Group Blog
 
All blogs
 

เมษายน เดือน “ฮ็อต”

เดือนเมษายนเป็นจัดเป็นเดือนที่พุทธมณฑล “ฮ็อต” มากที่สุดเดือนหนึ่ง ที่ว่าฮ็อตนี้ เหมารวมทั้งอากาศและอาการร้อนแรงดึงดูดใจเข้าไว้ด้วย

เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่เป็นขาขึ้นของนกหลากหลายชนิด
ไม่ใช่ขาขึ้นทางธุรกิจ หรือการเมือง
แต่เป็นขาเดินทางขึ้นกลับถิ่นเกิดทางเหนือเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของนกที่เดินทางล่องลงใต้มาหาความอบอุ่นเมื่อหนาวที่ผ่านมา และขาขึ้นของนกที่อพยพขึ้นมาจากทางใต้ของเราเพื่อมาหาที่ทำรังวางไข่เช่นเดียวกัน

และนกส่วนหนึ่งนั้น เลือกแวะพักที่สวนอันกว้างใหญ่ไพศาลของพุทธมณฑลกันทุกปี ทำให้ช่วงเดือนเมษายนต่อพฤษภาคมเป็นช่วงฤดูอันร้อนแรงของที่นี่

นกที่กำลังเดินทางกลับที่เด่นๆก็เห็นจะเป็นนกจับแมลงคอแดงที่ผลัดขนที่คอจนเป็นสีส้มสดแล้วแบบนี้







และนกจับแมลงตะโพกเหลืองหนุ่มสีสันสดใสตัวนี้







ที่กำลังเตรียมตัวออกเดินทางกลับไปยังตอนเหนือของทวีปเอเชีย

ส่วนขาประจำที่เดินทางมาหาที่ทำรังวางไข่กันทุกปีก็คงหนีไม่พ้น นกแต้วแล้วธรรมดาและนกแต้วแล้วอกเขียว ที่จะต้องแวะเติมน้ำมันที่นี่ให้ชมกันปีละหลายสัปดาห์ และเมื่อเดินทางออกไปจากที่นี่แล้ว จะไปเจอได้อีกทีก็ตามป่าตามเขา สถานที่ที่มักพบแต้วแล้วทั้งสองชนิดคืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือตามป่าโปร่งอย่างที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดนครนายกสำหรับนกแต้วแล้วธรรมดา ซึ่งเมื่อเจอในป่านกก็มักจะทำรัง วางไข่ กกไข่ หรือไม่ก็หาเลี้ยงลูกอยู่ ซึ่งอาจจะไม่สะดวกในการดูเท่าไหร่นัก



สำหรับเมษานี้ ฤดูดูนกเริ่มจากคุณวิรัตน์ ที่โทร.มาปลุกเร้าให้เข้าไปดูนกจับแมลงตะโพกเหลืองที่มีรายงานการพบที่สวนรถไฟอยู่ในเวลานั้น เมื่อวางสาย ทันทีที่จัดเวลาได้ รถที่เคยวิ่งตรงไปก็ออกอาการกินขวาเลี้ยวเข้าพุทธมณฑล และมุ่งตรงไปยังที่ที่คิดว่าจะพบ นั่นคือบริเวณสวนสมุนไพรและเวฬุวัน ซึ่งเป็นป่าไผ่ที่กินบริเวณกว้างขวางและมักจะมีพระจำนวนมากมาปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ในช่วงเดือนปลายพฤษภาคมของทุกปี

และในวันนั้นเองก็พบสมใจ เมื่อนกจับแมลงตะโพกเหลืองหนุ่มรูปหล่อ สีดำ ขาว และเหลืองสดบินแผล็วขึ้นไปบนกิ่งสูงและรก การซุ่มคอยให้นกออกมาโชว์ตัวอีกครั้งจึงเกิดขึ้น หลังจากนั่งรอหลายชั่วโมง นกก็ออกมาให้เจออีกครั้ง และอีกหลายครั้ง ในคราวต่อๆมา







