ชีวิตของน้ำเกลือ
Group Blog
 
All Blogs
 

มันคือปลานะ ไม่ใช่หมู

ขอย้ำนะว่า มันคือ ปลา ไม่ใช่หมูแน่นอน แม้รูปร่างมันจะให้ก็ตามทีเถอะ


ชื่อของมันคือ ปลากดหมู ฮะ
มาทำความรู้จักกับมันเลยดีกว่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rita sacerdotum

จัดเป็นปลาในตระกูลปลากด (Bagaridae) อันเป็นวงศ์ปลาหนังที่มีมากที่สุดในโลกวงศ์หนึ่ง พบปลาในวงศ์นี้กว่า 210 ชนิดทั่วโลก และในเมืองไทยเราพบอย่างน้อย 6 สกุล 30 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ถูกใช้เป็นอาหารของคนตามแถบลุ่มน้ำต่าง ๆ

ปลากดมีลักษณะเด่นคือ มีหัวค่อนข้างโต มีหนวด 4 คู่ มีครีบไขมันค่อนข้างใหญ่และมีครีบก้นสั้น ปลาจำพวกนี้พบในแหล่งน้ำตั้งแต่อัฟริกา เอเชีย ตลอดจนแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทจีน โดยส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นอาหาร

ปลากดหมู อยู่ในวงศ์ Rita ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของอินเดีย ปลาในวงศ์นี้พบตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำสินธุในปากีสถาน จนถึงคงคา อิระวดี และสาละวิน พบรวมทั้งหมด 5 ชนิด

โดยปลากดหมูนี้มีลักษณะแปลก คือ หัวโตมาก ปากกว้าง แต่ตาเล็ก หนวดสั้น ส่วนหัวด้านบนและลำตัวส่วนหน้าเป็นกระดูกแข็ง มีผิวสากเป็นตุ่มหยาบ กระดูกเหนือฝาปิดเหงือก มีขนาดใหญ่มาก และมีผิวเป็นตุ่มเรียงคล้ายลายนิ้วมือ

ปลากดหมูเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาชนิดนี้ ตัวโตสุดยาวถึง 1.5 เมตร น้ำหนัก 15 กิโล ซึ่งจะว่าไปแล้ว มีขนาดจะเป็นรองก็เพียงปลาบึกแห่งแม่น้ำโขงเท่านั้น (Pangasianodon gigas) ปลากดหมูอาศัยอยู่ในแม่น้ำส่วนที่เป็นวังลึก มีการย้ายถิ่นขึ้นสู่ส่วนบนของแม่น้ำในฤดูน้ำหลากเป็นระยะทางค่อนข้างไกล ปลาวัยอ่อนเลี้ยงตัวในปากแม่น้ำและชายฝั่ง กินกุ้งและปลาเป็นอาหาร ชีววิทยาของปลาชนิดนี้ยังไม่มีการศึกษาหรือบันทึกอย่างเป็นทางการ เป็นปลาเศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนล่าง มักถูกจับได้โดยข่ายลอยหรือเบ็ดราว ชาวบ้านในอำเภอแม่สอดและสบเมย จะเรียกปลาชนิดนี้ว่า ปลาหมู หรือปลาบึกสาละวิน ในลุ่มน้ำอิระวดีของพม่าก็นิยมบริโภคเช่นเดียวกัน สถานภาพอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

เห็นชั่งกิโลแบบนี้ ย้ำแล้วย้ำอีกนะ ว่ามันคือปลา...ไม่ใช่หมู !





 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2549 10:07:35 น.
Counter : 1685 Pageviews.  

" ไปไม่รอดแล้วน้องเด้ ถูกเหน่น้ำตาปลาดูหยง "

" ไปไม่รอดแล้วน้องเด้ ถูกเหน่น้ำตาปลาดูหยง "


พะยูนฝูงสุดท้ายของทะเลไทย


ข้อความข้างต้นนั่นคือ เสียงเพลงรองเง็งแปลงจากแถบหมู่บ้านชาวประมงฝั่งอันดามันแว่วมาแต่ไกล สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อจากอดีตที่ตกค้างอยู่มาถึงปัจจุบัน น้ำตาปลาดูหยงหรือปลาพะยูนมีคุณค่าในทางการทำเสน่ห์ยาแฝดเทียบเท่าน้ำมันพราย เป็นที่ปราถนาของบรรดาหนุ่มตะกอทั้งหลาย หากได้มาเกี้ยวพาราสี ประพรหมให้ต้องกายสาวเพียงหยดสองหยดรับรองว่าไม่พลาด

