A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
โลกที่ดีมีอยู่ที่ "ยูโทเปีย"

"ยูโทเปีย"

ศัพท์บัญญัติที่มีคุณลักษณะพิเศษกว่าศัพท์บัญญัติอื่นมากมาย

เป็นคำที่แม้ว่าผู้คนจะไม่เคยอ่านหนังสือเล่มที่ว่ามานี้

ก็ยังสามารถที่จะเข้าใจแก่นของความหมายในทั้งหมดทั้งปวงของหนังสือเล่มนั้น

ส่วนจะให้อธิบายรายละเอียดปลีกย่อยของเนื้อเรื่องแล้ว

ผู้ที่อมภูมิย่อมฉลาดพอที่จะหลีกเลี่ยงในส่วนของรายละเอียด หากเผยไต๋แล้วอธิบายผิด

หลัก ดันไปตรงกับความเป็นจริงที่เรากำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ อันนี้ มันก็ไม่ใช่ยูโทเปียนะสิ!

เสน่ห์อันอนันตกาล นับแต่ถูกพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชน ในปี ค.ศ.1557

ว่าด้วยเรื่อง่ความใฝ่ฝันที่ไม่เป็นจริงในการปกครอง แต่ปรารถนาให้เป็นจริงดังว่า

"ความฝัน" นี้ก็แปลก เป็นมาตราฐานที่เราสามารถวัดนิยามได้ไม่ยากนัก..........

ตราบใดที่มันไม่เป็นความจริงเสียที ................มันยังสมบูรณ์พอที่จะถูกเรียกว่า "ความฝัน"



เคยมีนักปราชญ์แบ่งแยกความฝันออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่มีเส้นบางๆ ในความ "ตื่น" เป็นตัวแบ่งแยก หากว่าคุณได้ตื่น

คุณก็จะมีความฝันอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากคุณหลับ คุณก็จะมีความฝันอีกแบบหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะมีฝันในแบบใด สิ่งสุดท้าย...................ถ้าคุณไม่ริอาจไปทำความฝันให้กลายเป็นความจริง

คุณก็ยังจะเป็นนักฝันชั้นเยี่ยมยอดในสถานะนั้นอีกต่อไปอีกนาน...........

ครั้งแรกที่ผมได้อ่านหนังสือที่ชื่อ "ยูโทเปีย" (Utopia)



จำได้ติดตาว่า เป็นมุมหนึ่งที่ไม่สงบนัก (ทั้งที่ควรจะสงบ) ในห้องสมุดประจำสถาบัน

แต่จำไม่ได้ว่าอารมณ์ไหน ที่ทำให้ผมดันสะเอออับเกรด ยกระดับการอ่านงานวรรณกรรมคลาสสิคเล่มนี้

ถ้าจำไม่ผิด น่าจะมีใครหยิบขึ้นมาอ่านงานวรรณกรรมดีๆ แต่เสียอย่างเดียว ที่ไม่รู้จักเก็บให้เข้าที่

ได้ที!เห็นหนังสือเล่มขนาดพ็อกเก๊ตบุ๊คในสภาพสมบุกสมปั่น กร้านโลกมานาน

เป็นฝีมือการแปลของ "สมบัติ จันทวงศ์" ตำแหน่งตอนนั้น ไม่แน่ใจดำรง ผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือรองศาสตรจารย์

แห่งสถาบันธรรมศาสตร์กันแน่ แต่จำได้แม่นว่า ถูกพิมพ์ในปี พ.ศ. 2518 (เพราะมันอายุมากกว่าอายุของผม)

ทำท่าว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านสนุก แต่ต้องมาสะดุด เพราะมีจำนวนหน้าที่ขาดวิ่นด้วยกันหลายหน้า

สุดท้าย...........ก็เลยฝันค้าง กลายเป็นฝันในอุดมคติที่หล่นๆหายๆ

ผมจึงไม่อาจบรรลุความฝันฉบับยูโทเปีย ในแบบที่ชาวโลกโดยส่วนใหญ่ เขาได้รับรู้ อิ่มเต็มฝันในรสอันวิจิตรสมาร่า

ของผู้ร่างต้นฉบับ "เซอร์ โธมัน มอร์" (Sir Thomas Moore)







