Group Blog
 
All Blogs
 

เพื่อนๆอยากทราบมั้ยคะว่า ทับทิม ที่อยู่ในโลกนี้ทั้งหมด มีแหล่งที่มาจากที่ไหนๆบ้าง ที่นี่มีคำตอบค่ะ

ทับทิมต่างแหล่ง


พูดถึงแหล่งทับทิม พ่อค้าพลอยสมัยก่อน คงคิดถึงทับทิมพม่า เป็นอันดับแรก ในขณะที่พ่อค้าพลอย รุ่นกลางเก่า กลางใหม่ อาจคิดถึงทับทิมสยามอันลือชื่อ แต่พ่อค้าพลอยรุ่นใหม่ไฟแรง คงจะคิดถึงแต่ ทับทิมเวียตนาม หรืออาฟริกา
ทับทิมอัญมณีสีแดง ในจำพวกคอรันดัม เช่นเดียวกับ ไพลิน บุษราคัม และเขียวส่อง ความแข็งค่อนข้างสูง คือระดับ 9 ตกผลึกในระบบ Hexagonal ฉะนั้นจึง มีลักษณะทางแสง เป็นพลอยหักเหคู่ แบบยูนิเอ็กเซิล มีความถ่วงจำเพาะเท่ากับ 4 แหล่งสำคัญอยู่ที่ ไทย พม่า เวียตนาม เคนยา ศรีลังกา และอินเดีย แหล่งที่เด่นมากคือ พม่า ไทย เวียตนาม และอาฟริกา

ทับทิมพม่า

ในวงการค้าอัญมณี ถือว่าคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุด พ่อค้ารุ่นเก่า ที่มีอายุแก่พอที่จะจำได้ถึงอดีตเมื่อ 30 - 40 ปีที่แล้ว ที่ยามนั้น มีทับทิมพม่า จำนวนมากมาย ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องหาทับทิม จากแหล่งอื่น มาทดแทนความต้องการของตลาด เช่นในปัจจุบันนี้เลย ถ้าพม่าไม่ปิดประเทศ ทับทิมไทย หรือทับทิมจากแหล่งอื่น คงไม่เป็น ที่สนใจ เช่นทุกวันนี้ พ่อค้าพลอยรุ่นใหม่ คงจะนึกไม่ออก ถึงความยอดเยี่ยม ของทับทิมจากพม่าว่าสวยงามเพียงไร เพราะบัดนี้ทับทิมพม่า ชั้นเยี่ยม ที่ถือกันว่าสวยเลิศนั้น หาได้ยาก ในตลาดพอๆ กับ นางงามจักรวาลจากพม่า

ความแตกต่าง ของทับทิมพม่า และทับทิมไทย ถ้าจะเปรียบ ให้เห็นเด่นชัด ที่สุด ก็เหมือนกับผู้หญิงสาวสวย 2 คน สวยคนละแบบ แต่อีกคนหนึ่ง มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า "Sex Appeal" ปรากฏมากกว่า และสิ่งนั้น อยู่ในทับทิมพม่า จึงเป็นสาเหตุให้ทับทิมพม่า มีราคาสูงกว่า ทับทิมไทยมาก ทั้งนี้อาจรวมถึง ความหายากมากกว่า ด้วยนั่นเอง

