Group Blog
 
All blogs
 

นกอีแจว

นกอีแจว Hydrophasianus chirurgus (Pheasant-tailed Jacana) ได้ชื่อว่าเป็นราชินีนกน้ำเพราะรูปร่างหน้าตาที่สวยงามโดยเฉพาะในชุดขนฤดูผสมพันธุ์

นกชนิดนี้ได้ชื่อไทยว่าอีแจวเพราะเมื่อนกตัวเมียวางไข่แล้วก็จะแจวจากไปหาคู่ใหม่ และปล่อยให้นกตัวผู้กกไข่และเลี้ยงลูกไปตามลำพัง หรือจะได้ชื่อนี้มาจากเสียงร้องแจ๊วๆ แจวๆก็ไม่แน่ใจ เพราะฟังแล้วน่าเชื่อถือทั้งคู่ (แม้ว่าฝรั่งจะได้ยินนกชนิดนี้ร้องเหมือนแมวร้องแบบโกรธๆก็ตาม)


ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ31เซ็นติเมตร นกตัวเมียตัวโตกว่านกตัวผู้เล็กน้อย แต่ไม่มีความแตกต่างในชุดขนทำให้จำแนกได้ยากเมื่อเห็นทีละตัวในธรรมชาติ


ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์นกจะมีลักษณะคล้ายนกพริกตัวไม่เต็มวัยเพราะจะมีลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีขาว เมื่อรวมกับรูปทรงที่คล้ายคลึงกันอาจทำให้จำแนกผิดได้ ดังนั้นจึงต้องสังเกตที่แถบตาสีดำที่ลากผ่านคอด้านข้างต่อเนื่องลงมาถึงแถบอก และแถบข้างคอจนถึงท้ายทอยสีเหลืองของนกอีแจวไว้ให้ดี

ดูนกในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ คลิกที่นี่



ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ นกชนิดนี้จะมีขนคลุมร่างกายส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาล ดำ ทำให้หน้า หน้าผาก คอและแถบปีกสีขาวดูโดดเด่นออกมา แต่เวลาก้มหัวก็จะเห็นแต้มสีน้ำตาลเข้มที่กระหม่อม มีเส้นสีดำหรือน้ำตาลเข้มพาดผ่านแต้มที่กระหม่อมนี้ลากยาวผ่านข้างคอทั้งสองข้างลงไปยังหน้าอกด้านข้างเหมือนเป็นเส้นขอบให้แถบขนสีเหลืองทองสดใสซึ่งกินบริเวณยาวลงไปถึงท้ายทอย หางสีดำที่ยื่นยาวออกมามากจากหางปรกติยาวได้ตั้งแต่ 8-27 เซ็นติเมตร ทำให้นกชนิดนี้แตกต่างจากนกน้ำอื่นอย่างเห็นได้ชัด







ในแต่ละปีนกจะมีช่วงผลัดขนหนึ่งครั้ง และในช่วงนี้นกอีแจวจะไม่สามารถบินได้ การหลบหนีศัตรูต้องใช้การว่ายน้ำ ดำน้ำและหลบซ่อนตัวเท่านั้น

นกอีแจวทำรังวางไข่บนพืชลอยน้ำในบึงซึ่งเป็นแหล่งอาศัยในช่วงฤดูฝน การแสดงบทบาทในเรื่องนี้ของนกในวงศ์นกพริก(Jacanidae)ถือว่ากลับกันกับสัตว์ชนิดอื่นๆ กล่าวคือนกตัวผู้ทำรัง ดูแลรัง กกไข่และเลี้ยงลูก ขณะที่นกตัวเมียซึ่งตัวโตกว่า ก้าวร้าวกว่าเป็นผู้ปกป้องรัง ปกป้องคู่หรือปกป้องอาณาเขต

นกตัวเมียจับคู่กับตัวผู้หลายตัวในหนึ่งฤดูกาล ซึ่งหมายความว่าจะต้องดูแลอาณาเขตมากกว่าหนึ่งอาณาเขตด้วย







