พ.ร.บ. ยา - ค่ารักษาหารสาม - โครงการสวาปามเอื้ออาทร ?



เคยเขียนไว้ แล้วมีคนเอาไปโพส ต่อ
เมื่อ หลายปีก่อน ลอนอ่านดูนะ

-----------------------------------------
//thaingo.org/webboard/view.php?id=1317
-----------------------------------------------

สวาปามเอื้ออาทร ? จริงไหม น๊ออออ ? ^ - ^


Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2552 18:13:02 น. 6 comments
Counter : 623 Pageviews.  
 
 
 
 
อนึ่ง เนื่องจากลิงค์ เดิมที่หัวกาทู้มันเดี้ยงไปแระ
เรยแวะเอา ตัวหนังสือมาแปะไว้ใหม่
เพื่อ ระลึกถึงฟามหลังครั้งยังเอ๊าะ
สมัยที่เลือดเขียวมะกอก ในตัว
ยัง เดือดพล่านนนนน หุหุ



 
 

โดย: นู๋บี วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:22:02:26 น.  

 
 
 
พ.ร.บ. ยา - ค่ารักษาหารสาม - โครงการสวาปามเอื้ออาทร ?

มีโอกาสได้อ่าน เรื่องค่ารักษาหารสาม ในคอลัมภ์ชักธงรบ หน้า 3 ของ นสพ ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 11 ก.ย. 2546 ได้ความว่า คนเขียนไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ ยา
เกี่ยวกับ มาตรา 14 (3) ที่กำหนดให้ แพทย์ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์
เป็นเพียงผู้ตรวจรักษา ส่วนเภสัชกร กำหนดให้เป็นผู้จ่ายยา
( ซึ่งก็หมายความว่า ใช้ระบบเดียวกับ ต่างประเทศที่คนไข้ถือใบสั่งยาไปซื้อยาที่ร้านยา )

ดังรายละเอียด ในเวบเพจข้างล่างนี้
//www.thairath.co.th/thairath1/2546/column/dragon/sep/11_9_46.php

อ่านความคิดเห็นของคอลัมนิตส์ ท่านนี้แล้ว
ก็เลยอยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง
เพื่อนำเสนอมุมมองในอีกแง่หนึ่ง ของประเด็นนี้
ในฐานะที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ในฐานะเภสัชกรคนหนึ่ง....

บริการทางสุขภาพนั้นมันเกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิต
การใช้โปรโมชั่นเหมาจ่ายแบบค่าโทรศัพท์
กับเรื่องความเป็นความตายของชีวิต
มันก็ค่อนข้างเสี่ยงอยู่เหมือนกัน
ถ้าจะเอาชีวิตตัวเองมาผูกติดกับ ความสะดวก ความคุ้นเคยเก่า ๆ
ที่ดูเหมือน ว่า รู้สึกจะมั่นใจ

คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า
การที่แพทย์ตรวจ แล้ว จ่ายยา ติดตามผลการรักษานั้น
ถูกต้องเหมาะสมแล้วดีสำหรับคุณ ?

แพทย์ที่ดีนั้นมีมาก แต่ แพทย์พานิชย์ก็ยังมีอยู่
แล้วทำนบของจรรยาบรรณ
มันปิดกั้นความโลภที่เอ่นท้นของคนไม่ได้เท่าไร
การร่ำเรียนมาสูง ๆ
ไม่ได้หมายความว่า จิตใจของคน ๆ นั้นจะสูงส่ง เสมอไป
ทว่าบางครั้งการศึกษาสูง ๆ
ก็ช่วยให้สามารถกปิดความเลวของตัวเองได้แนบเนียนขึ้นต่างหาก

ปัญหาการจ่ายยาผิด และ ปัญหาการเลี้ยงไข้จึงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย

ยารักษาโรค ไม่ใช่ ม่าม่า โยเกิร์ต หรือปลากระป๋อง ที่วางขายตามห้างนะคะ
คุณอาจใช้ประสบการณ์ และวิจารณญาณ
เลือกม่าม่า สักซอง หรือ โยเกิร์ตสักถ้วย ได้ด้วยตัวเอง
แต่การเลือกใช้ยานั้นคุณจะใช้แค่เพียงแค่ประสบการณ์และวิจารณญาณ เฉย ๆ ไม่ได้
คุณต้องอาศัยความรู้เรื่อง เภสัชวิทยา มาช่วยในการพิจารณาด้วย

และ ไอ้เจ้าความรู้ทางเภสัชวิทยา
มันก็ไม่ได้มีให้เรียนดาดดื่น ในสมัยมัธยม
แล้วก็ไม่ใช่วิชาเลือกเสรีตอนเรียนมหาลัยด้วย
ถ้าคุณไม่ได้เรียนมาทางสาย วิทยาศาสตร์สุขภาพ
การที่คุณจะเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ก็ค่อนข้างลำบาก
แล้วอย่างนี้ คุณจะรู้ได้อย่างไร ว่า
ยาที่หมอสั่งจ่ายให้คุณนั้นดีที่สุดสำหรับคุณ
หรือต้องแปลงร่างเป็นหนูทดลองยานั้นเสียก่อน
ถึงจะรู้ว่า ยาที่หมอจ่ายดีกับตัวเองแค่ไหน ?

