เรื่องราวของ 'คำนิยม'

หมู่นี้อ่านหนังสือแล้วเจอสิ่งที่เรียกว่า 'คำนิยม' บ่อย ๆ

และเมื่อเจอบ่อย ๆ เข้าก็เริ่มเกิดคำถาม

คำนิยมเนี่ย โดยปกติแล้ว ควรจะเขียนโดยใคร และควรจะมีเนื้อหาแบบไหนกันเหรอ?

โดยส่วนตัวแล้ว เจ้าของ blog ไม่รู้อย่างเป็นทางการหรอกว่าคำนิยมคืออะไร แต่เดาเอาเองว่ามันน่าจะหมายถึงบทความสักบทหนึ่ง ที่ใครสักคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ควรจะเป็นตัวคนเขียนเอง เพราะอันนั้นจะเรียกว่า Author's note) เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอจุดน่าสนใจหรือคุณงามความดีของหนังสือ (หรืออาจจะคนเขียน) เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย อะไรทำนองนั้น

แต่หนังสือหลาย ๆ เล่ม มีคำนิยมที่ทำให้เจ้าของ blog รู้สึกแปลก ๆ เหมือนว่า ที่ผ่านมา เราเข้าใจถูกป่าววะ เพราะบางคำนิยม ก็ดูจะมีจุดประสงค์ตรงกันข้ามกับการสร้างความนิยม หรือไม่ก็ออกนอกประเด็นหนังสือไปเสียเฉย ๆ รวมไปถึงการเลือกคนที่จะมาเขียน แบบว่า เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดกันนะเนี่ย

ยกตัวอย่างกันหน่อยดีกว่า

@ หนังสือ 'ชอปปิ้งบำบัด' ของ Amanda Ford แปลโดยจงจิตร บิวแคนแนน คำนิยมโดยพลอย จริยเวช - เข้าใจว่าเลือกพลอย จริยเวชมาเขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ เพราะเธอเป็นคนแปลสาวนักชอปผู้โด่งดัง (หมายถึงสาวนักชอปโด่งดัง ไม่ใช่พลอย จริยเวชโด่งดัง แต่อันที่จริงเธอก็โด่งดังนี่นะ) พลอย จริยเวชเริ่มต้นคำนิยมด้วยเรื่องคุณจงจิตร ผู้แปล ส่งหนังสือมาให้อ่าน บอกว่าเป็น howto พลอย จริยเวชก็บอกว่าปกติเธอเป็นคนไม่ค่อยอ่าน how to แต่สำหรับเรื่องนี้ เธอก็อ่านสนุกไปได้เรื่อย ๆ เหมือนได้อ่านชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งและได้คิดไปด้วย แต่หลังจากนั้น เธอก็ร่ายยาวถึงประวัติชีวิตการชอปของเธออีกหนึ่งหน้าครึ่ง (คำนิยมนี้มีทั้งหมดสามหน้า) เท่ากับว่าเธอพูดถึงหนังสือแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งพูดเรื่องตัวเอง แต่ก็โอเคละนะ เพราะครึ่งที่เขียนถึงหนังสือก็จัดว่าน่าสนใจอยู่ เพียงแต่หนังสือเล่มนี้น่าจะบางลงไปได้อีกซักหน้า ถ้าเธอไม่พูดถึงเรื่องตัวเอง ซึ่ง...ใครอยากรู้วะ?

@  หนังสือ 'สาวนักชอปตะลุยนิวยอร์ค' ซึ่งเป็นภาคสองของซีรีส์สาวนักชอป ของโซฟี คินเซลลา แปลโดยพลอย จริยเวช (ใครจะเข้าใจผิดคิดว่าเราเกลียดเขาไหมนี่?) คำนิยมโดย รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นคำนิยมที่อ่านแล้ว ถ้าเราเป็น...ไม่ว่าจะคนแปล คนเขียน หรือสำนักพิมพ์ ก็คงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้ากันทุกคน ด้วยผู้เขียนได้จิกกัดพฤติกรรมนักชอปที่ซื้อแหลกแบบบังคับใจตัวเองไม่ได้ แถมยังลงท้ายด้วยการเชื้อเชิญผู้ที่เป็นนักชอปประเภทนั้นให้ซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เห็น "ภาพอันขบขันแกมสมเพชของตนเอง" เสียอีก และ "ใครที่ชอปจริงบ้าง ปลอมบ้าง ลดราคาบ้าง ก็ควรอ่านเพื่อความขบขันความเป็นทาสของคนมีเงินและมีรสนิยมที่ถูกล่ามไว้ด้วยโซ่ของพ่อค้าแฟชั่นในระดับโลก กระจกวิเศษราคาแค่นี้จะหาได้ที่ไหน นอกเสียจากว่าท่านจะกลัวภาพของตัวท่านเองเท่านั้น"

