A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

เมื่อนักการเงินติดกรอบ เพราะรสอร่อย

เห็นข่าวของการล้มละลายของบริษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของอเมริกา
(และมักจะมีสถานยักษ์ใหญ่ตามในเวทีตลาดการเงินโลก ในฐานะที่เป็นประเทศ
ตราสารการเงินภาคบริการที่ประเทศจีนเองยังต้องจำกัดการลงทุนส่วนนี้ ภายใต้น้ำมือ
นักเก็งกำไรฝีมือฉกาจ) ครับ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจขนาดใหญ่สุด อันดับ 4
ของสหรัฐ จำต้องปิดฉากตำนานธุรกิจลง หลังจากต้องยื่นพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมาย
ล้มละลาย มาตรา 11ของสหรัฐ อย่างที่พอมีสัญญาณของอาการทุละทุเล ตั้งแต่ปลาย
เดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว โดยได้ประกาศแผนปิดธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทซับไพรม
(สินเชื่อที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อย่างโจเซฟ สติกลิกซ์ กล่าวอย่าง
ชัดแจ้งแทงใจธนาคารกลางสหรัฐนานสองนานว่า วิกฤตด้านนี้มาแน่ ช้าแต่จะมาเมื่อไร
อย่างไร จะด้วยยาตัวไหนก็มิอาจคาดแคล้วเวรกรรมเศรษฐกิจแนวอัดฉีดที่ฐานสินทรัพย์
ของผู้ขอกู้ไม่สมดุลกับสภาพการไตร่ระดับของราคาที่อยู่อาศัยที่มีความละโมบเป็นแรงผลักดัน
ออกไปได้ (เวรกรรมนี้พี่ไทยถนัดเพราะรสต้มยำกุ้งผิดสูตรที่ยาขมที่ช่วยชะลอโรคคลั่งดัชนีได้
ชะงัดนัก)

แต่ที่อาจสร้างความสับสนแก่ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ก็คือ การที่มีนักที่ปรึกษาการลงทุนท่านหนึ่ง
ภายใต้สกัดงานของบริษัทที่ยื่นพิทักษ์ทรัพย์นี้ ที่บอกว่า"ตัวเลขความเสียหายของเลห์แมนฯ
ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยมากนัก
เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่ที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท จะอยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์
ประเภทบริการ คือสำนักงาน หรือออฟฟิต ให้เช่า " พอได้ยินมาเช่นนี้
มีหลายคนไม่น้อยที่ตั้งคำถามในใจตนเองแบบง่ายๆว่า
"ในเมื่อสำนักงานใหญ่ของพ่อลื้อขยายการลงทุนในดินแดนสยาม
นี้ ใยช่างแสนดีที่เงินก้อนใหญ่ไปลงตึกรามบ้านช่องแทนที่จะฟันกำไรตามสไตล์คาบอยตะวันตก
ที่ฟาดฟันกันด้วยรถตัวถึงจากจีอีและใช้บัตรอเมริกันเอ็กเพรสที่ทำลายสถานะของอีกฝ่ายว่าเป็น
ผู้ไร้เครดิตชั้นเลิศโดยปริยาย" เพราะการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นมีความเสี่ยงในแง่การทำสัญญา
นิติกรรมและมีความลำบากตามมาในแง่การโยงย้ายเงินทุนที่สามารถมีอิสระโบยบินไปได้ข้าม
ทวีปเพียงคลิกปุ่มเพียงปุ่มเดียว.....ว่าแล้วก็Enterทันที

ในฐานะที่เขียนบล็อกเพื่อฆ่าเวลาอย่างผม ที่ชอบติดตามผลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมากกว่าผลรายได้สุทธิ
แต่ละไตรมาสจากตลาดดาวน์โจน ผมไม่อาจตั้งคำถามแบบนักวิเคราะห์หุ้นหรือที่ปรึกษาทางการเงิน
ที่มุ่งให้มองแต่หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและราคาสมเหตุสมผลนัก
(ถือเป็นประโยคยืนตัวที่ลอยตัวความเสี่ยงเชิงวิเคราะห์จากเซียนหุ้นหลายๆเจ้าที่ผมได้ยิน-ย้ำ_ที่ผมได้ยิน)
ดังนั้นการล้มของบริษัทเลแมน บราเดอร์ส สำหรับจึงไม่ค่อยเป็นเรื่องน่าแปลกใจเมื่อได้ทราบข่าว (แม้จะสามารถ
แทรกกลางหน้าหนึ่ง แทรกพื้นที่ข่าวการขัดแย้งทางการเมืองร้อนๆบ้านเราได้) อย่างมากก็
อาจมีเสียงพึมพำในลำคอแบบกระอ้อมกระแอ้มว่า"บริษัทพวกมะกันเจ๊งกะบ๊ออีกแล้วเหรอ?"




ถ้าใครยังพอจำได้ต้นปี48 ศาลอเมริกันได้พิพากษาว่า CEO ของ World Com มีความผิดในการ
ฉ้อฉลบริษัทของตนเอง จนมีโทษติดคุกได้ถึง 85 ปี แต่กว่าสื่อมวลชนจะอธิบายเท้าความหรือ
ศาลจะนัดสืบบัลลังค์กันได้ ต้องมานั่งเล่าถึงความซับซ้อนของการจัดเรียงฉ้อโกงบัญชี จึงจะพอ
สามารถระบุโทษความผิดของCEOท่านนี้ได้ เรากำลังอยู่ภายใต้การเล่นเล่ห์ต่อช่องว่างที่กฎหมาย
หมิ่นเหม่ในอำนาจนิติบัญญัติของตนว่าจะสามารถนำคนผิดมาลงโทษ หรือรอให้หมอนั่นข้าม
ผ่านเส้นความผิดพอมัดตัวให้พยานไม่กี่ปาก ก็สรุปสำนวนบ่งชี้ความผิดได้ แต่ทุกอย่างไม่ง่ายเช่นนั้น
ทุกวันการจะกำหนดคุณค่าของอเมริกันนิยม ไม่ต้องเอามันทุกเรื่องเหรอครับ เพียงแค่ทัศนคติ
ต่อเรื่องการเงินเพียงอย่าง บางทีเราอาจต้องลงไปช่วยแยกโจทย์คำถามปลีกย่อย อย่าง
คุณใช้เงินอย่างไรที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมที่คุณอยู่ มีเงินร้อยดอลลาร์จะสร้างมูลค่าทบทวีคุณอย่างไร
เงินบำนาญจะเอาไปลงทุนกองทุนที่มีเป็นหมื่นกว่ากองที่เรียงร่ายตามเอกสารชี้ชวนถึงหน้าบ้าน
เป็นต้น ลองคิดดูประชากรที่มากกว่าไทยหลายสิบเท่า ความหลากหลายเชื้อชาติก็มากกว่า
แต่เอาเข้าจริงๆ มีกรอบคิดที่ล้อมวิถีชีวิตเขาเพียงไม่กี่สิบแนวเท่านั้น เหตุที่เป็นอย่างนั้น
เพราะมาตราฐานทางสังคมที่ทำให้เขาไม่สามารถออกจะกรอบทางสังคม ที่จะนำพาให้เขากลาย
เป็นคนรู้สึกแปลกแยกต่างออกไป ยกตัวอย่าง เรื่องการส่งออกประชาธิปไตยไปสู่ประเทศต่างๆ
ลึกๆแล้ว คนมะกันก็ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยของตนแม้ไม่สมบูรณ์แต่ก็ไม่แย่กว่าประเทศใดใน
โลกหรอก ไม่เชื่อก็ลองเอาของไอไปใช้สิ ไม่งั้นไอจะวีโต้ค้านผลประโยชน์ของประเทศยูด้วย
เสียงความเห็นใหญ่ของไอเพียงเสียงเดียว...................

