Group Blog
 
All blogs
 
ต้มยำทำแกง (วาณิช)




" เล่มนี้อ่านเพลินสำหรับคนช่างกิน ต้องค่อยๆ อ่านวันละนิดวันละหน่อยเพราะกลัวจบเล่มก่อน :) "
---------------------------------------------

ชื่อหนังสือ: ต้มยำทำแกง

ผู้เขียน: วาณิช จรุงกิจอนันต์

พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2554

ราคา: 250 บาท

สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่



คำนำของคนทำสำนักพิมพ์

วาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นชื่อที่ผมรู้จักตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสืออยู่บ้านนอก ตอนนั้นแถวเมืองจันท์บ้านผมดูโทรทัศน์ได้อยู่ช่องเดียว คือช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ นอกจากละครหลังข่าวพวกดาวพระศุกร์ ดอกโศกอะไรทำนองนี้แล้ว ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็นความบันเทิงอีกประเภทหนึ่งที่เราหาได้จากช่องเจ็ด ผมจึงมีโอกาสได้ดูละครของดาราวิดีโอที่เขียนบทโดยวาณิช จรุงกิจอนันต์อยู่หลายเรื่อง จำได้ว่าเป็นละครที่ดูสนุกกว่าจักร ๆ วงศ์ ๆ ทั่วไป การเดินเรื่องจะเร็วกว่า ตอนจบก็จะทิ้งอะไรไว้ให้เราติดตามตอนต่อไป เรียกว่าดูสนุกกว่าที่เคยมีมา ว่าอย่างนั้นเถอะ

ผมเข้ามาเรียนต่อกรุงเทพฯ ราวปี 2528 ตอนนั้น พี่ชายของผมซึ่งอายุแก่กว่าสองปี สอบเทียบได้แล้วและกำลังจะเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นคณะที่ค่อนข้างจะอารมณ์ดี (ส่วนจะจริงหรือเท็จประการใดก็ยังน่าสงสัยอยู่) จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ทำให้พี่ชายของผมต้องขยันสรรหาหนังสือที่มีอารมณ์ขันมาอ่านจนเต็มบ้าน หนังสือของวาณิช จรุงกิจอนันต์ ก็เดินทางเข้าสู่โลกการอ่านของผมด้วยวิธีนี้

เล่าไว้เป็นเกร็ดหน่อยว่า สมัยนั้นไม่ได้ซื้อทั้งหมดนะครับ ชนินทร์พี่ชายผมเขาใช้วิธีการเช่าเอาบ้าง บ้านอยู่แถวสะพานพระรามหก นั่งรถเมล์สาย 203 ผ่านบางพลัดมาเช่าที่ร้านแถวๆ สะพานซังฮี้ เดี๋ยวนี้ผมไม่แน่ใจว่ายังเหลือร้านเช่าหนังสือประเภทนี้อยู่มากน้อยแค่ไหน เพราะร้านเช่าที่เห็นจะเป็นร้านการ์ตูนเสียส่วนใหญ่ ประเภทที่มีเพชรพระอุมาของพนมเทียนวางเป็นแถบ มีทมยันตี กฤษณา อโศกสิน กระทั่งวาณิช จรุงกิจอนันต์นั้น ไม่รู้ว่าหลุดรอดมาจนถึงปัจจุบันสักเท่าไหร่ เพราะนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ 25 ปีเป็นอย่างต่ำ อะไรที่มีอยู่ก็เริ่มล้มหายตายจากไปทีละอย่างสองอย่าง ไม่ใช่แต่ร้านรวงหรือหนังสือ แม้แต่นักเขียนก็ร่วงหล่นเป็นใบไม้กลับคืนสู่รากกันคนแล้วคนเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

ใบไม้ที่ร่วงแล้วป่าทั้งป่าสลดก็อย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใบไม้ที่ร่วงแล้วทำให้เราต้องหวนคำนึงถึงเรื่องราวแต่หนหลังก็ได้แก่วาณิช จรุงกิจอนันต์

