A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

โลกแห่งซีรีย์ของผู้กำกับชุนอิ อิวาอิ (วาระครบรอบ ๔๗ ขวบพอดิบ พอดี)



เมื่อวานนี้ ผู้เขียนได้ออกไปซื้อเค้กมาหนึ่งชุด
ความจริงแล้วเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้เขียนมักจะออกไปหาอะไรกินในห้าง
โดยเฉพาะห้างๆหนึ่ง ที่ผู้เขียนมักแวะไปด้อมๆมองๆร้านเบเกอรีเจ้าประจำ
และที่สำคัญ มักจะไปหลังสี่ทุ่มเพื่อให้ได้ราคาเค้กในราคาพิเศษ
เป็นราคาพิเศษที่จะมอบให้เป็นของขวัญแก่ "สหายสนิท" ที่รู้จักมักจี่กันมานาน
ในฐานะที่วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดในรอบ ๔๗ ขวบ
เป็นความนาน ที่แม้จะไม่เคยได้สมัครทักทายตัวเป็นๆ
แต่เกิดจากการได้ติดตามผลงานต่อเนื่องมาร่วมสิบกว่าปี
นับจากงานลิขสิทธิ์ชิ้นแรกที่ชื่อ Love Letter จากผลงานการกำกับของ
"ชุนจิ อิวาอิ"




และเป็นเรื่องปกติแทบทุกปี ที่สหายสนิทข้างเดียวของผู้เขียน
มักไม่เคยมาร่วมความปรารถนาดีจากใจจริงของผู้เขียนเลยสักครั้ง
ทำให้เค้กทุกก้อนที่ร่วมพิธี ตกกลายเป็นสิ่งอภิสิทธิ์ในการรับประทานของผู้เขียนเสมอ
วันนี้ก็ยังเป็นการลองใจอีกหนึ่งปี ว่าเค้กก้อนที่แช่ตู้เย็นที่ว่านี้
เจ้าของวันเกิดตัวเป็นๆ จะให้เกียรติ์ต่อจิตภาวนาของตัวผู้เขียนรึไม่?
ซึ่งถ้าไม่! ก็มิใช่เรื่องซีเรียสอะไร เพราะตกดึกทีไร สภาพหิวโซก็มักมาเยือนผู้เขียน
อย่างที่เคยเป็นในทุกคืน .....................อยู่ดี



ความจริง ถ้าเทียบอายุของผู้กำกับอิวาอิ กับอายุของตัวผู้เขียนแล้ว
ผกก. อิวาอิ น่าจะเป็นเพื่อนพ่อ มากกว่าความเป็นเพื่อนกับตัวผู้เขียนสักอีก
แต่ตราบใดที่บิดาของผู้เขียน ยังคงชอบดูงิ้วของสมาคมจีนแคระ
และยังมีความสุขกับการได้ฮัมเพลงเทียนมีมี้อยู่ ผลงานทุกชิ้นของอิวาอิ
จึงน่าจะเข้าทางผู้เขียนมากกว่าผู้เป็นพ่อเสียทุกทาง
อิวาอิ คนที่รับประทานเงินบาทของผู้เขียน เกือบทุกชุดลิขสิทธิ์
นับตั้งแต่มีผลงานลิขสิทธิ์ออกวางจำหน่ายในสยามประเทศ
ถึงแม้ว่าจะมีอีกหลายผลงาน ที่เป็นปริศนาทำไมน้อ! ถึงไม่ยอมเอามาจำหน่าย
ในเมืองไทย ถึงอย่างนั้นก็ตามที ผู้เขียนก็ไม่เคยแทงข้างหลังเพื่อนท่านนี้
ด้วยการไปลงไปโหลด หรือหยิบยืมต้นฉบับของเพื่อนข้างบ้าน เพื่อมาก๊อปปี้ซ้ำ
ก็สู้ทนสะสมสตงสตางค์ให้ครบจำนวน เพื่อสะสมเป็นการครอบครองคอเลคชั่นส่วนตัว
และจัดทำพื้นที่เก็บรักษาพิเศษ เพื่อกันการหยิบยืมซึ่งๆหน้า ยามที่มีมิตรมาเยี่ยมถึงถิ่น
แล้วมักเป็นประเภทไม่ชอบกลับไปแบบมือเปล่า ต้องมีอะไรติดไม้ติดมืออยู่เสมอ
ยิ่งชื่อเสียงบ่มเพาะของนายอิวาอิ มักจะเป็นงานที่เรียกแขกดีชะมัด
ดังนั้น ก่อนที่จะรู้ถึงผลงานของเขา ควรมาทำความรู้จักประวัติของหมอนี้
กันสักนิดดีกว่า


ผกก. ชุนอิ อิวาอิ (Shunji Iwai) แกเกิดวันที่ ๒๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๓
ภูมิลำเนาเกิดทางตอนเหนือคนเมืองเซนได เส้นทางการศึกษาก็ต้องเรียกว่า
มาทางสายนิเทศศิลป์โดยตรง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโยโกฮามา ในปี ๘๗
ถัดมาอีกหนึ่งปี ก็ได้เข้าทำงานในสายที่ได้ร่ำเรียนมา อยู่ในแวดวงความบันเทิง
โดยเริ่มจากตำแหน่งเทือกๆทั่วไปแบบสัพเพเหระ ทั้ง ผู้กำกับซีรีย์ เขียนบท
ตัดต่อ และมิวสิควีดีโอ