เมื่อนกอีแจวตัวเมียวางไข่ซึ่งมีประมาณครอกละ4ฟองแล้วก็จะไปจับคู่กับนกตัวผู้ตัวใหม่เพื่อวางไข่ครอกต่อไป ขณะที่นกตัวผู้เจ้าของผลงานก้มหน้าก้มตากกไข่เป็นเวลายี่สิบสองถึงยี่สิบแปดวันโดยนกตัวเมียจะคอยช่วยปกป้องดูแล เมื่อลูกนกฟักเป็นตัวแล้วก็จะเลี้ยงลูกเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว อย่างไรก็ตาม การที่นกตัวเมียจับคู่กับนกตัวผู้ทีละหลายตัวก็ทำให้นกตัวผู้ที่ฟักไข่และดูแลลูกอาจจะกำลังดูแลลูกที่ไม่ใช่ผลผลิตของตัวเองก็เป็นได้







เข้าใจว่าการที่นกต้องมีพฤติกรรมเช่นนี้เพราะว่าไข่ที่ถูกวางไปแต่ละรุ่นนั้นมีอัตราการรอดชีวิตจนโตเพียงไม่ถึงครึ่งเนื่องจากสภาพแวดล้อมเช่นภาวะน้ำท่วมและสัตว์ศัตรูเช่นงูน้ำ นกใหญ่ ที่จะมาทำลายไข่ ทำให้แม่นกต้องลดเวลาที่ต้องใช้ในการกกไข่ลงไปเพื่อผลิตไข่เพิ่มเติมแทน







ลูกนกอีแจวแรกเกิดมีขนอ่อนนุ่มแบบลูกเจี๊ยบ มีสีสันที่เหมาะกับการพรางตัว มีเท้าใหญ่โตเหมือนพ่อแม่ เกิดมาก็เดินและว่ายน้ำดำน้ำได้เลย พ่อนกจะสอนให้ลูกเดินหาอาหารและหลบศัตรู มีผู้พบว่าลูกนกอีแจวสามารถดำน้ำหลบศัตรูได้โดยโผล่มาแต่ปลายปากนิดๆที่มีรูสำหรับหายใจ







พ่อนกอีแจวเป็นพ่อที่ทุ่มเทให้กับการเลี้ยงลูกมาก บางครั้งก็แกล้งทำปีกหักหรือแกล้งกกไข่ในที่ที่ไม่มีไข่เพื่อให้ศัตรูมาสนใจตัวเองแทนลูกๆ นอกจากนี้ยังมีเสียงร้องระวังภัยสำหรับเรียกลูกๆกลับมาซุกใต้ปีกหรือให้ไปหลบตามกอพืชน้ำ หรือดำน้ำหลบ และเมื่อปลอดภัยก็ส่งเสียงบอกลูกๆให้โผล่ขึ้นมาได้ด้วย







อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงเล็กๆหรือเมล็ดพืชที่จับและจิกกินได้ตามผิวน้ำและตามกอพืชน้ำในบึง ด้วยนิ้วเท้ายาวเก้งก้างตามแบบฉบับของนกน้ำทำให้นกอีแจวเดินบนพืชลอยน้ำได้อย่างสบาย หากจะหล่นก็กระพือปีกช่วยได้ นอกจากนี้นกอีแจวว่ายน้ำได้คล่อง และบินได้ดีพอสมควร







นกชนิดนี้มีการกระจายถิ่นในปากีสถาน เนปาล อินเดีย ศรีลังกา จนถึงพม่า ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ไต้หวัน ลงใต้ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คามสมุทรมลายู บอร์เนียวใต้และฟิลิปปินส์ จำนวนเล็กน้อยเดินทางลงใต้ไปยังเกาะสุมาตราและชวาหรือไปทางตะวันตกสู่โอมานและเยเมนในช่วงฤดูหนาว สำหรับที่ไต้หวันนกชนิดนี้กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นกอีแจวส่วนใหญ่เป็นนกที่อยู่ประจำถิ่นแต่ก็มีบางส่วนจากจีนตอนใต้และเทือกเขาหิมาลัยอพยพลงมายังคาบสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

