FOR YOUR CONSIDERATION
Group Blog
 
All blogs
 

#ว่ากันด้วยหนัง# Oscar 2006: They call it BEST PICTURE! ตอนที่ 4 Letters VS. The Queen

มาถึงตรงนี้แล้ว ผมอยากบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียวที่จะตัดสินใจว่าหนังเรื่องไหนโดดเด่นกว่ากัน ระหว่าง The Queen กับ Letters From Iwo Jima (สำหรับเรื่องหลังนี้คงมีน้อยคนนักเหลือเกินที่มีโอกาสได้ชม) โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าหนังทั้งสองเรื่องทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นหนังที่เรียกได้เลยว่าเหมาะสมเป็นที่สุดสำหรับทั้งขั้นตอนของการเข้าชิงและการเป็นผู้ชนะ ถึงกระนั้นหนังทั้งสองเรื่องดังกล่าวก็เป็นได้เพียงไม้ประดับในเวทีออสการ์ครั้งล่าสุด เห็นได้สถิติการคาดเดาของหลายๆ สถาบันที่มักจะระบุชื่อหนังทั้งสองเรื่องนี้เอาไว้ในลำดับท้ายๆ

สุดท้ายแล้วถ้าให้ผมทำตัวเป็นคณะกรรมการออสการ์ หนังที่ผมจะเลือกเพื่อรับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็คงน่าจะเป็น... Letters From Iwo Jima ครับ



ถ้าวิเคราะห์กันโดยละเอียด ผมยอมรับครับว่า The Queen เหนือชั้นกว่าในแง่ของการเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบ หนังเล่าเรื่องของพระนางเจ้าอลิซาเบทที่ 2 ในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเผยให้เห็นภาพของประชาชนชาวอังกฤษผู้เรียกร้องให้ราชินีของตนเองทำในสิ่งที่พระนางอยากทำน้อยที่สุด สิ่งที่ The Queen นำเสนอเรียกได้ว่าทั้งล้ำค่า ทั้งสม่ำเสมอ และตีแผ่ลงไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของจิตใจของคนซึ่งประชาชนไม่มีโอกาสได้สัมผัส The Queen เป็นมากกว่าหนัง Drama ที่ดีตรงที่หนังไม่เคยที่ให้ภาพในมุมใดมุมหนึ่ง แต่เลือกที่จะนำเสนอมันออกมาในหลายๆ มุม หลายๆ แบบซึ่งแต่ละแบบต่างก็มีเหตุผลของมันเอง เปิดเผยให้เราเข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจกระทำอะไรสักอย่าง มันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเลย โดยเฉพาะกับเรื่องที่มันกระทบกระเทือนไปถึงความรู้สึกของผู้อื่น

กับ Letters From Iwo Jima ถึงแม้ว่าหนังไม่ได้ยอดเยี่ยมเสมอต้นเสมอปลายในระดับเดียวกับที่ The Queen ทำได้ก็จริง แต่เมื่อไรก็ตามที่หนังได้โอกาสเป็นของตนเอง หนังก็จะซัดคนดูเสียอยู่หมัด ปล่อยให้ผู้ชมค้นพบโลกอีกโลกหนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริง ที่ซึ่งคนธรรมดาในยุคสมัยเราคงไม่มีโอกาสได้รับรู้ เรียกได้เลยว่ากระทั่งคนที่เคยอ่าน Flags of our Fathers มาแล้ว... ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ Iwo Jima มามากพอสมควร ก็ยังไม่เคยมองเห็นอีกมุมของสงครามชัดเจนเท่านี้มาก่อน



