Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

2557 09 06 บ้านผู้สูงอายุ เปตอง

วันเสาร์นี้จะพูดเรื่อง สุขกายสุขใจ วัยเกษียณ บ้านผู้สูงอายุ และ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดงานโน่นนี่นั่น ของบ้านเรา ในอาทิตย์หน้า มี ๓ งาน

วันเสาร์ที่๖ กย.๕๗ การแข่งขัน กีฬาเปตอง "ชุมชนสัมพันธ์" ครั้งที่ ๑ https://www.facebook.com/rakkamphaeng/photos/a.146131032177099.26759.146082892181913/560468200743378/?type=1&theater

วันที่๕ - ๗ กย.๕๗ ตลาดย้อนยุค นครชุม https://www.facebook.com/rakkamphaeng/photos/a.153916974731838.29236.146082892181913/564005537056311/?type=1&theater

วันจันทร์๘ กย.๕๗ (เช้า) ตักบาตร-(เย็น) เวียนเทียน https://www.facebook.com/rakkamphaeng/photos/a.146131032177099.26759.146082892181913/536329363157262/?type=1&theater


วันวานที่พากเพียรวันเกษียณที่ภาคภูมิ

คำว่า“เกษียณ” แปลว่าสิ้นไป ซึ่งในทางราชการจะใช้คำว่า “เกษียณอายุราชการ”หมายถึงครบกำหนดอายุรับราชการเมื่ออายุตัวครบ 60 ปี แต่ถ้าใช้เกษียณอายุ สั้น ๆก็อาจแปลความหมายว่า อายุสิ้นไปทำให้คนเข้าใจผิดได้

การเกษียณอายุราชการเป็นการสิ้นสุดอาชีพเดิมแต่ เป็นการเริ่มชีวิตใหม่

ชีวิตที่เรากำหนดได้เองไม่ต้องไปขึ้นกับหัวหน้าลูกน้องหรือกฎระเบียบราชการอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่อยากจะทำอะไรก็ไม่ต้องทำ

จนมีผู้ตั้งชื่อช่วงอายุนี้ว่าวัยทอง ส่วนจะเป็นทองคำ หรือ ทองเหลืองก็ต้องติดตามกันต่อไป

ผู้ที่พึ่งเกษียณอายุราชการมักประสบปัญหา 3 ประการคือ

1. ใจ

มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปเมื่อถึงวันต้องเกษียณที่สำคัญที่สุดก็คือไม่ได้ทำงานเหมือนที่เคยทำมานานเกือบตลอดชีวิตคนที่เคยเป็นใหญ่เป็นโตเป็นผู้บัญชาการทหาร เป็นปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีก็ต้องทำใจให้ได้ เพราะอำนาจต่างๆ ที่เคยมีหายวับไปโดยพลันหากทำใจไม่ได้ก็จะห่อเหี่ยวหัวใจไปจนตาย

อีกทั้งสิทธิพิเศษที่เคยมีจะถูกหลวงยึดกลับคืนไปจนหมดเช่นรถหลวงบ้านหลวง โทรศัพท์หลวง เป็นต้นมีอย่างเดียวที่หลวงไม่ยอมยึดกลับก็คือเมียหลวง

ถ้าต้องการมีความสุขหลังเกษียณจะต้องเข้าใจชีวิตว่าเกิดมาเป็นคนก็เป็นเช่นนี้แล คือ โชคดีบ้าง โชคร้ายบ้างสบายบ้าง ลำบากบ้างเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองก็อย่าไปกังวลเพราะความทุกข์จะอยู่กับเราไม่นานเช่นเดียวกับความสุขก็อยู่กับเราไม่นานเช่นกัน ทุกคนเกิดมาจะต้องมีวิถีการเดินทางของชีวิตเหมือนกันคือเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงควรอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุดโดยตัดความกังวลทุกอย่างออกไปและถ้าไม่อยากแก่มากกว่านี้ทำง่ายนิดเดียวคือให้รีบตายเสียก่อน

พระมหาสมปองบอกว่าอย่าได้คิดเด็ดขาดว่า ชีวิตไร้ค่าหรือเป็นภาระให้กับลูกหลานต้องเลี้ยงดู??

