแง่มุมใดบ้างครับ

ตอนเด็ก ๆ อาตมาใกล้ชิดกับโยมแม่ จึงได้รับอิทธิพลจากโยมแม่มาหลายอย่าง ที่สำคัญก็ได้แก่ การเห็นคุณค่าของความประหยัด การเก็บหอมรอมริบ รู้จักพึ่งตนเอง และรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือลำบากวันนี้เพื่อสบายวันหน้า โยมแม่ไม่ได้สอนด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ทำให้ดู และยังฝึกให้ลูกๆ ทำด้วย โยมแม่จึงไม่ได้มีอิทธิพลแค่แนวคิด แต่ส่งผลถึงวิถีชีวิตหรือนิสัยของลูกๆ ด้วย โยมแม่เป็นคนที่ซื้อของเท่าที่จำเป็น อะไรที่ทำได้ ก็ทำเอง เช่น ทำกับข้าว ตัดเสื้อ แม้อาตมาจะไม่ได้ทักษะเหล่านี้มา แต่ก็กลายเป็นคนที่อยู่ง่าย ตั้งแต่เล็กไม่มีนิสัยจับจ่ายใช้เงินหรือช็อปปิ้ง (ยกเว้นหนังสือ) อาตมามารู้ตอนโตว่า โยมแม่ได้บ่มเพาะให้อาตมามีภูมิต้านทานต่อลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งแพร่ระบาดมากทุกวันนี้ โยมแม่เป็นแม่บ้านธรรมดา ไม่มีรายได้ประจำ แต่สามารถเก็บเงินจนมีเงินก้อนซื้อบ้านให้เราอยู่เป็นหลักแหล่งได้ เป็นตัวอย่างที่สอนให้ลูก ๆ เห็นชัดว่า เราควรยอมลำบากเสียแต่วันนี้จะได้สบายในวันหน้า แล้วในที่สุดลูกๆ ก็สบายจริงๆ ด้วย

สำหรับโยมพ่อนั้น เป็นคนใฝ่รู้และเข้มงวดกับลูกๆ ในเรื่องการเรียน โดยเฉพาะเวลาใกล้สอบ ลูกๆ ต้องตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือจริงจัง จะไปเที่ยวเล่นไม่ได้ อาตมาก็เลยได้วินัยในเรื่องนี้มา ทำให้การเรียนหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก โยมพ่อเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง แม้อายุ 40 กว่าแล้ว ก็ยังไปสมัครเรียนวิชาเขียนจดหมายโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ โดยพาอาตมาไปเรียนด้วย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอาตมาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว และความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็พอตัว แต่โยมพ่อก็ยังอยากให้ตัวเองและลูกมีวิชาความรู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่อาตมาได้รับอิทธิพลจากโยมพ่อโยมแม่มากโดยที่ท่านไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือความรู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตครอบครัว เพราะเห็นว่าชีวิตครอบครัวนั้นเต็มไปด้วยทุกข์ และมักจะนำไปสู่การทำร้ายกันได้ง่ายๆ การที่คนเราจะมีความสุขในชีวิตครอบครัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อถามตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขได้หรือไม่ ความไม่แน่ใจในชีวิตครอบครัวมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้อาตมาบวชพระได้นานจนทุกวันนี้

หลังจากบวชเรียนมาหลายปี พระอาจารย์รู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระจากความทุกข์แล้วหรือยังครับ

อาตมายังไม่ถึงกับหลุดพ้น ยังคงเป็นปุถุชน เพียงแต่ว่ามีสติรู้เท่าทันกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ รู้ว่าจะจัดการกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายและใจได้อย่างไร แล้วยังเห็นชัดว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรามันไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป เพราะฉะนั้นถึงแม้ตอนนี้อาตมายังไม่สามารถหลุดจากความทุกข์ได้ แต่ก็มีความพร้อมมากขึ้นในการอยู่กับมันโดยที่ใจไม่ทุกข์ ศิลปะในการอยู่กับความทุกข์ อาตมารู้สึกว่าตัวเองมีความชำนาญมากขึ้น แม้ว่าจะพลั้งเผลอบ้างเป็นบางครั้ง ดังนั้นถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ถึงขั้นพ้นทุกข์ แต่ก็รู้ว่าจะอยู่กับทุกข์ โดยไม่ให้ทุกข์ได้ยังไง

เราควรจะต้องทำอย่างไรครับ

ต้องมีสติ แล้วก็ยอมรับมัน คืออย่าไปผลักไส ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์หรืออกุศลจิต เมื่อใดก็ตามที่เราผลักไส ไม่ยอมรับมัน เราก็จะยิ่งทุกข์ แต่ถ้าปล่อยให้คงอยู่ แล้วดูมันไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นว่าความทุกข์เป็นศัตรูที่จะต้องผลักไส ไม่ได้จงเกลียดจงชังมัน จะอยู่ก็อยู่ไป ความทุกข์ก็จะอยู่เป็นที่เป็นทาง โดยที่ไม่สามารถจะครอบครองหรือมีอิทธิพลต่อจิตใจเรา ดังนั้นถึงแม้เราจะทุกข์กาย แต่ไม่ทุกข์ใจ