การกินยามันไม่ได้สักแต่ว่าหยิบยาเข้าปาก
ตอนเช้าสายบ่ายเย็นตามใบสั่งของแพทย์
ยาบางตัวต้องกินก่อนอาหาร เพื่อให้ดูดซึมดีขึ้น
ยาบางตัวต้องกินหลังอาหาร เพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยา
ยาบางตัวไม่ควรกินพร้อมกันเพราะจะไปต้าฤทธิ์กันเอง
ยาบางตัวต้องอธิบายวิธีใชเพิ่มเติม เช่น
ยาเหน็บ/สวน ทวารหนัก ยาสอดช่องคลอด ยาพ่น ยาหยอดตา
ยาบางตัวต้องอมใต้ลิ้นเท่านั้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ต่อหัวใจได้ทันที่
ถ้ากินลงไปจะถูกตับทำลายจนไม่สามารถออกฤทธิ์ได้

อยากถามว่า ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการใช้ยา
ลืมกินยา-ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
คุณจะหันหน้าไปปรึกษาใคร ?

บางคนอาจบอกว่า ปรึกษาแพทย์ หรือ พยาบาลที่คลินิกก็ได้ไม่เห็นยาก
ซึ่งก็ถูกต้องบางส่วน แต่คุณต้องไม่ลืมว่า
แพททย์นั้นจะเชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัยโรค
รู้ว่าเป็นอะไรแล้วจะจ่ายยาอะไรรักษา
แต่ก็จะไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกในเรื่องของยา
ทั้งในแง่การดูดซึมยา การเกิดอันตรกิริยา ( Drug interaction )
ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของยา วิธีใช้ยา
ซึ่งเป็นเรื่องที่เภสัชกรค่อนข้างที่จะรู้ละเอียดกว่า
ในขณะที่พยาบาลจะมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้แค่บางส่วนเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณคิดว่า คุณควรปรึกษาใคร ?

การจ่ายยาไม่ได้สักแต่ว่า จ่ายยาให้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง
แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาด้วย
เพื่อช่วยคัดกรองให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ถูกต้องเหมาะสมไป

ปัญหาการให้ยาผิด ไม่ใช่มาจากสาเหตุเพียงแค่ แพทย์ไม่ได้จ่ายยาเอง
แต่มันมีสาเหตุอื่นด้วย คุณรู้ไหมว่า

- แพทย์บางคนไม่ยอมเขียนชื่อยาบนซอง เพราะกลัวคนไข้จะไปหาซื้อยาที่อื่น แล้ว ไม่กลับมาที่คลินิกตน
- แพทย์บางคนสั่งใช้ยาตามความเคยชิน ทำให้ยาที่คนไข้กินเข้าไปต้านฤทธิ์กันเอง
- แพทย์บางคนสั่งจ่ายยาที่มีวิธีใช้ไม่เหมาะสม จนลดการดูดซึมของยา
ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าที่ควรจะได้รับ
- แพทย์บางคนสั่งจ่ายยาในขนาดที่มากเกินไปจนคนไข้เสี่ยงต่อการได้รับพิษจากยา
- แพทย์บางคนสั่งจ่ายยาที่ใช้อมใต้ลิ้น ให้คนไข้กิน
( ซึ่งยาตัวนี้ถ้ากินเข้าไปจะไม่ออกฤทธิ์ในการรักษาเลย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสั่งการกินเม็ดแป้งธรรมดา )
- แพทย์บางคนสั่งจ่าย เคาท์เตอร์เพน ไปทารูทวารหนักแก้คัน
( คิดสภาพแล้วกันว่าเวลาเนื้อเยื่ออ่อน ๆ ถูกยาหมองทาแล้วมันมัสภาพอย่างไง )
- แพทย์บางคนสั่งจ่ายยาที่คนไข้แพ้ ให้คนไข้กินจนคนไข้โคม่าและเสียชีวิตในที่สุด

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ต้องการจะแฉหรือใส่ร้ายใคร
เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า แพทย์เป็นคน ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องจักร
โอกาสพลั้งเผลอ ให้ยาผิดวิธีใช้ จึงมีอยู่ ถึงแม้จะไม่มาก
แต่คุณอยากให้เหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นกับ คุณหรือคนใกล้ชิfไหมล่ะ
ถ้าเราสามารถหาวิธีมาป้องกันได้ เราก็ควรทำมิใช่หรือ

แม้โอกาสที่จขะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้จะมีน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด
และหากมันเกิดบางครั้งก็ร้ายแรงจนเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิต
ถ้าคุณเลือกได้ คุณอยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณไหม ?
หากเลือกได้ คนเราทุกคนก็อยากจะได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองและคนใกล้ขิด ด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเตุผลดังกล่าวในบางประเทศแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ด้วยการคิดระบบรักษาโรคแบบแยกส่วนระหว่างการตรวจรักษา กับการจ่ายยา
ซึ่งก็คือ ระบบที่คนไข้ถือใบสั่งยาจากคลินิก ไปซื้อยาที่ร้านขายยา นั่นเอง
ข้อดีของระบบนี้ก็คือ

1. ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องยา ( เภสัช ) มาช่วยเป็นหูเป็นตา
เป็นปากเป็นเสียง แทนคนไข้ ในการพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยา
ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมในการใช้ยา ให้คนไข้ด้วย
เนื่องจาก คนไข้ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรค และยา เพียงพอ ที่จะไปคุยกับแพทย์ด้วยตัวเอง
เปรียบเทียบง่าย ๆ ระบบนี้ มันก็เหมือนประเทศที่มีทั้ง ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล
คอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด นั้นแหล่ะ
ฟังดูเหมือนการจับผิดซึ่งกันและกัน
แต่ถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เป็นสำคัญแล้ว
ระบบนี้จะช่วยป้องกันการผูกขาด และ การฮั้วยา ได้ค่อนข้างดีทีเดียว

2. ลดปัญหาการเลี้ยงไข้ การสั่งใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล
การค้ากำไรเกินควรจากการคิดราคายา เพราะคนสั่งยากับคนขายยา เป็นคนละคนกัน

3. เป็นการรักษาโดยเน้นผลประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญ
โดยมีการใช้สหวิชาชีพมาร่วมกันดูแลผู้ป่วย
เข้าทำตำรา 2 หัวย่อมดีกว่า หัวเดียว
เนื่องจาก 4 ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

คิดว่า คอนเซปต์ นี้ ต่างหากที่เรียกว่า
" การรักษาแบบองค์รวม " ซึ่งน่าจะทำให้ได้ประสิทธิผลมากกว่า
แบบ one man show ประเภทฉายเดี่ยว ข้ามาคนเดียว
( อีแบบนี้แถวบ้านอิชั้น เค้าเรียก ระบบ ผูกขาดทางการตลาดเจ้าค่ะ แหะ ๆ )


อืม... จากเหตุผลที่อธิบายดังกล่าว
คิดว่าคงทำให้หลาย ๆ คน ตาสว่าง เอ๊ย เคลียร์มากขึ้น

และสำหรับ ความวิตกกังวลที่หลายท่านกลัวว่า
ถ้า ร่าง พรบ.ยา ฉบับนี้ออกมา บริษัทยาฝรั่งก็จะตั้งร้านจ้างเภสัชฯ ขายยาสนุกมือ
ว่ากันว่า ร้านขายยาคนไทย ก็จะต้องเจ๊งไป เหมือนร้านโชห่วยเจ๊ง เพราะบริษัทฝรั่ง

สำหรับประเด็นนี้ คงต้องขออนุญาตยื้มคำพูดของบาท่านมาบอกว่า
เดี๊ยนรู้สึกว่าเบาเกินไป ยิ่งเบาลงไปอีก เมื่อได้ฟังฝ่ายเภสัชบอกว่า
ถ้า กฏหมายนี้ออกมา ร้านยาก็ต้องขายยาตามจำนวนที่แพทย์สั่งจ่าย
ในเมื่อ ผู้ที่กำหนดจำนวนยาให้เภสัชขายคือแพทย์
แล้วงี้จะขายยาได้สนุกมือ ได้ไงล่ะคะ
สู้ขายเองจ่ายเองกำหนดจำนวนเอง ไม่ดีกว่า เหรอ ?
เสิร์ฟเอง ชงเอง อย่างนั้น กำไรมากกว่าเห็น ๆ
 
 

โดย: นู๋บี วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:22:04:04 น.  

 
 
 
ส่วนประเด็นที่ บอกว่า น่าเป็นห่วงสุด ๆ ที่ว่า
เจอแพทย์ก็ต้องจ่ายค่าแพทย์ เจอเภสัชก็ต้องจ่ายเภสัช ที่มีบริษัทยาวางระบบแชร์ส่วนแบ่ง
ถามว่า ค่ารักษาตามกระบวนการหารสาม จะแพงขึ้นอีกซักเท่าไหร่?

อืม...อิชั้นจะขอเล่านิทานของเด็กผู้หญิงคนนึง ให้คุณฟังแล้วกัน
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ( แต่จริง ๆ ก็ไม่นานเท่าไรหรอก แค่ 10 ปีที่แล้วนี่เอง )
มีเด็กหญิงคนหนึ่งสมมุติว่า ชื่อ นู๋ส้ม
วันหนึ่งนู๋ส้ม นึกครึ้มอกครึ้มใจอะไรก็ไม่รู้
เลยเลิกแกว่งปากหาเท้า ตามปกติ
แล้วไปคว้าเข็มเย็บผ้ามาเจาะนิ้วโป้งตัวเองเล่นแก้เซ็ง

ผลก็คือ นิ้วอักเสบบวมเป่งมาก
จนแม่คุณต้องวิ่งโร่ไปหาหมอที่คลินิก
คุณหมอฟังนู๋ส้มพล่ามอาการ แล้วก็พยักหน้าหงึกหงัก
จับนิ้วโป้งนู๋ส้ม ขึ้นมาดู ราว 3 วินาที แล้วก็จดอะไรยึก ๆ ยือ
พร้อมกับสั่งให้นู๋ส้มไปรับยากับ จนท.หน้าร้าน

จนท. คนสวยที่อยู่หน้าร้าน
จ่ายยาแคปซูลฆ่าเชื้อ ให้ 20 แคปซูล กับ ครีมตลับจิ๋ว ๆอีก 1 ตลับ
รวมสิริค่ารักษา แล้ว 500 บาท เหนาะๆ
( 500 บาท สมัย 10 ปีก่อนนะคะ ไม่ใช่ พ.ศ 2546 )