"เกษียณตัวได้แต่อย่าเกษียณใจ อย่าเกษียณจากการทำความดี”

เพราะการเกษียณจากการทำงานทำให้สามารถปล่อยวางจากความวุ่นวายทั้ง 3 ก คือ

ก.การ= การดิ้นรน

ก.กิน = การแสวงหา และ

ก.เกียรติ= การแบกหาม

เป็นวัยที่เหมาะสำหรับการเริ่มพัฒนาจิตใจกันอย่างจริงจังเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร

วัยนี้เรียกได้ว่าเป็น“วัยสะสมบุญและสร้างกุศลไว้ให้เป็นที่จดจำ” ต่อให้ร่างกายและอายุบ่งบอกว่าชราแค่ไหนแต่ถ้าหัวใจเข้มแข็งและเต็มไปด้วยพลังความดีชีวิตจะยืนยาว ไม่เกษียณอายุง่ายๆแน่นอน

2. เจ็บ อายุมากขึ้น สังขารย่อมทรุดโทรม ให้ยึดหลัก 5อ.ไว้ คือ

อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

อากาศปลอดโปร่งบริสุทธิ์

ออกกำลังกายทุกวัน

อุจจาระให้เป็นเวลาทุกเช้า

อารมณ์ให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

การปลูกต้นไม้ปฏิบัติธรรม ออกกำลังกาย ไปท่องเที่ยว และ ช่วยเหลือสังคมตามโอกาสอำนวย

อ.หมอเสกกล่าวว่าท่านที่ประสงค์จะมีอายุยืนยาว 150 ปี ชีวีสุขสันต์ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ประการคือ กินปลาเป็นหลักกินผักเป็นยา กินกล้วยน้ำหว้าเป็นของว่าง เดินทางวันละ 5,000ก้าว คุยกับหนุ่มสาวทุกวัน

3.จน

เมื่อก่อนเคยรับเงินเดือนใช้สบายแต่พอมารับเงินบำนาญจะจนทันทีเพราะจะได้รับเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

จึงควรใช้จ่ายอย่างระมัดระวังยึดหลักประหยัดและประโยชน์เป็นสำคัญอย่าให้คนอื่นกู้เงิน ถ้ามีให้ทวงคืนมาให้หมด เพราะนานไปจะไม่ได้คืนและให้ระวังการหลอกลวงอะไรที่รู้สึกว่าจะทำให้ได้เงินมาง่าย รวยเร็ว ก็หยุดคิดสักนิดว่าถ้ามันง่ายมันดี จริง ป่านนี้ คนทำคงรวยไปหมดแล้ว

อะไรที่รู้สึกว่ามันดีเกินจริงก็ให้ระวังไว้โดยเฉพาะ พวกอาหารเสริมต่าง ๆ ขวดละ สองสามพัน กินแล้วหายทุกโรคดีทุกอย่างถ้าหลงเชื่อไปซื้อมากิน นอกจากเสียเงิน เสียรู้แล้ว อาจหายไปจากโลกด้วย

ฝากไว้ขำๆ .. แต่ถ้าเกิดกับตัวเอง คงขำไม่ออก ..