ผมพบเจอตัวจริงของวาณิช จรุงกิจอนันต์เป็นครั้งแรกน่าจะในร้านเหล้า ตอนนั้นผมเข้ามหาวิทยาลัยและริกินเหล้าแล้ว แล้วจะให้ไปกินที่ไหนล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ร้านเหล้าที่คนเท่ เขาไปกินกัน คุณวาณิชแกเป็นคนเท่แล้วตอนนั้น แต่ว่าตอนเจอกันอาจจะไม่ได้เท่มากนัก เพราะดันมาเจอกันในห้องน้ำ ต่างคนต่างทำภารกิจ จะทักทายสวัสดีก็ดูจะไม่สุภาพนัก ได้แต่มองหน้าพี่เขา พี่เขาก็มองหน้าผม ผมยังกลัวว่าเขาจะต่อยเอาด้วยซ้ำ จึงรีบออกจากห้องน้ำกลับไปนั่งกินเหล้าต่อ นึกทบทวนในวันนี้ก็ไม่น่าจะจำคนผิด หน้าตาอย่างนี้ ใส่แว่นอย่างนี้ แถมยังใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวพับแขน ยังไงก็ต้องเป็นวาณิชแน่ๆ

ผมไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้แกฟังหรอกครับ เพราะตอนที่มาได้พูดจาปราศรัยเป็นครั้งแรกก็กลายเป็นเรื่องการเรื่องงานเสียแล้ว ตอนนั้นละครเรื่องเคหาสน์ดาวของพี่เขากำลังดัง ศักดิ์สิทธิ์ (แท่งทอง) เล่นคู่กับนุสบา (วานิชอังกูร) ผมได้โอกาสจึงขอให้พี่ยังดี วจีจันทร์ที่ทำงานเป็นรุ่นพี่ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการช่วยนัดสัมภาษณ์คุณวาณิชให้ สัมภาษณ์กันในห้องทำงานของอากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม-มีอากู๋เดียวครับพี่น้อง) ที่ซอยสุขุมวิท 39 นั่นแหละ ตอนนั้นแกรมมี่กำลังก่อร่างสร้างตัว เพื่อนสนิทมิตรสหายของอากู๋ก็มักจะไปชุมนุมกันอยู่ที่นั่น โต๊ะที่นั่งคุยกันก็เข้าใจว่าเป็นโต๊ะทำงานของอากู๋ คุยกันแล้วก็ลืมกันไป ไม่ได้มีโอกาสคุยกับคุณวาณิชอีก ได้แต่ตามอ่านคอลัมน์ในมติชนอยู่โดยสม่ำเสมอ มาได้คุยเป็นเรื่องเป็นราวก็ตอนที่ไปงานมติชนที่โคราชด้วยกัน รถตู้เวียนมารับผม เสร็จแล้วก็อ้อมไปรับคุณวาณิชที่บ้าน ก่อนจะแวะไปรับพี่ชาติอีกคนที่ปากช่อง แต่เมื่อดูแล้วเวลายังเหลือ วงสุราก็ถูกตั้งขึ้นเพื่อฆ่าเวลาเล็กน้อย

คุยกันหลายเรื่องครับในวงสุรา แต่เวลาผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว ใครจะไปจำได้เล่า รู้แต่ว่าบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง ตามประสาพี่น้องในวงการนักเขียน( และผมก็จะขอเปลี่ยนสรรพนามจากคุณเป็นพี่ ในการเรียกพี่วาณิชนับจากนี้ ส่วนที่แอบเรียกพี่มาก่อนหน้านี้ก็เลยตามเลยก็แล้วกัน) ผมคอยเติมน้ำ ยกน้ำแข็งมาให้สองผู้อาวุโส ส่วนสุรานั้นพี่วาณิชเขาติดใส่รถมาเผื่อหลายขวดครับ ช่วงนั้นดูเหมือนว่าพี่ชาติจะมีอาการเจ็บหลัง ผมถามว่าเป็นเพราะนั่งเขียนหนังสือนานหรือ พี่ชาติตอบว่า

“ถ้าเป็นอย่างนั้น กูรวยไปนานแล้ว”

“แล้วทำไมเจ็บล่ะพี่” ผมแกล้งถามย้ำ

“กูว่าน่าจะนั่งกินเหล้านานนี่แหละ”

นี่คือลีลาของนักอำแห่งสยามประเทศ ยิ่งเมื่อได้นั่งประกบคู่กับพี่วาณิชด้วยแล้ว คนที่ร่วมวงด้วยฟังกันเพลินทีเดียว เพลินจนจำไม่ได้ว่าอำหรือขำกันเรื่องอะไรบ้าง