ผมจำได้ว่าผมเคยดูหนังของ Clint Eastwood ครั้งแรกก็เรื่อง Mystic River... ตอนนั้นสารภาพเลยครับว่าไม่มีความรู้สึกชอบหนังเรื่องนั้นเลย บรรยากาศอึดอัดกับภาพที่ดูจงใจอย่างไรบอกไม่ถูกทำให้ผมค่อนข้างรู้สึกแปลกใจที่ต้องยอมรับว่า Eastwood นั้นเป็นผู้กำกับที่น่ายกย่องเพียงไร ปีถัดมาหลังจาก Mystic River ผมก็ได้พบกั[หนังที่ทำให้ผมประทับใจในตัว Clint เป็นครั้งแรก Million Dollar Baby ทำให้ผมปวดร้าวกับชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามความฝันที่เราหวังไว้ และก่อนหน้านี้ไม่นาน Flags Of Our Fathers ก็พิสูจน์ให้ผมได้เห็นว่า Eastwood ไม่ได้เยี่ยมเฉพาะกับการทำหนังฟอร์มเล็กอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ

Flags Of Our Fathers อาจจะนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ผิดพลาดของ Clint Eastwood แต่เมื่อมองกันจริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าหนังจะไม่สามารถดัดแปลงเอาความยอดเยี่ยมของหนังสือที่ติด New York Times Bestseller ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทว่าหนังก็สามารถสร้างจุดยืนของตนเองได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ ได้ประเด็นในสิ่งที่ต้องการนำเสนอ และจะดียิ่งกว่านั้นมากเมื่อมี Letters From Iwo Jima มาเป็นหนังซึ่งขยายใจความของความเป็นสงครามสองทิศทาง ...ขยายความของมุมมองในขณะที่ต่างฝ่ายต่างมองไปที่ฝ่ายตรงข้ามในฐานะข้าศึก

ปิดท้ายกันเอาไว้เพียงเท่านี้ละกันนะครับ ถึงแม้อาจจะดูรวบรัดไปหน่อย แต่หวังว่าคงจะเป็นบทสรุปที่ดีสำหรับบทความที่เขียนมาตลอดหลายวันนี้นะครับ




 

Create Date : 26 มีนาคม 2550    
Last Update : 26 มีนาคม 2550 23:06:33 น.
Counter : 423 Pageviews.  

#ว่ากันด้วยหนัง# Oscar 2006: They call it BEST PICTURE! ตอนที่ 3 : Little Miss Sunshine

หนังตลกเป็นประเภทหนังที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอๆ เมื่อว่ากันถึงโอกาสในเวทีออสการ์ อย่างไรก็ตามหลายครั้งทีเดียวซึ่งหนึ่งตลกที่มีความโดดเด่นอยู่สูงสามารถที่จะกระโดดเข้ามาในเกมส์และสร้างความฮือฮาได้ แน่นอนว่าคุณสมบัติหนึ่งของหนังประเภทนี้ที่ช่วยผลักดันให้หนังประสบความสำเร็จก็คือ การที่หนังจะต้องมีอะไรมากไปกว่าความตลกให้คนดูสัมผัส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันก็ออกไปทางดราม่าดราม่า... จนบางทีผมเองก็ยังไม่สามารถแบ่งแย่งความเป็นหนังทั้งสองประเภทนี้ออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

อ่านมาหนึ่งย่อหน้าแล้วอาจจะเริ่มงงๆ ว่าผมกำลังหมายถึงอะไร ใช่ครับผมกำลังหมายถึง Little Miss Sunshine หนังซึ่งประสบความสำเร็จในทุกๆ ทางไล่ไปตั้งแต่เรื่องของรายได้ไปจนถึงเรื่องของรางวัล ไม่เกี่ยงว่าหนังจะเป็นผลงานชิ้นเบิกร่องของสองผู้กำกับคู่หู Jonathan Dayton และ Valerie Faris รวมไปถึงกรณีที่เคยถูกสตูดิโอที่เน้นการขายหนังออสการ์อย่าง Focus Features เมินใส่ในปี 2004 เรียกกันได้ว่าการที่หนังมาได้ไกลถึงขนาดนี้เป็นเพราะเรื่องของดวงโดยเฉพาะ



