Photobucket

Iced Tea ที่ Nepal - ตอนที่ 5.2

วันที่ 5: Ghorepani – Poon Hill – Tadapni


ตอนที่ 5.1 คลิ๊กที่นี่เลยค่ะ


คุณไกด์พาเดินลัดเลาะไปตามซอกซอยในหมู่บ้าน Ghorepani
ออกจากหมู่บ้านก็เจอกับบันไดหิน.....อีกแล้ว......แถมเป็นทางชันขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด.....อีกแล้ว.....

บอกทีว่านี่มันวันเดินลง ทำไมยังมีบันไดขาขึ้นอีกล่ะ
เหนื่อย...ในใจคิดว่า (((ขอเฮลิคอปเตอร์เลยได้มั้ย ไหนๆก็เห็น Poon Hill แล้ว)))

คุณไกด์เฉลยว่า อ๋อ..ต้องเดินขึ้นเขาก่อน บนเขานี้จะเห็นวิวคล้ายๆกับวิวที่เห็นบน Poon Hill ด้วยนะ
เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่สวยเหมือนกัน

สรุปว่าเส้นทางวันนี้เป็นขาขึ้น 50% ทางลง 30% ทางเรียบๆซัก 20%
อันนี้กะเกณฑ์เอาจากความทรงจำล้วนๆ

ระหว่างทางก็เจอสิงสาราสัตว์ ถ่ายรูปไปตามเรื่อง
นอกจากจะผ่านภูเขา วันนี้เราเดินลัดเลาะกันในป่าดิบชื้นมากขึ้น
บางช่วงมีทางเดินชัดเจน แต่บางช่วงก็ไม่มี เราเลยคิดว่าถ้าไม่มีไกด์ก็เป็นอันตรายได้

เดินพอเหงื่อไหล ก็มาถึงจุดชมวิวที่คุณไกด์เปรยถึง




จุดชมวิวที่ว่า เห็นภูเขา 360 องศา ลมเย็นสบาย

พอการเดินทางของเรากับลูกพี่ลูกน้องมาถึงตรงนี้ก็เจอกับ "คู่รักชาวญี่ปุ่น"
ซึ่งเดินทางกันเอง แบกสัมภาระกันเอง แถมไม่มีไกด์นำทางด้วย (เก่งมาก !)
ตอนแรกก็เหมือนทั้งคู่จะนั่งพักกันตามธรรมดา คุยกันกระหนุงหนิง แถมถ่ายรูปชูสองนิ้วตามธรรมเนียมชาวญี่ปุ่น
ซักพักเค้าก็เดินมาหาคุณไกด์พร้อมแผนที่เพื่อสอบถามเส้นทางให้ชัดเจน
เพราะทางข้างหน้าจะเข้าเขตป่าดิบชื้นอย่างที่บอก
แถมคุยกันเรื่องจิปาถะอีกหลายเรื่อง เช่น อาชีพการงาน แผนการเดินทาง

จนกระทั่งเราได้ยินคุณไกด์พูดภาษาญี่ปุ่นออกมา
ไม่ใช่คำสองคำ แต่เป็นประโยค ถึงจะติดๆขัดๆ แต่คนญี่ปุ่นก็ฟังเข้าใจ

โอ๊ะ ! คุณไกด์พูดภาษาญี่ปุ่นได้ด้วย ...

คุณไกด์มาหลังไมค์ว่า เค้าก็หัดภาษาญี่ปุ่นแบบงูๆปลาๆไว้ เพราะคนญี่ปุ่นมาเทรคกิ้งเยอะ
ภาษาจีนเค้าก็พูดได้นิดหน่อย ปกติจะพูดภาษาเนปาลีกับภาษาอังกฤษกับที่บ้าน (นัยว่าอยากฝึกให้ลูกพูดอังกฤษเป็น)
ส่วนภาษาฮินดีแบบที่คนอินเดียพูดกัน เค้าก็พูดได้ เพราะเคยไปทำงาน/ค้าขายกับอินเดียทางเหนือ
สรุปว่าคุณไกด์พูดได้ 5 ภาษา คล่องแคล่ว 3 งูๆปลาๆ 2

...

นี่ไปทำงานสถานทูตก็ได้มั้งเนี๊ยะ

อีกครั้งที่เรื่องราวในชีวิตจริงพิสูจน์ให้เห็นว่า หัวใจของการเรียนภาษา คือ ต้องใช้
ถึงเรียนตามระบบการศึกษาในโรงเรียนแต่ไม่ได้พูด จดจำแต่หลักการ ก็จะลืม
เราเองก็เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันพูดได้ไม่เกิน 5 ประโยค







เวลาเกือบบ่ายโมง เราก็หยุดทานอาหารเที่ยงกัน
อาหารหน้าตาเดิมๆ บรรยากาศก็คล้ายๆกัน
จะแตกต่างก็เพียงหน้าตาผู้คนที่พบเห็นเพียงชั่วคราว

จากจุดนี้เป็นต้นไป เราจะเดินสวนกับนักเดินทางที่เดินขึ้นไปหมู่บ้าน Ghorepani (บางท่านอ่านแล้วอาจงง)
คือว่า การเดินทางไปหมู่บ้าน Ghorepani หรืออีกแง่หนึ่งก็คือ การเดินทางไป Poon Hill นั้นสามารถไปได้ 2 ทาง
โดยที่เราต้องเลือกตั้งแต่จุดเริ่มต้น (Nayapul) เมื่อเริ่มเทรคกิ้งวันแรก
เนื่องจากเส้นทาง Poon Hill Trek เป็นเส้นทางวงกลม จะเดินซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้ายก็ได้
ส่วนใหญ่ แพ็คเกจทัวร์จะนำเสนอการเดินซ้ายไปขวา เพราะมันท้าทายนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินขึ้นบันได 3,500 ขั้น
ถ้าเอาภูเขามาวางตรงกลาง ก็ประมาณเราเดินทางไปทางซ้ายของภูเขาก่อน แล้วค่อยกลับมาทางขวาของภูเขา
เส้นทางก็จะเป็นดังนี้
Nayapul - Tikhedunga - Ulleri - Ghorepani - Tadapni - Ghandruk - Nayapul

ส่วนถ้ามากันเอง จะเดินทางจากขวาไปซ้ายก็ไม่ผิด นั้นคือ
Nayapul - Ghandruk - Tadapani - Ghorepani - Ulleri - Tikhedunga - Nayapul
ถ้าเลือกเส้นทางนี้ แทนที่จะได้ขึ้นบันได 3,500 ขั้น ก็จะกลายเป็นต้องเดินลงบันไดแทน

...อาจจะเอาไปคุยโม้ถึงความโหด-มันส์-ฮาได้น้อยกว่า...

เส้นทางตอนบ่ายก็เรื่อยๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ชมวิวธรรมชาติอย่างเคย
เป็นอีกวันที่รู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า
ต่างกันที่ความปวดระบมของกล้ามเนื้อขา มันมากกว่าเมื่อวานซักสองเท่าเห็นจะได้






หน้าตากวนโอ๊ย จนต้องจับมาเป็นนายแบบ
แต่ก็เอากล้องไปใกล้ๆอีกนิดเท่านั้นแหละ
นายแบบก็แกล้งตายซะงั้น ...



ความจริงภาพนี้ไม่ได้มีวิวสวยงามอะไร แต่เราชื่นชมคนเนปาลที่มีน้ำใจสร้างสะพานน่ารักๆไว้
ถึงแม้ว่าจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำสายเล็กๆ แต่ก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้เยอะ
โดยเฉพาะถ้าคนข้ามแบกของหนักมา คงจะทรงตัวบนก้อนหินได้ไม่ดีนัก

ส่วนคุณไกด์ก็ทำหน้าที่เป็นไกด์ และนายแบบจำเป็นได้ดีเยี่ยม
รูปนี้ถ่ายจากด้านหลัง อาจจะเห็นไม่ชัด แต่ตอนนั้นคุณไกด์กำลังเพลิดเพลินกับบทเพลงในมือถือ
วันนี้คุณไกด์เปิดเพลงฟังไปตลอดทาง
บางทีคุณไกด์ก็จะโทรไปหาใครซักคน คุยกันแป๊บๆ แล้วก็กลับมาฟังเพลงต่อ
ปล่อยให้นักท่องเที่ยวสองคนนี่ก็สงสัย ว่าทำไม "คุณไกด์ธุระเยอะจัง"

พอถามคุณไกด์ว่าชอบฟังเพลงเหรอ ก็ได้คำตอบว่า "เปล่า ผมแค่เหงา"
....
....

คุณไกด์บอกว่า เวลาออกเดินป่าติดต่อกันหลายๆทริป เค้าก็มีโมเม้นท์คิดถึงบ้าน
ใจจริงก็อยากโทรหา คุยกันให้หายคิดถึง แต่สัญญาณโทรศัพท์ในป่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่
เลยคิดว่าการเปิดเพลงเป็นวิธีทำให้หายเหงาได้ดีที่สุด

เราเลยถามต่อว่า ถ้าเลือกได้ คุณไกด์ก็อยากไปอยู่กับที่บ้านนะสิ
คุณไกด์ตอบว่า "ไม่ เค้าอยากเดินป่า" เพราะการได้ทำงานเป็นไกด์หมายถึงปากท้องของครอบครัว
ใน 1 ปี เค้าจะดีใจมากถ้าเค้าได้รับการว่าจ้าง 365 วัน เค้าต้องเก็บเงินเยอะๆให้ลูก
เค้าจะส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ให้ได้เรียนภาษาอังกฤษ

โอ๊ย...ฟังแล้วขนลุก
อยู่เมืองไทยนี่ดีแค่ไหนแล้วที่มีอาชีพให้เลือกมากมาย
ที่เนปาลซึ่งต้องยอมรับว่ายังพัฒนาไม่เท่าประเทศเรา ทรัพยากรมีน้อย
ประชาชนมีอาชีพให้เลือกทำไม่มาก คือมีแค่การเกษตรกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก
หนึ่งในนั้นคือการเป็นไกด์นำนักท่องเที่ยวไปเทรคกิ้ง ต้องเหนื่อย ต้องอยู่ห่างครอบครัว
เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นด้วยกรอบของสังคมและธรรมชาติโดยแท้

