Top Secret – ความลับกับสิ่งที่เห็น
คุณคะ คุณเคยมีประสบการณ์แปลก ๆ ที่อธิบายไม่ได้ เช่นเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ได้ยินสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน หรือได้กลิ่นที่คนอื่นไม่ได้กลิ่นบ้างไหมคะ?

เปล่าค่ะ ฉันไม่ได้กำลังจะมาชวนคุณเล่าเรื่องผี (ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วฉันจะชอบฟังมากก็ตาม) แต่กำลังจะชวนคุณคุยเรื่องสมองและการทำงานของมันค่ะ

เกริ่นอย่างคร่าว ๆ สำหรับท่านที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์ สมองเป็นอวัยวะศูนย์กลางของระบบประสาท ทำหน้าที่รับกระแสประสาทที่ส่งมาจากเซลล์รับสัมผัสที่ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย นำมาแปลผลเป็นความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าเจ็บ ร้อน รสชาติ เสียง หรือภาพที่มองเห็น

ยกตัวอย่างการมองเห็น เมื่อเราลืมตาขึ้น เซลล์รับภาพของเราได้รับสัญญาณจากแสงและสีของสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า มันจะเปลี่ยนสิ่งที่มองเห็นนั้นให้กลายเป็นกระแสประสาท ซึ่งมีลักษณะคล้ายกระแสไฟฟ้า ไหลเป็นระลอกไปตามเซลล์ประสาท ส่งต่อกันจากเซลล์สู่เซลล์ เรื่อยไปจนกว่าจะถึงสมอง และสมองจะเปลี่ยนกระแสประสาทนั้นออกมาให้เป็นภาพ ก่อนที่จะนำไปประมวลผลว่าภาพนั้นคือภาพอะไรให้จิตสำนึกของเราได้รับรู้ต่อไป

แน่นอน ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งกระแสประสาท หรือการแปลผลของสมอง ภาพที่คุณมองเห็นก็จะแตกต่างไปจากภาพที่คนอื่นมองเห็น อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครรู้อย่างเป็นรูปธรรมว่าภาพของสิ่งของสิ่งเดียวกันที่คนสองคนมองเห็น เป็นภาพเดียวกันจริงหรือไม่ ภาพที่คุณมองเห็น เป็นสิ่งที่มีเพียงคุณกับสมองของคุณเท่านั้นที่รับรู้ คุณไม่สามารถแบ่งปันมันกับคนอื่น มันเป็นความลับของคุณ ความลับที่เกิดขึ้นมาภายในตัวคุณ และเป็นของคุณเท่านั้น

แต่ใน Top Secret ความลับของคุณจะไม่ใช่ความลับอีกต่อไป เมื่อวิทยาการเจริญก้าวหน้า และเครื่อง MRI Scanner เข้ามามีบทบาทในการสืบสวนสอบสวน...หากคุณถูกโจรถูกฆ่าตายอย่างเป็นปริศนาในสถานที่ซึ่งปราศจากพยานบุคคลหรือกล้องวงจรปิด มีคนพบศพของคุณภายในสิบชั่วโมงหลังเกิดเหตุ และสมองของคุณไม่ได้รับความเสียหาย พวกเขาจะนำสมองของคุณเข้าเครื่อง MRI Scanner ปล่อยกระแสไฟฟ้าสม่ำเสมอแบบเดียวกันกับตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ใส่สมองของคุณ จากนั้น สมองของคุณก็จะเริ่มฉายทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณมองเห็นภายในระยะเวลาห้าปีออกมาบนหน้าจอมอนิเตอร์...ตั้งแต่รูปพรรณสันฐานของคนร้าย อาวุธที่ใช้ วิธีการที่คุณถูกฆ่า เลยไปจนถึงภาพต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นภาพที่คุณอยากให้เห็นหรือไม่...ภาพอาหารแต่ละมื้อที่คุณกิน ภาพผู้คนที่คุณพบ ภาพสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณเคยผ่าน ภาพตอนที่คุณเข้าห้องน้ำ และแม้แต่ภาพตอนที่คุณอยู่บนเตียงนอน



Top Secret เป็นผลงานของอาจารย์ Shimizu Reiko ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 2001 และถูกนำมาจัดทำเป็นรูปแบบภาษาไทยโดยบงกชคอมิคส์ในชื่อ ผ่าแผนลวง ล่าปริศนาค่ะ


แม้ว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน แต่ประเด็นที่แท้จริงของ Top Secret ดูจะอยู่ที่ความซับซ้อนของสมองในแง่มุมต่าง ๆ กันมากกว่า

ในเล่ม 1 นั้น Top Secret ประกอบด้วยสองบทใหญ่ ๆ บทแรกจะเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่าใจซื่อมือสะอาดที่สุดในประวัติศาสตร์ จอห์น B รีด เป็นบทนำซึ่งจะนำคุณไปรู้จักกับเครื่อง MRI Scanner และการทำงานของมัน ส่วนบทที่สอง จะเปิดตัวเหล่าตัวละครเอกจากหน่วยนิติเวชที่ 9 ซึ่งทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการตรวจสอบภาพจากสมอง รวมทั้งเรื่องราวความซับซ้อนของสมองที่มากมายเกินกว่าที่คุณจะคาดคิด

คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่าคนเรามีความลับอยู่มากมาย ไม่ใช่แค่ความลับที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการวางสายตาอีกด้วย…หากคุณเป็นผู้ชาย เชื่อได้ว่าคุณจะต้องเคยแอบมองต้นขาหรือเนินอกของสาว ๆ หรือหากคุณเป็นผู้หญิง ก็คงต้องมีบ้างละที่คุณแอบมองชายหนุ่มหน้าตาดี...ในขณะที่การพูดหรือการกระทำถูกกำหนดไว้ภายใต้กรอบของกฎหมายหรือศีลธรรม การมองกลับเป็นพื้นที่อิสระที่มีขอบเขตแห่งศีลธรรมเบาบางที่สุดรองจากจินตนาการ เพราะไม่มีใครสามารถห้ามไม่ให้ใครแอบมองอะไรที่เขาอยากจะมอง และไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเขากำลังมองอะไร ในแง่มุมแบบไหน มันเป็นเขตหวงห้ามของแต่ละคน เป็นพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งคุณอาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญของมัน จนกว่าจะถึงวันที่คุณได้รับรู้ว่ามันอาจถูกละเมิดได้ในวันหนึ่งข้างหน้า หลังจากที่คุณตายไปแล้ว เหมือนอย่างกรณีของ จอห์น B รีด ผู้ปกป้องเขตหวงห้ามของเขาเอาไว้ด้วยชีวิต