ด้วยความเป็นห่วงสุขภาพตัวเอง
( กลัวนิ้วกุด แล้วไม่มี หนุ่ม ๆ มาแล )
นู๋ส้มเลยซักถามเรื่องการกินยาเพิ่มเติมกับ จนท.หน้าร้าน
ว่า เอ พี่ขาไอ้เจ้ายาก่อนอาหาร ที่หมอสั่งเนี่ย มันกิน ก่อนอาหารนานเท่าไรคะ

จนท. คนสวย ทำหน้างง
แล้วมองนู๋ส้มเหมือนจะถามว่า ทำไมเธอถามอะไรโง่ ๆอย่างนี้
อ่านภาษาไทยไม่ออกหรือไงยะ
จากนั้นเจ้าหล่อนก็ตอบแบบ กำปั้นทุบดินว่า
ก็กินตามที่เขียนไว้หน้าซองไงคะ
พูดจบก็เลิกสนใจนู๋ส้มหันไปสนใจกะการเก็บแบงค์สีม่วง เข้าเก๊ะแทน

และเมื่อนู๋ส้มโตขึ้น ได้เรียนได้รู้ได้อะไรหลายอย่างในชีวิตมากขึ้น
นู๋ส้มจึงรู้ว่า ไอ้แบ้งค์ 500 ที่ปลิวเข้าเก๊ะเงิน คุณหมอ น่ะ
แท้จริงแล้ว เป็น ค่ายา แค่ ร้อยกว่าบาท
ส่วนอีกราว 400 บาท เป็นค่าจ้างคุณหมอจับนิ้วโป้ง
เอ๊ย ค่า ตรวจวินิจฉัยโรค แหะ ๆ

แล้วก็ได้รู้อีกว่า หาก นู๋ส้ม เดินไปร้านยา
แทนที่ จะเข้า คลินิก นู๋ส้มจะเสียเงินแค่ร้อยกว่าบาท แล้วได้ยาแบบเดียวกัน

หรือถ้าตอนนั้น นู๋ส้มทันได้ใช้ ร่างพรบ. ยา ฉบับใหม่
นู๋ส้มคงจะจ่ายค่าจับนิ้วโป้ง เอ๊ยค่าตรวจ ซึ่งก็ไม่น่าเกิน 200 บาท
(นี่ มากกว่าค่า doctor free ที่ รพ. 10 เท่าแล้วนะ )
แล้วก็จ่ายค่ายา อีกประมาณ ร้อยกว่าบาท
อ้อ บวกค่าน้ำมันรถจากคลินิก ไปร้านยาด้วย ก็คง เป็น ประมาณ 320 บาท
ซึ่งวิธีนี้ นอกจากจะได้พบหมอแล้วเพื่อความมั่นใจแล้ว
นู๋ส้มก็ยังมีโอกาสซักถามเรื่องการใช้ยากับคุณเภสัชได้ด้วย
และก็มีเภสัชคอยเป็นกุนซือ เอ๊ย คนคอยให้คำปรึกษาแนะนำ
เกี่ยวกับยาในใบสั่งยที่คุณหมอให้มาด้วย

ถามว่า ถ้า คุณเป็นนู๋ส้ม คุณอยากจะเลือกโปรโมชันไหนล่ะ หืมห์?

อืม...การออก กม. เกี่ยวกับหยูกยานั้น บีมองว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะ
ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ เภสัช มาช่วยพิจารณานะ
แม้ว่า คนที่ได้ผลจาก พรบ. นี้โดยตรง คือ ผู้ป่วยก็เหอะ
แต่ก็นั่นแหล่ะนะพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องยา เรื่องสุขภาพ ของคนไทย
ยังไม่มากพอที่จะเลือกว่าสิ่งไหนดีที่สุดสำหรับตัวเอง

แล้วไอ้เรื่องการรักษา เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตน่ะ
มันจะใช้ความคุ้นเคย ความพอใจอย่างเดียวมาตัดสินไม่ได้
มันต้องดูถึงประโยชน์สูงสุดที่คนไข้ได้รับด้วย
ร่างพรบ.ยา ไม่ใช่การสำรวจความนิยมของดูเร็กซ์โพล นี่คะ
จะได้ใช้วิธีโหวตสำรวจความพึงพอใจได้
 
 

โดย: นู๋บี วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:22:04:59 น.  

 
 
 
โดยสรุปแล้ว
อิชั้นเห็นด้วยกับ ร่างพรบ.ยา ที่กำหนดให้
แพทย์ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ เป็นเพียงผู้ตรวจรักษา ส่วนเภสัชกร กำหนดให้เป็นผู้จ่ายยา
( ซึ่งก็หมายความว่า ใช้ระบบเดียวกับ ต่างประเทศที่คนไข้ถือใบสั่งยาไปซื้อยาที่ร้านยา )

แต่ก็คิดว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ที่จะใช้ระบบนี้โดยถ้วนทั่วกัน
เนื่องจาก
1. ทัศนคติ และ ค่านิยม ตลอดจน พื้นฐานความรู้ของคนไทย ยังไม่พร้อมที่จะรับระบบนี้
เนื่องจากไม่เคยชิน และ คงทำใจยอมรับได้ยาก ต้องไปคลินิก จ่ายเงินหลายบาท
เพื่อแลกกับกระดาษใบสั่งยา เพียงแผ่นเดียว ซึ่งหลายคนมองว่าไม่คุ้ม

