Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

Nuke in a Nutshell - รังสีไม่ดีตรงไหน ( FW mail )




Nuke in a Nutshell - รังสีไม่ดีตรงไหน

by Ble Pak-art

16 มีนาคม 2553



"Informed public is the key to acceptance of nuclear energy"



หลังจากนั่งอ่านเรื่องราวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นจากหลายๆที่ก็ไปเจอประโยคข้างบนนี้เข้า รู้สึกว่าเข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ได้ดี(แต่ของบ้านเราจะเป็น mis-informed public เสียมากกว่า)

ไหนๆก็นั่งอ่านอะไรๆอยู่หลายวัน ลองรวมๆมาเขียนเก็บไว้อ่านเผื่อมีใครมาถาม อีก จะได้ไม่เสียชื่อหมอรังสี

ขอบคุณจูนที่มากระตุ้น เลยเอามาแปลไทยแบบไม่มาตรฐาน กระชับข้อความ
ตัดฟิสิกส์รุงรังออกไปบ้าง เติมน้ำเล็กน้อย เผื่อเพื่อนๆที่ไม่ใช่หมอจะมาอ่าน คงจะเอาไปอ้างอิงอะไรจริงจังไม่ได้ หรือถ้าสงสัยอยากอ่านเพิ่มเติมแบบจริงจังเชิญที่ reference
ข้างท้ายได้จ้า

คำแนะนำ- เปิดเพลงใน link นี้ประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน ^^

//www.facebook.com/l/530f9/www.youtube.com/watch?v=M-TygNlwPPE



1. เรากำลังหวาดกลัวกับอะไรกันอยู่ "รังสี" มันคืออะไร

รังสี หรือเรียกให้น่ากลัวว่า "กัมมันตภาพรังสี" (radioactivity) ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวเรา อยู่ในพื้นดิน ในอากาศที่เราหายใจ ในอวกาศ เช่นรังสีคอสมิก และก็มีอยู่ในตัวเราด้วย แต่เป็นปริมาณที่น้อยมาก

มีการวัดค่ารังสีที่พบในสิ่งแวดล้อมตามปกติไว้ เรียกว่า Environmental dose คือพบทั่วๆไป (natural background) 1 mSv, ดูทีวี 0.1 mSv, นั่งเครื่องบินจาก NY-LA 0.04 mSv เป็นต้น

โดยมีค่ามาตรฐานว่าในประชาชนทั่วไปจะได้รับรังสีอยู่ที 1 mSv ต่อปี

ถ้าบังเอิญต้องเข้า รพ. แล้วต้องไปถูกเอกซเรย์ปอด ก็จะแถมไปอีก 0.14 mSv ต่อครั้ง เอกซเรย์สวนแป้ง 6.4 mSv ต่อครั้ง CT scan 8.8 mSv ต่อครั้ง ส่วนคนที่ทำงานเกี่ยวกับรังสีให้ได้ถึง 50 mSv ต่อปี



2. แล้วเจ้าไอโอดีน 131 (I-131) ซีเซียม 137 (Cs-137) ที่เค้าว่ารั่วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันเกี่ยวอะไร

สองตัวนี้เค้าเรียกว่าเป็น"สารกัมมันตรังสี" (radionuclide)ซึ่งเป็นผลผลิตจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ซึ่งกระเด็นหลุดออกมาจากเตาสู่ภายนอก ตอนที่มีการระเบิดของอาคารโรงไฟฟ้า (ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์นะเพราะระเบิดที่เราฟังข่าวกันอยู่นี้ไม่ใช่ atomic bombแบบฮิโรชิมา นางาซากิ)

เจ้าสารกัมมันตรังสีนี่มันมีคุณสมบัติคือ จะมีการสลาย(decay) แบบปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่าออกมาเรื่อยๆจนกว่ามันจะหมดอายุขัยลง ซึ่งจะบอกเวลาหมดพลังของมันด้วยค่า"ครึ่งชีวิต" (half-life)แล้วคูณ10 โดย I-131 อยู่ที่ประมาณ 80 วัน, Cs -137 อยู่ที 300ปีนู่น

ปัญหามันก็อยู่ที่รังสีเบต้า และแกมม่าที่เจ้าสารกัมมันตรังสีมันปล่อยออกมานี่แหละ พวกนี้(รวมทั้งรังสีเอกซ์ที่เราใช้เอกซเรย์กันด้วย)มีชื่อเรียกรวมๆว่า Ionizing radiation (ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยใช้คำว่าอะไรเรียกว่ารังสีแล้วกัน) ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำร้ายเซลล์ของร่างกายได้หลายแบบ เช่น ทำให้เซลล์ตาย เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง หรือมีพันธุกรรมเพี้ยนไป



3. อ้าว แล้วที่ไปเอกซเรย์ปอด CT scan กระหน่ำกันทุกวัน ไม่เป็นไรรึ (จะตกงานไหมเรา)

อย่างที่บอกแล้วว่ารังสีนี่ไม่ต้องรอโรงไฟฟ้าระเบิดเราก็เจอกันทุกวันอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่สำคัญที่ทำใหรังสีทำอันตรายเราได้มีอยู่สามตัว คือ

ปริมาณที่ได้รับ (Dose)

ระยะทางจากต้นกำเนิดรังสีถึงตัวเรา (distance)

และ เวลาที่ได้รับรังสี (exposure time)

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าจ่อยิงรังสีใกล้ๆ อัดโดสมากๆ แล้วนอนอาบรังสีอยู่นานๆ ก็แย่แน่ แต่ในชีวิตจริงการถ่ายภาพเอกซเรย์ใช้โดสน้อยมาก และใช้เวลาเป็นมิลลิวินาที ปริมาณรังสีที่คนไข้ได้รับจึงน้อยมากจนไม่เกิดอันตราย



4. แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นจะมีอันตรายกับเราแค่ไหน

จากข่าวที่เป็นทางการของ IAEA ปริมาณล่าสุดของรังสีที่เวลา 6.00น.(UTC) วันที 15 มีนาวัดที่ประตูโรงงาน อยู่ที่ 0.6 mSv ต่อชั่วโมง (เห็นไหมต้องบอกตำแหน่งที่วัดและเวลา)

แปลง่ายๆว่าถ้าเราไปยืนที่ประตูโรงงานหนึ่งชั่วโมงจะได้รังสี 0.6 mSv

คราวนี้ก็คำนวณเอาเองว่าประตูบ้านเราห่างจากประตูโรงงานกันแค่ไหน
ถ้าขี้เกียจคำนวณก็ลองดูว่า ประเทศญี่ปุ่น(ซึ่งเค้าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมาก) เค้าอพยพคนในรัศมี 20 กม.จากโรงงาน ส่วนชาวบ้านในระยะ 30 กม. ให้อยู่ในบ้าน

ปริมาณรังสีที่เคยวัดได้มากที่สุดจากประตูโรงงานคือ 400 mSv/ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ก็ลดลงแล้ว ถ้าอยากติดตามข่าว update จาก IAEA มีทั้งสถานการณ์โรงไฟฟ้า และเรื่องรังสี ขอเชิญที่