มีผลงานเป็นรูปธรรมชิ้นแรก ก็เป็นซีรีย์เรื่อง Ghost Soup ค่ายฟูจิทีวี.ในปี ๙๒
เป็นงานที่อิวาอิทุ่มเทประกอบทำเกือบทุกอย่าง ซีรีย์ตอนเดียวจบ
เมื่อเด็กหนุ่มซุซุกิ อิชิโระต้องเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมต์ก่อนวันคริสตมาสอีฟ
แล้วมาเจอะผู้ร่วมอาศัยอพาร์เมนต์ ที่มีนานา (เล่นโดย รานราน ซุซูกิ ป๊อปทีนเอจยุคนั้น
และยังตามไปเล่นใน Love Letter ในบท ซานาเอะ โออิกาวา)
กับ เมล (เล่นโดยเดฟ สเปคเตอร์ ที่เล่นเป็นGary ใน One Miss Call)
ซึ่งมีแผนจะจัดปาร์ตี้คริสตมาสให้ห้องดังกล่าว จากนั้นก็มีการวางแผนขจัดต่างฝ่าย
ศึกชิงห้องจึงเกิดขึ้น แล้วมีอาหารเป็นส่วนประกอบ
เป็นซีรีย์โวกแวกโวยวาย ที่ดูเบาสมองตามสภาพกาลเวลาที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นงานของอิวาอิเขา
(หาดูเรื่องนี้ได้จาก //v.youku.com แต่ต้องทำใจว่า ไม่ใช่อิวาอิในคราบปัจจุบัน)



ถัดมาในปีเดียวกัน อิวาอิกำกับและเขียนบทซีรีย์ตามประสาคนหนุ่มไฟแรง
ที่เพิ่งจบหมาดๆ ในเรื่อง Geshi monogatari ซีรีย์เรื่องนี้แทบไม่มีรายละเอียด
ในเนื้อหา รู้แต่เพียงว่าฉายในกลางเดือนกันยา ปี ๙๒ เวลาออกฉาย ๒๐ นาที
สั้นพอที่ทำให้การรอรถเมล์บางสาย เป็นเรื่องที่ดูจะยาวนานกว่าสักอีก)
แถมดาราก็ไม่รู้จักสักคน จะดีกว่า ถ้าลืมๆผลงานทางทีวีสักชิ้นของผกก.อิวาอิไป



แต่งานทางทีวีที่ชวนงง คงไม่เท่ากับใครถ้าเคยได้ดูเรื่อง
Fried Dragon Fish ในปี ๙๓ เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปลา แต่ว่าด้วย
ระบบปฎิบัติการทางคอมพิวเตอร์ของบริษัทเดลต้า แต่มาคลุเคล้าดราม่าและ
อภิปรัชญาจัดๆ เมื่อบริษัทเดลต้ากำหนดซอฟแวร์ที่ชื่อ ดรากอน ฟิช
เป็นโปรแกรมที่คุมชะตากรรมของความลับบางอย่าง จนกระทั่งเกิดการมีการหักหลัง
ชิงไหวชิงพริบ และเปิดเผยความจริงบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง
เรื่องนี้มีดารายุ่นที่กินเงินบาทจากตาเป็นเอก อย่างพี่ทาดะโนบุ อาซาโน
ที่ไม่ว่าเฮียแกเล่นเรื่องอะไร มักเป็นหนังที่ดูยากเสมอ เป็นเพื่อนกับแกก็เหนื่อยอย่างนี้แหละ



แต่งานที่เริ่มสร้างชื่อให้แก่เขา และไม่อยากให้พลาด เป็นซีรีย์ดราม่าเรื่อง
Fireworks : Should We See It from the Side or the Bottom? ในปี ๙๓
เป็นซีรีย์สั้นๆของเด็กกลุ่มหนึ่งในเมืองอิโอกะ เมืองที่จะมีการจัดเทศกาลดอกไม้ไฟขึ้น
เจ้าหนูโนริมิชิ เจ้าหนูโยสุเกะและเพื่อนพ้องของโรงเรียน ต่างถกเถียงกับเกี่ยวกับ
การกระจายตัวของดอกไม้ไฟ ว่าตกลงมันกระจายเป็นทรงอ้วน หรือทรงกว้างกันแน่
เป็นความวุ่นวายในช่วงเปิดตัว ก่อนจะตามติดมาด้วยเหตุอลวนวุ่นวายต่างๆนาๆ
ที่หนักหนาขึ้น ทั้งปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ของญาติมิตร การหย่าร้าง
การทะเลาะเบาะแว้ง และการพลัดพรากของเพื่อนสนิท
(ตอนนั้นเมกูมิ โอกินาเล่นเป็นหนูนาซูนะ น่ารักน่าหยิกเอาม๊ากๆ
แต่พอมาเล่นในJu-On ผู้เขียนต้องเร่งหาสายสิญจ์มาแก้มนต์พลัน)
เป็นซีรีย์ของอิวาอิที่ได้เสียงตอบรับอยู่ในเกณฑ์ดี และมีรางวีรางวัลเป็นเครื่องการันตีจาก
สมาคมผู้กำกับแห่งประเทศญี่ปุ่น (The Japanese Director s Association)
(หาชมได้จากเว็บ yoshigi450@youtube มีประมาณห้าคลิปสะกิดต่อมซึ้งบริบูรณ์)



แต่เห็นได้รับความชื่นชมเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเสียงวิจารณ์ติติงเอาเสียเลย
อย่างน้อยก็ยังโดนนักวิจารณ์รุ่นเดอะ ปรามาสผลงานการกำกับของอิวาอิ
ว่า สไตล์การกำกับของเขาขาดซึ่งของความลึก (lacking depth)
และรูปแบบก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้กับวงการแต่อย่างใด
เผลอๆกับเป็นการหยิบยืม สไตล์การกำกับของผู้กำกับยุค ๗๐ อย่าง
ชูจิ เทรายามา (รู้จักสองเองอะ คือ Video Letter กับ Boxer)




นอกจากนี้อิวาอิยังทิ้งท้าย ร่วมกำกับงานทางทีวี ของผู้กำกับหลายท่าน ใน
If: Moshimo ในปี ๙๓ ที่มีผกก. H2 และ Ikagami สาส์นสั่งตาย อย่าง
ทากายุกิ ยามาดะ และ ผกก. Udon บะหมี่สร้างชาติ อย่าง Katsuyuki Motihiro
ร่วมถึงผู้กำกับท่านอื่นอีกหลายชีวิต ก่อนที่อิวาอิ จะคิดการใหญ่
เข้าไปมีโอกาสจับงานภาพยนตร์ ในปี ๙๕ จนไม่หวนกลับมาสู่วงการทางโทรทัศน์อีกเลย