อันที่จริง ปลาพะยูนหรือปลาดูหยง ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเหมือนโลมาหรือวาฬ พะยูนเคยมีอยู่ทั่วไปทั้งภาคใต้แถบตะวันตกและตะวันออก ชื่ออำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ก็บ่งชี้ว่าเป็นแหล่งที่มีพะยูนชุกชุม แถบทะเลสาบลำป่าอันเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาก็เคยมีชาวประมงจับพะยูนได้ในปี พ.ศ. 2533 แต่ได้ทำร้ายจนบาดเจ็บเพื่อเตรียมจะชำแหละเนื้อขาย คุณไพบูลย์ วัฒนกิจ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพัทลุงได้มาขอซื้อไปเพื่อรักษาพยาบาลไว้แต่ก็มีชีวิตอยู่ได้แค่ 3 วันเท่านั้น โอกาสที่พะยูนจะสูญพันธุ์ไปจากโลกเช่นเดียวกับมานาที (Manatee) หรือพะยูนอเมริกาใต้ จึงมีอยู่มากหากไม่เร่งอนุรักษ์ไว้อย่างเอาจริงเอาจัง

พะยูนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugong มีชื่อไทยว่า พะยูน หมูน้ำ หรือเงือก De Blainville นักชีววิทยาทางทะเลได้ศึกษาจากซากฟอสซิล ที่พบในอียิปต์ แล้วให้ความเห็นว่า พะยูนมีลักษณะหลายอย่างคล้ายช้าง Moeritherium ซึ่งมีอายุอยู่เมื่อราว 40 ล้านปีมาแล้ว จึงจัดพะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบ ต้นตระกูลเดียวกับช้าง แต่ได้วิวัฒนาการจนสามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้จนขาหลังหดหายไป ขาหน้าก็กลายมาเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำ

พะยูนมีลักษณะคอใหญ่ ตาเล็ก มีฟันบดเคี้ยวเอื้องติดกันเป็นผืด ไม่มีเหงือกแต่มีรูจมูกปิดเปิดได้เวลาขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ตัวเมียมีเต้านมขนาดเท่านิ้วก้อย 2 เซนติเมตร สองเต้า ลำตัวและหางคล้ายโลมา ลำตัวด้านหลังสีเทาดำและเขียวคล้ำ ท้องสีดำนวลจนถึงเทาปนขาว ครีบหางและขาคู่หน้า ขนลำตัวสีเทาดำ หนวดสีขาว ตัวผู้เมื่อมีอายุเข้าวัยรุ่นจะมีฟันบนงอกยาวออกมาคู่หนึ่งจนกลายเป็นงา ใช้เป็นอาวุธไว้ต่อสู้แย่งสาวมาเป็นคู่ครองสืบพันธุ์มีลูกหลานต่อไป อาหารคือหญ้าทะเล (Seagrass) ซึ่งงอกงามอยู่ใต้ท้องน้ำตื้น ๆ ลึกราว 3-6 เมตร อันเป็นที่ซึ่งพระอาทิตย์สาดแสงลงไปถึงได้ พะยูนจึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า วัวทะเล (Sea Cow)

หญ้าทะเลปัจจุบันได้ถูกทำลายไปมากโดยฝีมือมนุษย์จากการระบายของเสียจากนากุ้ง โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ทางทะเล และแหล่งชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงประเภทอวนลาก อวนรุน ซึ่งจะกวาดพื้นทะเลรวทั้งหญ้าทะเลไปเสียหมด โอกาสที่พะยูน รวมทั้งเต่าทะเล ซึ่งกินหญ้าทะเลเป็นอาหารจะสูญพันธุ์ไปเพราะขาดอาหารเป็นอีกหนทางหนึ่งนอกเหนือจากการติดอวนขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์โดยตรง

แต่เป็นที่น่ายินดีที่สมาคมหยาดฝน จังหวัดตรัง ซึ่งมีคุณพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมได้รณรงค์ร่วมกับชุมชนประมงขนาดเล็กแถบอำเภอสิเกาและอำเภอกันตัง ให้ปกป้องน่านน้ำจับปลา ป่าชายเลน และหญ้าทะเล จนกระทั่งได้เกิด " ป่าชุมชนชายเลน " ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย สามารถอนุรักษ์แนวหญ้าทะเลในแหล่งสำคัญ 3 แห่ง พื้นที่ประมาณ 133 ตารางกิโลเมตร ความอุดมสมบูรณ์ได้กลับคืนมาสู่ชายทะเลจังหวัดตรังอีกครั้งหนึ่ง พร้อม ๆ กับการปรากฎกายของพะยูนฝูงหนึ่งซึ่งอาจเป็นฝูงสุดท้ายของโลกที่หาดหยงหลิง อำเภอกันตัง ท่ามกลางความชื่นชมของชาวประมงผู้เล็งเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และคงไม่ช้าไม่นานเสียงเพลงออดอ้อนของหนุ่มชาวเลจะแว่วมาอีกครั้งอย่างมีความหมาย