จนวันนี้ ผมก็สามารถสานฝันที่คั่งค้างอยู่นานหลายปีให้เป็นจริงจนได้

ความจริงที่โลกอันอุดมคติของปู่มอร์ก็ยังไม่เป็นจริงเสียที เมื่อสำนักพิมพ์น้องใหม่ในสยามประเทศ

ได้ Reprinted งานวรรณกรรมคลาสสิก "ยูโทเปีย" ที่แปลโดย "รศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์" เป็นลำดับปฐมฤกษ์

ของ "สำนักพิมพ์สมมติ" สำนักพิมพ์ที่มุ่งเน้นนำเอางานวรรณกรรมโลกสมมติระดับมนุษยชาติควรอ่าน

(ซึ่งเท่าที่สังเกตอีกเล่ม คือ 1894 ของ จอร์จ ออร์เวล ก็เป็นงานเก่าที่เคยมีคนไทยมาแปลให้อ่านกันนานโคตรแล้ว)

เพื่อรองรับฐานนักอ่าน ที่เพิ่งจะหันอ่าน เคยอ่านฉบับอังกฤษแล้วอาจยังมึนๆ หรือเอามาประดับตู้หนังสือทีบ้านพอทำเท่ห์

และสุดจะเหตุผลร้อยแปดประการใดใด



การที่สนพ.สมมตินำมากลับพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ก็ถือเป็นครั้งที่สี่ นับเวลาห่างจากพิมพ์ครั้งที่สาม จากสนพ.ไทยวัฒนาพาณิชย์

รวมเวลาแล้ว ก็ 25 ปี พอดิบพอดี (ดีพอที่จะทำให้ผมรู้สึกว่าเราแก่ไปขึ้นเยอะเลย)

ราคาหนังสือตอนนั้น สำหรับเล่มที่ผมอ่านในห้องสมุด ราคาตอนนั้นยังเพียงแค่ไม่กี่สิบบาท

มาบัดนี้ ยูโทเปียโฉมใหม่อับราคาไปเป็น เล่มละ200 บาทไปเสียแล้ว สู่ความฝันที่มีราคาค่างวดที่เฟ้อตามต้นทุนของวัตถุดิบ

เริ่มต้นของผมกล่าวถึง "ข้อเสีย" ของฉบับเล่มที่พิมพ์ล่าสุด คือ การที่ย้ายในหัวข้อเรื่อง "โธมัส มอร์กับยูโธเปีย"

ไปอยู่เกือบท้ายเล่ม ทั้งๆที่ หัวข้อบทความนี้ แต่เดิมในฉบับครั้งที่พิมพ์หนึ่งจนถึงสาม ถูกนำไปวางไว้เป็น "คำนำ"

การจะอ่านยูโทเปียให้ได้อรรถรสและรสกระจ่างของเรื่อง การได้รับรู้ประวัติโดยคร่าวของวีรกรรมของป๋ามอร์

ถึงเป็นจุดเป็นสำคัญอย่างยิ่ง ไม่งั้นอาจจะเกิดอาการ "หาว" อย่างที่ผมได้จับหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่านไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

"หาว" เสียจนต้องอ่านเเบบพลิกข้ามๆ เพื่อไปหาจุดสนใจในส่วนอื่น โดยที่ข้ามเนื้อหาหลักของเรื่องไป

ข้ามมาข้ามไป ก็เลยไปเจอบทความหัวเรื่อง "โธมัส มอร์กับยูโธเปีย" ว่าด้วยเรื่องประวัติป๋ามอร์เข้า...............เท่านั้นเเหละ!




จำต้องกลับพลิกไปอ่านที่หน้าหนึ่งใหม่แบบจิตตรัสรู้เข้า ส่วนหนึ่งว่าด้วยเรื่องของการ "ศรัทธาผู้เขียน (ป๋ามอร์) เข้า







ยิ่งผมเพิ่งจะได้ชมหนัง เรื่อง The Other Boleyn girl ที่มีนักแสดงชั้นเทพฮอลลิวูดอย่าง Natalie Portman, Scarlett Johansson

และEric Bana และเคยได้รับชม หนังอย่าง Elizabeth ที่มีนักแสดงมากความสามารถอย่าง Cate Blanchett และ