ที่สุดของความเสียดายคือ...ตายไปแล้ว ยังใช้เงินไม่หมด

ที่สุดของความสลดคือ...ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย


บ้านสำหรับผู้สูงอายุ

อุบัติเหตุของผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นภายในบ้านซึ่งอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้แม้ว่าจะหกล้มเบา ๆ ดังนั้นบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ควรมีการปรับปรุงหรือออกแบบให้มีสภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุซึ่งมักมีความผิดปกติของร่างกายทั้งที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือการเสื่อมสภาพของร่างกายตามธรรมชาติ

มีข้อแนะนำในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุดังนี้

1.พื้นบ้านและทางเดินควรเป็นระดับเดียวกัน และใช้วัสดุที่เปียกน้ำแล้วไม่ลื่น

ไม่ควรทำพื้นต่างระดับหรือธรณีประตูและไม่ทิ้งสิ่งกีดขวางให้เกะกะ ทางเดิน เพราะอาจจะเกิดการสะดุดล้มได้

2.บันไดควรจัดให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องใช้บันไดหรือใช้ให้น้อยที่สุดบันไดควรมีราวจับทั้ง 2 ด้าน บันไดแต่ละขั้นควรสูงน้อยกว่า 15 ซม.และมีความลึกของบันไดมากกว่า 30 ซม. และใส่ยางกันลื่นบริเวณขอบบันได

3.ราวจับ ควรมีตลอดแนวทางเดิน ราวจับควรมีลักษณะกลม มีขนาดที่จับได้พอเหมาะและควรอยู่สูงพอที่จะจับได้ถนัด (ประมาณ 75 ซม.จากพื้น) ภายในห้องต่าง ๆทุกห้องควรมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวเวลาลุกยืนหรือเดิน

4.แสงสว่าง ภายในบ้านโดยเฉพาะ ห้องน้ำทางเดินและบันไดควรจัดให้มีความสว่างที่เพียงพอ ไม่มืด แต่ก็ ไม่ควรสว่างจ้าเกินไปเพราะทำให้ตาพร่าได้

5.เฟอร์นิเจอร์ ควรมีความสูง–ต่ำที่พอเหมาะการจัดวางสิ่งของก็ไม่ควรวางสูงจนต้องเขย่งขาหรือต่ำจนต้องก้มหรือคุกเข่าเพื่อหยิบของควรใช้เครื่องอำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดบ้าน เช่น ใช้ไม้ถูพื้นแทนการนั่งถูพื้น ควรยืนรีดผ้าแทนการนั่งของใช้ในตู้ที่ใช้บ่อยควรวางในระดับที่หยิบได้พอดี

ควรให้ผู้สูงอายุนอนบนเตียงและนั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงระดับหัวเข่า

6.ห้องน้ำ เป็นห้องที่สำคัญและมักจะเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดพื้นห้องน้ำควรเป็นระดับเดียวกัน ไม่มีธรณีประตูหรือพื้นต่างระดับ และผ้าเช็ดเท้าควรจะไม่หนาเกินไปเพราะอาจทำให้สะดุด หรือ เหยียบแล้วลื่นได้

วัสดุที่ปูพื้นห้องน้ำก็ต้องไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำควรใช้โถนั่งหรือชักโครก ควรมีที่นั่งเพื่อนั่งเวลาอาบน้ำหรือสระผม มีราวจับช่วยพยุงตัวก็อกน้ำควรเป็นแบบคันโยกโดยใช้มือดึงหรือดันเพื่อปิด-เปิดน้ำไม่ควรเป็นแบบลูกบิดหรือแบบหมุน

ไม่ควรลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนควรใช้กระโถนหรืออุปกรณ์ขับถ่ายข้างเตียงจะดีกว่า

7.ประตู ควรเป็นแบบเลื่อน ซึ่งเปิด-ปิดโดยใช้แบบมือจับดึงหรือดัน ไม่ควรใช้ลูกบิดประตูควรกว้างพอสำหรับการเข้าออกพร้อมกัน 2 คน เผื่อว่าจะต้องมีคนช่วยพยุง หรือกว้างพอที่จะเข็น รถเข็นเข้าออกได้สะดวก

8.ในห้องและทางเดินควรมีสวิตซ์ฉุกเฉินเป็นระยะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

1. ปวดหลัง และมีอาการปวดร้าวจากหลังหรือสะโพกลงไปที่น่อง หรือ ขา ร่วมกับมีอาการชา อ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาด้านที่ปวด หรือร่วมกับอาการปัสสาวะไม่ออก หรือ มีอาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้