เรื่องขำเรื่องขันนี่ พี่วาณิชนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนมีอารมณ์ขัน ทั้งในชีวิตจริงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเขียน ผมหยิบความเรียงเล่มที่ชื่อวาณิช 60.5 อันเป็นภาคต่อของวาณิช 60 ขึ้นมาอ่านอีกครั้งเมื่อคืนก่อน หลังจากที่เคยได้อ่านแล้วเป็นส่วนใหญ่ในนิตยสาร IMAGE ตอนตีพิมพ์เป็นรายเดือน อ่านแล้วก็พบว่าตัวเองยังนั่งหัวเราะกับบางคำบางประโยคที่พี่วาณิชได้หยอดไว้เป็นระยะในงานเขียนที่ทั้งแพรวพราวและลุ่มลึกเล่มนี้

ว่ากันว่า คนที่จะมองอะไรแล้วขำได้นั้น ต้องเป็นคนที่เข้าใจชีวิตมากโขอยู่ เมื่อเข้าใจแล้วก็เห็นว่า ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง ที่ยึดมั่นถือมั่นเอาจริงเอาจังกันเสียเหลือเกินจึงกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น ความเข้าใจชีวิตเมื่อประกอบกับเมตตา คือ ความรู้สึกไม่อยากให้ท่านทั้งหลายทุกข์ร้อนกันจนเกินเหตุ ก็เกิดเป็นอารมณ์ขัน คนเรามักขำพฤติกรรมของคนอื่น ขำเพื่อนฝูง พี่น้อง คนรอบข้าง นอกจากนี้ยังมีอาการขำขื่นกับศัตรูคู่อาฆาต ว่าแหม มันช่างทำไปได้แต่ละเรื่อง ขำแล้วก็นำมานินทาให้คนสนิทใกล้ชิดฟัง แล้วก็ชวนกันหัวเราะ(เยาะเย้ย) กันขำๆ ในวงข้าววงเหล้า ส่วนเวลาเขียนหนังสือนั้น ถ้าขำตัวเองหรือขำสังคมได้จะปลอดภัยกว่าขำคนอื่น เพราะการเขียนถึงคนอื่นนั้น สุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้ที่ถูกเขียนถึงจะไม่ขำด้วย-อย่างนี้จะขำไม่ออกไปหลายวัน

การเขียนหนังสือให้ขำ ทั้งคนที่ถูกเขียนถึงและคนอ่านนั้น นับเป็นเสน่ห์ที่ใช่ว่านักเขียนจะมีกันทุกคน นักเขียนเพื่อชีวิต นักเขียนเพื่อค้นหาจิตวิญญาณอันสูงส่งของตนเองนี่ส่วนใหญ่จะไม่ขำทั้งในงานเขียนและในชีวิต ส่วนนักเขียนที่ไม่ได้ถือสากับชีวิตมากนัก ทั้งอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ชาติ กอบจิตตินั้นขำกันทุกคน ขำกันได้ทั้งคืนจนถึงเช้า ถ้ายังไม่นอนก็คงจะขำต่อไปได้เรื่อยๆ

พี่วาณิช จรุงกิจอนันต์ของเราก็น่าจะจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้

และนี่เองเป็นเสน่ห์อย่างเหลือร้ายของพี่วาณิช ที่ทำให้คนอย่างอากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ต้องหลั่งน้ำตา ในวันที่พี่วาณิชจากไป

“ไม่มีเพื่อนคนไหนที่คุยได้ทุกเรื่อง ทุกเวลาเหมือนวาณิช” อากู๋เคยเปรยเป็นการส่วนตัวกับผมในมื้ออาหาร

นอกจากขำแล้ว พี่วาณิชนั้นว่ากันตามสำนวนสมัยนี้ ก็ต้องบอกว่าชิลล์ๆ มาตลอดชีวิต โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่หน้าที่การงานเริ่มลงตัว และเรื่องเศรษฐกิจไม่ใช่วิชาที่ต้องลงทะเบียนเรียนทุกเดือนอีกต่อไป อ่านจากงานเขียนในระยะหลังก็จะเห็นภาพพี่วาณิชอยู่บ้านชงเหล้า กินข้าว ดูกีฬา ออกไปสนทนากับเพื่อนฝูงบ้างเป็นบางวัน กระนั้น งานเขียนแบบเล่าเรื่องชีวิตชิลล์ๆ ก็ยังคงเปี่ยมเสน่ห์ ด้วยมุมมองที่อ่อนโยนและเข้าใจโลก