//www.facebook.com/l/530f9/www.iaea.org/newscenter/news/tsunamiupdate01.html



5. แล้วฝุ่นควันที่มีสารกัมมันตรังสีจะปลิวมาถึงไทยหรือเปล่า จะป้องกันยังไง

เท่าที่ตามข่าวดูมีการแตกตื่นเรื่องฝุ่นไอโอดีนซีเซียมกันเยอะ ไม่เฉพาะบ้านเราหรอก แต่ละแหล่งข่าวก็ว่ากันไป และมีการวัดสารปนเปื้อนรายงานเป็นระยะๆ แต่จริงๆแล้วไม่มีใครบอกได้หรอกว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ที่พอจะทำนายได้ก็ต้องย้อนกลับไปเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เรื่องอุบัติเหตุนิวเคลียร์ อย่างที่ Chernobyl ปี คศ. 1986 ซึ่งเหตุการณ์และการจัดการเลวร้ายกว่าที่ญี่ปุ่นครั้งนี้มาก มีการระเบิดของโรงไฟฟ้า(ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์นะ)และมีการกระจายของกัมมันตรังสีไปทั่วยุโรปและเอเชีย เมื่อมีการวัดรังสีที่ได้รับ (average exposure) ในคน 135000 คนในระยะ18 mile รอบโรงไฟฟ้า พบปริมาณรังสี 15 mSv เท่านั้น (มากน้อยแค่ไหนลองกลับไปเทียบในข้อหนึ่ง)

ทางราชการของบ้านเราตอนนี้ก็ได้ฟังข่าวว่ามีการตรวจเช็คปริมาณรังสีในอากาศกันอยู่แล้ว แถมยังมี ประเทศอื่นดักหน้าไว้อีกหลายประเทศกว่าฝุ่นควันจะปลิวมาถึง ก็คอยฟังข่าวแล้วลองคำนวณปริมาณกันเองแล้วกัน

ถ้ามันมาถึงจริงๆและมีปริมาณมากพอที่จะทำอันตราย(ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยถ้าปริมาณรังสีหน้าประตูโรงงานเป็นแค่นี้) ค่อยเริ่มแตกตื่นตุนน้ำมันปาล์มกันก็ยังไม่สาย

ส่วนปลาดิบญี่ปุ่นซึ่งอาจกินกัมมันตรังสีเข้าไปแล้วว่ายมา อยู่บนจานเรานั้น ถ้าอยากจะเลี่ยงก็ตามสะดวก เพราะตามทฤษฎีแล้วก็เป็นไปได้จริงๆ แต่ถ้าจะห่วงเรื่องสารกัมมันตรังสี อย่าลืมห่วงเรื่อง สารปรอท สารตะกั่ว พยาธิ เชื้อโรค ซึ่งมีโอกาสเจอเยอะกว่ามากด้วยน้า เปลี่ยนไปทานหมูก็เจอสารเร่งเนื้อแดง ทานผักก็เจอยาฆ่าแมลง ก็ดี
เราจะได้กลับไปเป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ทานเองกันทุกคนเหมือนเดิม



6. ทำไมระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาคนถึงตายเยอะ มีเด็กเป็นลิวคีเมียก็มาก เชอร์โนบิลเองก็มีวัวสามขา

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าระเบิดนิวเคลียร์ (atomic bomb) กับระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคนละเรื่องกัน

ระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดก็ไม่เท่าระเบิดนิวเคลียร์

คนที่ตายในระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นนั้น 200,000 คนตายทันทีจากความร้อนและแรงระเบิด (heat and blast) มีเพียง 300 คนที่ตายจาก ionizing radiation

ส่วนระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างที่เชอร์โนบิลนั้น แรงระเบิดจำกัดอยู่ทีโรงงาน มีความร้อนต่ำกว่ามาก และมีคนตายจาก ionizing radiation น้อยกว่า 100 คน

แต่ปัญหาระยะยาวของคนที่ได้รับ ionizing radiation ที่พบได้คือรังสีที่ได้รับทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในระดับเซลล์และไปทำให้ DNA เปลี่ยนไป ซึ่งผลต่อร่างกายอาจเกิดได้หลายอย่างที่ดีที่สุดคือเซลล์ซ่อมแซมตัวเองแล้วไม่มีผลอะไร ที่ไม่ดีคือเซลล์ที่มี
DNA ถูกทำลายกลายเป็นมะเร็ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดในทุกคน และเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาหลายปีในการเกิด

ซึ่งที่กังวลกันคือถ้าเราได้รับรังสีน้อยๆ แต่บ่อยๆ เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆโอกาสเกิดก็จะเพิ่มขึ้นได้บ้าง เหมือนแท็กซี่ขับรถทุกวันก็มีโอกาสรถชนมากกว่า

ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ทารกในครรภ์ (รวมทั้งคนท้อง) ซึ่งปริมาณโดสที่ได้รับจะดูมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวซึ่งถูกทำลายได้ง่ายอยู่มาก จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังในการใช้รังสีทุกประเภท และหลีกเลี่ยงการตรวจทางรังสีไม่จำเป็น



สุดท้ายนี้คงต้องการบอกว่า รังสีไม่ใช่ของปลอดภัยที่จะมาอาบเล่นกันทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกอย่างที่ประโคมข่าวกัน

ถ้ามาเดินในหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือ radiation therapy ของโรงพยาบาลก็จะพบคุณหมอที่ใช้รังสีและสารกัมมันตรังสีเหล่านี้กันทุกวันเพื่อวินิจฉัยและรักษาคนไข้ให้หายจากโรคร้ายโดยควบคุมปัจจัยหลักสามตัวที่กล่าวไปแล้วคือ เลือกใช้ปริมาณที่เหมาะสมในเวลาสั้นและ รักษาระยะปลอดภัยระหว่างที่คนไข้ได้รับรังสี


สิ่งที่เกิดที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้คือพยายามลดปริมาณสารกัมมันตรังสีที่จะปนเปื้อนสู่ภายนอกให้มากที่สุดซึ่งก็ต้องคอยติดตามข่าวกันต่อไป

บ้านเราระยะทาง ไกลขนาดนี้ก็ไม่ต้องแตกตื่นมาก คิดอีกที โอกาสที่เราจะขึ้นรถเมล์แล้วถูกลูกหลงกระสุนปืนจากเด็กช่างกล หรือ ขับรถตกโทลเวย์ อาจมากกว่าที่เราจะโดนรังสีจากญี่ปุ่นเสียอีก ไข้หวัดนก หวัด2009 ที่เราผ่านกันมาได้ ก็มีคนตายกันเลวร้ายกว่านี้มาก

