Group Blog
 
All Blogs
 

ฮัวโต๋ ยอดหมอแห่งยุค

ฮัวโต๋ ชื่อรองง่วงห่วย เป็นชาวเมืองไพก๊กเจียว ถึงเดี๋ยวนี้เรียกว่าเฮ้าจิว มณฑลอันเฟย บิดามารดาอุปถัมภ์ค้ำชูฮัวโต๋เป็นอันมาก

ฮัวโต๋มีปัญญาเฉลียวฉลาด ไม่ทันไรก็ท่องพระสูตรเป็นหลายบทได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด แลพระสูตรอันนี้ในเมืองจีนเวลานั้น ผู้ใดท่องได้แต่สักบทหนึ่ง ก็อาจรับราชการเป็นขุนนางมีความเจริญสืบไป หากฮัวโต๋กลับมามีความรักในวิชาแพทย์ทั้งปวง ฮัวโต๋จึงหัดการเวชศาสตร์ทั้งนี้จนชำนาญประดุจนิ้วมือตน ทั้งโรคในนอก โรคสตรีเด็กทั้งปวง แลการฝังเข็มรักษาผู้คนนั้นฮัวโต๋เจนจบทั้งสิ้น คนทั้งปวงมารักษาด้วยฮัวโต๋หายเป็นปรกติ คนทั้งนั้นก็มีใจรักยกย่องฮัวโต๋เป็นอันมาก

แลเมื่อฮัวโต๋จะรักษานั้นก็ถามอาการคนไข้ก่อนแล้วจึงให้ยาไป คนไข้ได้ยาไปกินแล้วโรคนั้นก็หายเพียงชั่วข้ามคืน กิตติศัพท์ชื่อฮัวโต๋หมอเทวดานี้ก็อึงคะนึงไป ขุนนางหัวเมืองหลายคนพากันชวนฮัวโต๋ไปทำราชการเป็นอันมาก แต่ฮัวโต๋กลับรักษาคนอยู่แต่บ้านตนไม่ได้ไปแสวงหาลาภยศแลความก้าวหน้าในทางราชการ

(มีต่อ)




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2552 20:59:53 น.
Counter : 920 Pageviews.  

สุมาอี้ จงต๊ะ จิ้งจอกจอมอหังการ

ปี ค.ศ. 179 สุมาอี้ ชื่อรองจงต๊ะ ทายาทตระกูลขุนนางผู้ใหญ่กำเนิดขึ้น ณ หมู่บ้านเสี่ยวจิงหลี่ อำเภออุน เมืองโห้ลาย(เหอเน่ย) ปู่สุมาอี้เป็นเจ้าเมืองเองจิ๋ว แลสุมาฝางบิดาสุมาอี้นั้นเป็นเจ้าเมืองพระนครหลวงมีชื่อปรากฏมาแต่ก่อน

สุมาอี้เป็นคนเจ้าความคิดตั้งแต่ยังเยาว์ แลใจสุมาอี้นั้นมีใจภักดี ห่วงใยอาณาประชาราษฎรในพระเจ้าเลนเต้อยู่เนืองๆ หยังจวิ้นเจ้าเมืองลำหยงซึ่งมีชื่อว่าดูคนได้ไม่มีผิดนั้นเห็นสุมาอี้แล้วก็ว่า อันสุมาอี้นี้สืบไปเมื่อหน้าเห็นจะได้เป็นผู้ใหญ่ในราชการงานแผ่นดิน

แลสุมาหลางพี่สุมาอี้นั้นมีสหายเรียกว่าซุนเอี่ยน ครั้งหนึ่งซุนเอี่ยน สุมาหลางสองคนสนทนากัน ซุนเอี่ยนจึงว่า อันปัญญาสุมาอี้นั้นลึกซึ้งแยบคายหาผู้เสมอมิได้ น้ำใจก็เด็ดขาดทำการสิ่งไรก็หนักแน่นไม่ยำเกรงแก่คนทั้งปวง ซึ่งท่านจะเปรียบความคิดจิตใจกันกับสุมาอี้นั้น เห็นจะไม่พ้นต้องปราชัยสุมาอี้ผู้น้องเป็นมั่นคง

ฝ่ายที่ว่าการเมือง พอถึงปี ค.ศ. 201 ก็เลื่อนที่สุมาอี้ขึ้นเป็นขุนนางส้างจีหยวน แลโจโฉซึ่งเป็นซือคง คือหัวหน้ากองโยธาธิการสำหรับพระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่นั้น ก็แจ้งว่าสุมาอี้มีสติปัญญา จึงให้หาสุมาอี้เข้าไปเมืองฮูโต๋ จะแต่งเป็นที่ขุนนางใหญ่ให้ได้ราชการแผ่นดิน

ฝ่ายสุมาอี้แจ้งว่าโจโฉให้หาดังนั้นก็คิดแต่ในใจว่า อันแผ่นดินพระเจ้าฮั่นโกโจบัดนี้ก็ระส่ำระสายอยู่แล้ว ถึงเราจะไปทำราชการพระเจ้าเหี้ยนเต้ก็เหมือนทำราชการโจโฉหาสมกันกับศักดิ์เราไม่ ซึ่งจะให้เราไปเป็นข้าโจโฉเราไม่ยอมเป็นอันขาดทีเดียว แลสุมาอี้ก็บอกปัดคนใช้โจโฉซึ่งมาหาเข้าไปนั้นเสียว่า บัดนี้ข้อแลกระดูกเราผิดประหลาดไป แต่จะลุกเดินให้จำเริญใจเป็นที่สบายก็ไม่ได้ ซึ่งจะให้ไปเป็นขุนนางอยู่เมืองหลวงนั้นเห็นขัดสนนัก ฝ่ายคนใช้โจโฉก็กลับไปบอกโจโฉตามคำสุมาอี้ว่า

ฝ่ายโจโฉแจ้งดังนั้นก็โกรธคิดว่า เห็นสุมาอี้จะไม่ยินดีด้วยเรา จึงหาเหตุบิดพลิ้วงานเสียฉะนี้ไม่ยำเกรงเราเลย แลโจโฉจึงให้หามือสังหารเข้าไปเมืองโห้ลาย ไปทำร้ายสุมาอี้ จะได้ดูกันว่าสุมาอี้เป็นไข้จริงหรือบิดพลิ้ว

ฝ่ายนักฆ่าเห็นบ้านสุมาอี้ตั้งอยู่ ก็ปีนกำแพงลอบเข้าไปยามวิกาล แล้วเดินเข้าไปห้องนอนสุมาอี้ เห็นสุมาอี้นอนอยู่ก็ฉวยดาบแทงเข้าใส่สุมาอี้ ฝ่ายสุมาอี้ตั้งแต่บิดพลิ้วโจโฉเสียนั้นก็แจ้งอยู่แล้วว่า เห็นโจโฉจะให้ทหารมาทำจะสังหารตัว จะใคร่ดูว่าป่วยจริงฤาแสร้งเสเป็นแน่ สุมาอี้ก็เฉยเสีย จะได้ไหวติงขยับแลต่อต้านอย่างใดหามิได้ ฝ่ายคนร้ายเห็นสุมาอี้นิ่งดังนั้นก็สำคัญว่าไข้สุมาอี้หนักจริง ก็เก็บดาบหลบหนีไปหาโจโฉ

ฝ่ายโจโฉแจ้งดังนั้นก็สำคัญว่าสุมาอี้เป็นโรคหนักจริง ก็มิได้สนใจสุมาอี้ต่อไป ฝ่ายสุมาอี้ตั้งแต่พ้นภัยโจโฉมาครั้งนั้น จะกระทำการสิ่งใดก็ระแวดระวังตัวยิ่งไปกว่าแต่ก่อน

ฝ่ายโจโฉเลื่อนที่ขึ้นเป็นไจเสี่ยงราชการแผ่นดินเมื่อปี ค.ศ. 208 จึงให้มีโองการไปให้สุมาอี้เข้ามาเป็นที่ขุนนางเหวินเซียะหยวน ณ เมืองฮูโต๋ แลสั่งความคนใช้ไปว่า ถึงสุมาอี้บิดพลิ้วไม่ยอมมา ก็ให้จับตัวเอามาจงได้

ฝ่ายคนใช้ก็มาเมืองโห้ลาย แลแจ้งความแก่สุมาอี้ตามคำโจโฉว่า

ฝ่ายสุมาอี้แจ้งดังนั้นก็คิดว่า บัดนี้โจโฉมีอำนาจใหญ่ในพระนครหลวงอยู่แล้ว ซึ่งเราจะปฏิเสธเสียดังก่อนนั้นไม่ควร ด้วยเกลือกโจโฉมีใจโกรธพาลขึ้น ก็จะให้เอาเราไปตัดศีรษะเสียเป็นแท้ แล้วสุมาอี้จึงออกจากเมืองโห้ลายไปเมืองฮูโต๋ รับราชการเป็นที่ขุนนางหวงเหมินซื่อหลาง

(ผู้คลั่งฯ(ผู้เรียบเรียง) : แปลกดี เชิญมาเป็นขุนนางเหวินเซียะหยวน แต่พอมาจริงๆ ดันเป็นหวงเหมินซื่อหลางตามตำแหน่งเดิมที่โจโฉคิดจะให้เป็นตอนปี 201 ตั้งเจ็ดปีก่อนนี้แน่ะ )

ฝ่ายโจโฉแจ้งว่าสุมาอี้มาดังนั้นก็ดีใจ จึงให้สุมาอี้ไปเป็นที่ขุนนางอี้หลังแทน อยู่ต่อมาก็เลื่อนขึ้นเป็นที่จู่ปู้อีก

แม้โจโฉชื่นชมสุมาอี้ว่ามีสติปัญญามากก็จริง หากยังมีใจสงสัยสุมาอี้อยู่ ด้วยโจโฉแจ้งอยู่ว่า น้ำใจสุมาอี้นั้นกับคนในมีใจระแวงสงสัยอยู่ แลคนนอกนั้นทำทีเป็นใจกว้างขวาง ทั้งหากมีการลำบากสิ่งใดขึ้นแล้ว ก็อาจคิดอ่านเปลี่ยนแปลงให้ตัวพ้นความขัดสนไปได้โดยง่าย แล้วโจโฉได้ยินคนทั้งปวงลือว่า ลักษณะสุมาอี้นั้นจะอุปมาให้เหมือนจิ้งจอกในป่านั้นก็ได้ โจโฉก็คิดสงสัย ใคร่จะทดสอบให้เห็นจริงว่าจะเป็นดังคำคนทั้งปวงหรือหาไม่

วันหนึ่งโจโฉจึงให้สุมาอี้เดินอยู่หน้า ตัวก็ตามหลังไป แล้วโจโฉเรียกสุมาอี้ขึ้นทีหนึ่งให้หันไปหา สุมาอี้ได้ยินโจโฉเรียกก็หันคอไปมองโจโฉ แลจะได้เอี้ยวตัวไปตามปรกติของคนทั้งปวงนั้นหามิได้ โจโฉก็แจ้งว่าบุคลิกสุมาอี้ดูดังสุนัขจิ้งจอกจริงสมคำลือ

(ผู้คลั่งฯ : เนื่องจากเล่ากันว่า สุนัขจิ้งจอกกลัวถูกลอบโจมตี จึงมักหันแต่หน้ากลับมามองข้างหลังโดยไม่เอี้ยวตัวอยู่เสมอนั่นเอง ซึ่งก็เหมือนกันกับบุคลิกของสุมาอี้ที่ปรากฏในตอนนี้)