เรื่องของการระดมผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็เช่นกัน ตราบใดที่บริษัทพยายามผันตัวเองให้กลาย
ชื่อเป็น"บรรษัท"เข้าด้วยแล้ว การที่จะให้คนถือหันมาถือหุ้นในบริษัทของตนเองได้นั้น
ปัจจัยที่จะล่อตาล่อใจ นอกจากราคาจองเริ่มต้นเมื่อเปิดตลาด หนังสือชี้ชวนที่คล้ายจะชี้นิ้ว
ให้เห็นแต่ข้อดีเกินสิบข้อ หรือจะชื่อของคณะกรรมการที่น่าเชื่อว่าให้ผลตอบแทนดี มีบารมีนอก
ตลาดหลักทรัพย์หรือแบ็กอับดีก็ตาม เมื่อผู้ถือหุ้นที่มีสมมติตั้งต้นไว้เลยว่า "เขาไม่โง่"
จึงทำให้การสร้างงบดุลบัญชีที่สวยงาม จะด้วยการปรับตกแต่ง โยกย้าย หรือสร้างบริษัทลูกรับ
ความเสี่ยงไปก็ตาม เอาเข้าจริงสุดท้าย ก็ไม่ได้หนีกรอบวิธีคิดที่มักจะต้องทำให้ผู้บริหารต้อง
จัดการทำอะไรสักอย่าง แม้จะรู้สึกหิริโอตัปปะขึ้นในใจ แต่ภาระนี้มิได้มีเพียงแต่ตนผู้เดียว
เพราะมันรวมไปถึงพนักงาน ผู้ถือหุ้น ชื่อเสียงบริษัท ระยะเวลา ประสบการณ์ เครือข่าย
และอีกนานัปจิปาถะ การจะไปต่อว่าเพียงเรื่องความละโมบโดยฐานเดียวจึงดูไม่น่าจะเพียงพอ
เพราะจริงๆแล้ว รายได้ผู้บริหารเดิมทีก็ห่างจากภารโรงบริษัทนับร้อยพันเท่าอยู่แล้ว ดังนั้น
คาถา"ธรรมภิบาล"จึงเป็นข้อปฏิบัติโหล่ๆที่ตอกย้ำการสร้างมูลค่าแก่ตัวบริษัทตามประสา
โหนรถธรรมภิบาลเพราะบริษัทคู่แข่งเขาก็เข้าโดยสารบนเส้นทางเดียวกัน แล้วสิ่งที่นอก
ธรรมภิบาลละในเมื่อที่ไหนเขาก็มีกัน ถ้าสิ่งนอกนั่นคือโอกาสที่จะทำให้เขาได้เปรียบกว่า
คู่แข่งอยู่หนึ่งก้าว ทำไมมันจะไม่ยั่วยวนกันละ ฮึ่ม!

ในสายตาของการแข่งขัน ถือเป็นเรื่องดาบสองคม ผมเชื่อ(เอาเอง) แน่ว่า
ธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทซับไพรม ทุกบริษัทยักษ์ต่างก็มีนักเศรษฐศาสตร์ที่จบมหาวิทยาลัยเลื่องสำนัก
ที่รับรู้ถึงข้อเสียของตลาดส่วนนี้กันเป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าแม้เครดิตของตลาดกลุ่มนี้จะไม่ดีนัก
แต่ด้วยฐานตลาดที่ใหญ่โตมหาศาลมากกว่าครึ่งของกลุ่มผู้กู้สินเชื่อทั้งหมดของประเทศเช่นนี้
คงไม่มีใครอยากจะละเลยของความเสี่ยงที่จะช่วยสร้างกำไร โดยเชื่อว่าจะสามารถประคองปัญหา
นี้ไม่ให้ลุกลามต่อสภาพคล่องของบริษัทลง แล้ววันนี้คนรายได้น้อยไม่มีปัญญาจะจ่ายค่างวด
เนื่องด้วยบ้านล้นความต้องการของผู้ซื้อตัวจริง (ส่วนใหญ่ผู้กู้ก่อนหน้าเป็นตัวปลอมที่หวัง
เก็งกำไรที่ดิน) เมื่อเกิดการช๊อกกันทั้งระบบ การทะยอยกันเจ๊งจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหนือการคาด
หมาย แต่ที่เดาผิด คือ มันน่าจะมีบรรษัทธุรกิจการเงินอื่นล้มตามมากกว่านี้ (ซึ่งแม้รอดตอนนี้
ไปได้ก็ล่อแหลเต็มที) อาจจะจริงอย่างที่หนังสือพิมพ์ Financial Time ได้เสนอบทความที่ชื่อว่า
The Big Freeze ว่าทำไมจอมขมังการเงินอย่างมะกันจึงต้องม้าตาย ข้อเท็จจริงมีว่าผู้กำหนดนโยบาย
และนายแบงค์ของประเทศตะวันตกมิได้รู้ตัวว่ามีปัญหา ซ้ำยังมีหน้ามาหัวเราะเยาะชาวบ้านที่ว่า
ไม่เกินปี สหรัฐจะเผชิญวิกฤตสถาบันการเงิน

แล้วตอนนี้ใครหัวเราะเยาะใครกันแน่?