Geoffrey Rush เล่นด้วยแล้ว ผมนึกไม่ถึงมาก่อนว่า ป๋ามอร์ของผมจะเป็นกุญแจสำคัญในบุคคลร่วมสมัยในยุคนั้นด้วย

ป๋ามอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นสภาองคมนตรี แม้ป๋ามอร์เองจะไม่ค่อยชื่นชอบนัก

แต่ทำไงได้ ในเมื่อป๋าแกดันเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเฮนรี่ที่8และพระนางแคธอลีนเข้า แต่ต้องมาความหวาน

ก็ส่างฤทธิ์กลายเป็นความขมเข้า เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่8ต้องการเสียงสนับสนุน เพื่อที่จะหย่าร้างกับพระนางแคธอลีนเข้า

ด้วยพระนางหมกมุ่นในศาสนามากยิ่งขึ้นและไม่อาจให้กำเนิดพระโอรสได้ แล้วไปสมรสใหม่กับพระนางแอนน์ โบลีนน์

แต่ขัดกับข้ออ้างทางพระวินัยของคริสตจักร จนกระทั่งเกิดร่างกฎหมายฉบับที่มอบอำนาจสืบสันตติวงศ์

ที่เท่ากับปฏิเสธว่าสันตะปาปามิใช่ประมุขของคริสตจักรไปในตัว ผู้ที่ปฏิเสธกฎหมายฉบับนี้เท่ากับเป็นปฏิปักษ์ของราชบัลลังค์

มีโทษถึง "ตัวศีรษะ" จนได้เกิดวาทะเด็ดของมอร์ที่กล่าวตอกหน้าพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ที่ว่า



".........................ข้าพเจ้ารำลึกอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงกล่าวกับข้าพเจ้าว่า.....ให้รับใช้พระผู้เป็นเจ้าก่อน และต่อจาก

พระผู้เป็นเจ้าแล้วจึงรับใช้พระองค์"



นอกจากนี้ เช็คสเปียร์ ยังนำประวัติของป๋ามอร์ มาเสียดสีล้อเลียนในงานละครที่ชื่อว่า Thomas Moore (อะไรจะน่าโด่งดังเช่นนั้น)



หนังสือในฉบับที่พิมพ์จำหน่าย โดยสนพ.สมมติ นี้ ถือเป็น ยูโทเปีย ในฉบับที่มีของแถมในรายละเอียดเนื้อหาเยอะพอสมควร

ทั้ง ลำดับช่วงชีวิตของโธมัส มอร์ , แนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับ ปู่มอร์ , แนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับแนวคิดยูโทเปีย

จดหมายที่มอร์เขียนถึงปีเตอร์ ไจลล์ (ผู้ที่แนะนำมอร์ให้รู้จักอีเรสมัน เพื่อนLoveของปู่มอร์เขาและเป็นบก.ให้หนังสืออีสปดังทั่วโลก)

จดหมายที่มอร์เขียนถึงบูสลีเด็น อีกทั้งวิพากษ์แนวคิดหนังสือที่ว่าด้วยยูโทเปียในระดับคับคั่งให้จบลงเล่มละสองถึงสามบรรทัด

บางคนก็ตีความให้ยูโทเปียเป็นพ่อแนวคิดคอมมิวนิสต์เลยก็มี

ยูโทเปียในหนังสือที่ผมถืออยู่เล่มนี้ ความจริงแล้วประกอบด้วยกันจาก ยูโทเปียที่มีด้วยกันถึง 2 เล่ม ในเวลาที่แตกต่างกัน

ขอว่าด้วยเนื้อหาโดยรวม (เพราะยังคงใช้เน๊ตคาเฟ่ ด้วยเครื่องเจ้าเก่าบอกซ่อมแค่อาทิตย์เดียว งั้ย!ผ่านสองเดือนยังคงแน่นิ่ง

ยังกับโดนยกเค้า) ว่าด้วยเรื่องของเกาะลึกลับเกาะหนึ่ง ที่พี่มอร์โม้ให้เพื่อนฟัง

เมืองที่บอกเพียงแค่ว่า เงินมันไร้ค่า! ฟังแค่นี้ก็อุดมคติขนาดไหนแล้ว แต่ยิ่งค่อยๆอ่านไป จึงจะค่อยๆมาระแคะระคาย

ได้ว่า "เฮ้ย! นี้มันประชดประชัด เสียดสี จิกกัด สะบัดก้นหนี สภาพสังคมปัจจุบันที่ปู่มอร์ท่านถูกกระทำมานี้หว่า!"