(หลายคนอาจจะคิดว่า สาวนักชอป เป็นหนังสือที่เสียดสีคนช่างชอปอยู่แล้ว คำนิยมประเภทนี้ไม่เห็นจะแรงตรงไหน แต่เจ้าของ blog แอบเชื่อว่า คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคิดว่ายัยรีเบคก้านางเอกคือตนเอง ผู้จะแคล้วคลาดทั้ง ๆ ที่ชอปจนหัวขวิด ก็คงมีอยู่จริงในโลก เผลอ ๆ อาจจะมากกว่าคนที่คิดว่ามันเป็นหนังสือเสียดสีเสียอีกมั้ง)

@  หนังสือ 'บันทึกเวชกรรมไทย' โดยนายแพทย์ ประเวศ วะสี เล่มนี้เขียนมานานมาก ตั้งแต่เจ้าของ blog ยังไม่เกิด เพิ่งไปได้ฉบับพิมพ์ใหม่มาอ่านเมื่อเร็ว ๆ นี้ จำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนเขียนคำนิยม เพราะหนังสือไม่อยู่กับตัว อันที่จริงเนื้อหาของหนังสือนั้นน่าสนใจมาก ด้วยเกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุขไทย ซึ่งบางอย่างมาอ่านเอาหลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี พบว่าปัญหานั้นก็ยังอยู่ ทว่าคำนิยมดันไปเขียนเลื่อนเปื้อนเรื่องการเมืองในที่ทำงาน ไปจนถึงทำไมผู้เขียนไม่ได้เป็นอธิบดี...รัฐมนตรี...ปลัดกระทรวง อะไรซักอย่างนี่แหละ ซึ่ง...แหม เหมือนไม่มีความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่เลย ถ้าจะใช้คำเดิมว่า...ใครอยากรู้วะ

(หรืออันที่จริงตูควรจะรู้ไว้วะ?)

@ หนังสือ 'ศิริราชอวดของดี' อันที่จริงตัวเนื้อหาก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติหรอก เพียงแต่เจ้าของ blog ค่อนข้างไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องเอาดารานักร้อง (ซึ่งใช้ชื่อจริง เจ้าของ blog ผู้จำได้แต่ชื่อในวงการ จึงไม่รู้ว่าเค้าเป็นใคร โทษที) มาเขียนคำนิยมให้ด้วยอะ? ศิลปินเหล่านี้ใช้บริการศิริราชบ่อยจนซี้กันหรือไง?

ไหน ๆ ก็เขียนถึงคำนิยมแล้ว ชักมันส์ ขอต่อด้วยบทนำ บทบรรณาธิการกันอีกซักหน่อยก็แล้วกัน

@ ใครเคยอ่านหนังสือของ ณ บ้านวรรณกรรมบ้างเอ่ย? ถ้าเคยอ่าน คงเคยเห็นคำนำของรักชนก นามทอน เป็นคำนำสั้น ๆ ประมาณสองหน้าที่อ่านแล้วไม่รู้เลยว่าในหนังสือมันว่าเรื่องอะไร เพราะพี่แกใช้วิธี quote ประโยคสวย ๆ (ซึ่งจะมีความหมายหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึง บางทีอ่านไปก็ไม่รู้เรื่องเพราะมันต้องการบริบทรายล้อม) มาเรียงต่อ ๆ กัน ใส่คำเชื่อมซะนิดนึง พอหวาน ๆ ปะแล่ม ๆ อ่านแล้วซาบซึ้งตัวชาเหมือนไม่ได้กินข้าวซ้อมมือ แล้วก็จบ ดูไม่ค่อยทำการบ้านเท่าไหร่เลย สงสัยว่าคงจะเป็นเพราะ ณ บ้านวรรณกรรมได้ลิขสิทธิ์นิยายป้าทมมาทีละหลายสิบเรื่อง เลยหมดมุข ไม่รู้จะเขียนคำนำยังไง เลยใช้วิธีนี้ต่อ ๆ กันมาเป็นธรรมเนียมกระมัง