จากนั้นอีกราวสัปดาห์กว่าๆ คุณวิรัตน์โทร.มาอีกครั้ง คราวนี้ด้วยเรื่องนกแต้วแล้วอกเขียวที่น่าจะเดินทางมาถึงแล้ว เมื่อเข้าไปดูอีก ก็ได้เจออีก จัดว่าคุณวิรัตน์เป็นคนมีปากพระร่วงคนหนึ่งทีเดียว ซึ่งปีนี้นกแต้วแล้วทั้งสองชนิดมากันชนิดละสองตัว จะว่าจับคู่กันแล้วเดินทางมาด้วยกันก็ไม่น่าใช่ เพราะดูหวงบริเวณกันทั้งนั้นเลย ไม่เห็นหากินอยู่ร่วมกันเลยสักตัว






เมื่อข่าวการพบนกชนิดนี้แพร่ออกไป นักดูนกจากบริเวณใกล้ๆกรุงเทพก็จัดเวลามาแวะที่ศาลาริมทางในบริเวณเวฬุวันเพื่อรอดูนกแต้วแล้วทั้งสองชนิด และยังได้โอกาสดูนกกะรางคอดำ นกกะรางสร้อยคอเล็ก นกอีแพรดแถบอกดำที่มาตีกัน และนกกางเขนบ้านที่ออกมาโชว์ตัวอยู่เนืองๆด้วย ในปีนี้นักดูนกที่เดินทางมาไกลที่สุดเห็นจะเป็นคุณไข่นุ้ย สมุย ที่เดินทางมาไกลจากสมุยและได้ภาพงามๆของนกชนิดนี้ติดไม้ติดมือกลับไป







จนถึงวันนี้ กระแสของนกแต้วแล้วทั้งสองชนิดยังไม่จางหายไป ยังคงมีคนจากหลายๆที่เดินทางมาดูนกชนิดนี้สักครั้ง หรือหลายครั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้พบนักดูนกกลุ่มหนึ่งมาดูนกแต้วแล้วอกเขียว แต่ไม่เจอ จึงได้พาไปดูนกตบยุงที่อยู่รอให้ถ่ายภาพใกล้ๆอย่างไม่อนาทรร้อนใจ จากนั้นเราก็ไปดูนกแต้วแล้ว เมื่อพบก็พากลุ่มดูนกนี้ไปดู ให้ค่อยๆขยับเข้าหานกจนได้ระยะที่ใกล้ แต่นกก็ไม่หนี ได้แต่ยืนนิ่งๆอยู่ในกอไผ่ ทั้งๆที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และไม่ได้ปกปิดอำพรางตัวกันมากนัก ทำให้เกิดเอะใจ ประกอบกับเห็นว่านกถูกเห็บเกาะที่หน้าผากมาระยะหนึ่งแล้วจึงทำให้คิดว่านกอาจจะป่วยก็ได้







เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาด้วยความเป็นห่วงจึงเข้าไปดูอีกครั้งพบว่ามีคนเข้าไปถ่ายรูปนกซึ่งอยู่แต่ในกอไผ่ในระยะใกล้อีกจึงเข้าไปขอร้องให้ช่วยถอยออกมาให้ได้ระยะห่างพอสมควร และเมื่อคนถอยออกมาแล้วนกก็ออกมาจากในกอไผ่ที่ยืนนิ่งๆอยู่นาน เพื่อหาอาหาร ไซ้ขน สลัดตัว เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อคนเข้าใกล้นั้นนกเกิดอาการเครียด จึงว่างเว้นจากการกระทำตามปรกติของตัวเอง และอาจจะมีอาการเจ็บป่วยอยู่บ้าง หรือสาเหตุอื่นเพราะไม่อย่างนั้นนกน่าจะบินหนีไปแล้วเมื่อคิดว่าตัวเองถูกคุกคาม