เรานับถือคุณไกด์ที่ยังมีความคิดเชิงบวก เป็นคนอารมณ์ดี และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี
ถึงแม้ว่าชีวิตจะถูกตีกรอบและโดนความจำเป็นบีบอัดแน่นกว่าพวกเราซะอีก



อย่างที่บอกว่าวันนี้ไม่ค่อยมีไฮไลท์ระหว่างการเดินทาง
จนกระทั่งเดินผ่านแนวสันเขาตรงนี้ ซึ่งทำให้เรารับรู้ว่าเราเดินทางด้วยเท้าขึ้นมาสูงขนาดไหน
อดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเพื่อเตือนความทรงจำ

หมดจากสันเขาตรงนี้ก็เข้่าสู้โค้งสุดท้ายในการเดินทางของวัน
ด้วยเขตป่าดิบชื้นที่ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีก็ถึงทางเข้าหมู่บ้าน Tadapani
ระหว่างที่เราเดินมุดๆอยู่ เพราะเส้นทางเป็นโขดหิน ก็มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งลงมาด้วยความเร็ว
เท้าวิ่งเร็วเพียงแตะโขดหินประหนึ่งฝึกวิชานินจา แล้วก็พลันหายไป ..
ช่างแตกต่างจากเรา ผู้ซึ่งก้าวช้าๆอย่างจังหวะเพลงทางเหนือ

ซักพัก ผู้ชายคนเดิมวิ่งกลับมา ถามคุณไกด์สองสามประโยค แล้วก็วิ่งลงไปใหม่
คุณไกด์มาบอกกล่าวอีกทอดว่า "ลูกทัวร์ของเค้าหายไปสองคน"

...มีเรื่องแล้วไง...



เด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่อารมณ์แปรปรวนมากสิ่งหนึ่งของโลก
ไม่กี่วินาทีนับจากภาพนี้
หนูน้อยก็ร้องไห้แง

กล้องถ่ายรูปมันไม่ดูดวิญญาณนะลูก !!


เวลาห้าโมงเย็น คณะเราก็เดินทางเข้าหมู่บ้าน Tadapani ด้วยความภาคภูมิใจ
มีคนมายืนต้อนรับ โบกไม้โบกมือ พร้อมส่งเสียงเรียกขานด้วยความดีใจ

อาว...ผิดคนเหรอ

คือ นักเดินทางชาวจีน เค้ามาคอยเพื่อนสองคนที่หลงทางไป
พอเห็นคณะเราเดินเข้ามา มองไกลๆเห็นเป็นคนเอเชีย เค้าก็นึกว่าเป็นเพื่อนเค้า
อันนี้เป็นเหตุการณ์จริงที่พบเจอ ที่อยากจะเตือนสติให้คนอ่านว่า
เวลาซื้อแพ็คเกจทัวร์ประเภทซื้อที่เนปาลแล้วต้องร่วมเดินทางกับนักเดินทางหลายๆคน
ตรวจสอบซักนิดว่า จำนวนไกด์กับจำนวนนักเดินทางมันสมดุลกันหรือไม่
รวมไปถึงเพื่อนร่วมทาง ว่าเป็นชาวตะวันตกหรือชาวตะวันออก
เพราะคุณไกด์บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆกับนักเดินทางชาวเอเชียที่เดินไม่เร็วเท่าชาวตะวันตก
แถมเดินรั้งท้ายเพราะเพลิดเพลินกับการถ่ายรูป หรือได้รับบาดเจ็บ

ปกติตามกฏของไกด์จะต้องมีคนเดินนำ แล้วก็มีคนเดินตามปิดหลังขบวน
แต่คณะนี้คงมีไกด์เพียงคนเดียวเดินนำหน้า โดยลูกหาบก็คงเดินไปล่วงหน้า จึงไม่มีใครเดินปิดหลัง
ยิ่งเส้นทางวันนี้เป็นป่า บางช่วงไม่มีแนวเดินชัดเจน มีทางแยกซ้ายขวาอีก

หวังว่าเพื่อนอีกสองคนเค้าจะคลำทางได้ถูกต้อง หรือไม่ก็หยุดเดินเพื่อให้ไกด์หาเจอไวๆ


เกสเฮ้าส์ที่หมู่บ้าน Tadapani เป็นเกสเฮ้าส์ที่เราชอบที่สุด
เพราะว่าเป็นเกสเฮ้าส์ที่มีนักเดินทางมาพักหลายคน บรรยากาศเลยครึกครื้นเหมือนโรงเตี๊ยมในหนังจีน

ห้องพักวันนี้อยู่ชั้น 2 อีกครั้งที่เราต้องตะเกียกตะกายเดินขึ้นห้อง มือต้องจับราวบันไดพร้อมออกแรงพยุงตัวขึ้น
ข้างๆห้องเราก็เป็นกรุ๊ปชายหนุ่มวัยกลางคนจากเยอรมัน
ถัดไปก็คือคู่รักชาวญี่ปุ่นที่เจอเมื่อตอนเช้า เจอกันอีกครั้งก็ส่งยิ้มทักทายไป

จัดเก็บสัมภาระเสร็จ ก็ไปอาบน้ำก่อนฟ้าจะมืดกว่านี้
ร่ำลากันด้วยภาพที่ไม่ค่อยสวยแต่ชอบใจ

"ปลั๊กไฟ 360 องศา"
ใครอยากได้โทรศัพท์มือถือ, iPod, iPad, Kindle, แบตตารี่กล้องถ่ายรูป
ที่นี่ หมู่บ้าน Tadapani 2,630 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
เราจัดให้ท่านได้ทุกยี่ห้อ




 

Create Date : 28 มีนาคม 2556    
Last Update : 28 มีนาคม 2556 14:09:41 น.
Counter : 1024 Pageviews.  

Iced Tea ที่ Nepal - ตอนที่ 5.1

วันที่ 5: Ghorepani – Poon Hill – Tadapni

วันนี้เป็นวันไฮไลท์ที่จะได้เดินขึ้น Poon Hill
สถานที่ที่เค้าว่ากันว่านักเดินทางจะได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นสวยที่สุดแห่งนึงของโลก


เวลา ตี 3.30 เราได้ยินเสียง ก็อก ก็อก ก็อก
คุณไกด์มาเคาะประตูตามที่สัญญาไว้ เรางัวเงียตื่นขึ้นมาตามประสาเด็กขี้เซา
ม่านตายังเปิดไม่หมด แต่ประสาทหูจับใจความ สมองก็แปลภาษา ได้ความว่า

"หมอกลง อากาศไม่ดี คงไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้น"

ด้วยความที่ง่วงนอน เลยไม่ได้พูดอะไรออกไป ปล่อยให้ความงัวเงียและความเหนื่อยสะสมครอบงำ เราหลับตาต่อ
ปล่อยให้ลูกพี่ลูกน้องเจรจากับคุณไกด์ว่า งั้นพวกเราเดินขึ้นกันสายหน่อยก็ได้
ไหนๆก็มาแล้ว อยากขึ้น Poon Hill ค่อยไปเสี่ยงดวงว่าจะเห็นหรือไม่เห็นเจ้าวิวสวยๆอย่างในโปสการ์ด



กลับมาคิดถึงช่วงเวลานั้นที่เราเลือกนอนต่อ แทนที่จะกระวนกระวายเพราะไฮไลท์ของการเดินทางไม่เป็นอย่างคาด
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมในใจถึงสงบ คิดแต่เพียงว่า "อยากนอนต่อ" Smiley

มาคิดทบทวนดู ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหนื่อย ถ้ามีเฮลิคอปเตอร์ก็อยากจะนั่งไปลง Poon Hill เลย
อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะแค่ได้เดินทางมาถึงตรงนี้ก็นับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากแล้ว
จริงอยู่การเห็นพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางขุนเขาเป็นไฮไลท์

...แต่พระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นวันเดียว

การไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นที่ Poon Hill จะกลายเป็นข้ออ้างชั้นดีในการเดินทางไปเนปาลครั้งต่อไป 


เนื่องจากคุณไกด์มีประสบการณ์มานาน เค้าบอกว่าถ้าหมอกลงตอนเช้า ก็หมดหวังที่จะเห็นฟ้าใส
หมอกจะปกคลุมภูเขาไปเรื่อยๆทั้งวัน
เราจึงกำหนดตารางการเดินทางกันใหม่ โดยจะขึ้น Poon Hill ตอนตี 5 ซึ่งช้ากว่าตารางปกติ 1 ชั่วโมง

เดินลัดเลาะตามทางในหมู่บ้าน ซึ่งถ้าไม่มีคุณไกด์คงจะหลง เพราะซับซ้อนเหลือเกิน
จากหมู่บ้านถึงเขต Poon Hill ก็กั้นไว้ด้วยประตูเหล็กอย่างง่าย
เดินตามทางดินไปเรื่อยๆ เส้นทางก็จะเริ่มชันขึ้น จากทางดินก็จะกลายเป็นบันไดหิน สิ่งที่เราคุ้นเคย

เราเดินขึ้น นักท่องเที่ยวกรุ๊ปอื่นต่างพากันเดินลง
บางคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ เราก็จับใจความสิ่งที่เค้าพูด บ่นกันระงมว่า "เสียดาย"
ที่แย่กว่าคือ วันรุ่งขึ้น อากาศดี ท้องฟ้าใสปิ๊ง !
ถ้าเราเลื่อนวันเดินทางไปซักหนึ่งวัน ทริปนี้คงจะสมบูรณ์แบบ




ตามเส้นทางมีดอกไม้บ้างประปราย
แต่ที่เห็นโดดเด่นก็คงไม่มีดอกไหนเกิน "กุหลาบพันปี"
หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษยากๆว่า Rhododendron

คุณไกด์บอกว่าเค้ามารอบที่แล้วเมื่อตอนปลายเดือนเมษายน ยังมีดอกไม้เต็มไปหมด
ผ่านไปแค่สัปดาห์กว่าๆ ก็พากันร่วงหมดแล้ว

นั้นไง...พระอาทิตย์ขึ้นก็ไม่ได้เห็น กุหลาบพันปีก็ไม่ได้เห็น สงสัยต้องมาอีกรอบ ! Smiley