ป.ล. รูปกราฟแบบการ์ตูนอาร์ทๆ จากwww.itulip.com




 

Create Date : 20 กันยายน 2551    
Last Update : 20 กันยายน 2551 5:32:21 น.
Counter : 570 Pageviews.  

blue ocean สู้below the line ได้ไหม

บทความนี้เป็นบทความต่างตอบแทน (Conpensative Article)
สำหรับท่านผู้อ่านบล็อกท่านหนึ่ง ตามประสากลุ่มจอมยุทธที่มีเคล็ดลับวิชาจากเจ้าจอมสำนัก
การตลาด มาสั่นสะเทือนปฐพีเวทียุทธจักรbloggangแห่งนี้ คราวที่แล้วท่านผู้อ่าน
งัดเคล็ดวิชาว่าด้วย below the line ว่าด้วยแผนการตลาดเชิงรุก (ซึ่งผมได้
นำไปต่อยอดทางหน้าที่การงาน แม้แผนงานนั่นจะไม่ผ่านที่ประชุมสำนักงาน
ก็ตามที) มาครั้งนี้ข้าน้อยขอตอบแทนท่านด้วยเคล็ดลับวิชาสุดยอด
ที่อ่านจบไปกว่าสอง-สามปีที่ผ่านมา จากหนังสือที่ชื่อรื่นรมย์ว่า
Blue Ocean Strategy : How to Create Uncontested Market Space and Make the Competition Irrelevant ที่แนวคิดเรื่องนี้ได้รับการพัฒนา
จากอาจารย์จากสถาบัน INSEAD สองท่าน Prof.Kim Chan เขียนร่วมกับ Prof.Renee Mauborgne
ถือเป็นBest Seller ทางการตลาดและการบริหารธุรกิจระดับโลก
ที่เหล่านักการตลาดไทยนำมาต่อยอด สร้างชื่อทางแผนกลยุทธสำหรับตนเองหลายต่อหลายท่านไปแล้ว

ขอเกริ่นออกตัวก่อนว่า ผมมิใช่บุคคลที่มั่นอับเดทตัวเองกับพวกหนังสือ How to
อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง เพราะรู้สึกหน่ายแหน่งกับการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตาย
เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ให้พอมีชิ้นเนื้อประคองให้พออยู่รอด
โดยมักมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ที่ซื้อหนังสือเล่มนี้
สืบเนื่องจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากมวลสารทิศที่ร้องแรกแหกกระเฌ่อ
ว่ามันดีนักดีหนาและแตกต่างจากหนังสือbusiness How toเล่มอื่นๆ
(ท่ามกลางความเสมือนคล้ายคลึงกันเสียหมดของกลุ่มหนังสือเช่นนี้)
อ่านไปก็เพลินไป เป็นแนวคิดง่ายๆที่ผู้เขียนช่างเปรียบเทียบกับ
สองปรากฏการณ์ทางธุรกิจกับปรากฎการณ์เชิงการตลาด (Strategic Thinking) อย่างน่าภิรมย์

Blue Ocean Strategy คือ การมีความคิดสร้างสรรค์แบบนอกกรอบ
เป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่มุ่งหาตลาดใหม่ๆ ที่คู่แข่งขันอื่นๆ นึกไม่ถึงหรือมองไม่เห็น
คงด้วยนักการตลาดมัวหลงติดกับกับวัฒนธรรมทางสมรภูมิเวทีการตลาดแบบ
เดิมๆ ที่เชื่อขวนขวายส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างเป็นบ้าเป็นหลังอันมีความจำกัดทางพื้นที่
เจอะเจอกับคู่แข่งเดิมๆที่ยึดพื้นที่ธุรกิจแบบปักเสาหลักไว้ก่อน
หน้าแล้ว ผู้ใดหวังจะเข้าไปมีแต่สู้ฟัดประหัตประหารกันทุกรูปแบบ ระดม
สรรพอาวุธเต็มอัตราไพร่พลเต็มอัตรา รูปแบบพื้นที่ตลาดนี้เปรียบเหมือนกับ
มหาสมุทรที่แดงฉานไปด้วยเลือด "Red Ocean Strategy" ดังนั้นจะทำเช่นไร
จึงจะสามารถมีพื้นที่ยืนในเวทีส่วนแบ่งตลาดในสินค้าที่คล้ายคลึงกันเช่นนี้
พื้นที่ที่มีคลื่นลมสงบ มีเสียงคลื่นแผ่วเบาไม่บ้าคลั่งเต็มไปด้วยคลื่นพายุที่รุนแรง
ลักษณะวิสัยรื่นรมย์เหมาะสมที่จะเตรียมกระดานโต้คลื่น หรือไม่ก็
เบ็ดตกปลาชุดใหญ่ ขณะที่คู่แข่งยังหลงอยู่ใน ทะเลเลือดที่โหมพัดกระหน่ำ
ครับ สิ่งนี้แหละคือ Blue Ocean Strategy ที่ไม่เน้นการแข่งขันกับคู่แข่งขัน
แต่เน้นทำให้คู่แข่งขันล้าสมัย ที่มักจะนำไปสู่สินค้าและบริการที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน
แล้วก็นำไปสู่การตัดราคาแล้วบาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย




วิธีคิดแบบBlue Ocean Strategy หากให้สรุปจับใจความกันจริงๆ คือ จะเน้นการสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ
และมุ่งจับผู้ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าในอุตสาหกรรมมาก่อน (Non-customers)ถึงแม้รูปแบบจะต่าง
หน้าที่จะต่างแต่ตอบสนองวัตถุประสงค์เดียวกัน(Different forms, Different functions, but same purpose)
เท่ากับว่าทุกวันนี้ เรากำลังเผชิญกับข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ที่ลงสุดตลาด ที่ส่วน
ใหญ่จะมีการแข่งขันอย่างรุนแรง วิธีคิดแบบลด แลก แจก แถม กลายเป็นสิ่ง
ยุทธวิธีที่จะเรียกได้ว่า ล้าสมัยเพราะใครก็ทำได้ คิดกันก็เป็น (สินค้าใหม่
หลายตัวคิดไม่ออกก็มักลุยวิธีนี้ จนผู้ซื้ออย่างเราๆบางทีเดาได้เสียก่อนนัก
การตลาดจะคิดออกเสียอีก) ดังนั้นการจะเข้าถึงแบบBlue Ocean Strategy
มันจึงมีสิงหนึ่งที่เรียกว่า Value Innovation สร้างนวัตกรรมเชิงคุณค่าให้กับ
ตัวสินค้า เพื่อเกิดการรับรู้ใหม่ของผู้บริโภค
(หรืออาจเรียก"เหยื่อ" อย่างที่ท่านผู้อ่านว่าก็ได้ นักการตลาดนอกจากจะสร้างช่องทางพื้นที่สำหรับสินค้าแล้ว
ยังต้องสร้างความรู้สึกร่วมไร้ปฏิปักษ์ที่ผู้ซื้อไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อ อย่างการ
สร้างกลุ่มคำที่ชื่อว่า "การตอบสนองผู้บริโภค" "อำนาจผู้ซื้อรายใหม่" "ผู้มีอุปการคุณ..โปรดทราบ"เป็นต้น)