" ไปไม่รอดแล้วน้องเด้ ถูกเหน่น้ำตาปลาดูหยง "




ลิ๊งค์ที่เกี่ยวข้อง

//www.phangngacity.com/environ4.2.htm

//travel.sanook.com/Eco-Tour/ecotour_08457.php

//www.zdirectory.com/standard_info.asp?language=L&crefno=87




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2549 17:16:50 น.
Counter : 2659 Pageviews.  

ตูหนา - เจ้าปลาไหลหูดำ

หากเอ่ยถึงของดีที่เป็นของกินประจำจังหวัดตรัง หลายคนอาจนึกถึง หมูย่าง ขนมเค้กลำภูรา กาแฟเขาช่อง แต่จังหวัดตรังยังมีของดีอีกอย่างที่อยากเอ่ยถึงเป็นกรณีพิเศษ นั่นคือปลาตูหนา (คนละตัวกับปลาทูน่า)

ปลาตูหนามีชื่อเรียกที่เป็นไทยกลาง ๆ ว่า ปลาไหลหูดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anguilla bicolor อันเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ Anguillidae ซึ่งอาจพบได้ในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เมืองไทยกลับหายาก และพบมากที่จังหวัดตรัง (รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง)

เจ้าปลาไหลหูดำจัดว่าเป็นอาหารโอชะซึ่งอาจมาสั่งบริโภคได้จากร้านอาหาร ภัตตาคารดัง ๆ ในตลาดเมืองตรัง นักท่องเที่ยวผู้นิยมการชิมอาหารจะไม่ยอมพลาดเมนูพิเศษจานนี้เด็ดขาด แค่ตูหนาผัดเผ็ด ต้มยำ หรือน้ำแดง ก็อร่อยไม่รู้จบแล้ว แต่บางคนอาจชอบย่างซีอิ๊วญี่ปุ่นแบบปลาซาบะ หรือห่อกระดาษฟอยด์ทำเป็นปลาเผาก็อร่อยเหนือปลาอื่น ๆ เพราะเนื้อเหลืองชวนกิน แถมยังเหนียวแน่น มีรสหวานในตัว ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งน้ำจิ้มก็ยังอร่อยเด็ด ไม่แพ้ปลาอุนาหงิของญี่ปุ่นแน่

เจ้าปลาเนื้ออร่อยตัวนี้มีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลเทา สีเข้มด้านบนแล้วค่อยจางลงมา ท้องสีขาวปนเหลืองอ่อน รูจมูกมีท่อเล็ก ๆ ยื่นออกมาทั้งสองข้าง ลำตัวมีเกล็ดละเอียด รูปร่างยาวคล้ายงู ต่างจากปลาไหลนาก็ตรงที่มีครีบอกสองข้างซึ่งบางคนเรียกว่าหู อันเป็นที่มาของคำว่าปลาไหลหูดำ เพราะครีบที่มีสีจางออกดำนี่เอง ตูหนาขนาดใหญ่อาจมีลำตัวขนาดแขนอ้วน ๆ ของผู้ใหญ่บางคน และอาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตรหรือกว่านั้น แต่ก็ไม่น่ากลัวเพราะหน้าตาที่ดูเป็นมิตรของมัน

วงจรชีวิตของปลาตูหนาออกจะน่าทึ่ง เพราะเจริญเติบโตในน้ำจืด แต่เมื่อถึงคราวจะสืบพันธุ์ออกลูกหลานกลับต้องดั้นด้นไปแต่งงาน ฮันนีมูน และวางไข่กลางทะเลอันดามัน ครั้นพบไข่ฟักเป็นตัวอ่อน แล้วก็ถึงคราวจะเดินทางกลับมาอยู่น้ำจืดอีกครั้ง ทำมาหากินและเจริญเติบโตในน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน ลูกปลาที่เหลือกลับมาเป็นอาหารของมนุษย์จึงมีไม่สู้มากนัก ตูหนาจึงกลายเป็นของหายากและมีราคา โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่นปลาชนิดนี้มีราคาแพงมาก คนรวยเท่านั้นจึงจะเสาะแสวงหามาบริโภคได้ แต่ในจังหวัดตรังคงไม่ต้องเป็นเศรษฐีก็สามารถสั่งปลาตูหนามาลิ้มรสได้โดยง่าย

