ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 

ดอกมะลิ ดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่

ดอกมะลิ

ดอกมะลิ

ดอกมะลิ

ดอกมะลิ



เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม

ดอกไม้ดอกเล็ก ๆ สีขาวบริสุทธิ์ที่มีกลิ่นหอมชวนดมอย่าง "ดอกมะลิ" ถูกนำมาใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ "วันแม่" เพราะดอกมะลิเปรียบเสมือนความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีให้ลูกน้อยไม่มีวันเสื่อมคลาย เหมือนกับความหอมของดอกมะลิที่หอมนาน และออกดอกตลอดทั้งปี นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมนำดอกมะลิมาร้อยมาลัยบูชาพระ ดังนั้น ดอกมะลิ จึงเปรียบเสมือนการบูชาแม่ผู้มีพระคุณของลูก ๆ ทุกคน

          อย่างไรก็ตาม ดอกมะลิ ดอกไม้ไทยแท้ชนิดนี้ ไม่ได้มีดีแค่ความหอม หรือนำไปร้อยมาลัย แต่ยังเป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์อีกมากมาย รวมทั้งแฝงไว้ด้วยสรรพคุณทางยาในการช่วยบำบัดและรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างดีเยี่ยมโดยที่เราคาดไม่ถึง

          คงนึกไม่ถึงใช่ไหมล่ะ ว่า ดอกมะลินี้มีอะไรดี ๆ มากกว่าที่เห็น ๆ กัน อย่างนั้นก็ต้องแนะนำให้รู้จักกันหน่อยแล้ว




ดอกมะลิ


ดอกมะลิ  เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีกลิ่นหอมเย็นใจให้ความรู้สึกสุขสงบ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Jasmine ส่วนชื่อทางภาษานักพฤกษศาสตร์ที่ใช้เรียกขานกัน คือ Jasminum sambac (L.) Ait. เป็นพืชในวงศ์  Oleaceae ส่วนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นภาคใด ที่ไหนก็เรียกว่า ดอกมะลิ

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีความสูงไม่มากนัก สูงอย่างเต็มที่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 เมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดอกมะลิได้รับความนิยมจากคนรักต้นไม้ให้เป็นตัวเลือกแรกที่จะปลูกไว้ในบ้าน มะลิเป็นไม้พุ่มที่แตกแขนงกิ่งก้านสาขาออกมามากมาย กิ่งอ่อนจะมีขนสั้น ๆ นุ่มมือ ใบเป็นแบบใบเดี่ยวออกในลักษณะตรงข้ามกัน ใบค่อนข้างกลม ปลายใบมน สีเขียวเข้ม ดอกเป็นแบบดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อก็ได้ โดยแต่ละช่อมี 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีขาว กลีบดอกสีขาวนวลตา กลิ่นหอมอวล ไม่ฉุนจัดจนเกินไป เลี้ยงง่าย เติบโตไว ไม่ต้องการความเอาใจใส่ หรือต้องดูและอะไรเป็นพิเศษ

ดอกมะลิ

ดอกมะลิ


 คุณค่าและคุณประโยชน์

คนสมัยก่อน นอกจากจะนิยมปลูกดอกมะลิเอาไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อชื่นชมกับดอกสีขาวสวยนุ่มนวลชวนมองแล้ว เขายังเก็บดอกมะลิตูมมาใส่พาน หรือถ้ามีเวลาว่างพอก็จะนำมาร้อยเป็นมาลัยกราบบูชาพระอีกด้วย  กลิ่นหอมอ่อน ๆ อบอวลของดอกมะลิที่อยู่ในห้องพระ ให้ความรู้สึกสงบใจอีกต่างหาก

นอกจากนี้ยังนำดอกมะลิมาลอยในน้ำดื่มเย็น ๆ ให้แขกผู้มาเยือนได้ดื่มกันอย่างชื่นอกชื่นใจ หรือจะนำดอกมะลิไปลอยในน้ำเชื่อมกินกับขนมหวานไทย ก็ทำให้มีกลิ่นหอมชวนทาน แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่า ดอกมะลิที่นำมาใช้ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง

ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพรของมะลิก็มีแทบทุกส่วนก็ว่าได้ ไล่กันไปตั้งแต่รากเรื่อยไปจนถึงดอกทีเดียว  รากของมะลิแก้ได้สารพัดโรค ทั้งปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เลือดออกตามไรฟัน รวมทั้งช่วยรักษาหลอดลมอักเสบได้ด้วย หากนำรากมาฝนกินกับน้ำ แก้ร้อนในได้ดี คนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทรวงอก ให้นำรากมาประมาณ 1-1.5 กรัม ต้มน้ำกินก็ช่วยได้

ส่วนใบใช้แก้ไข้ที่เกิดจากอาการเปลี่ยนแปลงได้ดี รวมทั้งรักษาอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย หากนำใบมาตำแล้วละลายกับน้ำปูนใส แต้มแผลฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนังจะหายไวขึ้น ตลอดจนช่วยบำรุงสายตา และขับน้ำนมสตรีที่มีครรภ์ได้ด้วย

สุดท้ายคือส่วนของดอก ดอกมะลิ นอกจากความสวยและความหอมแล้ว ยังแก้โรคบิด อาการปวดท้อง หากตำให้ละเอียดพอกที่ขมับ แก้อาการปวดหัวและปวดหูชั้นกลางได้ แถมยังช่วยรักษาแผลพุพอง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งเป็นยาบำรุงหัวใจได้อย่างดีเยี่ยมอีกขนานหนึ่งด้วย 

          นี่แหละคุณค่าของ ดอกมะลิ ดอกไม้ไทยที่หาได้ง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัว ใกล้ใจ และใกล้มือจริง ๆ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2555    
Last Update : 11 สิงหาคม 2555 10:20:42 น.
Counter : 2612 Pageviews.  

เจ๋ง! นักวิจัยไทยพบสารสกัดจากมังคุด ยืดอายุผู้ป่วยมะเร็ง

มังคุด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

  สุดเจ๋ง! นักวิจัยไทย พบสารสกัดจากมังคุดทั้งลูก ช่วยต้านการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็งได้ ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางเคมีมีอายุยืนยาวขึ้น

วันนี้ (7 สิงหาคม) ศาสตราจารย์พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าทีมวิจัยสารสกัดจากมังคุด ศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย เปิดเผยความสำเร็จจากการวิจัยสารสกัดจากมังคุดทั้งลูก ที่คณะนักวิจัยฯ ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ในการวิจัยครั้งนี้ทำให้ค้นพบสารสกัดจีเอ็ม 1 จากมังคุดทั้งลูก ซึ่งเมื่อนำสารสกัดจีเอ็ม 1 ที่สกัดจากมังคุดทั้งลูก ไปผสมกับสารธรรมชาติ BIM ที่สกัดได้ จากฝรั่ง งาดำ ถั่วเหลือง และใบบัวบก ทำให้เราได้สารธรรมชาติ BIM ที่สามารถปรับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียง

          ทั้งนี้ จากการทดสอบกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาทางเคมีแล้ว พร้อมกับการทดสอบกับผู้ป่วยมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ปรากฏว่าสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และช่วยยืดระยะเวลาให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาได้ และยังพบด้วยว่าสารนี้ช่วยสร้างเม็ดเลือดขาว ทีเอช 17 ที่ช่วยป้องกันและจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ ซึ่งขณะนี้ ทางคณะวิจัยฯ ได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์พิเชษฐ์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สารธรรมชาติ BIM ไม่ใช่ยารักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ แต่เป็นเพียงอาหารเสริม ที่สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




 

Create Date : 08 สิงหาคม 2555    
Last Update : 8 สิงหาคม 2555 8:30:25 น.
Counter : 1739 Pageviews.  

