Group Blog
 
All Blogs
 

ลงทุน กับลูกอีกคนที่ชื่อ "หุ้น"

ลงทุน กับลูกอีกคนที่ชื่อ "หุ้น"

เมื่อวานถือเป็นโชคดี ได้กูรูด้านการเงิน ผศ. ผศ.ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มาบรรยายสั้นๆ เรื่อง Value Investment ให้ฟังถึงออฟฟิศ หลังจากการบรรยาย สิ่งที่เกิดขึ้นในใจคือ สงสัยต้องหันกลับมามองการลงทุนเรื่อง "หุ้น" ใหม่เสียแล้ว

ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นคนเล่นหุ้น เก็บเงินก้อนแรกในชีวิตได้ 2 แสน เลยอยากลองเล่น ผลคือ ขาดทุนยับเยิน เพราะ ไม่ใช่เล่นไม่เป็น แต่ "ใจไม่นิ่ง" "ใจไม่แข็ง"

ซึ่ง "ใจ" ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ ผศ.ดร. นิเวศน์ ท่านแนะนำไว้ ท่านสอนว่า

หุ้นก็เหมือนคน เหมือนเราเลี้ยงลูก ลูกบางคนก็เป็นคนดี หาเงินให้พ่อแม่ใช้ ลูกบางคนก็นิสัยไม่ดี ใช้แต่เงินพ่อแม่ มีแต่ทำให้พ่อแม่เจ็บป่วย

แต่โชคดีอย่างที่หุ้นกับลูกต่างกัน คือ หุ้นเลือกได้แต่สอนไม่ได้ ส่วนลูก เลือกไม่ได้แต่สอนได้

ดังนั้น กลยุทธ์การเล่นหุ้น ที่ ผศ.ดร. นิเวศน์ แนะนำสำหรับคนมีครอบครัว มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ คือ

1. เก็บเงินให้ได้ก้อนหนึ่ง คิดเป็น 10% ของเงินเดือน เช่น ทั้งปีได้รายได้ 5 แสน ก็เก็บเงินกันไว้ 50,000

2. ศึกษาธุรกิจ ไม่ใช่ศึกษาหุ้น การซื้อหุ้นคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจ ลองนึกภาพ เราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เก็บเงินเอาไปลงทุน เงินที่จมไป ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้เลย เปิดร้านอาหาร 5 แสน ก็หมด 5 แสน เป็นเงินจม ขายคืน อาจไม่ได้ราคาด้วยซ้ำ หุ้นก็คล้ายกัน ต้องมองเป็นเงินจม ไม่ใช่มีสภาพคล่องสูง แต่หุ้นดีกว่า คือ เราเป็นเจ้าของธุรกิจเหมือนกัน มีคนเก่งบริหารงานแทน ด้วย ไม่ต้องเหนื่อย ใช้เงินทำงานแทน

ดังนั้น การซื้อหุ้น จึงต้องศึกษาธุรกิจให้ดี ผศ.ดร. นิเวศน์ ยกตัวอย่างว่า ตอนปี 40 บริษัทเงินทุนปิด ผศ.ดร. นิเวศน์ ตกงาน แต่มีเงินเก็บอยู่ 10 ล้าน (ในระดับผู้บริหารธนาคาร ผศ.ดร. นิเวศน์ บอกก็ไม่เยอะไม่น้อย)

ก็เลยเอาเงิน 10 ล้านมาลงทุน ในหุ้น

โดยจุดสำคัญคือ ธุรกิจที่เราจะซื้อหุ้นต้อง
- มั่นคง เป็นเจ้าตลาด อันดับต้นๆ
- ไม่มีหนี้สิน หรือมีแต่น้อย และมีแนวโน้มใช้หมด ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
- มีผลกำไร และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลตลอด
- เป็นธุรกิจที่น่าจะไม่ได้รับผลกระทบด้านความเชื่อ มากนัก (แต่ข้อนี้ไม่ห่วงเท่าไร)