จริงแล้วๆยังมีองค์ประกอบที่ผู้เขียนสาธยายอีกมากมายแต่เนื่องจาก แนวคิด
แบบBlue Ocean Strategy นี้ ยังไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจุบันยังต่อยอดแนวคิดนี้
แตกแขนงออกไปอีกมากมาย งานวิจัยภาคสนามที่เป็นหัวใจหลักหนึ่งที่จะ
ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพโดยง่ายอีกไม่น้อย ถ้าให้ชุมชุนบล็อกเห็น
ภาพโดยง่าย ขอยกตัวอย่าง ASTV ละกัน ท่ามกลางสถานีโทรทัศน์ข่าวที่มี
อยู่มากมายหลายช่องในประเทศไทย ASTV สามารถเป็นสถานีข่าวที่ประกาศ
จุดยืนของความไม่เป็นกลางของสือสาธารณะ โดยเลือกยืนต่อความถูกต้อง
แนวการเจาะลึกข่าวการเมืองที่ทิ่มแทงใจระบบและนักการเมืองโดยไม่รักษา
สมดุลต่อระบบธุรกิจเชิงพาณิชย์ กล้าหยิบยกประเด็นที่สื่อเสรีบ้านเราไม่กล้า
นำมาเสนอ จึงได้ใจจากกลุ่มผู้เสพสื่อที่ชอบรูปแบบถึงลูกถึงคนที่ไม่เคยนึกไม่ถึงมาก่อน
ขณะที่สื่อเสรีอื่นๆเน้นข่าวในเชิงสนุกสนาน (News Entertainment)
ทื้ต่างก็พยายามลอกเลียนกันจนอยู่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (แม้ปรากฎการณ์ASTV
บางคนอาจมองได้ว่า เป็นแบบBlue Ocean Strategy ที่ผันรูปแบบตัวเองให้
กลายเป็นแบบ Red Government Upon Ocean Strategy ไปแล้วก็ตามที)

นอกจากนี้ กรอบวิธีคิดนี้ยังรวมถึงการที่จะมองหาธุรกิจอื่นเสริม
หรือทดแทนธุรกิจเดิมตลอดจนการเสาะหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรม
และความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง โดยส่วนตัวมันคล้ายการทำตลาดแบบคิดนอกกรอบ
(Lateral Marketing)ผสมกับทำตลาดแบบเฉพาะ (Niche Strategy)
มาคลุกเคล้าให้ได้หลักสูตรใหม่ ที่จะอ่านง่ายหรือยากก็สุดแท้แต่ แม้อาจจะ
เมาคลื่นท้องทะเลอันโคล้งเคล้งไปบ้าง ก็ถือเป็นการปรับสภาพตนเองให้
สามารถรักษาสมดุลของร่างกาย ไม่ต่างกับคลำหาพื้นที่กลุ่มเฉพาะ่ที่ยังมีฐาน
ลูกค้าบางส่วนที่ยังไม่มีกลุ่มธุรกิจใดใดเจาะตลาดว่างนี้ได้มาก่อน
แต่ปัจจุบันนี้ ถ้าเด็กพาณิชย์หรือนักศึกษาบริหารธุรกิจท่านใดยังไม่ได้เรียนรู้
หลักสูตรหรืออ่านหนังสือเล่มนี้ ผมว่ามันน่าเสียดายอยู่น้านนนน......





 

Create Date : 11 กันยายน 2551    
Last Update : 12 กันยายน 2551 0:45:00 น.
Counter : 806 Pageviews.  

บุญชู ไอเลิฟ สระอู..อ้าฮ้าอู้ฮู้


ความจริงแทบจะไม่มีอะไรที่ต้องพูด คุยหรือแนะนำ
สำหรับความเป็นบุญชูภาคใหม่ที่ได้รับชมรับเห็น (แต่ไม่รับซูม)
เพียงแค่การได้พบเพื่อนเก่าที่ลาร้างไปสิบกว่าปี เพื่อได้รับ
ความรู้สึกดีๆที่ต่อมความทรงจำไม่อาจผลิตอารมณ์ร่วม
มากกว่าการนึกคิด เพียงอาจต้องทำใจนิดนึง เพราะด้วย
ความเป็นNew Generationใหม่ ที่ปรับยุคปรับสมัย ตกแต่ง
เปลี่ยนปรับอยู่พอสมควร บุญชูครั้งนี้จึงคล้ายกับการถอดรูปลักษณ์
ผ่านนักแสดงกลุ่มใหม่ ภายใต้บริบทความเป็นบุญชูที่ผมเคยรู้สึก
"บุญโชค" จึงกลายเป็นสิ่งท้าทายสำหรับนักแสดง เพราะต้นทุน
ที่บุญชูได้ฝากไว้สำหรับวงการหนังไทยมันช่างสูงนักแล

บุญชู ไอเลิฟสระอู หนังไทยถูกสุขลักษณะการบริโภค ที่เอาสัญลักษณ์
ตัว"ท"มาติดโชว์หล้า โดยไม่จำต้องหา แพทย์ ตำรวจ นักจิตวิทยา มา
เป็นคณะกรรมการเซ็นเซอร์แต่อย่างไร คงไม่เล่าเนื้อหา บทตอนแบบ
ชนิดเจาะจงส่วนนั้นส่วนนี้ เสน่ห์ของการขุดบุญชูขึ้นมาถ่ายทำใหม่
ของอาบัณฑิต ฤทธิกล คือ การที่ทำให้เหตุการณ์ที่ธรรมดาของผู้คน
เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เพียงแค่ผ่านบทสนทนาคารมของตัวละคร
จึงเป็นต้นทุนที่อาจราคาถูกสำหรับงบการถ่ายทำ แต่วิธีผลิตมุขวาจา
เช่นนั้นได้ถือเป็นระดับราคามหาศาลทางสมอง เพราะเท่ากับการ
ที่ต้องสร้างลักษณะนิสัยตัวละครที่ชัดเจนพอที่จะทำให้คนดูจดจำ
เอกลักษณ์บุรุษ ยกตัวอย่าง บุญชูที่มีความซื่อบริสุทธิ์แบบคนบ้านนอก
โมลี สาวมั่นแห่งยุคสมัยที่รักความเป็นธรรม ซูโม่กิ๊กที่โหวกเวกโวยวาย
แต่ไม่มีอะไรในใจ ปองปากหมาย พ่อครัวร้านอาหารที่ไม่รู้ว่าอาหารอร่อยจริงรึเปล่า
แต่ปากสุนัขน่าดู นายเฉื่อยที่ยังเฉื่อยสมชื่อ เป็นต้น จึงเป็นการเล่น
กับบุคลิกภาพด้วยการสื่อสารสำบัดสำนวน (แม้บางทีบรรยากาศไม่เป็นใจ
แต่ทำไม๊ ทำไม มันเล่นเอาฮาได้) ภาคนี้จึงยังมีดีที่ยังมีดารารุ่นก่อนประคับ
ประคอง และบางช่วงก็โชว์เอาสักเด่นกว่ารุ่นลูกที่หายไปเป็นระยะๆ