โจโฉขัดตาท่าทีสุมาอี้อันนี้เป็นอันมาก แล้วโจโฉยังแจ้งอยู่ว่าสุมาอี้นั้นลอบเอาใจออกหากอยู่ คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่เสียเอง แลครั้งหนึ่งสุมาอี้ก็นิมิตฝันไปด้วยว่า มีม้าอยู่สามตัวร่วมกินอยู่แต่รางหญ้าเดียวกัน โจโฉก็คิดว่า เห็นทีสุมาอี้นี้จะมาชิงอำนาจราชศักดิ์วงศ์แซ่โจเรานี้ให้สิ้นไปเป็นมั่นคง โจโฉจึงให้หาโจผีไปสนทนาแล้วจึงว่า อันสุมาอี้คนนี้ เห็นมีสติปัญญาแยบคายอยู่ ซึ่งจะอยู่ในบังคับเราโดยสุจริตนั้นเห็นไม่สม แม้เราผู้บิดาถึงแก่กรรมแลเจ้าขึ้นเป็นที่ขุนนางแทนเราแล้ว เห็นสุมาอี้ได้ช่องก็จะแทรกอ้างอำนาจของเจ้า ทำการตามแต่ใจตัวไม่ยำเกรงผู้ใด เห็นสืบไปเจ้าจะได้ความเดือดร้อนเป็นมั่นคง โจผีได้ฟังดังนั้นก็หาเชื่อคำบิดาไม่ ด้วยโจผีคบกันสนิทกับสุมาอี้อยู่

(ผู้คลั่งฯ : ที่ว้าม้าสามตัวกินหญ้ารางเดียวกันนั้นมีความหมายโดยนัยอยู่ คือแซ่โจหรือเฉาในจีนกลางนั้น พ้องเสียงกับคำว่ารางในภาษาจีน และคำว่า มา หรือ หม่าในจีนกลางของแซ่สุมาอี้นั้น ก็พ้องเสียงกับคำว่าม้าในภาษาจีนด้วยเช่นกัน จึงอาจทำนายความฝันนี้ได้ว่า หญ้านั้นเป็นเสมือนกับอำนาจอยู่ในรางคือตระกูลโจ แล้วม้ามากินคือพวกสุมาจะมาแย่งชิงไปนั่นเอง โจโฉจึงได้มีความวิตก)

ฝ่ายสุมาอี้แจ้งว่าน้ำใจโจโฉระแวงตัวดังนั้น ก็ทำเป็นว่าเป็นคนมักน้อย อันอำนาจสิทธิ์ขาดบ้านเมืองนั้นไม่สนใจ ชอบแต่การตัดหญ้าเอาไปเป็นอาหารม้า แลมีน้ำใจขันแข็งอุตสาหะไม่ย่อท้อกับงานในราชการทั้งปวง หากการยังไม่ลุลงก็ไม่ข่มตาหลับใหลลงได้ โจโฉเห็นสุมาอี้ทำดังนั้นก็ค่อยคลายความวิตกลง อุปมาเหมือนเรื่องครั้งแผ่นดินจิ๋น ซึ่งอองเจียน(หวังเจี่ยน)ทำโลภโภคทรัพย์ไม่ใฝ่อำนาจ ให้จิ๋นซีฮ่องเต้ไม่สงสัยจะได้ไม่นำภัยสู่ตัวดังนั้น

ฝ่ายเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา ก็ซ่องสุมทหารมีกำลังเข้มแข็งกว่าแต่ก่อน จึงยกเข้าเมืองเช็งโต๋เมืองเอกของเอ๊กจิ๋ว เล่าเจี้ยงเจ้าเมืองเสฉวนเห็นทหารเล่าปี่มากจะต่อรบสืบไปขัดสน ก็ยอมสามิภักดิ์เล่าปี่ ขณะเล่าปี่ได้เทืองเสฉวนนั้นลุถึงคริสต์ศักราช 214 เสียแล้ว ปีถัดมาซุนกวนให้คนถือหนังสือมามีความว่า บัดนี้เมืองเสฉวนตกแก่ท่านเล่าปี่สมความคิดแล้ว แลท่านเห็นว่าหัวเมืองเกงจิ๋วนั้นจะคืนแก่เมืองกังตั๋งเมื่อใดให้แจ้งมาแก่ข้าเถิด เล่าปี่จึงแต่งหนังสือตอบไปว่า อันหัวเมืองเสฉวนได้มาแล้วก็จริงอยู่ แต่ขอให้รอไปกว่าเราจะได้เมืองเลียงจิ๋วมาเป็นกำลังให้เข้มแข็งก่อนเถิด จึงจะคืนเมืองเกงจิ๋วให้เมืองกังตั๋งท่าน

ฝ่ายซุนกวนแจ้งว่าเล่าปี่บิดพลิ้วอยู่ดังนั้นก็โกรธ จึงให้ลิบองยกเข้าตีเอาเมืองเตียงสา เลงเหลง กุ้ยหยังสามเมืองได้ เล่าปี่แจ้งดังนั้นก็ยกกองทัพห้าหมื่นไปเมืองกองอั๋น ให้กวนอูยกไปเมืองอี้หยัง เล่าปี่ ซุนกวนรบพุ่งกันอยู่

ฝ่ายโจโฉเห็นเล่าซุนขัดกันดังนั้นก็เห็นได้ช่อง จึงนำกองทัพไปตีเมืองฮันต๋งแตกได้เมื่อเดือน 11 ปีนั้น เตียวฬ่อเจ้าเมืองฮันต๋งเข้าด้วยโจโฉ ครั้งนี้สุมาอี้ก็ไปเป็นที่ปรึกษาในค่ายทหารด้วย สุมาอี้จึงว่า แม้เล่าปี่ได้เมืองเสฉวนแล้วก็ดี ราษฎรเมืองเอ๊กจิ๋วก็ยังหามีน้ำใจกับเล่าปี่ไม่ แลเล่าปี่ยังรบกันกับเมืองกังตั๋งอยู่ฉะนี้อีกเล่า หากท่านไจเสี่ยงแต่งกลอุบาย ซ่องสุมไพร่พลเมืองฮันต๋ง นำทหารทั้งปวงเข้าตีเอาเมืองเสฉวนบัดนี้ เห็นจะแตกไปได้โดยง่าย อันธรรมดาผู้มีสติปัญญานั้นเห็นจะไม่ละเลยช่องทางอันนี้เป็นมั่นคง

ฝ่ายโจโฉได้ฟังดังนั้นจึงว่า บัดนี้ทหารเราน้อย ตีเมืองหลงอิ้วยังไม่แตกก่อน ซึ่งจะตีเอาเมืองเสฉวนเหมือนคำท่านเห็นขัดสน แล้วโจโฉก็หาคิดการจะตีเอาเมืองตามคำสุมาอี้ไม่

ฝ่ายเล่าปี่แจ้งว่าโจโฉได้เมืองฮันต๋งดังนั้น ก็หันไปคิดเป็นทางไมตรีกับซุนกวน โดยแบ่งเมืองเกงจิ๋วห้าเมืองกันไปทั้งสองฝ่าย เล่าปี่ได้เมืองลำกุ๋นหนึ่ง เลงเหลงหนึ่ง ฮุยเอี๋ยงหนึ่งอยู่ในบังคับ

สามปีผ่านไปเล่าปี่เห็นได้ช่อง ก็นำทหารยกเข้าตีเอาเมืองฮันต๋ง ฮองตงฆ่าแฮหัวเอี๋ยนตายในที่รบ โจโฉแจ้งว่าสิ้นแฮหัวเอี๋ยนเสียแล้ว จึงนำทหารยกมาเมืองฮันต๋งจะรบเล่าปี่ ตั้งทัพยื้อกันอยู่ดังนั้นไม่แพ้ชนะกัน โจโฉเห็นจะรบหักเอาเล่าปี่ลงมิได้แล้ว ก็ให้ทหารทั้งนั้นละเมืองฮันต๋งเสีย ถอยทัพกลับไปเมืองฮูโต๋ เล่าปี่ก็ได้เมืองฮันต๋งมาเป็นกำลัง ตั้งไว้สำหรับป้องกันทัพโจโฉ

ฝ่ายโจโฉขณะล่วงถึงคริสต์ศักราช 213 ก็ได้เลื่อนที่เป็นงุยก๋งคือเจ้าพระยาอยู่สามปี พระเจ้าเหี้ยนเต้จึงให้โจโฉเป็นที่งุยอ๋อง คืออุปราชสำหรับแผ่นดิน ฝ่ายโจผีนั้นโจโฉให้เป็นทายาทต่อวงศ์สืบไปภายหน้าเมื่อเดือน 10 ปีต่อมา สุมาอี้จึงเข้าด้วยโจผี ร่วมกับอู๋จื้อ จูซั้ว ตันกุ๋ยเป็นสี่คนซึ่งเป็นคนสนิทกับโจผี

สุมาอี้จึงว่า เฉินโหมวครั้งโบราณนั้นถือข้าวปลาอาหารสำคัญกว่าของทั้งปวง บัดนี้เมืองฮูโต๋เราผู้ไม่ทำนาปลูกข้าวมีเป็นอันมาก ซึ่งจะเอาแต่การรบพุ่งถ่ายเดียวนั้นไม่ควร ต่อไปข้างหน้าเห็นการซึ่งคิดไว้จะขัดสน แม้ยังปราบเล่าปี่ ซุนกวนไม่ได้ ก็ควรที่จะบำรุงการเกษตรเอาข้าวปลาอาหารไว้ให้พรักพร้อมควบกับการทำศึกสงครามไปด้วยกันเป็นสองทาง โจโฉฟังแล้วเห็นดีด้วย

โจโฉจึงให้ตั้งกรมนาเป็นนาราษฎร์นาทหารสองอย่าง แม้โจโฉจะให้ทหารทั้งปวงดำนาอยู่แต่ก่อนแล้วก็ดี แต่เพิ่งจะทำให้เป็นทางการขึ้นตั้งแต่มีคำพูดสุมาอี้ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 218 นี้เอง เมืองวุยส่งคนทำนามาเมืองห้วยปักสองหมื่นเศษ เมืองห้วยหนำมากถึงสามหมื่น คอยผลัดเปลี่ยนกำลังกันอยู่เนืองๆ แลคนนาสี่หมื่นก็คอยทำนาแลรักษาการณ์ลำน้ำห้วยซุย ซึ่งเป็นที่ตั้งฉางข้าววุยก๊กอยู่เป็นนิจ

ผ่านไปปีหนึ่ง (ค.ศ.219) กวนอูนำทัพทำศึกอ้วนเซีย โจโฉให้อิกิ๋มนายทหารมาเป็นกองหนุนทัพโจหยิน รบพันตูกันต่อมาจนเมืองอ้วนเซียเสียแก่กวนอู กวนอูจับอิกิ๋ม บังเต๊กได้ อิกิ๋มเข้าด้วยกวนอู แลบังเต๊กนั้นกวนอูให้สังหารเสีย






....(ยังมีต่อ)




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2551 21:59:33 น.
Counter : 1031 Pageviews.  