เมื่ออ่านบทนำจบแล้ว คุณอาจจะ ‘กลัว’ การ ‘มอง’ ไปเลยก็ได้

เรื่องราวของการ ‘มอง’ จะยิ่งเข้มข้นขึ้นในบทที่สอง ซึ่งเป็นบทแรกที่แท้จริงของ Top Secret เมื่ออาโอกิ อิคโค เจ้าหน้าที่น้องใหม่ใสกิ๊งประจำหน่วยนิติเวชที่ 9 ของสถาบันวิจัยค้นคว้าด้านวิทยาการตำรวจแห่งชาตินำเราไปรู้จักกับสมองที่ ‘วิปลาศ’

คุณเคยจินตนาการบ้างไหมคะว่า ภาพที่ฆาตกรฆ่าหั่นศพบรรจุเอาไว้ในสมองจะเป็นภาพแบบไหน ภาพสุดท้ายที่เหยือฆาตกรฆ่าต่อเนื่องมองเห็นจะเป็นภาพอะไร หรือภาพหลอนจากสมองของคนที่เสพยาหรือถูกสะกดจิตให้คุ้มคลั่งจนทนความหวาดกลัวไม่ได้และต้องฆ่าตัวตายจะเป็นอย่างไร

หน้าที่ของหน่วยนิติเวชที่ 9 คือการดูภาพเหล่านี้ และคัดกรองว่าสิ่งไหนเป็นของจริง และสิ่งไหนเป็นเพียงภาพหลอนจากจินตนาการวิปลาศของผู้ตาย เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีต่อไปค่ะ

ประเด็นที่ฉันคิดว่าน่าสนใจมากอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ คนที่ได้ดูภาพจากสมองของคนอีกคนหนึ่ง มีแนวโน้มจะได้รับสืบทอดความรู้สึกนึกคิดของเขามาด้วย...เนื่องจากภาพที่ฉายออกมาจากสมอง ไม่ใช่แค่ภาพที่ถูกแสงตกกระทบสะท้อนเข้าตาแล้วนำมาแปลผลเป็นภาพเหมือนภาพจากจอโทรทัศน์ทั่วไป แต่มันได้แฝงความรู้สึกของเจ้าของสมองที่มีต่อภาพนั้นเข้าไปด้วย คุณเองก็คงเคยรู้สึกว่าคนที่คุณชอบน่ารักกว่าคนอื่น หรือสัตว์ที่คุณเกลียดดูเหมือนจะตัวใหญ่มีขายุ่บยั่บกว่าความเป็นจริงเสมอใช่ไหมคะ?

ในทำนองเดียวกัน หากคุณได้มองสมองของเด็กวัยรุ่นที่ชอบดารานักร้อง คุณก็จะได้เห็นดารานักร้องที่คุณเคยคิดว่าหน้าตาธรรมดา ๆ เปล่งประกายหล่อเหลาผิดหูผิดตา รวมทั้งได้เห็นมุมมองต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยใส่ใจที่จะมองมาก่อน และเป็นไปได้ว่า หลังจากที่คุณได้เห็นภาพที่เปี่ยมด้วยฉันทาคติจากสมองของคนที่ชื่นชอบคารานักร้องคนนั้นแล้ว คุณก็อาจจะตั้งต้นชอบดารานักร้องคนนั้นบ้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

แล้วทีนี้ลองจินตนาการถึงคนที่ได้มองภาพจากสมองของฆาตกรฆ่าหั่นศพ ซึ่งไม่ได้มองเห็นแค่ศพกับอวัยวะภายในที่กองอิเหละเขละขละเท่านั้น แต่ยังมองเห็นความหฤหรรษ์ที่เข้มข้นจนแทบสัมผัสได้ ที่ฆาตกรมีต่อการกระทำของตนเองดูสิคะ

ฉันเชื่อว่าต้องมีคนแอบกลัวใจตัวเองกันบ้างละ

ถ้าคุณสนใจเรื่องราวของสมองและประเด็นทางจิตวิทยาที่มีต่อภาพที่คนเรามองเห็น Top Secret ยังมีอีกหลายประเด็นซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งให้คุณติดตาม เตือนไว้ก่อนว่าเรื่องนี้เรท PG-13 และไม่เหมาะกับคนที่กลัวภาพศพหรือกลัวผีนะคะ

by Carousal
First Published : คอลัมน์สุดสัปดาห์กับการ์ตูน เวบไซต์ประชาไท



Create Date : 01 มิถุนายน 2555
Last Update : 1 มิถุนายน 2555 20:48:24 น.
Counter : 2306 Pageviews.

0 comment
เรื่องราวของ 'คำนิยม'

หมู่นี้อ่านหนังสือแล้วเจอสิ่งที่เรียกว่า 'คำนิยม' บ่อย ๆ

และเมื่อเจอบ่อย ๆ เข้าก็เริ่มเกิดคำถาม

คำนิยมเนี่ย โดยปกติแล้ว ควรจะเขียนโดยใคร และควรจะมีเนื้อหาแบบไหนกันเหรอ?