จากนั้นก็เข้าไปอธิบายเหตุผลในการขอให้ออกมาจนถึงระยะพอสมควร บางคนก็อาจจะไม่พอใจ บางคนอาจจะเข้าใจ แต่ก็คิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าใครอยากจะเข้าไปดูนกสีสันสวยงามทั้งสองชนิดที่ยังอยู่ในช่วงอพยพผ่านอยู่ที่พุทธมณฑล ก็สามารถเข้าไปได้ที่บริเวณศาลาข้างทาง ป่าเวฬุวัน ขอเพียงแต่ให้เว้นระยะห่างกับนกพอสมควร และพยายามปกปิดตัวเองด้วยชุดสีกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม นั่งหรือค้อมตัวให้ต่ำ และใช้ต้นไม้พุ่มไม้เป็นกำบังตามธรรมชาติ เพียงเท่านี้น้องนกทั้งหลายก็คงจะสบายใจพอที่จะใช้เวลาที่เหลือเก็บเกี่ยวพลังงานจากไส้เดือนอ้วนๆในพุทธมณฑลเพื่อการเดินทางต่อไปในเวลาอีกไม่นาน






 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 8 พฤษภาคม 2550 20:34:54 น.
Counter : 4972 Pageviews.  

นกเค้าหลับ

ถ้าเราเจอนกเค้า (ที่หน้าตาเหมือนนกฮูกแต่ไม่มีขนชี้ตั้งขึ้นไปเหมือนหู) ชนิดหนึ่งในสวนสาธารณะใกล้เมือง มีความเป็นไปได้มากว่านกเค้าชนิดนั้นคือ นกเค้าจุด ซึ่งมีครอบครัวที่อบอุ่น







นกเค้าจุดเป็นนกที่เมื่อเลี้ยงลูกจนโตออกจากรังแล้ว พ่อแม่ลูกก็จะยังคงอยู่ด้วยกันไปอีกนานพอสมควร บ่อยครั้งเราจึงพบนกเค้าจุดทีละหลายตัวอยู่บนต้นไม้เดียวกัน อย่างเช่นภาพที่เห็นนี้ แม้จะมีนกอยู่ในภาพเพียง 3 ตัว แต่จริงๆแล้วเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกถึง 5 ตัว พ่อแม่และลูกอีก 3 ตัว


ในช่วงกลางวันของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พ่อแม่ลูกเค้าจุดครอบครัวนี้กำลังนั่งพักผ่อนอยู่ในร่มไม้ใกล้กับโพรงรังซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างหัวเสากับหลังคาของศาลารายรอบองค์พระประธานพุทธมณฑล หลับๆตื่นๆอยู่อย่างนั้นเอง ใครจะเดินผ่านไปผ่านมาแวะมองยังไงก็ไม่ค่อยจะสนอกสนใจเท่าไหร่







จริงๆแล้วการที่ได้เจอนกชนิดนี้อยู่ในเฟรมเดียวกันหลายๆตัวก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราอยู่แล้ว แต่อากัปกิริยาง่วงเหงาหาวนอนของเจ้าจิ๋วตัวนี้กลับยิ่งทำให้รู้สึกดีที่ได้เห็นมากขึ้นไปอีก









ดูทีไรก็รู้สึกอยากจะหาวปากกว้างๆตามเพื่อนจิ๋วเค้าไปด้วยทุกที





 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2550 23:07:23 น.
Counter : 2341 Pageviews.  

ภาพติดตาจากเขาใหญ่




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 6 สิงหาคม 2552 11:22:19 น.
Counter : 1179 Pageviews.  