2. ระบบร้านยาในประเทศไทย ยังไม่พร้อม ยังมีค่านิยมที่เรียกว่า เภสัชกรแขวนป้าย อยู่อีกมาก
หากยังแก้ไขตรงจุดนี้ไม่ได้ การใช้พรบ.ใหม่ก็คงไม่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการร่างพรบ.ยา ฉบับนี้
คงไม่มีประโยชน์ ถ้าผลักดัน พรบ.ยา เพื่อให้คนไข้เดินไปหาหมอตี๋

3. ระบบเครือข่ายการแชร์ข้อมูลระเบียนประวัติ ของคนไข้
ระบบเครือข่ายการประสานงานของ แพทย์ กับ เภสัชกรร้านยา
ตลอดจนเกณฑ์ราคายา ยังไม่พร้อม ยังมีความคลุมเครือ

ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า หากจะใช้ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ จริง ๆ
ควรจะจัดเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาด้วย
และควรจะจัดทำเป็นโครงการนำร่องใน พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเสียก่อน
แล้วจึงพิจารณาประเมินผลไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป


อืม... ประเทศชาติจำเป็นต้องก้าวไปข้าหน้า
ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงต้องย่ำอยู่กลับที่ หรือ ไม่ ก็ ถอยหลังเข้าคลอง
สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้จำเป็นต้องมีการแก้ไข กฏหมายต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้อง เหมาะสมกับยุคสมัย
นี่ไม่ใช่เป็นการ ทำตามขี้ปากนายฝรั่ง นายลำไย ที่ไหน
แต่เป็นการทำไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนไทยทั้งชาติต่างหาก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือความคิดเห็นเกี่ยวกับ การแก้ไข ร่างพรบ.ยา ในแง่มุมหนึ่งของอิชั้นเจ้าค่ะ

ด้วยจิตคาราวะ

ปล. อยากให้ทุกท่านช่วยเป็นหน้าม้า เอ๊ย ช่วยโพสแสดงความคิดเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง ร่าง พรบ.ยา ฉบับนี้ด้วย ว่าท่านคิดอย่างไร
ถือว่า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็แล้วกันนะคะ ^ - ^
 
 

โดย: นู๋บี วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:22:05:38 น.  

 
 
 
ส่วนอันนี้ เป็นฟามเห็นจากชาวบ้าน
ที่ร่วมแจมในกระทู้ที่เคยตั้ง


จากเวบสนุก


ความคิดเห็นที่ 5 ตอบโดยคุณ : ลิ้มเก๊าแซ [15 ก.ย. 2546 22:31:23] [202.133.177.xxx ]

สัพเพ สัตตา ขุนศึก ขุนส่า สัพเวสี สุขีโหตุ.......ไปที่ชอบๆเถิด อย่าได้ตามจองเวร รัฐบาลทักษิณอยู่เลยยยยยย.....





. ความคิดเห็นที่ 6 ตอบโดยคุณ : ตราชั่ง [15 ก.ย. 2546 22:45:55] [203.146.35.xxx ]

เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ท่านเจ้าของกระทู้นำเสนอมา

แต่หากการนำ พ.ร.บ. ยา มาใช้ในสภาพที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ ผมอยากฝากข้อที่ควรคำนึงถึง สักสองสามประการเช่น ในท้องที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ประชาชนจะทำอย่างไร, หากหมอต้องฉีดยา คนไข้จะต้องเดินทางเทียวไปเทียวมากี่รอบ, การสั่งยาของแพทย์ หากตัวยาที่แพทย์หาในท้องตลาดได้ยาก คนป่วยจะทำอย่างไร ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ หมอจะกล้าสั่งยาตัวใหม่ๆหรือไม่ เพราะหากสั่งไปแล้วไม่มีขายจะทำอย่างไร ซึ่งมันน่าจะมีผลถึงการพัฒนาการให้ยาของแพทย์ในอนาคต ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการจะบอกว่าเหตุผลของใครสำคัญกว่ากัน คงเป็นเรื่องที่สรุปไม่ได้ มันคงเหมือนปัญหาไก่กับไข่ ยิ่งพูดยิ่งวิจารณ์กันมากมีแต่จะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม

ทางออกที่ผมอยากจะนำเสนอ คือหากรัฐบาลมีความมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์โดยส่วนรวมมากกว่า ก็ควรตัดสินใจทำได้เลย โดยทำเป็นโครงการนำร่องอย่างที่ท่านเจ้าของกระทู้นำเสนอ แต่ผมอยากเพิ่มเติมว่า โครงการนำร่องนี้ให้ลองทำในเขตพื้นที่ๆมีความหนาแน่นของประชากรมากพอเสียก่อน เพื่อให้กลไกตลาดเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการควบคุมการแข่งขันให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนครับ

ขอเหน็บสักนิด ได้ข่าววงในว่า ขณะนี้มีคนระดับ รมต. กำลังกว้านซื้อร้านขายยาที่เป็น Franchise ของ Facino ได้หลายที่แล้ว ฮิๆ (สอดรู้สอดเห็นจัง) แล้วแบบนี้ พ.ร.บ. ยา จะผ่านไหมนี่





. ความคิดเห็นที่ 7 ตอบโดยคุณ : นายชิค. [16 ก.ย. 2546 11:04:40] [203.147.16.xxx ]

เห็นด้วยกับคนที่ post นะครับโดยเฉพาะข้อ 2. ผมมีเพื่อนเป็นหมอซึ่งมาจากครอบครัวระดับกลางเขาทนไม่ได้ที่จ่ายยาราคาไม่กี่บาท แต่เรียกเอาจากผู้ป่วยหลายร้อย (เพื่อให้เหมือนคลีนิคอื่น..) ซึ่งตอนนี้เขาเลิกคลีนิคไปแล้วเพราะทนทำแบบนี้ไม่ได้. อย่างว่าแหละผลประโยชน์ที่ได้มาแบบสบายๆ ใครล่ะอยากเสียมันไป.