ว่าจะเขียนต่อในโลกทางภาพยนตร์ของอิวาอิ
แต่ไปต่อไม่ไหว เพราะผลงานของพี่ท่านที่สร้างไว้ ช่างมากมายเหลือเกิน
ล่าสุด ไปเผชิญโชคในโลกของอุตสาหกรรมฮอลิวู้ดใน NewYork I love you
ที่ต้องกำกับในตอนของคู่รักระหว่างออร์แลนโด บลูม ในมาดนักดนตรี กับ คริสติน่า ริชชี่
ในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ เป็นรักแบบไม่ต้องเห็นหน้า แต่ทว่างานดอสโตเยฟสกีช่วย
เติมเต็มความรู้สึกได้
เออ ! พล็อตอย่างนี้เฮียแกก็คิดได้น้อ




เอาเป็นงานค่อยเขยิบโลกของ ชุนอิ อิวาอิ ในคราวหน้า
คงสักประมาณระยะเวลา ครบรอบ ๔๗ ปีกับอีก ๑ เดือน ค่อยมาว่ากันใหม่
หรืออาจจะสักปีหน้า จะได้ครบ ๔๘ ปีพอดี เพราะตอนนี้มีซีรีย์ให้ต้องทยอยดู
ชุดใหญ่ อาจไม่ส่าแก่ใจท่านมะนาวเพคะ ที่รอ้งขอ เพราะผู้เขียนแล้ว
นอกจากกรอบของโลกซีรีย์แล้ว ที่เหลือก็ไปไม่เป็นอยู่เช่นกัน



อย่างไรแล้วก็ Otajobi Omedeto แฮปปี้โนะสุโค้ยยแบบอี้เดสนะ นายชินจิ........




ข้อมูลจาก
//www.imdb.com
Shunji Iwai bilgraphy by Johnathan Crow
//www.wikipedia.com
//www.allmovie.com





 

Create Date : 24 มกราคม 2553    
Last Update : 27 มกราคม 2553 0:21:13 น.
Counter : 2134 Pageviews.  

หลับ






เช้าเข้าเราก็ยัง....................................หลับได้
สายสบายเราไม่วาย ............................หลับต่อ
บ่ายหน่ายแหนงเอนกาย........................หลับนิด คงพอ
เย็นยาวหาวเหวอว้อ..............................หลับเถอะ คงดี




เช้าพรุ่งนี้มีงาน......................................หลับยาก
สายเข้ายิ่งลำบาก..................................หลับเหรอ?
บ่ายสิงานยิ่งมาก...................................หลับอู้ บ่คิด
เย็นแล้วอาจต้องเพ้อ...............................หลับหลับ หลับหลับ...........




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2552    
Last Update : 31 มกราคม 2553 12:58:17 น.
Counter : 784 Pageviews.  

หัวอกของคนเป็นพ่อ
















พระคุณพ่อ ก่อร่าง สร้างลูกรัก
พระคุณพ่อ แน่นหนัก เป็นหลักฐาน
พระคุณพ่อ ต่อชีวิต จิตวิญญาณ
พระคุณพ่อ เจือจาน แจกน้ำใจ
พระคุณพ่อ ห่อหุ้ม อุ้มกายจิต
พระคุณพ่อ เสมือนมิตร จิตสดใส
พระคุณพ่อ อยู่เคียงข้าง มิห่างไกล
พระคุณพ่อ ห่วงใย ในลูกยา
พระคุณพ่อ เป็นความหมาย ของชายแกร่ง
พระคุณพ่อ เป็นเรี่ยวแรง แสวงหา
พระคุณพ่อ เป็นเสาหลัก ปักชีวา
พระคุณพ่อ เป็นแนวหน้า นำครอบครัว
พระคุณพ่อ คุ้มครอง ปกป้องลูก
พระคุณพ่อ นำทางลูก ทุกถิ่นทั่ว
พระคุณพ่อ ปกป้องภัย ไม่พันพัว
พระคุณพ่อ เป็นรั้ว แห่งความรัก
พระคุณพ่อ จึงยิ่งใหญ่ แผ่ไพศาล
พระคุณพ่อ จึงเปรียบปาน เป็นเสาหลัก
พระคุณพ่อ จึงจริงใจ แจ่มใสนัก
พระคุณพ่อ จึงประจักษ์ กลางดวงใจ


กลอนแสนซาบซึ้ง จาก //pakakal.exteen.com






 

Create Date : 05 ธันวาคม 2552    
Last Update : 5 ธันวาคม 2552 20:10:05 น.
Counter : 980 Pageviews.  

เศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลตัวแม่



เคยคิดเสมอว่า ในแต่ละปี เรื่องของการแจกรางวัล
เป็นสิ่งที่สร้างชีวิตชีวาให้กับการดำรงอยู่ยังผืนโลกใบนี้
แม้จะทำได้แค่เพียงตามลุ้น ตามเชียร์และร่วมดีใจไปกับเขา
ประมาณว่า........เล็งเอาว่าจะได้ใคร และถ้าตรงใจ ก็จะได้เอาไปอวดภูมิพยากรณ์
แต่ถ้าพลาด!.........ก็ช่างมันปะไร ในเมือ่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งก็ไม่ได้เป็นสายญาติห่างๆ
เคยจินตนาการในวัยเด็กว่า.........ถ้าสมมติเผลอเกิดได้เข้ารอบลึกๆ แล้วกรรมการดันไปพร้อมใจกัน
มอบรางวัลชนะเลิศให้ จะต้องเตรียมท่าดีใจและประโยคเก๋ๆอย่างไร ที่ยังทำให้เราดูดี
ผ่านมาหลายสิบปี.............ก็ยังคิดท่าดีใจนั่นไม่ออก
ที่สำคัญ! ตกม้าตายในสายรางวัลตั้งแต่เนิ่นๆ นับแต่เข้ารอบประกวด