เดินมาได้ซักครึ่งทางก็จะเจอฐานส่งสัญญาณอะไรซักอย่าง
ซึ่งนักเดินทางก็ใช้เป็นที่นั่งพัก บางคนเห็นว่าวันนี้อากาศไม่ดีก็หยุดชมความงามแค่ฐานสัญญาณตรงนี้ ไม่เดินขึ้นต่อ

ส่วนพวกเรา ไหนๆก็มาแล้ว ต้องเดินให้ถึง Poon Hill
ว่าแล้วก็หอบสังหาร เดินขาเป๋ ขึ้นบันไดหินอีกหลายร้อยขั้นแบบช้าๆต่อไป



ยิ่งสูง . ยิ่งหนาว
ยิ่งสูง . ยิ่งสวย

ถึงหมอกจะลง แต่เราก็ยังโชคดีที่ได้เห็นวิวพาโนรามาบางๆของเทือกเขาอันยิ่งใหญ่เทือกนี้
ในใจก็หวังว่า อีก 20 นาทีเมื่อเราเดินถึง Poon Hill
พวกหมอกเหล่านี้จะระเหยหายไปบ้าง

Poon Hill Public Visitors Park Area - 3,210 meters above the sea level

เห็นป้ายกลมๆอันเป็นซิกเนเจอร์ ก็เป็นอันว่า เราได้ไต่ขึ้นถึงจุดหมายปลายทางของทริปนี้
ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยกว่าที่คิดไว้มาก ถึงแม้ว่าจะมาวันหมอกลงแล้วไม่เห็นพระอาทิตย์ เราก็ว่ามันสวยและคุ้มค่า

แสงแดดยาม 7 โมงเช้าเป็นสีเหลืองทอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราอบอุ่นขึ้นเท่าไหร่ เพราะมีลมหนาวพัดมาปะทะตลอด
หมดจากช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ช่วงเวลา peak hour ของสถานที่แห่งนี้ก็จบลงโดยอัตโนมัติ
ไม่มีนักท่องเที่ยวเหลืออยู่เลย เพิงน้ำชาเพียงร้านเดียวก็กำลังเก็บร้าน

คุณไกด์รีบถามว่า เราทั้งสองคนจะดื่มชาร้อนๆมั้ย
ไม่ทันที่เราจะตอบ คุณไกด์ก็สั่งเจ้าของร้านว่าขอน้ำชา 3 แก้ว
แล้วหันมาส่งยิ้มหวาน พร้อมบอกว่า "My treat"


...ซึ้ง...

สาบานด้วยเกียรติของยุวกาชาดว่าไม่ได้เด็ดดอกกุหลาบพันปีมานะเออ...
ไม่รู้ใครเด็ดมาตั้งไว้ ไหนๆก็เอาไปคืนต้นมันไม่ได้แล้ว ก็เอามาเป็น prop ประกอบฉากซะเลย
ถ่ายอยู่หลายรูปเพราะมุมมันย้อนแสง แถมไอจากชาร้อนก็ทำเอาเลนส์มัวไปเลย
นั่งชิวอยู่มุมนี้นานมาก จนได้สติว่าต้องถ่ายมุมอื่นด้วย


ขอลงรูปแบบรัวรัว...








และแล้วฟ้าก็ปรานี (เหมือนบทในหนังจีนเลยอ่ะ) ส่งภูเขาหนึ่งลูกมาให้ชมเป็นขวัญตา

Dhaulagiri Massif หรือเทือกเขา Dhaulagiri
เป็นคนละเทือกกันกับเทือกเขา Annapurna แต่สามารถมองเห็นได้จาก Poon Hill
พอคุณไกด์บอกชื่อ ก็ต้องให้คุณไกด์ช่วยสะกดแล้วเก็บชื่อไว้ในโทรศัพท์
คุณไกด์นี่ไล่ชื่อภูเขาได้หมดเลยนะ ท่องอย่างกะเป็นสูตรคูณ

กลับมาบ้านก็ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจาก wikipedia ได้ความว่า
ชื่อ Dhaulagiri แปลว่า สีขาวเป็นประกาย
ยอดที่เห็นในภาพก็คือยอด Dhaulagiri I  สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก (8,167 m.)

ไม่มากมาย...แค่ดอยอินทนนท์ต่อขึ้นไป 3 ลูกเท่านั้นเอง

หลายคนอาจสงสัยว่า อาว...แล้วเทือกเขา Annapurna ที่คุยไว้ดิบดีว่าจะเห็นจากบน Poon Hill หล่ะ ?

...

...

อะไรเอ่ยโดนหมอกบังมิด ไม่เห็นซักกะยอด Smiley

ปกติไม่ค่อยถ่ายรูปตัวเอง
เจอวิวนี้นี่ไม่ถ่ายจะถือว่าผิดกฏขั้นร้ายแรง
แต่คงจะผิดร้ายแรงกว่าถ้าดัน "ชูสองนิ้ว อะ-โน-เนะ" ขึ้นมาด้วย ดูไม่เข้าธีมสมบุกสมบัน Smiley


อีกหนึ่งมุมที่ถ้าไป Poon Hill แล้วไม่ถ่ายรูป
ก็ผิดทั้งกฏหมู่ กฏหมาย กฏกระทรวง 

ขอบคุณธรรมชาติและชาวเนปาลที่สร้างสรรค์เส้นทางเทรคกิ้งที่สวยที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก !
เดินวนๆ นั่งชมวิวกว่า 1 ชั่วโมง คุณไกด์ก็บอกว่า เอาล่ะ ลงกันเถอะ ได้เวลาอาหารเช้าแล้วถ่ายรูปนี้ได้ก็กลับบ้านแบบสบายใจล่ะ Smiley

เดินขึ้นมาตั้งหลายเมตรจากระดับน้ำทะเล
แปลว่า ต้องเดินลงอีกหลายกิโลเมตรสินะ

การเดินทางวันนี้และอีกสองวันข้างหน้าคือเส้นทางขาลง ซึ่งโหดไม่แพ้เส้นทางขาขึ้นเลย

ระหว่างเส้นทางลงจาก Poon Hill ฟ้าเริ่มใสขึ้นทำให้เห็นเทือกเขา Dhaulagiri ชัดเจนขึ้น


รูปนี้เป็นอีกรูปที่เราประทับใจ
เพราะมีแสงสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นโทนสีที่ชอบ
แถมมีคุณไกด์เสื้อแดงเป็นนายแบบ
เราส่งรูปนี้ทางอีเมล์ให้คุณไกด์ด้วย แต่ก็ไม่ได้ feedback กลับมา
ไม่แน่ใจว่า อินเตอร์เน็ตที่บ้านคุณไกด์โหลดรูปนี้ได้รึเปล่า

...


ก่อนส่ง เราควรย่อรูปสินะ ลืมสนิท Smiley


นอกจากเราไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น ไม่ได้เห็นป่าที่เต็มไปด้วยดอกกุหลาบพันปีที่พานสะพรั่ง
อีกอย่างที่เราไม่ได้เห็นและซึมซับบรรยากาศก็คือ หมู่บ้าน Ghorepani
หมู่บ้านที่เรานิยามเองว่า เป็นหมู่บ้านสีฟ้าใต้ปีก Poon Hill


เรื่องของเรื่องคือ เมื่อวานมาถึงหมู่บ้าน Ghorepani ก็มีฝนตก ทำให้ออกไปเดินรอบๆหมู่บ้านไม่ได้
พอมาเช้าวันนี้ คิดไว้ว่าพอลงจาก Poon Hill จะเดินทอดน่อง เก็บภาพความประทับใจของหมู่บ้านนี้ในยามเช้า
แต่เราดันปวดห้องน้ำ ข้าศึกบุกประชิดติดขอบเมือง
ทำให้เราต้องรีบเดินลงจาก Poon Hill ให้ถึงห้องพักให้เร็วที่สุด
เดินมุดๆ ก้มมองพื้นต่างระดับอย่างเดียว จะเห็นก็เพียงขาคุณไกด์ที่นำทาง
ยิ่งอากาศหนาว ข้าศึกเหมือนจะยิ่งได้ใจ  100 เมตรสุดท้ายนี่เราแทบวิ่ง
ถ้าไม่ติดว่าเท้าปวดระบมและเกรงใจกระดูกกระเดี้ยวท่อนล่างที่เหมือนจะหักเต็มที


เป็นอันว่าการเดินทางครั้งนี้ เราพ่ายแพ้ธรรมชาติอย่างราบคาบ
ทั้งภูเขา ป่าไม้ และกระทั่งร่างกายตัวเอง


ช้ำใจที่ไม่ได้รูปหมู่บ้าน Ghorepani Smiley
เสร็จจากภารกิจรบรากับข้าศึก ก็จัดกระเป๋าลงไปทานอาหารเช้า
วันนี้สั่งไข่ต้ม 1 ฟอง กับแป้ง Chapati ซึ่งเนื้อสัมผัสคล้ายๆปาท่องโก๋ แต่แทนที่จะมาเป็นคู่ ดันมาเป็นแผ่นเดียว
ถ้าไปอีกรอบ คิดว่าจะพกนมข้นไปด้วย (( นึกถึงนมข้นตราหมีแบบบีบๆ ซึ่งเค้าไม่ขายแล้ว ))
เก้าโมงกว่า เราก็ออกเดินทางต่อแบบที่มีความเสียดายเจืออยู่หน่อยๆ




 

Create Date : 25 มีนาคม 2556    
Last Update : 25 มีนาคม 2556 14:40:55 น.
Counter : 1212 Pageviews.  

Iced Tea ที่ Nepal - ตอนที่ 4.2

วันที่ 4 Tikhedunga - Ulleri - Ghorepani

** เนื่องจากภาพเยอะมาก เลยแบ่งการเดินทางในวันที่ 4 ออกเป็น 2 ตอนค่ะ
4.1 Tikhedunga – Ulleri
4.2 Ulleri – Ghorepani **

หลังจากผ่านป้ายหมู่บ้าน Ulleri แล้ว ก็ต้องเดินขึ้นบันไดอีกหลายพันขั้นต่อไป
บรรยากาศการเดินทางก็เป็นหมู่บ้านเรียงตัวขึ้นตามความชันของภูเขา
เกือบจะทุกบ้าน ดัดแปลงพื้นที่เป็นเกสเฮ้าส์ ร้านค้า ร้านอาหารไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว
แต่ละบ้านทาสีสันสดใส ดูเหมือนสีฟ้าจะได้รับความนิยมมากที่สุด

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเค้านึกถึงทะเล ทรัพยากรที่ประเทศนี้ไม่มีรึเปล่า ?