สำหรับประเทศไทยนกอีแจวมีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ โดยสามารถพบได้บ่อยในบางพื้นที่เช่นบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ หรือตามบึงบัว บ่อปลาสลิด ทุ่งนาที่มีน้ำท่วม เป็นต้น


ข้อมูลจาก :

//www.birdingintaiwan.org
//ibc.lynxeds.com
//www.answers.com




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2552 19:23:46 น.
Counter : 11002 Pageviews.  

นกอัญชันคิ้วขาว

นกอัญชันคิ้วขาว Porzana cinerea (White-browed Crake) เป็นนกอัญชันขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 19-21.5 เซ็นติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่แถบสีขาวคล้ายคิ้วและแถบสีขาวที่มุมปากถึงข้างแก้มตัดกับหน้าสีเทาและแถบตาสีดำ ปากสีเหลือง บริเวณโคนปากสีแดง หัวและอกสีเทา คอและท้องสีเทาปนขาว ท้องด้านล่างไปจนถึงก้นสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเหลือง มีลายเกล็ดสีน้ำตาลดำขาและเท้าเหลืองแกมเขียว นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่เมล็ดของพืชน้ำ แมลง ไข่แมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆที่หาพบได้ตามกอพืชรกๆหรือชายน้ำในแหล่งน้ำที่อาศัย โดยนกจะเดินจิกกินไปเรื่อยๆพร้อมกับกระดกหางขึ้นๆลงๆ







นกชนิดนี้หากินตามหนอง บึง ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆที่มีพืชลอยน้ำปกคลุมหนาแน่นในพื้นที่ราบ

นกอัญชันคิ้วขาวมีการกระจายพันธุ์ในประเทศ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไนไทย ลาว เขมร เวียตนาม ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิคอื่นๆเช่น ฟิจิ หมู่เกาะโซโลมอน เป็นต้นโดยบางประเทศก็พบมาก บางประเทศก็มีรายงานการพบน้อยมาก






สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นพบได้ทุกภาค แต่พบได้บ่อยเพียงในบางท้องที่ โดยมักพบร่วมแหล่งเดียวกันกับนกน้ำอื่นๆเช่นนกพริก นกอีแจว นกเป็ดผี นกอีโก้ง เป็นต้น





ข้อมูลจาก :

First records of White-browed Crake (Porzana cinerea) for Laos and its current range in Southeast Asia ของ The Wilson Journal of Ornithology ตีพิมพ์ 1 มิถุนายน 2007 ตามลิงค์นี้
//goliath.ecnext.com/coms2/gi_0199-6690024/First-records-of-White-browed.html (ฉบับโฆษณา)


หนังสือคู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล “นกเมืองไทย” โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล หน้า136




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2552    
Last Update : 24 มิถุนายน 2552 11:55:53 น.
Counter : 3969 Pageviews.  

นกเป็ดผีใหญ่คอดำ

นกเป็ดผีใหญ่คอดำ* Podiceps nigricollis (Black-necked Grebe/Eared Grebe) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว28-34 เซ็นติเมตร เป็นนกเป็ดผีชนิดที่สามที่พบในประเทศไทย โดยอีกสองชนิดคือ นกเป็ดผีเล็ก(Little Grebe)และนกเป็ดผีใหญ่(Great Crested Grebe) มีรายงานการพบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา







