- ภูฏาน ก็ ภูฏาน

ภูฏาน ก็ ภูฏาน

Photobucket
กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน ในดินแดนสยาม เกิดกระแสกรี๊ดเจ้าชายองค์หนึ่งที่เสด็จมาร่วมราชพิธีฉลองที่จัดขึ้นในประเทศ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ด้วยหญิงทุกคนในวัยเด็กล้วนอยากเป็นเจ้าหญิงกันทั้งนั้น ประกอบกับเจ้าชายองค์นี้มีคุณสมบัติเพียบพร้อม เปี่ยมศักดิ์ งามสง่า กิริยาดี การศึกษาเด่น ส่งผลให้ประเทศเล็กๆ ในหุบเขาที่เมื่อก่อนไม่ค่อยเป็นจุดหมายปลายทางของใครเท่าไหร่นักของเจ้าชายคนนั้นผุดขึ้นมาโดดเด่นเป็นสง่าในหัวใจชาวไทย โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งสาวและไม่สาว ทั้งที่โสดและไม่โสด

ช่วงนั้นมีหนังสือออกมาเจาะลึกถึงประเทศนี้และเชื้อพระวงค์นี้กันอย่างคึกคัก แม้แต่คุณนายแม่ของฉันยังเอ่ยถึงราวกับรู้จักลึกซึ้งกันมาเป็นสิบๆ ปี

ประเทศนั้นชื่อ ภูฏาน (แต่ฉันชอบชื่อ ภูฐาน ชื่อเดิมมากกว่า)

ปัจจุบัน เจ้าชายรูปงามพระองค์นั้นได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เรียบร้อยแล้ว และไม่รู้ว่าเป็นเพราะคนไทยเห่อง่ายลืมง่าย หรือว่าการเป็นกษัตริย์มันโรแมนติกน้อยกว่า เอื้อมถึงยากกว่า ฟังดูจริงจังกว่า อ่อนโยนอ่อนหวานชวนฝันน้อยการเป็นเจ้าชาย กระแส “อยากไปภูฏานจังเลย” จึงค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลา

ส่วนตัวของฉันเอง ที่ตัดสินใจเลือกภูฏานเป็นที่ฉลองวันเกิดครบรอบปีที่ 37 ในปีนี้ ไม่ได้เป็นเพราะชอบตามกระแสหรือสวนกระแส แต่เป็นเพราะภูฏานอยู่ใกล้ประเทศอินเดียที่ฉันอยู่ และรู้ว่าจะได้อยู่ในภูมิภาคนี้อีกไม่นานแล้ว จึงควรไปเยี่ยมเยียนประเทศใกล้ๆ เสียหน่อย หลงเชื่อไปว่าระยะทางใกล้ๆ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ซึ่งเป็นการคิดผิดตั้งแต่เริ่มต้น

ในบันทึกนี้ ฉันจะไม่ไล่เล่าลากยาวตามระยะเวลา หรือเล่าประวัติของสถานที่ไปเยี่ยมชม แต่จะขอสรุปข้อสังเกตระหว่างการเที่ยวเป็นประเด็นสั้นๆ เท่าที่นึกออกเท่าที่เห็นในช่วงสองวัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีข้อมูลท่องเที่ยวให้ไปเที่ยวตาม ไม่มีถูกไม่มีผิด เรื่องความสวยงามต่างๆ ขอเล่าด้วยรูปในสไลด์ด้านล่างนะคะ

-- Boutique Country

ในหนังสือ Lonely Planet คัมภีร์ของนักท่องเที่ยวกล่าวถึงการเที่ยวภูฏานโดยสรุปว่าเป็น เนปาลเวอร์ชั่นหรู สำหรับฉันและหวานใจ ภูฏานเป็นบูติกประเทศ โดยเปรียบเทียบกับบูติกโฮเต็ล คือ เล็กๆ น่ารัก มีเอกลักษณ์ สะอาดเนี้ยบ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การจัดวางควบคุมคิดมาแล้ว เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ และราคาไม่ถูก เหมาะสำหรับคนชอบของแปลกตาแต่ไม่ชอบความแปลกใจ นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับความอุ่นใจจากการมีผู้นำทางเจ้าของประเทศผู้สามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็นให้ได้รู้ถ้าอยากรู้ ผู้นำทางประจำตัวของเราจะพาไปเที่ยวชมจุดท่องเที่ยวต่างๆ เป็นลำดับขั้นเป็นระบบระเบียบ