Little Miss Sunshine เล่าเรื่องของครอบครัวเล็กที่ดูท่าจะบ๋องๆ กันทั้งบ้านซึ่งมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะพาลูกสาวตัวเล็กๆ ของพวกเขาไปประกวดนางงามเด็กที่แคลิฟอร์เนีย ทางเลือกเดียวที่พวกเขามีก็คือต้องยกโขยงกันไปทั้งบ้านด้วยรถตู้สีเหลืองสภาพการใช้งานต่ำ ในรถคันนี้เองที่สมาชิกภายในครอบครัวทั้งหลายจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่เป็นที่พึ่งซึ่งกันและกัน และตระหนักในความเป็นครอบครัวอย่างจริงๆ จังๆ

ผมชื่นชมความที่หนังไม่ได้ยัดเยียดความรู้สึกให้คนดู ในขณะเดียวกันหนังก็ให้อารมณ์เรียนรู้ชีวิต (ลักษณะเดียวกับ Sideways ผู้เข้าชิงในสาขาเดียวกันเมื่อ 2 ปีก่อน) Little Miss Sunshine แสดงให้เราเห็นว่า ไม่ว่าเราจะรู้สึกนึกคิดกับครอบครัวตัวเองอย่างไร จะรัก จะเกลียด หงุดหงิด เบื่อหน่ายอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ครอบครัวของเราก็ยังคงจะเป็นครอบครัวของเราอยู่วันยังค่ำ ครอบครัวจะยังเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด คอยให้กำลังใจในทุกๆ ครั้งที่เราพลากพลั้ง คอยซ้ำเติมและสอนให้เราจดจำ หรือเป็นแม้กระทั่งผู้ที่เข้าใจเราที่สุด ไม่ว่าจะตื้นเขินหรือลึกซึ้งเพียงไร

บ้านเป็นอีกสัญลักษณ์ที่งดงามยิ่งครับในหนังเรื่องนี้ เราจะได้เห็นตัวละครระทมทุกข์กับการอาศัยอยู่ในบ้านที่แคบๆ จำเป็นต้องแบ่งปันห้องกันอยู่กับคนที่เราแทบจะไม่รู้จักเมื่อมีใครบางคนเดินทางเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ จำเป็นต้องแอบซ้อนพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่เป็นที่ยอมรับทั้งในครอบครัวและสังคมทั่วไป อีกทั้งยังเป็ยสถานที่ตอกย้ำความเป็นไอ้ขี้แพ้ของคนที่กลัวคำนี้เป็นที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปและเราได้รู้จักพวกเขามากขึ้น สิ่งที่หนึ่งที่เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ... พวกเขามีความสุขกับการได้อยู่ร่วมกันระหว่างที่อยู่ในรถปุโรทั่งมากกว่าที่อยู่ในบ้านที่เป็นบ้านจริงๆ เสียอีก มันเหมือนกับว่ารถคันสีเหลืองๆ คันนั้นบีบบังคับพวกเขาให้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น ลบเลือนช่องว่างที่ทุกคนพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเองจากสิ่งที่พวกเขาคิดว่าน่ารำคาญ และท้ายก็ที่สุดก็ต้องยอมรับว่าที่สุดแล้ว พวกเขาไม่มีใครอื่น นอกจากคนภายในครอบครัวเดียวกันเอง

ไม่บ่อยครับที่ภาพยนตร์แบบนี้จะทำให้ผมรู้สึกคล้อยตามได้อย่างที่ Little Miss Sunshine ทำได้ ถึงแม้ว่าหนังอาจจะยังมีข้อด้อยให้เรื่องของจังหวะการเล่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทุกอย่างไม่มีอะไรเสียหายครับ ทุก Theme และทุกสิ่งที่หนังนำเสนอตรงเป้าหมายและได้ใจความ เรียกได้แน่ๆ ครับว่าเป็นหนังที่ถ้าเกิดกลายเป็นผู้ชนะขึ้นมาก็ไม่มีอะไรเสียหาย... ตรงกันข้ามกลับยังทำให้รู้สึกดีเสียด้วยซ้ำ

เจอกันครั้งหน้ากับที่ยังเหลืออีกสองเรื่องครับ โดยเฉพาะสองเรื่องหลังนี่เป็นหนังโปรดสุดๆ ของผมเสียด้วยสิ...