โดยส่วนตัวแล้ว เจ้าของ blog ไม่รู้อย่างเป็นทางการหรอกว่าคำนิยมคืออะไร แต่เดาเอาเองว่ามันน่าจะหมายถึงบทความสักบทหนึ่ง ที่ใครสักคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ควรจะเป็นตัวคนเขียนเอง เพราะอันนั้นจะเรียกว่า Author's note) เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอจุดน่าสนใจหรือคุณงามความดีของหนังสือ (หรืออาจจะคนเขียน) เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย อะไรทำนองนั้น

แต่หนังสือหลาย ๆ เล่ม มีคำนิยมที่ทำให้เจ้าของ blog รู้สึกแปลก ๆ เหมือนว่า ที่ผ่านมา เราเข้าใจถูกป่าววะ เพราะบางคำนิยม ก็ดูจะมีจุดประสงค์ตรงกันข้ามกับการสร้างความนิยม หรือไม่ก็ออกนอกประเด็นหนังสือไปเสียเฉย ๆ รวมไปถึงการเลือกคนที่จะมาเขียน แบบว่า เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดกันนะเนี่ย

ยกตัวอย่างกันหน่อยดีกว่า

@ หนังสือ 'ชอปปิ้งบำบัด' ของ Amanda Ford แปลโดยจงจิตร บิวแคนแนน คำนิยมโดยพลอย จริยเวช - เข้าใจว่าเลือกพลอย จริยเวชมาเขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ เพราะเธอเป็นคนแปลสาวนักชอปผู้โด่งดัง (หมายถึงสาวนักชอปโด่งดัง ไม่ใช่พลอย จริยเวชโด่งดัง แต่อันที่จริงเธอก็โด่งดังนี่นะ) พลอย จริยเวชเริ่มต้นคำนิยมด้วยเรื่องคุณจงจิตร ผู้แปล ส่งหนังสือมาให้อ่าน บอกว่าเป็น howto พลอย จริยเวชก็บอกว่าปกติเธอเป็นคนไม่ค่อยอ่าน how to แต่สำหรับเรื่องนี้ เธอก็อ่านสนุกไปได้เรื่อย ๆ เหมือนได้อ่านชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งและได้คิดไปด้วย แต่หลังจากนั้น เธอก็ร่ายยาวถึงประวัติชีวิตการชอปของเธออีกหนึ่งหน้าครึ่ง (คำนิยมนี้มีทั้งหมดสามหน้า) เท่ากับว่าเธอพูดถึงหนังสือแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งพูดเรื่องตัวเอง แต่ก็โอเคละนะ เพราะครึ่งที่เขียนถึงหนังสือก็จัดว่าน่าสนใจอยู่ เพียงแต่หนังสือเล่มนี้น่าจะบางลงไปได้อีกซักหน้า ถ้าเธอไม่พูดถึงเรื่องตัวเอง ซึ่ง...ใครอยากรู้วะ?

@  หนังสือ 'สาวนักชอปตะลุยนิวยอร์ค' ซึ่งเป็นภาคสองของซีรีส์สาวนักชอป ของโซฟี คินเซลลา แปลโดยพลอย จริยเวช (ใครจะเข้าใจผิดคิดว่าเราเกลียดเขาไหมนี่?) คำนิยมโดย รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นคำนิยมที่อ่านแล้ว ถ้าเราเป็น...ไม่ว่าจะคนแปล คนเขียน หรือสำนักพิมพ์ ก็คงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้ากันทุกคน ด้วยผู้เขียนได้จิกกัดพฤติกรรมนักชอปที่ซื้อแหลกแบบบังคับใจตัวเองไม่ได้ แถมยังลงท้ายด้วยการเชื้อเชิญผู้ที่เป็นนักชอปประเภทนั้นให้ซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เห็น "ภาพอันขบขันแกมสมเพชของตนเอง" เสียอีก และ "ใครที่ชอปจริงบ้าง ปลอมบ้าง ลดราคาบ้าง ก็ควรอ่านเพื่อความขบขันความเป็นทาสของคนมีเงินและมีรสนิยมที่ถูกล่ามไว้ด้วยโซ่ของพ่อค้าแฟชั่นในระดับโลก กระจกวิเศษราคาแค่นี้จะหาได้ที่ไหน นอกเสียจากว่าท่านจะกลัวภาพของตัวท่านเองเท่านั้น"

(หลายคนอาจจะคิดว่า สาวนักชอป เป็นหนังสือที่เสียดสีคนช่างชอปอยู่แล้ว คำนิยมประเภทนี้ไม่เห็นจะแรงตรงไหน แต่เจ้าของ blog แอบเชื่อว่า คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคิดว่ายัยรีเบคก้านางเอกคือตนเอง ผู้จะแคล้วคลาดทั้ง ๆ ที่ชอปจนหัวขวิด ก็คงมีอยู่จริงในโลก เผลอ ๆ อาจจะมากกว่าคนที่คิดว่ามันเป็นหนังสือเสียดสีเสียอีกมั้ง)

@  หนังสือ 'บันทึกเวชกรรมไทย' โดยนายแพทย์ ประเวศ วะสี เล่มนี้เขียนมานานมาก ตั้งแต่เจ้าของ blog ยังไม่เกิด เพิ่งไปได้ฉบับพิมพ์ใหม่มาอ่านเมื่อเร็ว ๆ นี้ จำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนเขียนคำนิยม เพราะหนังสือไม่อยู่กับตัว อันที่จริงเนื้อหาของหนังสือนั้นน่าสนใจมาก ด้วยเกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุขไทย ซึ่งบางอย่างมาอ่านเอาหลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี พบว่าปัญหานั้นก็ยังอยู่ ทว่าคำนิยมดันไปเขียนเลื่อนเปื้อนเรื่องการเมืองในที่ทำงาน ไปจนถึงทำไมผู้เขียนไม่ได้เป็นอธิบดี...รัฐมนตรี...ปลัดกระทรวง อะไรซักอย่างนี่แหละ ซึ่ง...แหม เหมือนไม่มีความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่เลย ถ้าจะใช้คำเดิมว่า...ใครอยากรู้วะ

(หรืออันที่จริงตูควรจะรู้ไว้วะ?)

@ หนังสือ 'ศิริราชอวดของดี' อันที่จริงตัวเนื้อหาก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติหรอก เพียงแต่เจ้าของ blog ค่อนข้างไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องเอาดารานักร้อง (ซึ่งใช้ชื่อจริง เจ้าของ blog ผู้จำได้แต่ชื่อในวงการ จึงไม่รู้ว่าเค้าเป็นใคร โทษที) มาเขียนคำนิยมให้ด้วยอะ? ศิลปินเหล่านี้ใช้บริการศิริราชบ่อยจนซี้กันหรือไง?