เมื่อนกตีทองมาคล้องใจรัก




นกตีทองมาคล้องใจรัก

ทั้งสองตั้งหลักสร้างรังเจาะโพรง

บนต้นไม้ใหญ่กิ่งไม้โล่งโล่ง

มาช่วยเจาะโพรงทั้งผู้ทั้งเมีย




วันอากาศเย็นในเดือนธันวาคมนี้ เราแวะเข้ามาดูนกในพุทธมณฑลอีกครั้ง และก็ได้พบภาพที่น่ารักเหลือเกินจนอดไม่ได้ที่จะต้องนำความรู้สึกนี้มาพูดถึง







นกตีทองหนุ่มตัวหนึ่งกำลังตั้งอกตั้งใจเจาะโพรงทางด้านล่างของกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาเป็นมุมป้านกับพื้นเพื่อเป็นโพรงรังอันแสนสบายและปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ปากอันหนาและแข็งแรงที่ถูกสร้างมาเพื่อภารกิจนี้เจาะเข้ากับไม้อย่างขะมักเขม้น จากกิ่งเรียบๆกลายเป็นรูปรอย จากรูปรอยเรียบๆ ค่อยๆกลายเป็นหลุมตื้นๆ



ตลอดเวลาที่นกตีทองตัวนี้เจาะโพรง ยังมีนกอีกตัวหนึ่งเกาะกิ่งไม้เฝ้าดูอยู่ไม่ไกล นี่แสดงว่านกทั้งสองนี้มีข้อตกลงบางอย่างร่วมกันแล้ว และเจ้าหนุ่มตัวน้อยๆกำลังออกแรงสร้างบ้านสำหรับครอบครัวใหม่



หลังจากเจาะไปได้สักพัก กำลังเป็นโพรงตื้นๆ นกตีทองหนุ่มคงจะเหนื่อยจึงได้บินออกไป
ระหว่างที่ผู้ชมกำลังคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น เจ้าตัวที่เกาะกิ่งไม้รออยู่ก็บินเข้าแทนที่และดำเนินการเจาะโพรงรังต่อไปแทน อย่างขะมักเขม้นเช่นเดียวกัน







หลังจากเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง เจ้าหนุ่มตีทองก็บินกลับมา แต่ไม่ได้มาตัวเปล่า มันคาบลูกไม้เล็กๆมาในปากด้วยถึงสามลูก เต็มปากเสียจนหุบไม่ลงเลยทีเดียว เมื่อนกตัวเมียเห็นคู่กลับมาแล้วก็บินขึ้นไปเกาะด้านบนของกิ่งที่กำลังเจาะเป็นโพรง นกตัวผู้บินมาเกาะที่กิ่งเดียวกันขยับจนได้ระยะ แล้วนกตัวเมียก็ค่อยๆรับลูกไม้สุกจากปากเจ้าหนุ่มมากินทีละลูกๆ จนหมด ภาพตอนที่นกทั้งสองป้อนอาหารกันเป็นภาพที่น่ารักมาก จนอดใจไม่ให้นึกเอ็นดูนกทั้งสองตัวไม่ได้เลย







หลังจากได้รับอาหารพอคลายเหนื่อยแล้ว นกตัวเมียก็บินออกไปหาอาหารกินบ้าง และหนุ่มน้อยตีทองก็เข้าประจำที่ ขุดเจาะรังต่อไป



ภาพแบบนี้เป็นภาพที่อาจหาดูได้ไม่ยากนักในหมู่นกทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งนกตัวผู้หลายชนิดมักแสดงอาการเอาอกเอาใจนกตัวเมียแตกต่างวิธีกันออกไป แต่จะหาคู่ไหนที่จะเอาอกเอาใจเอื้ออาทรกันได้น่าเอ็นดูเกินนกตีทองตัวเล็กๆคู่นี้ก็คงจะลำบากไม่ใช่น้อย


วันพรุ่งนี้ ถ้าคุณเดินเข้าไปในสวนสาธารณะสักแห่ง และได้ยินเสียงเจาะไม้เบาๆ อย่าลืมเงยหน้าไปมอง
คุณอาจได้พบภาพที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ยิ้มได้ทั้งวันเหมือนกัน




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2549    
Last Update : 20 ธันวาคม 2549 21:22:30 น.
Counter : 2486 Pageviews.  