ทับทิมพม่า มีสีแดงสด ม่วงแดง และแดงชมพู สีมักไม่ติดแดงอำพัน อย่างทับทิมไทย เพราะมีการเรืองแสงดีกว่า ทับทิมสีแดงสด ของพม่า เรียกกันว่า สีแดงเลือดนกพิราป (Pigeon's blood) คือเป็นสีดีที่สุด เสน่ห์ของทับทิมพม่า อยู่ที่ความงามของสีที่ฉ่ำเต็ม และลักษณะระยิบ เหมือนกำมะหยี่ที่อยู่ภายใน ยิ่งดูด้วยแสงธรรมชาติ (Daylight) จะยิ่งดูสวยงามมาก ถ้าจะแยกความแตกต่าง ของทับทิมพม่า กับทับทิมไทย ส่วนมากนักอัญมณีศาสตร์ จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องฟลูออเรสเซนส์ หรือ U.V. Lamp ดูปฏิกิริยาของพลอย กับรังสีคลื่นสั้น ทับทิมพม่า จะเรืองแสงสีแดง ระดับปานกลาง ถึงแดงสด ในขณะที่ทับทิมไทยจะไม่เรืองแสงเลย เพราะทับทิมไทย มีธาตุเหล็กผ่าน (Impurity) ในขณะที่ทับทิมพม่า มีธาตุโครเมียม มากกว่าทับทิมไทย


ลักษณะรอยตำหนิภายใน (Inclusion) พิเศษของทับทิมพม่า คือ มักพบ silk และผลึกเต็มรูป หรือกลมมน ใส คล้ายก้อนน้ำแข็งละลาย หรือผลึกเพทาย ที่มีรอยแตก ล้อมรอบอยู่ภายใน นอกจากนี้ยังพบแถบสีตรง หรือหักมุม รวมทั้งเส้นเข็ม และรอยตำหนิรูปนิ้วมือ เป็นต้น

ความแตกต่างในด้านราคา ของทับทิมพม่า และทับทิมไทย จะปรากฏชัดมาก ในเม็ดขนาดใหญ่ ซึ่งการซื้อขายส่วนใหญ่ ผู้ซื้อมักต้องการ ทราบแหล่ง และใบรับประกัน ของที่มาของพลอยนั้นด้วย หากเป็นทับทิมจากพม่าจริงๆ ในขนาด 3 กะรัตขึ้นไป ราคาอาจสูงกว่าทับทิมไทย ถึง 3 เท่า ในขณะที่ขนาดเล็กลง จะมีความแตกต่างน้อยลง เช่น ขนาด 1 - 2 กะรัต ความแตกต่างอาจประมาณ 50% และสำหรับเม็ดเล็ก ต่ำกะรัต ความต่ำอาจเหลือเพียง 25% ก็เป็นได้



ทับทิมสยาม หรือ ทับทิมไทย (Thai Ruby)


แหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่ง ของทับทิม ที่ปัจจุบันแทบจะเหลือแต่แหล่ง ไม่ค่อยเหลือเม็ดทับทิม ไว้ให้ขุดสักเท่าไร แต่ถ้าดูในตลาดทับทิมของไทย ก็ดูยังครองตลาดเกินครึ่งกว่าทับทิมจากแหล่งอื่น

ในสมัยที่พม่ายังรุ่งเรือง ก่อนปี 1962 ทับทิมไทยแทบจะไม่เป็นที่สนใจ ของเหล่าพ่อค้าพลอยเลย ด้วยความที่ ทับทิมไทย มีสีแดงคล้ำมากกว่า ส่วนใหญ่ติดสีม่วง แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า สะอาดกว่าก็ตาม แต่พอพม่า เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1962 และปิดการทำเหมืองพลอยอย่างเป็นทางการหมด จึงทำให้พลอยพม่า หายากมากขึ้น จะมีให้เห็นบ้าง ก็จากการประมูลปีละครั้ง ของรัฐบาล หรือจากพวกที่ลักลอบนำออกมา ซึ่งนับเป็น ปริมาณที่น้อยมาก ทับทิมไทย จึงได้โอกาสแจ้งเกิด ประกอบกับการค้นพบกรรมวิธี ที่เรียกว่า Cooking หรือ เผาพลอย ทำให้ทับทิมไทยที่เคย ติดม่วง หรือแดงคล้ำ กลับสุกใส ไร้สีอื่นเจือปน จนแทบแยกไม่ออก ว่าเม็ดไหนของไทย เม็ดไหนของพม่า