ไหน ๆ ก็เขียนถึงคำนิยมแล้ว ชักมันส์ ขอต่อด้วยบทนำ บทบรรณาธิการกันอีกซักหน่อยก็แล้วกัน

@ ใครเคยอ่านหนังสือของ ณ บ้านวรรณกรรมบ้างเอ่ย? ถ้าเคยอ่าน คงเคยเห็นคำนำของรักชนก นามทอน เป็นคำนำสั้น ๆ ประมาณสองหน้าที่อ่านแล้วไม่รู้เลยว่าในหนังสือมันว่าเรื่องอะไร เพราะพี่แกใช้วิธี quote ประโยคสวย ๆ (ซึ่งจะมีความหมายหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึง บางทีอ่านไปก็ไม่รู้เรื่องเพราะมันต้องการบริบทรายล้อม) มาเรียงต่อ ๆ กัน ใส่คำเชื่อมซะนิดนึง พอหวาน ๆ ปะแล่ม ๆ อ่านแล้วซาบซึ้งตัวชาเหมือนไม่ได้กินข้าวซ้อมมือ แล้วก็จบ ดูไม่ค่อยทำการบ้านเท่าไหร่เลย สงสัยว่าคงจะเป็นเพราะ ณ บ้านวรรณกรรมได้ลิขสิทธิ์นิยายป้าทมมาทีละหลายสิบเรื่อง เลยหมดมุข ไม่รู้จะเขียนคำนำยังไง เลยใช้วิธีนี้ต่อ ๆ กันมาเป็นธรรมเนียมกระมัง

@ สี่แผ่นดิน ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฉบับพิมพ์โดยนานมีบุ๊คส์ ธันวาคม 48 มีบทความที่เค้าเรียกว่าบทนำ ความหนาสิบหน้าเต็ม อ่านยังไงมันก็เรื่องย่อชัด ๆ มีตั้งแต่ต้นจนจบ ชนิดที่ว่าอ่านบทนำเสร็จ ไม่ต้องเปิดไปอ่านข้างในแล้ว รู้หมดตั้งแต่เกิดยันตายแล้วนี่...ถึงจะอ้างว่าสี่แผ่นดินพิมพ์ขายมาเนิ่นนานบานตะไทแล้ว คนไทยทั้งหลายดูละครกันไปตั้งหลายรอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนั่งลอยหน้าเท้าแขนร้องสปอล์ยได้ตั้งแต่ต้นจนจบไม่ใช่เรอะ? แถม เจอสปอล์ยที่ไหน ก็ไม่เจ็บใจเท่าเจอสปอล์ยในเล่มสี่แผ่นดินเอง แถมเอามาดักซะข้างหน้าอีกตะหาก

(ไม่ใช่เจ้าของ blog ไม่รู้นะว่าคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งมันอยู่ที่กลวิธีการประพันธ์และสำนวนภาษา แต่ถ้าสามารถเสพรสของภาษาไปพร้อมความสนุกของเนื้อเรื่องด้วย มันก็น่าจะดีกว่าไม่ใช่เรอะ มันเรื่องอะไรกันที่จะมาทอนความสนุกไปซะครึ่งนึงแบบนี้ล่ะ?)

อนึ่ง ผู้เขียนเรื่องย่อนี้ รศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทยอยู่ที่ราม ซึ่งเพื่อนเจ้าของ blog เคยเรียนวิชาวิจารณ์วรรณกรรมด้วยคลาสหนึ่ง อาจารย์สั่งรายงานให้วิจารณ์วรรณกรรมมา เพื่อนนั่งทำแทบตาย ปรากฏว่าวันส่ง เพื่อนของเพื่อนใช้วิธีหัวใส ไปปริ๊นจากอินเตอร์เน็ตมา แล้วใส่ชื่อว่าเป็นของตัวเอง โดยไม่ได้ลืมตาดูซะบ้างเลย ว่าไอ้บทความในอินเตอร์เน็ตที่ตัวเองไปปริ๊นมาน่ะ ดันเป็นบทความของอาจารย์ที่ตัวเองกำลังจะเอางานไปส่งแบบจุดไต้ตำตอ...ผู้กระทำความผิดปริวิตกราวจะเป็นบ้า ด้วยฆ่าคนต่อหน้ากับลับหลังตำรวจมันย่อมไม่เหมือนกัน แต่ส่งไปแล้วทำไงได้...ความฮาอยู่ที่ว่าผู้กระทำความผิดกลับผ่านฉลุยด้วยคะแนนที่ดีกว่าคนนั่งทำเองงก ๆ อีกต่างหาก เลยชักสงสัยว่าอาจารย์ท่านนี้จะใช้วิธีตรวจรายงานแบบสเนป คือขึ้นไปบนยอดหอคอย (รามคงไม่มียอดหอคอย อนุโลมให้ใช้ยอดอาคารกงไกรลาสแทนได้) โยนรายงานทั้งหมดลงมา แล้วให้คะแนนตามจุดที่มันตกเสียละกระมัง...

อสอง เพื่อนคอมเพลนมาว่า เพื่อนไปส่งรายงานตามวันกำหนดส่งติดต่อกันตั้งสองสามวัน แต่ห้องไม่เคยเปิดเลย เพื่อนนั่งรออยู่วันละสามชั่วโมง กินถั่วตัดงาตัดที่มาออกร้านอยู่ใต้ตึกจนอ้วนปี๋หมีเรียกพี่ จนในทีสุดทนไม่ไหวก็กองไว้หน้าห้อง...คราวหน้าถ้าอาจารย์ติดธุระ ก็เขียนโน้ตทิ้งไว้หน้าห้องหน่อยได้ไหม ว่าจะอยู่ห้องตอนไหน...ที่พูดนี่เพื่อน้อง ๆ หรอกนะ เพื่อนเจ้าของ blog น่ะ คงไม่กลับไปประสบเหตุเช่นนี้อีกแล้วแหละ

(แล้วทำไมกลายเป็นเอนทรี่นินทาอาจารย์รามไปแล้ววะ?)

