Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)
(ดัดแปลงจาก เอกสารของ สมาคมโรครูมาติซึม )

ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ มีบ่อยครั้งที่แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ส่งแล็ป) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแพทย์ยืนยันการวินิจฉัย ประเมินความรุนแรงของโรค วางแผนและติดตามการรักษา บทความชิ้นนี้จะให้ความรู้คร่าว ๆ ถึงความสำคัญของการตรวจทางห้องปฏิบัติการแต่ละอย่าง

ทำไมจึงต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ? เราจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อ

1. ยืนยันการวินิจฉัย เนื่องจากโรคกลุ่มข้ออักเสบประกอบด้วยโรคต่าง ๆ มากกว่า 100 ชนิด โรคข้ออักเสบบางอย่างมีอาการและอาการแสดงคล้ายกันมาก หรือ อาจมีอาการแสดงในระบบอื่น ๆ นอกจากข้อ ร่วมด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงช่วยแพทย์ในแง่ยืนยันการวินิจฉัยและให้ทราบถึงการมีอาการของโรคในอวัยวะอื่น ๆ

2. ติดตามผลการรักษาและติดตามอาการของโรค เนื่องจากโรคข้ออักเสบส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง และ มักจะมีอาการสงบหรือการกำเริบสลับกันไป การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะช่วยแพทย์ให้ทราบถึงความรุนแรงของโรค และการรักษาว่าได้ผลดีหรือไม่ เพื่อจะปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสม

3. ติดตามผลข้างเคียง ยาทุกชนิดมีผลข้างเคียงด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่า ยาจะมีความสามารถในการระงับ ข้ออักเสบได้ดีก็ตาม แต่ก็มีผลข้างเคียงต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบเลือด ตับ ไต เป็นต้น การตรวจทางห้อง-ปฏิบัติการจะทำให้แพทย์ทราบถึงภาวะข้างเคียงที่เกิดขึ้น และสามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมได้


การตรวจเลือด

1. การตรวจความเข้มข้นของเลือดและเม็ดเลือด ในขณะที่มีการอักเสบเรื้อรังของร่างกาย จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการซีดได้เล็กน้อย จำนวนเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อการอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิดจะทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น เกล็ดเลือดในร่างกายจะช่วยให้เลือดในร่างกายแข็งตัว ยาหลายชนิดทำหน้าที่กดไขกระดูกทำให้เกล็ดเลือดต่ำได้

2. การตรวจอีเอสอาร์ (ESR) เป็นการวัดอัตราการตกของเม็ดเลือดแดง ค่าที่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงการอักเสบของร่างกาย ถ้ายิ่งมีค่าน้อย (เม็ดเลือดแดงตกเร็ว) แสดงว่ายิ่งอักเสบมาก

3. การตรวจหน้าที่ตับ เป็นการตรวจวัดหน้าที่การทำงานของตับ และบ่งบอกถึงปริมาณที่ตับถูกทำลาย เนื่องจาก ยาหลายชนิดมีพิษต่อตับ ในขณะเดียวกัน ถ้าตับทำหน้าที่บกพร่อง ก็อาจทำให้การทำลายยาของร่างกายไม่เป็นปกติ เกิดยาสะสมในร่างกาย และเกิดเป็นพิษจากยาได้

4. การตรวจหน้าที่ไต เป็นการตรวจการทำงานของไต ยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิดอาจมีพิษต่อไต เพราะ ไตเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ทำหน้าที่ขับยาออกจากร่างกาย ในกรณีที่ไตบกพร่องจะทำให้ยาคั่งและเป็นพิษต่อร่างกายได้

5. การตรวจเอ็นซัยม์กล้ามเนื้อ โรคข้ออักเสบบางชนิดจะมีการอักเสบของกล้ามเนื้อร่วมด้วย การตรวจเอ็นซัยม์กล้ามเนื้อจะเป็นการบ่งบอกถึงความรุนแรงที่กล้ามเนื้อถูกทำลายจากการอักเสบ และยังใช้ติดตามผลการรักษาได้ด้วย

6. การตรวจหากรดยูริก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์จะพบว่ามีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งกรดยูริกนี้จะตกตะกอนเป็นผลึกสะสมอยู่ตามข้อต่าง ๆ และก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น แต่ผู้ที่มีกรดยูริกสูงไม่จำเป็นเสมอไปที่จะเป็นโรคเก๊าท์ จะถือว่าเป็นโรคเก๊าท์ เมื่อมีระดับกรดยูริกสูงร่วมกับอาการและอาการแสดงของช้ออักเสบ

7. การตรวจหาสารรูมาตอยด์ เป็นการตรวจหาสารโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือด ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะตรวจพบได้ประมาณร้อยละ50-80 การตรวจพบสารโปรตีนชนิดนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค แต่การตรวจพบสารโปรตีนชนิดนี้สามารถพบได้ในโรคข้ออักเสบอื่น ๆ หรือโรคติดเชื้อบางอย่าง โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็น โรครูมาตอยด์ก็ได้ และมีผู้ป่วยโรครูมาตอยด์บางส่วนที่อาจตรวจไม่พบสารรูมาตอยด์ก็ได้

8. การตรวจหาสารแอนตี้บอดี้ต่าง ๆ เป็นการตรวจหาสารโปรตีนในเลือดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย การตรวจพบสารนี้เป็นการบ่งบอกว่าร่างกายได้สร้างสารเคมีต่อต้านเนื้อเยื่อของร่างกายเอง สารนี้มีอยู่หลายชนิดและสามารถพบได้ในกลุ่มอาการโรคข้ออักเสบหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แพทย์จะใช้การตรวจสารเหล่านี้ในการยืนยันการวินิจฉัยและติดตามการรักษา


การตรวจปัสสาวะ

เนื่องจากโรคข้ออักเสบหลายชนิดอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการแสดงทางไตได้ การตรวจปัสสาวะจึงเป็นการดูว่าผู้ป่วยมีไตอักเสบร่วมด้วยหรือไม่ ยาที่ใช้ในการรักษาบางชนิดอาจมีผลต่อการทำงานของไต ในบางครั้งแพทย์อาจทำการเก็บตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งวัน เพื่อตรวจดูปริมาณสารต่าง ๆ ที่ไตขับออกมาตลอดทั้งวัน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความรุนแรงของโรคและตัดสินใจรักษาได้อย่างเหมาะสม


การตรวจ น้ำไขข้อ

การตรวจ น้ำไขข้อเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ โดยเฉพาะจะมีประโยชน์ในการช่วยแยกโรคข้ออักเสบว่าเป็นจากการติดเชื้อ หรือเป็นจากผลึกเกลือต่าง ๆ


การตรวจทางภาพรังสี

มีความสำคัญในการช่วยการประเมินสภาพของข้อว่าข้อได้ถูกทำลายไปในขบวนการอักเสบของข้อมากน้อยเพียงใด และอาจช่วยในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคบางอย่าง ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางภาพรังสีจะค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลานาน เป็นเหตุให้แพทย์ต้องตรวจภาพรังสีซ้ำเป็นระยะ ๆ


การตรวจชิ้นเนื้อ

ส่วนใหญ่แพทย์จะสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบได้ไม่ยากนัก แต่ในบางกรณีที่การวินิจฉัยไม่แน่นอน แพทย์อาจต้องทำการตัดตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและช่วยในการรักษา

การตรวจชิ้นเนื้อ เช่น การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุข้อในกรณีข้ออักเสบ การตรวจกล้ามเนื้อในกรณีกล้ามเนื้ออักเสบ การตัดตรวจผิวหนังและเส้นประสาทในกรณีผิวหนังอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบ การตรวจชิ้นเนื้อกระดูกในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งกระดูก เป็นต้น




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2551 11:33:54 น.   
Counter : 9721 Pageviews.  

การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน



การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน

การฉีดยา ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย มีผู้ป่วยหลายคนที่บอกกับแพทย์ว่าต้องการให้ฉีดยา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข หรือประชาชนทั่วไป ก็มักจะมองแต่ข้อดีของการฉีดยา จนบางครั้งละเลยเรื่องผลเสียที่อาจเกิดขึ้น เช่น

1.การแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ซึ่งอาการแพ้ยานี้อาจเป็นได้ตั้งแต่การแพ้ยาเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นผื่น หน้าบวม ปากบวม จนกระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง

2. การติดเชื้อ หรือการอักเสบบริเวณที่ฉีดยา

3. ราคาแพง

4. ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะ ( ยาฆ่าเชื้อ ) อาจทำให้เกิดการดื้อยา

5. การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย (ถ้าอุปกรณ์การฉีดยาและวิธีการฉีดยาที่ไม่สะอาดพอ)

6. การฉีดยาผิดตำแหน่ง ทำให้แทงถูกเส้นเลือดหรือเส้นประสาท



ทำไมผู้ป่วยจึงชอบฉีดยา?

ก็เป็นคำถามที่มีผู้ทำการศึกษาจากหลายแห่ง พบว่ามีคำตอบที่คล้าย ๆ กันว่า อาจจะเนื่องจากเชื่อว่ายาฉีดออกฤทธิ์แรงกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่ายารับประทาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก เพราะในปัจจุบันยารับประทาน ก็มีการออกฤทธิ์ที่รวดเร็ว อาจช้ากว่าวิธีฉีดประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนประสิทธิภาพก็แทบจะไม่แตกต่างกัน

ยาฉีดควรจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้ ต้องได้ยาอย่างเร่งด่วนทันที หรือ ยาบางชนิดที่มีเฉพาะแบบฉีดเท่านั้น


บทความเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้เลิกฉีดยา หรือ ต่อต้านการฉีดยา เพียงแต่ต้องการให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาเท่านั้น และ ถ้าไม่จำเป็นก็ควรฉีดยา จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย …..
 

 
**************************************
 
 
#RDU20190111
#การฉีดยาเข้ากล้ามมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรงประชาชนจึงไม่ควรขอฉีดยาอย่างพร่ำเพรื่อ
📌 Nicolau syndrome เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดยาบางชนิดเข้ากล้าม มีรายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1925
👉 ยาที่มีรายงานมีหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด ยาปฏิชีวนะบางชนิด รวมทั้งวิตามินชนิดฉีดบางชนิด
👉 กลไกการเกิดเชื่อว่าเป็นผลจากการอักเสบของหลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดงหดตัว เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเือด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดเช่นผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ขาดเลือดไปเลี้ยง จนในที่สุดเกิดเนื้อตายเป็นบริเวณกว้าง หนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการชา และกล้ามเนื้อของแขนหรือขาอ่อนแรงในด้านที่ฉีด กว่าจะรักษาแผลให้หายก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ หากโชคร้ายติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาแทรกซ้อนก็อาจเสียชีวิตได้
✔️ แม้ผลข้างเคียงนี้จะมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันตรายร้ายแรง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรถือหลักปฏิบัติดังนี้
1. ประชาชนลด ละ เลิก พฤติกรรมการขอให้หมอฉีดยา
2. แพทย์ไม่ฉีดยาให้ผู้ป่วยตามคำขอ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
3. พยาบาลฉีดยาให้ถูกเทคนิค ได้แก่ฉีดยาในตำแหน่งที่มีเส้นเลือดน้อยได้แก่บริเวณ upper outer quadrant ของสะโพก ฉีดยาด้วยเข็มที่ยาวพอสำหรับคนไข้แต่ละคนเพื่อให้แน่ใจว่ายาถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ฉีดยาเกินกว่า 5 มล. ในคราวเดียว หากยามีปริมาณมากควรแบ่งฉีดคนละตำแหน่ง
4. ก่อนดันยาเข้าสู่ร่างกายคนไข้ ต้องดูดยากลับก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าปลายเข็มไม่ได้ปักอยู่ที่เส้นเลือด
5. หลังฉีดยาทุกครั้งให้ประชาชนสังเกตความผิดปกติ ถ้ามีอาการปวดรุนแรงผิดปกติ มีการนูนแดงในตำแหน่งที่ฉีด ให้รีบกลับไปพบแพทย์ ห้ามใช้น้ำแข็งประคบ
6. สถานพยาบาลควรรายงานผลข้างเคียงจากการฉีดยาไปยังศูนย์ ADR ของกระทรวงสาธารณสุขเสมอ

📖 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
Nicolau syndrome due to diclofenac sodium (Voltaren®) injection: a case report
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4295277/
Nicolau syndrome: A literature review
https://www.wjgnet.com/2218-6190/full/v4/i2/103.htm
Nicolau syndrome as an avoidable complication
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3326772/

CLINICAL PROCEDURES FOR SAFER PATIENT CARE
https://opentextbc.ca/clinicalskills/chapter/6-8-iv-push-medications-and-saline-lock-flush/?fbclid=IwAR1hjHg2x0qpQEzjIyIx3KpIO-cqmESk-9du_768EKmX7iQ50sFPSDNJkI0



 




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 30 กันยายน 2565 15:54:26 น.   
Counter : 7760 Pageviews.  

ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???




https://www.facebook.com/HATHAILANDfanpage/photos/a.1554175164901090/2189925987992668/?type=3&theater

ข้อมูลที่ผู้ป่วยและญาติ…ควรแจ้งให้แพทย์ ทราบ ก่อนผ่าตัด

1. มีโรคประจำตัวหรือไม่ โรคอะไรบ้าง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหอบหืด

2. ยาที่ต้องกิน หรือ ฉีดเป็นประจำ ชื่อยาอะไร และรักษาประจำที่ไหน

3. เคยแพ้ยาหรือไม่ ถ้าเคยแพ้ยา ยาชื่อว่าอะไร มีลักษณะยาเป็นแบบไหน มีอาการแพ้และรักษาอาการแพ้อย่างไร

4. เคยฉีดยาชาหรือไม่ ถ้าเคยมีอาการแพ้ยาชาหรือไม่

5. กำลังตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร หรือไม่



คำถามที่ควรถาม แพทย์ ก่อนที่จะผ่าตัด

1. ป่วยเป็นโรคอะไร ทำไมถึงจะต้องผ่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ผ่าตัด

2. มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ นอกจากการผ่าตัด เช่น กินยา ใส่เฝือก เครื่องพยุงอื่น ๆ กายภาพบำบัด

3. ข้อดี / ข้อเสีย ของการรักษาด้วยการผ่าตัด

4. การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

5. สามารถปรึกษาขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้หรือไม่ ที่ไหน

6. การผ่าตัดทำที่ไหน คลินิก หรือ โรงพยาบาล

7. จะให้ยาระงับความรู้สึกแบบไหน ฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือ ดมยาสลบ

8. ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะหาย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

9. การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร

10. การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน วิธีกินยา การทำแผล ทำที่ไหน ตัดไหมเมื่อไร วิธีทำกายภาพบำบัด


ควรพูดคุยกันให้เข้าใจ ก่อนที่จะผ่าตัด เพราะเมื่อผ่าตัดไปแล้ว เราคงไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก ... และ การผ่าตัด ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียง หรือ ภาวะแทรกซ้อนได้ ถึงแม้ว่าจะได้ระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ...


ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ???.... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???"
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35

ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และการบล็อกหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=17

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=18







 

Create Date : 14 มกราคม 2551   
Last Update : 22 มกราคม 2562 21:51:11 น.   
Counter : 25752 Pageviews.  

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด



คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

1.การผ่าตัดแบบไหนที่แพทย์แนะนำ
2.ทำไมถึงจะต้องผ่า
3.มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ นอกจากการผ่าตัด
4.ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัด
5.การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
6.จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ผ่าตัด
7.สามารถปรึกษาขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้ที่ไหน
8.แพทย์เคยผ่าตัดด้วยวิธีนี้มามากน้อยแค่ไหน
9.การผ่าตัดทำที่ไหน
10.จะให้ยาระงับความรู้สึกแบบไหน
11.ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะหาย
12.การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร




คำถามเหล่านี้ไม่แนะนำสำหรับกรณีที่เป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน เป็นข้อแนะนำสำหรับการผ่าตัดที่รอได้ เพราะ ท่านจะมีเวลาพอในการซักถามแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดท่าน ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างดีที่สุด

คำถามสำคัญที่สุดก็คือ ทำไมถึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และ มีวิธีรักษาด้วยวิธีอื่นหรือไม่ เพราะการผ่าตัด และการรักษาวิธีอื่น ๆ ก็มีทั้งข้อเสีย (ความเสี่ยง) และ ข้อดี (ประโยชน์) ควรเลือกวิธีรักษาที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

แพทย์ของท่านควรยินดีที่จะตอบคำถามของท่าน ถ้าท่านไม่เข้าใจคำตอบ ให้ซักถามแพทย์เพื่ออธิบาย เพิ่มเติมจนเข้าใจดี ผู้ป่วยที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา มีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับผลของการรักษาที่เกิดขึ้น



1.การผ่าตัดแบบไหนที่แพทย์แนะนำ


ถามแพทย์เพื่อให้อธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัด เช่น มีสิ่งใดบ้างที่ต้องเย็บซ่อม หรือ ตัดออก และทำไม่ต้องทำเช่นนั้น ขอให้แพทย์วาดรูปหรืออธิบายขั้นตอนเกี่ยวกับการผ่าตัด มีวิธีผ่าตัดวิธีอื่นอีกหรือไม่ และทำไมแพทย์ถึงเลือกผ่าด้วยวิธีนี้


2.ทำไมคุณถึงจำเป็นต้องผ่า

มีหลายเหตุผลที่จะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น เพื่อช่วยลดหรือป้องกันอาการปวด เพื่อลดปัญหาหรือช่วยให้การทำงานของอวัยวะดีขึ้น เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน เพื่อช่วยรักษาชีวิต เป็นต้น คุณต้องแน่ใจว่าเหตุผลของการผ่าตัดคืออะไร เหมาะสมกับโรคที่คุณเป็นอยู่หรือไม่


3.มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ นอกจากการผ่าตัด

บางครั้งการผ่าตัดก็ไม่ได้เป็นคำตอบเดียวสำหรับโรคที่เป็น การรักษาด้วยยา หรือ วิธีที่ไม่ผ่าตัด เช่น การเปลี่ยนอาหาร หรือ การออกกำลังกาย อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ ถามแพทย์ถึงข้อดี ข้อเสีย ของการรักษาด้วยวิธีอื่น คุณควรจะรู้ให้มากที่สุดเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุด

ทางเลือกหนึ่งคือการรอดูอาการ ซึ่งแพทย์และคุณอาจรอดูว่าปัญหาที่เป็นอยู่จะดีขึ้นหรือแย่ลง ถ้าแย่ลง คุณอาจเลือกถูกที่ผ่าตัด แต่ถ้าคุณดีขึ้น คุณก็อาจจะเลื่อนการผ่าตัดไปได้ บางทีอาจตลอดชีวิต


4.ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัด

ถามแพทย์ว่าคุณจะได้ประโยชน์อะไรจากการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจจะทำให้คุณกลับมาเดินได้อีกครั้ง

ถามว่าประโยชน์นั้นจะอยู่นานเท่าไร สำหรับการผ่าตัดบางอย่าง อาจได้ประโยชน์อยู่ไม่นานนักและต้องการ การผ่าตัดครั้งที่สองในเวลาต่อมา

เมื่อถามถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ในความเป็นจริงบางครั้งผู้ป่วยก็คาดหวังมากเกินไป ทำให้ไม่พึงพอใจผลที่เกิดขึ้น

ถามแพทย์ของท่านถ้ามีข้อมูลสาธารณเกี่ยวกับผลของการรักษาด้วยวิธีนั้น ว่ามีหรือไม่ หาได้ที่ไหน


5.การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

การผ่าตัดทุกอย่างก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น นี่คือเหตุผลที่คุณจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้กับความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน หรือ ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของการผ่าตัด ซึ่งไม่สามารถบอกได้แน่นอน เช่น การติดเชื้อ การเสียเลือดมากเกินไป ปฏิกิริยาต่อยาระงับความรู้สึก หรือ อุบัติเหตุ ผู้ป่วยบางรายก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากโรคอื่น ๆ ที่เป็นอยู่

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ซึ่ง เป็นสิ่งที่พอบอกได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น การบวม การปวดบริเวณผ่าตัด เวียนศีรษะคลื่นใส้จากยาแก้ปวด เป็นต้น

ถามแพทย์เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัด อาการปวดหลังการผ่าตัดเกิดขึ้นแน่นอน ถามว่าจะปวดมากน้อยขนาดไหน และ แพทย์และพยาบาลจะทำอย่างไรที่จะลดอาการปวดนั้น


6.จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ผ่าตัด

จากการที่คุณได้ทราบถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัด คุณอาจตัดสินใจที่จะไม่ผ่าตัด ถามแพทย์ว่าอะไรที่คุณจะได้หรือจะเสีย ถ้ายังไม่ผ่าตัดในตอนนี้ เช่น ปวดมากขึ้น มีภาวะแทรกซ้อน หรือ โอกาสที่อาจจะหายเอง


