Group Blog
 
All Blogs
 
สามก๊กอิ๋น เวรกรรมข้ามภพชาติ

สามก๊กอิ๋น แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย ช่วงที่พระนางซูสีไทเฮาเป็นใหญ่ แม้จะแต่งขึ้นหลังสุด แต่เนื้อความหลักๆในสามก๊กอิ๋นนั้นถูกแต่งขึ้นตั้งแต่มีการแต่งสามก๊กจี่เพงอ่วย(ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว)แล้ว สามก๊กอิ๋น เป็นเพียงหนังสือที่นำเนื้อความที่ว่านี้ มาปรับปรุงและขยายความก็เท่านั้น ซึ่งหนังสือสามก๊กอิ๋นที่ว่านี้ มีฉบับภาษาไทยวางจำหน่ายแล้ว แต่ผมเองก็ยังหาไม่เจอว่าขายอยู่ที่ไหนเหมือนกัน

กลับมาว่าเรื่องเนื้อหาในสามก๊กอิ๋นต่อ เนื้อหาในสามก๊กฉบับนี้ปรับปรุงมาจากบทเปิดเรื่องของสามก๊กจี่เพงอ่วย ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในบทสามก๊กจี่เพงอ่วย ว่าเป็นเรื่องของบัณฑฺตสุมาเหมาตัดพ้อฟ้า และถูกยมทูตเอาตัวไปตัดสินคดีพิพาทบาดหมางของบุคคลในสมัยแผ่นดินไซ่ฮั่น ซึ่งสุมาเหมาได้พิพากษาให้แต่ละคนมาเกิดเป็นบุคคลต่างๆในสมัยสามก๊ก เพื่อชดใช้กรรมที่ตนเองก่อไว้ ซึ่งเรื่องการกลับชาติมาเกิดนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับสามก๊กจี่เพงอ่วยอย่างเดียว เลยขอแยกเอามาเขียนต่างหากจะดีกว่า

ฉบับแรกสุดกล่าวไว้ว่า

"ฮั่นสิน หยินโป้ แพอวด เป็นโจทก์ร้องต่อพระเจ้าฮั่นโกโจ ฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจก็ซัดทอดไปให้นางลิเฮา แลมีกวยถองเป็นพยานให้ฮั่นสิน หยินโป้ แพอวด พระเจ้าฮั่นโกโจและนางลิเฮาจึงถูกตัดสินว่าผิดจริง อันพระเจ้าฮั่นโกโจเล่าปังนั้นให้ไปจุติในครรภ์นางสนมหวังเหม่ยหยิน เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้พระมหากษัตริย์แผ่นดินตังฮั่นพระองค์สุดท้าย แลนางลิเฮานั้น ให้ไปเป็นนางฮกเฮาพระมเหสีพระเจ้าเหี้ยนเต้

ฝ่ายโจทก์อันมีฮั่นสิน หยินโป้ แพอวดนั้น ให้ไปเป็นคนข่มขี่พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินให้ได้ความเดือดร้อน ฮั่นสินนั้นให้ไปเป็นโจโฉมหาอุปราชเป็นใหญ่ในแผ่นดินวุยก๊ก ข่มเหงพระเจ้าเหี้ยนเต้แลเข่นฆ่านางฮกเฮาเสียให้สมแค้น หยินโป้ให้ไปเป็นพระเจ้าซุนกวนเป็นใหญ่ในเมืองต๋องง่อ แลแพอวดให้ไปจุติเป็นพระเจ้าเล่าปี่เป็นพระมหากษัตริย์เมืองเสฉวน มีกวยถองซึ่งไปเกิดเป็นขงเบ้งที่ปรึกษาใหญ่นั้นช่วยราชการ แลโจโฉ ซุนกวน เล่าปี่นี้จะเป็นตัวการใหญ่ร่วมกันกระทำการให้แผ่นดินเกิดเป็นจลาจลแลราชวงศ์ฮั่นของพระเจ้าฮั่นโกโจก็จะสิ้นสูญไปสมดังความผิด

ฝ่ายเง็กเซียนฮ่องเต้เป็นใหญ่ในแดนสุขาวดีแจ้งว่าสุมาเหมาตัดสินคดีเป็นยุติธรรมดังนั้นก็โสมนัสเป็นกำลัง จึงให้ตัวสุมาเหมาผู้ตัดสินความนั้น ไปจุติเป็นสุมาอี้ขุนนางผู้ใหญ่เมืองฮูโต๋ ซึ่งสร้างรากฐานให้สามก๊กซึ่งจลาจลด้วยเหตุซึ่งฮั่นสิน หยินโป้ แพอวดทำนั้น ให้รวมเข้าเป็นหนึ่งเป็นประเทศจีน ให้อาณาประชาราษฎรสงบสุขสืบไป"