. ความคิดเห็นที่ 8 ตอบโดยคุณ : รุ่นน้องพี่ที่ตั้งกระทู้ [17 ก.ย. 2546 13:55:47] [202.129.3.xxx ]

เห็นด้วยครับพี่
อีกอย่างนะ
ผมว่า
ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน






. ความคิดเห็นที่ 9 ตอบโดยคุณ : กาด [17 ก.ย. 2546 22:40:30] [203.209.50.xxx ]

อ่านไม่ใหวมันยาวเหลือเกิน





. ความคิดเห็นที่ 10 ตอบโดยคุณ : Sunichao@yahoo.com [18 ก.ย. 2546 15:04:30] [202.29.4.xxx ]

มันยาวดี มีสาระน่าจะเข้าข่ายเป็นบทความได้เลย มีประโยชน์ดี





. ความคิดเห็นที่ 11 ตอบโดยคุณ : rodthuk@hotmail.com [19 ก.ย. 2546 12:44:14] [203.113.67.xxx ]

เห็นด้วยกันกะยัยบุศ แพทย์ไม่ใช่วิชาชีพสำเร็จรูป เค้าสร้างวิชาชีพของเรามาเพื่อประโยชน์ทางด้านนี้ เค้าก็ต้องใช้วิชาชีพนี้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมสิเน๊าะ แต่เราก็ไม่เห็นด้วยไปซะหมดหรอกนะ เภสัชนิสัยเสียก็พัฒนานิสัยของตัวเองซะมั่ง อย่าให้เสียชื่อ คิดถึงคนอื่นเหมือนที่คิดถึงตัวเองบ้าง แล้วมันจะดีขึ้น สองวิชาชีพนี้ก็มาเถียงๆๆ กันอยู่ได้ ไอ้ที่ทำงานเนี่ย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเองนะคะ แต่ว่าเพื่อคนอื่นไม่ใช่เหรอ ทำแบบนี้รู้สึกจะขัดแย้งกันพิลึกแหล่ะ เน๊าะ เลิกทะเลาะกันแล้วมานั่งจับเข่าคุยกันดีกว่า อย่าลืมนะ ว่าคุณทำเพื่อคนอื่น ไม่ได้ทำเพื่อตัวคุณเอง





. ความคิดเห็นที่ 12 ตอบโดยคุณ : loop [21 ก.ย. 2546 09:53:21] [p203.155.14.xxx ]

ขอตอบคุณตราชั่ง ถ้าคุณอ่านรายละเอียด พรบ.ดีๆจะเห็นว่าเขาจะให้ใช้มาตราการนี้ก็ต่อเมื่อพื้นที่นั้นพร้อมเท่านั้นถ้าไม่พร้อมก็ไม่ใช้นะคะ อย่ากังวลไปเลยค่ะ สำหรับยาที่แพทย์จะจ่ายนั้นแพทย์ก็น่าจะทราบ limitว่ายาใดที่มีในร้านยาบ้างเพราะถ้ายาที่ advance เกินไปก็จะให้อยู่แต่ใน รพ. เท่านั้นนะคะ คนที่อยู่แวดวงนี้น่าจะทราบดีนะคะ





. ความคิดเห็นที่ 13 ตอบโดยคุณ : poe [23 ก.ย. 2546 22:41:04] [203.113.41.xxx ]

ก็เห็นด้วยกับร่างพรบ.ใหม่นี้เหมือนกันค่ะ แต่ก็คิดว่าพรบ.นี้จะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติคือทั้งหมอและเภสัชควรมีความพร้อมด้านความรู้และทักษะเพราะคิดว่าจะพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทัดเทียมต่างประเทศอย่างเดียวไม่พอ คนที่ปฏิบัติก็ควรมีคุณภาพเช่นเดียวกับระบบ อีกอย่างคือต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ด้วย เพราะถ้าพรบ.ใหม่นี้ใช้ได้ผลเพียงบางที่ก็คงไม่ได้ประโยชน์เต็มที่นัก แต่ก็ยังอยากให้มีการพัฒนาระบบการบริการสุขภาพตามพรบ.นี้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้มารับบริการมาก




จากเวบบอร์ดชั้นปี

ความคิดเห็นที่ 9


น้องบุศ ครับ
ตอนนี้ พวกแพทย์เขาวิพากษ์ วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก ว่า... เภสัช ..ไม่เขียนดีกว่า แต่น้องทราบไหมครับว่า สส. คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย กับเรื่องนี้มากที่สุด ได้กว้านซื้อร้านยาใหญ่ๆ และเตรียมเปิดเป็นร้าน ขายยาแบบ chain ไปแล้ว ครับ ลองดูนะครับ อีกหน่อจะไม่เห็นร้านขายยาเล็กๆแล้ว พรบ ที่เห็นตอนนี้ ยังเล็กน้อย คอยดูต่อไป ระวังจะตกเป็นเครื่องมือ แบบ ไม่รู้ตัวนะครับ
ในสีขาว ก็มีสีดำปน ในสีดำก็ยังมีสีขาวปนนะคัรบ ....
โดยคุณ ผ่านมา เมื่อ 10 ต.ค. 46 22:17:21