สิ่งที่ทุกคนควรทำคือติดตามสถานการณ์อย่างมีสติ และหาความรู้ที่มีอยู่มากมาย อย่าเลือกที่จะเชื่อเพราะเป็นเรื่องที่เราอยากเชื่อ หรือเพราะคนเล่าดูน่าเชื่อถือ แต่ขอให้ใช้วิจารณญานของตัวเอง และหาข้อมูลหลายๆด้านก่อนจะปักใจเชื่ออะไร

ข้อมูลข้างบนคงเป็นแค่ความรู้พื้นฐานง่ายๆ จะได้ไม่งง เวลาอ่านข่าว

ถ้าสงสัยอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการรักษาและป้องกันอันตรายจากรังสี

ขอเชิญตามเอกสารอ้างอิงด้านล่าง



References

Wolbarst AB, Wiley AL, Nemhouser JB, Christensen DM, Hendee WRI.
Medical Response to a Major Radiologic Emergency: A Primer for Medical
and Public Health Practitioners. Radiology. Mar 2010; (254) 660-677.
//www.facebook.com/l/530f9/radiology.rsna.org/content/254/3/660.long

2. ACR disaster preparedness for radiology professionals

//www.facebook.com/l/530f9/www.acr.org/SecondaryMainMenuCategories/BusinessPracticeIssues/DisasterPreparedness/ACRsDisasterPreparednessPrimer/ACRDisasterPreparednessPrimer2006Doc1.aspx



3. US Nuclear regulartory commission USNRC standard for protection
against radiation.

//www.facebook.com/l/530f9/www.nrc.gov/reading-rm/doc-collections/cfr/part020/full-text.html



4. Wagner RH, Boles MA, Henkin RE. Treatment of radiation exposure and
contamination. Radiographics. Mar 1994 (14)387-396

5. Vogel H. Rays as weapons. Eur radiol 2007 Aug;63(2):167-77."







 

Create Date : 26 มีนาคม 2554   
Last Update : 26 มีนาคม 2554 1:09:00 น.   
Counter : 1954 Pageviews.  

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ... นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ เวบหมอชาวบ้าน




โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


ข้อมูลสื่อ

File Name :373-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :373
เดือน-ปี :05/2553
คอลัมน์ :สารานุกรมทันโรค
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ


หลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) เป็นหลอดเลือดแดง นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งประกอบด้วย กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อให้หัวใจสามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ



ถ้าหลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบตันจะทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หากเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวจะมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงชั่วขณะ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ เวลามีสาเหตุกระตุ้นให้กำเริบ แต่ถ้าเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจมีอันตรายร้ายแรง

โรคนี้ป้องกันได้ ด้วยการดูแลปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และหลีกเลี่ยงอบายมุขหรือการเสพสิ่งที่เป็นอันตราย

► ชื่อภาษาไทย
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดโคโรนารี

► ชื่อภาษาอังกฤษ
Ischemic heart disease (IHD), Coronary heart disease (CHD)


► สาเหตุ


เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis)* เนื่องจากมีไขมันเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด เรียกว่า "ตะกรันท่อหลอดเลือด (artherosclerotic plaque)" ซึ่ง ค่อยๆ พอกหนาตัวขึ้นทีละน้อย ทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจ (อันประกอบด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ) ได้น้อยลง

ในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นในการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ (เช่น การออกแรงมากๆ ในการทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกาย การมีอารมณ์รุนแรง ความเครียด) หรือในขณะที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง (เช่น หลอดเลือดหดตัวขณะสูบบุหรี่ หรือมีความเครียด หลังกินข้าวอิ่มจัด ซึ่งเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารจำนวนมาก เสียเลือดหรือโลหิตจาง) ก็จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ เมื่อขจัดเหตุปัจจัยดังกล่าวออกไป (เช่น หยุดการใช้แรง หยุดสูบบุหรี่) อาการเจ็บหน้าอกจะทุเลาไปได้เอง เรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า "โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)"



* ภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis) เกิดจากผนังหลอดเลือดเสื่อมตามอายุขัย (พบในผู้ชายอายุมากกว่า ๕๕ ปี หรือผู้หญิงอายุมากกว่า ๖๕ ปี) หรือเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นมานาน (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน) หรือพฤติกรรม (สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย)

ภาวะนี้เกิดกับหลอดเลือดแดงทั่วทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ ได้แก่ หัวใจ (กลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) สมอง (อัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม) ไต (ไตวาย) ตา (ประสาทตาเสื่อม ทำให้ตามัว ตาบอด) ขา (ชา เป็นตะคริว ปวดน่องเวลาเดินมากๆ) องคชาต (องคชาตไม่แข็งตัว หรือ "นกเขาไม่ขัน")

ถ้าปล่อยไว้นานๆ ตะกรันท่อหลอดเลือดที่เกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดการฉีกขาดหรือแตก เกล็ดเลือดก็จะจับตัวเป็นลิ่มเลือด อุดกั้นช่องทางเดินเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่เป็นเวลานาน จนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ เรียกว่า "โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial information)"



ปัจจุบันพบว่าปัจจัยที่ทำให้คนเราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่สำคัญ ได้แก่

⇒อายุ มากกว่าหรือเท่ากับ ๕๕ ปีในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ ๖๕ ปีในผู้หญิง

⇒ การมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดในครอบครัวที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร (< ๕๕ ปีในผู้ชาย หรือ < ๖๕ ปีในผู้หญิง)

⇒ ความดันเลือดสูง

⇒ เบาหวาน

⇒ ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ

⇒ อ้วน (ดัชนีมวลกาย มากกว่าหรือเท่ากับ ๓๐ กิโลกรัมต่อเมตร๒)

⇒ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ (มากกว่าหรือเท่ากับ ๓๐ มิลลิกรัมต่อวัน)

⇒ การสูบบุหรี่

⇒ การขาดการออกกำลังกาย

⇒ความเครียด

นอกจากนี้ โรคหัวใจขาดเลือดยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่พบไม่บ่อย เช่น ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ การหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด การบาดเจ็บ ยาเสพติด (โคเคน ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน ซึ่งทำให้หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรง) เป็นต้น


► อาการ

♦ ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะ มีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นบริเวณกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย บางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกรหลัง หรือแขนขวา

บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ

ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นบางครั้งบางคราวเวลาออกแรงมากๆ (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรงๆ ทำงานหนักๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน) มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศเย็นๆ

ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้ หรือหัวใจเต้นเร็ว (เช่น หลังดื่มกาแฟ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้

อาการเจ็บหน้าอกมักจะเป็นอยู่ นาน ๒-๓ นาที (มักไม่เกิน ๑๐-๑๕ นาที) แล้วหายไปเมื่อได้พักหรือหยุดกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน)

นอกจากนี้ ขณะมีอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย

ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ เวลาหายใจเข้าลึกๆ ไอ หรือจาม หรือเจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว หรือกดถูกเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บทั่วหน้าอกอยู่เรื่อยๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและเวลาออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลินๆ หายเจ็บ มักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเป็น ครั้งคราว หากต่อมามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น กำเริบบ่อยขึ้น หรือมีอาการเจ็บหน้าอกแม้ขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย ให้สงสัยว่าตะกรันท่อเลือดแดงอาจสะสมมากขึ้นจนหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน มากขึ้น หรือตะกรันเริ่มแตกหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น อาการเช่นนี้ เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามมาได้