 

Create Date : 24 มีนาคม 2550    
Last Update : 24 มีนาคม 2550 23:43:11 น.
Counter : 283 Pageviews.  

#ว่ากันด้วยหนัง# Oscar 2006:They call it BEST PICTURE! ตอนที่ 2: The Departed เบื้องหลังของผู้จากไป

ถ้าจะมีอะไรที่พอจะทำให้ผมเองยังคงจำประสบการณ์การชม Gangs of New York ได้ดี นั่นก็เป็นเพราะว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปสัมผัสกับโลกแห่งภาพยนตร์ของ Martin Scorsese ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานที่ยังหายใจ ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมยังไม่โตพอที่จะดูหนังเรื่องนั้นทั้งเรื่องได้โดยที่ไม่ต้องมีการเอามือมาบังหน้าเป็นระยะๆ สิ่งที่ตัวผมประจักษ์ในตอนนั้นก็คือ ความรุนแรงที่ตรงตัว ไม่มีการเสเสร้ง เป็นความรุนแรงที่ทำให้อารมณ์ของเรากระตุกขึ้นลงตามจังหวะของศิลปะที่ถูกเรียงร้อยมาเป็นอย่างดี

นับแต่นั้น ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามผลงานของ Scorsese มาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถสังเกตได้ในผลงานระยะหลังๆ ของผู้กำกับรายนี้ก็คือ ไม่ว่าหนังเรื่องนั้นของเขาจะยอดเยี่ยมโดดเด่นเพียงไร แต่ในท้ายที่สุดแล้วมันก็ยังคงจะช่องโหว่อยู่หนึ่งหรือสองช่องทุกที ไล่ตั้งแต่ Gangs of New York ที่ทำให้ผมลืมหายใจในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกว่าหนังเป็นผลงานที่มีความเป็น hollywood มากเกินไป ไปจนถึง The Aviator ที่มาพร้อมกับองค์ประกอบทุกส่วนที่ยอดเยี่ยม ทว่าโดยรวมแล้วหนังกลับไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ไร้ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรายึดติดอยู่กับเนื้อเรื่องของหนังในขณะนั้น ทุกอย่างร้อยเรียงเหมือนภาพที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่เห็น



เช่นเดียวกับ The Departed ผลงานเรื่องที่เท่าไรไม่รู้ของ Scorsese ผู้ที่ให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่าหนังเรื่องนี้ "เป็นผลงานที่ลืมเรื่องรางวัล และเน้นความบันเทิงเป็นหลัก" ซึ่งถ้าจะว่ากันตามตรง The Departed ก็ดำเนินรอยทางไปตามนิยามที่ว่าจริงๆ หนังไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการประกวดเทศกาลที่เวนิส อีกทั้งไม่ได้ฉายรอบสื่อมวลชนล่วงหน้าเป็นเวลานานนัก อย่างไรก็ตามหนังซึ่งเน้น - ความบันเทิง - เรื่องนี้ กลับไปไกลได้จนถึงการเป็นผู้ชนในเวทีออสการ์ปีล่าสุด

คงจะเป็นเรื่องปกติในสายตาของคนเอเชียส่วนใหญ่ซึ่งล้วนแต่ผ่านตา Infernal Affair กันมาบ้างแล้ว ที่จะขัดหูขัดตากับสิ่งที่ The Departed นำเสนอและนำไปสู่อารมณ์ต่อต้านอยู่ลึกๆ โดยเฉพาะการที่ Scorsese ยิ่งยืนยัน นอนยัน นั่งยันเป็นอย่างยิ่งว่า "The Departed ไม่ใช่ผลงานที่ Remake เขามา แต่เป็นผลงานที่แค่ได้รับแรงบันดาลใจมาเท่านั้น" คำกล่าวดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกถึงการดูถูกหนังต้นฉบับไม่มากก็น้อย ผมพร่ำถามตัวเองว่าผลงานที่เรียกว่า Remake นั้นมีความหมายว่าอย่างไร มันก็คือการเอาหนังที่เคยมีการสร้างมาแล้วมายำใหญ่ใหม่อีกหนโดยไม่สนใจว่าจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงไรไม่ใช่เหรอ เพราะอย่างนี้ไม่ใช่เหรอ King Kong ถึงยังคงอยู่ในข่ายประเภทของหนัง Remake ทั้งๆ ที่ฉบับที่สร้างขึ้นมาทีหลังนั้นมีความยาวมากกว่าต้นฉบับกว่า 2 เท่า

