อันตรายของแสงแดดต่อดวงตา

เป็นที่ทราบกันดีว่าแสงแดด ประกอบด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet) หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า รังสียูวี (UV rays) ซึ่งเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็นด้วยตา กล่าวคือ แสงที่มองเห็นด้วยตามีความยาวคลื่น 400-700 นาโนเมตร รังสียูวีจึงมีความยาวคลื่นสั้นกว่า 400 นาโนเมตร มีพลังงานสูง และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

1.รังสียูวี ซี (UV C rays,100-280 nm) เป็นรังสียูวีที่มีพลังงานสูงที่สุดและสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผิวหนังและดวงตาได้มากที่สุด โอโซนในชั้นบรรยากาศสามารถกรองไว้ได้หมด แต่ปัจจุบันชั้นโอโซนในบรรยากาศกำลังถูกทำลายมากขึ้น จึงทำให้รังสีชนิดนี้อาจทะลุผ่านลงมาสู่พื้นผิวโลกมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

2.รังสียูวี บี (UV B rays, 280-320 nm) เป็นรังสีที่มีพลังงานน้อยกว่ารังสียูวี ซี ถูกกรองโดยชั้นโอโซนได้บางส่วน รังสีบางส่วนที่ทะลุผ่านลงมายังโลก ในปริมาณน้อยจะกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ทำให้สีผิวคล้ำขึ้น ส่วนรังสีในปริมาณมากจะทำให้ผิวหนังไหม้ เกิดจุดด่างดำ รอยเหี่ยวย่น และเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งผิวหนัง

3.รังสียูวี เอ (UV A rays, 320-400 nm) เป็นรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 2 ชนิดแรก แต่สามารถทะลุผ่านกระจกตา เข้าไปสู่เลนส์ตาและจอตาได้ การได้รับรังสีชนิดนี้เป็นปริมาณมากอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดต้อกระจกและบางการวิจัยพบว่าอาจมีผลต่อการเกิดจุดภาพชัดเสื่อมด้วยเช่นกัน

โดยปกติเราสามารถปกป้องผิวหนังจากแสงแดดด้วยการใช้ครีมกันแดด แต่ทราบหรือไม่ว่า แม้ดวงตาของเราจะคิดเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย แสงแดดก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อส่วนต่างๆของดวงตาได้มากมาย ดังนั้น เพื่อปกป้องดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบางให้ปลอดภัยจากอันตรายภายนอกรวมทั้งแสงแดด ดวงตาของเราจึงถูกสร้างให้ถูกห่อหุ้มด้วยกระดูกเบ้าตา มีเปลือกตา ขนคิ้วและขนตาเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้การหดแคบลงของรูม่านตา การหลับตาหรือการหรี่ตา ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยปกป้องดวงตาตามธรรมชาติเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงที่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่จะไม่ถูกกระต้นด้วยรังสียูวี ดังนั้น แม้ในวันที่ไม่มีแสงแดดจ้า เราจะยังคงได้รับรังสียูวีในปริมาณมากอยู่ กล่าวคือ ประสิทธิภาพของกลไกป้องกันดวงตาตามธรรมชาติจึงอาจมีข้อจำกัด

 แสงแดดเป็นอันตรายต่อดวงตาอย่างไร

เปลือกตา มีความเปลี่ยนของสีผิว จุดด่างดำ ริ้วรอยรอบดวงตา นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาบางขนิด เช่น basal cell carcinoma squamous cell carcinoma ตลอดจน malignant carcinoma อาจเกี่ยวเนื่องมาจากการได้รับแสงแดดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

เยื่อบุตา มีการเสื่อมของเยื่อบุตาบริเวณที่ชิดกับขอบตาดำ เรียกว่า ต้อลม ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองจากลม ฝุ่น รังสียูวี หากต้อลมลุกลามเข้าไปในตาดำ เรียกว่า ต้อเนื้อ ไม่เพียงทำให้เกิดความไม่สวยงาม แต่อาจรบกวนการมองเห็น หรือหากมีการอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดและระคายเคืองได้