ข้อกังวลในใจสำหรับคนดูรุ่นก่อนอย่างผม คือ การสอบผ่านของตัวละครรุ่นลูก
ได้รึไหม เพียงแค่มุขตลกเอง ผมคิดว่ามันมีความตลกอยู่เช่นกัน เพียงแต่มัน
ออกรสต่างออกไป ถือว่าเป็นการลองอาหารใหม่ที่อาบัณฑิตพยายามประสาน
ให้ลงตัวที่สุดแล้ว อย่างที่เคยบอกไปคราวก่อนแล้วว่า มุขตัวอย่างที่โฆษณาก่อน
หน้านั้น เล่นเอาแป้กเสียจนอีหลักอีเหลื่อมที่จะลองเสี่ยงดู ในฐานะผู้กำต้นทุน
จากบุญชูภาคก่อนๆเสียเต็มประดา แต่แล้วสถานการณ์ของการปูพื้นในเรื่องราว
เป็นสิ่งขับเคลื่อนต่อมฮาได้ชะงกักว่าการจะจับหยิบตอนใดตอนหนึ่งในขบขัน
ในฐานะที่ผมเป็นคนดูเสียตังค์คงวิจารณ์นะครับว่า มุขที่กลุ่มรุ่นลูกยิงใส่กัน
นั้น ไม่แทบไม่ขำครับ......(ซึ่งอาจเป็นอคติส่วนตัวที่ล้างไม่ออก) ด้วยยังไม่ชิน
รูปแบบโวหารตามประสาคนตกยุค แต่ด้วยความที่ได้รับชมในอาณาจักรภาพยนตร์
แถวห้างบางกะปิถิ่นที่หนังตลกเรื่องไหนไปฉายมักจะได้ตังค์
ไม่ว่าตลกปัญญาชน ตลกทะลึ่ง ตลกคาเฟ่ ตลกแต่ไม่ตลก ก็ตามแต่ การเลือก
ทำเลของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในสัดส่วนเนื้อหาด้านนี้ เป็นสิ่งเสริมให้หนังตลก
พอประมาณ สามารถกลายเป็นหนังที่โคตรตลก ตลกอย่างแรง ไม่ตลกนะทำไม
คนอื่นเขาตลก (จนบางทีต้องพิจารณาสภาพจิตตนเองที่รับรสมุขบางมุขพร่องไป)
แต่สิ่งที่ทดแทนได้คือ เสน่ห์ของตัวละครที่น่ารักน่าช่าง (และน่าถีบในบางตอน)
จึงพอเข้าใจว่าทำไมจึงต้องอาศัยนักแสดงวัยรุ่นที่ผ่านการแสดงจากหนังเรื่องอื่นอย่าง
หนูสายป่าน ซาร่าAF3 เจ้าว่าน รัชชุ แทนที่จะปั่นดาราใหม่ทั้งหมด
ส่วนบุญชูนั่นจำต้องใช้เด็กใหม่เพื่อสร้างการรับรู้ โดยไม่มีภูมิหลังใดใด
ที่ให้คนดูอย่างผมได้เถียงสุดลิ้มทิ่มประตู ส่วนรุ่นเก๋านี้ไม่ต้องห่วง ระดับปรมาจารย์สาดมุขกระจาย
ย่อมรับว่าการห่างหายจากภาคที่แล้วเป็นสิบปีมาสู่ภาคล่าสุด
ระดับการฟื้นความสามารถในบทบาทตัวละครเดิมยังทำได้ยอดเยี่ยม ไม่รู้สึกแปลกแยก
แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ชมแล้วจึงรู้สึกดีจังในทุกส่วนที่อาบัณฑิตได้กระทำ
และมั่นใจว่าคงไม่อาจมีใครจะแตะบุญชูมากำกับอย่างมีอรรถรสได้เท่าอาบัณฑิตอีกต่อไปแล้ว
ถือเป็นสมบัติวิชาส่วนตน ที่จะโยนปลุกเสกใส่อีกคนให้รับช่วงได้อีกต่อไป
ภาคเลิฟ สระอูนี้สันติสุขกับจินหราปรากฎในเรื่องไม่กี่ตอน
แต่ทุกตอนที่โผล่มามีผลสำคัญกับอารมณ์ร่วมของเรื่อง สะกดคนดูทั้งโรงจากบทบาทที่ได้รับ
สมเป็นนักแสดงอาชีพที่ยืนหยัดมานานนม

แต่จุดแย่ของหนังใช่ว่าไม่มีคือ ดนตรีของเรื่องที่เสียงนักร้องยังสอบไม่ผ่าน
(เพราะมันไม่เพราะและไม่มันส์)
ส่วนสิ่งที่ให้แก่สังคมในแง่ภัยร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของยุคปัจจุบัน
ไม่ว่าอินเตอร์เน๊ต ยาเสพย์ติด จิตใจผู้คน เป็นสิ่งพื้นๆที่เราคาดเดาเนื้อเรื่องได้
ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนหักหลังงานนี้หากผมจะเอาหลานที่มิใช่ลูกไปร่วมดูด้วย
หลานจอมแก่นของผมคงไม่กระแทกกระทั้นอย่างเย้ยหยันว่า
"คนรุ่นน้านี้เชยบรมเลยยยยย...แต่ยกบุญชูไว้อย่างหนึ่งละกัน"

ส่วนเนื้อเรื่อง นี้ไม่ขอเล่า ถ้าจะให้เล่านี้ เล่ายาวหน้าาาา....ครั้งสมัยพาราณาสีสสส..........


รูปจากไหนจำไม่ได้ แฮบมาจากbloggangนะเฮ้อ




 

Create Date : 07 กันยายน 2551    
Last Update : 7 กันยายน 2551 22:45:06 น.
Counter : 772 Pageviews.  

ใครไม่เคยนินทายกมือขึ้น

มีเรื่องให้ต้องกลับมาคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของตนเองอยู่สองเรื่อง
ซึ่ง เรื่องก็มีอยู่ว่า วันนี้เจ้านายเอ่ยปากชมถึงความขยันขันแข็งในภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เสร็จสิ้นตามเวลาที่ให้ไว้เสมอ และไม่เคยบ่นงำแม้ยามได้รับกิจที่ดูจะแสนยากจนไม่น่าจะทำเสร็จได้ทันเวลา (กลับไม่พูดเรื่องปรับโบนัสประจำปีสักคำ)แต่พอเมื่อผมได้มาร่วมกลุ่มกับ เพื่อนพนักงาน กลุ่มเพื่อนก็ชื่นชมในวาทศิลป์จอมขี้นินทาเจ้านายได้อย่างสนุกสนานเป็นฟุ้ง เป็นแคว นับตั้งแต่เรื่องบนโต๊ะทำงานจนยันไปถึงใต้โต๊ะทำงาน นี้ยังไม่รวมเรื่องโต๊ะที่บ้านเจ้านายอย่างออกรสออกชาติ เท่าที่สังเกตดูจะไม่มีใครเดือดเนื้อร้อนใจออกตัวแทนเจ้านาย ซ้ำยังช่วยเสริมต่อเติมเรื่องราวในบางมุมที่แม้พวกเราจะอยู่บริษัทเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะรู้มิติของส่วนต่างๆอย่างรอบด้าน พลังของการนินทาจึงช่วยเปิดโลกทัศน์อีกแบบที่จำต้องใช้วิจารณญาณเป็นตัวกรอง ข้อเท็จจริงอีกทีหนึ่ง