จบเหอะ

by : Carousal
First Published : canine@exteen




Create Date : 01 พฤษภาคม 2555
Last Update : 1 พฤษภาคม 2555 1:54:18 น.
Counter : 3715 Pageviews.

0 comment
นิทานสยองก่อนนอนกับความไม่เข้าใจ : พ่อแม่คิดอะไรกันอยู่?
เมื่อคืนนอนคุยโทรศัพท์กับเพื่อน เพื่อนเล่าให้ฟังถึงรายการคุยข่าวยามเช้ารายการหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องที่พิธีกรหญิงเอาหนังสือนิทานที่อ่านให้ลูกฟังก่อนนอนมาให้เพื่อนพิธีกรชายและผู้ชมทางบ้านดู

หนังสือเล่มนั้นเป็นนิทานแบบปกแข็ง ท่าทางราคาแพงของสำนักพิมพ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เรื่องประมาณว่า

มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง (ตอนที่เพื่อนเล่าเพื่อนบอกชื่อมาด้วย แต่บัดนี้จำชื่อไม่ได้เสียแล้ว) เจ้าตัวนี้ไม่มีหน้าตา เพราะอาศัยอยู่แต่ในโพรงใต้ดินที่มีแต่ความมืด (ภาพประกอบในหนังสือเป็นภาพลูกกะตาวาว ๆ ในหน้ากระดาษดำ ๆ เปลืองน้ำหมึก) เขาหากินเรื่อยไป เจออะไรก็กิน นกฮูกก็กิน รถไฟฉึกฉักก็กิน...ไป ๆ มา ๆ ก็กินหมดทั้งโลกจนไม่เหลืออะไรจะให้กินแล้ว แล้วจะกินอะไรดีนะ

อ้อ คิดออกแล้วว่าจะกินอะไรดี นั่นไง

เด็กที่ไม่ยอมนอน...

จบ

พระเจ้า ตอนที่เพื่อนเล่า (เล่าด้วยน้ำเสียงธรรมดา ๆ นี่แหละ) ข้าพเจ้าขนลุกซู่เลยนะ ขนาดโตจนแก่จะแย่อยู่แล้วนะนี่ ยังหวาดความมืดที่อยู่รอบตัวตอนนั้นจนผวาเลย (ปิดไฟนอนคุยอยู่) ต้องเหลียวมองไปรอบตัวด้วยความหวาดหวั่นเลยนะว่าแล้วกรูจะถูกไอ้ตัวนั่นย่องมาจับกินด้วยหรือเปล่า เนี่ยนะนิทานที่คุณเอามาเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน! จะบ้าหรือเปล่า? คิดบ้างหรือเปล่าว่าอะไรจะติดอยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็กหลังจากฟังนิทานเรื่องนั้นจบ คุณอาจมีเจตนาที่จะทำให้ลูกขี้อ้อนโยเยของคุณนอนเสียที แต่ด้วยวิธีนี้มันสมควรแล้วหรือ นิทานหลอนเรื่องนั้นจะทำให้ความมืดและความเงียบเป็นศัตรูของเด็กไปตลอดกาล ลูกน้อยที่น่าสงสารของคุณจะนอนเสียวสันหลังหลับตาปี๋ไร้ซึ่งความสุขและความไว้วางใจว่าจะถูกจับกินเมื่อไหร่ เด็กจะหลับไปได้ด้วยความสุขอย่างนั้นหรือ แล้วคุณคิดหรือว่าเด็กมันจะลืม? คุณดูถูกความทรงจำของเด็กเกินไปแล้ว ต่อให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กคนนั้นจะลืมไปว่าเคยถูกกล่อมด้วยไอ้นิทานอุบาทว์เรื่องนี้ แต่เขาจะหวาดผวากับความมืดไปตลอดกาลโดยที่ไม่เข้าใจว่าทำไม คุณเองก็คงมีจุดอ่อนบ้างสักอย่างสองอย่าง มี phobia ที่คุณจำไม่ได้ว่ามันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมผู้ใหญ่ชอบสร้างความหวาดกลัวและบาดแผลให้แก่เด็กขนาดนี้เพียงเพื่อตัวเองจะได้สบายไม่ต้องกล่อมลูก แล้วไอ้ที่พูดปาว ๆ ว่ารัก ทะนุถนอม ริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม อุตส่าห์เปิดเพลงโมซาร์ทให้ฟังตั้งแต่ยังอยู่ในท้องน่ะ ทำไปเพื่ออะไร? หรือแค่ตามแฟชั่น?

เคยไม่เข้าใจมาตั้งแต่สมัยเพลงของมาเธอร์กูสแล้วว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงชอบร้องเพลงกล่อมเด็กที่มีเนื้อหาน่ากลัวกันนัก แต่อย่างน้อย มาเธอร์กูสก็อาจจะยังดีกว่าหน่อยหนึ่ง ตรงที่ไม่ใช่ทุกเพลงที่น่ากลัว บางเพลงต้องตีความหมายก่อนจึงจะรู้ว่ามันพูดถึงเรื่องน่ากลัวอยู่ ซึ่งหมายความว่ามีแต่ผู้ใหญ่ที่เข้าใจจริง ๆ ว่ามันน่ากลัว แต่นิทานเรื่องนี้มันจงใจที่จะขู่เด็กให้กลัวจนตัวสั่นจริง ๆ เด็กนั่นแหละเป็นเป้าหมายของความเข้าใจสิ่งน่ากลัวที่นำเสนออย่างโจ่งแจ้งอยู่ในนิทานเรื่องนี้

คนเขียนนิทานเรื่องนี้ สำนักพิมพ์ที่จัดทำ พ่อแม่ที่เอานิทานเรื่องนี้มาหลอกลูก คิดอะไรอยู่?

ไม่เข้าใจจริง ๆ

ป.ล. ถ้าข้าพเจ้าเป็นเด็ก แล้วใครเอานิทานเรื่องนี้มาอ่านกล่อมข้าพเจ้านอน ข้าพเจ้าจะต่อยมันให้หน้าแหก


First Published : canine@exteen



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2555 18:37:08 น.
Counter : 2032 Pageviews.

