ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ : คิดให้ดีก่อนเทใจ

กระแส “ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” หรือที่เรียกว่า การปฏิรูปการเมืองรอบสองนั้น ช่างเป็นคำตอบที่เหมาะสมลงตัวยิ่งสำหรับ “จุดหมาย” ในกระบวนการ “ไล่ทักษิณเพื่อแผ่นดินไทย” ที่ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพยายามต่อสู้ปลุกปั้นขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากที่แล้วมา “เป้าหมาย” ของการออกมาไล่นายกนั้นเป็นไปด้วยความไม่ชัดเจน และนำไปสู่คำถามที่ใครๆก็ตอบยาก คือ “ถ้านายกลาออก ยิงตัวตาย หรือหนีออกนอกประเทศ แล้วจะให้ใครเป็นนายก แล้วจะทำอย่างไรต่อไปกับประเทศไทย?”

ผมเชื่ออย่างยิ่ง ว่า ถ้าใครสักคนถือไมค์ไปที่สวนลุมในวันศุกร์ แล้วไปถามว่า “หากทักษิณลาออก คุณอยากเห็นใครเป็นนายก” เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่จะเป็นการอึกๆอักๆ ไม่รู้จะออกไหนดี เพราะการไล่นายกหลังการเลือกตั้งใหญ่ไม่ถึงปีนั้นมันเร็วไปจนกระทั่งทางฝ่ายค้านเองก็ยังไม่สามารถปั้นตัวแข่งขึ้นมาได้ทันในขณะนี้

ดังนั้นการชูธง “ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” จึงเป็นการเสนอทางออกที่ชาญฉลาด เพราะนอกจากจะฟังดูดีสมเป็นข้าแผ่นดินนักจงรักภักดีแล้ว ยังสามารถ “ซื้อเวลา” ที่จะตอบคำถามไปได้อีกว่าการเมืองหลังจากทักษิณจะเป็นไปในทางใด เพราะต้องรอทั้งกระบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญเก่าเพื่อการดังกล่าว ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เตรียมการเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่ต่ำกว่าสองปีแหละครับ ถึงได้เห็นหน้านายกใหม่ หรือรูปแบบการเมืองใหม่

แต่แนวทางนี้มันฟังดูดีและซื้อเวลาได้ดีอย่างที่ว่า ประกอบกับมี “นักกฎหมายมหาชน” บางกลุ่ม ที่เชื่อว่าเป็น “บิดา” แห่งกฎหมายมหาชนผู้สมควรยิ่งในการชี้นำทิศทางของรัฐธรรมนูญประเทศ มุ่งจะขายไอเดียการ “ร่างรัฐธรรมนูญโดยอภิชนาชน” (Elite) ของตัวเองอยู่แล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นการจับมือกันแทคทีมที่เข้าท่าและต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เหมือนเหยินน้อยกับเอโต้แห่งบาเซโลน่า – คนนึงได้ธงไว้ตอบคนเวลาไล่ทักษิณ อีกคนได้ขายไอเดีย ไม่เพลียใจ

ผมอยากให้เราตั้งสติกันนิดหนึ่งก่อนเทใจไปกับข้อเสนอดังกล่าว ที่ฟังดูดี แต่มันจะคุ้มแล้วหรือ ? กับการที่เราจะ “ทิ้ง” รัฐธรรมนูญ (ที่ครึ่งหนึ่งเราเคยเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่มหาชนจะพึงร่างกันได้) รัฐธรรมนูญที่มาโดยวิธีประชาธิปไตยมากที่สุดครั้งหนึ่ง และเราใช้กันมาแปดปีแล้ว ไปสู่ “รัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าดีกว่า” แต่ยังมองไม่เห็น เพราะมีเพียง “ข้อเสนอและกรอบ” จากนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไอ้ที่เห็นจะเป็นรูปธรรมหน่อย ก็คือวิธีการร่าง ซึ่งมุ่งเน้น “ปราชญ์” หรือเฉพาะกลุ่มคนผู้มีปัญญาในสังคมเป็นผู้กำหนด ประชาชนคนไทยมีสิทธิเพียง “เอา” หรือ “ไม่เอา” รัฐธรรมนูญแสนวิเศษที่ปราญช์ท่านร่างขึ้นมา ?