ความคิดเห็นที่ 10


ไม่รู้ว่าบุศเขียนอะไร แต่อยากบอกว่า พรบ ยาใหม่มันทะแม่งอยู่เหมือนกันนะ เราว่า ไม่ได้เข้าข้างใคร แต่อยากบอกให้รู้ว่า ตอนนี้ทักษินซื้อ รพเอกชนบางแห่ง (หลายแห่งเลยล่ะ)ไว้แล้ว และ ยายหมอหน่อยมันก็ซื้อ Fasino ไว้แล้ว จึงไม่แปลกใจที่จะมี พรบ นี้มาเพื่ออุ้มธุรกิจนี้ จริงๆแล้ว พวกเรา เภสัชแค่เป็นหนังหน้าไฟให้พวกมีอำนาจเท่านั้นแหละ อย่าพึ่งไปเต้นตามเค้า
โดยคุณ เจี๊ยบ อร(40210817) เมื่อ 14 ต.ค. 46 19:54:29


จากเวบไทยเอ็นจีโอ

ความคิดเห็นที่: 1
ขอคาระวะ.หนึ่งจอก
เป็นกำลังใจให้นะครับ..
มีสิ่งดี ดี ให้สังคมต้องช่วยกันแฉ นะครับ ขอย้ำ.ช่วยกันแฉ
ด้วยรักและหวังเหวิด
สายลม
sai191ngo@hotmail.com มีอะไรก้อระบายมาได้นะครับตามฝาส้วมด้านบน

โดย : สายลม เมื่อ : 7/11/2003 02:04 AM




จากเวบพันทิป


ความคิดเห็นที่ 12

ไม่ทราบจะสื่ออะไรครับ โพสท์ซะขนาดนี้

แต่ว่าหัวข้อกระทู้ของคุณน่ะ ที่บอกว่าต่างประเทศใช้ระบบแบบนี้กรุณาบอกด้วยนะว่าเป็น เกาหลีกับฟิลิปปินส์ซึ่งพังไม่เป็นท่ามาแล้ว และยังมีปัญหาเรื้อรังอยู่อย่างนี้

และขอบอกไว้ ณ ที่นี้เลยว่า "ประเทศสหรัฐอเริกาไม่มีกฎหมายใดๆทั้งสิ้นมาบังคับให้หมอห้ามขายยา" ในด้านความรู้แม้หมอไทยจะเก่งไม่เท่า แต่หมอไทยก็มีความรู้เพียงพอในการรักษาที่ได้มาตรฐาน ส่วนด้านจริยธรรม คุณแน่ใจหรือว่า หมออเมริกามีจริยธรรมสูงกว่าหมอเมือง

จากคุณ : สามีหมอ - [ 6 พ.ย. 46 11:47:52 A:203.170.191.1 X: ]






ความคิดเห็นที่ 13

ทำไมไม่เห็นเจ้าของกระทู้พวกถึงอีกด้านบ้างล่ะคะ

มีคนมากมายไปซื้อยาเองตามร้านขายยาโดยบอกแค่อาการแล้วเภสัชกรก็จัดยาให้ ที่คุณบอกว่าแพทย์และพยาบาลไม่มีความรู้เรื่องยาลึกซึ้งเท่าเภสัช แล้วเภสัชมีความรู้และทักษะในการวินิจฉัยโรคแค่ไหนคะ คิดว่าถ้าจำเป็นต้องเลื่อกก็เลือกหมอจ่ายยาดีกว่าให้เภสัชวินิจฉัยค่ะ

การออกกฏหมายไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จิตสำนึกของผู้ที่นำกฏหมายมาใช้ต่างหากที่เป็นสิ่งจำเป็นต้องปรับปรุง รวมทั้งจิตสำนึกของแพทย์ เภสัชกร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆด้วย ถ้าทำได้ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องกฏหมายอย่างที่เป็นอยู่นี้หรอกค่ะ

ไม่มีผลสรุปเรื่องนี้จะออกมาอย่างไร ก็ไม่เชื่อว่าคนไทยจะได้อะไรดีขึ้น ถ้าจิตสำนึกของผู้ให้บริการเหล่านี้ยังเหมือนเดิม

จากคุณ : Pink Tulip - [ 6 พ.ย. 46 12:26:08 ]






ความคิดเห็นที่ 14

พิมพ์ตกไป จาก #12
บรรทัดสุดท้าย "หมอเมืองไทยครับ"



จากคุณ : สามีหมอ - [ 6 พ.ย. 46 13:52:43 A:203.170.191.1 X: ]






ความคิดเห็นที่ 15

โพสต์แบบไม่มีจิตสำนึก ทำให้ลดความน่าเชื่อถือ

จากคุณ : หมาน้อยธรรมดา - [ 11 พ.ย. 46 08:30:24 ]



ส่วน ลิ้งค์อันเนี้ยะ แถมจร้าาาาาาา

 
 

โดย: นู๋บี วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:22:07:52 น.  