นกชนิดนี้มีตาสีแดงสดใส หน้าผากและท้ายทอยมีลักษณะชัน ปลายปากแหลมปากงอนขึ้นเล็กน้อย ในฤดูหนาวซึ่งเป็นนอกช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกจะมีหน้าตาและสีสันแบบที่พบในบล็อกนี้คือมีสีออกขาวๆ ปีกสีคล้ำ หัวและคอสีค่อนข้างดำแต่คางและข้างๆคอทั้งสองด้านค่อนข้างขาว ในฤดูร้อนซึ่งนกซึ่งอยู่ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์จะมีสีดำเข้มไปแทบจะทั้งตัวตอนบน ปากสีดำมีสีข้างสีน้ำตาลแดงและมีขนคลุมหูสีเหลือง







นกเป็ดผีคอดำทำรังวางไข่บนแพพืชลอยน้ำตามแหล่งน้ำตื้นในทวีปยุโรป เอเชีย อาฟริกา ตอนเหนือของอเมริกาใต้และทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา นกทำรังใกล้กับน้ำเนื่องจากเดินไม่ถนัดเพราะขาอยู่ค่อนมาทางข้างหลังมากทำให้ถนัดในการว่ายและดำน้ำมากกว่า วางไข่ราวครั้งละ 2 ฟอง เมื่อลูกนกเกิดมามีขนอ่อนลายๆเช่นเดียวกับนกเป็ดผีอื่นๆ และอาจถูกพบอยู่บนหลังพ่อแม่เพื่อเดินทางไปไหนๆด้วย







เมื่อถึงฤดูหนาวนกชนิดนี้จะอพยพลงทางใต้ไปอยู่ตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้เกือบทุกทวีปในโลก ยกเว้นทวีปออสเตรเลียและแอนตาร์กติก สำหรับประเทศไทยเป็นนกอพยพพลัดหลงเป็นบางปี มีรายงานการพบเป็นครั้งแรกที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2550 โดยนายพนม คราวจันทึก







อาหารของนกชนิดนี้คือปลาและสัตว์น้ำเล็กๆอื่นๆ โดยที่เป็นนกนักว่ายน้ำและนักดำน้ำ เมื่อมีภัยมาใกล้ตัว นกเป็ดผีเลือกที่จะหนีโดยการดำน้ำแล้วไปโผล่ไกลๆมากกว่าการบินหนี







ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันสิ้นปี2550ที่ผ่านมา


*ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ


ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/
//www.bird-home.com




 

Create Date : 11 มกราคม 2551    
Last Update : 11 มกราคม 2551 20:59:39 น.
Counter : 3027 Pageviews.  

นกกาบบัว

นกกาบบัว Mycteria leucocephala (Painted Stork) เป็นนกกระสาชนิดหนึ่ง มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 40 นิ้ว หัวล้านสีส้มอมเหลือง ปากยาวปลายปากเรียวโค้งลงเล็กน้อยสีเหลืองสด คอ ลำตัวด้านบนและด้านล่างเป็นสีขาว มีแถบคาดสีดำที่หน้าอก ขนกลางปีกด้านในเป็นสีชมพู เวลาหุบปีกยืนดูเหมือนเป็นกลีบบัวอยู่บริเวณบั้นท้าย กลางปีก ปลายปีกและหางเป็นสีดำ ขายาวสีเหลือง ส้ม หรือแดง เวลาบินจะไม่หดคอ แต่จะยื่นคอไปข้างหน้า นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน








นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เป็นนกที่จับคู่เดียวตลอดฤดูผสมพันธุ์ หรืออาจจะตลอดชีวิต นกจะทำรังเป็นกลุ่มก้อน คือมาทำรังบนต้นไม้เดียวกันหรือใกล้ๆกัน และมักจะใช้ต้นไม้ต้นเดิม รังทำจากเศษไม้ กิ่งไม้ทั้งแห้งและสดวางสานกัน จากนั้นก็จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะวางไข่ครั้งละ 3-5ฟอง ขนาดราว 65.9มม.x 45 มม. สีขาวด้านๆไม่มันเงา ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันกกไข่ราว 1 เดือนก็จะฟักเป็นตัว ในระหว่างกกไข่นี้ พ่อหรือแม่นกตัวใดตัวหนึ่งจะต้องเฝ้าอยู่ที่รังเสมอ