ถึงกระนั้น...........รางวัลก็เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมบุคคล
ในฐานะได้สร้างสรรค์คุณงามความดีและการอุทิศแรงกายแรงใจ จนมีผลงาน
ที่ช่วยเหลือสังคมในแง่นวัตกรรม ความสามารถและแนวคิด
ที่จะขับเคลื่อนให้สังคม ได้ก้าวต่อไปอย่างที่มันควรจะเป็น
แม้ว่า............ในหลายๆครั้ง จะเกิดคำถามต่อความเหมาะสมของผู้ที่ได้รับเลือก
กับเหล่าตัวเลือกที่เหลืออยู่ อันน่าที่จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ตราบใดที่ใจเรา ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในใจของกรรมการที่ตัดสินอย่างเป็นทางการ
ก็เป็นใจคนละดวงเดียวกัน คิดได้ ............แต่ก็ได้แต่คิด อาจชดเชยด้วยซุปไก่สักขวด
เพื่อชดเชยส่วนความคิดที่สึกหร่อด้วยความฟุ่งซ่านไป




เหมือนล่าสุด กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังระงม
ในผลของการประกาศรางวัลโนเบลประจำปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา
ที่ดูจะเพ่งเล็งอยู่กับสองสาขา สาขาแรกว่าด้วยเรื่อง สาขาสันติภาพ
อยู่ๆ ประธานาธิบดีโอบามา จากตัวเต็งในฐานะผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้นำชาติสหรัฐ
แต่กลับเป็นม้ามืดในสายรางวัลโนเบล สาขาที่ผู้คนจับตามองมากที่สุด
งานนี้จึงกลายเป็นพันธกิจที่มัดมือชก หากสุนทรพจน์ในครั้งที่เคยปราศรัย ว่าจะกู้ศักดิ์ศรีชาติ
และสร้างสันติภาพให้แก่โลก ถูกเสริมให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยรางวัลระดับโลกเช่นนี้แล้ว
แม้ว่าโอบามาจะเพิ่งเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นาน อย่างน้อยๆ ก็ตบหน้าพี่จอร์จ บุช ซีเนียร์
เพราะอยู่มาตั้งสองสมัย แปดปี แค่การเสนอชื่อเข้าชิง ยังไม่มีด้วยบุญญาธิการบนหน้ากระดาษ
สักครั้งในชีวิต




ส่วนอีกรางวัลที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน คือ สาขาเศรษฐศาสตร์
เพราะงานนี้ มีสตรีเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับเลือก และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลสาขานี้
(She is the first woman to win the prize in this category)
ถึงแม้ว่า ถ้าเทียบกับสาขาอื่นๆ โนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์จะถูกตั้งขึ้นได้ไม่นาน
แต่การถูกตั้งครั้งแรก ในปี ค.ศ. ๑๙๖๘ ก็นานพอที่จะทำให้ผู้เขียนอย่างผม
ที่ยังไม่ลืมตาดูโลกร้อนๆ ใบนี้ ดังนั้น เธอจึงน่าจะถูกสดุดีให้เป็นเศรษฐศาสตร์ตัวแม่
ก็ไม่น่าจะผิดอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตของเธอก็ดูน่าสนใจ ลองศึกษาเงือ่นไขไว้
เพื่อใครที่จะเข้าข่าย จะได้สตาร์ทตัวเอง เผื่อมีรางวัลประดับหัวที่นอน
ส่วนในหนังสืองานศพในช่องเกียรติคุณ จะได้ไม่เงียบเหงา.............................




ชื่อของเธอ คือ "อีลินอร์ ออสตรอม" คนเคยสาวที่เลยวัยเกษียณไปสิบห้าปี
แต่ยังมีฐานะเป็นศาสตราจารย์ที่ผู้คนในแวดวงส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก
ทั้งในทางรัฐศาสตร์และยังเป็นศาสตราจารย์ทางสิ่งแวดล้อมและ
กิจการสาธารณะที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา
ประเทศเดียวกับประธานาธิบดีโอบามา ผู้ได้รางวัลสันติภาพ
(งานนี้ถ้าอยากรับรางวัล ด้วยเครื่องบินเที่ยวประหยัด ก็น่าจะนั่งพวงแอร์ฟอร์สวัน
ของประธานาธิบดีมาด้วยนะเออ แต่ต้องแวะจอดมาปล่อยป้าแกที่สวีเดน
ส่วนพี่โอบาม่าก็ไปรับที่นอร์เว เพราะเขาแจกรางวัลกันคนละประเทศ รู้ไหมเออ?)
เห็นสาขาที่เจ๊แกรับผิดชอบอยู่ ก็อย่าได้แปลกใจ ทำงานสายรัฐศาสตร์กับจำพวกสิ่งแวดล้อม
แล้วไปเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตรงไหน? เพราะคำให้สัมภาษณ์ ป้าแกก็ถูกแทงในคำถามนี้
ต้องถือว่าเป็นคำถามที่ตกเทรนด์ ด้วยรัฐศาสตร์สมัยนี้ เขามีสายแขนงที่เรียกว่า
"เศรษฐศาสตร์การเมือง" เป็นศาสตร์ที่ผมเคยได้ยินนิยามมาว่า
การเมืองที่ไม่มีเศรษฐศาสตร์ ก็ฉายภาพการเมืองที่ไม่ชัด
ส่วนเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีเรื่องการเมือง ก็เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีจิตใจ
ก็เลยออกมาเป็นเศรษฐศาสตร์งึกๆงักๆ ฟังดูประหลาดแต่ก็เป็นเรื่องจริง
ต่อให้การเมืองไทยจะก้าวหน้า มีติดบัตรฝังไมโครชิพแก่พวกสส. แต่เวลาขอโควต้ารัฐมนตรี
เขาก็ยังกดเครื่องคิดเลขหารด้วยจำนวนสส. ในแต่ละมุ้งอยู่ดี