ผศ.ดร. นิเวศน์ เลยมองตัวเแรกคือ หุ้นมาม่า (ขอเรียกง่ายๆ) เพราะ มาม่า เป็นสินค้าที่ยามวิกฤต ยังคงขายได้ เป็นอันดับหนึ่ง บริษัทไม่มีหนี้สิน ผู้บริหารเป็นคนดี มีนโยบายจ่ายเงินปันผลตลอด

ผศ.ดร. นิเวศน์ เลยลงทุนไป 1 ล้าน ซื้อหุ้นไว้ หุ้นละ 50 บาท ปีแรกได้เงินปันผลมา 5 บาท เท่ากับ 10% (ปัจจุบันหุ้นมาม่า ผศ.ดร. นิเวศน์ บอกว่า ตอนนี้ 800 บาท แล้ว 10 ปีผ่านไป เงิน 1 ล้านของผศ.ดร. นิเวศน์ กลายเป็น 16 ล้าน โดยยังไม่นับเงินปันผลที่ได้)

3. กระจายความเสี่ยง จะเห็นว่า ผศ.ดร. นิเวศน์ ลงทุนมาม่าแค่ 1 ล้าน แต่ไม่ลงทุน 10 ล้าน เพราะ ต้องกระจายความเสี่ยง ผศ.ดร. นิเวศน์ เล่าว่า หุ้นตัวที่สองที่ลงทุน คือ วาโก้ โดยเหตุผลที่เลือกคือ วาโก้ ธุรกิจเสื้อใน ที่ขายทั่วเอเชีย ตอนนั้นค่าเงินไทยลด ดังนั้นของจากเมืองไทยจึงมีราคาถูก วาโก้ เป็นเสื้อในคุณภาพดี ราคาถูก จึงขายได้ หรือ หุ้นอีกตัวคือ 7/11 เพราะยังไงคนก็ซื้อ ก็กิน

สิ่งที่ ผศ.ดร. นิเวศน์ เน้นคือ การวิเคราะห์ธุรกิจ ไม่ใช่การดูในกระดาษ ดูตัวเลข แต่ต้องสัมผัสจริง เห็นจริง เข้าใจธุรกิจจริงๆ เพราะตัวเลข สะท้อนแค่บางอย่าง แต่เหตุการณ์จริง ในการค้าขาย คือ ผลงาน

บางบริษัท ตัวเลขดี แต่จริงๆ ธุรกิจอาจเริ่มป่วย บางบริษัทตัวเลขไม่ดี แต่อาจกำลังอยู่ขาขึ้น ซึ่งของเหล่านี้ต้องวิเคราะห์จากความจริง เห็นจริง ไม่ใช่ดูตัวเลขในกระดาษ

4. ถือยาว การเล่นหุ้น มีสองแบบคือ เป็นนักลงทุน หรือเป็นนักเล่นหุ้น นักเล่นหุ้น จะเหมือนการพนัน คือ เล่นความเสี่ยง เก็งกำไร แต่การเป็นนักลงทุนคือ ดู 3 ข้อ แล้วเลือกเก็บเงินปันผล ผศ.ดร. นิเวศน์ แนะนำว่า หุ้นแต่ละตัว ให้รอจังหวะที่ บริษัทป่วย คือ เกิดวิกฤต พื้นฐานบริษัทดี แต่ล้มเจ็บเพราะวิกฤตบางอย่าง เช่น แต่ก่อน หุ้นการบินไทย ล้ม แต่พื้นฐานธุรกิจดี สุดท้าย หุ้นก็ขึ้น

ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ รอไม่เป็น ใจไม่นิ่งพอ แม้จะคิดว่า พื้นฐานดี แต่ก็ยอมขายทิ้งก่อน เพราะกลัว

ดังนั้น ถ้าเราคิดว่า พื้นฐานดีแล้ว และไม่มีความเสี่ยง เพียงแต่ ช่วงนี้ หุ้นตก เพราะป่วย ก็ต้องรอให้บริษัท รักษาตัว ให้หายป่วย กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