7.สามารถปรึกษาขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้ที่ไหน

การที่ได้รับความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นที่คุณจะแน่ใจได้ว่าการผ่าตัดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคุณ คุณควรถามบริษัทประกันของคุณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปรึกษาแพทย์ท่านอื่น ถ้าคุณมีแพทย์ท่านอื่นให้ปรึกษา ก็ควรนำเอกสารบันทึกต่าง ๆ จากแพทย์คนแรก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำการตรวจผลต่าง ๆ ซ้ำ


8.แพทย์เคยผ่าตัดด้วยวิธีนี้มามากน้อยแค่ไหน

ทางหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของการผ่าตัด ก็คือการเลือกแพทย์ที่ได้รับการฝึกเกี่ยวกับการผ่าตัดวิธีนั้นและ มีประสบการณ์ในการทำผ่าตัดวิธีนั้น คุณสามารถถามแพทย์เกี่ยวกับผลของความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อน เกี่ยวกับการผ่าตัด ถ้าทำได้คุณควรซักถามแพทย์ที่รักษาคุณเป็นประจำเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่จะผ่าตัด


9.การผ่าตัดทำที่ไหน

แพทย์ส่วนใหญ่จะทำงานในโรงพยาบาล 1-2 แห่ง ถามแพทย์ว่าการผ่าตัดจะทำที่ไหน เพราะบางทีผลของการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ต่างกัน ก็อาจไม่เหมือนกัน

ปัจจุบัน การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งวิธีที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล และ ทำแบบผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล) ซึ่งการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเพราะคุณไม่ต้องเสียค่าห้องพัก คุณควรถามแพทย์ว่าสามารถผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกได้หรือไม่ เพราะอะไร


10.จะให้ยาระงับความรู้สึกแบบไหน

การให้ยาระงับความรู้สึกจะทำให้ไม่เกิดอาการปวดที่ไม่จำเป็น แพทย์ของคุณจะบอกคุณได้ว่าแบบไหน ที่เป็นการให้ยาระงับความรู้สึกที่เรียกว่า แบบเฉพาะที่ แบบเฉพาะบริเวณ ? เฉพาะส่วน? หรือ แบบยาสลบทั่วไป ?

แบบเฉพาะที่ จะหมดความรู้สึกเฉพาะจุดที่ฉีดยา ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การถอนฟัน ก็จะชาเฉพาะฟัน และ เหงือกรอบ ๆ

แบบเฉพาะส่วน จะหมดความรู้สึกในบริเวณกว้างออกไป ใน 3-4 ชั่วโมง เช่น ส่วนล่างของร่างกาย ในกรณีบล๊อกหลัง

แบบทั่วไป คุณจะหมดความรู้สึกทั้งร่างกาย ตลอดการผ่าตัด โดยที่คุณจะไม่รู้สึกตัวเลย

การให้ยาระงับความรู้สึก ค่อนข้างจะปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ และจะทำโดยวิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) หรือ วิสัญญีพยาบาล (พยาบาลดมยา) ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญและได้รับการฝึกสอนที่จะให้ยาระงับความรู้สึก

ถ้าคุณตัดสินใจที่จะผ่าตัด หาวิธีที่จะได้พบผู้ที่จะให้ยาระงับความรู้สึกกับคุณ และหาข้อมูลว่าเขามีความเชี่ยวชาญทางไหน ถามถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึกในกรณีของคุณ ต้องแน่ใจว่าคุณได้บอกเขาเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นอยู่ รวมถึง การแพ้ยาและ ยาที่คุณกินอยู่ เพราะอาจมีผลต่อการให้ยาระงับความรู้สึก


11.ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะหาย

แพทย์สามารถบอกคุณได้ว่า คุณจะรู้สึกอย่างไร และ อะไรที่คุณจะทำได้ หรือ ห้ามทำ ในช่วงวัน สัปดาห์ หรือ เดือน แรก ๆ หลังผ่าตัด และคุณจะต้องอยู่ใน รพ.นานเท่าไร

สอบถามถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือคุณเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน การที่ได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อต้องกลับบ้าน

ถามว่าเมื่อไรที่คุณสามารถกลับไปเล่นกีฬา หรือ กลับไปทำงานได้เหมือนปกติ คุณคงไม่ต้องการทำอะไรที่จะทำให้คุณหายช้าลง การยกของหนัก 5 กิโลกรัมอาจดูเหมือนว่า "ไม่หนัก" แต่ หลังผ่าตัด มันอาจหนักเกินไปก็ได้ คุณควรทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อจะได้แน่ใจว่าคุณจะหายดีเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้


12.การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร

ระบบประกันสุขภาพสำหรับการผ่าตัด อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด บางส่วนคุณอาจต้องจ่ายเอง ก่อนผ่าตัดควรถามบริษัทประกันของคุณว่าอะไรบ้างที่จะจ่ายให้ และคุณต้องจ่ายเองเท่าไร

ถามแพทย์เกี่ยวกับ "ค่าดูแลของแพทย์" ว่ารวมอะไรบ้าง ค่าดูแลของแพทย์โดยทั่วไปจะรวมถึงการเยี่ยมหลังผ่าตัดด้วย คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับ รพ.เกี่ยวกับการดูแลทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก รวมถึงวิสัญญีแพทย์ และ การดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด


ดัดแปลงจาก :

Questions To Ask Your Doctor Before You Have Surgery.

Consumer brochure. AHCPR Publication No. 95-0027. Agency for Health Care Policy and Research, Rockville, MD.

https://www.ahcpr.gov/consumer/surgery.htm

ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ???.... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???"

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35

ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และการบล็อกหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=17

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=18




 

Create Date : 12 มกราคม 2551   
Last Update : 22 มกราคม 2562 21:52:57 น.   
Counter : 18983 Pageviews.  

ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์ ... ใช้ผิด ติดคุกได้

ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์

ใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่มักจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับใบรับรองแพทย์มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และ นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง บางครั้งทำให้ปัญหาระหว่างแพทย์ กับ ผู้ป่วย ขึ้นมา เราลองมาดูกันสิว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร สำคัญอย่างไร ....


ใบรับรองแพทย์ คือ รายงานสภาวะสุขภาพอนามัยของผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งออกโดย แพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของ แพทย์สภา

ใบรับรองแพทย์ จะบอกถึงภาวะสุขภาพอนามัย การตรวจรักษา ความเห็นในด้านการแพทย์ นอกจากนั้นยังรวมถึงการรับรองการเกิดและการตายด้วย



ใบรับรองแพทย์ อาจแบ่งได้ 3 ประเภท
1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ )
2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองความเจ็บป่วย )
3. การรับรองการเกิดและการตาย
 
***********************************
 
1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติของ สุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ )
 



จะรายงานถึงความสมบูรณ์ของร่างกายทั่วไป และ การไม่เป็นโรคบางชนิด ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตามความต้องการของแต่ละ บริษัท / หน่วยงาน ที่ต้องการใช้

บางกรณีอาจให้แพทย์ออกความเห็นด้วย เช่น ให้ออกความเห็นว่าเหมาะสมกับงานที่ต้องทำหรือไม่ ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ถูกต้องมากที่สุด


อัปเดต  ๑๒กพ.๒๕๖๑
"ใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน..รพ.ใดยังไม่ใช้..เปลี่ยนด่วน"