เดินดุ่มๆพร้อมหายใจแรงๆ แต่ก็มีความสุข เพราะว่าได้เห็นวิวสวยๆของเนปาล
เป็นภูเขาสีเขียวสลับกับนาขั้นบันไดสุดลูกหูลูกตา แถมมีลมเย็นๆพัดคลายร้อนตลอดเวลา
ทั้งลม ทั้งวิว ช่วยคลายเหนื่อยได้เยอะเลย

ถือว่าชาวเนปาลที่ยึดถืออาชีพเกษตรกรรม ยังคงรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้ดีทีเดียว
ไม่เห็นมีพื้นที่โล่งเตียน โดนเผา หรือต้นไม้โดนตัดเหลือแต่ตอ
นี่อาจจะเป็นเพราะความเชื่อความศรัทธาเรื่องเทวดาประจำภูเขาที่ฝังแน่นอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน





12.00 น. ได้เวลาอาหารเที่ยง
คุณไกด์หยุดพักที่เกสเฮ้าส์แห่งนึง ตั้งอยู่ริมภูเขา ทำให้เห็นวิวสวยๆอย่างรูปข้างล่าง
อาหารที่เราทานตลอดเส้นทาง trekking ก็สลับๆกันไป เน้นอาหารแบบเอเชียอย่างข้าวกับก๋วยเตี๋ยว
เมนูที่สั่งกันจนคุณไกด์ท่องได้ขึ้นใจ ได้แก่ Vegetable & Egg Fried Rice - ข้าวผัดใส่ไข่ กับ Vegetable Noodle - ก๋วยเตี๋ยวมังสวิรัติ
ซึ่งก๋วยเตี๋ยวนี่คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี่แหละ รสชาติน้ำซุปกลมกล่อม ลืมถามว่ายี่ห้ออะไร

คุณไกด์บอกตั้งแต่วันแรกในการเดินเทรคกิ้งว่า อาหารมักจะเป็นเรื่องที่หลายๆคนมองข้าม
สำหรับไกด์ที่ต้องเดินทางไกลบ่อยๆ อาหารนี่สำคัญกว่าอุปกรณ์อีก (ก็จริง เพราะระดับคุณไกด์ไม่ต้องพึ่งพาไม้เท้าอย่างเราแล้ว)
อาหารที่คุณไกด์แนะนำให้ทาน ก็คือ ผักกับกระเทียม สองอย่างนี้จะทำให้ระบบการย่อยเป็นปกติ
ช่วยขับลม ท้องไม่เฟ้อ เวลาเดินทางไกลก็จะรู้สึกสบายตัว
ส่วนพวกเนื้อสัตว์ คุณไกด์ก็บอกว่าทานได้ แต่อย่าให้มาก






เห็นแพะกับแกะเดินแฟชั่นโชว์ผ่านหน้าเราไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องเดินทางบ้าง
หลังจากประวิงเวลา ค่อยๆกินข้าว ค่อยๆจิบ Masala Tea ค่อยๆเดินออกมาจากร้านอาหาร
เราก็ออกเดินทางต่อด้วยกำลังขาที่อ่อนแรงลงหลังจากผ่านการขึ้นบันไดมา 3,500 ขั้น

เส้นทางช่วงบ่ายเป็นป่ากับเส้นทางลาดชันขึ้นเขา มีเกสเฮ้าส์ปลูกระหว่างทางประปราย
จากหมู่บ้าน Ulleri ซึ่งเราเจอนักท่องเที่ยวมากมาย พอออกจากหมู่บ้านเข้าเขตป่าก็เหมือนทุกคนจะหายตัวไป
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราพักเที่ยงนานไปหน่อย หรือนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นพักกันที่หมู่บ้าน Ulleri กันแน่

ใครชอบธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า น่าจะเพลิดเพลินกับเส้นทางนี้แน่นอนค่ะ
ส่วนเราก็เหนื่อยตามสภาพ บางช่วงนี่ไม่หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเลย







ในป่านี่เจอม้ากับลาบ่อยกว่าเจอคน
คุณไกด์บอกว่า ถ้าเจอขบวนม้าลาที่มีเสียงกระดิ่งกรุ๊งกริ๊งดังแว่วมาแล้ว
ก็ให้เดินชิดด้านภูเขาไว้เลย อย่าไปเดินทางหน้าผาหรือทางลาดลง
เพราะถ้าน้องม้าน้องลาเกิดแตกแถว เดินมาเบียดล่ะก็ เป็นอันว่าได้กลิ้งตกเขาแน่ๆSmiley

ต่อไปนี้คงเรียก "น้องม้าน้องลา" ไม่ได้แล้ว คงต้องเรียก "พี่ม้าพี่ลา" เพราะเค้าเป็นขาใหญ่แถวนี้ตัวจริง

และแล้วก็มาถึงโอเอซิสชื่อดัง เห็นนักท่องเที่ยวและบล็อคเกอร์หลายคนเคยถ่ายรูปไว้แล้ว
เราไม่รู้ว่าชื่อน้ำตกหรือสถานที่แห่งนี้จริงๆแล้วชื่ออะไร แต่เราเรียกเองว่า น้ำตกแห่งเซน (zen)
ดูเหมือนจะมีนักท่องเที่ยวมาเผยแผ่ศาสนาพุทธ นิกายเซน กันไกลถึงกลางใจเทือกเขา Annapurna ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก








เดิน เดิน เดิน และ เดิน

มันเนิ่นนานจนเราไม่ใส่ใจกับเวลา
สิ่งเดียวที่รับรู้ คือ เดินตามคุณไกด์ไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ

ใกล้หมู่บ้าน Ghorepani คุณไกด์ก็ชี้ให้ดูจุดหมายปลายทาง พร้อมทั้งชี้ให้เห็น Poon Hill ด้วย
เห็นแล้วก็อยากจะมีปีก บินไปให้ถึงที่พักให้รู้แล้วรู้รอด
ว่าแล้วก็ออกแรงฮึดสำหรับโค้งสุดท้าย ซึ่งคุณไกด์ช่วยแบกเป้ของเราด้วย
เพราะคุณไกด์ค่อนข้างเป็นกังวลว่าพวกเราจะเดินไม่ถึงหมู่บ้านก่อนฝนตก
แล้วก็เห็นว่าเราเหนื่อยมากแถมมีกล้องตัวใหญ่ ซึ่งเพิ่มน้ำหนักการเดินทางเข้าไปอีก
คุณไกด์ช่วยแบ่งเบาสัมภาระ มีน้ำใจขนาดนี้ ทำเอาเราซึ้งและประทับใจเป็นครั้งที่ 2
หลังจากที่เค้าเคยช่วยเราจากการโดนโกงที่ Thamel มาแล้ว
เราก็เลยต้องอดทนพร้อมกับเดินให้ถึงหมู่บ้าน โดยมีเมฆฝนคอยไล่จี้ตามหลังมาติดๆ

เวลา 4 โมงเย็น เราก็เดินถึงจุดหมายปลายทางของวันนี้
หมู่บ้าน Ghorepani หมู่บ้านสีฟ้าใต้ปีก Poon Hill



พวกเรานั่งพักที่ที่นั่งหน้าหมู่บ้านนานมาก
ถึงแม้ว่าจะเข้ามาในเขตหมู่บ้านแล้ว แต่เราก็ต้องเดินขึ้นบันไดเข้าไปอีกพอสมควร
เพราะว่าเกสเฮ้าส์ที่จองไว้อยู่ข้างในสุดของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นจุดที่เห็นวิวได้ดีที่สุด
มาถึงหมู่บ้านนี้ ความครึกครื้น มีชีวิตชีวาก็กลับมาอีกครั้ง เพราะหมู่บ้าน Ghorepani เป็นหมู่บ้านที่ใกล้ Poon Hill
เลยเป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่และพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ
แถมจำนวนนักท่องเที่ยวก็เยอะ แต่เสียดายที่เราไม่ได้เก็บรูปบรรยากาศหมู่บ้านนี้เลย
เพราะระหว่างทางเดินไปเกสเฮ้าส์ ฝนก็เริ่มตกปรอยๆแล้ว ต้องรีบเดินเป๋ๆ กะเผลกกะเผลกไปให้ถึงเกสเฮ้าส์


พอถึงที่พัก เราก็แอบเหวอๆ เพราะว่าต้องพักชั้น 2 แถมบันไดสูงมาก....
เดินมาตั้ง 7-8 ชั่วโมงจนขาเป๋ ยังต้องเดินขึ้นบันไดอีก ต้องเรียกว่า ตะเกียกตะกาย ขึ้นห้องพักก็ไม่ผิด Smiley

นั่งพักพอหายเหนื่อยก็รีบอาบน้ำ เหนื่อยมาทั้งวันแถมกลัวว่าจะไม่สบายเพราะโดนฝนนิดหน่อย
วันนี้ไม่ต้องรอถึงตอนกลางคืน เราก็ทา counter pain พร้อมนวดเท้าอีกหลายนาที เสร็จจากกิจวัตรก็ลงไปทานอาหารเย็น
ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องฉลองความสำเร็จในการเดินทางที่โหดที่สุดในชีวิตด้วยอาหารชุดใหญ่
ทั้งมักกะโรนีอบชีส ผัดก๋วยเตี๋ยว และของหวานเป็นช็อกโกแลตพุดดิ้ง ซึ่งแก้ขัดอาการอยากทานเค้กได้ดี
เรียกว่ากินกันชนิดลืมคำเตือนของคุณไกด์ ว่าให้กินผักเยอะๆ
ก็แหม...วันนี้เป็นวันพิเศษ ขอให้รางวัลตัวเองหน่อย

เรานั่งทานอาหารเย็นกันนาน ค่อยๆละเลียดบรรยากาศของภูเขาหิมะกับลมหนาวๆ
รสชาติมักกะโรนีไม่ค่อยอร่อยจนเราต้องขอเกลือมาเพิ่มรสชาติเอง
ผัดก๋วยเตี๋ยวนี่รสชาติมาตรฐาน ส่วนช็อกโกแลตพุดดิ้ง รสชาติโอเคเลย
ถึงแม้ว่ารสช็อกโกแลตจะไม่เข้มข้นดีเลิศเท่ากับในเมือง แต่เค้าอุตส่าห์แบกผงโกโก้กับอุตส่าห์ทำให้เราทาน ก็เป็นพระคุณมากแล้ว Smiley