โดยพื้นฐาน ผศ.ดร. นิเวศน์ แนะนำให้ ถือหุ้นแต่ละตัว 5 ปี และเริ่มต้นเล่น 5 หุ้น จะกระจายกันไป

คำว่า 5 ปี ไม่จำเป็นต้องถือยาว ก็ได้ ถ้าเห็นว่า พื้นฐานมันเปลี่ยน ก็ขายได้ แต่ให้ ตั้ง "ใจ" ไว้ว่า 5 ปี เพื่อใจจะได้นิ่งพอ

---------------------------------------------
โดยสรุปคือ

1. หาบริษัทที่ดี มีแนวโน้มเติบโต และจ่ายปันผล
2. รอจังหวะ เจ็บไข้ ได้ป่วย (ไม่ใช่แค่หุ้นตกเล็กๆ)
3. ลงทุน
4. เก็บเกี่ยว เงินปันผล (ไม่ต้องสนใจราคาหุ้น ถ้าเลือกบริษัทที่ดี ยังไง ราคาก็ขึ้น)
5. เงินปันผล ให้ถือเป็น เงินที่งอกขึ้นมา จากเงินที่เราไม่มี ดังนั้น ได้มา ถ้าไม่มีเหตุอันควร ให้เก็บไว้เพื่อรอจังหวะ ลงทุนใหม่

---------------------------------------------

จริงๆ ที่อาจารย์สอนเป็นแนวทางง่ายๆ สำคัญที่ "ใจ" เท่านั้น

ตอนผมเล่นใหม่ๆ ที่เสียหายก็เพราะใจ ลองนึกตามหลักการของอาจารย์ ถ้าวันนั้นยังถือหุ้นอยู่ ด้วย "ใจ" ที่ "นิ่ง"

ตอนนี้ก็รวย ....สุดๆ เหมือนกัน

หุ้นตัวหนึ่ง ผมเคยซื้อไว้ 10.50 จ่ายปันผล 0.50-1.00 ต่อปี แต่ผมทนไม่ได้ ขายไป เพราะราคาไม่ค่อยขยับ (ตอนนั้นเป็น คนเล่นหุ้น มองราคาเป็นหลัก)

วันนี้หุ้นตัวนั้น 14.00 บาท เท่ากับ ขึ้นมา 3.5 บาท ถ้าผมลงไว้ 10,000 หุ้น เป็นเงิน 105000 บาท ผมก็จะมีเงิน 140,000 บาท
พร้อมปันผลอีก ปีเฉลี่ย 1 หมื่นบาท (คิดว่า 5 ปี ก็เท่ากับ เงินผม งอกขึ้นมาโดยประมาณเกือบ 100% จาก 105000 -> 190,000 )

ฟังดูอาจจะไม่เยอะ แต่ลองนึกว่า ถ้าเราเริ่มต้นตอนสัก 30 (ผมเกินละ) เริ่มต้นปีละ 50,000 บาท

ค่อยๆ ลงทุน ผ่านไป อายุ 40 เงินตั้นต้น ง่ายๆ 500,000 แต่เงินจะงอก เป็น 1 ล้าน (คิดจากหุ้นที่ผมยกต้วอย่าง แต่ถ้าเป็นหุ้นมาม่าอะ จาก 500,000 จะกลายเป็น 8,000,000 นะครับ)

ทั้งนี้ วิธีนี้ เป็นการลงทุนใน หุ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ให้ลดความเสี่ยงลง และดีกว่า เงินฝาก หรือเอาไปลงทุนทำอย่างอื่น

แต่จุดสำคัญคือ จะหาบริษัทดีๆ ที่ว่าได้อย่างไร และจะมีจังหวะที่เจ็บป่วย ตอนไหนให้เราลงทุน

จังหวะในการเข้าซื้อ กับการมีเงินสดในมือ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเริ่มเล่นหุ้น

ที่มา: //community.momypedia.com/community/blog/my_blog_detail.aspx?bgrid=64603&blgid=13145




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2553    
Last Update : 6 มิถุนายน 2553 11:15:21 น.
Counter : 702 Pageviews.  

