มหัศจรรย์แห่งความฝัน

เมื่อประมาณวันอังคารของสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีประเด็นถกเถียงกับคุณปิ่น ปรเมศวร์ ผ่านทาง MSN ว่าด้วยเรื่องที่ว่า “ส.ส. (ในที่นี้หมายถึงเฉพาะระบบแบ่งเขตเท่านั้น เพราะถ้าระบบปาร์ตี้ลิสต์ก็แหงแซะว่ามันต้องมี “ปาร์ตี้” ซะก่อนตัวถึงไปอยู่ในลิสต์ได้) จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่?” อันว่าผมนั้น เห็นว่า มันเป็นเรื่องจำเป็น ที่ ส.ส. จะต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดเจนด้วยการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากระบบการปกครองของไทยนั้น ประชาชนไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้โดยตรง ดังนั้นในความเห็นของผม ส.ส. ผู้มีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพื่อประกาศว่า หากตนได้รับเลือกจากประชาชนเข้าไปแล้ว ตนเองจะเลือกผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี (ซึ่งก็คือหัวหน้าพรรคที่เขาผู้นั้นสังกัดนั่นแหละ)

ส่วนคุณปิ่น แกเห็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองนั้นต้องง่ายแก่การเข้าถึง และมีความเป็นอิสระตามสมควร การที่ ส.ส. ระบบเขตไม่ต้องสังกัดพรรค ทำให้ประชาชนเข้าถึงการเมืองได้ง่ายขึ้น และเป็นอิสระขึ้น เช่น คุณปิ่น อาจจะลงสมัครผู้ว่าในเขตบ้านแกก็ได้ (ซึ่งถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะเป็นเขตบ้านผมด้วยเหมือนกัน) โดยไม่ต้องเป็นประชาธิปัตย์ หรือไทยรักไทย ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นจริง เพราะถ้าวันนี้ผมสุกงอม และนึกสนุกอยากลง ส.ส. กว่าผมจะลงสมัครได้ในระบบปัจจุบัน ก็โน่น ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี หรือไม่ก็อาจจะไม่มีวันนั้นด้วย หากผมหาพรรคที่ยอมรับผมให้ลง ส.ส. ไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องตั้งพรรคเสียเอง ซึ่งเป็นเรื่องเสียเงินเสียทองโดยเปล่าประโยชน์

เราเถียงกันหลายประการ ผมยอมรับความคิดคุณปิ่นทั้งหมด และไม่สามารถหาข้อโต้แย้งที่มีตรรกะมาหักล้างได้ แต่ในใจนั้นยังตะขิดตะขวงที่จะยอมรับแนวความคิดคุณปิ่นเสียทั้งหมด เพราะผมยัง “ยึดติด” กับบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ส. อยู่มาก ผมกลัวว่า ส.ส. ไม่สังกัดพรรคอาจจะเบี้ยว เช่นตอนหาเสียงด่านายกเจ้าสัวอยู่ดีๆ ชาวบ้านเห็นจุดยืนเลยเลือกจนเป็น ส.ส. แต่พอได้รับเลือกไป โดนมนต์รักสีเทาเข้าให้ ดันไปโหวตให้เจ้าสัวเป็นนายกต่อเสียนี่ แล้วจะทำอย่างไร ? ... ผมเก็บข้อถกเถียงทั้งหลายหลับไปในคืนนั้น

ในฝัน ผมได้พูดคุยในประเด็นนี้ต่อ แต่ไม่ใช่คุณปิ่นอีกแล้ว กลับเป็นใครสักคนในฝัน (ซึ่งเมื่อตื่น ผมมั่นใจว่าผมได้คุยกับตัวเองในอีกโหมดหนึ่ง) ใครคนนั้นกล่าวว่า ผมยึดติดกับบทบาทในการเป็นผู้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของ ส.ส. จนเกินไป อย่าลืม ว่า ส.ส. นั้นไซร้ คือตัวแทนของประชาชนในสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ประชาชนจึงชอบที่จะเลือกใครก็ได้ที่เขาไว้วางใจไปทำหน้าที่นี้ ซึ่งถ้าประชาชนอยากจะเลือกทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ก็สามารถเลือก ส.ส. สังกัดพรรคได้ แต่ถ้าประชาชนต้องการใครสักคนไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือแม้แต่ฝ่ายตรวจสอบในสภา โดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี มอบความไว้วางใจให้เป็นไปตามเจตนาของ ส.ส. ที่ตัวเลือกไปนั้น เช่นนี้ก็น่าจะทำได้ไม่ใช่หรือ ? ส่วนกรณีจะไปทรยศทีหลังหรืออะไรๆ ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากเจตจำนงของผู้เลือกไปแล้ว และผู้เลือกก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเลือก ส.ส. ที่ไม่มีพรรค ก็ย่อยเท่ากับมอบอำนาจให้เขาไปเลือกใครก็ได้ตามใจแล้วนี่