กระจกตา การอักเสบเฉียบพลันของกระจกตา ทำให้มีอาการปวดตามากน้ำตาไหล มักจะเกิดอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากได้รับรังสียูวีปริมาณมาก เช่น แสงสะท้อนจากหิมะ หรือรังสียูวีจากการเชื่อมโลหะโดยไม่สวมใส่แว่นป้องกัน อาการมักจะเป็นอยู่ชั่วคราวประมาณ 1-2 วัน

เลนส์ตา การเกิดต้อกระจก แม้ว่าต้อกระจกจะเกิดจากการเสื่อมตามวัย แต่พบว่าการได้รับรังสียูวีทำให้เป็นต้อกระจกมากขึ้นได้ ในแต่ละปี มีประชากรกว่า 16 ล้านคนทั่วโลกตาบอดจากต้อกระจก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าประมาณ 20 เปอร์เซนต์ของต้อกระจกอาจมีสาเหตุมาจากการได้รับรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้

จอตา ในคนหนุ่มสาวเลนส์ตาที่ยังใสอยู่ไม่สามารถดูดซับรังสียูวีไว้ได้หมด จึงมีโอกาสที่รังสียูวีจะเข้าไปทำลายจอตาทำให้เกิดจอตาเสื่อมได้ แม้ว่าในจอตาของเราจะมีสารหรือเม็ดสีตามธรรมชาติที่ช่วยปกป้องจอตา แต่สารเหล่านี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระบวนการป้องกันจอตาตามธรรมชาติลดลงและเกิดการเสื่อมของจอตาได้ง่ายขึ้น เมื่อได้รับรังสียูวี นอกจากนี้บางการศึกษาเชื่อว่ารังสียูวีน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration, AMD)

แสงสีฟ้า คืออะไร

ในปัจจุบันมีการตื่นตัวเกี่ยวกับแสงสีฟ้ากันอย่างกว้างขวางขึ้น จริงๆแล้วแสงสีฟ้า (blue light or high-energy visible radiation) เป็นแสงที่มองเห็นด้วยตา มีช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 381-500 นาโนเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงคลื่นรังสียูวี แสงสีฟ้าปริมาณสูงสามารถทำลายเซลล์อย่างถาวรในบางคน และหากได้รับแสงสีฟ้าเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดจุดภาพชัดเสื่อม ซึ่งเป็นจุดสำคัญในจอตา โดยเซลล์จะถูกทำลายอย่างช้าๆและทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางอย่างถาวรในที่สุด การศึกษา European study ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Ophthalmology ฉบับเดือนตุลาคม 2008 พบว่ากลุ่มคนที่มีระดับวิตามินซีและสาร antioxidant อื่นๆในเลือดต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดจอตาหรือจุดภาพชัดเสื่อมจากแสงสีฟ้า

ในชีวิตประจำวันเราได้รับแสงสีฟ้าอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือจากอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เลเซอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิด อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันแสงสีฟ้า โดยการใช้เลนส์ “Blue blocker” ซึ่งมักจะเป็นเลนส์สีเหลือง หรือสีส้ม ซึ่งโดยทั่วไปเลนส์ชนิดนี้ไม่ได้ลดปริมาณแสงสีฟ้าที่จะผ่านเข้าสู่ดวงตา แต่จะช่วยเปลี่ยนแปลงการปรากฎของแสงสีฟ้าและสีเขียว เนื่องจากแสงสีฟ้าอยู่ในช่วงคลื่นที่ใกล้เคียงกับรังสียูวีมาก การใช้เลนส์ “Blue blocker” จะสามารถช่วยป้องกันรังสียูวีได้ด้วย

เลือกแว่นกันแดดอย่างไรให้ปลอดภัย

1.สามารถป้องกันทั้งรังสียูวีเอและบีได้ 99-100 เปอร์เซนต์ โดยต้องมีป้ายระบุชัดเจน ทั้งนี้ประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีหรือระดับความเข้มของเลนส์