เหตุที่ป้ามีหัวคิดที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ต่างจากสายตรงทางเศรษศาสตร์
ส่วนหนึ่งเพราะเจ๊มีสายหลักเติบโตมาจากสายรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่สิ่งแวดล้อมรอบกายเจ๊ ก็ถูกล้างสมองด้วยเศรษฐศาสตร์ได้ไม่ยาก
อย่างตอนที่เรียนปริญญาตรี เจ๊ก็มีครูเศรษฐศาสตร์ระดับกิตติคุณ เพื่อนร่วมงานปัจจุบัน
ก็จบมาจากสายเศรษฐศาสตร์ แต่กระทั้งคุณสามีก็ยังจบมาทางสายเศรษฐศาสตร์เช่นกัน
จะผิดอย่างเดียว ก็ตรงป้าแกเรียนรัฐศาสตร์นั้นแหละ
เพราอย่างงี้ ทุกการประชุมเศรษศาสตร์ ป้ามักจะบอกว่าเปลี่ยวเหงาเสมอ
ด้วยความที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์หญิงในที่ประชุมคนเดียว ท่ามกลางหมู่นักเศรษฐศาสตร์ชาย
ความที่ป้าแก มิได้เป็นตัวเต็งในส่วนผู้ที่จะได้รับรางวัล ซึ่งพอๆกับโอบามา
ในวงการพนันที่ชอบสรรหาอะไรแปลกๆ มาพนัน ก็ตั้งอัตราแต้มต่อสำหรับป้าแก
ไว้ที่ ๕๐ ต่อ ๑ ขณะที่ตัวเต็งถูกตั้งราคาไว้ที่ ๒ ต่อ ๑
(ดังนั้นทฤษฏีของป้าแก นอกจากสร้างประโยชน์ต่อโลกแล้ว ยังมีอานิสงส์ต่อนักพนันหน้ามืดอีก)





มาพูดในงานของป้าแก ที่ชวนให้คณะกรรมการสมควรที่จะมอบรางวัลดีกว่า
จากเดิมที่เคยมีความเชื่อกันว่า ปัญหาการจัดการเรือ่งทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
จำเป็นที่จะต้องมีเรื่อง "กลไกตลาด" และ "ภาครัฐเข้ามาแทรกแซง"
งานวิจัยของป้าแก ได้ทำลายความเชื่อเดิมๆนั้นสิ้น โดยป้าแกหันให้ความสำคัญกับ
"การร่วมมือของชุมชน" กับ "ความเป็นมนุษย์" ในแง่การถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (common ownership)
หลายครั้งที่ กลไกตลาด เร่งให้เกิดการตักตวงทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง เพราะราคาดี
คิดถึงประโยชน์ ณ ปัจจุบัน ไม่ได้คิดไกลถึงผลเสียในอนาคต
หลายครั้งที่ ภาครัฐแทรกแซง แต่คนก็ยังแหกกฏ เพราะเห็นป้าย แต่ไม่เห็นจ่า
บางครั้งออกกฎเกณฑ์ ที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่ด้วยสายตาคนนอก
เหมือนเจ้าหน้าที่ราชการที่มีพันธุกรรมบางอย่าง ที่เราทั้งหลายไม่เคยมี
แต่ป้าแกก็เคยเลยที่จะทิ้งศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์ ศรัทธาที่ป้าแกมีอย่างเปี่ยมล้น จากจุดเล็กๆ
ที่ครั้งหนึ่งแม่ของแก รับบทเป็นแม่ครัวให้กับทหารฝ่ายสัมพันธมิตร จนประทับใจป้าตราบปัจจุบัน





ความที่ป้าแกได้ลงพื้นที่ภาคสนาม ทั้งในประเทศ อย่างเรื่องประมงกุ้งทะเลในมลรัฐเมน
และนอกประเทศอย่างใน เนปาล ทำให้ความเชื่อในแง่จัดการทรัพย์สินสาธารณะ (common property)
ที่สอนในมหาวิทยาลัย กลายเป็นเรื่องไม่น่าไว้วางใจ ตราบใดที่ผู้คนยังมองไม่เห็นความเป็นมรดกร่วมกัน
(เหมือนกับที่ป้าแกไม่ไว้ใจกฎ กลไกตลาดของอดัม สมิธ จะแก้ปัญหาครอบจักรวาล
และอดัม สมิธ เจ้าหน้าที่เว็บไซต์ทางการของมูลนิธิโนเบลในสตอกโฮล์ม ที่ชื่อพ้องกัน แต่ต้องโทร
แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับรางวัล สำหรับผู้ที่ได้รับเลือก)
ยิ่งเจ้าพวกแผนการจัดการไม่ว่า จะเป็นของ ADB World Bank IMF ยิ่งชวนทำให้ชุมชนแตกแยก
กลายเป็นว่า..........ให้ชุนชนสร้างกรอบ ออกกติกาและแบ่งปันผลประโยชน์
ก็ได้ผลที่ยั่งยืนกว่า เหมือนกับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่สงขลา
ไม่ต้องลงโทษสมาชิกด้วยกฎหมายแพ่ง แต่จะสาปแช่งต่อสมาชิกที่ไม่รักษาสัจจะ
ทุกวันนี้ ต่อให้มีวิกฤตการเงิน ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเขา
เหมือนกับงานวิจัยของป้าแก ที่บอกว่า "ธรรมภิบาลที่แท้" หาได้จากดินแดนหลังเขาอย่างเนปาล
มากกว่าประเทศเสรีการเงินอย่างอเมริกาสักอีก




รางวัลโนเบล จะเป็นถ้วยรางวัลหนึ่งที่เคียงถ้วยรางวัลก่อนหน้า
ทั้งรางวัลโยฮัน สไกต์ รางวัลเจมส์ แมดิสัน รางวัลวิลเลียม เอช. ไรเกอร์
และรางวัลทิสช์ ซีวิก อินเกจเมนต์ รีเสิร์ช ถือเป็นปีขาขึ้น ท่ามกลางข้อจำกัด
และความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเข้าสู่ขาลงอย่างต่อเนือ่งและรวดเร็วด้วยสิ




Ostrom identifies eight "design principles" of stable local common pool resource management:

1. Clearly defined boundaries (effective exclusion of external unentitled parties);
2. Rules regarding the appropriation and provision of common resources are adapted to local conditions;
3. Collective-choice arrangements allow most resource appropriators to participate in the decision-making process;
4. Effective monitoring by monitors who are part of or accountable to the appropriators;
5. There is a scale of graduated sanctions for resource appropriators who violate community rules;
6. Mechanisms of conflict resolution are cheap and of easy access;
7. The self-determination of the community is recognized by higher-level authorities;
8. In the case of larger common-pool resources: organization in the form of multiple layers of nested enterprises, with small local CPRs at the base level.
(From : Ostrom, Elinor (1990). Governing the Commons: The Evolution of Institutions for Collective Action)........