ซุนเซ็ก โปวฟู เสี่ยวป้าอ๋องยอดนักรบ

ซุนเซ็ก จีนคำหลวงเรียกว่าซุนเชอะ ภาษาสากลเรียกว่า Sun Ce ชื่อรองโปวฟู เป็นบุตรใหญ่ซุนเกี๋ยน เกิดแต่นางง่อฮูหยิน ณ หยานตูในปี ค.ศ.175

เมื่อเยาว์นั้นบิดามารดารักใคร่เป็นอันมาก นางง่อฮูหยินก็อบรมซุนเซ็กให้แจ้งความถึงมารยาทอันดีแห่งผู้มีสกุลจนรู้ตลอดแล้ว ทั้งซุนเซ็กยังมีสามารถมากทั้งบู๊บุ๋นครบครัน ซุนเซ็กนั้นรักจะพูดคุยหัวเราะเล่นเป็นที่เปิดเผย หากว่าในใจนั้นมีความคิดลึกซึ้งนัก และถึงว่ามีใจกว้าง แต่อบกุมอำนาจเป็นผู้นำ รับฟังความคิดคนทั้งปวง และการใช้คนนั้นซุนเซ็กก็รู้แจ้งตลอด

ขณะนั้นซุนเกี๋ยนผู้บิดาเป็นที่ผู้ช่วยนายอำเภอ แลย้ายที่อยู่ไปยังที่ต่างๆอยู่เนืองๆ ซุนเซ็กก็ย้ายตามไปเสมอ จึงมักเปลี่ยนที่อาศัยเป็นนิจ

ล่วงเข้าปี ค.ศ.184 ซุนเกี๋ยนนำทหารเขาด้วยจูฮีต่อรบโจรโพกผ้าเหลือง ทิ้งครอบครัวทั้งซุนเซ็กให้อยู่ ณ ฉิวฉุน ขณะเมื่อซุนเกี๋ยนไปทัพนั้น สิริอายุซุนเซ็กได้ราวเก้าหรือสิบขวบไม่แจ้งชัด ซุนเซ็กมีบัณฑิตซึ่งเป็นขุนนางทำราชการอยู่ฉิวฉุนเป็นอันมาก ชื่อเสียงซุนเซ็กก็เลื่องลืออยู่

ขณะเมื่อซุนเซ็กอยู่ ณ ฉิวฉุนนั้น จิวยี่(โจวหยี่...Zhou Yu)อยู่ ณ เมืองซู แจ้งว่าซุนเซ็กมีชื่อเลื่องลือจึงมาขอพบ แลจิวยี่นั้นเกิดร่วมปีด้วยซุนเซ็ก แลจิวยี่ซุนเซ็กก็สนิทแน่นแฟ้นกันมาก ด้วยจิวยี่ซุนเซ็กเกี่ยวพันกันอยู่ ซุนเซ็กแลครอบครัวจึงอยู่ ณ ฉิวฉุนอีกสามปี จิวยี่นั้นเคารพนางง่อฮูหยินผู้มารดาซุนเซ็กเป็นอันมาก มักแบ่งปันของต่างๆให้ซุนเซ็กเนืองๆ

ต่อมาจิวยี่ชวนซุนเซ็กไปอาศัยอยู่ ณ เมืองซู ขณะเมื่อซุนเกี๋ยนนำทหารไปเข้าด้วยทัพกวนตงซึ่งอ้วนเสี้ยวเป็นหลักใหญ่นั้น ซุนเซ็กก็นำมารดาและน้องไปพักด้วยจิวยี่ ณ เมืองซู ขณะเมื่อซุนเซ็กอยู่ ณ เมืองซูนั้น จิวยี่ก็ให้ซุนเซ็กคบหาด้วยบัณฑิตเป็นอันมาก มีชื่อเสียงเลื่องลืออยู่

ล่วงเข้าปี ค.ศ.191 หองจอสังหารซุนเกี๋ยนสิ้นชีพในสนามรบ ณ เมืองซงหยง ศพซุนเกี๋ยนฝังอยู่ ณ เมืองง่อ หรือตันเอี๋ยง ซุนเซ็กแลพวกซุนเซ็กจำต้องย้ายมาอาศัย ณ ตันเอี๋ยงสำหรับจะจัดพิธีศพ แล้วจึงย้ายไป ณ เจียงตู(เมืองตอนเหนือของลำน้ำแยงซี)

สองปีถัดมา (ปี ค.ศ.193) โจโฉเจ้าเมือง(มณฑล)กุนจิ๋วนำทหารรุกไล่ตีอ้วนสุดแตกพ่าย เสียเมืองหนานหยาง หนีไปอาศัย ณ ฉิวฉุน

ฝ่ายซุนเซ็กแจ้งว่าอ้วนสุดแตกมาดังนั้นก็เข้าไปพบ แลขอสามิภักดิ์ดุจซุนเกี๋ยนผู้บิดา



(ยังมีต่อ)

...




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 25 มิถุนายน 2551 21:17:25 น.
Counter : 918 Pageviews.  

ตันซิ่ว นักประวัติศาสตร์ผู้อับโชค



ตันซิ่วเกิดในปีที่ 11 ศักราชเกี้ยนเฮ็ง หรือในปี ค.ศ. 233 ในแผ่นดินพระเจ้าเล่าเสี้ยนราชวงศ์ซู่ฮั่นแห่งเสฉวน ซึ่งในขณะนั้นบิดาของเขาได้ถูกขงเบ้งลงโทษโดยการกล้อนผมแล้วปลดลงเป็นไพร่ เนื่องจากบิดาของตันซิ่วนั้นเป็นที่ปรึกษาของม้าเจ๊กเมื่อครั้งที่จ๊กก๊กเสียเกเต๋ง ต่อมาบิดาของตันซิ่วได้รับอภัยโทษให้เลื่อนไปเป็นสามัญชนและว่างงานอยู่กับบ้าน

ในวัยเด็กตันซิ่วได้ศึกษาวิชาการกับอาจารย์คนหนึ่งที่มีชื่อว่า เจียวจิว เมื่อถึงวัยหนุ่มเขาก็เข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าหอสมุดหลวง แต่เขานั้นไม่เป็นที่พอใจของขันทีฮุยโฮผู้เป็นที่โปรดปรานของเล่าเสี้ยนฮ่องเต้ ดังนั้นการรับราชการของเขาจึงไม่ก้าวหน้านัก และออกจะมืดมนซะด้วยซ้ำไป

ต่อมาบิดาของตันซิ่วถึงแก่กรรมไป ตันซิ่วต้องไว้ทุกข์อยู่กับบ้าน พอดีกับเขาเกิดล้มป่วยจึงต้องให้สาวใช้ปรนิบัติ ผู้คนตำบลเดียวกันทราบเรื่องต่างพากันตำหนิตันซิ่วว่าไม่มีความกตัญญูต่อบิดา ทำเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรม ในที่สุดตันซิ่วก็ถูกถอดออกจากราชการและเป็นที่รังเกียจของผู้คนทั่วไป

จนกระทั่ง ในปี ค.ศ.263 ตันซิ่วมีอายุ 31 ปี จ๊กก๊กก็ล่มสลายลง เล่าเสี้ยนยอมจำนนต่อการบุกรุกของเตงงายแม่ทัพวุยก๊กโดยดี ตันซิ่วได้ถูกจับเป็นเชลยไปยังวุยก๊กด้วย เหล่าข้าราชการเสฉวนเดิมนั้นได้ถูกเสนอชื่อให้เข้ารับราชการในวุยก๊กซึ่งเป็นราชสำนักใหม่ แต่เนื่องจากชาวเสฉวนพากันรังเกียจตันซิ่วตามที่กล่าวมาแล้ว ตันซิ่วจึงไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับราชการในราชอาณาจักรวุย

จนกระทั่งสุมาเอี๋ยนหลานชายของสุมาอี้ทำการปราบดาภิเษกล้มราชวงศ์วุ่ยในปี ค.ศ. 265 ตั้งตนเองเป็นจิ้นหวู่ตี้แห่งราชวงศ์จิ้น เตียวหัวซึ่งเป็นข้าราชการมีเกียรติคนหนึ่ง ได้อ่านงานเขียนของตันซิ่วและชื่นชมเขามาก จึงได้เสนอให้จิ้นหวู่ตี้แต่งตั้งตันซิ่วเป็น เห่าเหนียม*

หลังจากนั้นตันซิ่วก็ถูกเรียกตัวไปยังนครหลวงโลหยางหรือลกเอี๋ยง ให้รับตำแหน่งผู้ช่วยส่วนภูมิภาค ต่อมาในปีที่ 5 ของรัชกาลจิ้นหวู่ตี้ฮ่องเต้ เขาได้ย้ายกลับไปเป็นข้าราชการตำแหน่งลอย ณ ภูมิลำเนาเดิม(เสฉวน)

ในตอนนั้นเจียวจิวผู้เป็นอาจารย์ของเขากำลังป่วยและรักษาตัวอยู่กับบ้าน ตันซิ่วได้รับสานต่อหน้าที่ในการเขียนประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กต่อจากเจียวจิว โดยรับช่วงเอาเอกสารต่างๆ เช่นเอกสารเกี่ยวกับจ๊กก๊ก เป็นต้น ซึ่งเอกสารเหล่านี้มีไม่มากนัก แต่มันก็เป็นเอกสารสำคัญสำหรับการเขียนสามก๊กของเขาในเวลาต่อมา

ต่อมาตันซิ่วก็ย้ายไปทำหน้าที่ประพันธกรในราชการส่วนกลางที่นครลกเอี๋ยง เขาได้รับมอบหมายจากซูนหอยราชเลขาธิการและห่อเขียวรองราชเลขาธิการให้รวบรวมวรรณกรรมของขงเบ้งผู้ล่วงลับ ตันซิ่วใช้เวลาประมาณ 5 ปีจึงสามารถทำได้สำเร็จลุล่วง โดยในระหว่างที่เขารวบรวมวรรณกรรมของขงเบ้งอยู่นั้น เขาได้ทำการรวบรวมเอกสารต่างๆที่จำเป็นในการเขียนประวัติศาสตร์สามก๊กไว้ด้วย

ตันซิ่วมีอุปสรรคในการเขียนประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร แม้เขาจะมีตำแหน่งประพันธกรของราชวงศ์จิ้น สามารถค้นจดหมายเหตุวุยเท่าที่มีอยู่ในหอสมุดหลวงได้ก็ตาม แต่เนื่องจากเขาเป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องจดหมายเหตุวุยก๊กในหอสมุดโดยพลการ เขาจึงไม่ได้รับความสะดวกในการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวุยก๊กเท่าที่ควรนัก ส่วนทางจ๊กก๊ก ตันซิ่วเขียนเอาไว้ในหมายเหตุของจดหมายเหตุสามก๊กของเขาว่า จ๊กก๊กไม่ได้แต่งตั้งพนักงานพงศาวดาร(ผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์)เอาไว้ ตันซิ่วจึงมีจดหมายเหตุของจ๊กก๊กเพียงเล็กน้อยที่ได้รับมาจากอาจารย์เจียวจิวของเขา ส่วนทางง่อก๊กค่อนข้างขาดแคลนข้อมูลมากเพราะง่อยังไม่ได้ยอมจำนนด้วยจิ้นก๊ก ด้วยประการฉะนี้เองทำให้การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ของตันซิ่วในระยะแรกค่อนข้างลำบากมาก อย่างไรก็ตาม ตันซิ่วเพียรพยายามเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นเวล่านานกว่า 30 ปี จนในที่สุดจดหมายเหตุสามก๊กซึ่งมีความยาวรวม 65 เล่มสมุด** ก็เสร็จสิ้นลง โดยตันซิ่วมีหลักเกณฑ์ "ถือว่าก๊กวุ่ยเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนอย่างถูกต้องในยุคสามก๊ก ส่วนอีกสองก๊กคือจ๊กและง่อเป็นเพียงรัฐที่มีการปกครองเพียงบางส่วนของจีนเท่านั้น" เขาจึงมีวิธีการเขียนเรียบเรียงดังนี้