จะมีอยู่เหตุการณ์เดียวที่พี่วาณิชไม่น่าจะชิลล์ ก็คือ ดีลที่แกรมมี่จะเข้าซื้อกิจการมติชน พี่วาณิชแกเป็นที่ปรึกษาอยู่ทั้งสองบริษัท แกก็คิดว่าคราวนี้จะได้เท่ขึ้นไปอีก เพราะทั้งสองบริษัทมารวมกันได้ เบื้องหน้าเบื้องหลังดีลประวัติศาสตร์นี้จะเป็นอย่างไรนั้น คนที่ตอบได้ดีมีอยู่สองสามคน เริ่มจากขรรค์ชัย บุนปาน ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร คนที่โดนลูกหลงไปเต็มๆ เพราะการพลิกไปพลิกมาของธุรกรรมครั้งนี้ ก็คือ วาณิช จรุงกิจอนันต์

ตอนนั้นคุณปกรณ์ พงศ์วราภาแห่งนิตยสาร GM ขอให้ผมไปสัมภาษณ์พี่วาณิชที่บ้าน พี่วาณิชเปลี่ยนเครื่องแบบจากที่ผมเห็นเมื่อ 25 ปีก่อน มาเป็นชุดกางเกงเลรีดเรียบ กับเสื้อยืดสีขาวบางๆ ชงเหล้าเสร็จพราวาณิชก็เดินมานั่งให้สัมภาษณ์ที่โต๊ะกินข้าว ผมก็ซัดกับพี่เขาหนักตามประสานักสัมภาษณ์ แต่พี่วาเขาก็นักเลงพอที่จะตอบทุกเรื่อง เรียกว่าถามอะไรก็ตอบโดยไม่มีการหลบเลี่ยง

ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับกรณีมติชนที่ทำให้เพื่อนฝูงต้องหายไปเกือบครึ่ง พี่วาเขาเป็นนักเลงกลอนก็ยกกลอนของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์มาตอบว่า

“อนิจจาน่าเสียดาย ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์”

คมไหมครับพี่วาณิช แม้ตอนเจ็บก็ยังคม สมกับเป็นกวีจริงๆ เอากับพี่เขาสิ

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้น่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นสุดท้ายของพี่วาณิช เพราะหลังจากนั้นก็ไม่เห็นพี่วาณิชให้สัมภาษณ์ใครยาวๆ อีก นอกจากจะไม่ให้สัมภาษณ์แล้ว คอลัมน์ทั้งหลายทั้งปวงที่เคยเขียนอยู่กับมติชนทั้งเครือก็พลอยอันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย จะเหลือพื้นที่อยู่แห่งเดียวที่พี่วาณิชยังคงเขียนคอลัมน์ให้อ่านอยู่ก็คือ ใน IMAGE ที่คุณนิภา เผ่าศรีเจริญ หรือพี่หมีเป็นบรรณาธิการอยู่นั่นเอง

ผ่านไปนานแค่ไหนไม่ทราบ แต่คิดว่าคงหลายปีอยู่ ผมมีโอกาสได้สนทนากับพี่หมีในยามค่ำ และคุยกันว่าน่าจะนำงานเขียนของพี่วาณิชในช่วงปีหลังๆ มารวมเล่มตีพิมพ์ แต่การจะรวมเล่มแบบนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยบรรณาธิการที่อยู่กับต้นฉบับ อยู่กับนักเขียนมาโดยตลอดเป็นผู้คอยเลือกคัด แล้วใครเล่าจะเหมาะสมกับหน้าที่นี้เท่าพี่หมี

ผมคุยกับพี่หมีอยู่สองสามรอบ ก่อนที่เราจะตกลงในหลักการ และขอให้พี่หมีช่วยเป็นธุระในการคุยกับพี่วาณิช พี่วาณิชเมื่อทราบข่าวก็ตอบกลับมาอย่างสั้นๆ ว่า

“หมีทำไปเลย พี่ไว้ใจหมี”

หลังจากนั้นพี่วาณิชก็ไม่เคยเข้ามาติดตามหรือทวงถาม กระทั่งจะให้ความคิดเห็นอะไรเลย คือลงว่าพี่เขาไว้ใจแล้ว เขาก็ปล่อยให้ทำไปจนเสร็จกระบวนการนั่นเอง

ตอนนั้นเราเริ่มจากวาณิช 60 ก่อน ออกแบบปก รูปเล่ม จัดหน้า พิมพ์เป็นเล่มออกมาเรียบร้อย ได้พี่ชาติ กอบจิตติมาเขียนคำนิยมให้ หนังสือเสร็จเป็นเล่ม พี่หมีส่งข่าวมาว่า “พี่วาพอใจ” ทีมงานทุกคนก็มีความสุข จึงเริ่มดำริว่าน่าจะทำเล่มต่อ เพราะยังมีต้นฉบับดีๆ เหลืออีกมาก และนี่คือที่มาของวาณิช 60.5 ซึ่งติดตามมาอย่างรวดเร็ว