ข้อมูล

- รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ปี 2009 โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
- เอลินอร์ ออสทรอม นักรัฐศาสตร์หญิงผู้คว้ารางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ โดย เกษียร เตชะพีระ
- เอลินอร์ ออสตรอม หญิงคนแรกคว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ คอลัมภ์ คนของโลก
และ wikipedia เช่นเคย


ภาพจาก หนังสือพิมพ์มติชน




 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2552 15:22:25 น.
Counter : 933 Pageviews.  

สังเขปมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่๑๔




โดยปกติ......ผมเองมักจะปฎิเสธการชวนไปเที่ยวของเหล่าบรรดาสหายที่รัก
ด้วยเหตุผลปนกวีหน่อยๆ ว่า "รู้สึกเปลี่ยวเหงายามที่อยู่กับชนหมู่มาก
จนในระยะหลัง แม้ใจอยากแวบไปร่วมสังฆกรรมบ้าง
ก็มักจะถูกขัดขวางด้วยการถูกหยิบยกนิสัย "นักปฏิเสธ" ก่อนหน้าเป็นที่ตั้ง
ประมาณว่า "อย่าไปชวนมันเลย อยากปฏิเสธเล่นตัวดีนักนี่หว่า!"


จะมีอยู่ก็เพียงงานเดียว ที่เที่ยวได้เที่ยวดี
จัดกี่ปี กี่ครั้ง ก็ไปมันได้ทุกปีไม่มีเบื่อ และที่สำคัญ คือ
ชวนใครไป ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะไปเป็นเพื่อนด้วยสิ
เพราะเลือกที่จะไปดู พี่เคน ธีรเดช หาีรักบนรถไฟฟ้ามากกว่า
จะมามุดลงรถไฟใต้ดินกับผม
ถึงเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนไทย (ส่วนใหญ่) ถึงอ่านหนังสือกันน้อยนัก......



ถูกแล้วขอรับ ..............เที่ยวของผมครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น
"งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ ๑๔" แต่เป็นครั้งที่เท่าไรของตัวเอง
ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะมีไม่น้อย ที่ต้องไปเที่ยวซ้ำเพื่อหนังสือบางเล่ม
ที่ตัดใจไม่ซื้อ.......ไม่ลง
มาครั้งนี้ตกลงใจกับตัวเองไว้ว่า จะขอรีบซื้อตั้งแต่หัววันสำหรับงานมหกรรมฯ
เพื่อหนีปัญหาโลกแตก ประเภท ฝนตก รถติด และไม่ใช่ญาติสนิทโหติกา
ที่แห่มาอย่างคับคั่งเฉกเช่นทุกปี
ก็เลยขอเลือกเอาวันศุกร์ วันที่เราเสร็จจางาน สามารถเดินทะลุตัดตรงไปยังศูนย์สิริกิติ์
ในตอนแรกก็กะไว้ว่าจะขึ้นรถไฟใติดิน แต่แอบไปเห็นสภาพเพื่อนร่วมสัญจร
ใต้อุโมงค์แล้ว เห็นสรุปความร่วมกันในใจคนเดียวว่า สู้เดินต่อไปอีกนิดคงจะดีกว่า


มีหลายคนมักจะถามถึงข้อสงสัยที่ว่า
"งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" ที่จัดในช่วงต้นปี กับ "งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ"
ที่นิยมจัดกันในช่วงปลายปี ว่ามันมีความแตกต่างมากน้อยกันอย่างไร ในเมื่อ
มันก็เป็นงานเปิดบูธขายหนังสือไม่ผ่านสายส่งเหมือนๆกัน
คงตอบได้สั้นๆ ตามประสา ใช้ประสบการณ์นิยมเป็นเครื่องสำรวจเอาได้ว่า
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แต่เดิมก็มีมาเพื่อขายหนังสือคาสต๊อกกันไป
แต่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ อันนี้แต่งเสริมเติมลงเอาใจหนอนหนังสือ
ด้วยไม่อยากทิ้งช่วงเทศกาล ให้ต้องตั้งหน้าไปรออีกตั้งปี
แต่ขึ้นชื่อว่างานมหกรรมระดับชาติ ขึ้นชื่อโดยถูกยกเป็นระดับประเทศระดับชาติ
คงต้องเดือดร้อนในการติดต่อเหล่าบรรดาฑูตานุฑูตและสำนักพิมพ์ต่างประเทศ
ให้เข้าร่วมงานเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้หนอนไทยกระดึ้บทอดสายตาวิสัยให้เห็นถึงความเป็นสากล
ของสิ่งที่ชื่อว่าหนังสือ แต่ระยะหลังๆ นานปีเข้า แลจะดูกลืนจนแยกแยะไม่ออก
ระหว่างสองงานที่ว่ามา คงเหลือไว้แค่ความแตกต่างเฉพาะ
"ชื่อของงาน" กับ "ช่วงเวลาที่จัด" จากนั้นที่เหลือก็มีผลสรุปตรงกันว่า
"หนังสือดองเท่าภูเขา" และ "กระเป๋าตังค์แฟบ" เฉกเช่นทุกปี