2. ปวดเข่า ร่วมกับมีอาการเข่าบวม มีไข้

3. มีอาการปวดมากรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ

4. คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ อาจจะมีอาการปวดหรือไม่มีอาการปวดร่วมด้วย

5. อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เป็นนานมากกว่า 2อาทิตย์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ เป็นแย่ลงกว่าเดิม


ผู้สูงอายุท่าทางที่เหมาะสม

1. การนอน

1.1 เตียงนอนควรทำด้วยวัสดุที่แข็งและมีผิวเรียบ สูงระดับเข่าเมื่อนั่งห้อยขาข้างเตียงเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี

1.2 ที่นอนควรมีความแน่นและแข็งพอสมควร ขณะนอนไม่ทำให้ลำตัวโค้งงอซึ่งทดสอบได้โดยนอนหรือนั่งบน ที่นอนแล้วลุกขึ้น ใช้มือลูบบนที่นอนถ้ารู้สึกว่าที่นอนยุบบุ๋มลงไปตามน้ำหนักตัว ไม่เรียบเสมอกัน ก็ควรเปลี่ยนที่นอน

1.3 ท่านอนควรนอนหงายแล้วใช้หมอนหนุนใต้เข่า ให้เข่างอเล็กน้อย หรือ นอนตะแคงกอดหมอนข้างโดยขาที่วางบนหมอนข้างให้งอสะโพกและเข่าเล็กน้อย ไม่ควร นอนคว่ำเพราะหลังจะแอ่นทำให้ปวดหลังได้

1.4 การลุกจากที่นอนให้เลื่อนตัวมาใกล้ขอบเตียงแล้วตะแคงตัว งอเข่า งอสะโพกห้อยเท้าลงข้างเตียงพร้อมกับใช้มือและศอกยันตัวลุกขึ้นนั่งในท่าตะแคงตัวแล้วจึงค่อยลุกยืนต่อไปไม่ควรลุกขึ้นนั่งในขณะที่นอนหงายอยู่

2. การนั่ง

2.1 เก้าอี้ ควรมี - ความสูงระดับข้อเข่าเมื่อนั่งแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี

- ส่วนรองนั่ง ควรมีความลึกพอที่จะรองรับสะโพกและต้นขาได้

- พนักพิง ควรมี ผิวเรียบ เอนไปข้างหลังเล็กน้อย

- ที่เท้าแขน เพื่อเป็นที่พักวางแขนและใช้เป็นที่ยันตัวเวลานั่งหรือลุกยืน

2.2 ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรงพิงกับพนักพิง ให้น้ำหนักลงตรงกลางไม่เอียง วางเท้าราบกับพื้น งอเข่าตั้งฉาก ต้นขาวางราบกับที่นั่งให้ข้อพับเข่าอยู่ห่างจากส่วนรองนั่งของเก้าอี้1 นิ้ว เพื่อป้องกันการกดทับเส้นเลือดใต้เข่าถ้าที่นั่งของเก้าอี้ลึกมากและมีช่องว่างระหว่างหลังกับพนักเก้าอี้ควรหาหมอนมารองแผ่นหลัง ไว้ด้วย

ไม่ควรกึ่งนั่งกึ่งนอนเพราะทำให้ปวดหลังได้ง่ายซึ่งอาจจะไม่รู้สึกปวดทันที บางครั้งข้ามวันไปแล้ว จึงจะเริ่มปวด

2.3 การนั่งส้วมควรใช้โถส้วมชนิดมีที่นั่ง (โถชักโครก) และทำที่จับบริเวณข้างโถส้วมเพื่อช่วยพยุงตัวเวลานั่งลงหรือลุกขึ้น ไม่ควรนั่งยอง ๆเพราะจะทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้