ผมขอเตือนความจำบางอย่างไว้สองสามข้อดังนี้

เราต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราไม่ได้เสียเฉพาะรัฐธรรมนูญไป แต่เราจะต้องทิ้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเดิมไปด้วย และแม้กฎหมายบางฉบับไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยสภาพ แต่มันได้ถูกร่างมาโดยมีพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น กฎหมายก่อตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร กฎหมายที่อนุวัติการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายพวกนี้ก็อาจะจะต้องยกร่างใหม่ หรือแก้ใหม่ หากรัฐธรรมนูญใหม่มีหลักการที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวจากจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

นอกจากนี้ แนวบรรทัดฐานต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญก็ดี แนวการดำเนินการขององค์กรรัฐสภาหรือฝ่ายบริหารก็ดี เป็นอันต้องทิ้งไปหมด

การเลิกรัฐธรรมนูญเก่า และจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีงานที่ต้องทำมากมาย และมี “ต้นทุน” กว่าแค่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น

และเราต้องไม่ลืมว่า กฎหมายนั้นเป็นศาสตร์ทางสังคม ที่ไม่เหมือนวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สังคมศาสตร์อื่นๆ ที่อาจทดลองได้ในห้องทดลอง หรือทำโมเดล ตั้งสมการทดสอบ หรือจัดการทดลองกลุ่มเล็กได้ (แบบเศรษฐศาสตร์)

แต่การทดลองทางกฎหมาย มีทางเดียวไม่มีทางเลือก คือการนำกฎหมายนั้นใช้บังคับในสภาพจริง แล้วเก็บข้อมูล ข้อดี ข้อเสีย ช่องว่าง ข้อผิดพลาด ข้อที่เหมือนจะดีแต่ปฏิบัติไม่ได้ ข้อบกพร่องที่คาดไม่ถึง และนำไปสู่การตีความ อธิบาย การอุดช่องว่าง การวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับกฎหมายนั้น รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

ขอเรียนว่าไม่มีระบบกฎหมายใดในโลกที่สมบูรณ์ทันทีเมื่อยกร่างประกาศใช้ กฎหมายทุกระบบจะต้องผ่านประสบการณ์ในการใช้ และการแก้ไข ตีความ อุดช่องว่าง ยิ่งนาน ยิ่งสมบูรณ์

ดังนั้น มันคุ้มแล้วหรือ กับการที่จะ “ทิ้ง” รัฐธรรมนูญที่เราได้ทดลองในระบบสังคมไทยและประเทศไทยมาเกือบสิบปี ทิ้งไปง่ายๆ ทั้งๆที่เรามี “ผลการทดลอง” อยู่แล้วเต็มมือ – เรารู้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญนี้ว่ามีตรงไหน เรารู้ว่ามีข้อความตรงไหนที่กำกวมต้องตีความ เรารู้ว่าจุดใดในรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้แต่ทำไม่ได้ หรือก่อภาระและต้นทุนแก่ประเทศเกินสมควร และเรามีบรรทัดทางรัฐธรรมนูญจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรตามรัฐธรรมนูญมากมาย (ดีบ้าง ห่วยบ้าง ไม่เป็นไร อันดีเราเก็บ อันห่วยเราแก้)

แต่กับรัฐธรรมนูญใหม่ เราต้องทิ้งผลการทดลองเหล่านี้ไปแล้วเริ่มใหม่ทั้งหมด... กับเนื้อความของรัฐธรรมนูญที่เราไม่เห็น และยังไม่เห็นในอนาคตอันใกล้ และถึงเห็นแล้วก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มันจะสงผลดี หรือก่อปัญหาใดๆในระบบการเมืองบ้างหรือไม่ เพราะมันไม่ได้ทดลองใช้งานในสภาพการใช้งานจริง ในสังคมที่ไม่เหมือนใครอย่างประเทศไทย

หากไม่พอใจรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะทำอย่างไร ? และประเทศไทยเราจะเข้าสู่กระบวนการทดลองทางรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปอีกกี่ครั้ง ?