แม้ปีนี้จะมาหัวรุ่งกว่าทุกๆปี ที่เคยร่วมงาน
นอกจากการหลีกเลี่ยงลำดับการเบียดเสียดจากบุคคลแปลกหน้าในวัตถุประสงค์เดียวกันแล้ว
สิ่งหนึ่งที่จำต้องตัดหน้าคู่แข่งวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ แผนที่ของการจัดแสดงงาน
แต่ไม่รู้ว่า มีคนวงในมีการแหม้มให้ญาติสนิทข้างแม่ หรือผู้ร่วมงานขอเกินโควต้าหนึ่งคนต่อหนึ่งใบรึเปล่า?
เพราะตอนที่ผมไป ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์บอกอย่างหน้าซื่อๆว่า
"แผนที่ได้หมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
กลายเป็นว่า ....................................
ที่เหลือต้องอาศัยประสบการณ์การเอาตัวรอดและการดมหาทางตามสัญชาตญาณ......กันเอาเอง
แตกต่างจากทุกปี ที่จะสนุกกับการดูแผนที่เพื่อที่จะไล่ตามเส้นทาง
จะได้ไม่หลงไปเดินทับในเส้นทางเดิมที่เคยเดินผ่านก่อนหน้ามาแล้ว
หรือในอีกทางจะได้เดินกลับมาหาร้านเดิมที่เคยหมายหัวหนังสือเล่มที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะซื้อดีไหม
จนกว่าจะได้เลาะลัดเดินสำรวจอย่างส่าใจแก่ใจ แล้วค่อยมาสรุปถึงความต้องการที่แท้จริง
เทียบกับความสามารถในกระเป๋าเงินที่มี ครั้งนี้จึงผิดพลาดไปมากเหตุจากการขาดแผนที่
ด้วยได้เดินทับเส้นทางเดินที่เคยไปและหลงหาร้านหมายหัวไม่เจอ ซึ่งกินเวลาไปตั้งหลายสิบนาที


ถือเป็นปีที่เดินล่อง-ท่องสะดวก ด้วยความที่มาสำรวจเดินจริง ก่อนวันเสาร์และอาทิตย์
วันที่ไม่อยากนึกคิดสภาพผู้คนเอาเลย มีพ่อ มีแม่ มีลูก หอบหิ้วกระจองงอแงโดยเดินชมอย่างช้าๆ
แต่ก็ต้องแลกกับการที่หนังสือใหม่จะมาเปิดตัวพร้อมผู้เขียน
เพราะส่วนใหญ่จะมาลงแผงในวันเสาร์กับอาทิตย์ วันที่ผู้คนแลดูคึกคักกว่า
และมีสัมมนาพิธีรีตองอย่างเป็นทางการ สำหรับพวกหนอนล่าลายเซ็นต์นักเขียนด้วยแล้ว
ถ้ามาวันเดียวกับที่ผมมา คงต้องบอกว่าเสียเที่ยวจนปากกาเต็มหมึก หากจะได้ลายเซ็นต์จริง
คงได้จากบรรดาพวกเด็กเชียร์หนังสือ ที่ยืนขยันขันแข็งเต็มแรงเพราะยังเป็นวันทำงานช่วงวันแรกๆอยู่
(สักสองสามวันก่อนเถอะ แล้วจะรู้สึก) แต่มองในแง่ดี คนที่ซื้อวันแรกก็จะมีโอกาส
เลือกสภาพหนังสือที่ดูดีเป็นที่สุด ได้ก่อนใครๆ (แม้จริงๆแล้ว หนังสือที่ออกจากแท่นพิมพ์
สภาพใหม่ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก อันนี้เป็นเฉพาะคนบ้าเห่ออย่างผม!)



ส่วนเรื่องหนังสือที่ได้ ปีนี้ดีจังที่ไม่ถึงหลักพัน
โดยส่วนใหญ่การเปิดตัวหนังสือปีนี้ ไม่เร้าใจเท่าปีก่อนๆ
ส่วนหนึ่ง คงเพราะไม่ถูกกับแนวที่ตัวเองอ่านเสียเท่าไร อย่างที่คุณ ดนัย จันทเจ้าฉาย
CEO ค่ายสนพ DMG บอก ส่วนใหญ่ยังคงไปทางเรื่องธรรมะ ซึ่งเทรนด์ส่วนนี้
เป็นมาหลายปีดีดักนานโข
ส่วนหนึ่ง คงเพราะการตามเก็บหนังสือที่ต้องการ มีมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆงานหนังสือ
จนไม่รู้สึกถึงความต้องการ นอกจากจะมาเจอแนวถูกใจแบบที่ไม่ได้ทำการบ้านเอาไว้
แน่นอนว่าสภาพต้องถูกใจสอดคล้องกับอำนาจซื้อที่จำกัดเอาไว้ข้างต้น
เพราะถ้าหากผิดพลาดคาดการณ์ในประการใด ค่อยไปแก้ตัวใหม่ในงานสัปดาห์หนังสือฯ
ในต้นปีหน้าแทน


สำหรับการจัดบูธของค่ายสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่
ยังคงจัดตั้งทำเลทองตามโซนเดิมที่เคยอยู่ในทุกๆปี ไม่ว่าจะเป็น
นานมีบุ๊ค แจ่มใส มติชน ซีเอ็ด อัมรินทร์ เนชั่น หรือ ผู้จัดการ
แต่ปัญหาของผม คือ เหล่าบริวารร้านค้าหนังสือเล็กๆ นอกกระแสหลัก
ที่มักมีความเคลื่อนไหวในแนวที่ตัวเองถนัด เพราะเจ้าพวกร้านค้าเช่นนี้ โอกาสของการ
ประชสัมพันธ์ให้ได้ทราบเกี่ยวกับหนังสือออกใหม่ต้อนรับในงาน มีค่อนข้างน้อย
จึงต้องอาศัยการ "ดาบหน้า" ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งให้ได้ลุ้นระทึกทรวงเล็กๆ
ส่วนค่ายสำนักพิมพ์ใหญ่ๆนะเหรอ แค่เข้าเว็บหรืออ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ
แค่นี้ก็พอทราบและคำนวนราคาในใจไว้ได้เรียบร้อยแล้ว