อ้อ ! วันนี้เราเจอกลุ่มเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง หลังจากที่เค้าเดินนำหน้าเราไปไกล
ดูเหมือนวันนี้เค้าก็ฉลองความสำเร็จในการเดินทางเหมือนกัน แต่อลังการณ์งานสร้างกว่าด้วยการสั่งไก่ย่าง 1 ตัวมาแบ่งทานกัน 
....เห็นแล้วนึกถึงบรรยากาศกินไก่งวงของฝรั่งช่วงวันขอบคุณพระเจ้า 
แล้วก็คิดถึงบรรดาไก่ที่เราถ่ายรูปอย่างเพลิดเพลินตลอดทางที่ผ่านมาSmiley

นักเดินทางหลายคนยึดเอาห้องอาหารเป็นที่นั่งอ่านหนังสือ บางคนก็นั่งเล่น iPad แต่ที่เห็นเยอะที่สุด คือ ไปนั่งผิงไฟกัน
ทางเกสเฮ้าส์จัดมุมผิงไฟให้ เป็นมุมที่อบอุ่นทั้งในแง่อุณหภูมิอากาศและความสุขใจ
เป็นบรรยากาศที่เราไม่เคยเจอจากการเดินทางครั้งก่อนๆ เพราะเคยไปแต่เขตเมืองร้อน ซึ่งคงไม่มีใครอยากผิงไฟกัน
ใจจริงก็อยากจะถ่ายภาพ แต่ก็คิดว่าคงเป็นการรบกวนความสุขใจของนักเดินทางท่านอื่น

ความประทับใจบางเรื่อง สมองเราทำหน้าที่บันทึกได้ดีกว่ารูปถ่าย





วิวนอกหน้าต่างห้องอาหาร คือ ภูเขาหิมะ
สิ่งที่คนพื้นราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเราอยากเห็น
ฝนตกรวมกับอากาศเย็นทำให้มีหมอกหนา ปกคลุมภูเขาบางส่วนจนมองไม่เห็น
แถมทำให้เราไม่สามารถออกไปเดินเล่นทั่วๆหมู่บ้านได้

สภาพอากาศแบบนี้ทำให้เรานึกหวั่นใจว่า
พรุ่งนี้ที่ Poon Hill ภูเขาจะโดนหมอกบังรึเปล่านะ ?

ไม่ถึงสามทุ่ม เราก็เข้านอน เพราะเหนื่อยสะสมมาทั้งวัน
ขานี่สะบักสะบอมจนเดินเป๋ ก้าวแต่ละก้าวมันเจ็บร้าวไปถึงสะโพก
แถมเราใส่แค่รองเท้าผ้าใบซึ่งก็รองรับน้ำหนักได้ดีในระดับนึง แต่ก็ไม่ดีเท่ารองเท้าเดินป่า
ทำให้เจ็บส้นเท้า จนเดินกะเผลกแถมมีแผลต้องติดพลาสเตอร์หลายแผ่น

คืนนี้นอกจาก counter pain อุปกรณ์อีกอย่างที่เพิ่มเข้ามาก็คือ แผ่นคลายปวด
ติดจนขาลายไปหมด เพราะปวดทั้งขา :)

ปวดยังไงก็ต้องทน ครั้งนึงในชีวิต เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็รู้ว่า Poon Hill เป็นยังไง...




 

Create Date : 17 มีนาคม 2556    
Last Update : 17 มีนาคม 2556 21:07:18 น.
Counter : 2071 Pageviews.  

Iced Tea ที่ Nepal - ตอนที่ 4.1

วันที่ 4 Tikhedunga - Ulleri - Ghorepani

** เนื่องจากภาพเยอะมาก เลยแบ่งการเดินทางในวันที่ 4 ออกเป็น 2 ตอนค่ะ
4.1 Tikhedunga - Ulleri
4.2 Ulleri - Ghorepani **


อาร์-ยู-เรดดี้ ? คุณไกด์ถาม
มาขนาดนี้ ไม่เรดดี้ก็ไม่ได้แล้วหล่ะ
ความจริง เราว่าคุณไกด์ก็ถามไปงั้นๆ เพราะยังไงก็ต้องเดินทางต่อตามแผนอยู่ดี

แผนการเดินทางบอกว่า "วันนี้เป็นวันวัดใจกับบันได 3,500 ขั้น"
ขนาดบันไดไม่กี่ร้อยที่ดอยสุเทพเรายังเลือกขึ้นลิฟต์เลย
แล้วนี่ตั้ง 3,500 ขั้นจะไหวมั้ยเนี๊ยะ ?

เนื่องจากวันที่ 4  ของการเดินทางต้องเดินทางเป็นระยะเวลานานถึง 8 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาพักเที่ยง
แผนการเดินทางเลยเริ่มตั้งแต่เช้า คือ ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงสี่โมงเย็น

เส้นทางวันนี้เป็นขาขึ้นอย่างเดียว หลักๆก็คือมีขั้นบันไดแบบ non-stop 3,500 ขั้น
ซึ่งต้องขอบคุณคนนับด้วย ที่ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเราพอจะประมาณสังขารว่าไหวหรือไม่ไหว
หรือถ้าจะใช้คำศัพท์แบบทันสมัยในยุครัฐบาลนี้ก็คือ "เอาอยู่" รึเปล่า

ต่อจากขั้นบันได 3,500 ขั้นก็เป็นการเดินขึ้นเขา ไต่ความสูงไปเรื่อยๆ
บ้างก็เป็นบันไดหินในบรรยากาศหมู่บ้าน บ้างก็เป็นทางลาดชันในป่า
แต่ทั้งหมดทั้งมวล วันนี้เราจะออกเดินต้านแรงโน้มถ่วงกัน

สารภาพก่อนเลยว่า ตอนแรกเราเข้าใจว่า หมดจากบันได 3,500 ขั้น ก็จะไม่ต้องเดินขึ้นบันไดแบบโหดๆอีก
แต่ความจริงคือ เราเข้าใจผิด ยังมีบันไดหินอีกหลายพันขั้นท้าทายนักเดินทาง กว่าจะถึงเส้นชัยที่ Poon Hill

ออกจากที่พัก Green View Lodge ที่หมู่บ้าน Tikhedunga

เช้านี้เราก็ดื่มชานมกระตุ้นร่างกายเหมือนเคย
และเลือกทานโรตี+แยมสตรอเบอร์รี่เป็นอาหารเช้า
อาจจะเพราะอากาศเย็น แป้งโรตีเลยทั้งแข็งทั้งเหนียว ไม่อร่อยเท่าที่ขายหน้าปากซอย
แยมสตรอเบอร์รี่ก็รสชาติไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่ เลยลงโทษโดยการไม่เอารูปมาลงบล็อค Smiley

การเดินทางตอนแรกก็กระปรี้กระเปร่าดี ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือเมื่อยกล้ามเนื้อจากเมื่อวาน
counter pain ที่ทาเมื่อคืนช่วยป้องกันความเมื่อยล้าได้ดีเยี่ยม
เราแอบกระหยิ่มในใจว่า การออกกำลังกาย 2-3 สัปดาห์ก่อนมาก็ช่วยลดโอกาสที่กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ (เหรอ ???)

นอกจากพระอาทิตย์จะยิ้มแฉ่ง ส่งอากาศแจ่มใสมาให้แล้ว
ความร่าเริงตามประสาเด็กๆที่นี่ ก็ทำให้เรายิ้มตั้งแต่เช้าได้เหมือนกัน

ตั้งแต่เดินเทรคกิ้งมา เราไม่ได้รู้สึกว่าการเดินทางได้เร่ิมต้นขึ้น

นับตั้งแต่ทางลงแคบๆที่สำนักลูกหาบ ที่เราคิดว่าเหมือนทางเดินไปห้องครัวหรือหลังบ้านใครซักคน
เรื่อยมาจนถึงจุดตรวจบัตร Trekking Permit กับ TIM ticket ก็ยังเดินลัลล้าเรื่อยๆ
ขนาดนอนพัก 1 คืนกลางภูเขาสีเขียว เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าการเทรคกิ้งเริ่มต้นอย่างจริงจัง

แต่พอเห็นภาพนี้ บันไดหินที่สูงชันไปเรื่อยๆ

เราว่านี่แหละ คือ "จุดเริ่มต้น" อย่างเป็นทางการของเส้นทางสายนี้

โอเค...การออกกำลังกาย 2-3 สัปดาห์ก่อนมาเดินเทรคกิ้งไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก

หัวใจเต้นถี่ขึ้น พร้อมกับปากที่เริ่มทำงานสูดออกซิเจนเข้าร่างกายแทนจมูก

เหนื่อย

อยากพัก

หยุดก่อนเถอะ !

ความโชคดีของนักเดินทางที่มาเทรคกิ้งเส้นทาง Poon Hill ก็คือ ตลอดเส้นทางมีที่พักตลอด
กะว่าครึ่งชั่วโมงก็จะเจอที่พักซักที่นึง อาจจะเป็นหมู่บ้าน ไม่ก็เป็นเกสเฮ้าส์หลังเดี่ยว
เส้นทางเทรคกิ้งเลยไม่น่ากลัวเหมือนอย่างการเดินป่าแบบไปกางเต้นท์

ตลอดความสูง 3,500 ขั้นนี่ก็เหมือนกัน จะหยุดพักขั้นไหนก็ได้ ตามใจนักเดินทาง
คุณไกด์ก็ตามใจ เหนื่อยก็พัก เราหยุดนั่งพักประมาณ 3-4 ครั้งตามจุดพักหลักๆ
ส่วนวิธีการพักแบบดูไม่ออกว่าพัก ก็คือ การขึ้นบันไดช้าลงโดยแกล้งทำเป็นยืนถ่ายรูป
แช๊ะ แช๊ะ ... แต่ความจริงคือ ก้าวขาจะไม่ไหวล่ะ
ได้หยุดขึ้นบันได 5 วินาทีก็ยังดี

ภาพข้างบนถ่ายจากจุดนั่งพักที่กว้างขวางที่สุดในเส้นทางบันไดสามพันกว่าขั้น
มีนักท่องเที่ยวหยุดตรงนี้มากมาย

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะวิวสวยๆ หรือ อุปทานหมู่ ... พวกเขาหยุด พวกเราก็หยุดด้วย

ยังคงนั่งพัก

ยังค่ะ....ยังไม่ลุก

ภาพนี้เดาเอาว่าน่าจะเป็นโรงเรียน แต่ไหงไม่มีเด็กๆเลยหล่ะ ?