แพทยสภาได้รับรอง "ใบรับรองแพทย์" ชนิดที่มี 2 ท่อน เพื่อแก้ปัญหาข้อกฎหมาย โดยให้คนไข้รับรองตนเอง ในโรคที่แพทย์ไม่มีทางทราบได้จากการตรวจปกติ ในท่อนแรก คู่ขนานกับ การที่แพทย์รับรองเฉพาะโรคที่ตรวจได้และระบุตามกฎหมาย ในท่อนที่ 2 เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ตนเองไม่สามารถทราบได้จากการตรวจปกติ มานานแล้ว โดยเพิ่มที่เป็นตัวแดงคือ สัญญานชีพ เลขที่บัตรประชาชน (กันปลอมตัวมา) ประวัติต่างๆที่เราอาจพลาดถ้าไม่บอก และให้คนไข้รับรองประวัติเอง (ไม่ใช่แพทย์รับรอง เพราะไม่มีทางรู้) แพทย์รับรองเฉพาะที่ตรวจที่เห็นเท่านั้นครับ เพื่อเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่า

ทั้งนี้ออกประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 (10ปีที่แล้ว) ตามมติการประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 8/2551 วันที่ 14 สิงหาคม 2551 โดยได้แจ้งให้มีการปรับใหม่ ลงจดหมายข่าวแพทยสภา และประกาศทาง website เพื่อให้ สถานพยาบาลทุกแห่งนำมาใช้ให้เข้าเกณฑ์ตามข้อกฎหมาย และ ให้ดาวน์โหลดได้ที่ website แพทยสภา เพื่อเป็นต้นแบบ ตามลิ้งนี้

https://www.tmc.or.th/file_download/doctor161209.pdf

ซึ่งสถานพยาบาลส่วนใหญ่ได้นำไปใช้แล้ว แต่ยังพบว่าบางสถานพยาบาลยังคงใช้แบบท่อนเดียว (ไม่มีผู้ป่วยรับรองตนเอง) ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการรับรองสุขภาพ จึงขอแจ้งมาอีกครั้งให้พิจารณาเปลี่ยนเป็นใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน ที่แพทยสภารับรองแล้ว ให้สอดคล้องกฎหมายต่อไป

**************************************

ใบรับรองแพทย์ : ไทย-อังกฤษ มาตรฐาน ที่ได้รับการรับรองจากมติคณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 วันที่ 19 เมษายน 2561  สามารถดาวน์โหลดได้ที่แพทยสภา ไปใช้ได้ฟรี ที่ https://tmc.or.th/detail_news.php?news_id=1044&id=4
 

ตัวอย่างภาษาอังกฤษ


คัวอย่างภาษาไทย


ใบรับรองแพทย์ เพื่อทำใบขับขี่ (ใบอนุญาตขับรถ)  เพิ่มข้อมูลส่วนที่ ๑ ข้อ๔ โรคลมชัก




***************************************

2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย
 




จะรายงานถึงสภาพความเจ็บป่วยที่เป็น ระยะเวลาของการเจ็บป่วย ระยะเวลาในการรักษา วิธีรักษาพยาบาล และการพยากรณ์โรคหลังจากสิ้นสุดการรักษา ซึ่งจะมีผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นี้ไปใช้ต่อ เช่น

- ผู้ป่วยอาจนำใบรับรองแพทย์นี้เพื่อประกอบการลาพักงาน การลาออกจากงาน การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล หรือ เรียกร้องการชดใช้เนื่องจากการบาดเจ็บ หรือ สูญเสียอวัยวะต่าง ๆ

- เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน อาจนำไปใช้เพื่อประกอบในการพิจารณาคดี

 
**********************************

3. การรับรองการเกิดและการตาย

ตามกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 แพทย์ผู้ทำคลอดต้องทำใบรับรองการเกิด เพื่อให้บิดามารดาของทารกไปแจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบ รวมถึงการรับรองการตายด้วย

สำหรับการตายผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และแพทย์ต้องทำรายงานความเห็นแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ด้วย




เมื่อบุคคลมีความจำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แพทย์ก็ควรทำให้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นได้มาพบแพทย์ และได้รับการตรวจสุขภาพหรือดูแลรักษา ตามที่เป็นจริง

ส่วนว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำไปใช้อย่างไร นำไปใช้ได้หรือไม่ ... ก็ขึ้นอยู่กับระเบียบ วิธีปฏิบัติของบริษัท หรือ หน่วยงานนั้น ๆ แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเท่านั้น … เป็นการแสดงความเห็นทางการแพทย์ แต่ไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย ที่จะไปบังคับให้ผู้เกี่ยวข้อง (ผู้ป่วย พนักงาน เจ้าของกิจการ บริษัทประกัน ฯลฯ ) ต้องทำตามความเห็นของแพทย์ ...

 
***************************************

แพทย์กับใบรับรองแพทย์

การออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง หรือ เป็นเท็จ แพทย์อาจได้รับโทษได้อย่างน้อย 2 สถานคือ

1. ความผิดทางกฎหมายอาญา มาตรา 269

ซึ่งระบุว่า ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประกอบการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9

ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยตั้งใจหรือให้ความเห็นโดย ไม่สุจริตในเรื่องใดเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้น พักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ



ประชาชนกับใบรับรองแพทย์

สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และ นำใบรับรองนั้นไปใช้ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 269 ด้วย (ผู้ใดทุจริต ใช้ หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

จะเห็นได้ว่าใบรับรองแพทย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของกฎหมาย และการที่ผู้ป่วยจะขอใบรับรองแพทย์ก็ต้องคำนึงถึงว่าจะนำใบรับรองแพทย์ไปใช้เพื่ออะไร .. แพทย์จะได้ออกใบรับรองให้ถูกต้องกับการนำไปใช้มากที่สุด

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแพทย์และผู้ป่วยก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความถูกต้องและเป็นจริง เพราะการออกใบรับรองแพทย์ที่เป็นเท็จก็มีความผิดทางกฎหมายทั้งแพทย์ และ ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นั้นไปใช้



กฎหมายที่ควรทราบเพิ่มเติม

1.1 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

1.2 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 279 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูก-กระทำร้าย ได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบสองปี อันตรายสาหัสคือ

1.ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือ เสีย ญาณประสาท

2.เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

3.เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

4.หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

5.แท้งลูก

6.จิตพิการอย่างติดตัว

7.ทุพพลภาพ หรือป่วยเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

8.ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียะกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน


ปล. ใบรับรองแพทย์ ไม่ใช่แค่เรื่องของ แพทย์ กับ ผู้ป่วย (ญาติ) แต่ ใบรับรองแพทย์ จะถูกตรวจสอบโดย "บุคคลที่ ๓" เสมอ .. ดังนั้น แพทย์ ก็ต้องระมัดระวังตนเอง อย่าทำเพราะเกรงใจ หรือ อามิสสินจ้าง เพราะ ถ้าเกิดปัญหาขึ้น อาจหมดอนาคต 

หวังว่า ผู้ป่วย(ญาติ) จะเข้าใจและเห็นใจแพทย์ มากขึ้นนะครับ


"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
 


ฮั้วคนไข้ โกงใบรับรองแพทย์ หักหลังวิชาชีพ ส่อเพิกถอนใบอนุญาต!
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 18 พ.ค. 2559
https://www.thairath.co.th/content/621766#


เคยไหม? ไม่ได้ป่วย แต่ไปให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้
แล้วรู้ไหมว่า...แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์เท็จ ถือว่ามีความผิด!