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระอรหันต์จำนวนไม่น้อยที่บรรลุธรรม เพราะว่าท่านมีความทุกข์มาก แล้วเมื่อสืบสาวลงไป จะพบว่าความทุกข์นั้น เกิดจากความยึดติดถือมั่น เกิดจากความหลง เกิดจากอวิชชาที่ไปยึดว่า สิ่งทั้งหลายนั้นเที่ยง มีตัวมีตน เมื่อเราได้พบความทุกข์ แล้วเรารู้จักทุกข์อย่างแท้จริง เราก็จะเกิดปัญญาว่า ที่ทุกข์ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่น จิตใจก็จะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

จากที่เคยถามตัวเองว่า “เราเรียนไปทำไม” ตอนนี้พระอาจารย์ได้คำตอบแล้วหรือยังครับ

ตอนที่ถามนั้นอาตมาอายุ 14 แล้วก็ได้คำตอบว่า เราเรียนก็เพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อคะแนน จนกระทั่งอีก 2-3 ปีต่อมาถึงรู้ว่า เราเรียนก็เพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติด้วย แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ อาตมาคิดว่าคำตอบนี้คงไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ว่ารวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย คือต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพื่อขัดเกลากิเลสให้น้อยลง และเพื่อเกื้อกูลผู้อื่นให้มากขึ้น ซึ่งพุทธศาสนาแยกไม่ออกเลยนะ ระหว่างประโยชน์ตนกับประโยชน์ท่าน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตนด้วย” พระพุทธเจ้าทรงเน้นว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิต ต้องบรรลุทั้งประโยชน์ตนและบำเพ็ญประโยชน์ท่าน นั่นคือขัดเกลากิเลส ให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีจิตอิสระ ขณะเดียวกันก็มีเมตตากรุณามากขึ้น เพื่อออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทั้งสองอย่างเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินไปคู่กัน

ภารกิจหรือเป้าหมายต่อไปที่พระอาจารย์ตั้งใจว่าจะทำคืออะไรครับ

จนถึงตอนนี้อาตมาได้ทำเรื่องอบรมมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ เรื่องกรรมฐาน หรือเรื่องการเจริญสติ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามทำให้คนมีภูมิต้านทานในการเผชิญกับความทุกข์ และสามารถนำประโยชน์ที่ได้ไปเผื่อแผ่ให้กับผู้อื่น เพื่อให้สังคมมีความทุกข์น้อยลง

ที่อาตมาพยายามทำทุกวันนี้ พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ พยายามทำให้มิติด้านจิตวิญญาณ รวมทั้งคุณธรรม และความสุขอันประณีตเผยแพร่ออกไปสู่สังคม สู่จิตสำนึกของผู้คน แทนที่จะถูกครอบงำด้วยบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม เพราะสองสิ่งนี้มีแต่จะทำให้ผู้คนมีความทุกข์ แล้วก็นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขันทำลายกัน เอาเปรียบเบียดเบียนกัน อาตมาเชื่อว่าถ้าเราสามารถเสริมสร้างมิติทั้งสามด้านนี้ให้แพร่กระจายไปสู่สังคมได้ ผู้คนจะมีความสุขและมีเมตตากรุณาต่อกันมากขึ้น


หลากหลายมุมของพระไพศาล วิสาโล

1. ด.ช. ไพศาล เป็นบุตรชายคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คนของครอบครัววงศ์วรวิสิทธิ์

2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาและสร้างแนวคิดในการอุทิศตัวให้กับมวลชนแก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์คนนี้อย่างมากมาย

3. ปัจจุบันพระไพศาล วิสาโลเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ แต่ส่วนใหญ่ท่านจะพำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยจะจำพรรษาสลับกัน

4. นอกเหนือจากใช้นามจริงว่า พระไพศาล วิสาโล แล้ว พระอาจารย์ยังใช้นามปากกาว่า “ภาวัน” ในงานเขียนบางชิ้นด้วย

5. ผู้ที่สนใจสามารถติดตามพระอาจารย์ไพศาลทาง Facebook ได้ที่ //www.facebook.com/psvisalo





 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2555   
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2555 12:51:08 น.   
Counter : 907 Pageviews.  

ธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล "นักปฏิบัติธรรมไม่ปฏิเสธการงาน"

มีนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการงาน
เพราะเกรงว่าจิตใจจะว้าวุ่นไม่สงบ
แต่หากจิตใจเราจะสงบได้ดีก็ต่อเมื่อไม่มีงานทำ
ไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
เราจะแตกต่างจากคนอื่นที่ไม่ปฏิบัติธรรมตรงไหน
เพราะคนธรรมดาๆ ก็สงบได้เวลาไม่มีงานทำหรืออยู่ในที่ที่สงบ
ไม่มีผู้คนคลาคล่ำ
การปฏิบัติธรรมจะมีความหมายอะไร
หากไม่สามารถทำให้ใจเราสงบได้
แม้จะแวดล้อมด้วยผู้คนหรืออยู่ในสถานที่ที่วุ่นวาย
และถ้าการปฏิบัติธรรมทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงานหรือ
ไม่สามารถอยู่กับคนได้ นั่นมิหมายความดอกหรือว่า
การปฏิบัติธรรมทำให้เรามีจิตใจอ่อนแอมากขึ้น
อ่แนไหว และถูกกระทบได้ง่าย
ในขณะที่คนหาเช้ากินค่ำกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย

ถ้ายิ่งปฏิบัติธรรมก็ยิ่งอยากหนีงาน อยากทิ้งความรับผิดชอบ
ก็ควรตั้งข้อสงสัยไว้ได้เลยว่า นั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

เพราะผู้ที่ปฏิบัติธรรมฝึกฝนจิตจนเจริญงอกงามตามคำสอนของพระพุทธองค์
ไม่เพียงเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอยากช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น
หากยังมีสติและปัญญาที่พัฒนาแล้วจนสามารถมีความสุขในทุกงานและทุกสถาน




 

Create Date : 29 มกราคม 2555   
Last Update : 29 มกราคม 2555 0:08:16 น.   
Counter : 710 Pageviews.  

กุญแจดอกเอก (ธรรมะของหลวงพ่อเทียน)


“ การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น ”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผลหรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆ พอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้นๆ เป็นเหตุปัจจัย

การตรัสรู้เหมือนดอกไม้อาศัยแสงตะวัน เมื่อตะวันส่องแสงมายังพื้นโลก เมื่อความร้อนกับความเย็นกระทบกัน จึงเกิดความอบอุ่น ดอกไม้ก็เลยบานได้ตามต้องการ

พุทธะหรือโพธิจิตนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนไปถึงได้

การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัว และเบ่งบาน

การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก

เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้ดีกว่าการสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลย

ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ

ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ที่นั้นแล้ว

เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจ

ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

ให้ลืมตาทำ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกะพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้าย แลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ

ถ้ารู้สึกในการเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วย ล้างชาม ถ้ารู้สึกที่มันเคลื่อนไหวในขณะนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้

พุทธศาสนาคือ มารู้สึกต่อการเคลื่อนการไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ คือมันรู้สึกในการเคลื่อนไหวของกายและใจ เป็นญาณเข้ามารู้ รู้สึกที่เนื้อที่ตัวตื่นตัว มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมันได้เอง รู้สึกใจตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลง เป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา มันก็เห็นว่า มีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น

คำว่าติดต่อกันเหมือนลูกโซ่นั้น ไม่ใช่แต่ว่านั่งอยู่ในห้องกรรมฐานเพียงอย่างเดียว จะไปไหนมาไหน อาบน้ำ ซักเสื้อ ซักผ้า ก็ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของรูปกาย และมีสติดูจิตดูใจอยู่เสมอ นั่นแหละท่านเรียกว่า ปฏิบัติให้ติดต่อเหมือนลูกโซ่

ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว

ความคิดยิ่งเร็ว สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว ความคิดยิ่งลึก สติปัญญาก็ยิ่งลึก ถ้าทุกวันสองอย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากันและกระทบกัน แตกโพละออกมาเลย เรียกว่า โพลงตัวออกมา ซึ่งสภาวะอันนี้มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน

วิธีแห่งการปฏิบัติ คือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่ แต่จิตของเราจะต้องดูความคิด

การเห็น การรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้

เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะเกิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

การรู้ความคิด จึงเป็นความรู้ของ อวิชชา สำหรับผู้มีปัญญา การรู้และการเห็น สามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา ปัญญาและอวิชชาจะแยกความคิดออกจากกันได้ และนั่นคือที่สุดของทุกข์

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ

การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไวนัก ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ

ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด

ให้รู้จักสมุฏฐานของความคิด เมื่อเรารู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว เราจะได้ปฏิบัติจุดนี้เข้าไป เมื่อเราปฏิบัติจุดนี้แล้ว มันจะไปตามทางของมันเอง เมื่อไปตามทางนั้นแปลว่าเห็นถูกต้อง ก็ต้องถึงจุดหมายปลายทาง

ที่เราต้องการความสงบหรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิตเมื่อมันคิดมา อย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง

วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง

ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตใจที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีการปฏิบัติคือ การรู้สึกตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมัน แต่ให้สังเกตมัน

หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย

พระพุทธเจ้าก็คือ คนทุกคน เพราะพืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น

ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น นี้คือ จุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว

แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุกๆ สิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น

การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง คือการเห็นธรรมะ ฉะนั้นการเห็นธรรมก็คือเห็นในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ๆ ไม่แปรผัน


ขอบคุณ Web //www.kanlayanatam.com/index_.htm




 

Create Date : 24 มกราคม 2555   
Last Update : 24 มกราคม 2555 14:59:46 น.   
Counter : 531 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Crescent-Norther-Star
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Crescent-Norther-Star's blog to your web]