แต่ถ้าเป็นมุสลิมก็ควรสั่งปลาตูหนาย่างหรือเผามารับประทานจะดีกว่าปรุงด้วยวิธีอื่น เพราะถึงอย่างไรก็คงอร่อยกว่าหมูย่างแกล้มกาแฟเป็นไหน ๆ

หน้าตาของปลาตูหนา เป็นไง บ๊องแบ๊วพอไหม




ลิ๊งค์ที่เกี่ยวข้อง

//www.trangzone.com

//www.chiangmaizoo.com/animal/pg-an165.asp




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2549 14:01:27 น.
Counter : 5922 Pageviews.  

ปุจฉา วิสัชณา ป.ปลา

ปุจฉา : ปลาอะไรเอ่ย ที่เป็นตัวจุดประการให้เกิดกรมประมงขึ้นในเมืองไทย

วิสัชณา : ปลาเสือพ่นน้ำไง Toxetes jaculatrix เป็นปลาที่ทำให้ ดร.ฮิว แมคคอมิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก เดินทางมาเมืองไทย และก่อตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับสัตว์น้ำขึ้นมา ซึ่งก็คือ กรมประมงนั่นเองในปัจจุบัน

*** ดร. สมิธ เป็นนักชีววิทยาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว เขาถือตัวว่าตนนั้นรู้จักปลาและสัตว์ต่างๆมากมาย แต่มีปลาอยู่ชนิดหนึ่งที่เขาเคยได้ยินแต่คำร่ำลือ และเขาไม่เคยเห็นหรือพบตัว นั่นก็คือ ปลาเสือพ่นน้ำ ของไทยนั่นเอง จึงได้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อหวังจะศึกษาปลาชนิดนี้ โดยเดินทางผ่านมาทางพม่า และในที่สุดก็ได้ก่อตั้งหน่วยงานราชการเกี่ยวกับสัตว์น้ำขึ้นเป็นครั้งในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ซึ่งต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น กรมประมง นั่นเอง



ปุจฉา : ปิรันย่า Serrasalmus nattereri เป็นปลาที่ใครๆก็รู้ดีกว่า เป็นปลาโหด ตะกละตะกลามกินแหลกไม่มีเหลือ ชอบอยู่รวมเป็นฝูง แต่มีปลาอยู่ชนิดนึง ที่กินปิรันย่าเป็นอาหาร ขอถามว่า ปลาตัวนั้นคือปลาอะไร

วิสัชณา : ปลาอะราไพม่า Arapaima gigas หรือไอ้ช่อนอเมซอนของพี่ๆนั่นเอง ในธรรมชาติกินปิรันย่าเป็นอาหารจ๊ะ เรียกว่า ถ้าปลาสองชนิดนี้มาจ๊ะเอ๋กัน ปิรันย่านั่นแหล่ะจะเสร็จอะราไพม่า เห่อๆ



ปุจฉา : ปลาเป็นสัตว์ที่คนเรานำมาทำเป็นอาหารมาเป็นระยะเวลายาวนานนับแต่สมัยโบราณแล้ว แต่ มีปลาอยู่ชนิดหนึ่งในสมัยอยุธยา มีข้อห้ามคนทั่วไปตกและกินปลาชนิดนี้ ถามว่า ปลาชนิดนั้นคือปลาอะไร

วิสัชณา : ปลาตะเพียน Barbonymus gonionotus ธรรมด๊า ธรรมดา นี่แหล่ะ ผู้ที่ออกกฏนี้ก็คือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙ ๒๒๕๑-๒๒๗๒) กษัตริย์ไทยในราชวงศ์บ้านพลูหลวง โอรสของพระเจ้าเสือ เป็นผู้ที่นิยมการตกและทานปลาชนิดนี้มาก ถึงขนาดออกกฏหมายนี้ออกมา ใครที่ฝ่าฝืน โดนตัดหัว ! เอ๊ยยย ไม่ช่ายยยย ถูกปรับ 10 ตำลึงจ้า...เทียบกับสมัยนี้ก็คงเป็นหมื่น

บรรยายกาศภายในวัดมเหยงค์ วัดที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดให้สร้าง



ปุจฉา : ปลาน้ำจืดอะไรเอ่ย ที่เป็นปลามีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

