Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

2557 12 13 กระดูกหักรักษาอย่างไรดี เมื่อไหร่หาย กรอ ศิลป์ในสวน

วันเสาร์ บ่ายสองโมง-บ่ายสามโมง วันดีเวลาดีที่เราจะได้มาพบกัน ในรายการ " คุณหมอ ขอคุย (เรื่องดี ๆ ) "

สถานีวิทยุชุมชน เครือข่ายประชาชนกำแพงเพชร 100.25 mHz.

ดำเนินรายการโดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์

พูดคุยหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจในกำแพงเพชรบ้านเรา ร่วมแสดงความคิดเห็น โทรฯ 055- 714 417

วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง

๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย

- กระดูกหักรักษาอย่างไรดี ? เมื่อไหร่หาย ?

๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา

- สรุปการเข้าร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ( กรอ.จังหวัดกำแพงเพชร ) ครั้งที่ ๓ /๒๕๕๗ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร

- โครงการศิลป์ในสวน ครั้งที่ ๑ Homemade Handmade วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ สนามหญ้าในสวนสิริจิตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร

๓. ข่าวสาร และ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดงานโน่นนี่นั่น ของบ้านเรา

- วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐น. ณ สนามหญ้าในสวนสิริจิต เทศบาลเมืองฯ โครงการ ศิลป์ในสวน ครั้งที่ ๑ HomemadeHandmade จัดกิจกรรมแบบกันเองง่าย ๆ ชิ้วชิว เน้นความสนุกสนาน อ่านหนังสือในสวน อ่านนิทานในสวน ศิลปะ ในสวน ดนตรีในสวน ขายของในบ้านเก่าบ้านเราใหม่บ้านเขา reuseGarage sale ถนนคนเดิน Art lane Handmade Homemade นักเรียน นักศึกษา เยาวชน Handmade DIY เสวนานั่งคุย กับ หมอ ครู ดนตรี ศิลปะ เช่นภาษาอังกฤษง๊ายง่าย โรค สุขภาพ ดนตรี ฯลฯ

เอาเสื่อ ผ้าใบมาปูขายเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องติดต่อจองก่อนนะครับ สนใจติดต่อกับ ผู้ประสาน คัดกรองของขาย จัดพื้นที่ ...พี่แขก 089-496 8726 https://www.facebook.com/lotus.kpp

- วันพฤหัสที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๐๐ น. ขอเชิญชม กายกรรมซินเกียงมหากุศล ณ ลานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สิริจิตอุทยาน รายได้ทั้งหมดมอบให้ ร.ร.กำแพงเพชรพิทยาคม ( ไม่หักค่าใช้จ่าย) บัตรราคาใบละ ๕๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท สนใจติดต่อ เฟส สมาคมศิษย์เก่าฯ คลินิกแพทย์พนมกร (โทร ๐๕๕ - ๗๑๔๒๙๙ ) หรือที่ ร.ร.กพ ( ๐๕๕ – ๗๑๑๒๑๒ )

- วันที่ ๒๖ – ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ มหกรรมสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์ชุมชนของดี ๔ ภาค ในงาน OTOP mobile to thefactory and festival ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร


๑.ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย

กระดูกหัก รักษาอย่างไรดี ?

จุดมุ่งหมายของการรักษา

เพื่อให้กระดูกที่หัก เมื่อหายแล้ว กลับมาอยู่ในสภาพ ใกล้เคียงกับปกติ มากที่สุด

ลดผลข้างเคียงลดภาวะแทรกซ้อนให้ น้อยที่สุด

ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด

แนวทางรักษา

1.วิธีไม่ผ่าตัด เช่น ใช้ผ้ายืดพัน ใส่อุปกรณ์พยุงข้อใส่เฝือก

2.วิธีผ่าตัด เช่น

2.1 ผ่าตัดทำความสะอาดและจัดกระดูกให้เข้าที่ แล้วใส่เฝือก ใส่เหล็ก หรือ อุปกรณ์อื่น ๆ

2.2 ผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกเช่น ลวด แผ่นเหล็ก แกนเหล็ก แท่งเหล็กดามกระดูกด้านนอก

วิธีไม่ผ่าตัด

ข้อดีคือ ไม่เจ็บ ไม่ต้องเสี่ยงกับการรับเลือด ไม่ต้องเสี่ยงกับการให้ยาระงับความรู้สึก(ฉีดยาชาเฉพาะที่ บล็อกหลัง หรือ ดมยาสลบ) ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือถ้าต้องนอนก็มักไม่กี่วัน เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