ระหว่างนั่งพักตาก-ลม (กลัวอ่านผิดเป็น ตา-กลม เหมือนที่เราชอบอ่านผิดบ่อยๆ)
ก็มีเด็กคนนึงดึงสายตานักท่องเที่ยวทุกคนไป

เรากะเองตลอดการเดินทางว่าอายุเฉลี่ยของบรรดา trekker คือระหว่าง 25-45 ปี
แต่แม่หนูกางเกงชมพูนี่ ดึงค่าเฉลี่ยลงมาฮวบ ด้วยอายุเพียง 7 ปี
น้องมากับคุณพ่อ คุณแม่ และคุณน้า
ทั้งหมดแบกสัมภาระมากันเอง ไม่มีลูกหาบ น้องก็มีสัมภาระรับผิดชอบเป็นเป้หนึ่งใบอย่างที่เห็น

ที่เราทราบว่าน้องอายุ 7 ปีนั้น เพราะว่าคุณไกด์เป็นคนถามเอง
คุณไกด์ถามคำถามไปอีกหลายคำถาม อย่าง มาครั้งแรกเหรอ? มากับใครบ้าง? เหนื่อยมากมั้ย?
แต่เพราะภาษาอังกฤษของน้องหนูและคุณน้าไม่ค่อยแข็งแรงเลยตอบกลับแค่สั้นๆ

นอกจากอายุที่ทำลายสถิติไปแล้ว ความแข็งแรงของน้องก็น่าทึ่งเอามากๆ
เพราะเราเจอครอบครัวนี้อีกครั้งตอนขาลง ซึ่งกล้ามเนื้อขาเราสะบักสะบอมมากแล้ว
ส่วนน้องหนูยังสามารถร้องเพลง พร้อมเดินไปกระโดดไปได้ตัวปลิว
น้องหนูทำให้เรานึกถึงหน้าปก "นิทานหนูน้อยหมวกแดง" ที่หนูน้อยหมวกแดงถือตะกร้าเดินลัลล้าอยู่ในป่ามาก

ภูเขาหิมะออกมาทักทายระหว่างทาง
ยอด Annapurna South ความสูง 7,219 m สูงเป็นอันดับ 101 ของโลก

เปิดๆ wikipedia ดูก็ได้ความรู้เพิ่มเติมมาอีกว่า
เทือกเขา Annapurna หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Annapurna Massif เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย
ภาพข้างล่างเอามาจาก google map เพื่อให้เห็นตำแหน่ง
ของเทือกเขา Annapurna (สีน้ำเงิน) กับยอดเขา Everest อันโด่งดัง (สีแดง)

เห็นแล้วก็จะได้กระจ่างว่า ไปเทรคกิ้งรอบนี้ ไม่ต้องถามหา Everest นะค่ะ
เพราะอยู่กันคนละเทือก ห่างกันค่อนประเทศแบบนี้ มองยังไงก็หาไม่เจอจ้า...

นอกจากจะเป็นเส้นทางยอดฮิตในการเทรคกิ้งและเป็นเขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของเนปาลแล้ว
เทือกเขา Annapurna ยังมีความสำคัญในด้านจิตวิญญาณและศาสนาด้วย
ชื่อ Annapurna ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ความอุดมสมบูรณ์
ศาสนาฮินดูนับถือเทือกเขานี้ว่าเป็นที่อยู่ของเทพีที่บันดาลพืชพรรณธัญญาหารแก่โลก
ถ้าใช้หลักวิทยาศาสตร์ก็คงจะจริง เพราะหิมะที่ละลายก็เป็นต้นน้ำให้ลำธารหลายสาย
ซึ่งไหลไปในเขตเกษตรกรรม คอยหล่อเลี้ยงผู้คนอีกที

จริงๆไม่ใช่แค่เทือกเขา Annapurna เท่านั้นที่เป็นเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์
เทือกเขาและยอดเขาอื่นๆ คนเนปาลก็เชื่อว่ามีเทพ/เทพีประจำทุกยอด
สั้นๆก็คือ ภูเขา = ที่อยู่ของเทวดา แต่จะเป็นเทวดาประจำอะไรนั้นก็แล้วแต่จะสร้างสรรค์กัน

เดินขึ้นบันไดหินที่เรียงตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เจอใบไม้คุ้นหน้าคุ้นตาจากอินเตอร์เน็ต

ใบ Clover

... ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยเรียกใบไม้ชนิดนี้ว่าอะไร
ตามความเชื่อของชาวตะวันตก เชื่อว่าเป็นต้น clover ที่มีใบ 4 ใบ คือ สัญลักษณ์แห่งความโชคดี
ในฐานะที่เคยเป็นเด็กเกรียนเล่นเกมส์ออนไลน์มาก่อน ก็รู้จักเจ้าใบนี้จากในเกมส์ออนไลน์นี่แหละ
ประมาณว่าถ้าเก็บได้ก็จะเพิ่มความโชคดีที่จะเจอไอเท็มพิเศษในเกมส์
พอมาเห็นกับตา ก็เลยอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปมาว่าได้เห็นของจริงแล้ว

ถึงแม้ว่ามันจะเป็นแค่ clover 3 ใบ แต่เราก็คิดว่า การเดินทางครั้งนี้ต้องโชคดี เฮ้ !! Smiley

ทุกๆวัน ถึงแม้จะนับหนึ่งออกเดินทางพร้อมกัน
แต่คุณลูกหาบฟรีแลนซ์ของเราก็เดินนำหน้าพวกเราไปก่อนเสมอ
เผลอแป๊บเดียว ก็เดินไปไกลกว่าแนวสายตาสั้นๆคู่นี้จะมองเห็น

หลายครั้งที่เราเดินไป หายใจหอบๆไป ก็เจอลูกหาบของเรานั่งพักรออย่างสบายๆแบบในภาพ
อุปกรณ์การเดินทางของเค้าก็น้อยชิ้นชนิดทำเรางงเมื่อตอนแรกเจอ
คือมีเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน 1 ชุดในเป้ลีบๆ นาฬิกาข้อมือ และรองเท้าแตะคู่ใจ

หากใครสงสัยว่าทำไมเราเรียกเค้าว่า "ลูกหาบฟรีแลนซ์" ซึ่งเคยเขียนไปแล้วในตอนที่ 3
ก็เป็นเพราะว่าเค้าจะมารับจ้างเป็นลูกหาบเวลาหมดฤดูทำนาเท่านั้น

นอกจากจะยิ้มง่ายแล้ว ยังมีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ในป่าด้วย
เดินไปก็เก็บพวกสมุนไพรไป ส่วนใหญ่ก็เอาไปขายเป็นรายได้เสริม
แถมทำน่ารัก ด้วยการหาต้นไม้เล็กๆให้คุณไกด์เอากลับบ้าน เพราะรู้ว่าคุณไกด์ของเราชอบปลูกต้นไม้

ก่อนหน้าที่จะไปเทรคกิ้ง เราพยายามอ่านบันทึกการเดินทางของคนอื่น
ว่าสภาพการเดินทางมันลำบากขนาดไหน อาหารการกินเป็นยังไง ฯลฯ
เห็นฝรั่งอายุมากยังเดินขึ้นไปถึง Poon Hill เราก็เลยคิดว่า วัยรุ่นขนาดนี้ ยังไงก็ "เอาอยู่" 

ด้วยความมั่นใจ ชะล่าใจ หรืออะไรก็แล้วแต่
พอเห็นว่าฝรั่งมีอายุยังเดินขึ้นไปถึง Poon Hill แถมมีคุณไกด์ที่ว่าจ้างกันเรียบร้อย
เราก็เลยไม่ได้ทำการบ้านก่อนเดินทางมากมาย เอาเวลาก้มหน้าก้มตาเคลียร์งานกองใหญ่ก่อนไปเที่ยวดีกว่า
เลยพลาดศึกษารายละเอียดสำคัญในการเดินทางครั้งนี้
นั้นก็คือ จำนวนบันไดหินที่ต้องเดินขึ้น

อย่างที่เขียนไว้ตอนต้น เราเข้าใจตลอดเวลาก่อนไปว่า

ถ้าจะไป Poon Hill หมดจากบันได 3,500 ขั้นแล้ว ก็จะไม่ต้องเดินขึ้นบันไดแบบโหดๆอีก
ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดค่ะ ! Smiley

ป้าย Welcome to Ulleri พร้อมท่าไหว้งามๆนี้ เป็นเพียงการบอกว่าท่านได้มาถึงหมู่บ้าน Ulleri
หลังจากขึ้นบันไดที่เรียงตัวต่อเนื่องกว่า 3,500 ขั้น
แต่ถ้าท่านจะไป Poon Hill นั้น เชิญเดินลุยป่า ขึ้นทางลาด ขึ้นเขา ขึ้นบันไดหินอีกหลายพันขั้นจ้า Smiley

ตอนที่เห็นว่า ยังมีบันไดหินเรียงตัวขึ้นไปเรื่อยๆ หลังป้ายท่าไหว้งามๆนี้ก็นึกโมโหตัวเอง
ที่ตั้งความหวังและความเข้าใจแบบผิดๆ
พอ"ความจริง" ผิดไปจาก "ความหวัง" เราก็เกิดอาการ "ผิดหวัง" ขึ้นมา
คำคมสั้นๆที่มอบให้ตัวเอง ณ เวลานั้นก่อนจะเดินขึ้นบันไดหินอีกหลายพันขั้น ก็คือ

"Expectation is the root of all heartache."

ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเดินต่อไป
ณ จุดนี้แน่ใจแล้วว่า counter pain คงไม่สามารถช่วยเราได้เหมือนเมื่อวาน




 

Create Date : 14 มีนาคม 2556    
Last Update : 24 มีนาคม 2556 21:54:43 น.
Counter : 1167 Pageviews.  