2.เลนส์ควรมีขนาดใหญ่และกว้างสามารถปิดบังดวงตาจากแสงแดดได้ทุกองศา

3.นอกจากจะป้องกันรังสียูวีแล้ว แว่นกันแดดที่ดี ควรมีคุณสมบัติอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่

  • Blue-blocking lenses ช่วยให้เห็นวัตถุไกลๆได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในหิมะหรืออากาศขุ่นมัว เลนส์ที่สามารถป้องกันแสงสีฟ้าได้ทั้งหมด คือ สีเหลืองอำพัน แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ใช้เลนส์สีเทาในการขับรถเพื่อให้เห็นแสงสีสัญญาณไฟจราจรได้อย่างถูกต้อง
  • Polarized lenses ช่วยตัดแสง ลดการเกิดแสงแตกกระจาย เช่น แสงแดดสะท้อนจากหิมะหรือผิวน้ำ
  • Photochromic lenses สามารถปรับความเข้มของสีเลนส์ได้ตามปริมาณแสงที่เปลี่ยนแปลง
  • Polycarbonate lenses ช่วยป้องกันการกระแทกหรืออุบัติเหตุที่ดวงตา
  • Mirror-coated lenses ช่วยลดแสงที่มองเห็นด้วยตา
  • Gradient lenses มี 2 ชนิด คือ single-gradient lenses ซึ่งมีสีเข้มด้านบน สีอ่อนด้านล่าง ช่วยลดแสงแตกกระจายและเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับการขับรถ อีกชนิดหนึ่ง คือ double-gradient lenses ซึ่งจะมีสีเข้มด้านบนและล่าง สีอ่อนตรงกลาง เหมาะสำหรับกีฬาทางน้ำหรือกีฬาฤดูหนาว

บทความสุขภาพตา โดย พญ.วีรยา พิมลรัฐ

  • Computer vision syndrome สายตาพังจากการใช้คอมพิวเตอร์
  • วุ้นตาเสื่อม รู้ตัวช้าเสี่ยงตาบอดอย่างถาวร

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเฟิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ตา

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ดูเว็บไซต์ที่ www.bangkokpattayahospital.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ปรึกษาแพทย์ได้ ที่นี่




Create Date : 02 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2558 10:42:08 น.
Counter : 909 Pageviews.

2 comment
ตรวจเต้านมด้วยตัวเองกันเถอะ

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในสตรี ปัจจัยที่ทำให้การรักษาได้ผลดีนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น ถ้าเราพบได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ ก็จะรักษาได้และหายขาดจากโรคอีกด้วย

การตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม มีแนวทางดังนี้

  • ตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไป
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
  • ควรทำแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวน์ในช่วงอายุ 35 – 40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปี ควรทำทุก 1 – 2 ปี
  • ในผู้ที่มีประวัติญาตสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นลบออก 5 ปี
  • ในรายที่มีความเสี่ยงสูง หรือเต้านมมีความหนาแน่นมาก การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้มีการค้นพบมะเร็งให้มากขึ้นกว่าการทำ

แมมโมแกรม การตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

เป็นการตรวจที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ถ้าเราทำเป็นประจำจะเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดโดย

1.ตรวจเป็นประจำทุกเดือน

2.ตรวจหลังประจำเดือนมา 7 – 10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน

3.ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือนถ้าคุณไม่มีประจำเดือนแล้ว

วิธีการตรวจ

1.ยืนหน้ากระจกแล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง แล้วสังเกตว่า ขนาดรูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนมเป็นอย่างไร และควรเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเดือนก่อน

2.หลังจากนั้นให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆหมุนตัวช้าๆ เพื่อที่จะดูบริเวณด้านข้างของเต้านม

3.ใช้มือเท้าเอวแล้วโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง

4.ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่

5.เริ่มคลำเต้านม โดยคลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆกดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง คลำเต้านมให้ทั่วทิศทาง การคลำทำได้หลายแบบ เช่น คลำเริ่มจากหัวนมไปตามแนวก้นหอยจนถึงฐานเต้านมบริเวณขอบ หรือคลำใต้เต้านมถึงกระดูกไหปราร้า ขยับนิ้วทั้ง 3 ในแนวเรียงแถวขึ้นลงสลับกันไป สิ่งที่สำคัญคือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน

6.เมื่อเสร้จการคลำในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอน ใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะทำ แล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน

การตรวจพบที่ต้องระวัง

  • คลำได้ก้อนเนื้อเต้านม หรือสงสัยว่ามีก้อนที่เต้านม
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมแตก บวม แดง หรือร้อน
  • รูขุมขนที่ผิวหนังบริเวณเต้านมใหญ่ขึ้นเหมือนผิวเปลือกส้ม
  • ผิวหนังบุ๋ม หรือมีการหดรั้ง
  • มีการนูนของผิวหนัง
  • ปวดเต้านมมากกว่าปกติที่เคย
  • คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม และลานหัวนม
  • หัวนมบุ๋ม
  • การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง
  • เลือดไหลหรือมีของเหลวผิดปกติออกจากหัวนม
  • มีแผลที่หายยากของเต้านม หัวนมและลานนม

“ถ้าตรวจพบอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจโดยเร็ว”

ศูนย์เต้านมโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ให้บริการตรวจ รักษาความผิดปกติของเต้านม อาทิ ซีสต์ ก้อนเนื้อหรือถุงไขมัน และโรคมะเร็งเต้านม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อันประกอบด้วย ศัลยแพทย์เต้านม ศัลยแพทย์โรคมะเร็งเต้านม รังสีแพทย์  แพทย์ฉายแสง  แพทย์เคมีบำบัด 

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเฟิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เต้านม

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ดูเว็บไซต์ที่ www.bangkokpattayahospital.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ปรึกษาแพทย์ได้ ที่นี่




Create Date : 30 ตุลาคม 2558
Last Update : 30 ตุลาคม 2558 11:45:03 น.
Counter : 4291 Pageviews.

1 comment
โรคสมองเสื่อม ป้องกันได้

โรคสมองเสื่อม สาเหตุหลักมาจาก อาการซึมเศร้า ผลข้างเคียงในการใช้ยา ดื่มแอลกอฮอล์เยอะ ไทรอยด์ต่ำ วิตามินบี12ต่ำ ติดเชื่อในสมอง สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ด้วยตัวคุณเอง ด้วยการทำกิจกรรมทางปัญญา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารเพื่อสุขภาพ

ขอขอบคุณ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเฟิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ดูเว็บไซต์ที่ www.bangkokpattayahospital.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ปรึกษาแพทย์ได้ ที่นี่




Create Date : 26 ตุลาคม 2558
Last Update : 26 ตุลาคม 2558 11:22:38 น.
Counter : 850 Pageviews.

1 comment
ปัญหากลิ่นปาก....อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

สาเหตุของกลิ่นปาก ส่วนใหญ่เกิดจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน บริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก หรือในรูฟันผุ ซึ่งจะมีเศษอาหารเน่าอยู่ รวมทั้งแผ่นคราบฟันและหินปูนที่อยู่รอบๆฟัน ซึ่งเป็นที่เก็บกักและสะสมเชื้อโรคต่างๆ บางคนพบว่าเหงือกเป็นหนองจากโรคปริทันต์ หรือมีฟันโยก อาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น หัวหอม กระเทียม ทุเรียน ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลายๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคทางร่างกายบางอย่าง เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง วัณโรค โรคปอด และโรคระบบทางเดินอาหาร ภายหลังตื่นนอนใหม่ๆ