นี่คือคำตอบที่ผมยอมรับได้ และเคลียร์ทุกข้อสงสัยในใจ ผมตื่นมาพร้อมกับความปลอดโปร่ง เมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ พบว่าคุณปิ่นยังไม่นอน (เวลาของเขาช้ากว่าผมอยู่ราวหกชั่วโมง คือผมเจ็ดโมงเช้า ที่ประเทศของเขาเพิ่งจะตีหนึ่ง) ผมจึงรายงานผลการพูดคุยกับตัวเองในฝันให้เขาฟัง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผมสามารถคุยกับตัวเองในอีกโหมดหนึ่งผ่านทางความฝัน เมื่อครั้งที่ผมยังปิดเล่มวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งปริญญาโทไม่สำเร็จ (วิทยานิพนธ์เรื่องนั้นติดอันดับวิทยานิพนธ์ชื่อยาวเฟื้อยตั้งแต่มีการตั้งคณะนิติศาสตร จุฬา ภาคบัณฑิตมา) ชื่อย่อหรือชื่อเล่นของมันคือ “วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นและซ่อนทรัพย์” (นี่ชื่อย่อแล้วนะครับ สาบาน) แน่นอน วิทยานิพนธ์ผมแบ่งเป็นสองสวน คือ วิเคราะห์วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ วิเคราะห์คำวินิจฉัยในคดีซุกหุ้นและซ่อนทรัพย์ทั้งหลายอัน ป.ป.ช. ร้องมาตาม มาตรา ๒๙๕ ที่นี้ มาถึงบทสรุปละ ว่าผมจะจับมันเชื่อมกันได้อย่างไร ผมนั่งมองหน้าจอว่างๆ ของคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลากว่าสัปดาห์ ไม่สามารถหาจุดเชื่อมของสองส่วนนั้นได้เลย ... ผมท้อใจ วันหนึ่งผมคิดเรื่องนี้จนหลับไป

นั่นแหละ ในฝัน ชายลึกลับก็ปรากฏขึ้นมา แล้วพูดกับผมด้วยประโยคที่ว่า “คิดให้ดีสิ กฎหมายวิธีพิจารณาความทั้งหลาย มีไว้เพื่ออะไร ?”

ผมตอบว่า “ก็เพื่อหาให้ศาลหาข้อเท็จแห่งคดีมาใช้ในการวินิจฉัยไง”


            
“เออ นั่นแหละ” เขาตอบ “วิแพ่ง มีไว้เพื่อการหาข้อเท็จจริงว่าใครมีสิทธิดีกว่าใครในมูลหนี้หรือละเมิดอันพิพาทกัน วิแพ่งจึงวางคู่กรณีไว้เสมอกันและให้คู่กรณีนั้นเองพิสูจน์สิทธิตนกันเอง วิอาญา มีไว้เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำผิดกบิลเมืองตามที่เขากล่าวหาจริงหรือไม่ ดังนั้นวิอาญาจึงวางบทบาทให้ฝ่ายกล่าวหา คือโจทก์ ต้องนำสืบให้ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิด และพึงต้องรับโทษอย่างไร หากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ตามนั้น จำเลยก็รอด แล้วก็คิดดูสิ วิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ว่า มีไว้เพื่ออะไร ? มีไว้เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซุกหุ้น หรือซ่อนทรัพย์จริงหรือเปล่า ใช่ไหมล่ะ ? ทีนี้เขียนได้ยัง”