ลูกนกจะมีอายุไม่เท่ากันเพราะพ่อและแม่นกจะกกไข่ทันทีที่ออกมาฟองแรก อยู่ในรังอีกราว 52 – 56 วัน ลูกนกจะเริ่มหัดบิน อาหารที่พ่อแม่นกนำมาป้อนลูกคือปลาหรืออาหารอื่นที่สำรอกออกมาจากกระเพาะ ลูกนกจะโตเต็มที่มีลักษณะเหมือนนกตัวเต็มวัยเมื่ออายุ 3 ปี
นกในภาพข้างล่างนี้เป็นนกกาบบัวตัวไม่เต็มวัยที่หากินเองแล้ว พบที่ทุ่งนาแถวลำลูกกาเพียงลำพังตัวเดียว








อาหารของนกกาบบัวคือปลา กบ และแมลง โดยนกจะเดินท่องช้าๆไปในน้ำตื้นๆ อ้าปากไว้ครึ่งๆแล้วลากไปมาเพื่อหาเหยื่อ โดยมักพบตามท้องนาที่มีน้ำขังและมีสัตว์น้ำเล็กๆเป็นอาหาร








นกกาบบัวนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียจากอินเดีย ศรีลังกาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางเหนือจรดตะวันออกเฉียงใต้ของจีนและทางใต้จรดตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูใกล้พรมแดนไทย จัดเป็นนกที่อยู่ในสถานะใกล้จะถูกคุกคาม( Near Threatened )

สำหรับประเทศไทย เคยถูกพบหากินตามท้องนา หนองบึงขนาดใหญ่ ห่างไกลบ้านคน ชายทะเลที่เป็นดินเลน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเคยเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้ แต่ปัจจุบันหานกที่ทำรังวางไข่ในธรรมชาติได้ยาก







นกกาบบัวที่มักพบในที่ราบภาคกลางในปัจจุบันอาจเป็นนกอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลจากพม่า หรือเป็นนกที่ปล่อยจากแหล่งเพาะพันธุ์สู่ธรรมชาติ

ภาพนกกาบบัวในบล็อกนี้ถ่ายมาจากทุ่งนาลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ทุ่งนาในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี








ข้อมูลจาก

//www.bird-home.com
//en.wikipedia.org/wiki/Painted_Stork




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2550    
Last Update : 13 มิถุนายน 2550 20:53:49 น.
Counter : 4760 Pageviews.  

นกอีโก้ง

นกอีโก้ง Porphyrio porphyrio (Purple Swamphen) เป็นนกในวงศ์นกอัญชัน
รูปร่างของนกชนิดนี้จึงคล้ายกับนกอื่นๆในวงศ์นี้เช่นนกพริก นกกวัก นกอัญชันต่างๆ แต่มีตัวใหญ่มากคือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 43-44 เซ็นติเมตร จุดเด่นคือขนคลุมลำตัวมีสีฟ้าและม่วงสดใส หางสั้นจนดูเหมือนไม่มีหาง ขนคลุมหางด้านล่างสีขาวตัดกับสีตัว มีตา ปาก กระบังหน้าและเท้าสีแดง ซึ่งความสดใสเข้มอ่อนของสีขนจะแตกต่างกันไปตามแต่นกแต่ละตัว นกตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน นกไม่เต็มวัยอาจมีสีทึมกว่าตัวเต็มวัยและปากสีไม่แดง นกเด็กมีขนอุยสีดำปกคลุมลำตัว ขาและนิ้วเท้ายาวเพื่อความถนัดในการเดินบนพืชน้ำเช่นเดียวกับนกผู้ใหญ่







นกอีโก้งเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย พบมากในที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยมักอาศัยตามแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่เช่นบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และพบได้กระจายทั่วประเทศตามแหล่งน้ำจืดต่างๆ แต่อาจพบน้อยตัวกว่าตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่