♦ ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ แม้จะได้พักก็ไม่ทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะหรือไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ได้

ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย

ถ้าเป็นรุนแรง จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ใจหวิว เป็นลม) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ

ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติ หรือตายในทันทีทันใด

บางรายอาจมีประวัติว่า เคยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราวนำมาก่อน เป็นเวลาหลายสัปดาห์
บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลยก็ได้



► การแยกโรค


๑. อาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือเป็นต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงๆ ถึงเป็นวันๆ ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม ที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ เช่น

⇒ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism) มีอาการหายใจหอบ เจ็บหน้าอก เป็นลม หรือชัก

⇒ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (aortic dissection) มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง คล้ายเนื้อถูกฉีกหรือกรีด เจ็บแผ่ไปที่ท้อง ต้นขา คอ และหลังส่วนล่าง อาจมีอาการเป็นลม หรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย

⇒ ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) เกิดจากถุงลมปอดแตก มีลมรั่วเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ แน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย


๒. อาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นช่วงสั้นๆ และกำเริบเป็นครั้งคราว ที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

⇒ โรคกระเพาะ มีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิวหรือก่อนมื้ออาหาร หรือจุกแน่นลิ้นปี่เวลากินอิ่มเกือบทุกมื้อ กินยาลดกรดก็ทุเลาได้

⇒ โรคกรดไหลย้อน มี อาการแสบลิ้นปี่หรือจุกแน่นลิ้นปี่ เรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอหลังกินอิ่มๆ หรือกินอาหารมัน เผ็ดจัด ของเปรี้ยว ดื่มกาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำส้มคั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินอิ่มแล้วนอนราบ นั่งตัวงอ เข็มขัดคับเอว หรือเวลามีความเครียด เมื่อกินยารักษาโรคกระเพาะแล้วทุเลา

⇒ นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา นานครั้งละ ๓๐ นาทีถึง ๖ ชั่วโมง เป็นๆ หายๆ เป็นบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารที่มันๆ






► การวินิจฉัยโรค

แพทย์ จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากประวัติและอาการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการปวดเค้น หรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่แล้วปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร โดยมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย (เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ อ้วน มีประวัติเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น)

เมื่อสงสัยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจตีบ (มีอาการที่น่าสงสัย หรือถึงแม้อาการไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร ร่วมด้วย หรือไม่มีอาการแสดง แต่มีปัจจัยเสี่ยงมาก เช่น เป็นเบาหวานมาหลายปี อายุมาก และสูบบุหรี่จัด) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูว่ามีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมีสารเคมีที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) ตรวจคลื่นหัวใจ (ถ้าครั้งแรกบอกว่าปกติ ก็อาจต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง) หรือตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (cardiac CT scan) ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) ถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น


► การดูแลตนเอง

๑. ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือปวดต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ หรือมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หน้ามืด หรือเป็นลม อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ได้

๒. ถ้ามีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่นาน ๒-๓ นาที (หรือไม่เกิน ๑๐-๑๕ นาที) ร่วมกับมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร และ/หรือมีปัจจัยเสี่ยง (อายุมาก อ้วน สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน ความดันสูง เครียด) หรือมีอาการเจ็บหน้าอกเล็กน้อย กินยา ๓-๕ วันแล้วไม่ทุเลา หรือสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจขาดเลือด) ชั่วขณะ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์

๓. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรับการบำบัดรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กินยาและดูแลรักษาตามคำแนะนำ อย่าหยุดยาหรือปรับยาเอง
ถ้ามีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็ควรกินยาและปรับพฤติกรรม ควบคุมโรคให้ได้ผล

นอกจากนี้ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

๑. เลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด

๒. ถ้าอ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก

๓. กินผัก ผลไม้ และธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย ถั่วต่างๆ) ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง เต้าหู้ นมจืดและนมพร่องไขมัน ลดเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) ลดน้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม และของหวาน ลดอาหารที่มีไขมัน ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันหมู

๔. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม และควรค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อนที่จะออกกำลังกายมากๆ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ทำกัน ได้แก่ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

๕. หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น
⇒ อย่าทำงานหักโหมเกินไป
⇒ อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป
⇒ ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ กินผลไม้ให้มากๆ และควรกินยาระบายเวลาท้องผูก
⇒ ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน
⇒ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ

๖. ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้โรคหัวใจกำเริบได้ โดยปฏิบัติดังนี้
⇒ อย่าคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้ไม่สบาย
⇒กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ
⇒ รักษาสุขภาพฟันและช่องปาก โดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และตรวจเช็กฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ (การติดเชื้อในช่องปากอาจปล่อยเชื้อเข้าไปที่หัวใจ ทำให้โรคหัวใจกำเริบได้)
⇒ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ (ปีละครั้ง)


► การรักษา

แพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติตัวที่เหมาะสมต่างๆ และให้การบำบัดรักษา ดังนี้

๑. ให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดกิน และ/หรือชนิดอมใต้ลิ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ให้ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ให้ยาควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง)

๒. ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย หรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่ง ก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูน (นิยมเรียกว่า "การทำบัลลูน") และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน

๓. ในรายที่เป็นรุนแรง หรือใช้ยาและทำบัลลูนไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า "การผ่าตัดทำบายพาส") โดยการนำหลอดเลือดดำที่ส่วนอื่น (เช่น หลอดเลือดดำขา) ไปเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดหัวใจ (ข้ามส่วนที่ตีบตัน) กับหลอดเลือดแดงใหญ่

๔. ในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล (หน่วยบำบัดโรคหัวใจ หรือ cardiac care unit) พิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน ๖ ชั่วโมงหลังเกิดอาการ) หรือไม่ก็อาจทำบัลลูนหรือทำผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน และให้การดูแลรักษาจนกว่าจะปลอดภัย อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล ๕-๗ วัน เมื่ออาการทุเลาแล้วก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา ๔-๕ สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ ๘-๑๒ สัปดาห์ แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษาเป็น ประจำทุก ๑-๓ เดือน ตรวจเช็กร่างกายและปรับการใช้ยาให้เหมาะกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยอย่างต่อ เนื่อง


► ภาวะแทรกซ้อน

อาจ ทำให้เกิดภาวะช็อก (เป็นลม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ) หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างแตก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้

บางรายอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจ อักเสบแทรกซ้อนหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ๑๐ วันถึง ๒ เดือน หรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง (ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีก) และหลอดเลือดทั่วร่างกายได้
บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า หลังจากฟื้นตัวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย



► การดำเนินโรค


ถ้าไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ส่วนในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายก็อาจเสียชีวิตกะทันหันได้

ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพผู้ป่วย โรคที่พบร่วม และวิธีรักษา

ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอสไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และลดการตายลงได้ ส่วนการทำบัลลูนและการผ่าตัดบายพาสช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอด ปลอดภัยมากขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบ ไม่คงที่ ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ และการบำบัดที่เหมาะสม ผลการรักษามักจะไม่ดี

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบ พลัน ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมากก็มักจะเสียชีวิตอย่าง รวดเร็วหรือทันทีทันใด ในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้ ๒-๓ วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้ ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและมักจะเสียชีวิตภายใน ๓-๔ เดือน ถึง ๑ ปีต่อมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วย

ส่วนในรายที่ได้รับการทำ บัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส มักจะฟื้นสภาพได้ดี และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น แต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันซ้ำ ซึ่งอาจต้องทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ



► การป้องกัน

๑. ไม่สูบบุหรี่

๒. หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำสัปดาห์ละ ๕ วัน หรือวันเว้นวัน (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

๓. กินอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

๔. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ดัชนีมวลกาย ๑๘.๕-๒๓ กิโลกรัมต่อเมตร๒)

๕. ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ เจริญสติ ทำงานอดิเรก ทำงานจิตอาสา

๖. ถ้าเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรกินยาควบคุมและปรับพฤติกรรมให้สามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

๗. ถ้าเป็นเบาหวานหรือเคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน ควรกินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ตามคำแนะนำของแพทย์

๘. ป้องกันการติดเชื้อและรักษาสุขภาพฟันและช่องปาก (ดูรายละเอียดในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")


► ความชุก


ปัจจุบัน พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการกำเริบเมื่อมีอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๔๐ ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน

โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมือง มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงานและชาวชนบท

โรค นี้พบได้มากในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ อ้วน ขาดการออกกำลังกาย เป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง








แถม ..

มาออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-05-2008&group=4&gblog=35


พยากรณ์โอกาสเสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือดล่วงหน้า 10 ปี อัตโนมัติ

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-04-2009&group=7&gblog=24


ความดันโลหิตสูง

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-03-2008&group=4&gblog=20






 

Create Date : 12 ธันวาคม 2553   
Last Update : 12 ธันวาคม 2553 11:35:18 น.   
Counter : 3307 Pageviews.  

การจัดการกับความเครียด จากวิกฤตการณ์น้ำท่วม .... โดย DrCarebear Samitivej



นำมาจากของคุณหมอ ในเฟสบุ๊ก นะครับ .. ถ้าใครสนใจอ่านฉบับเต็ม มีรูปภาพประกอบสวยงาม ก็แวะไปได้ที่

//www.facebook.com/note.php?note_id=160036807362725&id=153027324709017&ref=share




การจัดการกับความเครียด จากวิกฤตการณ์น้ำท่วม

โดย DrCarebear Samitivej ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2010 เวลา 22:06 น.




การตอบสนองทางอารมณ์จากภัยน้ำท่วม


ไม่ว่าใครที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ หรือภัยน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น อาจจะทำให้มีความเครียดขึ้นมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่นทรัพย์สินเสียหาย การเจ็บป่วย การเสียคนในครอบครัว ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นนี้อาจมีผลต่อสุขภาพของเราได้ หากเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และไม่ได้จัดการอย่างถูกวิธี

การจัดการกับความเครียด โดยทันทีจะสามารถลดปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาในระยะยาวได้ การจัดการกับความเครียดได้ดีจะทำให้เราได้พบกับความท้าทายในการที่จะฟื้นฟู ภายหลังอุทกภัย และสร้างความเชื่อมันในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินกลับมาได้

อย่าลืมว่า คุณไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีกำลังใจและคนที่พร้อมจะส่งความช่วยเหลือไปให้คุณอยู่ตลอด อย่าเพิกเฉยต่อความเครียดที่เกิดขึ้น และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสมอ





การตอบสนองที่พบได้เป็นปกติในเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ

ขั้นแรกในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นผลตามมาจากภัยธรรมชาติ คือการรู้จักว่า การตอบสนองแบบไหน ระดับไหน ที่เกิดขึ้นได้ในคนทั่วไปเมื่อมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ความวิตกกังวลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ถ้ามันมากเกินไปอาจบอกถึงความผิดปกติที่ควรจัดการแก้ไขเช่นกัน

ความเครียดที่เกิดจากภัยธรรมชาติในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ความเครียดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดเพียงชั่วคราว และหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป การย้ำคิดถึงเหตุการณ์อุทกภัยหรือพายุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว อาจจะเกิดขึ้นได้ ในหลาย ๆ คน ความคิดเหล่านี้ถ้ามีมากเกินไปหรือนานเกินไป บ่งถึงว่าคุณควรจะพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับความช่วยเหลือ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องระลึกไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว หรือไม่ได้เป็นแบบนี้คนเดียว การพูดคุยแบ่งปันวิธีการจัดการกับความคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ จะสามารถช่วยคุณได้ หรือคุณอาจจะปรึกษานักจิตวิทยา หรือแพทย์ เพื่อช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้



มีปฏิกิริยาหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้น แต่ทุกอย่างก็สามารถจัดการได้

สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แบบต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันออกไป แม้แต่ในคนคนหนึ่ง อาจจะมีอารมณ์ความรู้สึกหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นในหนึ่งวัน

การตอบสนองต่อเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะเป็นตัวที่พอจะบอกได้ว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ คนๆ นั้นจะมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์อย่างไร และการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นก็คือ การดูว่าความเครียดที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้รับการแก้ไขจัดการด้วยวิธีได้ แต่แน่นอนว่าคุณควรจะเลือกวิธีการที่สร้างสรรในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น



วิธีจัดการกับความเครียด เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วม

เตรียมพร้อมรับมืออารมณ์ที่จะเกิดขึ้น

เมื่ออยู่ในภาวะอุทกภัย ที่ทำให้บ้านเรื่อน ทรัพย์สินเสียหายอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่ละคนก็อาจจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน แต่ละคนก็จะมีวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกัน การแสดงออกทางอารมณ์ที่อาจจะพบได้ ได้แก่

* มีอาการฝันร้ายหรือฝันซ้ำ ๆ เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม

* ไม่สามารถมีสมาธิหรือจดจำสิ่งต่าง ๆ

* รู้สึกเฉยชา เบื่อ เหนื่อย แยกตัวออกจากสังคมหรือคนรอบข้าง

* มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ แสดงออกอย่างรุนแรง

* มีอาการไม่สบายทางกาย เช่น ปวดหัว อาหารไม่ย่อย ปวดเมื่อยตามตัว

* มีลักษณะที่แสดงออกถึงการระวังความปลอดภัยของคนในครอบครัวอย่าเกินเลย
* หลีกเลี่ยงที่จะจดจำเรื่องน้ำท่วม

* ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ



เทคนิคในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น


คำแนะนำต่อไปนี้อาจจะสามารถช่วยจัดการกับความเครียดที่สืบเนื่องมาจากอุทกภัยได้

* จำกัดการได้รับข่าวสารที่เกี่ยวกับอุทกภัย หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ แต่พอควร

* รับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้

* เรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย

* พยายามกลับไปใช้ชีวิตปกติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก

* ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ

* หากิจกรรมทำเพื่อไม่ปล่อยให้มีเวลาว่างมากเกินไป

* พยายามติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ครอบครัว หรือผู้ทีคอยให้ความช่วยเหลือ

* อาศัยหลักศาสนาเข้ามาช่วย

* พยายามสร้างอารมณ์ขันอยู่เรื่อย ๆ

* แสดงความคิดของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางการพูดคุย การเขียน หรือการวาดรูป

* พูดคุยและแบ่งปันความรู้สึกของตัวเองกับคนอื่น ๆ



หมอหมีขอให้ทุกท่านที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ครั้งนี้สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ไปได้ด้วยดีนะครับ





We Care



Dr. Carebear Samitivej













 

Create Date : 25 ตุลาคม 2553   
Last Update : 25 ตุลาคม 2553 20:20:47 น.   
Counter : 2659 Pageviews.  

โรคน้ำกัดเท้า .......... โดย DrCarebear Samitivej



นำมาจากของคุณหมอ ในเฟสบุ๊ก นะครับ .. ถ้าใครสนใจอ่านฉบับเต็ม มีรูปภาพประกอบสวยงาม ก็แวะไปได้ที่

//www.facebook.com/note.php?note_id=159671324065940&id=153027324709017&ref=share



โรคน้ำกัดเท้า

ไม่รู้เหมือนกันว่าชื่อนี้เริ่มแรกมาจากไหน แต่ที่จริงแล้วน้ำกัดเท้า คือการติดเชื้อราที่เท้า ซึ่งมักจะเป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมากจากเชื้อราที่ชื่อ Trichophyton rubrum

เชื้อรากลุ่มนี้ จะสร้างเอนไซม์ออกมาย่อย keratin ที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแตกเป็นแผล และมีอาการตามมา



อาการ

อาการ ที่พบได้คือ มีอาการคัน และมีอาการเจ็บบริเวณง่ามนิ้วเท้า บางครั้งจะพบเป็นตุ่มน้ำหรือพบเป็นแผล ในผู้สูงอายุ อาจพบเป็นสะเก็ด และผิวหนังแห้ง

บริเวณง่ามน้ำ จะแดง ลอก มีรอยแตก หรือมีสะเก็ด พบบ่อยที่สุดที่ระหว่างนิ้วกลาง นิ้วนาง และ ระหว่างง่ามนิ้วนางกับนิ้วก้อย

บางคนที่มีแผลอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน



สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดในที่มีอากาศร้อนชื้น ภาวะน้ำท่วม แช่น้ำนาน ๆ หรือการใส่รองท้องที่อับชื้นเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น



การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ในรายที่การตรวจร่างกาย ไม่ชัดเจน หรือต้องการการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ สามารถทำการตรวจโดยการตรวจ KOH โดยแพทย์จะทำการขูดผิวหนังบริเวณที่น่าจะติดเชื้อไปตรวจกับกล้องจุลทรรศน์ จะสามารถพบเชื้อราได้ โดยตำแหน่งที่พบเชื้อได้ง่ายที่สุด คือหากมีตุ่มน้ำ ให้ขูดบริเวณผิวด้านบน จะพบเชื้อราได้ง่าย



การรักษา

Tinea pedis สามารถรักษา ได้ด้วยการใช้ยาเชื้อราทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน ชนิดทาควรจะใช้ต่อเนื่องประมาณ 4 สัปดาห์เพื่อให้หายขาด แต่ยาบางชนิดสามารถใช้เพียงสัปดาห์เดียว ขึ้นอยู่กับชนิดยา ถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาไม่กี่วัน แต่ควรจะใช้ยาให้ต่อเนื่องตามที่แนะนำ โดยทายาที่ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า

การกลับมาติดเชื้อซ้ำมักจะเกิดจากการใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ในผู้ที่มีการหนาขึ้นของผิวหนังมากกว่าปกติอาจจะต้องเพื่อยาที่ช่วยทำให้ผิว หนังบางลงร่วมด้วย เช่น urea cream



กลุ่มยาทาที่ใช้รักษา ได้แก่

ยากลุ่ม imidazoles

เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาการติดเชื้อรา ตัวอย่างยาเช่น

* Clotrimazole 1%
* Econazole 1% cream (Spectazole Topical)
* Ketoconazole 1% cream (Nizoral)


ยากลุ่ม pyridones

เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กว้าง ครอบคลุมการรักษาเชื้อรา เชื้อแบคมีเรียบางขนิดได้

* Ciclopirox 1% cream (Loprox)


ยา ขี้ผึ้ง Whitfield เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่มีราคาถูกและสามารถใช้รักษาเชื้อราที่เท้าได้



การดูแล

* ทายารักษาเชื้อราอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนด ส่วนใหญ่คือให้ทาประมาณ 4 สัปดาห์ โดยทาที่ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า

* สิ่งสำคัญคือการทำให้เท้าสะอาดและแห้ง หากลุยน้ำมา ให้ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่ และเช็ดให้แห้ง

* ไม่ควรใส่รองเท้าที่อับชื้นนาน ๆ ถ้าเป็นไปได้ให้เอารองเท้าตากแดดให้แห้งด้วย

* การทาแป้งจะช่วยทำให้แห้งและลดความอับชื้นได้

* หากต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบูท แต่ถ้าน้ำสูง หรือเข้าไปในรองเท้าบูท ควรเทน้ำออก ดีกว่าแช่เท้าไว้ในน้ำ

* หากมีบาดแผลที่เท้าให้ทำความสะอาดแผล เช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล และทาเบตาดีน

* หากมีแผลบวมแดง อักเสบควรพบแพทย์เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียและอาจจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อโรค




We Care


Dr.Carebear Samitivej








แถม บทความของหมอแมว ที่ลงในห้องสวนลุม พันทิบ .. ผมก็พึ่งรู้เหมือนกันว่า มีวิธีแบบนี้ด้วย

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L9839958/L9839958.html


รับมือกับน้ำกัดเท้าที่มากับน้ำท่วม #thaiflood

หลังจากช่วงน้ำท่วมผ่านไปไม่นาน ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือเรื่องของน้ำกัดเท้า
ครับ น้ำกัดเท้าเป็นปัญหาใหญ่อย่างนึงที่ใหญ่พอไม่น้อยไปกว่าเรื่องของการไม่มี อาหารและที่พักที่แห้งสะอาด เพราะว่าเท้าคืออวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักและต้องใช้เดินไปไหนมาไหนตลอดเวลา และในสภาวะที่น้ำขัง เมื่อเราต้องย่ำเท้าที่มีแผลลงไปย่อมทำให้เกิดความเจ็บปวดและไม่สบาย