ตอนนั้น ผมยังไม่เฉลียวใจหรอกครับว่า ที่ทั้งบรรณาธิการและคนเขียนคำนิยม เขาเร่งรีบทำงานแข่งกับเวลา ก็เพราะเขารู้ว่า พี่วาณิชนั้นเจ็บอยู่ พี่วาณิชเจ็บมานานพอสมควรแล้ว แต่ความที่ไม่อยากรบกวนใจให้ใครเดือดร้อนแกจึงสั่งกำชับคนสนิทที่รู้ข่าวไม่ให้บอกใคร พี่หมีเมื่อรับคำแล้วก็ยึดถืออย่างเคร่งครัด แม้แต่กับผมเองแกก็ไม่ยอมบอก

หนังสือเสร็จเรานัดกันว่าจะไปหาพี่วาณิชที่บ้านกันสักวันหนึ่ง นัดกันได้วันอาทิตย์ พอถึงวันเสาร์พี่วาณิชโทรเข้ามือถือผมแจ้งว่า ไม่ค่อยสบายจะต้องไปให้เกล็ดเลือด ขอเลื่อนนัดไปก่อน วันนั้น ผมนั่งอยู่ในสวนของมิวเซียมสยาม อากาศเย็นสบาย เสียงของพี่วาณิชก็สดใส จนผมมิได้คิดว่าพี่เขาจะเจ็บหนักเอาการอยู่

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ยินเสียงของพี่วาณิช

หลังจากนั้นพี่เขาก็ทรุดและจากไปอย่างรวดเร็ว แม้เพื่อนสนิทอย่างอากู๋พอถึงเวลาจริงๆ ก็ยังกลับมาไม่ทันดูใจ เพื่อนที่คบกันมาตลอดวัยหนุ่มจึงทำได้แต่ร่ำไห้

“วาณิช กูมาแล้ว” พูดได้แค่นั่นอากู๋ก็น้ำตาร่วงไม่อายสายตาธารกำนัล

อากู๋เล่าให้ผมฟังในวันที่ผมเอาหนังสือชื่อ “ไอ้พวกสุพรรณ” ไปฝาก

ตอนนั้นพวกเราไม่ได้คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องรีบเร่งให้เสร็จ ก็คิดว่าจะทำกันแบบชิลล์ๆ ตามที่ได้รับปากกับพี่เขาไว้ แต่เมื่อเกิดวาระเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งพี่หมี บรรณาธิการ พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มาเขียนคำนิยมให้ ทั้งครอบครัวพี่วาณิช หนังสือสีสันสดใสจึงได้อวดโฉมในวันพระราชทานเพลิงศพ วาณิช จรุงกิจอนันต์ อันเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแอบปีติอยู่ในใจว่า สุดท้ายเราก็ยังได้ทำอะไรให้พี่เขาบ้าง

ผมเองไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับพี่วาณิชเหมือนกับพี่น้องอีกหลายคนในวงการหนังสือ แต่สำหรับตัวหนังสือของพี่วาณิชนั้น นับได้ว่าผมสนิทแนบแน่นกับพี่เขามานาน จากเด็กบ้านนอก(เหมือนกัน) ที่ได้เข้ามาเรียนหนังสือ มาทำงาน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับหนังสือ การได้รับเกียรติให้ตีพิมพ์หนังสือของพี่วาณิช จรุงกิจอนันต์ และการได้รับทราบว่า พี่เขาพอใจและสุขใจกับหนังสือเหล่านี้

นี่จะเรียกว่าอะไร ถ้าไม่ใช่ความภาคภูมิใจของคนทำหนังสือ

และนี่น่าจะเป็นความรู้สึกของพวกเราทุกคน ที่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือชุดนี้มาด้วยความพิถีพิถัน ด้วยความรัก และด้วยความศรัทธาต่อนักเขียนรุ่นพี่ที่ชื่อ วาณิช จรุงกิจอนันต์

- ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา -

ในนามสำนักพิมพ์ openbooks

1 มีนาคม 2554

ที่มาของภาพและเรื่องราว




Create Date : 24 มกราคม 2555
Last Update : 24 มกราคม 2555 18:01:58 น. 0 comments
Counter : 1305 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ช้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ผู้ ช า ย ทำ ข น ม
Friends' blogs
[Add ช้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.