1) เริ่มต้นเขียนถึงก๊กวุ่ยก่อน ตามด้วยจ๊กและง่อตามลำดับ โดยจดหมายเหตุวุยนั้นจะเขียนรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง(ที่ไร้สังกัด คืออยู่ในยุคก่อนที่จะแบ่งเป็นสามก๊ก)กับก๊กวุ่ยด้วย เช่น ลิโป้ ตั๋งโต๊ะ เป็นต้น

2) กษัตริย์ของวุ่ยทุกพระองค์ ตันซิ่วเรียกด้วยราชทินนาม เช่น วุ่ยบู๊เต้(โจโฉ) วุ่ยบุ๋นเต้(โจผี) วุ่ยเหม็งเต้(โจยอย) และสามยุวกษัตริย์(โจฮอง โจมอ โจฮวน) ทางกษัตริย์ของจ๊กตันซิ่วก็ยังคงให้เกียรติอยู่บ้างโดยเรียกเล่าปี่ว่า "โหงวจู่" แปลว่าเจ้าครองรัฐองค์แรก เรียกเล่าเสี้ยนว่า "โฮ่วจู่" แปลว่าเจ้าครองรัฐองค์หลัง ส่วนกษัตริย์ฝ่ายง่อ ตันซิ่วเรียกชื่อโดยตรงคือ ซุนกวน ซุนเหลียง ซุนฮิว ซุนโฮ

3) ตันซิ่วใช้คำที่แปลว่า "ประวัติ" ของกษัตริย์แต่ละก๊กต่างกัน ของวุ่ยนั้นใช้คำว่า จี้ แปลว่าพระราชประวัติ ส่วนของจ๊กและง่อ ตันซิ่วใช้เพียงคำว่า "จ้วน" ซึ่งแปลว่าชีวประวัติบุคคลเท่านั้น

4) ตันซิ่วเปลี่ยนชื่อก๊กของเล่าปี่จาก "ฮั่น" เป็น "จ๊ก" อาจเป็นเพราะเขาถือว่าฮั่นสิ้นบุญไปแล้ว และเล่าปี่เป็นเพียงกษัตริย์ภาคสานติรัฐมณฑลเสฉวน(ดินแดนปา สู่ หรือ จ๊ก)เท่านั้น หรืออาจจะเป็นว่าตันซิ่วถือว่าวุ่ยเป็นราชวงศ์ที่ถูกต้องของจีน ถ้าใช้ชื่อฮั่นอาจจะเป็นการข่มชื่อของวุ่ยไปก็เป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง

(หนังสือบางเล่มนำข้อมูลประวัติสุมาอี้จากสามก๊กจี่มาและกล่าวอ้างอิงว่ามาจาก "จิ้นซู" จึงน่าจะมีจดหมายเหตุชุดจิ้นซูรวมอยู่ในซานกว๋อจื้อด้วย แต่อาจเป็นจดหมายย่อยอยู่ในวุ่ยจี่ก็เป็นได้ : ผู้คลั่งสามก๊กและวรรณกรรมจีน)


เมื่อต้นฉบับสามก๊กจี่เริ่มเผยแพร่ออกไป ก็มีทั้งปฏิกริยาแง่ลบและแง่บวกต่อตันซิ่วมากมาย อาทิ ในเวลานั้นมีขุนนางชื่อ แฮหัวตำ กำลังเขียนพงศาวดารก๊กวุยอยู่ เมื่อเขาได้เห็นต้นฉบับของตันซิ่ว เขาก็ทำลายพงศาวดารของตนเองทิ้งทันที เป็นต้น

แต่โดยรวมแล้วปฏิกริยาในแง่ลบต่อตันซิ่วจะมีมากกว่า ตันซิ่วต้องได้รับความอัปยศอดสูเป็นอย่างมาก เนื่องจากทายาทของขุนนางยุควุยก๊กยังคงมีชีวิตอยู่ และทายาทของคนเหล่านี้ก็มีตำแหน่งขุนนางชั้นสูงด้วย พวกขุนนางเหล่านี้ต้องการให้ตันซิ่วเขียนประวัติศาสตร์เชิดชูบรรพบุรุษของเขา แต่ตันซิ่วก็หัวแข็งมิยอมอ่อนให้กับผู้ใดเลย ดังนั้นขุนนางเหล่านี้จึงเกลียดตันซิ่วนัก ตันซิ่วต้องถูกพวกขุนนางเหล่านีเหยียดหยามตลอดเวลา ในงานสโมสรผู้มีเกียรติครั้งใดที่ตันซิ่วไปร่วมงานอยู่ด้วย เหล่าขุนนางจะพูดและทำเหยียดหยามอยู่ในที

ปฏิกริยาทางลบต่อสามก๊กจี่ของตันซิ่วก็มีมาก อาทิเช่น หลายคนเจตนาวิจารณ์ว่าตันซิ่วโกรธแค้นที่บิดาของเขาเคยถูกขงเบ้งลงโทษ จึงเขียนวิจารณ์ว่าขงเบ้งมีความสามารถในการปกครองเทียบเท่ากับก่วนจงและเซียวเหอ แต่คงไม่ถนัดในการทำศึกสงครามนัก และยังมีการตำหนิตันซิ่วที่วิจารณ์จูกัดเจี๋ยมบุตรชายของขงเบ้งผู้พลีชีพในการศึกว่า มีเกียรติภูมิเกินกว่าความเป็นจริงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขุนนางใหญ่สองคนชื่อว่า เตียวหัว และ เตาอี้ ได้กราบทูลขอให้จิ้นหวู่ตี้พิจารณาต้นร่างของสามก๊กจี่ของตันซิ่ว แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากขุนนางใหญ่หลายคน เรื่องนี้จึงถูกระงับไปในที่สุด

ต่อมาไม่นานนัก มารดาของตันซิ่วได้ถึงแก่กรรมลง ก่อนนางจะตายได้สั่งเสียให้เขาฝังศพนางเอาไว้ที่นครลกเอี๋ยง ตันซิ่วจึงลาออกจากราชการเพื่อไว้ทุกข์ให้มารดา และฝังศพนางไว้ที่นครลกเอี๋ยง แต่เขาไม่ได้คาดคิดว่า พฤติกรรมของเขากลับถูกพวกขุนนางที่เกลียดชังเขาเอาไปกล่าวหาว่าเขาไม่มีความกตัญญูต่อมารดาเพราะไม่นำศพของนางไปฝังยังบ้านเดิม

นับตั้งแต่ตันซิ่วเขียนสามก๊กจี่สำเร็จลง เขาก็ถูกพวกขุนนางโจมตีตลอดเวลาจนกระทั่งเรื่องค่อยๆเงียบหายไปเอง ตันซิ่วเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่อำนวย ประกอบกับต้นร่างสามก๊กจี่ยังไม่สมบูรณ์มากนักเนื่องจากข้อมูลทางฝั่งง่อก๊กยังมีไม่เพียงพอ เขาจึงยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายต่อจิ้นหวู่ตี้

ในที่สุดซุนโฮแห่งง่อก๊กก็ยอมจำนนต่อการโจมตีของเตาอี้และองโยยในปี ค.ศ. 280 ตันซิ่วจึงได้ทำการแก้ไขต้นร่างของสามก๊กจี่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากขุนนางที่มีชื่อว่า อ้องหุ่น อ้องหุ่นได้กราบทูลจิ้นหวู่ตี้ให้แต่งตั้งตันซิ่วเป็นจางวางในวังรัชทายาท แต่ปรากฏว่าตอนนั้นตันซิ่วแก่ชราเต็มที และกำลังถูกโรคภัยรุมเร้า ไม่สามารถรับราชการได้อีกแล้ว และในปีต่อมา(ปี ค.ศ.298)เขาก็ถึงแก่กรรมลง รวมอายุได้ 65 ปี ในปีที่เจ็ดแห่งรัชกาลจิ้นฮุ่ยตี้(สุมาจง เป็นกษัตริย์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตกต่อจากจิ้นหวู่ตี้หรือสุมาเอี๋ยน)

หลังจากตันซิ่วตายไปแล้วถึงจะมีคนกล่าวขวัญถึงบันทึกสามก๊กของเขา และขุนนางหลายคนก็ถวายหนังสือกราบทูลจิ้นฮุ่ยตี้ให้ส่งคนไปคัดลอกต้นฉบับยังบ้านของตันซิ่ว หนังสือสามก๊กจี่หรือจดหมายเหตุสามก๊กจึงเป็นที่รับรองของทางราชการ และได้เข้าไปอยู่ในหอสมุดหลวงตั้งแต่นั้นมา

คำวิจารณ์ของนักประวัติศาสตร์ต่อตันซิ่ว

1) ตันซิ่วไม่เรียกก๊กของเล่าปี่ "ฮั่น" หากแต่เรียก "จ๊ก" เป็นการเปลี่ยนชื่อโดยพลการอย่างไม่สมควร

2) การที่ตันซิ่วให้ก๊กวุ่ยเป็นราชวงศ์ที่ถูกต้องของประเทศจีนในขณะนั้น นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ยอมให้อภัย เนื่องจากความจริงมีว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นฮ่องเต้ที่ไม่มีพระจริยาวัตรบกพร่อง โจโฉใช้อำนาจข่มพระเจ้าเหี้ยนเต้ตลอดมา และโจผีบุตรชายที่ได้เป็นฮ่องเต้ขึ้นมาก็เพราะใช้อำนาจข่มขู่ให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ส่งมอบราชบัลลังก์แก่ตน ตามหลักของลัทธิขงจื๊อถือว่าเป็นการปล้นราชสมบัติ ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์นั้นควรให้ราชวงศ์ที่ปกครองจีนอย่างถูกต้องในยุคนั้นคือราชวงศ์จ๊กฮั่นของก๊กเล่าปี่จึงจะสมควร เพราะเมื่อเล่าปี่ทราบข่าวว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกปลดและสวรรคตไปแล้ว*** เล่าปี่จึงจัดพิธีศพให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้และถวายพระนามว่า "เฮ่าหมินฮ่องเต้" แล้วเล่าปี่จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นฮ่องเต้เพื่อสืบสายราชวงศ์ฮั่นไว้ต่อไป

3) นักประวัติศาสตร์ตำหนิว่าตันซิ่วมีความลำเอียงเข้าข้างก๊กวุ่ยและราชวงศ์จิ้นและมีอคติกับขงเบ้งสมุหนายกแห่งจ๊กก๊กกับจูกัดเจี๋ยมบุตรชายมากเกินไปในการเขียนประวัติศาสตร์สามก๊ก ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