ราคาของทับทิมไทย ในปัจจุบันจึงสูงกว่า สมัยก่อนมาก โดยเฉพาะภายหลัง จากการลดค่าเงินบาทในปี 1985 ราคาทับทิมไทย สูงขึ้นประมาณ 30 - 50 % และในตลาดส่วนใหญ่ ก็มีแต่เพียงทับทิมไทยขาย จึงทำให้ทับทิมไทย ครองตลาดเกินกว่าครึ่ง ในตลาดโลก ลูกค้าที่ซื้อทับทิมจากไทย มีทุกตลาด อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และศูนย์กลาง การซื้อขายทับทิมของโลก จะอยู่ที่กรุงเทพฯ
ทับทิมไทย มีสีแดงเข้ม โทนสีมืด อาจเป็นแดงส้ม (แดงลายไทย) แดงดำ แดงติดม่วง (น้ำเงิน) หรือ แดงชมพู ทับทิมขนาดใหญ่เกือบ 100 % ผ่านการเผามาแล้ว เพราะปรับปรุงสี



ถ้าดูด้วยเครื่องฟลูออเรสเซ็นส์ ทับทิมไทย จะเฉื่อยในคลื่นสั้น ไม่แดงเหมือนทับทิมพม่า และเวียตนาม ส่วนรอยตำหนิภายใน มักพบของเหลว 2 phase เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ และตำหนิแบบดาวเสาร์ ที่เป็นผลึกอยู่ตรงกลาง Fingerprint หรือพบตำหนิรูปเส้นเข็มหรือ หรือ Repeated Twining ผลึก และผลึก Nagative และตำหนิของเหลวพวก Fingerprint แต่สังเกตว่าจะไม่พบเส้นเข็มรูทิลภายในพลอยไทย รวมทั้งไม่ค่อยจะพบแถบสี หรือเส้นสี หรือ หรือ Treacle ภายในด้วย

ทับทิมเวียตนาม

น้องใหม่ไฟแรง เพิ่งเป็นที่ฮือฮา เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง เนื่องจากความงามที่กล่าวกันว่า ทับทิมพม่า ยังต้องแอบ ข้างทางให้ เนื่องจากสีของทับทิมเวียตนาม จะออกแดงสด และแดงชมพู เหมือนกับทับทิมพม่า แต่ที่เหนือกว่าคือ ความสะอาด ทำให้ทับทิมเวียตนาม เป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่เนื่องจากเวียตนาม เพิ่งรื้อฟื้น จากการเป็น ประเทศปิด และระบบการปกครองที่ทุกอย่าง ยังอยู่ในมือของรัฐบาล จึงทำให้ทับทิมเวียตนาม ยังมีออกมาไม่มากนัก แต่ก็มีคนไทยใจกล้า เข้าไปลักลอบซื้อ และนำออกมาจำหน่ายมากมาย และที่น่ากลัวที่สุด คือมีของปลอมเจือปนอยู่มาก เนื่องจากสีของทับทิมเวียตนาม คล้ายสีของพลอยปลอมมาก

ทับทิมเวียตนามสวย เพราะสีที่แดงสด และแดงชมพูหวาน แถมยังมีประกายดี เนื่องจากมีธาตุโครเมียมเป็นธาตุผ่าน จึงทำให้เป็นประกายได้แม้ในที่มืด

ลักษณะรอยตำหนิภายในที่เป็นลักษณะเด่น คือ ลักษณะเส้นตรงชัดๆ ภายในที่เรียกกันว่า เส้นสี หรือ Treacle และ Growth line เป็นเหมือนขั้นบันได และจะมีกลุ่มหมอก หรือลักษณะเหมือนฝุ่นออกขาวหรือขาวชมพู บางทีก็มีสีน้ำเงิน ถ้ามีลักษณะเช่นนี้ก็พอจะแยกได้ว่า คือ ทับทิมจากเวียตนาม แต่ถ้าไม่มีลักษณะนี้ก็คงบอกได้ลำบาก เพราะลักษณะอื่นๆ ก็คล้ายกับทับทิมพม่า เช่น การเรืองแสงสีแดงในคลื่นสั้นเหมือนกัน เพราะมีโครเมียมเป็นธาตุผ่านเช่นเดียวกัน