นกอีโก้งมักอาศัยตามแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ซึ่งในแหล่งที่ว่านี้เราจะพบนกชนิดนี้ได้ครั้งละหลายตัว นกจะเดินหากินไปบนพืชลอยน้ำ ยกขาที่มีนิ้วเท้ายาวก้าวไปอย่างช้าๆ กระดกหางขึ้นๆลงๆ โดยในการเดินบนวัชพืชลอยน้ำนกอีโก้งมักต้องขยับปีกเพื่อช่วยในการทรงตัวด้วย หากอยู่ในอันตราย หรือตกใจนกชนิดนี้อาจวิ่งหนี หรือบินหนีเป็นระยะทางสั้นๆและหาที่หลบกำบังตัว







รากบัวหลวง รากจอกหูหนู สายบัว ต้นแพงพวยน้ำ ไส้ในหรือต้นอ่อนของกก จูด และข้าวเป็นอาหารของนกอีโก้ง ในการกินสายบัวนกจะถอนเอาสายบัวออกมาโดยการใช้ปากกระตุกออกมา ใช้เท้าจับสายบัวและใช้ปากปอกสายบัวกินแต่ไส้ในทีละท่อนๆจนหมดสาย นอกจากพืชแล้ว นกอีโก้งยังกินแมลงเล็กๆในน้ำ กบ เขียด อึ่งอ่าง หอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือแม้แต่ไข่ของนกอื่นๆ ในการกินหอย นกจะใช้ปากหักเปลือกหอยจนแตกแล้วดึงเนื้อมากินทีละชิ้นจนหมด นกอีโก้งเป็นนกที่เดินหากินได้ทั้งวันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและจะไต่ขึ้นไปพักผ่อนหลับนอนบนต้นไม้ที่สูงเล็กน้อยในตอนพลบค่ำ

นกอีโก้งทำรังวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปีเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม โดยทั่วไปจะทำรังในช่วงปลายฤดูฝนเป็นต้นไป เมื่อเข้าช่วงฤดูผสมพันธุ์นกจะส่งเสียงดังร้องเรียกกัน จับคู่และสร้างรังโดยการดึงพืชน้ำลงมาขัดสานกันจนเป็นรังหนา เส้นผ่านศูนย์กลางราว 30 เซนติเมตร สูงจากระดับน้ำตั้งแต่30-50เซ็นติเมตร และใช้พืชน้ำอื่นๆกรุรังให้อ่อนนุ่ม แต่บางรังก็สร้างไว้บนกอผักตบชวา นกจะวางไข่ครั้งละ3-5ฟอง นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่หลังจากวางไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาราว22-25วันก็ฟักเป็นตัว ลูกนกจะอยู่ในรังต่ออีกไม่กี่วันพ่อแม่ก็พาออกไปเลี้ยงนอกรัง โดยพ่อแม่หาอาหารมาป้อน เมื่อลูกโตพอสมควรพ่อนกก็จะแยกไปให้แม่นกเลี้ยงต่อไปตามลำพัง เมื่อลูกนกอายุ 4 เดือนก็จะมีชุดขนคล้ายผู้ใหญ่ ปากค่อยๆแดงจนเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด





นอกจากประเทศไทยแล้ว เรายังพบนกอีโก้งได้ทั้ง 4 ทวีป คือเอเชีย ยุโรป อาฟริกาและออสเตรเลีย โดยในบางที่อาจเป็นชนิดย่อยอื่นและมีชื่อเรียกอื่น

นกอีโก้งที่เห็นนี้ถ่ายภาพมาจากบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์และซอยโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว นกออกมาเดินเล่นบนถนนอย่างไม่สนใจใครเลย



ข้อมูลจาก : //www.bird-home.com




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2550 20:29:31 น.
Counter : 16003 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.