กลิ่นปากจะแรง เพราะในขณะที่นอนหลับน้ำลายจะถูกขับออกมาน้อยทำให้น้ำลายมีการหมุนเวียนน้อย เศษอาหารที่ตกค้างสะสมอยู่จึงมีการบูด เกิดเป็นกลิ่นปากค่อนข้างแรง เมื่อตื่นนอนได้แปรงฟัน และน้ำลายมีการไหลเวียนมากขึ้น กลิ่นปากก็บรรเทาลง น้ำลายเปรียบเสมือนน้ำยาบ้วนปากที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกภายในช่องปาก เมื่อมีน้ำลายหลั่งออกมากทำให้ช่องปากสะอาดมากกว่าน้ำลายที่หลั่งออกมาน้อย ช่วยลดการบูดเน่าของอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น น้ำลายจะหลั่งออกมาได้มากในขณะเคี้ยวอาหาร รับประทานของเปรี้ยว หรือการคิดถึงอาหารอร่อยๆ ที่ชอบ ในบางขณะจะมีการหลั่งน้ำลายน้อย เช่น เวลานอนภาวะอดอาหาร การดื่มน้ำไม่เพียงพอ อากาศร้อน ตลอดจนภาวะทางจิตใจ ความเครียด

อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokpattayahospital.com/th/newsroom-th/health-articles-th/item/2666-halitosis-th.html

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเฟิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ทันตกรรมความงามและรากเทียม

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ดูเว็บไซต์ที่ www.bangkokpattayahospital.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ปรึกษาแพทย์ได้ ที่นี่




Create Date : 21 ตุลาคม 2558
Last Update : 21 ตุลาคม 2558 14:21:44 น.
Counter : 776 Pageviews.

1 comment
เครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบ 3 มิติ (Digital Mammogram with Tomosynthesis)

เครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมที่ออกแบบพิเศษ  สามารถถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมได้ทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ พร้อมกันได้ในครั้งเดียว โดยใช้เวลาต่อการถ่าย 1 ภาพ ประมาณ 10 วินาที ตรวจรายละเอียดภายในเนื้อเต้านมได้ทั้งหมด ให้ผลการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียด ทำให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถแยกชนิดของก้อนเนื้อระหว่าง ก้อนเนื้องอกธรรมดาและก้อนเนื้อที่เป็นมะเร้งเต้านมได้อย่างชัดเจน รังสีแพทย์สามารถดูภาพในแต่ละมิติหรือแต่ละ slide จากภาพ Reconstruction เพื่อดูขอบเขตและรูปร่างของก้อนเนื้อที่สงสัย สามารถแยกแยะความแตกต่างของไขมันและเนื้อเยื่ออื่นๆ รวมทั้งท่อและต่อมต่างๆ ในเต้านม เพื่อค้นหาการจับตัวของแคลเซียมที่มีขนาดเล็กมากๆ ที่คาดว่าจะผิดปกติอาจกลายเป็นมะเร็งในอนาคต  ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จึงมีโอกาสรักษาหายขาดได้สูงมาก 

เครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบ 3 มิติ  ไม่ต้องกดคนเต้านมคนไข้มากเหมือนการถ่ายเอกซเรย์เต้านมแบบเดิมเนื่องจากเป็นการถ่ายภาพในมุม +/- 15 องศา แล้วนำภาพมาประมวลผลเป็น 3 มิติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แรงในการกดเต้านมคนไข้มาก ลดความเจ็บปวดให้คนไข้ อีกทั้งรังสีแพทย์ยังสามารถอ่านผลได้สะดวก ชัดเจนและแม่นยำขึ้น ลดอัตราการเรียกคนไข้กลับมาตรวจซ้ำ (Reduce Recall Rate) และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองคนไข้ในการเจาะตัดชิ้นเนื้อเต้านม (Breast Biopsy) อีกด้วย

สำหรับสุภาพสตรีที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำทุกปีหรือตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเฟิ่มเติมได้ที่ ศูนย์รังสีวินิจฉัย 

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ดูเว็บไซต์ที่ www.bangkokpattayahospital.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ปรึกษาแพทย์ได้ ที่นี่




Create Date : 20 ตุลาคม 2558
Last Update : 20 ตุลาคม 2558 16:07:01 น.
Counter : 1227 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  

pigget mui
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เป็นโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยได้รับการรับรองมาตราฐานระดับสากล JCI สามารถให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลโรคที่มีความซับซ้อนได้อย่างครบวงจรและทันสมัยมากที่สุดในภาคตะวันออก
All Blog