การที่ไม่ป่วยและขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่นั้น แพทย์มีความผิดอย่างไร จะมีบทลงโทษในขั้นไหน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีผู้ที่จะมาให้คำตอบในประเด็นข้างต้น ซึ่งคงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม...

ทีมข่าวฯ ยิงคำถามแรกกับนายกแพทยสภาว่า การออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไข้ทั้งที่ไม่ได้มีอาการป่วย มีความผิดหรือไม่  ?

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า หากคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง และแพทย์ไปออกใบรับรองว่าป่วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดที่แพทย์ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณ ตาม ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เจตนาทุจริตในการออกใบรับรองแพทย์ และ ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ให้ความเห็นโดยไม่สุจริตอันเกี่ยวกับวิชาชีพเวชกรรม

“เคยเกิดกรณีการที่แพทย์ไม่ได้ตรวจคนไข้ และเขียนใบรับรองแพทย์เซ็นชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อคนไข้มาเอาก็มาใส่ชื่อ อันนี้เป็นความผิด เพราะแพทย์ไม่ได้ตรวจคนไข้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นการขายใบรับรองแพทย์ และแพทยสภาได้เคยดำเนินคดีไปแล้ว โดยการพักใช้ใบอนุญาต เพราะไม่ซื่อสัตย์ ผิดจรรยาบรรณ จากการออกใบรับรองแพทย์ให้โดยที่ไม่ได้ตรวจ” นายกแพทยสภา ยกตัวอย่าง

หากคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง และแพทย์ไปออกใบรับรองว่าป่วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดที่แพทย์ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณ


แล้วถ้าหากว่า คนไข้เกิดเจ็บป่วยจริงๆ แต่แพทย์ให้หยุดพักเกินกว่าความเป็นจริง มีความผิดหรือไม่ ?

นพ.สมศักดิ์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า การที่แพทย์จะลงความเห็นว่า ให้คนไข้สมควรหยุดพักเพื่อรักษาอาการป่วยเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น จะต้องตรวจสอบดูว่า มีเหตุผลเพียงพอสมควรที่จะให้หยุดพักนานแค่ไหน เช่น ตามความเป็นจริงต้องหยุดพัก 7 วัน แต่กลับให้คนไข้หยุดพัก 30 วัน เป็นต้น หากให้คนไข้หยุดพักเกินความเป็นจริง และมีผู้เสียหายจากการที่คนไข้หยุดพักนาน และมาฟ้องร้องกับแพทย์ผู้เขียนใบรับรองแพทย์ขึ้นมานั้น แพทยสภาจะต้องเรียกมาสอบสวนว่า เหตุผลอะไรที่แพทย์วินิจฉัยให้คนไข้หยุดพัก

ฉะนั้น จึงไม่สามารถตอบได้ว่า แพทย์ให้คนไข้หยุดพักเกินความเป็นจริงผิดหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบสวน โดยจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น ผลแล็บ ผลการตรวจ ประวัติการรักษา อาการของคนไข้ การให้ยา เป็นต้น จึงจะสามารถตอบได้ว่า คนไข้คนนั้น สมควรที่จะหยุดพักเป็นเวลาเท่าใด และแพทย์ลงความเห็นให้พักนานเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่


หากแพทย์ออกผลการรักษาอันเป็นเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์ในทางคดีความ มีความผิดหรือไม่ ?

นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า มีความผิดแน่นอน นอกจากจะมีความผิดทางจริยธรรมของแพทย์ โดยการทุจริตในวิชาชีพแล้วนั้น ยังมีความผิดในทางคดีอาญา เรื่องการออกเอกสารอันเป็นเท็จอีกด้วย

“แพทยสภาสามารถเรียกมาสอบสวนได้ว่าจริงหรือไม่จริง หากพบว่า ไม่จริงก็เป็นความผิด ถูกลงโทษแล้วแต่ความผิดว่าร้ายแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการสอบสวนและพิจารณา ซึ่งการที่แพทย์เขียนอะไรที่เป็นเรื่องเท็จ จะมีโทษหนักทั้งนั้น เพราะแพทยสภาไม่ต้องการให้หมอโกหก ไม่ซื่อสัตย์” นายกแพทยสภา ย้ำชัด

ด้าน นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ อธิบายถึงข้อกฎหมายในการออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์และหลีกเลี่ยงในการไปศาลว่า ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์เท็จไปยื่นต่อศาล จงใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่มาศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 จะโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท

ขณะเดียวกัน แพทย์รู้อยู่แล้วว่าคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง แต่ออกเอกสารอันเป็นเท็จให้ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท

แพทยสภา จ่อเข้าตรวจสอบทันที เมื่อมีผู้เสียหายร้องเรียน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีคดีของใบรับรองแพทย์ ซึ่งสงสัยว่าเป็นเท็จ หรือไม่สุจริตนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะร้องเข้ามายังแพทยสภาให้ไปตรวจสอบ จู่ๆ แพทยสภาจะเข้าไปตรวจสอบคนนั้นคนนี้คงไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องมีผู้ร้องเรียนหรือมีผู้เสียหาย จากนั้น แพทยสภาก็จะไปตรวจร่างกายคนไข้ว่า เป็นโรคอะไร แพทย์ได้มีการรักษาหรือให้ยาอะไรบ้าง มีผลตรวจหรือหลักฐานยืนยันอะไรบ้าง เมื่อตรวจสอบพบว่า ไม่สุจริตจริง จึงดำเนินคดีกับแพทย์ท่านนั้น

เมื่อถามถึงบทลงโทษทางจริยธรรมของแพทย์ที่กระทำความผิด นพ.สมศักดิ์ อธิบายถึงบทลงโทษว่า มีตั้งแต่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตแล้วแต่การสอบสวนว่าพักนานเท่าใด ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 2 ปี และสุดท้ายขั้นร้ายแรง คือ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งวิธีการพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของคดีนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเป็นประวัติติดตัวไปตลอดว่าแพทย์ท่านนี้เคยมีประวัติอะไรมาบ้าง จึงค่อนข้างเสี่ยงมากหากแพทย์คิดที่จะกระทำความผิด

ออกใบรับรองแพทย์ เลื่อนไปศาล อุทาหรณ์ของแพทย์ที่ไม่ควรเกิด

ทีมข่าวฯ ถามถึงเหตุการณ์ในอดีตที่แพทย์เคยออกผลการรักษาที่เป็นเท็จให้กับคนไข้ ว่าเคยมีบ้างหรือไม่ ?