ผมอาจจะจริงจังไปหน่อย แต่คำกล่าวอ้างดังกล่าว เปลี่ยนผมจากคนที่เคยรอคอยให้ชื่อของ The Aviator ถูกประกาศว่าเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ไปเป็นคนที่ต้องกลับมานั่งพิจารณากันใหม่อีกหนว่าผลงานของ Scorsese นั้นควรค่าแก่การเป็นผู้ชนะจริงๆ หรือ ซึ่งถ้าเป็นผลงานในอดีตผมเองก็คงต้องยอมรับเอาตรงนี้เลยว่าผลงานของ Scorsese นั้นยอดเยี่ยมแบบหาตัวจับยากจริงๆ แต่กับ The Departed นั้น หนังกลับไปได้ดีเด่ไปกว่าผลงานซึ่งมีรูโหว่เรื่องหลังๆ ของผู้กำกับรายนี้เลย

เพราะถึงแม้ว่า The Daparted จะมาพร้อมกับพลอตโฉบเฉี่ยวเพียงไร หนังก็เป็นได้แค่หนังตำรวจทั่วๆ ไปที่มีชั้นเชิงเหนือกว่าปกติ มีการนำเสนอที่มั่นใจสุดขั้วเท่านั้น จึงไม่แปลกถ้า The Departed จะไม่ติด top 10 ภาพยนตร์เรื่องโปรดในใจของผม โดยเฉพาะในปีที่เต็มไปด้วยหนังยอดเยี่ยมหลายเรื่องอย่างเช่นปี 2006 เช่นนี้

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะนึกไปว่าผมอคติอะไรมากมายกับหนังเรื่องนี้นะครับ แต่อยากจะบอกว่าผมเองไม่ได้ไม่ชอบหนังเรื่องนี้มากถึงขนาดนั้น (ตัวเองกลับไปอ่านเองยังงงๆ เลยว่าอะไรทำให้ตูเขียนออกไปแต่ในแง่ลบแบบนั้นฟระ...) ถึงแม้ว่าผมอาจจะไม่คิดว่านี่คือหนังที่สมควรจะกลายเป็นผู้ชนะ แต่ผมก็รู้สึกปลื้มใจแทน Scorsese อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเห็นท่าทางตื่นเต้นของ Scorsese บนเวที Oscar เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

PS. สำหรับใครที่คิดว่าหนังอุดมไปด้วยคำว่า F**k เยอะเหลือเกินนะครับ เคยมีสถิติรายงานครับว่ามีการพูดคำนี้ในหนังทั้งหมด 237 ครั้งครับ




 

Create Date : 21 มีนาคม 2550    
Last Update : 21 มีนาคม 2550 15:04:14 น.
Counter : 313 Pageviews.  

#ว่ากันด้วยหนัง# Oscar 2006: They call it !BEST PICTURE! ตอนที่ 1: Babel หอคอยแห่งมนุษยชาติ

ผมเป็นคนชอบดูหนังครับ และพอดูแล้วก็ชอบเก็บมันมาคิด ดังนั้นผมจึงชอบหนังที่มันมีอะไรให้คิดมากกว่าภาพมันแสดงออกมา ซึ่งในระยะหลังๆ ถ้าจะลองเทียบปริมาณภาพยนตร์ที่ทำให้ผมรู้สึกดังกล่าวได้ แม้แต่ในประเภทกลุ่มหนังต่างประเทศเอง ก็แทบจะไม่ค่อยมีออกมาให้เห็นกันมากนัก จึงไม่แปลกถ้าเกณฑ์ๆ หนึ่งที่ผมใช้ในการเลือกดูหนังในระยะหลังๆ จะข้องเกี่ยวกับประเด็นของรางวัล ซึ่ง Oscar ก็คือหนึ่งในกลุ่มรางวัลที่ผู้คนทั่วไปให้เครดิตมากที่สุด