คุณทราบหรือไม่ว่า คุณลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ ?

ปลายเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้ประกาศ อย่างเป็นทางการ อนุญาตให้นักลงทุนไทย สามารถนำเงินออกไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศโดยตรง หรือ Offshore Trading ได้ มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้แบงก์ชาติเปิดทางให้ลงทุนในออฟชอร์ เหตุผลแรก เงินสำรองภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ในระดับล้านล้านบาท จากเดิมที่อยู่ในระดับแสนล้าน จากการที่แบงก์ชาติตุนเงินดอลลาร์เก็บไว้ในพอร์ตเงินสำรองเป็นจำนวนมาก ดังนั้นภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการระบายเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ออกไป เพื่อควบคุมไม่ให้เงินบาทแข็งตัวจนผิดปกติ รวมไปถึงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างไรไม่หยุดหย่อน

ออฟชอร์จึงกลายเป็นช่องทางหนึ่ง เพื่อให้คนไทยนำเงินออกไปเล่นหุ้นในต่างประเทศ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนออกไปลงทุนในรูปแบบของ FIF (Foreign Investment Fund) หรือการไปลงทุนในกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมาแล้วก็ตาม

แต่การลงทุนใน Offshore และ FIF มีความแตกต่างกัน การลงทุนในเอฟไอเอฟ นักลงทุนจะต้องซื้อหน่วยลงทุน โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นดูแล ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ในขณะที่ออฟชอร์ นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นโดยตรง โดยเสียค่าธรรมเนียมให้กับโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่เพียงขั้นตอนเดียว และทำหน้าที่ซื้อขายได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แต่นักลงทุนต้องบริหารเงินทุนด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี ออฟชอร์ก็เป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนไทยในทศวรรษนี้ที่ต้องการแสวงหาตลาดใหม่ที่สามารถทำกำไร และออฟชอร์ก็มาถูกจังหวะถูกเวลาในช่วงนี้พอดิบพอดี เพราะเมื่อไตร่ตรองพิจารณารอบด้านแล้ว โดยเฉพาะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถอยรูดมาอยู่ที่ 700 กว่าจุด และยังมีสถานการณ์การเมืองช่วยซ้ำเติมให้เลวร้ายเข้าไปอีก หนทางไปลงทุนในต่างประเทศน่าจะมีความหวังมากกว่า

แม้ว่าออฟชอร์ในย่านเอเชียจะเกิดขึ้นมานานแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ที่ลงทุนออฟชอร์มาหลายสิบปี แต่เพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียก็เพิ่งเปิดให้บริการมา 2 ปี ส่วนของนักลงทุนไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาเพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ แม้ว่านักลงทุนบางรายจะมีประสบการณ์เล่นหุ้นอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ตาม

การลงทุนในออฟชอร์จะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลเงินเข้าออก สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำหน้าที่ควบคุมบริการให้มีมาตรฐาน ออกกฎเกณฑ์การซื้อหุ้น ส่วนหน่วยงานสุดท้าย กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีเงินได้

เงินลงทุนที่จะนำไปลงทุนในต่างประเทศอนุญาตให้ลงทุน 2 ส่วน ส่วนแรกบุคคลทั่วไปเงินลงทุนไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโอนเงินครั้งแรกไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัทและองค์กรเงินลงทุนไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโอนเงินครั้งแรกไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออฟชอร์กลายเป็นตลาดใหม่ของตลาดทุนในช่วงนี้ จนทำให้บรรยากาศของบริษัทหลักทรัพย์ 39 ราย เริ่มคึกคักขึ้นมาบ้าง หลังจากที่มีทางเลือกในปัจจุบันเปิดเฉพาะให้เล่นหุ้นของบริษัทในประเทศที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 400 กว่าแห่งเท่านั้น แต่จากนี้ไปนักลงทุนไทยสามารถไปเล่นหุ้นได้ทั่วโลกที่มีจำนวนหุ้นให้เล่นได้เป็นล้านหุ้น

(ที่มา: //www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=71060)




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 16:42:22 น.
Counter : 617 Pageviews.  