3.1) ในการเขียนประวัติศาสตร์บุคคลวุยก๊ก ตันซิ่วมักใช้ถ้อยคำช่วยปกปิดความผิดให้แก่วุยเสมอ เช่นในพระราชประวัติบู๊เต้(โจโฉ) ตอนที่โจโฉประหารขุนนางตงฉินชื่อตังสินซึ่งวางแผนสังหารเขานั้น ตันซิ่วเขียนตอนนี้ไว้เพียงว่า "แผนลับของพวกตังสินรั่วไหล ถูกประหารสิ้นชีวิตทุกคน" ทั้งที่เรื่องจริงมีว่าตังสินได้รับราชโองการในเสื้อพระราชทานจากพระเจ้าเหี้ยนเต้อีก และเรื่องตอนที่โจโฉประหารฮกเฮามเหสีแห่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่วางแผนกับฮกอ้วนบิดาจะสังหารเขา ตันซิ่วบันทึกเพียงว่า "ฮกเฮามเหสีแห่งฮั่นมีจดหมายถึงฮกอ้วนบิดาว่าฮ่องเต้โกรธแค้นที่ท่าน(โจโฉ) ประหารตังสิน อันข้อความในจดหมายใช้ถ้อยคำเลวร้ายมาก เรื่องปรากฏ ฮกเฮาถูกฆ่าตาย ญาติพี่น้องถูกสังหารสิ้นชีวิตทุกตัวคน" ดังนี้นักประวัติศาสตร์ถือว่าตันซิ่วมีเจตนาลำเอียงเข้าข้างก๊กวุ่ย ผิดจากหลักการของนักประวัติศาสตร์ที่ดี

3.2) ในการเขียนประวัติของขงเบ้งและจูกัดเจี๋ยมผู้บุตร ตันซิ่วใช้คำในประวัติขงเบ้งตอนที่ขงเบ้งยกทัพบุกตีวุยก๊กว่า "จูกัดเหลียงแม่ทัพจ๊กบุกรุกชายแดน" และยังเขียนวิจารณ์ขงเบ้งว่า "ขงเบ้งมีความสามารถทางด้านการจัดการปกครองรัฐเยี่ยมยอด สามารถเทียบชั้นได้กับขวันต๋ง(ก่วนจง...กวนต๋ง)****แห่งยุคชุนชิวและเซียวโห*****แห่งยุคไซฮั่น แต่การที่เขาระดมพลออกรบไม่ว่างเว้นและไม่ประสบผลสำเร็จเลยนั้นอาจเป็นเพราะการทำสงคราม วางแผนกลยุทธ์อันซับซ้อนไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดก็เป็นได้" และวิจารณ์จูกัดเจี๋ยมบุตรขงเบ้งผู้พลีชีพในการรบกับวุยก๊กครั้งเสียเสฉวนว่า "มีเกียรติคุณเกินกว่าความเป็นจริง" กล่าวกันว่าการวิเคราะห์เกี่ยวกับขงเบ้งในแง่ไม่ค่อยดีเป็นเพราะบิดาของตันซิ่วเคยถูกขงเบ้งลงโทษ และการที่วิจารณ์จูกัดเจี๋ยมในแง่ร้ายเพราะตันซิ่วเคยถูกจูกัดเจี๋ยมสบประมาทมาก่อน ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จึงถือว่าตันซิ่วมีใจอคติขัดกับหลักของนักประวัติศาสตร์ผู้เที่ยงธรรม

3.3) มาตรว่าตันซิ่วจะมีข้อเสียข้างต้น แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยังยกย่องเขาว่ามีความสามารถในการเขียนประวัติศาสตร์อย่างย่อโดยได้รายละเอียดใจความครบถ้วนสมบูรณ์ และบางท่านแสดงความเห็นใจตันซิ่วว่า เขาอยู่ในราชสำนักจิ้น จึงมิกล้าเขียนผิดแผกไปจากความประสงค์ของสุมาเอี๋ยน และข้อกล่าวหาบางข้อข้างต้นก็ได้มีผู้ออกมาให้เหตุผลแก้ต่างให้ตันซิ่วอยู่บ้างเหมือนกัน

*เห่าแปลว่ามีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ส่วนเหนียมแปลว่ามีนิสัยรักความสะอาดและสมถะ ซึ่งสมัยนั้นเห่าเหนียมเป็นชื่อเรียกของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากจังหวัดโดยไม่มีการสอบ
**ในจำนวนจดหมายเหตุสามก๊ก 65 เล่มสมุดนี้ มีวุ่ยจี่(จดหมายเหตุก๊กวุ่ย)ทั้งหมด 30 เล่มสมุด จ๊กจี่(จดหมายเหตุก๊กจ๊ก)ทั้งหมด 15 เล่มสมุด และง่อจี่(จดหมายเหตุก๊กง่อ)ทั้งหมด 20 เล่มสมุด โดยในตอนแรก ตันซิ่วมิได้ตั้งชื่อบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊กของเขาว่า "สามก๊กจี่" ชื่อ "สามก๊กจี่" หรือซานกว๋อจื้อนั้นเป็นชื่อที่นักศึกษาในสมัยราชวงศ์ต้าซ้อง(ซ่ง)ตั้งให้
***ที่จริงหลังจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกปลดเป็นซานหยางกงแล้ว ก็ยังมีพระชนม์อยู่ต่อไปจนสิ้นพระชนม์ในสมัยโจยอยฮ่องเต้ในปี ค.ศ.234 ปีเดียวกับที่ขงเบ้งตาย โจยอยฮ่องเต้ทรงฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ จัดพิธีศพอย่างสมเกียรติและมอบราชทินนามให้ว่า "เฮ่าเหี้ยนฮ่องเต้"
****ขวันต๋งหรือก่วนจงหรือกวนต๋ง เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐฉี บริหารราชการได้ยอดเยี่ยมจนสามารถทำให้รัฐฉีในยุคของฉีหวนกง(เจ๋ฮวนก๋ง)กลายเป็นมหาอำนาจรัฐแรกแห่งยุคชุนชิว และได้รับการจัดเข้าทำเนียบ 5 รัฐมหาอำนาจยุคชุนชิวร่วมกับรัฐจิ้น ฉู่ ฉิน และซ่ง (5 มหาอำนาจหรือ 5 ผู้ยิ่งใหญ่ยุคชุนชิวได้แก่ ฉีหวนกงแห่งแคว้นฉี ฉู่จวงอ๋องแห่งแคว้นฉู่ ฉินมู่กงแห่งแคว้นฉิน จิ้นเหวินกงแห่งแคว้นจิ้น และซ่งเซียงกงแห่งแคว้นซ่ง)
*****เซียวโหหรือเซียวเหอ เป็นที่ปรึกษาของหลิวปังหรือฮั่นโกโจปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของราชวงศ์ฮั่นด้วย ได้รับการยกย่องจากหลิวปังว่า "จัดการบริหารราชการแนวหลังได้ดีเยี่ยมยิ่งกว่าตัวหลิวปังเองเสียอีก"




 

Create Date : 28 กันยายน 2549    
Last Update : 28 กันยายน 2549 23:34:57 น.
Counter : 1100 Pageviews.  

จูกัดเหลียง ขงเบ้ง มังกรสะเทือนโลก (ตอนที่2)

จูกัดเหลียง ขงเบ้ง (ต่อ)


ค.ศ.227 นางหวังเย่อิงภรรยาให้กำเนิดบุตรชายคนแรกแก่ขงเบ้ง ขงเบ้งตั้งนามให้ว่าจูกัดเจี๋ยม

ขงเบ้งถวาย "ฎีกาออกทัพ" ต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนในเดือน3 ฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน

ในเดือน 12 ปีเดียวกันนั้นเอง ขงเบ้งทราบข่าวว่าเบ้งตัดอดีตขุนนางจ๊กซึ่งไปสวามิภักดิ์วุยและได้เป็นเจ้าเมืองซินเฉียของวุยก๊กนั้นไม่พอใจที่ต้องอยู่ชายแดนมานาน ขงเบ้งจึงส่งจดหมายไปขอให้เขาสวามิภักดิ์ต่อจ๊ก โดยจะนิรโทษกรรมให้(เบ้งตัดไม่ช่วยเหลือกวนอูทำให้กวนอูต้องตาย จึงเป็นโทษอยู่)

เบ้งตัดจึงส่งจดหมายตอบไป แต่ก็ยังลังเล ขงเบ้งจึงวางแผนเร่งรัดเรื่องราว โดยส่งกุยมอ(โกะโหม)แกล้งไปเข้าด้วยกับเซินอี้เจ้าเมืองซิงของฝ่ายวุย และบอกเรื่องการทรยศของเบ้งตัด โดยถ้าเบ้งตัดรู้ว่าข่าวรั่วไหลก็ต้องเข้าด้วยจ๊กเร็วขึ้น แต่สุมาอี้ได้วางแผนแก้ได้ด้วยการยกทัพบุกเมืองของเบ้งตัดฉับพลัน เบ้งตัดพ่ายแพ้และถูกฆ่าตาย

ขงเบ้งนำทัพมุ่งหน้าขึ้นเหนือในเดือนที่ 1 ของปีถัดมา(ค.ศ.228) จูกัดเกียว(บุตรบุญธรรมที่ขงเบ้งขอมาจากจูกัดกิ๋นผู้พี่)ซึ่งทำหน้าที่ขนสัมภาระในกองทัพนั้นเกิดล้มป่วยเสียชีวิต

อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กได้เสนอแผนการของตนต่อขงเบ้งว่า "ข้าจะนำทหารห้าพันคน นำทัพออกจากเมืองโปต๋ง เดินทัพไปตามเทือกเขาเฉินหลิง ผ่านช่องเขาจูงอก๊ก ก็จักสามารถตีและยึดครองเตียงฮัน(ฉางอาน)ได้โดยใช้เวลาเพียงสิบวันเท่านั้น" แต่ขงเบ้งเห็นว่าแผนนี้เสี่ยงอันตรายมากเกินไป จึงไม่ยอมรับแผนนี้ และเดินทัพออกจากตำบลเฉียกุ๊ มุ่งไปตีเมืองเหมย และให้จูล่งกับเตงจี๋นำทัพไปลวงข้าศึกว่าจะนำทัพไปตีที่ฉีกุ๊(กิก๊ก) โจจิ๋นแม่ทัพวุยก๊กนำทัพมารับศึกจูล่งและเตงจี๋

ฝ่ายขงเบ้งจึงนำทัพหลักบุกเข้าตีกิสานทันที เขาจัดขบวนทัพจ๊กได้เป็นระเบียบ การลงโทษและปูนบำเหน็จรางวัลเข้มงวดชัดแจ้งมิย่อหย่อน ทางเมืองเทียนซุย ลำอั๋น และอันติ้ง 3 เมืองนี้พากันอ่อนน้อมต่อขงเบ้ง ร่วมกันต่อต้านวุยก๊ก ทำให้ทางกวานจง(กวนต๋ง)ต้องระส่ำระสายไป

ในจำนวนคนที่มาเข้าด้วยขงเบ้งนี้ มีเกียงอุยรวมอยู่ด้วย ขงเบ้งชื่นชมความสามารถเขามาก และตั้งเขาเป็นนายพลจ๊กก๊ก(ไม่ทราบตำแหน่งแน่ชัด)

วุ่ยหมิงตี้(โจยอยฮ่องเต้)ถึงกับต้องนำกองทัพหลวงมารับศึก ณ เตียงอัน(ฉางอาน)