ข้อเสียคือ ต้องใส่เฝือกนาน (ประมาณ 2 – 4 อาทิตย์) กระดูกที่หัก อาจไม่ติด ติดช้า หรือ ติดผิดรูป เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการพักเป็นเวลานาน เช่น กล้ามเนื้อลีบ ข้อติด แผลกดทับปอดติดเชื้อ ท้องผูก เป็นต้น

วิธีผ่าตัด

ข้อดีคือ สามารถจัดกระดูกให้เข้าที่ได้ดีกว่าเริ่มทำกายภาพบำบัดได้เร็ว กลับไปดำเนินชีวิตปกติได้เร็วขึ้น

ข้อเสียคือ การติดเชื้อ ผลแทรกซ้อนของยาระงับความรู้สึก เสียเลือด ต้องพักในโรงพยาบาลค่าใช้จ่ายสูง เมื่อกระดูกติดสนิท (ประมาณ 1-2 ปี)ต้องผ่าตัดเพื่อเอาแผ่นเหล็กออก

· กระดูกหักที่ควรผ่าตัด เช่น

- กระดูกหักหลายตำแหน่ง - กระดูกหักตำแหน่งเดียวแต่หลายชิ้น

- กระดูกแตกเข้าข้อ - กระดูกหักเคลื่อนไปมาก

- มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก -มีการบาดเจ็บของเส้นเลือดเส้นประสาทร่วมด้วย

- กระดูกหักในบางตำแหน่ง เช่น กระดูกข้อสะโพกกระดูกต้นขา กระดูกปลายแขน

- กระดูกหักในผู้สูงอายุเพื่อให้ทำกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนพักนาน

แต่ละทางเลือกมีทั้งข้อดีข้อเสียการตัดสินใจว่าจะรักษาแบบไหนจึงขึ้นอยู่กับ แพทย์และผู้ป่วย(ญาติ) โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าควรจะรักษาวิธีไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ แต่ ผู้ที่จะตัดสินใจ เลือกแนวทางรักษา ในขั้นตอนสุดท้ายก็คือ ตัวผู้ป่วยเอง


กระดูกหัก เมื่อไรจะหาย ?

ตามธรรมชาติร่างกายจะซ่อมแซมกระดูกที่หัก ให้กลับมาติดกันได้อยู่แล้ว แพทย์เป็นเพียงผู้ที่ช่วยจัดกระดูกให้กลับเข้ามาอยู่ในแนวที่ดี ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อให้อวัยวะนั้นกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมซึ่งการจัดกระดูกนี้ อาจทำได้ทั้ง วิธีไม่ผ่าตัด (ใส่เฝือก)และ วิธีผ่าตัด (ใส่เหล็กดามกระดูก)

ระยะเวลาตั้งแต่กระดูกหัก จนติดสนิท (หายสนิท) ประมาณ 4 - 6 เดือน จะแตกต่างกันในแต่ละคน ส่วนจะติดดีหรือไม่ดีติดเร็วหรือติดช้านั้น ปัจจัยสำคัญส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยเช่น

· อายุ เด็ก กระดูกจะติดดีและเร็ว ผู้สูงอายุ กระดูกก็จะติดช้า

· กระดูกที่หักเคลื่อนที่ไม่มากก็จะติดดีกว่า กระดูกที่หักแล้วเคลื่อนที่มาก

· กระดูกหักหลายชิ้น ก็จะติดช้า

· มีการติดเชื้อ ก็จะติดช้า

· กระดูกที่แตกเข้าในข้อ ก็จะติดช้า

· ถ้าไม่ทำกายภาพบำบัด ไม่ออกกำลังบริหารข้อ และกล้ามเนื้อ กระดูกก็จะติดช้า

· อาหารที่มีแคลเซียมสูง ยาเม็ดแคลเซียม ยาOssein-Hydroxyapatite อาจช่วยกระดูกติดเร็วขึ้น

ระยะเวลาของการซ่อมแซมกระดูกสำหรับผู้ที่อยู่ใน ช่วงวัยหนุ่มสาว แบ่งเป็น

ระยะที่ 1. กระดูกเริ่มติด ใช้เวลาประมาณ 4 - 6 อาทิตย์

ช่วง 2 อาทิตย์แรก จะมีอาการปวดมาก บวมมาก

อาทิตย์ที่3-4อาการปวดลดลง แต่ถ้าเอกซเรย์จะเห็นรอยกระดูกหักซึ่งแสดงว่ากระดูกยังไม่ติดสนิท ต้องระมัดระวังการใช้อวัยวะที่มีกระดูกหัก เช่นงดยกของหนัก เดินลงน้ำหนักบางส่วนโดยใช้ไม้เท้า ไม้ค้ำยันถ้าลงน้ำหนักหรือใช้แรงมากเกินไป กระดูกอาจหักซ้ำ เหล็กดามกระดูกที่ใส่ไว้ อาจ หักหรือ สกรูถอนออก