และที่อยากจะบอกให้ไม่ลืม คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็มาจาก “ต้นตำรับแนวคิด” ของนักวิชาการชั้นบรมครูท่านดังกล่าวนั่นเอง ที่เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Constitutionalism: ทางออกของประเทศไทย ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยข้อเสนอหลักของบรมครูท่านนั้น คือข้อเรียกร้องให้สร้าง “รัฐบาลที่เข้มแข็ง” แก้ไขความอ่อนแอของรัฐบาลระบบเก่าที่เรียกว่ารัฐบาลผสม (coalition government) ที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคมาร่วมให้การสนับสนุนทำให้รัฐบาลผสมขาดนโยบายหลักของรัฐบาลที่ชัดเจนและแน่นอนเพราะรัฐบาลผสมจำเป็นรอมชอมในเรื่องของนโยบายและผลประโยชน์ทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ความจำเป็นดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพและชัดเจนเท่านั้น แต่ยังทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มีความแน่นอน... ที่เหลือโปรดหาอ่านเอาได้จากห้องสมุดกฎหมายใกล้บ้านท่าน

ในตอนนั้น แนวความคิดของบรมครูท่านนั้นได้รับการยอมรับอย่างมากในแวดวงวิชาการกฎหมายมหาชน นักศึกษากฎหมายมหาชนทุกคนต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ และเล่มอื่นๆของท่าน ส.ส.ร. ในสมัยนั้นได้นำแนวความคิดของท่านไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ปี ๒๕๔๐) จนกระทั่งปรากฏแนวทางการร่างไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญจนถึงทุกวันนี้

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันร่างและประกาศใช้เสร็จใหม่ๆ นักกฎหมายในแวดวงของท่านบรมครู ต่างออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญว่าท่านนี่แหละที่เป็น “บิดา” ผู้ทรงคุณยิ่งต่อการปฏิรูปการเมืองไทย

แต่ในวันนี้ เราได้ผลการทดลองออกมาแล้วว่า แนวทางการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งของท่านนั้น ก่อให้เกิด “อสูร” ที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้น ตั้งแต่นั้นมา ขบวนการทวงบุญคุณประเทศก็เงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีใครกล้าพูดถึง “ต้นตำรับแนวคิด” ที่ทดลองกันจนเป็นอสูรร้ายออกมาได้นี่กันอีกเลย

และผมขอแจ้งว่า ท่านบรมครู และนักวิชาการกลุ่มเดิมนั่นแหละครับ ที่เป็นผู้เสนอให้ “ถวายคืนพระราชอำนาจ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (โดยอภิชนาชน)”

ผมได้แต่เกาศีรษะ ว่า ปู่ๆ น้าๆ เขาจะทดลองทางนิติศาสตร์กับประเทศผมไปอีกเท่าไร ... ถ้าผมไม่เป็นอะไรตายไปในเร็ววัน ผม และคนรุ่นผมนี่แหละที่จะต้องเป็น “หนู” ทดลองให้ท่าน

ผมไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดีแล้ว เลิศแล้ว ไม่ควรแก้ไข
ผมมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทดลองมาแปดปี พบข้อเสียจำนวนมาก พอๆกับข้อดี และเป็นเวลาอันสมควรที่เราจะแก้ไขกันได้แล้ว