ผมตื่นมาพร้อมคำตอบ และลงมือเขียนวิทยานิพนธ์บทสุดท้ายได้จนจบทั้งหมด ด้วยการเชื่อมโยงวิธีพิจารณา กับคำวินิจฉัยที่ผ่านมา ว่าศาลสามารถใช้วิธีพิจารณา “ดึง” ข้อเท็จจริงในคดีออกมาได้อย่างไร แค่ไหน เพียงใด สมควรปรับปรุงตรงไหนหรือไม่ วิทยา
นิพนธ์นั้นผ่านการประเมินได้ระดับ “ดี” (ไทย) โดยกรรมการระดับบรมครูแห่งวงการกฎหมายมหาชน เลขา ครม. ผู้เป็นยอดนักกฎหมายมหาชนในยุคปัจจุบัน และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ในขณะนั้น) ตามปกติแล้ว ท่านเหล่านี้จะเป็นประธานในวิทยานิพนธ์เล่มอื่นๆ กัน แต่ของผมได้มารวมฮิตในเล่มเดียวซะงั้น น่าเสียดาย ที่ผมไม่กล้าเขียนขอบคุณชายในความฝัน เพราะหากไม่มีเขา วิทยานิพนธ์ก็คงปิดเล่มไม่ได้ แต่หากเขียนไป คนก็คงหาว่าผมเครียดจนบ้า...

นี่ผมก็ไม่รู้นะเนี่ย ว่าคุณๆที่อ่านกันเนี่ย จะคิดว่าผม “ไม่สบาย” หรือ “เผลอไผล” ไปหรือยัง...

ผมได้คุยกับผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เขาบอกว่า เป็นธรรมดา ที่เวลาเรานอนหลับ สภาพจิตบางขณะอาจจะอยู่ในสภาพปลอดโปร่ง ทำให้เราสามารถขจัด “เมฆหมอก” หรือ “กรอบคิด” ที่เคยกางกั้น “ปัญญา” เราเอาไว้ เมื่อเรานอนหลับ ความคิดนั้นจึงสามารถเผยตัวออกมาได้ ผ่านคลื่นสมองที่ค่อนข้างเรียบรื่น ซึ่งท่านแนะนำผมว่า หากผมฝึกสมาธิให้ดีเพียงพอ ผมสามารถพบกับ “ปัญญาบริสุทธิ์” ที่ซ่อนอยู่นี้ได้ โดยไม่ต้องรอเวลานอนหลับแล้วฝัน ซึ่งเป็นวิธีที่ควบคุมไม่ได้

ผมเชื่อว่าจิตคนนั้นเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่เราไม่สามารถดึงความมหัศจรรย์ของมันออกมาได้ตามใจชอบ ยกเว้นผู้ที่ฝึกจิตดียิ่งแล้ว บางครั้งความฝันนั้น อาจจะทำหน้าที่เป็นสื่อในการ “ดึง” ความมหัศจรรย์ของจิตของเราออกมาในยามจำเป็นด้วยระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากความฝัน ผมพบว่า ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น ผมฟังภาษาฝรั่งเศสได้ดีกว่าตอนที่ “ตื่น” เต็มตาแล้วเสียอีก นั่นเพราะผมจะตั้งเวลาปลุกในยามเช้าด้วยวิทยุข่าวฝรั่งเศสช่องหนึ่ง ในระหว่างตื่นแหล่ไม่ตื่นแหล่ ผมรู้สึกว่า ผมได้ฟังข่าวที่สามารถทำความเข้าใจได้ละเอียดมากๆ เมื่อครูพูดถึงข่าวนั้นในห้องเรียนตอนเช้า ผมสามารถที่จะตอบรายละเอียดของข่าวได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

ว่าแต่ ผมขอไป “ค้นหา” ความมหัศจรรย์ของความฝัน ต่อสักนิดนะครับ...



ZZZZzzzzzZZZZZzzzZZZzzzzZZZZ


Create Date : 14 มิถุนายน 2548
Last Update : 19 กันยายน 2548 16:14:44 น. 0 comments
Counter : 760 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Players
Location :
Aix-en-Provence France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Players's blog to your web]