กันยายน เมื่อดอกหมวกจีนบาน

ได้ข่าวมานานเกี่ยวกับนกสีแดงสวยเจ้าประจำของน้ำตกกระทิง อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ ช่วงเดือนกันยายนนี้เป็นฤกษ์งามยามดีที่ผู้ร่วมทีมมีเวลาเดินทางไปพร้อมหน้ากัน ทั้งโปรวุธเจ้าพ่อเขาใหญ่ คุณเอื้อนักแม่นสโคป และหนุ่มใหญ่ไฟแรงเลนส์โตนามสตีเฟ่น เราออกเดินทางค่อนข้างเช้าไปถึงที่หมายตอนสายๆ วันนี้ท่าทางจะฤกษ์ดีจริงๆเพราะมีนักดูนก-ถ่ายภาพนกอีกหลายท่านไปพร้อมหน้ากันเหลือเกิน ทั้งอาจารย์บุญรอดและภรรยา ปลากระดี่ได้น้ำที่ไปพร้อมกับคุณสุชาติและคุณชมส. กับป้าโอ๋ แห่งเซฟเบิร์ด







ต้นหมวกจีน (Chinese Hat Plant/Cup and Saucer) เป็นไม้กึ่งต้นกึ่งเลื้อยเช่นเดียวกับเฟื่องฟ้า ลำต้นและกิ่งก้านเป็นลำสี่เหลี่ยมสูงราว 30 ฟุต เมื่อออกดอกจะออกสะพรั่งไปทั้งต้น เห็นเป็นสีเหลือง ส้ม แดง ดอกเป็นช่อตามข้อต้น โคนก้านใบและปลายกิ่ง ส่วนที่เห็นเป็นสีเหลือง ส้ม แดงซึ่งเป็นแผ่นกลมๆมีสัมผัสคล้ายหนังหรือยางอ่อนๆ ทนทานต่อแดดลม คือใบประดับ ส่วนที่เป็นดอกจริงๆคือส่วนที่ยื่นออกมาจากตรงกลางของใบประดับเป็นรูปทรงแตร มีเกสรสีเหลืองยื่นออกมาพ้นปากแตรมีความยาวราวเซนติเมตรเศษ เมื่อแก่ดอกจะหลุดออกจากใบประดับเกิดตุ่มเป็นเม็ดกลมๆแทนที่ ดอกหมวกจีนจะบานในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมของทุกปี







และต้นหมวกจีนที่ขึ้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้แหละเป็นจุดหมายหลักของการเดินทางของเราในวันนี้เพราะว่านกกินปลีคอแดง(Crimson Sunbird) และ กินปลีคอสีม่วง (Purple-throated Sunbird) ซึ่งเป็นนกกินปลีประจำถิ่นที่มักพบได้เฉพาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแบบนี้จะออกแวะเวียนมากินน้ำหวานจากดอกหมวกจีนที่บานสะพรั่งเป็นประจำ นอกจากกินปลีสองชนิดนี้แล้วก็ยังมีนกกินปลีที่มีการกระจายถิ่นกว้างขวางกว่าอย่างนกกินปลีอกเหลืองและนกกินปลีคอสีน้ำตาลออกมากินน้ำหวานที่ต้นเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน







เมื่อเข้าไปถึงต้นหมวกจีนที่หมายก็มีช่างภาพนกนั่งรอถ่ายภาพนกกันแล้วหลายท่าน พวกเราก็เข้าไปจับจองที่นั่งกันตามมุมต่างๆที่เห็นสมควร แต่คุณเอื้อนักแม่นสโคปไม่สามารถนั่งอยู่รวมกลุ่มกับใครๆได้เนื่องจากระยะนั้น “ใกล้เกินไป”เกินกว่าที่สโคปสวารอฟสกี้ราคาเป็นแสนจะมองเห็นได้ จึงออกเดินธุดงค์หานกอื่นๆและจับภาพกินปลีในระยะไกลๆ