วุ่ยหมิงตี้มีราชโองการให้ขุนพลเตียวคับนำทัพมารับศึก ฝ่ายขงเบ้งจึงได้มอบหมายให้ขุนพลม้าเจ๊กนำทัพไปตั้งที่เขาเกเต๋ง ม้าเจ๊กไม่เชื่อฟังคำขุนพลอองเป๋ง ฝ่าฝืนคำสั่งของขงเบ้ง ทำการผิดพลาด เมื่อปะทะกับทัพวุ่ยของเตียวคับจึงพ่ายแพ้ยับเยินกลับมา ยังดีที่อองเป๋งช่วยบรรเทาสถานการณ์ร้ายเป็นดีได้บ้าง ขงเบ้งจึงต้องจำใจประหารม้าเจ๊กเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎอาญาศึก และยังลงโทษนายพลที่ปรึกษาของม้าเจ๊กสามคน สองคนถูกตัดหัว อีกคนหนึ่งถูกโกนศีรษะและปลดออกจากตำแหน่ง(คนที่ถูกปลดนั้นก็คือ บิดาของตันซิ่ว ผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊กนั่นเอง) มีเพียงอองเป๋งที่ได้บรรดาศักดิ์เพิ่มเป็น ถิงโหว เพราะมีความดีความชอบ ขงเบ้งลงโทษและปูนบำเหน็จเสร็จสรรพแล้ว จึงสั่งถอยทัพกลับจ๊ก และได้ถวายรายงานแก่พระเจ้าเล่าเสี้ยนว่า

"ข้าพระองค์ด้อยสติปัญญานัก ซึ่งพระองค์โปรดให้มีตำแหน่งอาญาสิทธิ์บัญชาทัพทั้งสามนี้เห็นหาสมไม่ กลับทำการเลินเล่อจนเสียทั้งเกเต๋งแลตำบลกิก๊กฉะนี้เสียอีกเล่า ล้วนเป็นความบกพร่องของข้าพระองค์ที่ใช้คนมิสมควร อันประเพณีแต่โบราณครั้งยุคชุนชิวนั้น นับเป็นความผิดของแม่ทัพ จะปัดความรับผิดชอบมิได้ ข้าพระองค์ขอยอมรับโทษ ลดตำแหน่งตนเสียสามขั้นเพื่อเป็นการลงฑัณฑ์อาญา"

พระเจ้าเล่าเสี้ยนทราบก็โปรดให้ตามคำซึ่งขงเบ้งว่ามานั้น ขงเบ้งจึงลดยศตนเองลงเสียเป็นที่นายพลขวา ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามที่มีอยู่แต่เดิมนั้นทุกประการ

ไม่นานต่อมา มีผู้เสนอให้ขงเบ้งรวบรวมกำลังของจ๊กก๊กครั้งใหญ่เพื่อเตรียมบุกวุยก๊กอีกครั้งหนึ่ง ขงเบ้งได้ฟังแล้ว จึงกล่าวต่อเขาว่า

"การบุกวุยก๊กที่กิสานครั้งที่ผ่านมานั้น กำลังทหารของเรามากกว่าวุยก๊กนัก แต่กลับพ่ายยับเยินแตกกลับมาอีกเล่า เช่นนี้ย่อมบ่งบอกว่าจะเอากำลังทหารมากำหนดแพ้แลชนะในสงครามหาได้ไม่ เราพึงลดกำลังพลทหาร การบำเหน็จรางวัลแลโทษต้องแจ่มชัด รับบทเรียนจากความผิดพลาดครั้งก่อน ขอให้ผู้จงรักภักดีต่อแผ่นดินกรุณาวิพากษ์วิจารณ์ข้าได้อย่างเต็มที่ ให้ข้าสามารถขจัดข้อบกพร่องอย่างเต็มที่ ทำเช่นนี้ก็จักสามารถกำชัยชนะต่อศัตรู ปราบปรามการแผ่นดินซึ่งยังไม่สงบนั้นลงได้เป็นมั่นคง"

เดือน 5 ปีเดียวกัน(ค.ศ.228) ลกซุนแม่ทัพใหญ่ของง่อได้ปะทะกับโจฮิวแม่ทัพวุยที่เมืองเซ็กเต๋ง(เซี่ยถิง) ทัพวุยพ่ายแพ้แตกพ่ายยับเยิน โจฮิวเองก็ล้มป่วยลงในเดือน 9 ขงเบ้งซึ่งอยู่ ณ ฮันต๋งได้ข่าวนี้จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะหลุดมือไปมิได้ เขาจึงกรีฑาทัพบุกวุยก๊กอีกครั้ง

ทัพจ๊กยกออกจากด่านซันกวน เข้าล้อมเมืองตันฉอง(เฉินชาง) ขงเบ้งให้อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กเข้าตี อุยเอี๋ยนนำทหาร(ไม่ทราบจำนวน แต่เป็นคนสนิท คาดว่ามีประมาณห้าพันคน)เข้าตีตันฉอง ขุนพลเฮ็กเจียวฝ่ายวุยซึ่งรักษาตันฉองอยู่นั้นมีทหารเพียงสามพัน แต่ใช้ชัยภูมิเหนือกว่าป้องกันเมือง อุยเอี๋ยนตีเมืองอยู่ห้าวันก็ตัหักมิได้ ขงเบ้งโกรธสั่งให้เอาตัวอุยเอี๋ยนไปฆ่าเสีย นายทัพนายกองช่วยกันขอไว้ ขงเบ้งจึงคาดโทษไว้ก่อน แล้วจึงให้คนไปเกลี้ยกล่อมเฮ็กเจียว แต่เฮ็กเจียวหาเชื่อฟังไม่ ทั้งยังด่าว่าขงเบ้งเป็นข้อหยาบช้า ขงเบ้งโกรธมาก นำกองทัพจ๊กบุกตันฉองด้วยตนเอง แต่ตีหักอยู่ถึง 20 กว่าวันก็ไม่สมความคิด มิอาจหักเข้าไปในเมืองตันฉองได้ ฝ่ายขุนพลโจจิ๋นแห่งวุยนั้นได้นำทัพมาช่วยตันฉอง ทั้งขงเบ้งยังขาดเสบียงเสียอีกจึงจำต้องยกทัพกลับ ขุนพลอองสงแห่งวุยนำทัพไล่ตามตี ขงเบ้งให้อุยเอี๋ยนสังหารอองสงเสียจนได้ นำทัพกลับมายังจ๊กก๊ก

ปี ค.ศ.229 ซุนกวนประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นฮ่องเต้ และส่งราชทูตไปเฉิงตู ยื่นข้อเสนอให้ต่างฝ่ายต่างให้เกียรติกันและกันในฐานะโอรสสวรรค์เสมอกัน

ขุนนางแลเสนาอำมาตย์ในจ๊กก๊กคัดค้านกันเป็นอันมาก พวกเขากล่าวว่า "การผูกสัมพันธ์ด้วยง่อนั้นหาก่อประโยชน์อันใดต่อเสฉวนของเราไม่ การซึ่งฝ่ายง่อว่ามานี้ ไม่ต้องด้วยเกียรติภูมิและราชประเพณีซึ่งสืบมาแต่โบราณกาลทั้งปวง เราสมควรประกาศความชอบธรรมในฐานะโอรสสวรรค์ ตัดไมตรีกับง่อก๊กเสียเถิดจึงเป็นการสมควรยิ่ง"

ขงเบ้งกล่าวต่อพวกเขาว่า "หากเราตัดไมตรีของทางง่อเสียบัดนี้ ซุนกวนย่อมเจ็บแค้นเราเป็นอันมาก พวกเขาอาจบีบให้เราจำต้องเคลื่อนทัพบุกบูรพา ปะทะกับง่อก๊กก็เป็นได้ เมื่อทหารสองฝ่ายสัประยุทธ์กันขึ้น ย่อมจะเหนื่อยล้าอ่อนระโหยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะไปเข้ากับแผนการซึ่งโจรกบฏฝ่ายเหนือวางไว้พอดี มิเป็นการดีต่อฝ่ายเราอย่างยิ่ง"

ขุนนางทั้งปวงฟังแล้วเห็นด้วย มิได้คัดค้านอีก จ๊กก๊กจึงส่งตันจิ๋นไปยังง่อก๊ก แสดงความยินดีกับการที่ซุนกวนปราบดาภิเษกตนเป็นฮ่องเต้ในครั้งนี้ โดยทำสัญญากันว่า "นับแต่นี้จ๊กก๊กและง่อก๊กจักทำไมตรีกัน ร่วมใจกันปราบปรามวุยก๊กฝ่ายเหนือลงเสีย เมื่อได้ชัยแก่วุยก๊กแล้ว พวกเราจักแบ่งแผ่นดินอันไพศาลครองกันคนละส่วน" จ๊กและง่อจึงเป็นพันธมิตรกันสืบมาแต่บัดนั้น

ปีเดียวกัน ขงเบ้งถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน***** แล้วสั่งจัดทัพบุกวุยก๊กในฤดูหนาว (ไม่ทราบเดือนที่ถูกต้อง) เขาสั่งให้ขุนพลตันเซ็ก(เฉินซื่อ)นำทหารเข้าตีหวู่ตู(บูตู) ยินผิง(อิมเป๋ง) ขุนพลกุยห้วยแห่งวุยนำทัพออกต่อรบด้วยตันเซ็ก ถูกตันเซ็กตีพ่ายถอยหนีไป ทัพจ๊กยึดเมืองไว้ได้สองแห่ง

ฝ่ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงทราบข่าวนี้ จึงให้มีราชโองการมาถึงขงเบ้งความว่า

"การเสียเกเต๋งครั้งก่อนนั้นเป็นโทษแก่ม้าเจ๊ก ซึ่งท่านยอมรับโทษแทน ลดตำแหน่งตนเองลงเสียถึงสามขั้นนั้น เราไม่อยากขัดประสงค์ของท่านจึงโปรดให้ แต่ปีก่อนนั้น ท่านมีความชอบด้วยฆ่าอ้ายอองสงคนโฉดของพวกโจรฝ่ายเหนือ(วุยก๊ก)นั้นเสียได้ มาบัดนี้ท่านออกศึกอีก ก็ได้ชัยแก่ศัตรู ได้เมืองถึงสองจังหวัด มีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว

เวลานี้ยังมิอาจปราบปรามแผ่นดินให้ราบคาบลง พวกกบฏวุยก๊กยังคงลอยนวล ท่านบริหารราชการแผ่นดินเห็นหนักนัก มาบัดนี้รับโทษมาก็นานแล้ว เราจะโปรดคืนตำแหน่งให้ท่านเป็นที่เสนาบดีดังเดิมจึงจะควร"

ขงเบ้งจึงได้พระราชทานยศศักดิ์คืนเป็นดังเดิม แต่เนื่องจากกำลังทหารไม่พอรุกคืบต่อไป จึงไม่อาจตีวุยก๊กต่อไปได้

ค.ศ.230 ขุนพลโจจิ๋น สุมาอี้ และเตียวคับแห่งวุยก๊กยกทัพบุกจ๊ก ขงเบ้งจัดทัพออกรับศึกบุกขึ้นเหนือ สุมาอี้ เตียวคับ โจจิ๋นแยกกันรับศึก แต่เกิดฝนตกหนักจึงไม่ได้รบกันและเลิกทัพกันไป******