 
 
 
ค่ารักษาหารสาม

มาตรา 14 (3) ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ แยกแพทย์ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ เป็นเพียงผู้ตรวจรักษา ส่วนเภสัชกร กำหนดให้เป็นผู้จ่ายยา เป็นประเด็นที่กฤษฎีกา กำลังตรวจข้อความครับ

กฤษฎีกาเองก็ไม่ค่อยแน่ใจ ถามกลับมาที่สาธารณสุข สาธารณสุขก็เกิดอาการหันรีหันขวาง หันไปหาถาม แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาพยาบาล...

จะเอายังไง?

หากสดับตรับฟังจากกระแสที่ออกมา ก็แน่นอน กลุ่มแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่เปิด คลินิกไม่เห็นด้วย เพราะถูกแย่งอำนาจการจ่ายยา โอกาสที่จะได้กำไรจากค่ายา ซึ่งใช้วิธีเหมารวมกับค่ารักษา ก็จะหมด

มองมุมนี้ ดูเป็นการช่วงชิงกำไรระหว่างแพทย์กับเภสัชฯ... แต่ความจริงที่มากกว่า แพทย์วินิจฉัยโรคแล้ว ก็จ่ายยา ยาอ่อนยาแรง ความถี่มากน้อย เป็นกระบวนการรักษาติดพัน

คนไข้รักษาไปแล้ว ถึงเวลากลับมาตรวจอีก หมอก็จะวินิจฉัยใหม่ เลิกให้ยา หรือให้ยาต่อ

วงจรนี้ดูจะเป็นธรรมชาติของการตรวจรักษา ที่คุ้นเคย และก็ดูจะมั่นใจกันมานาน

แพทย์เรียนวิชารักษาโรค มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจโรค ความรู้การให้ยาฐาน ความรู้เดียวกัน การให้แพทย์ตรวจแล้วจ่ายยา ติดตามผลการรักษา นี่คือการรักษาแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน

ประสิทธิผลน่าจะมากกว่า

ในความรู้สึกของชาวบ้าน ยังคุ้นเคยกับยาของหมอ จนไม่รู้เหมือนกันว่า เมื่อต้องถือใบสั่งยาไปซื้อจากเภสัชฯ ความรู้สึกมั่นใจจะลดลงไปหรือเปล่า

แต่ฝ่ายเภสัช เขาก็มีเหตุผล การจ่ายยาผิดจากคลินิกมีมาก เป็นปัญหากระทบระบบสาธารณสุข เพราะแพทย์มักใช้ผู้ช่วยจ่ายยา แยกให้หมอตรวจรักษา แล้วไปซื้อยาจากเภสัชฯ ปัญหานี้ก็หมด

เหตุผลการให้ยาผิด เพราะแพทย์ไม่ได้จ่ายยาเอง ฟังแล้วไม่เคลียร์ เท่าที่ผมมีประสบการณ์ คลินิกเล็กๆแพทย์มักจ่ายยาเอง คลินิกใหญ่ก็มักใช้พยาบาล พื้นฐานความรู้เรื่องยา

ผมเข้าใจว่าน่าจะพอ

น้ำหนักฝ่ายที่ต้องการแยกการจ่ายยาจากมือหมอ ผมรู้สึกว่าเบาเกินไป ยิ่งเบาลงไปอีก เมื่อได้ฟังฝ่ายหมอบอกว่า ถ้ากฎหมายนี้ออกมา บริษัทยาฝรั่งก็จะตั้งร้านจ้างเภสัชฯ ขายยาสนุกมือ

ว่ากันว่า ร้านขายยาคนไทย ก็จะต้องเจ๊งไป เหมือนร้านโชห่วยเจ๊ง เพราะบริษัทฝรั่ง

ประเด็นนี้ ผมยังเห็นเป็นประเด็นรอง...ข้อต่าง ไม่ว่าราคา หรือมาตรฐานจากร้านขายยา ที่มีเภสัชไทยหรือฝรั่ง คงไม่ต่างกันมากนัก

ประเด็นน่าห่วง ผมเห็นประเด็นเดียว เจอแพทย์ก็ต้องจ่ายค่าแพทย์ เจอเภสัชก็ต้องจ่ายเภสัช ที่มีบริษัทยาวางระบบแชร์ส่วนแบ่ง ถามว่า ค่ารักษาตามกระบวนการหารสาม

จะแพงขึ้นอีกซักเท่าไหร่?

จะออกกฎหมายมีปัญหา... เที่ยวไปถามแพทย์ ถามเภสัช ทำไมไม่ถามชาวบ้าน

ถ้าเขาบอกตรงกัน ยังมั่นใจกับการรักษาของแพทย์แบบเดิมๆ ซึ่งหากจะว่าไป ก็เข้ายุคเข้าสมัยกับกระบวนการบริหารจัดการ แบบวันสต็อปเซอร์วิส ของเก่าดีอยู่แล้ว สะดวกประหยัด มั่นใจได้มากกว่าอยู่แล้ว

จะไปแก้ทำไม? กฎหมาย หือ! หรือว่านายฝรั่งสั่ง.

ที่มา :
คอลัมภ์ชักธงรบ หน้า 3 ของ นสพ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 ก.ย. 2546
 
 

โดย: นู๋บี วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:22:09:08 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

นู๋บี - บัวเหล่าที่ 5
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add นู๋บี - บัวเหล่าที่ 5's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com