จริงๆมันทรมานเลยทีเดียวแหละครับ

ดังนั้นเรามาคุยเรื่องน้ำกัดเท้ากันก่อนดีกว่า



น้ำกัดเท้าคืออะไร

ถ้าพูดถึงเรื่องของน้ำกัดเท้า โรคที่หลายคนนึกถึงก็คือโรคเชื้อราที่เท้า เนื่องมาจากโฆษณาโทนาฟในทีวีเป็นโฆษณาเดียวหลักๆที่ทำให้เราจำได้กันอย่าง นั้น
แต่สำหรับคนที่เคยลุยน้ำท่วม หรือลุยน้ำในที่นาจะทราบว่า หลังจากเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า จะเกิดอาการเจ็บที่เท้าและมีบาดแผลเล็กๆเกิดขึ้นตั้งแต่แรกๆที่ลุยน้ำ ซึ่งแผลที่เจ็บแดงอักเสบนั้นไม่ใช่เชื้อรา


ดังนั้นน้ำกัดเท้าที่เราจะเจอในน้ำท่วมแบบนี้ก็มี 3 ช่วงครับ

1. แผลเล็กๆน้อยๆที่เกิดจากถูกของมีคมหรือเศษเล็กๆในน้ำบาด ช่วงนี้จะเกิดอาการเจ็บแสบเวลาลงน้ำหรือเวลาผิวหนังไม่แห้ง

2. แผลเล็กๆในข้อแรกเกิดการติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบหรือมีหนอง

3. การติดเชื้อจากเชื้อราอันเกิดจากการที่เท้าอยู่ในที่ชื้นเป็นเวลานานๆ

การป้องกันนั้นก็ทำได้ง่ายๆครัฟ เพียงทำตามคำแนะนำของหน่วยงานต่างๆก็คือ
อย่าลุยน้ำ ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด ทำให้เท้าแห้งตลอดเวลา


วิธีที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่แน่ใจว่าในหนังสือเล่มไหนมันมีเขียนหรือเปล่านะครับ (แต่เท่าที่อ่านยังไม่เคยเห็นอ่ะ) แต่ผมคิดว่าวิธีนี้ยังดีกว่าไม่มีวิธีอะไรเลย

การป้องกันเรื่องน้ำกัดเท้า มีปัญหาอยู่หลายจุด อย่างแรกเลยไม่มีทางที่คนในพื้นที่จะหลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้และไม่น่าจะมีใคร ที่เดินลุยน้ำแบบใส่บูทได้ตลอด ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือเมื่อเกิดแผลแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้แผลนั้นติดเชื้อ

สิ่งนั้นก็คือน้ำสะอาด ... แล้วเราจะไปหาน้ำสะอาดมาจากไหน? ในภาวะที่น้ำกินยังไม่ค่อยจะมีแบบนี้กัน

การทำน้ำสะอาดจากภาวะน้ำท่วมเป็นหัวข้อที่มีแพร่หลายอยู่แล้วในinternetและ หนังสือทั่วไปครับ ซึ่งน้ำที่ได้นี้สามารถเอาไว้ใช้ภายนอก ใช้กิน และในวารสารวิขาการแพทย์สามารถเอาไว้ล้างแผลได้ด้วย

วิธีทำน้ำนี้มีอุปกรณ์ที่ต้องการก็คือ

- น้ำยาฟอกผ้าขาว (ไฮเตอร์ขวดสีฟ้า)

- ทิงเจอร์ไอโอดีน ในกรณีที่หาน้ำยาฟอกขาวไม่ได้

- ถังน้ำเปล่าสักใบ

- ผ้าผืนนึง

เริ่มต้นด้วยการตักน้ำที่ท่วมอยู่ เอาขึ้นมาแล้วเทใส่ผ้า กรองเศษผงสกปรกขนาดใหญ่ออกไป เก็บน้ำไว้ประมาณ4-5ลิตร ผสมน้ำยาฟอกผ้าขาวลงไปประมาณ1ช้อนชา ตั้งทิ้งไว้1ชั่วโมงสำหรับน้ำขุ่นๆ น้ำก็จะสะอาดพอใช้ได้หรือในกรณีไม่มีไฮเตอร์ ก็ให้ใช้เป็นไอโอดีนล้างแผล โดยใช้สัดส่วน 8 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร ตั้งทิ้งไว้1ชั่วโมงสำหรับน้ำขุ่นๆแบบน้ำท่วมเช่นกันหลังจากการผสมและตั้ง ไว้ตามเวลาที่กำหนด น้ำดังกล่าวจะสะอาดพอที่จะดื่มได้ครับ ดังนั้นล้างเท้าไม่น่ามีปัญหา ... จะได้เก็บน้ำดื่มขวดๆไว้เพื่อดื่มไม่ต้องเอามาล้างเท้า

ทุกครั้งที่ลุยน้ำเสร็จ เมื่อขึ้นมาให้ล้างเท้าและขาด้วยน้ำนี้ และจะยิ่งดีหากมีสบู่ครับ เพื่อจะได้ล้างเชื้อโรคออกไป ... หลังจากเสร็จแล้วให้หาผ้ามาเช็ดให้แห้งหมาดๆที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ... จะใช้เสื้อผ้าที่ใส่ก็ได้ (หมอแมวแอบใช้เสื้อเช็ดอยู่บ่อยๆ เพราะเสื้อแห้งเร็วกว่าเท้า อิอิ)

ถ้าหากในของที่บริจาคมีแป้งฝุ่นก็จะดีมากครับ เวลาขึ้นมาแล้วเช็ดแล้ว พอเริ่มจะแห้งๆก็ทาแป้งฝุ่นไปเลย เพราะ ว่าในพื้นที่ที่น้ำท่วม ปกติพื้นบ้านหรือส่วนที่พักอาศัยก็จะชื้นๆ การใช้แป้งฝุ่นทาเท้าไว้จะช่วยกันน้ำและความชื้นเล็กๆน้อยๆได้ ทำให้เท้าแห้งและไม่เป็นเชื้อราภายหลังได้ครับ

ไม่รู้ว่าจะเล่าอะไรต่อครับ แต่ถ้ามีใครจะบริจาคของพวกนี้ หรืออยากจะแก้ปัญหาเหล่านี้ในขณะที่ความช่วยเหลือจากส่วนกลางยังไปไม่ถึง อยากให้ลองเอาวิธีนี้ไปใช้ครับ

ของที่เราอาจจะหาเพิ่มไปก็แค่ น้ำยา ฟอกผ้าขาวหรือทิงเจอร์ไอโอดีน แป้งฝุ่น สบู่ และถ้าพูดถึงยา อาจจะใช้เป็นยาโคลไตรมาโซล(ขององค์การเภสัชกรรม ราคาถูกที่สุดครับ แต่แสบเท้าพอประมาณ)

ปัญหาน้ำกัดเท้าเป็นปัญหาที่จะอยู่ไปอีกนานจนกว่าน้ำจะลดครับ จนกว่าน้ำจะลด เราก็พอจะเอาน้ำนี้มาใช้ล้างเท้าได้เรื่อยๆ

ขอให้ทุกท่านโชคดี

และขอขอบคุณทุกๆท่านที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เดือดร้อนครับ ขอบคุณจริงๆ

reference

1 Treatment of Field Water with Sodium Hypochlorite for Surgical Irrigation . Journal of Trauma-Injury Infection & Critical Care:August 2004 - Volume 57 - Issue 2 - pp 231-235
2 //wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2010/chapter-2/water-disinfection.aspx

จากคุณ : หมอแมว

เขียนเมื่อ : 24 ต.ค. 53 00:10:15






 

Create Date : 25 ตุลาคม 2553   
Last Update : 25 ตุลาคม 2553 20:17:13 น.   
Counter : 3100 Pageviews.  