โดยปกติทุกปีแล้ว ผมจะต้องพยายามสรรหาหนัง Oscar ทั้งหลายแหล่มาดูทันทีที่รายชื่อผู้เข้าชิงประกาศออกมาโดยไม่เกี่ยงว่าตัวเองจะมีเวลาว่างมากน้อยเพียงไร ทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่าจะได้ทันลุ้นรางวัลเมื่อวันงานมาถึง เชื่อไหมครับว่าคนบ้าหนังอย่างผมลงทุนทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเดินทางไปโรงภาพยนตร์ที่ห่างไกลเพื่อชมภาพยนตร์ที่เข้าฉายเพียงไม่กี่ที่ แวะไปที่ห้องคอมพิวเตอร์ของคณะทุกพักเที่ยงเพื่อที่จะโหลดหนังเก็บกลับมาดูที่บ้าน หรือแม้กระทั่งยอมโดดเรียนเป็นบางวิชาเพื่อที่จะได้สัมผัสกับประสบการณ์การดูหนังในกรณีที่ไม่มีรอบฉายอื่น

และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ... บางทีจริงๆ แล้วหนังบางเรื่องนั้น ไม่ควรค่าแก่การสละเวลาด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นเลยแม้แต่น้อย

มันเป็นเรื่องที่ทั้งน่าเสียดาย ไม่น่าจดจำ อีกทั้งรู้สึกเสียเวลาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากใครเคยผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับผมคงจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก... บอกได้ตรงนี้เลยว่าผมเป็นนักดูหนังที่เรื่องมาก บางทีก็ชอบตามอย่างที่คนอื่นๆ เขาชอบกัน แต่บางทีมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

ในส่วนของความผิดหวังนั้นคงจะเป็นที่อธิบายกันได้ไม่ยาก ในเมื่อรสนิยมของใครแต่ละคนมันอาจจะไม่ได้เดินไปในทางเดียวกัน ดังนั้นบทความที่เกริ่นกันมายาวยืดชิ้นนี้ (ซึ่งน่าจะยาวหลายตอนเท่าที่จะมีอารมณ์เขียน) น่าจะเปรียบได้กับความคิดเห็นของผมที่มีจ่อบรรดาหนังซึ่งมีรายชื่อเป็นหนังในบรรดาผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

เริ่มต้นกันซักเรื่อง...

มีภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันของมนุษย์มานำเสนอ หนึ่งในนั้นก็คือภาพยนตร์เจ้าของ 3 รางวัลออสการ์เมื่อปีที่ผ่านมา Crash เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์ที่มาในรูปแบบนี้เข้าถึงในส่วนของคณะกรรมการออสการ์ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามค้างคาอยู่ในใจของผู้ชมหลายท่านเกี่ยวกับคุณภาพและความสามารถในการเข้าถึงของหนังประเภทนี้... แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง Babel ไตรภาคชิ้นสุดท้ายของผู้กำกับที่ได้รับการยกย่องอย่าง Alejandro Gonzalez Inarritu



Babel เป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่ประสบความสำเร็จในเวทีออสการ์ปีล่าสุดเมื่อว่ากันถึงการเสนอรายชื่อผู้เข้าชิง หนังเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ ตามสถานที่ในเวลาที่ค่อนข้างไล่เลี่ยกัน โดยเปิดโอกาสให้แต่ละสถานการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อกันและกัน ทั้งประเด็นของการใช้ปืนซึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่ในหลายๆ ประเทศ ประเด็นของการเดินทางผ่านพรมแดนซึ่งผิดกฏหมาย ไปจนถึงความสัมพันธ์ของความผิดปกติทางร่างกายกับสังคมซึ่งเปิดกว้างในแบบที่เป็นไปได้เฉพาะในทางทฤษฎี