"การลงทุนในต่างประเทศ" โดย ดร.นิเวศน์ (Global Investment by Thai Value Investor)

ในอดีตนั้น การลงทุนในหุ้นสำหรับ Value Investor ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ การลงทุนในต่างประเทศนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนอาจจะกลัวกันอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์ หลายรายให้บริการการซื้อขายหุ้นต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินเพียงประมาณห้าแสนหรือหนึ่งล้านบาทขึ้นไป การซื้อขายก็ทำกันทางอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นไทยเท่าใดนัก ผมคงยังไม่วิจารณ์ว่า Value Investor ควรจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือไม่ แต่อยากจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะในกรณีของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นหลัก

ข้อดีของการลงทุนในต่างประเทศ
ข้อดีข้อแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างตลาดนิวยอร์กก็คือ เรามีโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นจำนวนมาก นอกจากจำนวนของบริษัทที่มีมากมายแล้ว เรายังมีโอกาสหาหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะที่เราต้องการลงทุนได้มากมายซึ่งหาไม่ได้จากตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของกิจการที่ “ดีเยี่ยม” แบบ “Great Company” ที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น “Super Stock” ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบลงทุนนั้น ถ้าเรานำมาใช้ในตลาดหุ้นไทย เราอาจจะหาได้ค่อนข้างยาก แต่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น หุ้นที่มีคุณภาพสูงระดับโลกนั้นมีมากมายให้เลือก ไล่ตั้งแต่หุ้น Google ไปถึง ไมโครซอพท์ ที่เป็นหุ้นไฮเท็ค ถึงหุ้นโค๊กที่เด่นทางด้านยี่ห้อ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินระดับโลกอย่างหุ้นที่ให้บริการบัตรเครดิตเช่น หุ้นวีซ่า เป็นต้น


ข้อดีข้อสองก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐโดยเฉลี่ยในระยะยาวนั้นดูเหมือนจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นไทย โดยที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นของอเมริกานั้นให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10-11% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 8-9% ผลต่างประมาณปีละ 2% นั้นในระยะยาวก็ถือว่าค่อนข้างต่างกันมาก และนั่นก็อาจจะเป็นผลจากคุณภาพที่สูงกว่าของบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาเทียบกับบริษัทไทย


ข้อดีข้อสามก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนลง เพราะการขึ้นลงของราคาหุ้นของไทยกับหุ้นต่างประเทศนั้นโดยทั่วไปมักจะไม่ตรงกัน บางช่วงที่ตลาดหุ้นไทยคึกคัก หุ้นต่างประเทศอาจจะซบเซา และช่วงที่หุ้นต่างประเทศดี หุ้นไทยอาจจะแย่ โดยรวมแล้ว ถ้าเรามีหุ้นอยู่ในทั้งสองตลาด ผลตอบแทนการลงทุนของเราจะมีความสม่ำเสมอขึ้นหรือก็คือความเสี่ยงลดลง


ข้อดีข้อที่สี่ ระบบบัญชีและการรายงานต่าง ๆ ของบริษัทในอเมริกามีความโปร่งใสและผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้มากกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารสามารถคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้เป็นรายไตรมาศซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นได้ นอกจากนั้น สังคมของนักวิเคราะห์ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับผลประกอบการมักจะไม่ค่อย “มั่ว” ถ้าผู้บริหารคาดการณ์ผิดบ่อยหรือผิดไปมากก็จะเสียเครดิต