วิสัชณา : ปลากะโห้ Catlocarpio siamensis เลยพี่ กะโห้นะพี่นะ ไม่ใช่ปลาคาร์ฟฟฟฟฟ หรือปลาคร๊าบบบบบบบ กะโห้เป็นปลาในตระกูลปลาตะเพียน Cyprinidae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย ไม่เท่านั้นมันยังมีขนาด ' เกล็ด ' ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกตะหาก สมัยก่อนเกล็ดกะโห้ทอดกรอบนับเป็นเมดูเด็ดสุดยอดเลย



ปุจฉา : รู้จักปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า Scleropages formosus กันแล้วใช่ไหม แล้วรู้ไหม ตะพัดเป็นปลาที่มีวิธีการป้องกันตัวที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน รู้ไหม ในธรรมชาติ มันมีวิธีการป้องกันตัวอย่างไร

วิสัชณา : รู้สิฮะ อันว่า อะโรวาน่าหรือตะพัดนี้ นับเป็นปลาโบร๊าณณณ โบราณที่มีโครงสร้างของกะลา เอ๊ย กะโหลกที่แข็งปึ๊ก ไม่เหมือนผู้ใด ไม่รู้ว่ามันจะหัวแข็งดื้อรั้นด้วยป่าวนะ เฮ้ยยย อย่านอกเรื่องๆ โครงสร้างของกะโหลกของมันเป็นแผ่นกระดูกหลายชิ้นต่อกันและห่อหุ้มอยู่ภายนอกด้วยผิวหนังบาง ๆ เท่านั้น (With heads proteced by headbone) นับได้ว่าเป็นโครงสร้างของกระดูกปลาที่แข็งแกร่งที่สุดในกระบวนการวิวัฒนาการของสัตว์ประเภทปลาทีเดียว
ด้วยเหตุฉะนั้น เพลามันต๊กกะใจ มันจึงพุ่งๆๆๆๆๆๆ พุ่งยังกะนักบอลเอาจุดโทษ พุ่งโลดเป็นตอร์ปิโดเลยจ้า เป็นเหตุให้นักเลี้ยงปลาเก็กซิมทุ๊กที เฮ้ออออ



ปุจฉา : วันประมงแห่งชาติตรงกับวันที่เท่าไหร่ของทุกปี

วิสัชณา : 13 เมษายน ตรงกับวันสงกรานต์ด้วยเนอะ แปลกดีเนอะ ฮ่าฮ่าฮ่า

ปุจฉา : ไม่น่าเชื่อ มีปลาอยู่ชนิดนึงที่ทำรังคล้ายรังนก ปลาชนิดนั้นคือปลาอะไร

วิสัชณา : ปลาแรด Osphronemus goramy สิพี่ ปลานะพี่ ไม่ใช่คน ก๊ากกก อันว่าปลาแรดเป็นปลาชนิดเดียวในโลกที่ทำรังแลดูคล้ายรังนกโดยใช้กิ่งไม้ใบไม้มาสักสานต่อเป็นรวงรัง จากนั้นตัวผู้จะเก็บไข่ไปพ่นไว้ในนั้นและดูแลจนกว่าลูกปลาจะดูแลตัวเองได้ จากนั้น ป๋าป๊า ก็บ๊าย...บายแล้วหนูเอ๊ย



ปุจฉา : ปลาที่ยาวที่สุดในโลกคือปลาอะไรอ่ะพี่

วิสัชณา : ได้เลยไอ้น้อง อยากรู้เหรอะ พี่จะตอบให้ อะแฮ่มๆ เขาเรียกว่า ปลาออร์ฟิช น่ะไอ้น้อง ไอ้ตัวที่เขาเชื่อว่าเป็นพญานาคไง รู้จักแม่ะ ปลาออร์ฟิช Regalecus glesnc ยาวถึง 8 เมตร สถิติสูงสุดก็แค่เบาะๆ 17 เมตรเองงงง เล็กกว่าส้วมที่บ้านเราอีกเนอะ



ปุจฉา : แล้วในความเห็นพี่ ปลาอะไรที่หน้าตาแปลกที่สุดในโลก

วิสัชณา : คำว่าแปลก ในนิยามแต่ละคนไม่เหมือนกันนะน้อง แต่ในทัศนะของพี่ พี่เห็นว่า ปลาแสงอาทิตย์ หรือโอเชี่ยน ซันฟิช Mola mola นี่แหล่ะว่ะไอ้น้องที่พิลึกที่สุดในโลก พี่ว่าหน้าตามันน่ารักดีว่ะ ก๊ากกกกกกก เท่านั้นไม่พอมันเป็นปลาว่ายน้ำช้าที่สุดในโลกอีกด้วยนะเว๊ย