เมื่อล่อกวนตงนำสามก๊กมาเขียนเป็นนิยายสามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี(ซานกว๋อจื้อทงสู่เหยียนอี้) ก็ตัดบทนำเรื่องตรงตัดสินคดีอันนี้ออก ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง เฝิงเมิ่งกวีเอกในสมัยนั้นได้นำเรื่องราวตอนสุมาเหมาตัดสินคดีที่ว่านี้มาแต่งใหม่เป็นนิทานชื่อ "สุมาเหมาพิพากษาคดีในยมโลก" โดยเพิ่มคดีขึ้นอีกเป็นสี่คดี ผู้เสวยกรรมก็มีเพิ่มอีก เช่น ฆ้อฮอกเป็นบังทอง ห้วนโก้ยเป็นเตียวหุย(ก็เข้าเค้าดีเพราะห้วนโก้ยหรือฟั่นข่วยนี่ก็ค่อนข้างวู่วามมุทะลุไม่ค่อยมีปัญญาเหมือนกัน) ฌ้อปาอ๋องซึ่งแม้จะเบาปัญญาและบุ่มบ่าม แต่ก็ซื่อตรงไม่เป็นคนเจ้าความคิด จึงได้เกิดเป็นกวนอู แต่เนื่องจากเข่นฆ่าผู้คนไปมาก จึงต้องถูกตัดศีรษะตาย เป็นต้น นิทานที่ว่านี่เป็นที่นิยมแพร่หลายมาก

กาลล่วงถึงสมัยราชวงศ์ชิง กวีคนหนึ่งนำนิทานที่ว่านี้มาแต่งต่อ เพิ่มคดีความขึ้นอีก 5 คดีรวมเป็นเก้าคดีด้วยกัน บุคคลในไซ่ฮั่นที่ต้องมาเกิดใช้กรรมในสามก๊กก็มีเพิ่มอีกมากมาย และยังเปลี่ยนการเกิดใหม่ของบางคนให้สอดคล้องกับบุพกรรมเก่ามากขึ้นด้วย เช่นกวยถองที่เดิมให้ไปเป็นขงเบ้งนั้น ให้ไปเกิดเป็นชีซีแทน ให้ฟัมแจ้งกุนซือพระเจ้าฌ้อปาอ๋องนั้นไปเกิดเป็นขงเบ้งแทนกวยถอง (ซึ่งก็เหมาะสมแล้วเพราะฟัมแจ้งเองก็เป็นกุนซือที่เฉลียวฉลาดแต่เลือกนายไม่ดีและชะตาอาภัพ จึงไม่อาจทำการได้สำเร็จ ไม่ต่างอะไรกับขงเบ้ง) กีสินที่สละชีวิตให้พระเจ้าฮั่นโกโจทำศึกชนะพระเจ้าฌ้อปาอ๋องนั้น เพราะว่าน้ำใจจงรักภักดีต่อนาย สละชีวิตเอาโลหิตทาแผ่นดินไว้ให้ปรากฏ จึงให้ไปเกิดเป็นจูล่งขุนพลเอกเมืองเสฉวน ซึ่งแทบจะเป็นขุนพลคนเดียวในสามก๊กที่ได้นอนตายอย่างสงบที่บ้านด้วยความชราตามสังขาร ต่างจากขุนพลหลายคนที่ถูกประหารหรือตายในที่รบ

ส่วนลิปุดอุย(หลี่ปู้เหว่ย)ให้ไปเกิดเป็นลิโป้ จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นตั๋งโต๊ะ นางจูกี๋(จ้าวจี)เป็นเตียวเสี้ยน ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับเวรกรรมข้ามชาติเหมือนกัน เพราะในไซ่ฮั่นนั้น จิ๋นซีฮ่องเต้เข่นฆ่าลิปุดอุยซึ่งมีพระคุณ และเกือบจะให้เอานางจูกี๋มารดาไปตัดศีรษะ (ดีที่เหล่าขุนนางทัดทานไว้ นางจูกี๋จึงรอด แต่จิ๋นซีฮ่องเต้ก็ให้ไปกัดบริเวณไว้ไม่ให้เข้านอกออกในสะดวกเหมือนแต่ก่อน) มาถึงสามก๊กตั๋งโต๊ะจึงถูกลิโป้เนรคุณและถูกเตียวเสี้ยนยุยงให้แตกคอกับลิโป้จนต้องถูกฆ่าในที่สุดด้วย

เรื่องการเอาไซ่ฮั่นมาเชื่อมกับสามก๊กนี่ก็เหมาะสมดี เพราะไซ่ฮั่นเป็นการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ส่วนสามก๊กเป็นสงครามที่เป็นการล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของราชวงศ์ฮั่น จึงเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่า เวรกรรมตามทันถึงรุ่นลูกรุ่นหลานนั่นเอง




Create Date : 07 กรกฎาคม 2551
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 15:48:16 น. 0 comments
Counter : 2068 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Chineseman
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Chineseman's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.