เคยมีผู้รู้แบบแยกเรื่องของการนินทาออกเป็น๒ประเภท คือ นินทาต่อหน้า กับ นินทาลับหลัง อย่างไอ้นินทาลับหลังยังพอเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ เพราะการนินทาถือเป็นกิจกรรมที่พูดเรื่องราวของโจทย์โดยที่ไม่ให้ฝ่ายโจทย์ รับรู้หรืออาจจะรับรู้ได้แต่ก็ด้วยวิธีที่อ้อมค้อมโดยมีบุคคลที่สามที่จำ ต้องมีสายสัมพันธ์หรือมีภูมิหลังการรับรู้เกี่ยวกับโจทย์อยู่พอสมควร (ไม่อย่างนั้นคงได้ฟื้นฝอยหาตะเข็บมาปูท้องเรื่องลูกยายมีหลายยายมาอยู่นาน โข) แต่การนินทาต่อหน้า คิดทบทวนเท่าไรก็ไม่น่าจะเรียกว่าการนินทาไปเสียได้ เพราะมันผิดหลักสูตรและกฎระเบียบของการนินทาโดยสิ้นเชิง ถ้าถือเป็นบุคคลที่มีความอาวุโสหน่อย ก็จะเรียกว่า ชี้แนะ ตักเตือน แต่ถ้ายังเยาว์นัก ก็ออกไปเชิงต่อว่า อบรม ซึ่งก็มิใช่สิ่งที่กองโจรขี้นินทาสมควรจะให้เป็น การนินทาจึงไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้มาชี้แจง แก้ไขในสิ่งที่ข้อมูลได้ถ่ายทอดไปแล้ว (เหมือนบางรายการตอนเช้าวันอาทิตย์) ดังนั้นการนินทาจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยหลักตรรกวิทยา(Logic)และญาณวิทยา (Epistemology) เป็นองค์ประกอบควบคู่กัน จากนั้นที่เหลือก็เชื่อมโยงแนวคิด ความเชื่อ และอคติ ผสมปนเปเพื่อให้เกิดรสชาติและอรรถรสในการรับฟัง ผมจึงมักถูกเพื่อนร่วมงาน ยิงคำถามว่า "จริงเหรอ?ฉันไม่เชื่อหรอก?แล้วไงต่อ.........." อยู่ตลอดเวลา

เรื่องของการนินทาว่ากันแล้วมีกล่าวไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก สมัยที่อุบาสกชื่ออาดูล ชักชวนเพื่อนไปฟังเทศน์ ก็เข้าไปหาพระเถระองค์หนึ่ง เพื่อนิมนต์ให้แสดงธรรม ท่านไม่พูดอะไร อาดูลไม่พอใจ จึงไปหาพระองค์อื่น ก็ไปเจอพระสารีบุตร ก็เล่าให้ท่านฟังว่าพระเถระองค์ก่อนไม่ยอมพูดอะไร พระสารีบุตรจึงแสดงธรรมโดยพิสดาร อาดูลก็ยังไม่พอใจบอกว่าพระสารีบุตรเทศน์ยาว พอไปพบพระอานนท์ นิมนต์พระอานนท์เทศน์ พระอานนท์ก็เทศน์สรุปย่อๆ ให้ฟัง อาดูลก็ยังไม่พอใจ เมื่อไปพบพระพุทธเจ้าก็เล่าให้พระองค์ท่านฟัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อาดูลคนที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก“ แม้จะหนีขึ้นยานอวกาศขององค์การนาซ่าก็ใช่ว่าจะหนีคำนินทาพ้น ยิ่งช่องระยะห่างระหว่างโจทย์กับผู้นินทาห่างระยะมากเท่าไร ความเกรงใจต่อฝ่ายโจทย์ในเรื่องนินทาก็น้อยตามระยะห่างที่ไกลขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้ามองในแง่ดีแล้ว เป็นการที่สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนที่สนใจในเรื่องราวของอีกคนหนึ่ง อีกด้านแสดงถึงอำนาจบางประการที่อีกฝ่ายไม่สามารถพูดกล่าวต่อหน้าได้อย่าง โดยตรงได้หรืออย่างน้อยก็ต้องตกอยู่ในสังกัดของความภักดีที่ไม่อาจหลีก เลี่ยงได้ บุคคลที่ได้รับความภักดีต้องเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ อย่าเข้าใจว่าอุดมการณ์เป็นอะไรที่สูงส่ง ผมใช้ในความหมายง่ายๆ ว่าแนวคิดที่กำกับพฤติกรรมทางสังคมเท่านั้น เช่น คนไทยแต่ก่อน "ภักดี" ต่ออุปัชฌาย์ตลอดชีวิต เพราะมีอุดมการณ์ไทยว่าอุปัชฌาย์คือบิดามารดาคนที่สอง เป็นครูที่สร้างความเป็นคนให้แก่เรา และเป็นบุคคลที่อยู่ในเพศอันสูงคือสมณะ ฉะนั้นจึงไม่ควรนินทาอุปัชฌาย์ดังๆ แต่ด่าในใจคนเดียวไม่เป็นไร ดังนั้นความภักดีจึงมีกรอบบางประการที่ครอบความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออก ที่อาจปะทะโดยตรงที่สังคมทำนองคลองธรรมรับไม่ได้





อีก ด้านหนึ่งการนินทาถือเป็นกติกาทางขนบประเพณีของสังคมที่คอยควบคุม ประชากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษเชิงกฎหมาย ความคาดหวังที่สังคมมีต่อความเป็นหญิงความเป็นชาย และถ้าใครไม่ทำตามที่สังคมคาดหวัง ก็จะพบกับสิทธานุมัติ (sanction) จากสังคมในเชิงลบ เช่น การติฉินนินทา หรือเยาะเย้ย ถากถาง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องปฏิบัติตามที่วัฒนธรรมของสังคมกำหนด และเนื่องจากความเป็นหญิงความเป็นชายในสังคมถูกกำหนดจากวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเชิงสังคมผ่านองค์ประชุมแลกถกความรู้ผ่าน การนินทาซึ่งอาจเหมือนที่เวทีปราศรัยใกล้ทำเนียบเพราะคนอีกฝ่ายเขาไม่อยาก ฟัง

ยิ่งกว่านั้นการนินทายังถือเป็นส่วนหนึ่งของอารยขัดขืน อย่างในงานของเจมส์ ซี สก็อต
(James C. Scott,1985,p.xvi) เรียกว่าเป็น "อาวุธของผู้อ่อนแอ" ที่คนชายขอบใช้ต่อสู้ในทางสัญลักษณ์โดยไม่ได้มีการวางแผน เป็นพื้นที่ของการต่อต้านขัดขืนของคนชายขอบ โดยใช้วัฒนธรรมเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้นานาชนิด เช่น การดื้อแพ่ง การนินทา การลักขโมย การก่อวินาศกรรม เรื่องของการนินทาจึงเป็นเรื่องที่อารยบุคคลประพฤติกันแต่เหมาะสมรึไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีกิเลสและสภาพสังคมระบบอุปถัมภ์ ความเชื่อเรื่องอาวุโส รูปแบบตามธรรมชาติทางสังคมจำต้องสร้างกลไกบางอย่างที่จะคอยคุมบุคคลมิให้ลุ แก่อำนาจจนเกินควบคุมได้ อย่างเรื่องของ "ระบบข่าวสารข้อมูล" ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องที่ทำให้เราสามารถรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น แต่ตัวระบบข่าวสารข้อมูลเป็นพลังหรือเป็นอำนาจอย่างหนึ่งของการควบคุมด้วย เช่น สมัยหนึ่งตลาด มัสยิด หรือวัดตามที่ชุมชนพุทธเรียก มันเป็นสนามสำหรับการนินทากันด้วย ซึ่งการนินทาก็ได้ผล คือทำให้เราสามารถควบคุมผู้ใหญ่บ้านได้จากการนินทาแบบปากต่อปาก