ปุจฉา : แล้วปลาอะไรอร่อยที่สุดในโลกอ่ะพี่

วิสัชณา : ปาท่องโก๋ ว่ะ ก๊ากกกกกก



ลิ๊งค์ที่เกี่ยวข้อง

//www.manager.co.th/china/ViewNews.aspx?newsID=4644073769449

//www.mola.org

//www.fisheries.go.th


//www.mahaeyong.org/history/History2.htm




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2549 9:17:41 น.
Counter : 2152 Pageviews.  

" ป.ปลานั้นหายาก... (2)

หนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polynemus multifillis
วงศ์ : Polynemidae
ขนาด : 10-15 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาหนวดพรหมณ์ แต่หัวสั้นกว่า ปากเล็กและตาโตกว่า ครีบอกมีก้านครีบเป็นเส้นข้างละ 14 เส้น ลำตัวสีเทานวล ท้องสีจาง โคนครีบอกมีแต้มสีคล้ำ
อาหาร : ลูกกุ้ง ลูกปลา และแพลงก์ตอนสัตว์
พฤติกรรม : คล้ายปลาหนวดพรหมณ์ มักพบหากินบริเวณน้ำไหล
ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักที่มีพื้นเป็นทรายปนโคลนและค่อนข้างขุ่น
สถานภาพ : พบไม่บ่อยนัก



แรดเขี้ยว แรดแม่น้ำโขง เม่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osphronemus exdon
วงศ์ : Osphronemidae
ขนาด : 40-50 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาแรด แต่ครีบก้นแคบกว่า ตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีเขี้ยวโค้งแหลมที่ริมฝีปาก ลำตัวสีน้ำตาลแดงคล้ำ
อาหาร : ปลา กุ้ง และพืชน้ำ
พฤติกรรม : ทำรังเพื่อวางไข่ โดยสานใบไม้กับกิ่งไม้ใต้น้ำ ตัวผู้คอยดูแลไข่และลูก
ถิ่นอาศัย : แม่น้ำและแหล่งน้ำหลากที่มีพืชน้ำและตอไม้ของลุ่มน้ำโขง
สถานภาพ : พบน้อย



จีด เมง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heteropneustes kemarattensis
วงศ์ : Heteropneustidae
ขนาด : 15-30 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาดุก แต่หัวแบนราบมากกว่า ตาและปากเล็ก มีหนวดยาว 4 คู่ ด้านหลังมีครีบหลังอันเล็ก ไม่มีครีบไขมัน ครีบก้นยาว ครีบหางเล็กและปลายมน ครีบอกมีก้านแข็งแหลมคม ลำตัวสีคล้ำหรือน้ำตาลอมแดง ท้องสีจาง
อาหาร : ปลา กุ้งขนาดเล็ก และแมลงต่าง ๆ
พฤติกรรม : อยู่เป็นฝูงใหญ่ เงี่ยงที่ครีบอกมีพิษแรงมาก
ถิ่นอาศัย : หนอง บึง และแม่น้ำ
สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์ในแถบภาคกลาง



แค้ติดหิน ก๊องแก๊ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glyptothorax dorasalis
วงศ์ : Sissoridae
ขนาด : 5-8 ซ.ม.
ลักษณะ : ลำตัวป้อมสั้นกว่าปลาแค้ติดหินชนิดอื่น มีสีคล้ำหรือดำอมเหลือง ท้องสีจาง ด้านหน้าโคนครีบหลังมีแต้มสีเหลืองสด และมีลายแถบสีเหลืองพาดลำตัวตามแนวยาวตรงกลางหลังและด้านข้าง ครีบสีดำและขอบสีเหลือง ปลายครีบหางมีขอบสีเหลือง
อาหาร : ตัวอ่อนแมลงน้ำและลูกปลา
พฤติกรรม : คล้ายปลาแค้ติดหินทั่วไป
ถิ่นอาศัย : ลำธารและน้ำตกของลุ่มน้ำสาละวิน
สถานภาพ : พบไม่บ่อยนัก