แต่นั่นหมายถึงการแก้ไขในจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นจุดๆ และพัฒนาในจุดอื่นๆด้วย บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเดิม ที่เคยผ่านการทดลองมาแล้วอย่างโชกโชนในสภาพการเมืองไทย เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาของประเทศมากขึ้น

ผมยินดีที่จะช่วยสนับสนุนข้อเสนอของฝ่ายใดก็ตาม ที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างเป็นระบบ มีการวิจัยผลดีผลเสีย และนำเสนอแนวทางแก้ไข รวมทั้งอาจจะยกร่างแก้ไขเป็นตุ๊กตามาให้นักวิชาการ ผู้รู้ ประชาชนผู้สนใจถกกัน แก้กันว่า ข้อเสนอนั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพียงไร และอาจจะก่อปัญหาใดๆเพิ่มหรือไม่

ดีกว่าการชี้นิ้วอย่างกราดเกรี้ยวว่ารัฐธรรมนูญนี้เลวทั้งฉบับ ล้มเหลวอย่างช่วยไม่ได้ สมควรเผาทิ้งแล้วเชิญปราชญ์ๆ มาร่างกันใหม่

ดีกว่าการชี้หน้าประชาชนว่า มึงโง่ก็อย่ามายุ่ง ให้เราคนฉลาดร่างกัน เดี๋ยวเสร็จแล้วค่อยมาดูว่าจะเอาหรือไม่เอา


ผมขอย้ำด้วยประโยคเดิมๆอีกครั้ง

แล้วจะทดลองเชิงนิติศาสตร์กันอีกกี่ที กับประเทศไทยของผม ?


Create Date : 28 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2548 9:58:20 น. 17 comments
Counter : 760 Pageviews.  

 
อืมมมม


อ่านแล้วคิดเหมือนเจ้าของบล็อกค่ะ


อีกนานแค่ไหน....




โดย: มรกตนาคสวาท วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:10:22:48 น.  

 
เห็นข้อเสนอบางข้อเสนอของฝ่าย ถวายคืนพระราชอำนาจแล้วก็รับไม่ได้อยู่หลายข้อเสนอ
อย่างให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง
70 เปอร์เซ็นต์

เราเริ่มต้นนับหนึ่งกันมาแล้วกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แต่ท่านๆ ทั้งหลายจะให้เรากลับไปติดลบหรือไร

ดีใจที่คนอยู่กับกฎหมาย ออกมาเสนอความคิดเห็นค่ะ


โดย: grappa วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:38:26 น.  

 
อือ.นั่นสิคะ

เรายังเป็นเจ้าของประเทศด้วยหรือเปล่า


โดย: Batgirl 2001 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:48:43 น.  

 
นั่นดิ


โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:52:24 น.  

 
เยี่ยมครับ เฉียบคมเช่นเคย

เรื่องที่คุณบุญชิตฯ เสนอมาผมเห็นด้วยทุกกรณี

ว่าแ่ต่มีใครได้ศึกษาหนังสือ เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ ของ อาจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บ้างหรือเปล่าครับ

ผมอ่านผ่านๆ เพราะซีรี่ส์นี้มีถึงสามเล่ม แถมเืนื้อหาดุดันเหลือเกิน ถ้าจะอ่านคงต้องขอเวลาและกำลังใจดีๆ

เท่าที่พอสรุปได้บ้างจากความทรงจำ ก็เห็นอาจารย์วิเคราะห์ปัญหาของกฎหมายรัฐธรรมนูญในเชิงอภิสถาบัน (super structure) ตามแนวทางเศรษฐศาสตร์สถาบัน และวิเคราะห์ในลักษณะของตลาดการเมือง : สไลด์หน้า 13

ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ในสายตานักเศรษฐศาสตร์) หลายประการ อาทิเช่น การจำกัดวุฒิการศึกษาของ สส และการกำหนดให้การเืลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน เป็นต้น

ไม่รู้นะครับ

ผมเชื่อว่าสังคมรุ่นใหม่จะมีเครือข่ายปัจเจกชนที่ไม่เป็นทางการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ต้นทุนในการเข้าร่วมเครือข่ายแบบนี้ ถูกลงกว่าสมัยก่อนเยอะ

และไม่แน่หรอกครับเครือข่ายเหล่านี้ อาจได้ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทยในอนาคต เหมือนที่กำลังบทบาทเพิ่มมากขึ้นในระดับนานาชาติมากขึ้นทุกที


โดย: สหายสิกขา IP: 203.150.208.66 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:04:51 น.  