ตอนแรกก็นึกไปเองว่าเราต้องบ้าแน่ที่คิดเช่นนั้น แต่พอมาอ่านบทความที่ รองศาสตรจารย์สมบัติมาตีความ

จึงต้องมาเปลี่ยนความคิดอ่านที่ว่าตนเองบ้า! เพราะอย่างน้อยก็บ้าตามคนที่เป็นรองศาสตราจารย์ละฟะ.....

แกนั่งเทียนให้ เมืองอามอรอท (Amaurote) เป็นเมืองศูนย์กลางแห่งยูโทเปีย มีผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของยูโทเปีย

ที่ชื่อ นายราฟาเอล ไฮโธลเดย์ จากนั้นเหรอครับ ...........ก็บรรเจิดเรื่องราวสิครับ

อย่าง เมืองบ้าอะไรไม่ต้องซื้อกุญแจผีมาล็อคกันผีขโมย มีผู้ดูแลปกครองหนึ่งคนที่คัดเลือกขึ้นกันเอง เรียกว่า "ไซโฟแกรนท์"

อยู่ภายใต้การดูแลของ "ทาร์นิบอร์" (ผิดกับบ้านเรา ถูกเรียกว่า"มุ้ง" ที่สิบสส.อาจได้หนึ่งโค้วต้าเก้าอี้รัฐมนตรี

ภายใต้ผู้ปกครองที่ได้รับเกียรติแทนชื่อกลุ่มเพื่อนหรือวัง) มีระดับการปกครองที่อิงอาศัยหลักอาวุโส (ซึ่งดูผิดกับเมืองฝรั่ง

ที่ธรรมเนียมไม่ค่อยยึดอาวุโสเท่าไรนัก) ทำงานเพียงสามชั่วโมง (โอ้!พระเจ้า เมืองอะไรช่างดีเช่นนี้ ไม่ต้องยื้อโอทีเกือบทุกวัน)

การกินและทรัพย์เสบียงอุดมสมบูรณ์ (ไม่ต้องพึ่งเทสโก้ โลตัสบิ๊กซี) มีสงครามก็ไปจ้างนักรบอาชีพนอกเมือง

(ไม่ต้องโฆษณาหาเด็กหนุ่มไปรบตะวันออกกลาง แล้วโอดว่า ส่งพวกตู!มาทำไม?) ไม่ต้องจัดโซนนิ่ง เพราะเมืองนี้

ไม่ดื่มเหล้าทานเบียร์ วิชาที่ชอบมากที่สุดในเมืองนี้ คือ ฟิสิกส์ และแข่งขันแก้โจทย์คณิตศาสตร์ (เอ๊!ชักไม่น่าอยู่ซะแล้วแหะ)

โทษหนักสุดที่นี้ คือ การขับให้เป็นทาส และสิ่งที่ดูน่าจะถูกไปปฏิบัติได้จริงของเมืองนี้ คือ หลักการุณยฆาต (Euthanasia)


ว่าด้วยให้คนป่วยได้ตายอย่างที่ใจต้องการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่แลฟังดูเพ้อเจ้ออีกมากที่ดูจะเป็นจริงได้ยาก

อย่างการดูตัวเนื้อคู่ด้วยการเปลื่อยเปล่ากันทั้งสองฝ่าย การมีทองเป็นสิ่งไร้ค่าของเมืองนี้ การมีพระเจ้าสากล

พระทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ เสื้อตัวนึงใส่ทีเจ็ดปีจึงจะเปลี่ยนทีอย่างเนี๊ย แต่อย่างว่า เป็นเรื่องขายฝันตั้งแต่แรก

อันนี้ได้รับการทำใจนับแต่การอ่านตั้งแต่หน้าแรกแล้ว

ดังนั้นเพ้อมาเถอะ ผมพร้อมจะรับฟังโดยตลอดทั้งเล่มอยู่แล้ว...............ก็ลงทุนซื้อมาแล้วนิเพ่!