2 comment
[REVIEW] สเต็มเซลล์ ดีเอ็นเอ และชีวจริยธรรม
เรื่องของเรื่องคือ เจ้าของ blog เพิ่งจะอ่านหนังสือเล่มนี้มา



(เปล่าหรอก อันที่จริงอยากอ่านอีกเล่มหนึ่ง ที่ว่าด้วยความมหัศจรรย์ของการใช้สเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรค แต่พอดีมันเป็นหนังสือใหม่ที่ห้องสมุดเขายังไม่ให้ยืม เจ้าของ blog เลยไปหาหัวข้อคล้าย ๆ กันมาอ่านแทนแก้ขัดไปก่อน

ไม่รู้เหมือนกันว่าดีหรือเปล่า กับการที่มาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับข้อโต้แย้งและความไม่สมควรของวิทยาการหนึ่ง ๆ ก่อนที่จะได้รู้จักกับวิทยาการนั้น ๆ ดีพอ (กล่าวคือ อาจจะทำให้อินกับบางประเด็นไม่ได้เต็มที่) แต่มองในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจจะดีเหมือนกัน เวลาไปอ่านข้อมูลมหัศจรรย์ชวนอุว้าอุว้าวจากหนังสือเล่มอื่น จะได้มีสติยับยั้งชั่งใจเอาไว้ ไม่เพริดไปกับมันเสียหมด)

สเต็มเซลล์ ดีเอ็นเอ และชีวจริยธรรม โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์...ชื่อนี้คงคุ้นหูสำหรับคอการ์ตูน เพราะนายแพทย์ท่านนี้ได้เขียนรีวิวการ์ตูนหลายเรื่องโดยใช้แง่มุมทางจิตวิทยามาวิเคราะห์ และได้รวมเล่มออกมาแล้วหลายเล่ม ใครสนใจลองไปหาอ่านกันได้

สเต็มเซลล์ ดีเอ็นเอ และชีวจริยธรรม เป็นเรื่องของ สเต็มเซลล์ ดีเอ็นเอ และชีวจริยธรรม...ไม่ได้กวนนะ แต่เนื้อหาในเล่มเกี่ยวข้องกับสามหัวข้อนี้จริง ๆ กล่าวคือ มีการให้ข้อมูลของสเต็มเซลล์ มีประเด็นเกี่ยวกับการโคลนนิ่ง วิทยาการที่เกี่ยวข้องกับดีเอ็นเอ (อาทิ การใช้รหัสพันธุกรรมในการระบุตัวบุคคล การรักษาโรคในระดับดีเอ็นเอ การคัดเลือกลักษณะทางพันธุกรรมของทารกที่ต้องการ ฯลฯ) และจริยธรรมที่จะนำมาตัดสินว่า เราควรทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่

และเนื่องจากเจ้าของ blog สนใจแต่เรื่องของสเต็มเซลล์ เพราะงั้น blog นี้จึงมีประเด็นเฉพาะเรื่องของเสต็มเซลล์กับชีวจริยธรรมเกี่ยวกับการวิจัยโดยใช้สเต็มเซลล์ เท่านั้น ท่านที่สนใจเรื่องอื่น กรุณาไปหาหนังสือมาอ่านเอง (ฮา)

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ขอเกริ่นคร่าว ๆ สำหรับท่านที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์...มนุษย์ปกติทุกคนมีโครโมโซม 48 แท่ง มาจากเซลล์ไข่ของแม่ 24 แท่ง จากเซลล์อสุจิของพ่อ 24 แท่ง เมื่อเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิผสมกัน จะเกิดเป็นเซลล์แรกของลูกที่เรียกว่าไซโกตขึ้นมา ไซโกตจะแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ ทวีคูณอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมากพอก็จะม้วนเป็นวงกลมกลวง แบ่งออกเป็นสามชั้น หลังจากนั้น เซลล์ในแต่ละชั้นจึงจะพัฒนาเป็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ต่อไป

สเต็มเซลล์ คือเซลล์ที่อยู่ในระยะที่กำลังม้วนตัว เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ยังไม่ถูกแบ่งชั้น ยังไม่ถูกกำหนดว่าจะเจริญเป็นอวัยวะใดต่อไป มันมีพลังในการเจริญเติบโตสูงมาก มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อเยื่อประเภทไหน ของอวัยวะอะไรก็ได้ทั้งนั้น และด้วยคุณสมบัตินี้แหละที่ทำให้มันถูกนำไปวิจัยเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ที่ร่างกายมนุษย์ที่โต ๆ แล้วไม่สามารถเยียวยารักษาได้

ยกตัวอย่างเซลล์ประสาท...เซลล์ประสาทเป็นเซลล์ที่มีขีดจำกัดในการเพิ่มจำนวน มันจะแบ่งเซลล์ เพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงอายุที่จำกัด เมื่อผ่านพ้นช่วงวัยนั้นไปแล้ว มันจะไม่แบ่งเซลล์อีกต่อไป ดังนั้น ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ก็จะเป็นความเสียหายถาวร ไม่สามารถรักษาได้ (จริง ๆ แล้วเซลล์ประสาทบางชนิดสามารถสร้างแขนงประสาทเพิ่มขึ้นและอาการบางอย่างก็อาจดีขึ้นได้ แต่เราจะไม่พูดถึงมันในที่นี้) แต่ถ้ามีการให้สเต็มเซลล์เข้าไป สเต็มเซลล์อันแสนมหัศจรรย์และเต็มไปด้วยพลังชีวิตจะแบ่งตัวและเปลี่ยนเป็นเซลล์ประสาท ทำให้อาการป่วยดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง สเต็มเซลล์จึงเป็นวัตถุดิบในการวิจัยและการรักษามวลมนุษยชาติที่มีค่ามหาศาลทีเดียว

ทว่า...คุณเองก็คงเห็น สเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่ได้จากไซโกตที่แบ่งตัว เป็นเซลล์ที่หากปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มันจะกลายเป็นเด็กทารก เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และนั่นแหละเป็นเหตุผลที่การใช้สเต็มเซลล์เพื่อการวิจัยและการรักษาถูกต่อต้าน...ก็มันเป็นการเอาชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่งมาใช้ในการต่อชีวิตเก่าที่ควรจะหลุดร่วงโรยไปตามสังสารวัฏนี่นา