3. การยืน

ผู้ที่เวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าหรือหน้ามืดบ่อย ๆก่อนลุกจากเตียงหรือเก้าอี้ ให้นั่งห้อยขา ขยับข้อเท้า 5-10ครั้ง ใช้มือจับที่ยึดเกาะข้างเตียงหรือข้างเก้าอี้ แล้วจึงค่อย ๆลุกขึ้นและยืนนิ่ง ๆ สักพัก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการเซขณะลุก

ควรยืนให้หลังตรงในท่าที่สบายกางขาเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงค่อนมาทางส้นเท้า ถ้าต้องยืนในท่าเดียวนาน ๆ ควรขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อย ๆหรือยืนให้ลงน้ำหนักบนขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน หรือ วางพักเท้าบนที่สูงประมาณ 1 คืบ

ถ้าต้องการหยิบของจากพื้นไม่ควรก้มหลังลงไปหยิบ ใช้วิธีนั่งยอง ๆ งอเข่าและสะโพก แต่ให้หลังตรงจะดีกว่า

การหยิบของจากที่สูงไม่ควรยื่นมือและยืดตัว ไปหยิบสุดเอื้อมควรหาเก้าอี้หรือบันไดเพื่อปีนขึ้นไปหยิบจะดีกว่า

การหิ้วของควรปรับน้ำหนักเฉลี่ยใกล้เคียงกันและหิ้ว 2 ข้างไม่ควรหิ้วของข้างเดียว ถ้าใช้การอุ้มจะดีกว่าการหิ้ว

4. การเดิน

ควรเดินบนพื้นราบใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย ( สูงไม่เกิน 1 นิ้ว ) หรือไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควรและมียางกันลื่นมีขนาดที่พอดีเวลาสวมรองเท้าเดินแล้วรู้สึกว่ากระชับ ไม่หลวมหรือคับเกินไปควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ โครงเหล็ก 4 ขาไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียง หรือ ทางเดินที่ขรุขระ




Create Date : 14 พฤษภาคม 2558
Last Update : 14 พฤษภาคม 2558 23:09:01 น. 1 comments
Counter : 898 Pageviews.  

 
วันเสาร์ที่ ๖ กย.๕๗ การแข่งขัน กีฬาเปตอง "ชุมชนสัมพันธ์" ครั้งที่ ๑ https://www.facebook.com/rakkamphaeng/photos/a.146131032177099.26759.146082892181913/560468200743378/?type=1&theater

ชมรมเปตองผู้สูงอายุกำแพงเพชร

คุณ สุนทรี เรืองพรวิสุทธิ์ ประธาน

คุณ สมจิตร สุขเกษม เป็นรองประธาน

คุณ ปราโมทย์ เอี่ยมเต็ง เป็น รองประธาน

คุณ ยืนยง วัฒนศิริ เป็นต้น

นายประเทือง เกตุอ่ำ เป็นประธานที่ปรึกษา

นาย นรินทร์ จิรัจฉริยากุล ที่ปรึกษา

นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ที่ปรึกษา

ดาบตำรวจ ปริญัติ เพชรรัตน์ ที่ปรึกษา

ได้จัดการแข่งขัน กีฬาเปตอง "ชุมชนสัมพันธ์" ครั้งที่ ๑ วันเสาร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๗

มีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดหารายได้ เป็นกองทุนของชมรมฯ โดยผู้เข้าแข่งขันจะเป็น ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ทั้ง ๒๗ ชุมชน

คุณสมบัติผู้เข้าแข่งขัน

๑. ประเภททีมผสม ทีมละ ๓ คน จะเป็น ชายสองหญิงหนึ่ง หรือ ชายหนึ่งหญิงสอง ก็ได้ ไม่จำกัดอายุ

๒. ผู้เข้าแข่งขันทั้ง ๓ คน ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชมเดียวกัน

๓. ใช้ลูกเปตองแข่งขันคนละ ๒ ลูก

ค่าสมัคร ทีมละ ๓๐๐ บาท

ประธานในพิธีมอบสนามแข่งขันฯ คุณ รัชนี อัศวสุธีรกุล หจก. สามเพชร จำกัด บริษัท ธรรมรัตน์คอนกรีต จำกัด

ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันฯ ท่าน สุนทร จินดาอินทร์ อดีตผู้พิพากษาจังหวัดฯ และ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกำแพงเพชร

หลังจากพิธีเปิด จะเป็นการแข่งขันเปตองชุมชนสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดหารายได้ เป็นกองทุนของชมรมฯ

โดยผู้เข้าแข่งขันจะเป็น ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ทั้ง ๒๗ ชุมชน ทีมผสม ๓ คน (ชายสองหญิงหนึ่ง หรือ ชายหนึ่งหญิงสอง)

ขณะนี้มีประมาณ ๓๐ ทีม

รางวัล ชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล ๓,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ

รางวัล รองชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล ๒,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ

และ รางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย

วันที่ ๕ - ๗ กย.๕๗ ตลาดย้อนยุค นครชุม https://www.facebook.com/rakkamphaeng/photos/a.153916974731838.29236.146082892181913/564005537056311/?type=1&theater

วันเสาร์ที่ ๖ กย. การแสดงพื้นบ้านของ ชุมชน นครชุม บ้านปากคลองใต้

วันอาทิตย์ ที่ ๗ กย. ชม โปงลางหน้าขาว โรงเรียนบ้านใหม่พัฒนา ตำบลคณฑี

โรงเรียนบ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 7 ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร หลังจากที่ได้ส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนเล่นดนตรีโปงลาง โดยนำเด็กตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ที่มีความสนใจในด้านการดนตรี มารวมตัวกัน และฝึกซ้อมมาเป็นระยะเวลากว่าหลายเดือนแล้ว โดยมีอาจารย์บุญฤทธิ์ เขมอุต นักศึกษาฝึกประสบการณ์ เอกดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชรเป็นผู้ฝึกสอน

โดยในวันนี้มีการซ้อมใหญ่ เพื่อเตรียมตัวโชว์ในงานตลาดย้อนยุคนครชุม ในวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายนนี้


วันจันทร์ ๘ กย.๕๗ (เช้า) ตักบาตร-(เย็น) เวียนเทียน

จังหวัดกำแพงเพชร จัดกิจกรรมพิเศษ (เช้า) ตักบาตร-(เย็น) เวียนเทียนเพื่อส่งเสริมศาสนกิจ ทางการท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2557 ระหว่างเดือนมีนาคม – กันยายน 2557

เช้า ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ณ วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

เวลา 07.15 น.

-ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกันที่วัดพระแก้ว

–พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป ถึงบริเวณพิธี

เวลา 07.30 น.

-ประธานในพิธี มาถึงบริเวณพิธี

-พิธีกรนำกราบพระ อาราธนาศีล

-ประธานสงฆ์ให้ศีล

-พิธีกรกล่าวคำถวายทาน

-พระสงฆ์อนุโมทนา

-ประธานกรวดน้ำ-รับพร

-พระสงฆ์รับบิณฑบาต

-เสร็จพิธี

หมายเหตุ

2.การแต่งกายผ้าไทย หรือชุดสุภาพ

เย็น เวียนเทียน ณ วัดพระสี่อิริยาบถ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

เวลา 18.00 น.

-พระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชน พร้อมกัน ณ ศาลาอบรมธรรมหน้าวัดพระสี่อิริยาบถ

-ทำวัตรสวดมนต์แปล

-นั่งกัมมัฏฐาน

เวลา 19.00 น.

-พระราชวชิรเมธี, ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร นำเวียนเทียน

-นำแผ่เมตตา และถวายพระพร

-เสร็จพิธี

หมายเหตุ

2.การแต่งกายชุดสีขาว สีนวล หรือชุดสุภาพ


โดย: หมอหมู วันที่: 14 พฤษภาคม 2558 เวลา:23:10:24 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]