ยะคุย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gagata gashawyu
วงศ์ : Sissoridae
ขนาด : 10 ซ.ม.
ลักษณะ : ลำตัวทรงกระบอก แบนข้างเล็กน้อย หัวทู่ ตาใหญ่ แต่ม่านตาเล็กคล้ายตางู ปากเล็ก มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังยกสูง ครีบไขมันเล็ก ครีบหางเว้าลึก ลำตัวสีเขียวอมทองมีแต้มสีคล้ำ ท้องสีจาง ครีบใส ครีบไขมันมีขอบสีคล้ำ ครีบหางมีแถบสีคล้ำ
อาหาร : ไส้เดือนน้ำและตัวอ่อนแมลง
พฤติกรรม : อยู่ในบริเวณใกล้พื้นท้องน้ำ
ถิ่นอาศัย : อาศัยอยู่ในน้ำไหลที่มีพื้นเป็นทรายหรือโคลนของลุ่มน้ำสาละวิน
สถานภาพ : พบน้อย



เสือตอลายเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides undecimradiatus
วงศ์ : Coiidae
ขนาด : 15-25 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาเสือตอลายใหญ่ แต่มีส่วนลาดของหน้าน้อยกว่า เกล็ดใหญ่กว่า และก้นมีก้านครีบอ่อน 11 อัน ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนหรือเขียวขี้ม้า และมีลายบั้งสีคล้ำพาด 5 แถบ แต่ลายแคบกว่าปลาเสือตอลายใหญ่มาก
อาหาร : ปลาเล็กและกุ้ง
พฤติกรรม : อยู่นิ่งตามตอไม้หรือกองหินใต้น้ำเพื่อรอเหยื่อ
สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์



บู่แคระ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brachygobius mekongensis
วงศ์ : Gobiidae
ขนาด : 1-2 ซ.ม.
ลักษณะ : ลำตัวสั้น หัวกลมมน ปากเล็ก ตาโต เกล็ดเล็ก ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนใส มีลายประสีคล้ำและดำ และมีลายพาดยาวถึงโคนหางประมาณ 4-5 แถบ ครีบใส ครีบหลังอันแรกมีสีคล้ำที่ขอบหน้า โคนครีบหลังและครีบหางมีสีแดงเรื่อ ๆ
อาหาร : แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก
พฤติกรรม : วางไข่โดยตัวผู้เป็นผู้ดูแล
ถิ่นอาศัย : หนองบึงและแหล่งน้ำนิ่งสภาพดี มีพืชน้ำหนาแน่น
สถานภาพ : พบน้อยในบางแหล่งน้ำ



กระสูบสาละวิน กระสูบพม่า มุมหมาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hampala salweenensis
วงศ์ : Cyprinidae
วงศ์ย่อย : Cyprininae Systomi
ขนาด : 20-35 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลากระสูบขีด แต่ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำ ข้างแก้มมีแต้มสีเหลืองหรือชมพู ข้างลำตัวมีแต้มสีคล้ำที่ใต้ครีบหลังและโคนคอดหาง ครีบสีแดงเรื่อหรือคล้ำ ครีบหางมีแถบสีคล้ำที่ขอบทั้ง 2 แฉก
อาหาร : ปลาเล็ก ๆ และแมลงน้ำ
พฤติกรรม : ว่ายน้ำจับเหยื่อได้รวดเร็วบริเวณผิวน้ำจนเกิดเสียงดังเสมอ ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ
ถิ่นอาศัย : ลำธารและแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำสาละวิน
สถานภาพ : พบน้อย



บัว หว้าซวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Labeo dyocheilus
วงศ์ : Cyprinidae
วงศ์ย่อย : Cyprininae Labeonini
ขนาด : 30-50 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลากาดำ แต่หัวโตกว่า ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากหนาและจะงอยปากมีตุ่มเล็ก ๆ มีหนวดสั้น 2 คู่ ลำตัวสีเทาอมเขียวไพล เกล็ดสีเหลือบเงินวาว ท้องสีจาง ครีบสีจางและแดงเรื่อ ๆ ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นยาว ครีบหางเว้าลึก
อาหาร : ตะไคร่น้ำที่เกาะตามหินและอินทรียสาร
พฤติกรรม : อาศัยในระดับพื้นท้องน้ำและตามแก่งหิน
ถิ่นอาศัย : แม่น้ำสายหลักที่เป็นแก่งไหลแรง
สถานภาพ : พบไม่บ่อยนัก