 
ขอบคุณคุณสหายสิกขาสำหรับลิ้งค์นะครับ ไว้ว่างเรียน (ผ่านอาทิตย์นี้ไปได้) ผมจะค่อยๆตามอ่าน

ส่วนแนวความคิดเรื่องการให้ สว. มาจากการแต่งตั้ง 70 % นั้น เป็นความคิดที่ไร้สติแบบน่าขนลุก

เพราะในทางปฏิบัติ แม้จะได้ชื่อว่า ส.ว. ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง แต่แน่นอนว่า ทรงไม่สามารถไปเลือกหาบุคคลมาเป็น สว. ด้วยพระองค์เองเป็นแน่

ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้สมควรมาเป็นส.ว. ดังนั้นสมัยนั้นเราถึงมีช่างตัดผมของนายกมาเป็น สว. หรือคนกลุ่มผู้ดี ไฮโซ ฯลฯ ก็ได้ด้วย

หรือถ้าจะกำหนดให้องคมนตรีเป็นผู้เสนอรายนาม สว. ต่อพระมหากษัตริย์ ก็นับเป็นอนันตริยกรรมต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างใหญ่หลวง เพราะเท่ากับเป็นการลากสถาบันลงมากลั้วกับการเมืองแบบหมิ่นเหม่ที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่า องคมนตรีเป็นตำแหน่งเฉพาะตำแหน่งเดียวตามรัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ในการแต่งตั้งบุคคลมาช่วยทรงงานต่างพระเนตรพระกรรณ

ตำแหน่งองคมนตรีจึงต้องเป็นตำแหน่งที่ "สะอาด" ทางการเมืองมาก เพราะใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ที่สุด

จะเป็นอย่างไร ถ้าองคมนตรีถูกลากลงมาใช้อำนาจเชิงการเมืองขนาดนี้ ???

ไม่นับการเผชิญหน้า ระหว่าง สว. ฝ่ายแต่งตั้ง กับ สว. ฝ่ายเลือกตั้ง ที่อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรหลายๆอย่างไปอีก

เริ่มมองเห็นอันตรายของการพูดแบบไม่รับผิดชอบหรือยัง ?

แต่คนพูดคงไม่คิดอะไร นอกจากพูดอะไรก็ได้ ให้มันฟังดูเป็น "นักจงรักภักดี" ที่ดี พูดแล้ว "ขาประจำพระราชอำนาจ" ได้เฮ เป็นใช้ได้

หัวเด็ดตีนขาดผมก็จะค้านครับ

เกลียดทักษิณกันอย่างไร แต่ทำถึงขนาดล้มล้างระบบประชาธิปไตยที่กำลังเริ่มเป็นตัวแบบนี้ มันไม่ไหว

ถ้าจะเอากันถึงขาดนี้ ปฏิวัติไปเลยดีกว่า เฮ้อ...


โดย: จขบ. IP: 81.251.157.121 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:15:07:11 น.  