@ สี่แผ่นดิน ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฉบับพิมพ์โดยนานมีบุ๊คส์ ธันวาคม 48 มีบทความที่เค้าเรียกว่าบทนำ ความหนาสิบหน้าเต็ม อ่านยังไงมันก็เรื่องย่อชัด ๆ มีตั้งแต่ต้นจนจบ ชนิดที่ว่าอ่านบทนำเสร็จ ไม่ต้องเปิดไปอ่านข้างในแล้ว รู้หมดตั้งแต่เกิดยันตายแล้วนี่...ถึงจะอ้างว่าสี่แผ่นดินพิมพ์ขายมาเนิ่นนานบานตะไทแล้ว คนไทยทั้งหลายดูละครกันไปตั้งหลายรอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนั่งลอยหน้าเท้าแขนร้องสปอล์ยได้ตั้งแต่ต้นจนจบไม่ใช่เรอะ? แถม เจอสปอล์ยที่ไหน ก็ไม่เจ็บใจเท่าเจอสปอล์ยในเล่มสี่แผ่นดินเอง แถมเอามาดักซะข้างหน้าอีกตะหาก

(ไม่ใช่เจ้าของ blog ไม่รู้นะว่าคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งมันอยู่ที่กลวิธีการประพันธ์และสำนวนภาษา แต่ถ้าสามารถเสพรสของภาษาไปพร้อมความสนุกของเนื้อเรื่องด้วย มันก็น่าจะดีกว่าไม่ใช่เรอะ มันเรื่องอะไรกันที่จะมาทอนความสนุกไปซะครึ่งนึงแบบนี้ล่ะ?)

อนึ่ง ผู้เขียนเรื่องย่อนี้ รศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทยอยู่ที่ราม ซึ่งเพื่อนเจ้าของ blog เคยเรียนวิชาวิจารณ์วรรณกรรมด้วยคลาสหนึ่ง อาจารย์สั่งรายงานให้วิจารณ์วรรณกรรมมา เพื่อนนั่งทำแทบตาย ปรากฏว่าวันส่ง เพื่อนของเพื่อนใช้วิธีหัวใส ไปปริ๊นจากอินเตอร์เน็ตมา แล้วใส่ชื่อว่าเป็นของตัวเอง โดยไม่ได้ลืมตาดูซะบ้างเลย ว่าไอ้บทความในอินเตอร์เน็ตที่ตัวเองไปปริ๊นมาน่ะ ดันเป็นบทความของอาจารย์ที่ตัวเองกำลังจะเอางานไปส่งแบบจุดไต้ตำตอ...ผู้กระทำความผิดปริวิตกราวจะเป็นบ้า ด้วยฆ่าคนต่อหน้ากับลับหลังตำรวจมันย่อมไม่เหมือนกัน แต่ส่งไปแล้วทำไงได้...ความฮาอยู่ที่ว่าผู้กระทำความผิดกลับผ่านฉลุยด้วยคะแนนที่ดีกว่าคนนั่งทำเองงก ๆ อีกต่างหาก เลยชักสงสัยว่าอาจารย์ท่านนี้จะใช้วิธีตรวจรายงานแบบสเนป คือขึ้นไปบนยอดหอคอย (รามคงไม่มียอดหอคอย อนุโลมให้ใช้ยอดอาคารกงไกรลาสแทนได้) โยนรายงานทั้งหมดลงมา แล้วให้คะแนนตามจุดที่มันตกเสียละกระมัง...

อสอง เพื่อนคอมเพลนมาว่า เพื่อนไปส่งรายงานตามวันกำหนดส่งติดต่อกันตั้งสองสามวัน แต่ห้องไม่เคยเปิดเลย เพื่อนนั่งรออยู่วันละสามชั่วโมง กินถั่วตัดงาตัดที่มาออกร้านอยู่ใต้ตึกจนอ้วนปี๋หมีเรียกพี่ จนในทีสุดทนไม่ไหวก็กองไว้หน้าห้อง...คราวหน้าถ้าอาจารย์ติดธุระ ก็เขียนโน้ตทิ้งไว้หน้าห้องหน่อยได้ไหม ว่าจะอยู่ห้องตอนไหน...ที่พูดนี่เพื่อน้อง ๆ หรอกนะ เพื่อนเจ้าของ blog น่ะ คงไม่กลับไปประสบเหตุเช่นนี้อีกแล้วแหละ

(แล้วทำไมกลายเป็นเอนทรี่นินทาอาจารย์รามไปแล้ววะ?)

จบเหอะ

by : Carousal
First Published : canine@exteen




Create Date : 01 พฤษภาคม 2555
Last Update : 1 พฤษภาคม 2555 1:54:18 น.
Counter : 3717 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

carousal
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 192 คน [?]



สนใจหนังสือ ติดต่อ agcarmine [at] hotmail.com นะคะ
All Blog