Iced Tea ที่ Nepal - ตอนที่ 3

วันที่ 3: Pokhara – Nayapul – Tikhedunga

คืนที่สองในเนปาลผ่านไปด้วยดี ดูเหมือนเราจะหลับสนิทกว่าคืนแรก
คิดเอาเองว่าเพราะอากาศที่เมือง Pokhara สะอาดกว่า


เช้านี้มีนัดกับคุณไกด์เวลา 7 โมงตรง ซึ่งเราต้องลงมาทานอาหารเช้ากันก่อน
เช้านี้ขอเติมพลังด้วยไข่เจียวกับขนมปังปิ้ง แถมความสุขภาพดีด้วยมูสลี่ใส่กล้วย
ในใจคิดว่า รู้งี้น่าจะพกโกโก้ครันช์มาด้วย
แต่แค่นี้ก็รู้สึกอิ่มหนำสำราญกว่าที่คิดไว้มาก แถมไม่มีอาการท้องเสียใดๆระหว่างการเดินทาง
เป็นอันว่าสำหรับเรา อาหารที่เนปาลรสชาติโอเคและสะอาดพอสมควร
ส่วนคุณไกด์ซึ่งก็นั่งทานอาหารเช้ากับเราด้วยเลือกทานแค่ขนมปังปิ้งกับชาร้อน 1 แก้ว

01 อาหารเช้าที่เกสเฮ้าส์เมือง Pokhara จัดหนักเพื่อการเดินทางไกลโดยเฉพาะ หน้าตาดูดี รสชาติโฮมมี่โฮมเมดมากๆ


7 โมงเช้า ล้อรถจิ๊ปก็เคลื่อนออกจากเกสเฮ้าส์พร้อมนักท่องเที่ยวชาวไทย 2 คน

ในรถ เราเจอกับลูกหาบซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ยิ้มเก่ง
คอยช่วยเหลือจัดแจงเรื่องสัมภาระให้เราตลอดการเดินเทรคกิ้งเป็นอย่างดี
คุณไกด์บอกว่า ลูกหาบคนนี้จะมารับจ้างบ้างเป็นครั้งคราวเวลาหมดฤดูทำนา

อืม....เป็น "ลูกหาบฟรีแลนซ์" ว่างั้นเถอะ

รถจิ๊ปขับผ่านตัวเมือง เรื่อยๆไปจนถึงถนนที่ตัดผ่านภูเขา
วกไปวนมาหลายโค้ง จนมาถึงจุดที่เราเรียกเอาเองว่า "สำนักลูกหาบ"
เพราะดูจะมีอุปกรณ์ต่างๆที่ลูกหาบต้องการ
อย่างไม้เท้า ตะกร้าไม้ใบใหญ่สำหรับรวบรวมกระเป๋าหลายใบ เชือกรัดขนาดต่างๆ
เห็นเทคนิค มัด ยัด รวม กระเป๋าของลูกหาบแต่ละคนแล้วต้องคารวะ
ตอนจัดกระเป๋าเราเป็นกังวลเรื่องขนาดกระเป๋ามาก เพราะกลัวจะทำให้ลูกหาบลำบาก
แต่พอเทียบเคียงกับของกรุ๊ปอื่นแล้ว รู้สึกลูกหาบเราเหมือนแค่สะพายเป้ เดินตัวปลิวมากๆ

02 สำนักลูกหาบ ปลายทางของรถโดยสาร ต้นทางของการเดินเท้า


เวลาเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างที่ไม่คุ้นเคย บางคนจะมีอาการมวนท้อง
อย่างในภาษาอังกฤษเรียกว่า Feeling Butterflies (in the stomach)
ปรากฏการณ์ยุบยับในกระเพาะอาหารเรื่อยไปจนถึงลำไส้ใหญ่
ยิ่งตื่นเต้นมากๆ อาจต้องเรียกหาห้องน้ำเลยทีเดียว
เราก็เป็นคนนึงที่มีอาการนี้อยู่บ่อยๆ แต่แปลกที่การเดินทางไกลรอบนี้ไม่ยักจะมวนท้องขึ้นมา
อาจเพราะเรามีเพื่อนร่วมทางอีกตั้ง 3 คน พอทำให้อุ่นใจขึ้นมาได้บ้าง
ไม่ได้ออกเดินทางคนเดียว เหมือนอย่างเวลาโดนเรียกสัมภาษณ์งาน 3-ต่อ-1

จากสำนักลูกหาบ จะมีทางลงแคบๆไปสู่หนทาง trekking
ถ้าไม่ชี้บอกหรือเห็นคนอื่นพากันเดินไป ก็คงไม่รู้ว่าต้องลงไปทางนั้น
เพราะดูเหมือนเป็นทางไปห้องครัวหรือหลังบ้านใครซะมากกว่า

03 ม้า ลา ผูกกระดิ่งส่งสัญญาณ เจอกันบ่อยๆระหว่างเดินทาง


เดินตามหลังคุณไกด์ไปเรื่อยๆ ก็เจอกับสิ่งที่คุ้นเคยจากบล็อคและบทความท่องเที่ยวที่อ่านก่อนไป
นั้นก็คือเหล่า messenger ประจำเทือกเขาอันนาปุระ
คอยส่งเสบียง น้ำเปล่า รวมไปถึงเตาแก๊สให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว
เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าพวกม้าลาพวกนี้จะมีวันพักผ่อนบ้างรึเปล่า
ตราบเท่าที่เจ้าของต้องทำมาหากิน และไม่รู้สึกเหนื่อย ม้าลาพวกนี้ก็คงต้องทำหน้าที่เป็น messenger อย่างเลี่ยงไม่ได้

04 งอแงปากจู๋

ตามที่นักท่องเที่ยวท่านอื่นได้บันทึกไว้ให้ทราบกันว่า
เด็กๆที่พบเจอระหว่างทางมักจะเข้ามาขอ chocolate หรือ ช็อค-แล็ต ไม่ก็ แคน-ดี้
เดินผ่านโรงเรียนนี่ เรียกว่ากรูกันเข้ามาอย่างน่ากลัว
ยิ่งไปถ่ายรูปเค้าเข้าแล้วด้วยนี่ เรียกว่า "เดินตามเพื่อเคลมค่าเสียหาย" กันเลย ถ้าไม่ให้ก็คงรู้สึกผิด
แนะนำว่าให้พกช็อกโกแลตแท่งเล็กๆ อย่างไมโลแท่งหรือ kit-kat พอเราเหนื่อยก็เอามากินได้ด้วย
หรือบางท่านเน้นการศึกษา พกพวกดินสอ ยางลบให้เด็กๆเลยก็ดี
ส่วนตัวไม่ค่อยกินลูกอม เลยแจกลูกอมให้เด็กๆไปหลายเม็ด ส่วนช็อกโกแลตนี่ขอเก็บไว้กินเอง Smiley

05 บรรยากาศแบบเมือง ก่อนจะตัดสู่บรรยากาศแบบโลกพระจันทร์
ใครขาดเหลืออะไรยังคงซื้อหากันได้ แม้แต่นาฬิกาข้อมือหรือเทปหนังเทปเพลงก็มีขายนะ


ก่อนจะเข้าสู่บรรยากาศธรรมชาติ ก็จะมีจุดตรวจ 2 จุดเพื่อตรวจสอบเอกสาร
ได้แก่ Trekking Permit กับ Trekking Information Management (TIM) Ticket
ซึ่งอันหลังนี่เอาไว้ตรวจสอบเพื่อทำสถิติการท่องเที่ยวและเพื่อตรวจว่าบรรดาคนที่เข้าไป trekking นี่กลับกันออกมาแล้วยัง

ถึงตรงนี้ ขออนุญาต forward เรื่องราวไปตอนขากลับ
บังเอิญว่าเราได้เจอกับนักศึกษาปริญญาโทสองคน เข้ามาแจกแบบสอบถามระหว่างที่เรานั่งพักทานอาหารเที่ยง
หัวข้อวิจัยเป็นเรื่องความสะอาดและสภาพแวดล้อมของเส้นทาง trekking ในเทือกเขาอันนาปุระ
มีแบบประเมินให้นักท่องเที่ยวให้คะแนนและคำถามด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัย อาหารการกิน จุดทิ้งขยะ ฯลฯ
คิดเอาเองว่าถ้างานวิจัยนี้สำเร็จ คงเป็นประโยชน์ให้รัฐบาลได้มาก
นอกเหนือไปจากสถิติที่เก็บได้จาก TIM Ticket ซึ่งก็บอกแค่จำนวน/ประวัตินักท่องเที่ยวเท่านั้น


ความเห็นส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลเนปาลก็จัดการเส้นทาง trekking ได้ดีในระดับนึง เพราะเราไม่ค่อยเห็นขยะตามทาง (อันนี้ต้องยกเครดิตให้นักท่องเที่ยวด้วย)
ราคาอาหารตามที่พักต่างๆก็มีมาตรฐาน ต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวก่อนเพื่อป้องกันการโกงราคา
จะมีบ้างก็พวกน้ำดื่มเป็นขวดที่ยิ่งสูงยิ่งแพง 
ที่หนักสุดเห็นจะเป็นเรื่องความสะอาดนี่หล่ะ 
เพราะบรรดาน้องม้าน้องลาที่ขนส่งเสบียงรอบภูเขานั้นจะถ่ายหนักถ่ายเบากันตอนไหนก็กะเกณฑ์ไม่ได้
ทำให้ตามทางเดิน ยิ่งทางเดินแคบๆ นักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังฝีเท้าให้ดี บางทีต้องกลั้นหายใจหลายวินาที
เหล่าของเสียพวกนี้ก็เป็นอาหารชั้นดีให้กับแมลงวัน ซึ่งก็ตัวโตเพราะอิ่มหนำสำราญถ้วนหน้า 
ให้เราคิดแก้ปัญหานี้ ถึงตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออก ต้องยอมรับพลังธรรมชาติโดยดุษฎี

กว่าแบบสอบถามจะหมด ไม่รู้ว่านักศึกษาทั้งสองคนต้องเดินขึ้นลงเขากี่รอบ

06 เส้นทางช่วงแรกเป็นทางราบเลียบแม่น้ำ เดินง่าย สบายต่อเท้าคนเมืองอย่างเรามาก

07 ชาวบ้านมาช่วยกันขนดินขนทราย น่าจะเอาไปสร้างบ้าน สารภาพว่าตอนแรกมองไกลๆ นึกว่าเค้ามาซักผ้ากัน