ในระยะนี้บางคนคิดว่าหายแล้วเพราะไม่ปวด ใช้แรงหรือลงน้ำหนักเต็มที่ ช่วงแรกก็พอทำได้แต่เมื่อผ่านไปสักพัก เหล็กดามกระดูกและกระดูกที่พึ่งเริ่มติด ก็หักซ้ำ ทำให้ต้องเริ่มรักษากันใหม่แต่ว่าผลการรักษากระดูกที่หักซ้ำครั้งที่สองนี้จะไม่ค่อยดีเหมือนกับผลการรักษาในครั้งแรก

ระยะที่ 2. กระดูกติดสนิท ต้องใช้เวลาอีก 3 - 5 เดือน หลังจากระยะที่ 1 (รวมทั้งหมด 4 - 6เดือน)

แพทย์จะนัดเอกซเรย์ทุก1- 2 เดือน ถ้าไม่เห็นรอยกระดูกหัก จึงถือว่ากระดูกติดสนิท(หายสนิท) ดังนั้นควรมาตรวจตามแพทย์นัด และสอบถามแพทย์ว่า กระดูกติดสนิทหรือยัง ถ้าแพทย์ตอบว่า กระดูกติดสนิทแล้วจึงจะถือว่าหาย สามารถทำทุกอย่างได้ตามปกติ

การรักษากระดูกหักต้องใช้เวลานานหลายเดือนและ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลของการรักษาออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

(เชิญท่านผู้ฟังทุกท่าน พบกับผู้สนับสนุนรายการ สักครู่ แล้วกลับมาพบกันในช่วงข้อคิดความเห็นเกี่ยวกับบ้านเรา )


๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา

- สรุป การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จังหวัดกำแพงเพชร (กรอ.จังหวัดกำแพงเพชร ) ครั้งที่ ๓ /๒๕๕๗ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ชั้น ๓ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร

สรุป การพบปะพูดคุยเสวนา วันอาทิตย์ที่ ๗ ธค.เวลา ๑๓.๓๐-๑๖.๐๐ น.

และ การแสดงความคิดเห็นผ่านเฟสรักษ์กำแพง

๑. ผลกระทบจากการจัดงาน ปิดถนน

- พ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นค้าขายทุกวัน เสียภาษีให้ท้องถิ่น แต่ คาราวานผู้รับเหมามาขายเอาเงินจากบ้านเราไปนอกจังหวัด เหลือไว้แต่ขยะ

- คนเที่ยวงานซื้อของในงาน หมดเงินที่จะมาจับจ่ายในบ้านเรา ไม่เข้าตลาด

- ปิดถนนโดยเฉพาะเส้นริมปิง เป็นถนนสายรอง ทางเลี่ยง จากถนนหลักสองเส้นที่เป็นวันเวย์แล้วก็ยังเป็นทางที่รถฉุกเฉินใช้เป็นเส้นทางลัดไป รพ.กำแพงเพชร (มีกรณีที่รถพยาบาล ผู้ขับรถส่วนตัวจะไปรพ.แล้วมาติด)

- ขยะหลังงานเลิก รวมถึงการปัสสาวะในสถานที่จัดงาน

- เสียงดังจากดนตรีในงานและ รถแห่โฆษณา ไม่มีการควบคุมดูแล ทั้งระดับความดัง และ เวลา

- ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงโดยเฉพาะ พ่อค้าแม่ค้าตลาดไนท์ ลูกค้าน้อยลงมาก อย่างชัดเจน

- จังหวัดเทศบาล ฯลฯ ให้ผู้รับเหมา ( ออร์แกนไนเซอร์ )ประมูลผู้รับเหมาก็ไปเอาผู้ค้าจากที่อื่น (คาราวาน) มาขาย คนพื้นที่เข้าไม่ถึงถ้าติดต่อผ่านผู้รับเหมาจะไปขายก็เสียค่าที่แพงมาก แล้วเงินที่ประมูลได้ก็ไม่มีการเปิดเผยว่าได้เท่าไหร่ เอาไปทำอะไรบ้าง ?