บางทีการมองมิติของการนินทาในเชิงลบและผิดมารยาทเพียงด้าน เดียว อาจทำให้เรามองข้ามถึงข้อดีของการนินทาที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างที่ควร จะเป็น ยิ่งมองแง่ปถุชนแล้วยังช่วยลดความขัดแย้งที่จะเผชิญหน้าต่อกันและคลายความ อัดอั้นในสิทธิของการแสดงออกที่ไม่อาจออกนอกหน้าเพราะว่าคนๆนั้น คือ เจ้านายของเราเอง




ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้: ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชน ศ.ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์
อำนาจเก่า ต่อท่อ พระพุทธศาสนาประจำชาติ โดย นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์
แนวคิดสตรีนิยมในสกุลความคิดต่างๆ วารุณี ภูริสินสิทธิ์
การจัดการป่าภายใต้แนวคิดอาณานิคมเรื่องของกะเหรี่ยงป่าผาก ภายใต้วาทกรรมอาณานิคม
กฤษฎา บุญชัย




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2551    
Last Update : 15 สิงหาคม 2551 0:21:15 น.
Counter : 660 Pageviews.  

ธรรมโฆษณ์ โคตรธรรมของพุทธทาส




หากจะให้ใคร่ครวญว่า สำหรับประเทศไทยเมืองที่มีข้อ
จำกัดทางภาษาในเวทีโลกแล้ว มีชุดหนังสือที่มีอยู่มากมาย
หลายเล่มแล้ว นอกจาก ชุด ล่องไพรของ น้อย อินทนนท์
และสามเกลอ ของพล นิกร กิมหงวนแล้ว ถ้าให้ผมนึกอีก
ตัวอย่างหนึ่งแล้ว ภาพที่ผมมองเห็นชัดเจนอีกหนึ่งรายการ
คือ"ธรรมโฆษณ์" ชุดหนังสือระดับอภิมหาธรรม ที่เคยมี
นักมหาเปรียญหลายรูปกล่าวว่า "หากอ่านชุดธรรมโฆษณ์
ครบทุกเล่ม แล้วยังมีทุกข์ ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศิษย์พุทธทาส"

ความทรงจำเกี่ยวกับชุดหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ กล่าวจะได้เข้าถึง
ก็แทบจะทิ้งช่วงจากครั้งที่ได้สัมผัสกับต้องครั้งแรก๕-๖ปี
ยังจำได้อย่างไร้สำนึกว่า ในสมัยที่เรียนมีสถาบันให้สังกัด
ชุดหนังสือธรรมโฆษณ์ที่จัดเรียงอย่างเป็นระเบียบบนชั้นของ
ห้องสมุด มีการจัดตู้ไม้สลักใหญ่ลงรักปีทองอย่างสมบูรณ์
สวยงาม กินพื้นที่กว่าหนึ่งในสามของพื้นที่โดยรวมที่ทางห้อง
สมุดทำห้องพิเศษให้แก่หมวดหมู่ศาสนาโดยเฉพาะ ถือเป็น
ชั้นหนังสือที่แลดูเรียบร้อยที่สุด เมื่อเทียบกับหมวดหมู่วิชาการ
อื่นๆ (จะต่างอย่างสุดฤทธิ์เมื่อไปเทียบกับหมวดวรรณกรรม
ปัจจุบันที่ถูกรื้ออย่างกระจัดกระจายแทบทุกวัน) ห้องหมวด
ศาสนาจึงเหมาะแก่การเป็นห้องวิปัสสนา หลับนอนและจ้ำจี้
ของหนุ่มสาว (เพราะไม่ค่อยมีใครนิยมเข้าไปหยิบอ่าน)
เคยเผลอไปเปิดตู้ชั้นหนังสือธรรมโฆษณ์ตอนปีหนึ่ง
มือนี้เต็มไปด้วยฝุ่นผงเปรอะทั้งสองข้าง และคงโชคร้ายที่หนังสือเล่มแรก
ที่ผมไปหยิบเปิด"ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์" ซึ่งถือเป็นงาน
ยากระดับนักอภิปรัชญาธรรมอ่าน เปิดอ่านคร่าวๆไปได้
สัก๓๐-๔๐หน้า จากนั้นก็เดินออกไปอ่าน"โทษฐานที่รู้จักกันของ
โน้ต อุดม" โดยตลอดทั้งภาคเรียน ผมเองแทบไม่ได้ไปแยแส
กับชุดหนังสือธรรมโฆษณ์อีกต่อไป

ลักษณะพิเศษของชุดหนังสือธรรมโฆษณ์ที่เด่นไม่เหมือนกับ
เหล่าชุดหนังสือเล่มอื่นๆ คงด้วยรูปเล่มที่ออกจะคล้ายหนังสือ
วิทยานิพนธ์โดยทั่วไป วัสดุประกอบปกแข็งดำขลิบ
ลงตัวอักษรสีทองเด่นตัดกับสีปกหนังสือ เย็บกี่อย่างเหนียวแน่นอย่างคงทน
ใหญ่โตพอๆกับวิทยานิพนธ์เล่มขื่อ ขนาด ๘ หน้ายก ความหนาประมาณ
๔–๕ ร้อยหน้า เพียงว่า พุทธทาสภิกขุ ไม่ต้องมีอัญญประกาศ ไม่ต้องใช้ราชทินนาม
และที่สันหนังสือใช้กระดาษหนังเทียมสีต่างๆ ผนึกไว้
(ปัจจุบันใช้พิมพ์สีลงบนสันหนังสือแทน) เพื่อแสดงหมวดของหนังสือ. จนเมื่อ
ผมเคยนำไปให้เพื่อนที่มีพุทธศาสนาเพียงแค่บัตรประชาชน
มันก็กล่าวอย่างเหน็บแนมว่า"ถ้าเรียงกันสองเล่มใช้แทนหมอนหนุนหัว
เรียงกันสามเล่มใช้แทนเสื้อเกราะกันกระสุนได้เลย"
(แต่ภายหลังหมอนี่กลายเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คน
ที่สามารถสะสมชุดหนังสือธรรมโฆษณ์ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองครบทุกเล่ม)
ถ้าจะถามว่าเนื้อหาของหนังสือแต่ละเล่ม อธิบายว่าด้วยเรื่องของประเด็นอะไรไว้บ้าง?
คงต้องตอบว่าค่อนข้างหลากหลาย
ตามแต่ละภูมิธรรมที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวปาฐกถาแสดงธรรม
ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างเทศะ แล้วแต่จะขึ้นต่อปัจจัยของผู้แสดงธรรม
และผู้แสวงธรรมจากท่านพุทธทาส ชื่อที่ตั้งชุดหนังสือว่า"ธรรมโฆษณ์"
ก็เนื่องด้วย ยุคสมัยของท่านนั้นการโฆษณาชวนเชื่อมีผลต่อการรับรู้
ของมวลชนโดยวงกว้าง การเผยแผ่ธรรมเฉยๆ อาจไม่สามารถกระตุ้น
ให้คนเกิดสนใจในธรรมะได้เท่ากับการต้องโฆษณาธรรมะ
กว่าจะได้พิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนก็เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็่นต้นมา

หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ แบ่งออกเป็นห้าหมวด

๑ หมวดที่หนึ่ง ชุด "จากพระโอษฐ์" สันปกสีน้ำตาล ๑–๑๐
เป็นเรื่องเก็บมาเฉพาะที่ตรัสเล่าไว้เอง.

๒ หมวดที่สอง ชุด "ปกรณ์พิเศษ" สันปกสีแดง ๑๑–๒๐
เป็นคำอธิบายข้อธรรมะที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติอย่างสมบูรณ์.

๓ หมวดที่สาม ชุด "ธรรมเทศนา" สันปกสีเขียว ๒๑–๓๐
เป็นเทศนาตามเทศกาลต่างๆ.

๔ หมวดที่สี่ ชุด "ชุมนุมธรรมบรรยาย" สันปกสีน้ำเงิน ๓๑–๔๐
เป็นการบรรยายในรูปปาฐกถาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียด.

๕ หมวดที่ห้า ชุด "ปกิณกะ" สันปกสีม่วง ๔๑–๕๐
เป็นการอธิบายข้อธรรมะเบ็ดเตล็ดต่างๆ ประกอบความเข้าใจ.

ในแต่ละหมวด แต่ละหมายเลข อาจมีได้หลายเล่ม ซึ่งได้ใช้วิธีใส่อักษร ก ข ค… ต่อกันไปเรื่อยๆ.

โดยแท้จริงแล้วมีอยู่หลายสำนักพิมพ์ที่ปรารถนาจะนำผลงานของท่านพุทธทาส
ไปพิมพ์เผยแพร่ แต่มีบ่อยครั้งที่การย่อความทำให้กระบวนธรรม
ที่นำเสนอมีการคาดเคลื่อน ผิดเพลี้ยและทำให้เข้าใจผิดในข้อธรรมนั้นๆ
ทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ท่านจึงให้จัดประชุมคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่องานนี้
โดยท่านพุทธทาสเอง เป็นประธานร่วมกับธรรมทานมูลนิธิ สวนอุศมมูลนิธิ มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ วางโครงการจัดพิมพ์คำบรรยายทั้งหมด รวมเข้าชุดกันไว้ให้เป็นหมวดหมู่
โดยเฉพาะงานหมวดแรก ชุด "จากพระโอษฐ์" อาจถือเป็นงานที่นอกกรอบ
ทัศนะความคิด เพราะเป็นงานแปลฝีมือท่านพุทธทาส(ยุคพิมพ์หนังสือตอนต้นๆ)
เพราะนำเฉพาะการเทศนาธรรมจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีมาอธิบายแบบคำต่อคำ
เพื่อให้กระจ่างในหลักของธรรมข้อนั้นๆอย่างลงลึก อาทิ พุทธประวัติจากพระโอษฐ
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์
เป็นต้น ควรนอนให้อิ่ม กินให้น้อย และพักสายตาพอสมควร เพราะกว่า
จะถอดความและทำความเข้าใจได้ถ่องแท้ ถือเป็นงานแน่นๆที่ต้องทำใจ
ให้มั่นคงก่อนอ่านอยู่ไม่น้อย เหมาะเป็นหนังสือสำหรับคนนอนยากที่ควร
ตั้งไว้ข้างหัวเตียง (บางทีแค่ตกมาฟาดหัวอาจถึงสลบไสลได้) ส่วนชุดหมวดที่
เหลือ ถือว่าเหมาะกับผู้เริ่มต้นในการศึกษาธรรมและเข้าใจความคิดเชิงธรรม
ของท่านพุทธทาส อ่านแล้วบางทีอย่าตกใจนึกเอาว่าท่านพุทธทาสกำลังด่าว่า
ว่าเราอยู่ข้างๆหู แท้จริงท่านอ่านอวิชชาที่มีอยู่ในตัวเราเท่านั้น
บางเรื่องอ่านเพื่อเชื่อมให้เราเข้าถึงนิพพานอย่างง่ายๆ ไม่ต้องมานั่ง
บำเพ็ญเพียรอย่างเอาเป็นเอาตัว แม้ชื่อหนังสือหลายเล่มตั้งชื่อให้
แปลกพิสดารไม่คุ้นเสนาะหู แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างไม่น่า
เชื่อสำหรับคนยุคปัจจุบัน อาทิ ตุลาการิกธรรม อตัมมยตาปริทัสน์
เตกิจฉกธรรม สันทัสเสตัพพธรรม เป็นต้น

เห็นตัวหนังสือเล่มปราณีต วิจิตรบรรจง อลังการอย่างนี้ อย่าคิดว่าราคา
จะแพงสุดโหดตามรูปลักษณะที่เห็น ตอนที่ผมสั่งซื้อทาง
ไปรษณีย์กับทางธรรมทานมูลนิธิ จ.สุราษฎร์ธานี ราคาตกเล่มละ
๒๕๐ บาท เท่านั้น (ยกเว้นเล่มพิเศษบางเล่มเท่านั้น) ซึ่งสมควรมีเก็บไว้
เป็นมรดกแก่ลูกหลาน (เพราะเศรษฐกิจยุคนี้ไม่อาจจะมีอะไรไว้ให้กับ
ลูกหลานอีกแล้ว) จะเก็บไว้สิบอีกยี่สิบปีครั้งหน้าก็ไม่มีคำว่าล้าสมัย
ตราบใดที่มนุษย์ยังคง"รักสุข เกลียดทุกข์" ธรรมโฆษณ์จะยังคงโฆษณา
เพื่อให้คนเข้ามาหาธรรม ดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจ อย่างธรรมใดผู้นั้นก็ได้ประ
โยชน์ดังนั้นถ้าเห็นว่าชุดนี้สำนวนของผมออกไปเชิงทางธรรมก็ขอให้เข้าใจว่า
อ่านธรรมโฆษณ์โคตรได้ใจธรรมอย่างที่ต้องออกนอกหน้าให้ใครๆได้ยิน

บางเรื่องและบางภาพจาก
//www.buddhadasa.org/html/life-work/dhammakot.html
//www.100bdd.org/index1.php




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2551    
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 9:57:00 น.
Counter : 1176 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.