 
เห็นด้วยยิ่งกับข้อคิดคมคาย

ปัญหาที่แท้ของเรื่อง คือ ปัญหาความไม่รอบคอบในการดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ

ความไม่รอบคอบดังกล่าว อาจเป็นได้ทั้งความไม่รอบคอบที่จงใจ เพราะมีวาระโค่นล้มนายกแอบแฝง หรืออาจเป็นความไม่รอบคอบที่ไม่จงใจ คือ ไม่รอบคอบในความหมายที่หมายที่แท้จริง

ไม่ว่าจะเป็น ความไม่รอบคอบแบบใด แต่มันก็คือ ความไม่รอบคอบ อยู่ดี

ความไม่รอบคอบดังกล่าวนำไปสู่ การผ่านเลยทางการตรวจสอบ ปัญหา และต้นเหตุของปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญนั้น แก้ได้ แต่มิใช่ แบบแก้ผ้าเพื่อเสพกามขอรับ

ก่อนจะแก้ ตรวจให้ดี ก่อนว่า รัฐธรรมนูญนี้มีภูมิหลังอย่างไร ปัญหาของการบังคับใช้มีอะไรบ้าง ผมเคยทำวิจัยเสนอปกเกล้าฯแบบถูกยัดเยียดจากเจ้านายให้ทำ พบปัญหาที่มีคนพูดมากมาย แต่ประเด็นยังเปะปะมาก การจะได้มาซึ่งปัญหาที่แท้ ต้องรอการตกตะกอนอีกนานพอสมควร

รัฐธรรมนูญเรามีภูมิหลังที่น่าประทับใจ เพราะ ผ่านกระบวนการผลักดันทางการเมืองมาสวยงาม เป็นความรับรู้ร่วมกันของประชาชน แต่ก็มีข้อติติง คือเป็นรัฐธรรมนูญที่รวบรัดความคิดไว้ที่คนบางกลุ่ม คือสสร.และมีผู้กล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญบนฐานของการเจรจาต่อรอง ปัญหานี้คงเป็นสมมุติฐานของโรคได้ในระดับนึงหากจะแก้ แต่ต้องตรวจสอบกันจริงจังครับ ว่าสมมุติฐานนี้เป็นจริงหรือไม่

รัฐธรรมนูญเรา มีคนเสนอให้แก้ในประเด็นโน้น นี้ เยอะมาก แต่ยังเปะปะจนจับจุดไม่ถูก ล่าสุด ครม เสนอแก้แต่เรื่อง กรรมการสรรหาองค์กรอิสระสามประเด็น ปัญหาที่กระจัดกระจายเหล่านี้ ยังต้องใช้เวลามานั่งสาง สาว สรุป ตกผลึก กันอีกเยอะ


การที่ อ.อมร เสนอออกมา ผมคิดว่า เป็นการไม่รอบคอบ ใจร้อน ก็เพราะ มีงานวิจัยกี่ชิ้นที่นำเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ (ต้องถามถึงคุณภาพงานด้วยนะ) มีการรับฟังความเห็นอย่างเป็นระบบจริงๆจากทุกฟากฝ่ายกี่ครั้ง นอกจากการประชุมที่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องที่นักวิชาการจัดขึ้น มีการเหลือบแลข้อวิจารณ์จากศาสตร์อื่นๆ เช่น ของ อ.รังสรรค์ บ้างหรือไม่

ทั้งหมดผมคิดว่า การแก้ รธน.หากทำในตอนนี้ ก็คงไม่เกิดประโยชน์มาก และคงต้องไปแก้อีกในอนาคตอันใกล้ เพราะ มันไม่มีเวลามากพอที่จะสำรวจปัญหารัฐธรรมนูญไทยที่ไม่ใช่ดูรัฐธรรมนูญแบบเรียงมาตรา แต่ต้องตรวจสอบปัญหาทางการเมืองทั้งระบบ ด้วยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ยั่งลึก และเป็นระบบ ซึ่งในที่สุด เราก็ไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงได้ และก็เลือกมรรคแบบนำเข้าด้วยพฤติกรรมแบบลวกๆของคนที่เรียกว่าตนเป็น Elite

การใช้เวลาดู การตกผลึก อีกสักนิด เพื่อเข้าถึง ปัญหาแบบไทยๆ สาเหตุแบบไทยๆ มรรคแบบไทยๆ (อาจนำเข้ามาแต่ต้องคล้องกับปัญหาและสาเหตุไทยนะ) เพื่อเราจะได้มีการเมืองดี แบบไทยๆ

รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ต้องใจเย็น รอบคอบ และเน้นการมีส่วนร่วมขอรับ

ด้วยความและคารวะ แด่ครู บา อาจารย์ ทุกคนครับ


โดย: crazycloud IP: 61.90.250.73 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:16:20:19 น.  