- จังหวัดเทศบาล สะดวก ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องจัดงานเองแต่ผลกระทบมาตกอยู่กับพ่อค้าแม่ค้า และ ประชาชน ในพื้นที่

- งานไม่มีความแตกต่างเป็นตลาดนัดเหมือน ๆ กัน ไม่มีเอกลักษณ์ของาน งานก๋วยเตี๋ยวแต่ไม่ค่อยมีก๋วยเตี๋ยว (แต่ปีนี้ยังดีที่ไม่มีแอลกอฮอล์)งานกล้วยไข่แต่หาซื้อกล้วยไข่กระยาสารทไม่ได้

๒. แนวคิดในการแก้ไขปัญหา ... ๓ ลด ๒เพิ่ม ๑ เอกลักษณ์ ...

๑ ลด จำนวนงาน ให้เหลือเฉพาะงานหลัก ของจังหวัดเช่น กล้วยไข่ (จว.) นบพระ (จว.) ก๋วยเตี๋ยว (หอการค้า) ลอยกระทง(เทศบาล)

๒ ลด จำนวนวัน เช่น ลอยกระทง จัด ๓ วันแต่ปิดถนนขายของ ๑๐ วัน

๓ ลด การปิดถนน ถ้าจำเป็นให้แจ้งล่วงหน้าติดป้ายเป็นระยะก่อนถึงบริเวณงาน และต้องบริหารจัดการเส้นทางเลี่ยงให้เดินรถได้สะดวก

๑ เพิ่ม ผู้ประสานงาน ศูนย์กลาง การจัดงานต่างๆ (บูรณาการ) วันเวลาสถานที่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ( ส่วนราชการ อบจ. เทศบาลหอการค้า ตัวแทนภาคประชาชน ชมรมตลาด)

๒ เพิ่ม โอกาสพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นเข้าไปขายในงานฯ

๑ เอกลักษณ์ ของงานต้องชัดเจน เช่น งานโอทอปก็มีเฉพาะโอทอป งานก๋วยเตี๋ยวก็มีก๋วยเตี๋ยว ถนนคนเดินที่มีสภาพแวดล้อม สินค้าที่ดูแล้วรู้ว่าเป็นของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

สรุป การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จังหวัดกำแพงเพชร (กรอ.จังหวัดกำแพงเพชร ) ครั้งที่ ๓ /๒๕๕๗ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ชั้น ๓ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร

ผมสรุปความเห็น ของผม เป็นข้อ ๆ เผื่อว่าท่านใดสงสัย อยากจะสอบถาม หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมจะได้อ้างอิงว่าเกี่ยวกับข้อไหน นะครับ

๑. ประธานในที่ประชุม คือ นาย นลินตั้งประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรมีหัวหน้าส่วนราชการและเอกชนเข้าประชุมกันตรงเวลา บ่ายโมงครึ่งเข้ามานั่งกันเต็มห้อง

๒. อ.พิทักษ์ มหบุญพาชัย ประธานหอการค้าจังหวัดกำแพงเพชรได้ประสานให้เจ้าหน้าที่จัดที่นั่ง เผื่อไว้ ๓ ที่ มี ผม และ คุณ วรศักดิ์ กรรมการตลาดไนท์ ไปกัน๒ คน โดยที่ในเบื้องต้นได้ประสานกับทางประธานตลาดไนท์ (คุณ มาโนช ร้านอังสุมาริน)และ ประชาสัมพันธ์ตลาดไนท์ (คุณชลอ) ทราบข้อมูลว่า มี สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกำแพงเพชรมาประสานแล้ว ให้ตัวแทนตลาดอื่นๆ เข้าไปด้วยแต่ในวันประชุมผมไม่ทราบว่ามีตัวแทนตลาดอื่นๆ เข้าไปด้วยหรือไม่

๓. เรื่องนี้ ได้รับการเสนอเป็นวาระที่ ๖เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) โดย อ.พิทักษ์ มหบุญพาชัยเสนอให้บรรจุไว้เป็นวาระของการประชุม ต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ เป็นอย่างสูง ( อ.พิทักษ์ บอกว่า หอการค้าเป็นตัวแทนของพ่อค้าแม่ค้า มีอะไรก็เข้าไปปรึกษาได้)

๔. เมื่อถึงวาระ ก็เกือบสี่โมงเย็น ตอนแรกอ.พิทักษ์ เกริ่นนำไปก่อน แล้วก็ให้ผมพูดต่อ ผมจึงได้โอกาสนำเสนอในที่ประชุมฯตามเอกสารฯ ซึ่งเนื้อหา ก็กระทบกันหลายท่านในนั้น มีหลายท่านแสดงความเห้น “แย้ง” กับข้อมูลที่ผมได้นำเสนอ เช่น