นกไม่ได้ออกกินน้ำหวานตลอดเวลา เมื่อออกมาก็จะบินยุกๆยิกๆไม่หยุดนิ่ง ห้อยหัวบ้าง ยืดคอบ้าง เพื่อกินน้ำหวาน บางครั้งก็กระพือปีกบินไปกินน้ำหวานไปเหมือนอย่างกับนกฮัมมิ่งเบิร์ดในโฆษณาน้ำดื่มบางยี่ห้อ บางครั้งเมื่อคันหัวก็จะถูหัวกับกิ่งไม้เพื่อคลายอาการบ้าง เป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานไม่น้อย ไม่ว่าเราจะเลือกสนุกด้วยการส่องกล้องสองตามองตามนก หรือสนุกด้วยการมองผ่านเลนส์เพื่อกดชัตเตอร์เก็บอิริยาบถของนกไปด้วย
อย่างไรก็ตามแดดที่ค่อนข้างจ้า ความรวดเร็วว่องไวของนกก็ทำให้การเก็บภาพให้ได้ดีไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเสียทีเดียว







เวลาที่นกหลบออกไปพักอิริยาบถ คนก็พลอยพักไปด้วย ใกล้ๆกันนั้นมีต้นตะขบซึ่งออกลูกดก มีนกกาฝากอยู่สองชนิดชอบแวะเวียนมาหาลูกตะขบสุกแดงหอมหวานกิน แต่หากวันไหนลูกตะขบสีแดงจัดหล่นลงจากขั้วจนหมด ลูกตะขบที่ยังไม่สุกดีสีออกเขียวอ่อนๆ หวานนิดๆก็เป็นอาหารที่นกทั้งสองไม่รังเกียจ พากันเด็ดลูกตะขบใช้ปากที่แข็งแรงบีบจนน้ำหวานในลูกตะขบให้ไหลเข้าปากจนหมดและคายเปลือกทิ้งลงพื้นไป







นกกาฝากทั้งสองนี้ก็คือนกกาฝากก้นเหลือง(Yellow-vented Flowerpecker)และนกกาฝากอกสีเนื้อ(Buff-bellied Flowerpecker)ที่นิยมชมชอบลูกไม้สุกมากนั่นเอง และเมื่อมีนกเล็กๆน่ารักแบบนี้มาอยู่ต่อหน้าก็แน่นอนว่าเราเองก็ไม่พลาดที่จะต้องไปจับจ้องดูความน่ารักของนกชนิดนี้อย่างเพลิดเพลิน







ดงดาหลาบนเนินเขาเป็นที่ที่เหมาะสมแก่การมานั่งเฝ้านกปลีกล้วยเล็กที่ออกมากินน้ำหวานจากดอกดาหลาที่มีดอกเล็กๆกระจุกรวมอยู่ด้านในกลีบประดับ เป็นคลังน้ำหวานชั้นดีให้นกปลีกล้วยเล็กตัวนี้แทงปากลงไปและดูดกินน้ำหวานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจนปากเลอะเทอะไปหมด ดูนกกินปลี แล้วไปดูปลีกล้วย จากปลีกล้วยก็ไปดูกินปลี แล้วก็ดูกาฝาก วนเวียนทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งแสงของวันใกล้จะหมด ก็ได้เวลาที่เราจะออกเดินทางกลับกันเสียที

จากช่วงนี้ไปดอกหมวกจีนก็คงจะยังบานรอให้นกกินปลีทั้งหลายลงมากินน้ำหวานกันไปจนถึงปลายปี ถ้าใครอยากจะได้ข้อมูลไปดูนกเหล่านี้อย่างตัวเป็นๆก็เชิญคลิกที่นี่

ขอให้มีความสุขกับการดูนกค่ะ






ข้อมูลดอกไม้จาก:
www.maipradabonline.com




 

Create Date : 19 กันยายน 2549    
Last Update : 19 กันยายน 2549 20:31:28 น.
Counter : 3199 Pageviews.  

1  2  3  4  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.