ทับทิมเวียตนาม มีหลายคุณภาพ มีทั้งสวยและไม่สวย เช่นเดียวกับทับทิมจากแหล่งอื่นๆ เพียงแต่มองภาพรวมแล้วค่อนข้างเป็นที่พอใจของผู้ซื้อมากกว่า เพราะสีที่สะดุดตามากนั่นเอง

ทับทิมจากอาฟริกาตะวันออก

ส่วนใหญ่มาจากประเทศเคนยา และแทนซาเนีย สีคล้ายกับทับทิม จากพม่า แต่มักมีรอยตำหนิธรรมชาติภายใน หรืออินคลูชั่นมาก จนทำให้ พลอยมีประกายไม่ดี ส่วนมากทึบแสง และมักจะเจียระไน เป็นรูปหลังเบี้ย จึงทำให้มีราคาถูก

ที่จริงอาฟริกาตะวันออก เป็นแหล่งผลิตทับทิม เก่าแก่ มานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่เพราะความที่ มีรอยตำหนิภายในมาก จึงทำให้ได้ทับทิม ที่มีคุณภาพสามารถเจียระไนเหลี่ยมได้ ไม่ถึง 1 % ของทับทิมก้อน ที่ขุดได้ คนทั่วไป จะรู้จักทับทิม อาฟริกา ในฐานะทับทิมหลังเบี้ย ราคาถูก แม้ว่า ปัจจุบันการเผาพลอย จะช่วยให้ ทับทิม จากอาฟริกา ที่มีคุณภาพดี มีปริมาณมาก ยิ่งขึ้น แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแหล่งอื่น ก็ยังถือว่า มีปริมาณน้อยกว่ามาก

ถึงแม้ความสะอาดภายใน จะเป็นจุดด้อย แต่สีทั่วไป ของทับทิมอาฟริกา ดูจะแทนที่ ความด้อย เพราะสีสวย ที่คล้ายกับทับทิม จากพม่านั่นเอง จะมีแปลกเฉพาะสีของทับทิม จากเหมืองโมโรโกโร ในแทนซาเนีย ที่มักจะออกสีม่วงใส

ทับทิมจากเคนยา จะดูดีกว่าแหล่งอื่นในอาฟริกา พ่อค้าพลอยคนไทย นิยมซื้อนำมาเผา เพื่อให้สีดีขึ้น เผาให้ใสขึ้น จึงนับเป็นโอกาสอันดี ของพ่อค้าที่จะเสี่ยง เพราะทับทิมจากอาฟริกา ราคาไม่แพง ถ้าเผาดีขึ้นก็ได้กำไรมาก



ทั้งหมดนี้คือคำตอบค่ะ ละเอียดดีนะคะเซียร์ว่านะ อย่างน้อยๆเพื่อนๆที่ได้เข้ามาอ่านก็คงรู้แล้วนะคะว่า ที่มาของทับทิม ที่ไหนดีที่สุด ที่ไหนสวย และสวยแตกต่างกันอย่างไรนะคะ ทับทิม คนไทยจะเรียกเป็นภาษา พลอยอีกอย่างนึงนะคะว่า รูบี้ไล้ท์ หรือ รูบี้ค่ะ (Ruby) ขอบคุณทุกๆท่านที่แวะเข้ามาอ่านนะคะอิอิ




 

Create Date : 09 มีนาคม 2549    
Last Update : 9 มีนาคม 2549 10:23:21 น.
Counter : 1556 Pageviews.  


aziapu
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




โมชิ โมชิ สวัสดีค่ะ
Friends' blogs
[Add aziapu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.