08 สีสันจัดจ้านกว่าละแวกใกล้กัน

09 trekker ทั้งหลายเหมือนจะพร้อมใจกันหยุดเพื่อดูน้ำตกธารนี้


จากทางเรียบริมแม่น้ำ ทางเดินเหมือนจะชันและแห้งแล้งขึ้น
จนมาถึงทางเดินที่เราเรียกเองว่า "เส้นทางพระจันทร์"
เพราะดูแห้งแล้งมีแต่ก้อนหินสีเทา ลัดเลาะไปตามภูเขา
ยิ่งเดินตอนแดดร้อนๆ ร่างกายเหมือนจะเรียกร้องอยากได้น้ำมากกว่าปกติ

10 เส้นทางพระจันทร์ กับ นักท่องเที่ยวจากเซี่ยงไฮ้
กลุ่มนี้ออกเดินทางมาพร้อมเราจากสำนักลูกหาบ 
แต่ความยาวขาของคนไม่เท่ากัน เค้าเลยแซงไปตามระเบียบ


11 ยังคงตามหลัังกลุ่มเซี่ยงไฮ้ ก่อนที่จะเจอทั้งกลุ่มอีกทีตอนเย็นของอีกวัน
เพราะเค้าเดินกันรวดเดียว ไม่แวะถ่ายรูปนั้นนี่เหมือนเรา Smiley

12 เส้นทางก่อนถึงหมู่บ้าน Tikhedunga เรียกว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนเจอเส้นทางบันไดหินแบบโหดในวันพรุ่งนี้


เส้นทางโดยรวมของการเดินทางวันแรกเป็นบันไดสลับทางเรียบ ประมาณว่าขึ้นบันได 5 ก้าว เดินเรียบๆอีก 10 ก้าว
ระยะทางเดินวันนี้แค่ประมาณ 3 ชั่วโมง ไม่รวมตอนพักทานอาหารเที่ยง ถือว่าน้อยถ้าเทียบกับวันอื่นๆ
แล้วก็เป็นเส้นทางผ่านหมู่บ้านซะมาก ไม่ต้องปีนป่ายเหมือนเวลาเดินในป่า
ตลอดทางก็ล้อมไปด้วยวิวภูเขาสีเขียว ซึ่งใจจริงอยากให้เป็นภูเขาหิมะมากกว่า

13 ถ้าเป็นขบวนเกี๊ยวใต้เท้าแบบในหนังจีน มาถึงตรงนี้คงมีคนพากษ์ว่า "หยุดดดดดดดดด"


คุณไกด์หยุดเดิน แล้วก็หันมาบอกสั้นๆว่า "ถึงแล้ว"
เล่นเอาเรากับลูกพี่ลูกน้อง งง ว่าทำไมเร็วจัง เพราะนาฬิกาเพิ่งจะเลยเลข 2 ไปไม่กี่นาที
คุณไกด์บอกว่า วันนี้ไม่อยากให้เดินมาก ถือว่าเป็นการ warm-up
เพื่อให้คุ้นกับเส้นทางและความสูง 
ก่อนร่างกายจะถูกใช้อย่างหักโหมในวันพรุ่งนี้

นี่แปลว่า เรามีเวลาทั้งบ่ายในการเดินชิวท่ามกลางภูเขาเขียวๆสินะ ... ทำอะไรดี ?

14 ที่พักชื่อ Green View Lodge

เดินขึ้นบ้านพักแล้วก็จัดสัมภาระให้เข้าที่เข้าทาง
เห็นโปรแกรมของนักท่องเที่ยวไทยหลายท่านก็มาพักที่นี่
คิดเอาเองว่าทัวร์เมืองไทยคงทำสัญญาใจกับเจ้าของที่นี่เอาไว้
สภาพที่พักก็คือ "ไว้กิน" กับ "ไว้นอน" จริงๆ เพราะในห้องมีแต่เตียง ส่วนข้างนอกก็เป็นโต๊ะสำหรับทานอาหาร
ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวมระบบพึ่งพาเตาแก๊ส ชนิดที่คนอาบเห็นกรรมวิธีทำน้ำอุ่นทุกขั้นตอน

รวมถึงเห็นเปลวไฟแว๊บออกมาบ้างบางครั้ง


15  ต้องขอบคุณบรรดาม้าลาทั้งหลาย ที่ขนส่งสรรพัดเครื่องยังชีพและเครื่องอำนวยความสะดวกของมนุษย์ รวมถึงเตาแก๊สสำหรับทำน้ำอุ่นและทำอาหารด้วย

16 เห็นแล้วไม่รู้จะบรรยายอะไร เพราะภาพมันก็น่าจะบรรยายตัวเองได้ดีอยู่แล้ว
อยากจะขอให้คนที่ผ่านไปผ่านมาที่อ่านบล็อคนี้แล้วอยากจะไป trekking ที่เนปาลหรือที่อื่นๆ 
ช่วยเห็นใจลูกหาบกันซักนิด อะไรเอาออกจากกระเป๋าได้ก็เอาออก
เสื้อผ้าเอาไปไม่ต้องเผื่อใส่ทุกวันก็ได้ ที่นู้นอากาศหนาว ซักแล้วตากแป๊บเดียวก็แห้ง
ช่วยกันทำให้การเดินทางเป็นเส้นทางความสุขทั้งเราและเขากันค่ะ

...มีเวลาว่างเยอะมากๆ
ใครที่มีโปรแกรม trekking เหมือนๆกัน คือมาพักวันแรกที่ Tikhedhunga
แนะนำให้พกหนังสือบางๆแบบอ่านวันเดียวจบมาซักเล่ม
หรือจะไฮเทคพก iPad มาเลยก็ไม่ว่ากัน
อ่านหนังสือพร้อมกับละเลียดบรรยากาศเย็นๆ นี่มั้ง...ความสุขของการเดินทาง

ส่วนเรา ไม่ได้พกหนังสือมาซักเล่ม ก็ได้แต่นั่งมองคนเดินผ่านไปมา เดินไปถ่ายรูปนู้นนี่ฆ่าเวลา
ยังงงๆว่า วันนั้นเราทำอะไรบ้าง

ว่าแล้วก็ขอนำเสนอรูปเป็นซีรี่ย์
คือเลือกรูปที่เหมือนๆกันมาอยู่ในหมวดเดียวกัน

ขอประเดิมด้วยซีรี่ย์ "ไก่"
ซึ่งเราว่าตัวใหญ่กว่าที่เมืองไทยมากกกก

ซีรีย์ "ดอกไม้"

ซีรีย์ "ท้องทุ่งและนาขั้นบันได"

ซีรีย์ "รักเด็ก"
เป็นคนไม่ค่อยถ่ายรูปคน ดังจะเห็นได้ว่ามีรูปเด็กน้อยกว่าพวกใบไม้ใบหญ้า -_-''


เดินไปเดินมา ก็ถึงตอนเย็นซักที
อาบน้ำเรียบร้อยก็มากินข้าว เหตุที่อาบน้ำก่อนก็เพราะว่าที่นี่อากาศเย็น
ถ้ารอไปอาบน้ำตอนค่ำเหมือนกิจวัตรที่เมืองไทยคงเป็นไข้พอดี
และแน่นอนว่ามื้อเย็นวันนี้ เราสั่งชานมเพื่อปฏิบัติภารกิจทดสอบรสชาติชานมที่เนปาลตามที่ตั้งใจไว้
ส่วนอาหารนั้นก็คือ Dal Bhat ซึ่งจะเขียนถึงวันหลัง

17 ดื่มแล้วแทบอยากจะขอสูตรกลับเมืองไทย อร่อยมาก......

Masala Tea ที่ Green View Lodge เป็นชาที่อร่อยมากที่สุดตลอดทริปการเดินทางในเนปาลของเรา 
คือ มันกลมกล่อมพอดี ไม่หวานมากจนเกินไป กลิ่นเครื่องเทศไม่ฉุนจนเกินไป
เราดื่มสองแก้ว คือตอนมื้อเย็น กับตอนเช้า รสชาติก็อร่อยทั้งสองแก้ว จนลูกพี่ลูกน้องยังสั่งตาม :)

18 ชาร์ตแบตตารี่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้ากันทุกวัน อย่าลืมชาร์ตพลังชีวิตกันบ้างน้า....


สองทุ่มกว่าๆ เราก็เข้านอน
กิจกรรมก่อนนอนที่เพิ่มมานอกจากการกินวิตามินและโปะมอยเจอร์ไรเซอร์ก็คือ การทา counter pain
ซึ่งก็ดันไปซื้อเป็น counter pain cool จนต้องวุ่นวายยืมจากลูกพี่ลูกน้อง

คนเราบางทีก็ไร้สติกับเรื่องสำคัญๆแบบดื้อๆ
ของใช้อย่างอื่นเตรียมมาดีหมด ยกเว้นก็แค่หลอด counter pain นี่แหละ

ทาไปก็ลุ้นไปว่า counter pain จะช่วยแบ่งเบาความเมื่อยล้าจากการเดินได้มากเท่าไหร่
ยิ่งถ้าต้องขึ้นบันไดสามพันกว่าขั้นแบบวันพรุ่งนี้...




 

Create Date : 08 มีนาคม 2556    
Last Update : 8 มีนาคม 2556 19:02:23 น.
Counter : 3312 Pageviews.  

1  2  3  

Backlit.Iconic
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ค้นพบว่าการถ่ายรูปและการเดินทางทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น เป็นงานอดิเรกที่ไม่เคยเบื่อ ชอบแวะเวียนไปชิมอาหารและขนมจากร้านบรรยากาศดีๆ ชอบงานสถาปัตยกรรมและการอ่านหนังสือ :)

ข้อความและภาพถ่ายทุกรูปในบล็อคนี้ขอสงวนลิขสิทธิ์ค่ะ ห้ามเผยแพร่ ดัดแปลง ลงในสื่ออื่นๆโดยไม่รับอนุญาต หากต้องการนำรูปหรือข้อความไปเผยแพร่หรือใช้ในทางพาณิชย์ กรุณาติดต่อเจ้าของบล็อคที่ backlit.iconic@gmail.com หรือทางกล่องข้อความนะค่ะ

รับชมบล็อค wordpress ได้ที่ http://backliticonic.wordpress.com ค่ะ
New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Backlit.Iconic's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.