ปีถัดมา(ค.ศ.231) ขงเบ้งได้ออกแบบประดิษฐ์อุปกรณ์ "โคไม้" ขึ้นมา อันว่าโคไม้นี้มีลักษณะเป็นรถเข็นล้อเดียว ใช้กำลังคนเข็น ติดไม้ค้ำทั้งซ้ายขวา โดยโคไม้ 1 คันนั้นสามารถบรรทุกเสบียงอาหารเพียงพอแก่การกินของทหาร1คนในเวลา1ปี เพื่อการลำเลียงเสบียงผ่านเส้นทางอันทุรกันดารของจ๊กก๊กได้สะดวก และมอบหมายให้ลิเงียมทำหน้าที่ส่งเสบียง ขงเบ้งเห็นว่าเขาได้เตรียมการเรื่องเสบียงไว้พร้อมแล้ว จึงสั่งยกทัพขึ้นเหนือบุกวุยก๊กอีกครั้ง

วุ่ยหมิงตี้(โจยอย)มีราชโองการให้สุมาอี้นำทัพเข้าต่อสู้กับขงเบ้ง โดยมีขุนพลเฟยเหย้า ไต้หลิง กุยห้วย เตียวคับมาด้วย สุมาอี้สั่งให้เฟยเหย้า ไต้หลิง นำทหารสี่พันมารักษาเมืองเซียงเท้งให้มั่นคงไว้

ขงเบ้งนำทหารเข้าตีเมืองเซียงเท้งด้วยตนเอง สามารถตีทัพวุยแตกพ่าย สุมาอี้ต้องรีบนำทัพมาช่วยเมืองเซียงเท้งเอง แต่ก็ขึ้นไปตั้งค่ายอยู่บนเนินสูงไม่ออกมาต่อรบด้วยขงเบ้ง จนมีผู้กล่าวต่อสุมาอี้ว่า "ท่านหวั่นเกรงทหารทัพจ๊กก๊กดุจหนึ่งหวั่นซึ่งพยัคฆ์ฉะนี้ ช่างไม่เกรงว่าผู้คนทั่วแผ่นดินจะเย้ยหยันเล่นเอาดอกหรือ" สุมาอี้จึงแยกกันกับเตียวคับเข้าโจมตี

ขงเบ้งมอบหมายให้อุยเอี๋ยน เกาเสียง ง่อปังรับศึก ตีทหารวุยแตกพ่ายยับเยิน จับเชลยได้กว่าสามพัน สุมาอี้ต้องถอยหนีกลับค่ายใหญ่ และตั้งค่ายคุมเชิงทัพจ๊กอยู่เดือนเศษ จึงมีข่าวแจ้งมาว่า พระเจ้าเล่าเสี้ยนมีราชโองการให้ขงเบ้งถอยทัพกลับเสฉวนโดยไว ขงเบ้งจึงรีบถอยทัพกลับ สุมาอี้ได้ข่าวจึงสั่งให้ขุนพลเตียวคับนำทัพไล่ตามตี ทัพวุยไล่ตามไปสังหารแลจับทัพจ๊กเป็นเชลยได้นับหมื่น แต่ตัวขุนพลเตียวคับกลับถูกทหารซึ่งขงเบ้งซุ่มเอาไว้ ณ หุบเขามู่เหมินกู่นั้น ยิงธนูโจมตีจนสิ้นชีพกลางสนามรบ

ขงเบ้งกลับไปก็ให้สอบสวนเรื่องราชโองการก็พบว่าลิเงียม(เปลี่ยนชื่อเป็นหลี่ผิง น่าจะอ่านเป็นภาษาฮกเกี้ยนได้ว่า ลิเป๋ง)เป็นผู้ปล่อยข่าวเรื่องนี้ ขงเบ้งจึงให้ปลดลิเงียมลงเป็นไพร่

หลังจากศึกครั้งนี้ ขงเบ้งก็ใช้เวลาเตรียมการอีกนานถึง 3 ปี ปรับปรุงการบริหารประเทศ ส่งเสริมการผลิต ฝึกฝนทหาร และได้ออกแบบอุปกรณ์ขนเสบียงแบบใหม่เรียก "ม้าเลื่อน" เป็นรถเข็นสี่ล้อ บรรทุกเสบียงอาหารได้ไกลเสียกว่าโคไม้เสียอีก วันๆหนึ่งสามารถลำเลียงอาหารได้เป็นระยะทางถึง 20 ลี้ทีเดียว นอกจากนี้ขงเบ้งยังออกแบบเครื่องกลเกาฑัณฑ์หน้าไม้แบบใหม่ และปรับปรุงกลยุทธ์ทางทหารใหม่ ฝึกการแปรขบวนยุทธ์แบบใหม่ๆเรียกว่า "ปาเจิ้นถู" จากนั้นยังส่งทูตไปง่อก๊ก ขอให้ยกทัพมากระหนาบวุยก๊ก ทางซุนกวนก็ตอบรับแต่โดยดี

เมื่อเตรียมการพร้อม ขงเบ้งจึงสั่งกรีฑาทัพในปี ค.ศ.234 ทัพจ๊กยกออกจากด่านเสียดก๊ก มุ่งไปตั้งค่าย ณ อู่จ้างหยวน(ทุ่งอู่จ้าง) ทางฝั่งใต้ของลำน้ำอุ่ยซุย วุ่ยหมิงตี้ทรงทราบ ก็โปรดให้กำชับสุมาอี้อย่าให้ออกรบกับทัพจ๊ก และส่งขุนพลเฉินหลัง นำทัพม้าสองหมื่นมาสนับสนุนสุมาอี้

สุมาอี้ยกทัพข้ามลำน้ำอุ่ยซุย ไปตั้งค่ายเอาหลังนั้นพิงแม่น้ำอยู่ และส่งจิวตัง หูจุน และกุยห้วยนำทัพไปสกัดทัพของขงเบ้ง ณ เมืองจี้สือ ซึ่งอยู่ประชิดด้วยอู่จ้างหยวนที่ตั้งค่ายของขงเบ้งนั้น ขงเบ้งถูกสกัดบุกขึ้นเหนือไม่ได้ จำต้องถอยกลับไปอู่จ้างหยวน ฝ่ายสุมาอี้ทราบดังนั้น จึงให้นำทัพม้าบุกเข้าตีตลบหลังทัพจ๊ก สังหารทัพจ๊กได้ห้าร้อย จับเป็นได้กว่าพันนาย ทัพจ๊กถอยกลับค่ายใหญ่ ส่วนทัพวุยก็หยุดกลับไม่รุกไล่ ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่

การออกศึกในครั้งนี้นอกจากการใช้ม้าเลื่อนขนเสบียงแล้ว ขงเบ้งยังใช้มาตรการสำหรับเสบียงทหารอีกอย่างคือ ให้แบ่งทหารแนวหน้าส่วนหนึ่งนั้นไปทำนาปลูกข้าวแทรกอยู่ระหว่างที่นาของชาวบ้าน ณ แถบนั้น ซึ่วชาวบ้านก็มิได้ขัดขวาง ส่วนทหารก็ไม่เห็นแก่ได้ ทำให้ทัพจ๊กมีเสบียงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สุมาอี้ไม่ได้ออกมาสู้รบกับขงเบ้ง ขงเบ้งจึงให้ทหารไปท้ารบ ณ ค่าย สุมาอี้ก็ทำเฉยนิ่งอยู่ ขงเบ้งจึงให้ม้าใช้ของตัวนั้นนำผ้านุ่งสตรีไปมอบให้สุมาอี้ เพื่อยั่วให้ออกรบ ฝ่ายทหารซึ่งอยู่ ณ ค่ายสุมาอี้ เห็นแม่ทัพของตนถูกหยามเกียรติดังนั้นก็โกรธแค้นเป็นอันมาก พากันกล่าวต่อสุมาอี้ว่า "ท่านกลัวซึ่งกองทัพขงเบ้งฉะนี้ ดุจหนึ่งเนื้อซึ่งอยู่ในป่านั้นหวั่นเกรงซึ่งพยัคฆ์ ท่านทำฉะนี้จะเป็นที่เย้ยหยันของคนทั่วแผ่นดินเป็นมั่นคง" สุมาอี้จึงแสร้งทำโกรธแค้น ส่งคนไปยังลกเอี๋ยงขอออกศึก ทางวุยก๊กทราบดังนั้นก็ย่อมไม่อนุญาต และส่งซินผีผู้ซื่อตรงมาเป็นกุนซือให้คอยยับยั้งสุมาอี้ไว้

ต่อมาขงเบ้งให้ทัพจ๊กมาท้ารบอีก สุมาอี้แสร้งทำท่าจะไปออกรบ ซินผีห้ามปรามไว้ สุมาอี้จึงได้ยอมเลิกรา

ฝ่ายเกียงอุยนายพลจ๊กซึ่งมาในสงครามด้วยนั้น ได้ทราบว่าซินผีมาถึง จึงกล่าวแก่ขงเบ้งด้วยความกังวลว่า "บัดนี้อ้ายซินผีมาถึงที่นี้แล้ว ทัพวุยคงไม่ออกมาต่อรบด้วยเราเป็นมั่นคง"

"สุมาอี้เองก็มิได้ต้องการต่อรบอยู่ก่อน" ขงเบ้งกล่าวตอบ "ถ้าเขาเอาชัยเราในการศึกได้ เหตุใดต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปแจ้งเรื่องถึงลกเอี๋ยงด้วยเล่า จักเสียโอกาสไปเสียเปล่า ซึ่งสุมาอี้ทำกิริยาดุจหนึ่งจะออกรบนี้ก็เพื่อลวงผู้อื่นเท่านั้นดอก"

เกียงอุยฟังแล้วจึงสรรเสริญว่า "ท่านเสนาบดีกล่าวฉะนี้ ดุจหนึ่งมองทะลุเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของสุมาอี้"

อย่างไรก็ตาม ทัพจ๊กแลวุยก็คุมเชิงนิ่งเสียถึงร้อยวันเศษ จนกระทั่งในเดือน 8 ของปีเดียวกัน(ค.ศ.234) ขงเบ้งล้มป่วยตายในกองทัพ ขณะที่สิริอายุได้ 54 ปีถ้วน

ก่อนขงเบ้งจะตาย เขาได้มอบหมายให้เจียวอ้วนสืบทอดงานบริหาร และให้บิฮุยสืบต่อเจียวอ้วน ส่วนงานด้านการทหารตกแก่เกียงอุย

หลังจากขงเบ้งตาย ทัพจ๊กก็ถอนทัพ ฝ่ายสุมาอี้ได้ทราบข่าวจึงไล่ตามมา เกียงอุยจึงสั่งให้เอียวหงีรัวกลองศึก แลหันหลังกลับทำดุจหนึ่งจะยกทัพกลับไปตีสุมาอี้ สุมาอี้ได้ยินเสียงกลองดังรัวแลกลซึ่งทัพจ๊กแสร้งทำนั้น ก็คิดว่าเป็นกลอุบายจึงถอยหนีไป ต่อมาสุมาอี้คิดได้ก็รีบตามไปถึงเมืองเช่ออั้นก็มิทัน จึงถอยทัพกลับ และไปตรวจค่ายของขงเบ้ง ณ อู่จ้างหยวน สุมาอี้สรรเสริญขงเบ้งว่า "ขงเบ้งเป็นบุคคลที่มีปัญญาเป็นเลิศโดยแท้"

ฝ่ายทัพจ๊ก หลังจากขงเบ้งตายก็เกิดการแก่งแย่งภายใน ทัพของเอียวหงีเสนาธิการกองทัพได้ปะทะกับทัพของอุยเอี๋ยนขุนพลจ๊ก ณ หนานกู่โข่ว(เปาโข่ว) อุยเอี๋ยนแตกหนีไปและถูกฆ่าตาย ฝ่ายทัพจ๊กเมื่อยุติการแก่งแย่งภายในก็ถอยทัพกลับไปเสฉวน ให้เจียวอ้วนสืบตำแหน่งเดิมซึ่งเป็นของขงเบ้งแต่ก่อนนั้น และบริหารราชการเสฉวนสืบต่อมา