สร้อยนกเขาหน้าหมอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osteochilus enneaporus
วงศ์ : Cyprinidae
วงศ์ย่อย : Cryrininae Labeonini
ขนาด : 15-20 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาสร้อยนกเขา แต่จะงอยปากยื่นกว่า ปากงุ้มอยู่ด้านล่าง ครีบหลังสั้นกว่า ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือม่วงคล้ำ หัวมักมีสีคล้ำหรือม่วงคล้ำ ข้างช่องเหงือกมีแต้มสีดำ ครีบสีคล้ำ
อาหาร : ตะไคร่น้ำและอินทรียสารตามหินหรือไม้ใต้น้ำ
พฤติกรรม : เที่ยวว่ายเวียนตามกองหินเป็นฝูงเล็ก ๆ 5-10 ตัว
ถิ่นอาศัย : ต้นน้ำลำธารในป่า
สถานภาพ : หายาก



หมอแคระ หมอขี้เซา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Badis siamensis
วงศ์ : Nandidae
ขนาด : 3-5 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาหมอ แต่ตัวเล็กกว่ามาก ครีบก้นสั้นกว่า ปากเล็ก ตาโต ลำตัวสีน้ำตาลแดง มีจุดประสีดำเหลือบและแดงสด ครีบหลังมีดวงสีคล้ำอยู่ระหว่างก้านครีบเกือบทุกอัน ขอบครีบสีแดงเรื่อ ๆ ครีบหางสีเหลืองอ่อน
อาหาร : แพลงก์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำ
พฤติกรรม : อยู่ตามใบไม้ร่วงและซอกหิน วางไข่ในโพรงไม้
ถิ่นอาศัย : ลำธารตื้นที่มีพืชน้ำในป่า
สถานภาพ : พบน้อย



หมอดำทับทิม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Badis ruber
วงศ์ : Nandidae
ขนาด : 3-5 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายหมอแคระ แต่หัวสั้นกว่าเล็กน้อย ดวงดำบนครีบหลังเป็นดวงใหญ่กว่า ลำตัวสีน้ำตาลแดง และมีจุดสีแดงคล้ำหรือแดงสดใสในทุกเกล็ดสลับกับสีฟ้าเหลือบ โคนครีบหางด้านบนมีดวงสีคล้ำดวงใหญ่ ครีบหลังมีแถบสีคล้ำอมม่วงและแดง และมีขลิบสีจาง
อาหาร : แพลงก์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำ
พฤติกรรม : คล้ายปลาหมอแคระ
ถิ่นอาศัย : ลำธารและริมฝั่งแม่น้ำที่ตื้นของลุ่มน้ำโขงตอนบน
สถานภาพ : พบน้อย



จิ้มฟันจระเข้แคระ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Indostomus paradoxus
วงศ์ : Indostommidae
ขนาด : 2-3 ซ.ม.
ลักษณะ : คล้ายปลาจิ้มฟันจระเข้ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก หัวและปากสั้นกว่า ตาโต หางเรียวเล็ก ครีบหลังเป็นก้านครีบแข็งสั้น ๆ ที่ตอนหน้าลำตัว และเป็นครีบอ่อนที่ตอนกลาง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นเล็ก ครีบหางเป็นรูปพัด ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนถึงคล้ำ มีลายสีคล้ำประ
อาหาร : แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก
พฤติกรรม : วางไข่ติดกับพืชน้ำ โดยตัวผู้คอยดูแลไข่
ถิ่นอาศัย : ค้นพบครั้งแรกที่ทะเลสาบอินเล ในรัฐฉาน ประเทศพม่า
สถานภาพ : พบน้อย



ปักเป้าแคระ ปักเป้าหางวงเดือน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monotrete cutcutia
วงศ์ : Tetraodontidae
ขนาด : 4-6 ซ.ม.
ลักษณะ : เป็นปลาปักเป้าขนาดเล็ก ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ครีบเล็ก ลำตัวสีคล้ำหรือเขียวขี้ม้า มีจุดประสีเหลืองหรือสีจางทั่วตัว หลังมีลายพาดสีคล้ำ ข้างลำตัวมีดวงสีดำใหญ่ ตาสีแดง ครีบหางมีขอบสีแดงหรือชมพู
อาหาร : หอย กุ้งขนาดเล็ก และลูกอ๊อด
พฤติกรรม : อยู่ตามซอกหินและใบไม้ร่วง
ถิ่นอาศัย : ลำธารและแม่น้ำในภาคใต้
สถานภาพ : พบไม่บ่อยนัก



ลิ๊งค์ที่เกี่ยวข้อง

//www.siamensis.org

//www.pufferlist.com




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2549 5:39:06 น.
Counter : 3949 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

น้ำเกลือยอดเยี่ยม
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ทำอพาร์ตเมนต์ ขายปลา ทำปลา เล่นเน็ต ตามการเมือง
Friends' blogs
[Add น้ำเกลือยอดเยี่ยม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.