แน่นอนว่าหนังต้องเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวเครียดๆ ในแบบที่ตัวผมเองชอบเก็บนำมาคิดหลังจากเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์ Babel สามารถแสดงให้เห็นภาพของความขัดแย้งและผลลัพท์ที่ตามออกมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญก็คือ การบอกเล่าดังกล่าวของหนังสามารถสร้างมิติให้กับเรื่องราวลึกลงไปได้หรือไม่

ผมไม่ปฏิเสธครับว่าตลอดเวลา 142 นาทีของ Babel ทำให้เราหันมาให้ความสนใจกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งปัญหาที่มีมาตั้งแต่ยุคหินอย่างเรื่องของการสื่อสาร ไปจนถึงปัญหายุคโลกาภิวัฒน์กับการเปลี่ยนแปลงไปของโลก แต่สิ่งที่ Babel พลาดไปคือการสร้างเรื่องราวที่น่าเชื่อถือ การสร้างความสัมพันธ์ซึ่งน่าจะมีความเชื่อมโยงเพียงพอระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ จึงไม่แปลกถ้าเหตุการณ์ต่างๆ ใน Babel จะถูกนำเสนอในความรู้สึกที่ว่า "เธอรู้หรือเปล่านี่เป็นปัญหาระดับโลกนะ มันสำคัญมาก... มาก...เลยนะ"

ก็เพราะความสำคัญที่หนังพยายามปั้นขึ้นมานี่แหละ ที่เป็นตัวทำลายอารมณ์"ตระหนัก"ของผู้ชมต่อปัญหานั้นไม่มากก็น้อย Babel ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลงยืนอยู่ตรงนั้น และเหตุการณ์นั้นอาจเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ แต่มันทำให้เราเห็นถึงการคุมคามในรูปแบบที่เรามิอาจแตะต้องได้ กลายเป็นเสมือนเรื่องที่กล่าวขึ้นลอยๆ โดยพยายามอย่างยิ่งในการจับแพะมาชนแกะ

ถามว่าอะไรที่เป็นความแตกต่างระหว่าง Crash กับ Babel... มองเผินๆ หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความจงใจในรูปแบบที่คล้ายกัน หากแต่มองดีๆ แล้วจะเห็นว่า Crash มาพร้อมกับการเล่าเรื่องที่ฉับไวกว่า เล่าเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่า อีกทั้งสามารถสื่อให้เห็นถึงผลกระทบต่อการไร้ความตระหนักต่อปัญหาได้ชัดเจนกว่า จึงไม่แปลกถ้า Crash จะเป็นได้ถึงผู้ชนะ ในขณะ Babel เป็นได้แค่ตัวเต็งในบางสถานการณ์

ถ้าจะพูดกันตามตรงผมไม่ได้นิยมทั้ง Crash ทั้ง Babel (ขอโทษที่จะต้องกล่าวว่า Brokeback Mountain เองก็ไม่ใช่หนังเรื่องโปรดของผมเช่นกัน) ผมเป็นคนหนึ่งในบรรดาหลายๆ คนที่เห็นว่าหนังทั้งสองเรื่องดังกล่าวดี แต่เป็นไปในระดับที่ไม่สมควรได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง

เอาเป็นว่า Babel เป็นหนังที่ห้อยอยู่ท้ายสุดในบรรดาผู้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2006 ซึ่งผมเสียดายที่มันออกมาเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนชอบดูหนังแบบนี้ คราวหน้าเราจะมาต่อกันที่เรื่องต่อไป ซึ่งถ้าจะให้พูดกันตอนนี้ ...ผมเองก็ไม่ค่อยจะปลื้มมันเท่าไรเหมือนกัน




 

Create Date : 21 มีนาคม 2550    
Last Update : 21 มีนาคม 2550 14:52:06 น.
Counter : 424 Pageviews.  


blowithand
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add blowithand's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.