นพ.สมศักดิ์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ที่แพทย์ออกใบรับรองแพทย์เป็นเท็จให้กับคนรู้จักกัน ซึ่งเคยมีบุญคุณช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก่อน เพื่อที่จะขอเลื่อนการไปศาล แพทย์ท่านนั้น เกรงใจและคิดว่าเลื่อนไปไม่กี่วันคงไม่เป็นอะไร แต่ปรากฏว่า มีการฟ้องร้องขึ้นมาว่า แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ไม่เป็นความจริง ก่อนที่แพทย์ท่านนั้นจะได้รับโทษจากการกระทำความผิดทางจริยธรรม กลับตัดสินใจปลิดชีพตัวเองหนีความผิดทันที

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ไม่กล้ากระทำความผิดแล้ว เพราะจะมีประวัติติดตัวไปตลอดชีวิตและต้องหยุดพักงานด้วย โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่ทำ เพราะหากตัดสินใจที่จะทำก็แสดงว่า แพทย์เชื่อว่ามีข้อมูลที่มาสนับสนุนให้สามารถทำได้จริงๆ เพราะการกระทำผิดย่อมมีความเสี่ยงต่อวิชาชีพอย่างแน่นอน

"การที่แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์ว่า บุคคลผู้นั้นแข็งแรงดี หรือป่วยหนักมาก จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ หากแม้แต่จะคิดช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องจริง แม้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ ถือว่ามีความผิด เพราะคนที่ประกอบอาชีพหมอต้องมีความซื่อสัตย์!" นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา.


.................................



กระทู้ ในห้องสวนลุม พันทิบ   หมอ(รพ รัฐ)มาตรวจที่บ้าน สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ไหมครับ?
https://pantip.com/topic/35176405

๒๐พค.๒๕๕๙  ขอร่วมแสดงความเห็นเรื่องใบรับรองแพทย์ อย่างเดียว .. และ ความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ห้ามนำไปอ้างอิงกับศาล ^_^

๑. การออกใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่ "แพทย์" สามารถทำได้  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

๒. สถานที่ออกใบรับรองแพทย์ มีไว้เพื่อ "เพิ่ม" ความน่าเชื่อถือว่า มีหลักแหล่ง มีที่ทำการอยู่จริง ( ไม่มีสถานที่ฯ  ก็ได้ แต่ถ้ามีระบุ ก็ต้องเป็นสถานที่จริง ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของใบรับรองแพทย์นั้นลดลง  เพราะ เป็นข้อมูลเท็จ )

๓. การออกใบรับรองแพทย์ เป็น "ความเห็น" ของแพทย์ท่านนั้น ซึ่งต้องอ้างอิงตามหลักวิชาการ ( ซึ่งอาจไม่เหมือนกันกับแพทย์ท่านอื่น เพราะ)

๔. แพทย์ ผู้ออกใบรับรองแพทย์ (ซึ่งเป็นเอกสารทางกฏหมาย) และ ผู้นำใบรับรองแพทย์ไปใช้ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลที่จะตามมา

๕. ใบรับรองแพทย์ ก็เป็น "เอกสาร" อย่างหนึ่ง เหมือนกับ เช็คธนาคาร ธนบัตร ฯลฯ ซึ่ง "ตัวเอกสาร" จะต้องผูกติดกับ ความน่าเชื่อถืออื่นด้วยเสมอ ถ้าไม่มีความน่าเชื่อถือ ใบรับรองแพทย์ ก็เป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึก

๖. นายจ้าง หน่วยงานรัฐ ศาล ฯลฯ มีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อถือ ไม่ทำตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์นั้นก็ได้ ( แต่ นายจ้าง หน่วยงานรัฐ ศาลฯ ก็ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาเช่นกัน )  

............................

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1111345248926280&set=a.115271105200371.14950.100001524474522&type=3&theater
 
ยินดีกับ เลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของ น้องหมอใหม่ ปี 2559 ทุกคนที่น้องทุกคนได้รับในวันนี้

น้องสามารถรักษาคนไข้ ได้ตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม อ่ายภาคภูมิใจ ที่อุตสาหะ เรียนวิชาแพทย์ จนจบมาตลอด 6 ปี ตามมาตรฐานของแพทยสภา นอกจากรักษาแล้ว น้องใช้เขียนใบรับรองแพทย์ได้..ทั้งการรับรองการป่วย (ที่ต้องให้วันพักที่เหมาะสมตามโรคและตรวจสอบได้ ) ทั้งการรับรองสุขภาพแข็งแรง (ต้องเห็นคนไข้ เคยมีจนท.ขอให้เขียนรับรอง บอกแข็งแรงแต่คนไข้ถูกรถชนขาหักอยู่ อีกรพ. หมอโดนคดีใบรับรองเท็จแทน) ดังนั้นหากไม่เห็นคนไข้ ห้ามออกให้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จำแม่นๆนะครับ

การออกใบรับรองเท็จ น้องจะต้องโทษอะไรบ้าง

1. ผิดคดีอาญา ตามมาตรา 269 ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ..ติดคุกปุ๊ป แพทยสภายึดใบประกอบวิชาชีพฯ ตามทันที

2. ผิดข้อบังคับ จริยธรรม แพทยสภา 2549 หมวด 4
ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เจตนาทุจริตในการออกใบรับรองแพทย์
ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ให้ความเห็นโดยไม่สุจริตอันเกี่ยวกับวิชาชีพเวชกรร

โดยโทษตามข้อบังคับกระบวนการพิจารณาคดี 2548 คือ
ข้อ2.2 พฤติกรรมที่ปรากฏว่าผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมนั้น หมวดใดข้อใด พร้อมพิจารณาเหตุอันควรปรานีตามข้อ 52 วรรคสอง โดยอนุโลม และให้ลงโทษทางจริยธรรมอย่างใดอยางหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ภาคทัณฑ์
3. พักใช้ใบอนุญาตมีกําหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน2ปี
4. เพิกถอนใบอนุญาต

3.โทษวินัย ราชการ ตำรวจ หรือ ทหารด้วย มีโอกาสจะถูกลงโทษ ตั้งแต่ตักเตือนจน สูงถึงถูกปลดออกหรือให้ออกได้

4.โทษทางสังคม ประวัติติดตัว มีคดีจริยธรรม จะเรียนต่อ จะทำอะไร ใครๆรู้ไปหมด ..เผลอๆทำให้หมดสิ้นอนาคตได้..

อย่าชะล่าใจ อย่าพลาด เตือนหมอใหม่ด้วยความหวังดีนะครับน้องๆ


**********************************




 
ใบรับรองแพทย์ ถือเป็น เอกสารทางกฎหมาย .. ไม่ใช่แค่กระดาษเปื้อนหมึก ..
 