ข้อเสียของการลงทุนในต่างประเทศ
ข้อเสียของการไปลงทุนนอกประเทศนั้นก็มีไม่น้อยกว่ากัน ข้อแรกก็คือ ความเข้าใจในตัวกิจการหรือบริษัทที่เราจะลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะมีน้อยกว่าในกรณีของบริษัทในประเทศไทย จริงอยู่ ข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือรายงานต่าง ๆ ของบริษัทต่างประเทศอาจจะดี มีมาก และหาได้ง่ายกว่าโดยที่เราเพียงแต่เข้าไปดูผ่านหน้าเว็บดัง ๆ อย่าง YAHOO FINANCE ได้ แต่ข้อมูลที่เราจำเป็นต้อง “สัมผัส” เช่นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด หรือการพบปะกับผู้บริหารนั้น เราไม่สามารถทำใด้ นอกจากนั้น สำหรับหลายคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงพอ การทำความเข้าใจในตัวบริษัทก็จะยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง


ข้อเสียข้อที่สองก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกามีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูงกว่าในตลาดไทย โดยที่ค่าคอมมิชชั่นรวมกับค่าบริการอื่น ๆ แล้ว อาจจะขึ้นถึง 0.5% ในกรณีที่ซื้อขายครั้งละไม่มาก ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2 – 0.27% รวมภาษี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ก็อาจจะไม่ถึงกับมากถ้าเราไม่ได้ซื้อขายหุ้นบ่อย


ข้อเสียข้อสามก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐนั้น เรามีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ นอกจากนั้น เราต้องมีการแลกเงินในกรณีซื้อขายครั้งแรกและตอนที่จะเอาเงินกลับซึ่งทำให้เราเสีย Spread หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายเงินตราที่ธนาคารคิดกับเราซึ่งก็มักจะต่างกันพอสมควร


ข้อเสียที่สี่ก็คือ การลงทุนในต่างประเทศนั้น กฏก็คือ ถ้าเราได้กำไรจากการขายหุ้นและนำเงินเข้ามาในประเทศในปีภาษีเดียวกัน เราจะต้องนำกำไรที่ได้ไปคิดคำนวณเป็นรายได้ส่วนบุคคลที่จะต้องเสียภาษีรายได้ประจำปี ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการเสียภาษีนี้ก็ต้องนำเงินเข้ามาในปีต่อไป ซึ่งทำให้การโอนย้ายเงินไม่คล่องตัวนัก


ข้อเสียสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ความเสี่ยงในเรื่องของกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ ของการลงทุนซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ ในขณะนี้อาจจะมีการสรุปแนวทางปฏิบัติเป็นที่ตกลงกันระหว่างโบรกเกอร์กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่อง ความเห็นและความเข้าใจกันในวันนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับหรือมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ารับหน้าที่ต่อ ความเสี่ยงตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าสูงต่ำแค่ไหน แต่ถ้าเกิดขึ้น ความยุ่งยากคงจะมีไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับคนที่ระมัดระวังและไม่ค่อยไว้วางใจกับระบบของราชการไทยอย่างผม


บทสรุปของการลงทุนในต่างประเทศ
กล่าวโดยสรุปสำหรับตัวผมเองนั้น ในขั้นนี้ผมคงจะรอดูไปก่อน และตราบใดที่ยังพอหาหุ้นดีที่คุ้มค่าน่าลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้พอสมควรผมก็คงไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้น มีประโยชน์และมีคุณค่าพอสมควรทีเดียว และวันหนึ่งก็อาจจะหนีไม่พ้นที่ผมจะต้องไปลงทุนด้วยเหมือนกัน


(ที่มา: ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร - Value Investing / โลกในมุมมองของ Value Investor / ซื้อหุ้นต่างประเทศ - //www.thaivi.com/2009/08/25/)




 

Create Date : 20 เมษายน 2553    
Last Update : 20 เมษายน 2553 11:10:21 น.
Counter : 1942 Pageviews.  


ปันปัน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ปันปัน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.