4 สิงหาคม วันสื่อสารแห่งชาติ

วันสื่อสารแห่งชาติ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กองทัพบก


          "การสื่อสาร" คือ กระบวนการสำหรับแลกเปลี่ยนสาร ที่มีความสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะคนเราทุกคนต้องสื่อสาร ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของท่าทาง สัญลักษณ์ หรืออยู่ในรูปแบบของภาษา... ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้ทรงพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีใจความว่า


"การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยี อันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง"


ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารจะมีการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ และวันนี้เรามีเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับ "วันสื่อสารแห่งชาติ" มาฝากเพื่อนๆ กันด้วย...


ตามประวัติความเป็นมาของวันสื่อสารแห่งชาติ ขอย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2526 คณะกรรมการจัดงานปีการสื่อสารโลก ได้พิจารณาเห็นว่าวันที่ 4 สิงหาคม 2426 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "กรมไปรษณีย์" และ "กรมโทรเลข" ขึ้นในประเทศไทย

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกิจการสื่อสารของประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอธิบดีผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรก เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" และจัดงาน "วันสื่อสารแห่งชาติ" ครั้งแรกได้จัดในปี พ.ศ.2526 โดยจัดร่วมกับงาน "ครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข" และการเฉลิมฉลอง "ปีการสื่อสารโลก" ของสหประชาชาติด้วย

   ส่วนในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทของภาคเอกชนมีมากขึ้นรวมทั้งการแข่งขัน ในกิจการสื่อสารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ความได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ขึ้นอยู่กับการมีระบบการสื่อสารให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. 2533 คณะกรรมการจัดงานวันสื่อสาร แห่งชาติได้มีมติให้งดการจัดแสดงนิทรรศการ คงมีแต่เฉพาะงานพิธีและการประชุมทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานและการวางแผนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม) และในการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติแต่ละปี จะเน้นหัวข้อการจัดงานแตกต่างกันไปทุกปี เช่น

พ.ศ. 2528 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับเยาวชนแห่งชาติ

พ.ศ.2530 หัวข้อการจัดงาน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสาร

พ.ศ. 2535 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารเพื่อทศวรรษหน้า

พ.ศ.2538 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสนเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2538 เป็นปีเทคโนโลยีสารสนเทศไทย

ในวันสื่อสารแห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่

          1. พิธีถวายเครื่องสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

          2. การกล่าวคำปราศรัยของพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

          3. การจัดทำดวงตาไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย

          4. การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม


  ส่วนการจัดงาน "วันสื่อสารแห่งชาติ" ในปี 2555 นี้ ทางกระทรวงไอซีทีได้เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ทางกระทรวงไอซีทีได้ร่วมมือกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมจัดงาน "บางกอก อินเตอร์เนชันแนล ไอซีที เอ็กซ์โป 2012" (Bangkok International ICT Expo 2012) ระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคมนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

โดยจุดประสงค์ของงานนั้น เพื่อแสดงศักยภาพในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทย ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติ กระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ โดยจัดแสดงวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ตามแนวทางสมาร์ทไทยแลนด์ 2020 (Smart Thailand 2020) ที่จะเกิดการบูรณาการด้านการศึกษา เกษตรกรรม การท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

           สำหรับกิจกรรมภายในงาน จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน จัดแสดงสินค้า แสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการ การจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ การประชุมสัมมนา การแลกเปลี่ยนนวัตกรรม และกิจกรรมร่วมสนุกต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีด้าน

ใครที่สนใจนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ไม่ควรพลาดงานนี้นะคะ ^ ^




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยรามคำแหง




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2555    
Last Update : 4 สิงหาคม 2555 11:12:41 น.
Counter : 1681 Pageviews.  