ถ้าใช้ผิด ก็ติดคุกได้ ทั้งหมอ ทั้งผู้ป่วย ทั้งผู้นำไปใช้ .. เข้าใจตรงกันนะครับ ...^_^

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::


กรมการขนส่งทางบก ระบุ!!! ตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามรูปแบบที่แพทยสภากำหนด เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการ ด้านใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ครอบคลุมทั้งการขอใหม่ การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท

       นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป นั้น กำหนดให้การขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นระเบียบเรียบร้อย กรมการขนส่งทางบกจึงออกระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถและบัตรประจำตัวคนขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการต่ออายุใบอนุญาตผู้ประจำรถ พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่ต้องการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทุกชนิดทุกประเภท ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการทุกครั้ง ประกอบด้วย การขอใหม่ กรณีไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถมาก่อน การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท โดยใบรับรองแพทย์นั้นต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของแพทยสภา มีสองส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเองและส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด 

       อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า การต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เดิมจะไม่มีการกำหนดให้ใช้เอกสารใบรับรองแพทย์ แต่ด้วยข้อเท็จจริงสมรรถภาพของร่างกายของผู้ขับรถมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นและอาจมีโรคประจำตัว หรืออาจมีเหตุให้สมรรถภาพของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถขับรถได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ขับรถเข้ารับการตรวจรับรองจากแพทย์ก่อนเบื้องต้น และจะมีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายที่จำเป็นต่อการขับรถเมื่อมาติดต่อที่สำนักงานขนส่งทุกแห่ง ประกอบด้วย การทดสอบการมองเห็นสี การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบสายตาทางกว้าง และการทดสอบปฏิกิริยา สำหรับใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง โดยผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถ สามารถแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอรับใบรับรองแพทย์ เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้และเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ส่วนในอนาคตจะมีการกำหนดสภาวะโรคที่ต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถเพิ่มเติมหรือไม่นั้น กรมการขนส่งทางบกจะประสานความร่วมมือกับแพทยสภาอย่างใกล้ชิดต่อไป

https://www.dlt.go.th/th/public-news/view.php?_did=2816

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ข้อสังเกตคลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

๑.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต ๑๑ หลัก ติดไว้หน้าคลินิก

๒.แสดงใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล

๓.แสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล

๔.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปี ของปีปัจจุบัน

๕.แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพ พร้อม ชื่อและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ

๖.แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และ สามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้

๗.แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สิทธิผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นง่าย

 

อ้างอิง:

คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข

โทร02 193 7000 ต่อ 18416 - 7

www.mrd.go.th

FB@สารวัตรสถานพยาบาลOnline

https://www.facebook.com/สารวัตรสถานพยาบาล-Online-1502055683387990/



......................................................................................



"ใบความเห็นแพทย์"
.
1. #ใบความเห็นแพทย์ เป็นเอกสารการออกความเห็นของแพทย์ เกี่ยวกับโรค และการรักษาพยาบาล ตลอดจนผลของโรคและการหยุดงานเป็นต้น
.
2. #ใบความเห็นแพทย์ มักสับสน กับ #ใบรับรองแพทย์ ซึ่งจะใช้รับรองสุขภาพโดยเฉพาะในการสมัครเรียนสมัครงาน และรับรองว่าสุขภาพปกติ ส่วนใบความเห็นใช้ในกรณีที่ป่วย
.
3. การออกความเห็นของแพทย์นั้น สามารถให้ความเห็นในผู้ป่วยที่ดูแล หรือดูแลร่วมได้ โดยความเห็นต้องสอดคล้องกับหลักฐานและเวชระเบียนในการรักษาพยาบาล
.
โรงพยาบาลสามารถมอบหมายให้แพทย์ซึ่ง ไม่ได้ทำการรักษา สามารถออกใบความเห็นแพทย์ได้เช่นเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เช่นกรณีแพทย์ผู้รักษา ไม่อยู่ ไปต่างประเทศหรือลาออกไปแล้ว หรือกรณีมีแพทย์รักษาหลายคนแต่มอบหมายให้ท่านใดท่านหนึ่งลงความเห็น รวมถึง ความเห็นทางนิติเวช ของผู้เสียชีวิต โดยต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามเวชระเบียน และสามารถตรวจสอบได้ กับหลักฐานของสถานพยาบาล
.
4. ในกรณีแพทย์ออกความเห็น ด้วยตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อความเห็นดังกล่าว และต้องสามารถตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ทางวิชาการได้
.
5. ในการตรวจสอบความเห็นของใบความเห็นแพทย์ ต้องตรวจสอบ ตั้งแต่โรงพยาบาล ถูกต้องหรือไม่ เป็นแพทย์จริงหรือไม่ แพทย์เป็นผู้ลงความเห็น และลงนามเองหรือไม่ ข้อมูลความเห็นตรงกับสำเนาที่เก็บไว้ที่โรงพยาบาลหรือไม่ และตรงกับข้อมูลในเวชระเบียนหรือไม่ มีการถูกแก้ไขหรือไม่ ซึ่งจะตรวจสอบได้กับสถานพยาบาล ที่เป็นผู้ออกใบความเห็นแพทย์
.
6. หน่วยงานที่รับใบความเห็นแพทย์สามารถขอตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและสำเนาได้จากสถานพยาบาล ที่ออกเอกสาร
.
7. ในกรณีที่สงสัยความสุจริตของใบรับรอง หรือ ใบความเห็นแพทย์ ผู้ได้รับผลกระทบ /ผู้เสียหาย สามารถกล่าวหา/กล่าวโทษแพทย์ ให้แพทยสภาตรวจสอบมาตรฐานการออกความเห็นทางจริยธรรมได้ ตามข้อบังคับจริยธรรมแพทยสภา
.
8. การแก้ไขหรือปลอมแปลงใบความเห็นแพทย์ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
.
จะเห็นได้ว่าใบความเห็นแพทย์นั้นมีขั้นตอนการดูแล รับผิดชอบ และแนวทางปฏิบัติชัดเจนครับ
.
หมออิทธพร
22/08/2565

Ittaporn Kanacharoen
https://www.facebook.com/ittaporn/posts/pfbid05JSLkZ7C5ohVx2Vn3d3vV79eLXYp2pY2aX3YXUyX81dMhVNmVbYce36eqFe8PTUCl

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=07-07-2017&group=15&gblog=80
ช่องทางร้องเรียนเกี่ยวกับ ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18
ไปคลินิกแล้ว จะดูอย่างไรว่า ผู้ที่ตรวจรักษา เป็น หมอจริง ?
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-07-2020&group=7&gblog=238
แขวนป้ายแขวน ใบว. ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-11-2015&group=7&gblog=193
ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-07-2008&group=7&gblog=3
ข้อแนะนำเมื่อต้องรับการรักษา
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2007&group=4&gblog=2
คำถาม..ที่ควรรู้..คำตอบ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-01-2008&group=4&gblog=3
เคล็ดลับ20 ประการ ที่จะช่วยคุณ "ป้องกันความผิดพลาดทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการสุขภาพ "...
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=10-2010&date=19&group=27&gblog=52
หมอคนไหนดี“ ??? .... คำถามสั้น ๆ ง่ายๆ แต่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ..
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=14-01-2012&group=15&gblog=42
ผลของการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=01-2008&date=05&group=27&gblog=22
 ข้อเท็จจริงในการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยแพทย์
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=06-2013&date=11&group=27&gblog=12
ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือกโดยอ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-09-2011&group=7&gblog=149
หน้าที่อันพึ่งปฏิบัติของผู้ป่วย(มิย.๖๓) สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย(สค.๕๘) สิทธิผู้ป่วย(เมย.๔๑)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=23-12-2007&group=4&gblog=1
ความรู้เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=06-01-2008&group=4&gblog=5
 




 

Create Date : 06 มกราคม 2551   
Last Update : 22 สิงหาคม 2565 15:19:52 น.   
Counter : 163361 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]