โรคที่ต้องระวังในภาวะน้ำท่วม ... โดย DrCarebear Samitivej


นำมาจากของคุณหมอ ในเฟสบุ๊ก นะครับ .. ถ้าใครสนใจอ่านฉบับเต็ม มีรูปภาพประกอบสวยงาม ก็แวะไปได้ที่

//www.facebook.com/note.php?note_id=159491650750574&id=153027324709017&ref=share



โรคที่ต้องระวังในภาวะน้ำท่วม

โดย DrCarebear Samitivej

ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2010 เวลา 20:44 น.





ในภาวะน้ำท่วมอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่อไปนี้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่

* โรคติดต่อเนื่องจากน้ำไม่สะอาด ได้แก่ ไทฟอยด์ อหิวาห์ โรคฉี่หนู และไวรัสตับอักเสบ เอ

* โรคติดต่อเนื่องจากมีแมลงเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก
* อุบัติเหตุ และการบาดเจ็บต่าง ๆ เช่นการจมน้ำ




โรคติดต่อเนื่องจากน้ำไม่สะอาด Water-borne diseases

ภาวะน้ำท่วม จะสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าเกิดขึ้นในชุมชนใหญ่ หรือขาดแคลนน้ำสะอาด เนื่องจากน้ำดื่มที่ไม่สะอาดและติดเชื้อ น้ำที่ไม่สะอาดอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ ตาอักเสบ หรือการติดเชื้อทางเดินอาหาร

เชื้อโรคที่สามารถติดต่อทางน้ำได้แก่

1. เชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ A หรือเชื้อโปลิโอ
2. เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ อหิวาต์ ไทฟอยต์ เชื้อ Coliform ที่ทำให้มีอาการท้องเสีย
3. เชื้อโปรโตซัว เช่น cryptosporidiosum, amebae, giardia

ส่วนใหญ่แล้วการติดต่อเชื้อโรคจะมาจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด แต่มีบางโรคที่สามารถระบาดได้มากโดยการติดต่อทางการสัมผัสทางผิวหนังเช่น โรคฉี่หนู leptospirosis ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อผ่านทางผิวหนังหรือเยื่อของร่าง กายที่สัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนจากฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติด เชื้อ แบบที่เคยมีการระบาดในประเทศไทยในปี 2000



Leptospirosis หรือโรคฉี่หนู

เป็นโรคติดเชิ้อที่เกิดจากเชื้อชื่อ leptospira ซึ่งหากติดเชื้อคนไข้จะมีอาการไข้สูง ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยตามตัว ถ้าเป็นรุนแรงอาจจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ตับวาย ไตวาย หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ผู้ได้รับเชื้ออาจจะมีอาการหลังได้รับเชื้อ 2 – 4 วันอาการที่เริ่มต้นอาจจะมีไข้เฉียบพลัน ระยะแรกจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดตามตัว คลื่นไส้ และท้องเสีย อาการอาจจะดีขึ้นได้เอง และจะกลับมามีอาการอีกรอบและรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา อาการจะมีได้ตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงเป็นเดือน บางคนอาจจะหายได้เอง แต่ใช้เวลาเป็นเดือน แต่ถ้ามีอาการรุนแรงอาจจะถึงแก่ชีวิตได้

การรักษาคือการให้ยาแก้อักเสบเช่น Doxycycline หรือ penicillin ฉีดเข้าเส้นเลือด

ดังนั้นหากมีไข้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและให้การรักษา





ไวรัสตับอักเสบ A

เป็น โรคที่มีอาการอักเสบของตับ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ A จากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน ระยะฟักตัวประมาณ 15-45 วันก่อนจะมีอาการ

อาการเริ่มต้นจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ ไข้ต่ำ ๆ อุจจาระสีซีด และปัสสาวะสีเข้ม มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองดีซ่าน

แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการติดเชื้อ และให้การรักษาโดยการพัก ให้น้ำเกลือ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และอาหารมัน การพักฟื้นอาจจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน สำหรับไวรัสตับอักเสบ A สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน



การป้องกันโรคติดเชื้อที่มาจากน้ำ

ส่วนใหญ่แล้วโรคกลุ่มนี้จะมาจาการปนเปื้อนของอาหารและน้ำ ดังนั้นการป้องกันคือการพยายามดื่มน้ำที่สะอาด และต้องพยายามดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

* ดื่มน้ำที่สะอาด
* ใช้น้ำที่ต้มสุก หรือผ่านคลอรีน
* ถ้ามีอาการท้องเสียขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเกลือแร่เสริม
* หากมีอาการไข้ หรืออาการผิดปกติควรพบแพทย์
* สามารถใช้ยาลดไข้ บรรเทาอาการไข้ได้
* ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด
* ทำความสะอาดอาหารและปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง




โรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากแมลงเป็นพาหะ Vector-borne diseases

ภาวะน้ำท่วมจะทำให้แมลงที่เป็นพาหะของโรคต่าง ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่นยุงลาย ทำให้เสี่ยงต่อการระบาดของไข้เลือดออก หรือในป่า มียุงก้นป่อง ที่ทำให้เกิดไข้มาลาเรียซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเกิดน้ำท่วมประมาณ 6 สัปดาห์

สำหรับเรื่องไข้เลือดออก สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความที่หมอหมีเคยเขียน

ตาม link นี้นะครับ //www.facebook.com/note.php?note_id=150783751621364



โรคอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภาวะน้ำท่วม

* เรื่อง ของอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการจมน้ำ หรืออุบัติเหตุการบาดเจ็บอื่น ๆ ถ้ามีบาดแผลอย่าลืมฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และรับยาแก้อักเสบเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

* ภาวะอุณหภูมิในร่างกาย ต่ำผิดปกติ hypothermia มักจะพบในเด็กเล็ก ถ้าติดอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ๆ และทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น




We Care



Dr.Carebear Samitivej






 

Create Date : 25 ตุลาคม 2553   
Last Update : 25 ตุลาคม 2553 20:08:25 น.   
Counter : 2266 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]