 
บ้านเมืองเรา มันชักเพี้ยนกันหลายแห่ง ...เอาอารมณ์เป็นที่ตั้งกันไปใหญ่แล้ว ... ไม่อยากหมดหวังกับสภาพแบบนี้เลย ... ทุกอย่างมันต้องรอเวลาทั้งนั้น กระบวนการเมืองไทย มันเพิ่งจะก้าวเดินหลังรัฐประหาร ไม่นานนี้เอง มันจะดีเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ไง .....


โดย: POL_US วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:16:27:18 น.  

 
แม้ว่าจะเป็นที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย

แต่ผมเห็นด้วยในประเด็นของคุณบัญชิตฯนะครับ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่แม้ว่ามันจะไม่ดีมีงามนัก แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมาเราคงสั่งสมประสบการณ์ได้ในหลายๆเรื่อง

การละทิ้งมันไปเลยมันคงทำให้เกิด "ต้นทุนค่าเสียโอกาส"ที่ใหญ่หลวงเลยทีเดียว

ชอบคำนี้แฮะ

แล้วจะทดลองเชิงนิติศาสตร์กันอีกกี่ที กับประเทศไทยของผม ?



โดย: <a href="http://gelgloog.blogspot.com">gelgloog</a> IP: 221.128.109.47 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:19:42:55 น.  

 
ประเทศไทยลองรัฐธรรมนูญมาหลายสูตรแล้วครับ.

รัฐธรรมนูญที่วุ่นวายดีแท้ที่สุดที่เคยเห็นมา ก็คือรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งมีบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่นายกเต็มไปหมด จนเรียกกันเล่น ๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่พอใช้ไปเรื่อย ๆ จนบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจเผด็จการค่อย ๆ หมดเวลาไป จู่ ๆ ก็มี รสช. มาล้มรัฐธรรมนูญซะงั้น.

มันแสดงให้เห็นนิสัยคนไทยอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยแก้ไขของเก่า พออะไรมันไม่ดี ก็โยนทิ้งแล้วหาอันใหม่มาใช้อยู่นั่นแหละ.

เอ้อ ว่าแต่ว่า กฎหมายประกาศคณะปฏิวัตินี่ เค้ายกเลิกไปหมดรึยังอ่ะ.


โดย: LittleTiger IP: 58.8.244.91 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2548 เวลา:20:15:50 น.  

 
อือ.นั่นสิคะ

เรายังเป็นเจ้าของประเทศด้วยหรือเปล่า



โดย: Batgirl 2001


คำถามที่ควรเป็นน่าจะเป็น เราเคยเป็นเจ้าของประเทศด้วยหรือ?



ผมเห็นด้วยกับผู้เขียนนะ และก็มีไรหลายอย่างอยากเขียนแต่คงไม่กล้า เพราะเมืองไทยเป็น ประชาธิปไตย ที่มีกฏหมาย ห้ามพูดห้ามวิจารณ์บางเรื่อง


ตลกดี.....


โดย: ตุ้มเม้ง IP: 209.241.155.18 วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:2:04:01 น.  

 
ผมขอรับรองว่า เราเป็นเจ้าของประเทศอยู่เสมอ

แต่เรามักจะชอบแกล้งลืม


โดย: บุญชิตฯ IP: 83.113.197.250 วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:13:05:32 น.  