- ท่านเกษตรจังหวัด แสดงความเห็นว่า ที่บอกว่า “ งานกล้วยไข่แต่หาซื้อกล้วยไข่กระยาสารทไม่ได้“ นั้นไม่เป็นความจริง และ งานกล้วยไข่ปีนี้มีความแตกต่างและได้รับคำชม ผมก็ได้ชี้แจงว่า ในเอกสาร เป็นการรวบรวมความเห็นผู้ที่มาร่วมงานซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลแบบนั้น ส่วนเรื่องการจัดงานกล้วยไข่ปีนี้ ได้รับคำชม ผมก็เห็นด้วยกับท่านเสนอให้ปีหน้า ในเต็นท์ใหญ่ แทนที่จะจัดการแสดงสัตว์แปลกหายากก็เปลี่ยนเป็นจุดขายกล้วยไข่กระยาสารท ที่คัดสรรมาอย่างดี ใครอยากจะซื้อหาก็จะได้สะดวก และเห็นได้ชัดเจน

- อ.พิทักษ์ ในฐานะ ประธาน หอการค้าฯซึ่งจัดงานก๋วยเตี๋ยว แสดงความเห็นว่า “ งานก๋วยเตี๋ยวแต่ไม่ค่อยมีก๋วยเตี๋ยว “ จริงๆ แล้ว งานนี้ชื่องานก็คือ “มหกรรมอาหารพื้นบ้าน เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวเมืองกำแพง “ก็มีอาหารพื้นบ้านอย่างอื่นมาร่วมงานด้วย ( ผมไม่ได้ แสดงความเห็นในที่ประชุมฯแต่ผมกลับคิดว่า งานนี้ โดยส่วนใหญ่จะจดจำว่าคืองาน “กินก๋วยเตี๋ยวเที่ยวเมืองกำแพง ซึ่งแสดงว่า ได้สร้างแบรนด์ ชัดเจนขึ้นแล้วก็น่าจะเน้นก๋วยเตี๋ยวให้เป็นหลักต่อไป )

๕. ประเด็นหลัก ที่นำเสนอ คือ “แนวคิดในการแก้ไขปัญหา ... ๓ ลด ๒เพิ่ม ๑ เอกลักษณ์ ...” ได้รับความสนใจและแสดงความเห็นด้วยพอสมควร แต่ ยังไม่ได้มีการสรุป ชี้ชัดจากที่ประชุมว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร ? โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งผู้ประสานงาน ศูนย์กลาง การจัดงานต่าง ๆ (บูรณาการ) อ.พิทักษ์ ก็พูดในที่ประชุมว่าทางหอการค้าเคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว

- ท่านประธานฯ แสดงความเห็นว่า จังหวัดอ่างทองก็มีปัญหาเหมือน ๆ กันเป็นเรื่องดีที่มีการสะท้อนความคิดเห็นจากประชาชนเข้าสู่ที่ประชุมฯ

๖. ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดงานซ้ำซ้อน และ การปิดถนนจัดงานฯ อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ? กรอ. เป็นหนึ่งในหนทางที่จะชี้แจงแสดงข้อมูลความเดือดร้อนคงต้องช่วยกันหลาย ๆ ทาง

๗. ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากจะฝาก ก็คือ “ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งพ่อค้าแม่ค้า ประชาชน” จะต้องรวมตัวกันให้ได้เพื่อจะได้มีน้ำหนักในการพูดคุยนำเสนอกับผู้ที่รับผิดชอบ(ส่วนราชการ+อบจ.+เทศบาลฯ) ปัญหาที่ผมคิดไม่ออก ก็คือ จะรวมตัวกันอย่างไร ? ที่พอมีลู่ทางชัดหน่อย ก็คือผ่านทาง “หอการค้าจังหวัด” ซึ่งอ.พิทักษ์ ก็ได้แสดงตัวชัดเจนว่า ยินดีร่วมมือ เหลือแต่ พ่อค้าแม่ค้า จะรวมตัวกันแล้วไปร่วมมือกับหอการค้า เท่านั้นเอง ..

หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ค่อย ๆ เดินไม่ต้องรีบ แต่สำคัญคือ ต้องเริ่มก้าว ..




Create Date : 31 สิงหาคม 2558
Last Update : 31 สิงหาคม 2558 0:10:04 น. 0 comments
Counter : 2665 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]