ถึงแม้จะโมทนากันเรื่องความใฝ่ฝันในเมืองอุดมคติเพียงใดก็ตาม

แต่เนื้อเรื่องที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของฐานข้อมูลร่วมสมัย หาได้คิดฝันเพ้อเจ้อไปเรื่อยเปื่อย

ว่ากันว่า เป็นการรวมศ่าสตร์วิชามายำให้หอมกรุ่นในชื่อ อาหารทางปัญญาชนิดใหม่

จึงมีกลิ่นเครื่องปรุงวิชาจากงานของเพลโต อย่าง Republic งานของอริสโตเติล อย่าง Politics ปะปนเปมาด้วย

ไหนจะซ่อนรหัสนัยในนามสมมติทั้งในส่วนของตัวละครและชื่อเมือง อย่างเมือง เมืองอามอรอท แปลว่าเมืองแห่งความมืดมัว




ไฮโธลเดย์ แปลว่าผู้ที่พูดแต่เรื่องไร้สาระ ประเทศข้างเคียงอย่างชาวโพลีเลอไรท์ส ก็แปลว่าคนเหลวไหล

จึงกลายเป็นงานที่ซ่อนเร้นเรื่องราวให้ได้ตีความกันอย่างสนุก (ถ้ารู้มากพอ) บางท่านนักวิชาการ

ประเมินคุณค่าว่า มากพอกว่าที่จะโจมตีสถาบันกษัตริย์ที่ดูคล้ายจะเป็นศัตรูต่อปู่มอร์

เพราะแม้แต่สถาบันสงฆ์ที่ปู่มอร์สังกัดอย่างศรัทธา ก็ยังมีต่อว่าผ่านเรื่องราวที่อ่านแล้วถ้าไม่สังเกตให้ดี

ก็จะไม่ทราบเอาได้เลย..................................................................................



260 หน้า กับไซด์ที่มือเดียวก็ถืออ่านได้ กับเวลาการอ่านหนึ่งอาทิตย์ และงีบมีเป็นระยะๆ...............

"ยูโทเปีย" จึงเป็นงานระดับคลาสสิกที่ขึ้นหิ้งไปแล้วก็ตาม สมควรจะเอาลงมาจากหิ้งให้ได้ทบทวนกันอีกครั้ง

ตราบใดที่ "ความฝัน" แม้จะแลดู "เพ้อเจ้อ" แต่ยังคงเป็นยาบรรเทาความเจ็บปวดจากโลกของความเป็นจริง

ยูโทเปียของลูกจ้าง ที่ยังหวังว่าจะถูกว่าจ้างไปตลอดชีวิต ยูโทเปียของนายจ้างที่ยังคาดหวังว่าจะประคอง

ให้ธุรกิจไปรอดปลอดภัย ยูโทเปียของนักการเมืองที่จะเป็นให้อาชีพนี้ให้ครบสมัยวาระ ยูโทเปียของการเมืองใหม่

และยูโทเปียอื่นๆ อีกมากมาย

เสียเพียงอย่างเดียว.................................

จะให้เป็นยูโทเปียที่แท้ได้ ต้องมีก้อนเมฆแห่งความฝันกับจินตนาการอย่างสุดกู่รองรับไว้อย่างมั่นคง














Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2552 9:24:12 น. 3 comments
Counter : 1259 Pageviews.

 
โอ้..มาซะยาวเลยวันนี้

ถ้าซื้อเล่มนี้มาอ่าน จะเปิดไปอ่านบทโทมัสมอร์ก่อนเลยแล้วกันนะ ดีที่จขบ.บอกไว้ ไม่งั้นก็คงอ่านไล่ไปเรื่อยๆ เหมือนกัน


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:11:24:36 น.  

 
แวะมาทักทายวันหยุดค่ะ ยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ อ่านรีวิวแล้วก็น่าสนใจอยู่นะคะ


โดย: payun-sai วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:29:41 น.  

 
น่าสนใจมากค่ะ
ขอบคุณที่แนะนำค่ะ ถ้าได้ซื้อมาอ่านจะเปิดไปอ่านบทโทมัสมอร์ก่อน ไม่อย่างนั้นเกรงว่าเล่มนี้จะไม่รอดจากกองดอง


โดย: จินตานุภาพ วันที่: 1 มีนาคม 2552 เวลา:11:55:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.