(อนึ่ง ในความเป็นจริง เราสามารถเก็บเสต็มเซลล์จากไขกระดูกได้ด้วย แต่สเต็มเซลล์ที่ได้จะมีจำนวนและคุณภาพไม่ดีเท่าสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนมนุษย์)

อ่านจบแล้ว เจ้าของ blog แอบคิดอะไรหลายอย่าง

จริงหรือที่ว่า สเต็มเซลล์ที่สามารถเติบโตเป็นมนุษย์คนหนึ่งได้ในวันข้างหน้า มีคุณค่าเทียบเท่ากับมนุษย์ที่โตแล้วคนหนึ่ง? และคนเราควรจะยอมรับความป่วยไข้หรือความตายโดยสงบ มากกว่าที่จะทำลายชีวิตหนึ่งเพื่อบรรเทาอาการป่วยของตนอย่างนั้นหรือ?

หากพิจารณาโดยคุณค่าในเชิงชีววิทยา โดยส่วนตัวเจ้าของ blog ไม่คิดว่ามนุษย์มีค่ามากกว่าสัตว์ อาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลที่ว่า สัตว์บางชนิดมันมีหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ (ในขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น ระบบนิเวศ และโลก) แต่ในสายตามนุษย์ มนุษย์ย่อมมีคุณค่าในฐานะ 'สิ่งมีชีวิตร่วมสปีชีส์ ' ในฐานะ 'พวกเดียวกัน' และคุณค่านั้นก็จะมากยิ่งขึ้น หากมนุษย์ที่เรากล่าวถึงคนนั้น เป็น 'พรรคพวกใกล้ชิด' เป็น 'ญาติสืบสายเลือด' เป็น 'เพื่อน' หรือเป็น 'คู่ชีวิต'

ดังนั้น หากจะพิจารณาตามหน่วยทางชีววิทยา มนุษย์คนหนึ่ง สเต็มเซลล์กลุ่มหนึ่ง สัตว์ตัวหนึ่ง เจ้าของ blog ไม่เห็นว่าแตกต่างกันมากนัก แต่หากพิจารณาตาม 'คุณค่า' ที่มนุษย์ได้สมมติขึ้น ด้วยความรู้สึกเป็นพวกพ้อง ด้วยสังคมและวัฒนธรรม มนุษย์ตัวเป็น ๆ คนหนึ่ง ที่มีความทรงจำอันล้ำค่าเหลือเกินร่วมกับเรา จึงมีคุณค่ายิ่งกว่าสเต็มเซลล์ที่ไม่เคยมีความผูกพันร่วมกันอย่างมหาศาล

คน ๆ หนึ่งที่ยืนร่วมป้ายรถเมล์เดียวกันกับคุณ ไม่มีความหมายหรอก หากเขาไม่ได้จับมือคุณ รอรถเมล์พร้อมคุณ โบกมือให้คุณเมื่อคุณก้าวขึ้นรถเมล์ แล้วรอเวลาที่จะร่วมโต๊ะกินข้าวกันในตอนเย็น

คนๆ หนึ่งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณในห้องเรียนที่น่าเบื่อหน่ายในคาบบ่าย ไม่มีความหมายหรอก ถ้ามันไม่ได้เคยนั่งกินข้าวถาดหลุมมากับคุณ ชวนกันมุดรั้วโดดเรียนมากับคุณตั้งแต่สมัยยังกระโปรงบานขาสั้น

คุณอาจจะคิดว่าเจ้าของ blog เห็นแก่ตัว ถ้าจะบอกว่า เจ้าของ blog เห็นคุณค่าของชีวิตเก่า ๆ แก่ ๆ ของญาติพี่น้องและคนรัก สำคัญกว่าชีวิตใหม่ที่ยังไม่ได้เกิดมา ถึงแม้ชีวิตนั้นจะขาดวิ่น ผุพัง หรือรู้ว่าอีกไม่นานจะลาลับ...เจ้าของ blog เข้าใจประเด็นจริยธรรมที่ฝ่ายต่อต้านยกมาโต้แย้ง แต่เชื่อเหมือนกันว่าคนเราจะพูดถึงศีลธรรมความถูกต้องได้ก็ต่อเมื่อตัวเองท้องอิ่มแล้วเท่านั้นแหละ

(ตอนที่อ่าน ในหนังสือพูดถึงการบริจาคไข่เพื่อการเอาไปทำสเต็มเซลล์ ว่าใครจะยอมบริจาค เจ้าของ blog อยากบอกว่า เจ้าของ blog ยอมนะ ถ้ากฏหมายอนุญาตให้ทำได้ เจ้าของ blog ยินดีบริจาคเท่าที่จะเอาไปได้เลยละ แต่ไม่รู้สิ ผู้หญิงบางคนอาจจะคิดมาก ประมาณว่าเซลล์ไข่ของตัวเอง เท่ากับสิ่งที่ต่อไปจะเป็นลูกของตัวเอง แต่สำหรับเจ้าของ blog ต่อให้เป็นลูกตัวเอง ก็อาจจะยอมสละเพื่อพ่อแม่ได้ แต่เจ้าของ blog อาจจะพูดแบบนี้เพราะยังไม่เคยมีลูก ไม่รู้จักความรักที่ตัวเองจะสามารถมีให้เด็กที่ตัวเองให้กำเนิดได้ละมั้ง อยากรู้เหมือนกันว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้วทั้งหลาย คิดว่าตัวเองรักใครมากกว่ากัน ระหว่างแม่กับลูกของตัวเอง...ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีทั้งแนวคิดที่ว่า ลูกน่ะจะมีอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ให้เลือกแม่ก่อน และแนวคิดที่ว่า คนแก่ควรเสียสละ เพื่อเก็บอาหารไว้ให้เด็ก ๆ กินในยามข้าวยากหมากแพงเหมือนกัน)

อย่างไรก็ตาม เจ้าของ blog ก็ยังคิด ไม่ว่าจะในฐานะลูกคนหนึ่งที่มีพ่อแม่แก่เฒ่า และอาจต้องใช้บริการวิวัฒนาการเกี่ยวกับสเต็มเซลล์นี้ในอนาคต หรือในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง สเต็มเซลล์ก็เป็นวิทยาการที่น่าสนใจยิ่ง entry นี้อาจจะมีภาคสอง หลังจากได้หนังสือที่เล็งไว้เล่มนั้นมาอ่านก็ได้นะ

by : Carousal
First Published : canine@exteen



Create Date : 29 มกราคม 2555
Last Update : 29 มกราคม 2555 21:31:13 น.
Counter : 1345 Pageviews.