แต่เท่าที่สังเกต อาการหอบหิ้วแบบชิ้วๆ ของท่านผู้อ่านอื่นแล้ว
อาจเพราะเป็นวันค่อนข้างแรกๆของการเปิดงาน ปริมาณของการช้อปปิ้งดูจะถ้วนเฉลี่ยแล้ว
ออกไปในทาง "ยอ่มเยา" ไม่บ้าสบั้นหันแหลก ประเภทเข็นกระเป๋ารถเข็นหกล้อ
หรือ เหมายกกะบะในโซนหนังสือราคาแสนถูก เป็นไปได้ว่า เป็นเพียงการวอร์มเบื้องต้น
แบบชิมลาง โดยใช้ปฏิทินจีนแบบเทศกาล
ประมาณว่า วันนี้เป็นวันไหว้ ส่วนพรุ่งนี้จะเป็นวันจ่าย
ลองให้ได้สัมผัสจับต้องนักเขียนตัวเป็นๆ บางทีจำหน่ายหนังสือกับถุงพลาสติก
อาจจะไม่เพียงพอเลยก็เป็นได้
ยิ่งนักเศรษฐศาสตร์ท่านใด เผลอไปเอามูลค่าของการจับจ่ายในงานมหกรรมหนังสือฯ
ไปเป็นดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ คงต้องบอกว่า ตัวชี้วัดมีตั้งมากมาย
หันไปเลือกใช้ดัชนีมาม่าดูจะมีภาษีทีดีกว่า เพราะเท่าที่แวะเวียนแวดวงเช่นนี้มาเป็นอาจิณ
ผมก็เห็นมันขายดิบขายดีอยู่ทุกปี จะหลังวิกฤตต้มยำทำกุ้งเอ้ย แฮมเบอร์เกอร์ไคร์ซิสเอ้ย
ซัมพมซัมพรามส์เอ้ย ก็เห็นมันขายได้เรื่อยๆ มองได้ว่ามันเป็นกลุ่มตลาดเชิงบริโภคคนละขนาด
คล้ายๆ คนหาหมอกันมาก ใช่ว่าจะเป็นตัววัดได้ว่าผู้คนเขามีอำนาจซื้อสูง
แต่เป็นรายจ่ายจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อดำรงสภาพการเป็นมนุษย์ ผู้รับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อีกด้าน มันก็สะท้อนรสนิยมการบริโภคเชิงอ่าน ในฐานะแง่การศึกษาความเป็นไปทางสังคม
เพื่อเข้าใจให้ลึกซึ้งทุกปรากฎการณ์ ส่วนจะเอาไปปรับใช้หรือโม้โชว์ภูมิต่อ
อันนี้คงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ต้องใช้วิจารณญาณ
แต่เที่ยวนี้ที่ไป มีคนไม่น้อยที่นิยมหนังสือนิยายประโลมโลก ถึงขั้นประกาศเป็นสาวกกลายๆ
ทั้งในส่วนของผู้ผลิตผลงานเขียนภายในประเทศ ตลอดจนถึงงานแปลที่นิยมเปรี้ยงปร้างไปทั่วโลก
บางทีการอ่านเพื่อความรู้ อาจเป็นมุมมองในมิติที่คับแคบของอิทธิพลของหนังสือจะสำแดงได้
เลยตอบโจทย์ในแง่อรรถประโยชน์ของเจ้างานหนังสือไม่ค่อยจะถูก
อาจจะไม่ใช้แค่การสะท้อนรสนิยมของผู้อ่านเท่านั้น บางทีอาจจะประกาศถึงความมีของโลก
ที่สร้างให้เกิดงานเขียนที่เป็นตัวกำหนดความมีรสนิยมก็เป็นได้ เหมือนที่กำลังสงสัยถึง
การกลับมาของเรื่อง พ่อมด หมอผี หรืออสูรกายต่างพิภพ หรือ การตีความสัญลักษณ์ปริศนา
มิหน่า.....เที่ยวนี้จึงมีงานแพ็ครวมชุด มาจำหน่ายตามลิขสิทธิ์ที่แต่ละสำนักพิมพ์มี
ด้วยกันหลายเจ้า ทั้แพ็ครวมพวกนิยาย งานชุดเศรษฐศาสตร์ งานธรรมนิพนธื
งานชุดของตัวบุคคล งานชุดผู้เขียน ในราคาที่ย่อมเหยากว่าแยกซื้อเป็นเล่มๆ
ชนิดที่น้องๆ ไม่ต้องแหกปากขึ้นมาขาย มันก็สามารถขายตัวเองได้จากกลุ่มผู้อ่านเดิมที่ตั้งใจซื้อ
ซื้อเที่ยวเดียว ก็สามารถตีตัวกลับได้โดยไม่เหลืออำนาจซื้อพอที่จะเดินตุปัดตุเป๋
ไปบูธเจ้าอื่นๆ ให้ทรมานใจ แต่ที่ข้องใจคือ พี่ๆที่เร่ให้สมัครสมาชิกนสพ.หรือนิตยสารรายปี
ทั้งๆที่พี่ก็รู้ว่าเพิ่งชวนผมสมัคร จนผมเดินหลงทางมาเจอบูธของพี่อีกครั้ง
ใจคอพี่จะยังชวนให้ผมสมัครด้วยเงื่อนไขเดิมๆ อีกทำไม?ไม่ทราบเนี่ย!
ยิ่งหงุดหงิด เพราะเดินหลงทางไม่มีแผนที่อยู่นะเฟ้ย!



ชอบใจใบแจกชี้ชวนของค่ายมติชน ที่ทำออกมาคล้ายๆหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์
ให้นิยามถึงคุณประโยชน์ของการเป็น "นักอ่าน" ว่าเข้ากับนโยบาย "ไทยเข้มแข็ง"
ของรัฐบาล แม้มีประโยคค่อนขอดที่ว่า ใครอยากอ่านก็อ่าน ไม่อยากก็ปล่อยเขาไปเด่
ในนั้นเขายกความแตกต่างของ "คนอ่าน" กับ "คนที่ไม่อ่าน"
นักอ่าน จะมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่กระทบต่อชีวิตสูงกว่า
ให้เหตุผลต่อปรากฎการณ์ได้ลึกซึ้งกว่า ประสบสำเร็จชีวิตอย่างมั่นคง ไม่ฉาบฉวย
เรียนรู้โลกจากความเป็นจริงมากกว่า ที่สำคัญ....ยังเป็นการฝึกสมาธิกลายๆ
ที่สื่ออื่น นั่นทำไม่wด้!
และยังตบท้ายเก๋ๆ ที่ว่า................

"คนที่ไม่อ่านหนังสือที่ดี ย่อมไม่ได้รับประโยชน์อะไรมากไปกว่าคนที่อ่านหนังสือไม่ได้"
(The man who does not read a good books has no advantage over
the man who can't read them. " -- Mark Twain )........






 

Create Date : 17 ตุลาคม 2552    
Last Update : 24 ตุลาคม 2552 22:17:23 น.
Counter : 665 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.