นาซา ถ่ายสดภาพยานลงจอดดาวอังคารผ่านไทม์สแควร์




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก slashgear.com

          เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม องค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา (NASA) เปิดเผยว่า ยานคูริโอซิตี้ ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารไร้คนขับรุ่นล่าสุดของนาซา มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) ปรับวิถีนำร่องเพื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเดินทางสู่ดาวอังคารแล้ว หลังใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่งเดินทางจากโลก โดยจะมีการถ่ายทอดบนจอยักษ์ในบริเวณจัตุรัสไทม์สแควร์ ของนครนิวยอร์กในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 01.31 น.ตามเวลาท้องถิ่น (หรือประมาณ 12.31 น. ตามเวลาในไทย ของวันอังคารที่ 7 สิงหาคม)

          รายงานระบุว่า ยานคูริโอซิตี้ จะส่งยานลูกขนาดเท่ารถยนต์ลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในภารกิจที่กินเวลา 2 ปี เพื่อวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศ และหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร อย่างไรก็ตาม ผู้ชมจอยักษ์ที่จัตุรัสไทม์สแควร์ จะไม่สามารถได้เห็นคลิปวิดีโอการลงจอดในช่วงเวลาจริง แต่ภาพสด ๆ เหล่านี้จะถูกส่งไปยังห้องควบคุมของหอปฏิบัติการเจ็ท โพรพัลชั่น ของนาซา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากนั้น ภาพการลงจอดจะถูกนำไปถ่ายทอดบนจอยักษ์โตชิบา

          โดย นายจอห์น กรันส์เฟลด์ เจ้าหน้าที่ของนาซา บอกว่า ในเมืองที่ไม่เคยหลับอย่างนครนิวยอร์ก จัตุรัสไทม์สแควร์ จะทำให้ชาวนิวยอร์กได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงจอดครั้งประวัติศาสตร์บนดาวอังคารของยานคูริโอซิตี้

          อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซากังวลเช่นกันว่า ยานคูริโอซิตี้จะลงจอดและปฏิบัติการได้อย่างเรียบร้อยหรือไม่ เนื่องจากยานลำนี้มีขนาดใหญ่มากกว่ายานลำอื่น ๆ ที่นาซาเคยส่งไปสำรวจดาวอังคารประมาณ 4-5 เท่า ประกอบกับชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่เบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า จึงยากที่จะบังคับให้ยานลดความเร็วเพื่อลงจอดอย่างปลอดภัยได้

โดยที่ผ่านมา ยานสำรวจดาวอังคารอาศัยร่มชูชีพเป็นเครื่องช่วยต้านความเร็วขณะลงจอดเป็นหลัก แต่สำหรับยานคูริโอซิตี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ทีมวิศวกรออกแบบให้มี "สกายเครน" หรือยานอีกลำหนึ่งประกบด้านบน ซึ่งสกายเครนจะยิงจรวดเพื่อต้านแรงโน้มถ่วง ให้ยานคูริโอซิตี้ลงจอดด้วยความเร็วเพียง 2-3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงพื้นผิวดาวอังคาร สกายเครนจะตัดสายเคเบิลออกจากยานคูริโอซิตี้ และจะบินออกไปตกที่อื่น จากนั้นยานคูริโอซิตี้จะเริ่มการสำรวจดาวอังคารเพื่อหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตและเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับดาวอังคาร

          ทั้งนี้ เนื่องจากดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกมาก สัญญาณจากยานคูริโอซิตี้จะใช้เวลา 7 นาทีกว่าจะมาถึงฐานควบคุมของนาซาบนโลก ดังนั้น นาซาจะไม่ทราบว่ายานลำนี้ลงจอดสำเร็จหรือล้มเหลวจนกระทั่งพ้น 7 นาทีนี้ไปแล้วนั่นเอง




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2555    
Last Update : 3 สิงหาคม 2555 8:25:52 น.
Counter : 1910 Pageviews.  

วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. 2555



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          รู้กันหรือไม่ว่าภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีวันที่ระลึกถึงภาษาไทยของเราด้วยเหมือนกัน โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"


ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ


สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์,วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ 


เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ


สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง


สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."


นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"


นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น


วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้


1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย


2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542


 3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป


4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น


5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ


ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ


1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ


2. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ


3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป


กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ

กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ,การอภิปรายทางวิชาการ,การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้ 

กิจกรรม วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2554

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  แถลงข่าว วันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2554 โดยระบุว่า กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติในวันที่ 29  กรกฎาคมนี้ มีกิจกรรม เช่น นิทรรศการและกิจกรรมหมอภาษา การแสดงทางวัฒนธรรมโดยใช้ภาษาถิ่น รวมทั้งได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำดวงตราไปรษณีย์ที่ระลึกเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นครั้งแรกด้วย พร้อมกันนี้ได้สรรหาและคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเพื่อเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน และสังคม ประจำปี 2554


สำหรับรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล วันภาษาไทยแห่งชาติ 2554 มีดังนี้

ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่

  พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตโต)

  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร

  คุณหญิงคณิตา เลขะกุล

  นางชอุ่ม ปัญจพรรค์

  นายช่วย พูลเพิ่ม

  ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก

  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล

  ศาสนาจารย์ ดร.มะเนาะ ยูเด็น

  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์

  ผศ.วิพุธ โสภวงศ์

  พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี

  นายอาจิณ จันทรัมพร

  ผศ.รอ.เสนีย์ วิลาวรรณ


ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น (ชาวไทย) ได้แก่


  นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา

  ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร

  นายธีรภาพ โลหิตกุล

  น.ส.นภา หวังในธรรม

  นายนิติพงษ์ ห่อนาค

  พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค

  นายประภัสสร เสวิกุล

  นายปราโมทย์ สัชฌุกร

  นายศุ บุญเลี้ยง

  นางสินจัย เปล่งพานิช

  น.ท.สุมาลี วีระวงศ์

  นายสัญญา คุณากร

  นางอารีย์ นักดนตรี

  นายเอนก นาวิกมูล

ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น (ชาวต่างประเทศ) ได้แก่


  ศ.ดร.เอสเธอร์ เวคแมน

  นางศริสตี แอนน์ เคนนีย์ บราวน์ฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ได้แก่ 

  พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร)

  ดร.ฉันทัส ทองช่วย

  น.ส.นฤมล มั่นวงศ์วิโรจน์

  นายบุญธรรม เทิดเกียรติชาติ

  นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

  นายมนัส สุขสาย

  นายเมืองดี นนทะธรรม

  ผศ.สนิท บุญฤทธิ์

  นายอินตา เลาคำ 

ส่วนโครงการรางวัล เพชรในเพลง ครั้งที่ 8 ซึ่งจะมอบให้กับนักร้องเพลงไทยสากล-ลูกทุ่ง ที่ออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขระภาษาไทยมีผู้ได้รับการประกาศยกย่อง ดังนี้

รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต ได้แก่

  เพลงบ้านเรา ประพันธ์โดย นายชาลี อินทรวิจิตร

  เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย ประพันธ์โดย คือ นายไพบูลย์ บุตรขัน

รางวัลประเภทการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่

  เพลงบ้านเราจะเหมือนเดิม ประพันธ์โดย นายประภาส ชลศรานนท์

  เพลงกราบดิน ประพันธ์โดย นายปฏิเวธ อุทัยเฉลิม (ฟองเบียร์)

  เพลงเพลงของเธอ ประพันธ์โดย นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา

  เพลงเทียนไขไฟฟ้า ประพันธ์โดย นายสิปปภาส รักวงค์ (ปาน ประกาศิต)

รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่

เพลงลิขิตรักจากเบื้องบน ขับร้องโดย นายอุเทน พรหมมินทร์

เพลงขอไปให้ถึงดาว ขับร้องโดย น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร)

เพลงสัญญาก่อนนอน ขับร้องโดย นายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนูมิเตอร์ อาร์สยาม)

เพลงกลัว ขับร้องโดย น.ส.เตือนใจ ศรีสุนทร (ฝน ธนสุนทร)








อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
culture.go.th, tungsong.com




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2555 11:13:16 น.
Counter : 1692 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.