0 comment
[ไม่เชิงรีวิว] นิกกับพิม
วันนี้นั่งคุยกับเพื่อนที่อายุห่างกันราว 5 ปี เรื่องหนังสืออ่านนอกเวลาสมัยมัธยม ระยะเวลาที่ต่างกันเล็กน้อย ทำให้หนังสืออ่านนอกเวลาของเราสองคนไม่เหมือนกันเป็นบางเรื่อง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงเขาไม่กำหนดให้อ่าน ก็อ่านอยู่ดีนั่นแหละ

แล้วเลยถามกันและกันว่า หนังสืออ่านนอกเวลาเล่มไหน ที่อยากจะเห็นเป็นละครที่สุด

แล้วมติก็ออกมาว่า นิกกับพิม

ข้าพเจ้าอ่านนิกกับพิมครั้งแรกสมัยประถม จำได้ว่าพี่ชายยืมมาจากห้องสมุดเพราะตัวเองต้องสอบ (แต่ไม่เคยหยิบมาอ่านเลย และเมื่อถึงวันจะสอบ ก็ให้น้องสาวย่อเรื่องให้ฟัง) ความไร้เดียงสาก็ทำให้เชื่อมั่นว่านิกกับพิมส่งจดหมายถึงกันจริง ๆ (ก็สำหรับเด็ก ๆ น่ะ การที่สัตว์หรือสิ่งของจะมีความสามารถในการพูดจาหรือเขียนจดหมายมันเป็นเรื่องธรรมดานี่นา) จนกระทั่งโต มาอ่านเจอบทความอันหนึ่งที่เขียนถึงเรื่องนี้ ว่าพิเชษฐ์ (พระเอก) กับมนทิรา (นางเอก) เขียนจดหมายถึงกัน โดยสมมติตัวเองเป็นนิกกับพิม

O_O เออว่ะ จริงด้วย หมามันจะเขียนจดหมายได้ไงเนอะ จนโตแล้วก็ยังไม่เคยย้อนกลับไปนึกถึงความเป็นจริงเลย

อารมณ์ประมาณเดียวกันกับตอนที่มวยปล้ำมาเมืองไทยครั้งแรก แล้ว undertaker มาไม่ได้เพราะพ่อตาย ฟังแล้วหลายคนรอบตัว (มากกว่า 3 คน) อุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า "อ้าว ไม่ได้ตายไปตั้งนานแล้วเหรอ" (เพราะใน story line Taker เป็นคนที่ฆ่าพ่อแม่ของตัวเองเนื่องจากเป็นคนวางเพลิงเผาบ้าน Kane ผู้เป็นน้องชายต่างพ่อยังมาแก้แค้น และยังขุดศพพ่อศพแม่มาเผาอยู่เลย - อืม พอมาพิมพ์อย่างนี้แล้วก็รู้สึกฝรั่งมันเล่นกันแรงเหมือนกันเนอะ) ยังไงยังงั้น

กลับมาที่นิกกับพิม

ถ้าจะมีใครทำจริง ๆ ละก็ ก็อยากจะให้เป็นช่องสามนะ เพราะว่าละครช่องสาม ภาพจะ soft กว่าละครช่องเจ็ดซึ่งคมกว่าอย่างเห็นได้ชัด ฉากที่อยากเห็นคงเป็นบรรยากาศของบ้านภูเขียวและทะเลสาบที่สวิสซึ่งพระเอกนางเอกจูงหมาไปเดินเล่นด้วยกัน (ซึ่งเพื่อนบอกว่า สงสัยจะต้องไปถ่ายทำที่เขาใหญ่ แต่ข้าพเจ้าไม่ยักกะรู้สึกว่ามันใช่บรรยากาศแบบบนเขาใหญ่แฮะ)

ยุ่งชะมัดเป็นสัตวแพทย์ ยังทำเป็นละครได้เลย นิกกับพิมก็ไม่ยากเกินไปหรอกน่า ยังไงซะก็ไม่ต้องพยายามถ่ายฉากที่หมานอนเท้าคางเขียนจดหมายแล้วนี่

ปัจฉิมลิขิต

*ในห้องนอนกว้างใหญ่ของคุณพิเชษฐ์ คุณพิเชษฐ์กำลังดูดบุหรี่พ่นควันปุ๋ย ๆ อยู่บนเตียง ข้าง ๆ มีใครคนหนึ่งนอนตะแคงหันหลังให้อยู่ใต้ผ้าห่มรูปตัว L*

นาย : (จับแขนของคนข้าง ๆ ให้หันมาหาตัว) พรุ่งนี้ ขึ้นมาเร็วหน่อยนะ

*คนข้าง ๆ พลิกกลับมา เป็นเด็กหนุ่มผอม ๆ ท่าทางเก้งก้าง หัวเหม่ง บุคลิกเหมือนเชสเตอร์ เบนนิงตันที่ห่มผ้าคลุมกาลเวลาย้อนกลับไปสมัยอายุ 17 แววตาแสดงถึงความรักความชื่นชมเต็มเปี่ยม*

นาย : (จับคางเชยขึ้นพลางยิ้มน้อย ๆ) เราจะได้ติวกันจริง ๆ จัง ๆ ภาษาอังกฤษแกยังออกจะแย่ ๆ นี่ จริงไหม ชด?



Create Date : 01 ตุลาคม 2554
Last Update : 23 มกราคม 2555 21:13:46 น.
Counter : 978 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  

carousal
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 192 คน [?]



สนใจหนังสือ ติดต่อ agcarmine [at] hotmail.com นะคะ
All Blog