 
เห็นด้วยครับ
แต่มาว่านายกฯ ของผมเป็น 'อสูรร้าย' นี่ ไม่เกินไปหน่อยหรือครับ


โดย: amyggie IP: 202.44.8.98 วันที่: 8 ธันวาคม 2548 เวลา:18:00:33 น.  

 
ประเทศไทย ไม่ใช่ห้องทดลอง

ดังนั้นการปฏิวัติ (ภายใต้ความคิดการปฏิรูป) จึงไม่น่าคล้อยตาม

ต้องให้ประเทศไทยผ่านประสบการณ์ด้วยตนเองบ้าง

เหมือนเยอรมันที่ผ่านประสบการณ์มากมาย ทำให้เกิด หลักสุจริต หรือ นิติปรัชญา ขึ้นมา

หรือฝรั่งเศสที่ใช้ประสบการณ์ทางการเมือง กว่าจะเข้ายุคสาธารณรัฐที่ 5

หวังว่าประเทศไทยจะผ่านประสบการณ์ทางการเมืองและผลิตหลักกฎหมายมหาชนที่เข้ากับสังคมวิทยาทางการเมืองไทยเองบ้าง

แต่หลักเหตุผลจากคำวินิจฉัยศาลรธน.ที่ 47/2547 ไม่เอานะ

มึนไปหมดเลย


โดย: etat c'est moi IP: 202.28.103.16 วันที่: 17 ธันวาคม 2548 เวลา:16:02:47 น.  

 
เห็นด้วยกับบุญชิต
รัฐธรรมนูญมีข้อไม่ดีแน่ๆ "ความสมบูรณ์ไม่มีในโลก" หากไม่ดีก็ตามแก้กันไป
สมมติฐานเดิมๆที่ทหารเคยใช้ว่า "ถอยหลังก้าวหนึ่งเพื่อก้าวหน้าอีกสิบก้าว" ผมไม่เคยเห็นได้ก้าวหน้าซักที เห็นถอยลงเหวทุกที
บ้านเมืองเราถอยไม่ได้แล้วครับ แค่นี้ก็ไล่ชาวบ้านไม่ทันแล้ว


โดย: ปกป้อง IP: 202.28.62.245 วันที่: 29 ธันวาคม 2548 เวลา:15:39:36 น.  

 
บังเอิญเข้ามาเพราะได้ link มาจากเพื่อนที่รู้จักกันน่ะครับ

เห็นด้วยกับบทความครับ ซึ่งที่จริงเขียนตั้งแต่ 28 พย 48 แล้ว แต่วันนี้ หลังจากยุบสภาไปแล้ว แม้สถานการณ์เปลี่ยนไป ทว่าบทความนี้ก็ยังใช้ได้อยู่

อยากให้คนที่ถลำตัวไป อยากได้นายกพระราชทาน อ่านบทความนี้
และอยากให้กกต ผ่อนปรน ให้สมัครได้อีก เลื่อนการเลื่อกตั้งออกไป และ ฝ่ายค้านลดทิฐิแล้วความหลง ส่งผู้สมัครมาลงเลือกตั้งเถอะ

และถ้า ทักษิณได้เป็นนายกอีก ก็ขอให้พูดว่า "ผมพอแล้ว" โทษนะ อาจจะฝันไป เพราะคนที่เชียร์อาจจะไม่ชอบ

แต่มันก็ทำให้เป็นการลงจากจุดนั้นที่สง่ามากนะครับ คือขอพิสูจน์ว่า มีคนรักเขาอยู่ แต่ก็จะไม่รับตำแหน่ง เพราะให้เกียรติรู้ว่าคนอื่นก็มีความสามารถ

แต่ก็เอาเหอะ คงมีคนอ้างว่า ก็มีนายก nominee อีก

เฮ้อ


โดย: Plin, :-p วันที่: 17 มีนาคม 2549 เวลา:20:00:32 น.  

 
โดนมั๊ยล่ะท่าน




โดย: นะระยอง IP: 202.28.77.32 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2549 เวลา:18:31:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Players
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Players's blog to your web]