จดหมายเหตุสามก๊กจี่ ของตันซิ่ว ได้อ้างอิงถึงบันทึกเสียนหยางจื้อ(อ่านเป็นฮกเกี้ยนว่า ห้ำเอี๋ยงจี่) ว่า "แต่ครั้งขงเบ้งตาย ณ อู่จ้างหยวนได้มินานนั้น ชาวบ้านในที่ต่างๆพากันขอทางการให้ตั้งศาลบูชา แต่ทางการมิยินยอม พวกชาวบ้านจึงพากันแอบเซ่นไหว้ตามคันนาของตัวในวันเทศกาลสำคัญต่างๆนั้น"

วิจารณ์

ขงเบ้งเป็นคนที่มีความสามารถในการปกครองและการบริหารราชการภายในของบ้านเมือง เมื่อแรกเข้ามายังเสฉวน เขาสามารถพลิกแพลงข้อกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานั้นๆ ทั้งยังสามารถชี้แจงให้หวดเจ้งละทิ้งความคิดที่ผิดเสียได้

เมื่อเล่าปี่ฮ่องเต้สวรรคต เขาได้พยายามฟื้นฟูกำลังทหารให้กลับมาเข้มแข็งดุจดังเก่า ทั้งยังเร่งบำรุงขวัญราษฎร ผลิตข้าวปลาอาหาร ทำให้เศรษฐกิจของเสฉวนพัฒนาก้าวหน้า แล้วเขาจึงยกทัพจัดการกับพวกอี๋หมานทางใต้ เป็นพันธมิตรกับง่อของซุนกวน เตรียมการภายในจ๊กจนเรียบร้อยจึงค่อยเร่งเรื่องภายนอก

ขงเบ้งยังเคยปรับปรุงการชลประทาน ด้วยการส่งทหาร 1200 นายไปรักษาเขื่อนชลประทานตูเจียงเอี่ยนอันเลื่องชื่อของเสฉวน และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาเขื่อนตั้งแต่นั้น ทหารซึ่งไปออกศึกกับวุยในภายหลังเมื่อว่างการศึกก็ได้ทำการเกษตรไปด้วย ทำให้ผลิตเสบียงอาหารได้เพียงพอ

ขงเบ้งยังใจกว้างอย่างยิ่ง เขายอมรับความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตั๋งโห(ต่งเหอ)ผู้ใต้บังคับบัญชาของขงเบ้งไม่พอใจเขา ได้มีการถกเถียงกันถึง 10 ครั้ง ขงเบ้งกลับชมเชยตั๋งโหและสนับสนุนให้ทุกคนทำเช่นเดียวกัน เขาเคยกล่าวว่า "การบริหารการแผ่นดินจักต้องรับฟังความเห็นของบุคคลฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีผู้วิจารณ์ข้าในข้อผิดพลาดแลข้าได้แก้ไขเสียนั้น ดุจหนึ่งทิ้งรองเท้าคู่เก่าไป กลับเก็บจินดามณีเพชรแก้วอันสว่างสุกใสใหม่ได้"

นอกจากที่กล่าวมา ขงเบ้งยังสามารถบริหารราชการเสฉวนจนแม้กระทั่งของตกที่พื้นก็ไม่มีผู้ใดลักเอาเป็นของตัว ผู้แข็งแรงก็มิข่มเหงผู้อ่อนแอ เช่นนี้ย่อมแสดงถึงความสามารถทางการปกครองของขงเบ้ง นับว่าเขามีความสามารถด้านนี้เสมอด้วยขวันต๋ง(ก่วนจง)และเสียวโห(เซียวเหอ)แต่ครั้งโบราณกาลนั้นทีเดียว

แต่ในด้านการสงครามนั้น ขงเบ้งกลับไม่เก่ง เขาปราบปรามได้เพียงชนกลุ่มน้อยเผ่าอี๋หมาน การยกทัพขึ้นเหนือของเขาทั้ง 5 ครั้ง กลับต้องมีปัญหา มิประสบผลแม้สักครั้ง การที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการสงครามและการวางแผนยุทธ์ระยะยาวนั้น มิใช่สิ่งที่เขาถนัดก็เป็นได้

วิจารณ์โดย : ตันซิ่ว(เฉินโซ่ว)
เพิ่มเติมรายละเอียดโดย : ผู้คลั่งสามก๊กและวรรณกรรมจีน







*จูเก๋อฟง(จูกัดฟอง)เป็นขุนนางที่ลือชื่อมากในเรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดี ในแผ่นดินพระเจ้าฮั่นหยวนเต้ในสมัยราชวงศ์ซีฮั่น(ฮั่นตะวันตก) มียศซือลี้เจียวอุ้ย เขาเป็นคนซื่อตรง ต้องการจะลงโทษสวี่จางที่เป็นราชนิกุลเพราะสวี่จางไม่เคารพกฎหมาย เป็นเหตุให้พระเจ้าฮั่นหยวนเต้พิโรธ สั่งให้ปลดเขาออกจากที่ขุนนาง
**ส่วนจูกัดกิ๋นพี่ชายคนโตของขงเบ้งนั้น ได้ไปรับราชการอยู่กับซุนกวนที่กังตั๋ง
***ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ชั้นหลังมา สันนิษฐานว่าเรื่องการเยือนกระท่อมหญ้า3คราของเล่าปี่นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ด้วยจดหมายเหตุวุ่ยเลียกของหยีฮ่วนบันทึกว่าขงเบ้งได้ไปพบเล่าปี่เอง และแสดงความสามารถถ่ายทอดนโยบายจนเล่าปี่พอใจ มิใช่เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้ง ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าหนังสือ วุ่ยเลียก บันทึกได้มีเหตุผลกว่า โดยนักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขงเบ้งบัดนั้นเป็นแต่นักศึกษาซึ่งต้องการขายภูมิความรู้ของตัว แลจะไว้ตัวให้เล่าปี่มาเชิญถึงสามคราเห็นจะแปลกไป ด้วยเกลือกเล่าปี่เบื่อหน่ายลง ความซึ่งคิดได้นายก็จะไม่สมคิด จึงสรุปว่า การเยือนกระท่อมหญ้า3ครา ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์สามก๊ก
****พิชัยสงครามห้ามมิให้เดินทัพวันเดียวเป็นทางไกลถึงร้อยลี้เป็นอันขาดทีเดียว ด้วยกล่าวว่า การเดินทัพดั่งนี้ ทัพหน้า กลาง แลหลัง จะถูกจับได้ทั้งหมด แลซึ่งจะเดินทัพแต่ห้าสิบลี้ ตัวแม่ทัพนำศึกนั้นก็จักถูกคร่ากุม
*****ฎีกาฉบับที่ขงเบ้งถวายในปีนี้ นักประวัติศาสตร์ได้ถกเถียงกันว่าไม่น่าจะเป็นของขงเบ้ง เพราะสำนวนไม่เหมือนขงเบ้ง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือหลานของขงเบ้ง แต่เขียนขึ้นเพื่ออะไรไม่แน่ชัด
******สงครามในครั้งนี้นั้น หลอกว้านจง(ล่อกวนตง)ผู้แต่งสามก๊กฉบับงิ้วนับไว้ในสถิติการทำสงครามบุกขึ้นเหนือของขงเบ้งด้วย แต่ตันซิ่วถือว่าไม่ใช่การทำสงครามของขงเบ้งจึงไม่นับเป็นสถิติ ดังนั้นหลอกว้านจงจึงนับการทำสงครามของขงเบ้งไว้จำนวนมากกว่าของตันซิ่วหนึ่งครั้ง(หลอกว้านจงชันสูตรการทำศึกขึ้นเหนือของขงเบ้งได้เป็น 6 ครั้ง หากแต่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ตันซิ่วจึงชันสูตรนับการทำศึกขึ้นเหนือของขงเบ้งได้เพียง 5 ครั้ง)


ผมได้นำข้อมูลมาจาก สามก๊ก ฉบับหัดเขียน ของพี่ซุนเซ็ก(Kazama) หนังสือ "กลยุทธ์กุนซือ ฉบับเจ็ดยอดกุนซือในสามก๊ก" ของ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม ในบทชีวประวัติขงเบ้ง สุมาอี้ และโลซก หนังสือ "นักการเมืองเปรื่องปราดในพงศาวดารจีน" ของวัชระ ชีวโกเศรษฐ ในบทชีวประวัติจูกัดเหลียง(ขงเบ้ง) หนังสือ "ขุนพลสามก๊ก" ของทองแถม นาถจำนง และหนังสือชุด "สามก๊กฉบับคนเดินดิน" ของเล่าชวนหัว (เปิดหน้ากากขงเบ้ง และ ยกเครื่องเรื่องสามก๊ก) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่นำมา ผู้เขียนล้วนระบุชัดว่ามาจากจดหมายเหตุซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

หมายเหตุ : ในการวิจารณ์ของตันซิ่ว แท้จริงมีเพียงว่า "ขงเบ้งเป็นคนมีความสามารถในการปกครองและการบริหารการภายใน ความสามารถของเขาเสมอด้วยก่วนจงและเซียวเหอ แต่การที่เขากรีฑาทัพสู่ภาคเหนือบ่อยครั้ง และไม่ประสบผลสำเร็จเลยนั้น อาจเป็นเพราะการด้านการวางแผนการยุทธ์มิใช่สิ่งที่ขงเบ้งถนัดนักก็เป็นได้" แต่การที่ผมได้เพิ่มเติมรายละเอียดการปกครองของขงเบ้งเข้าไป เพราะในหนังสือ "กลยุทธ์กุนซือ ฉบับเจ็ดยอดกุนซือในสามก๊ก" และ "นักการเมืองเปรื่องปราดในพงศาวดารจีน" ระบุนโยบายการปกครองของขงเบ้งไว้ชัดเจน แต่กลับไม่ได้ระบุปีที่ชัดเจนเอาไว้ ผมจึงไม่ทราบว่าจะใส่เนื้อหาเข้าไปในช่วงไหนดี อย่างเช่นเรื่องที่ตั๋งโหวิจารณ์ขงเบ้งนั้น ไม่อาจระบุปีชัดได้ จึงใส่ไว้ในช่วงการวิจารณ์ดีกว่า เพราะถ้าไม่ใส่เลย ก็อาจทำให้ท่านผู้อ่านไม่ทราบข้อมูลที่สำคัญได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี แต่ถ้าใส่ส่งเดชก็ยิ่งแย่ จึงขอบันทึกไว้ในการวิจารณ์จะดีกว่าครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่ขัดข้อง

ปล.ต้องขอขอบคุณพี่ Eagle จากเว็บ Sanguo-Chronicle ด้วยครับสำหรับฉายา "มังกรสะเทือนโลก" ที่ผมเอามาใช้ในบทขงเบ้ง ได้จากบทความวิจารณ์ขงเบ้งของพี่ Eagle เขา(แต่ตอนนี้รีไรท์อยู่) ก็ขอขอบคุณและขอโทษไปด้วยครับที่นำมาใช้โดยไม่บอกกล่าว




 

Create Date : 26 กันยายน 2549    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 12:28:52 น.
Counter : 1802 Pageviews.  

1  2  

Chineseman
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Chineseman's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.