ความเห็นส่วนตัว : ภูฏานไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัย รักอิสระเสรี อยากคลุกคลี ได้เห็นชีวิตคนท้องถิ่นแท้ๆ เพราะโปรแกรมการเที่ยวได้ถูกจัดวางไว้เรียบร้อยแล้วทุกเส้นทางโดยมีผู้นำทางเป็นผู้ควบคุมว่าจะได้ดูอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง กินอะไรบ้าง เดินไปทางไหนได้บ้าง ประเทศภูฏานมีโลกสองโลกขับเคลื่อนไปเคียงข้างกัน คือโลกของชาวภูฏาน กับ โลกของนักท่องเที่ยว คนภูฏานที่ไม่ได้อยู่ในวงการท่องเที่ยวจะมีชีวิตกินอยู่ในโลกของตน ไม่ไปกินอาหารในร้านที่จัดสำหรับนักท่องเท่ียวที่จะมีการผูกบัญชีกับสำนักนายหน้าท่องเที่ยวหักกลบลบบัญชีกับ “ต้นทุนเงินฝาก” (ที่ฝากแล้วฝากเลย) 200 เหรียญสหรัฐ ที่ได้ข่าวว่ากำลังจะขึ้นเป็น 250 ในอีกไม่ช้านี้

-- วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์แสนรัก แต่ไม่รู้จะทานอยู่ได้อีกกี่นานนัก

ประชาชนและรัฐบาลภูฏานรักและหวงแหนวัฒนธรรมสองสิ่งคือ การแต่งกายและสถาปัตยกรรม ถึงแม้ว่าฉันจะเห็นเด็กชายวัยรุ่นทำผมทรงเกาหลีปาดเจลปล่อยปอยผมปรกหน้าอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่พร้อมใจกันใส่ชุดประจำชาติเดินไปมาบนท้องถนน ดูแล้วแปลกตา รู้สึกเหมือนอยู่ในฉากถ่ายละครย้อนยุคขนาดใหญ่ตอนที่ผู้กำกับสั่งหยุดพัก เนื่องจาก “ตัวประกอบ” คุยโทรศัพท์มือถือกันให้ควั่ก บนท้องถนนเองมีรถรุ่นใหม่วิ่งคึกคัก โดยแบ่งเป็น ฮอนด้าสำหรับคนรวย ฮุนไดสำหรับรับส่งนักท่องเที่ยว มหินทรากับทาทาของอินเดียสำหรับราษฎรทั่วไป รถหรูที่สุดที่เห็นจอดอยู่คือเบนซ์สปอร์ตรุ่นล่าสุด

สิ่งแรกที่เห็นได้อย่างเด่นชัดตอนที่เครื่องบินร่อนลงอย่างสง่างามบนรันเวย์ที่ติดอันดับสั้นทุกสุดในโลกที่เมืองปาโร คือ บ้านเรือนของที่นี่มีความกลมกลืนไปในทางเดียวกัน มีหลังคา หน้าต่าง คานรับ ลวดลายประดับเหมือนๆ กัน ผู้นำทางของเราบอกว่า ใครจะสร้างอะไรต้องเสนอแบบให้ทางการดูก่อน ถ้าไม่มี “ความเป็นภูฏาน” อาจถึงขั้นโดนรื้อถอน มีการกำหนดแบ่งประเภทของสิ่งก่อสร้างด้วยสีของหลังคา สีแดงเป็นอาคารราชการ สีเหลืองเป็นวัด สีเขียวและสีดำเป็นของราษฎร

ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ฉันอ่านมีข่าวอยู่ข่าวหนึ่งรายงานเรื่องการที่ภูฏานจะเปิดประเทศให้เป็น IT Destination คล้ายๆ กับอินเดีย สิ่งแรกที่ทางการของภูฏานเน้นนักเน้นหนาคือ อาคารสำนักงานของศูนย์ไอทีต้องเป็นอาคารแบบภูฏาน อ่านต่อๆ ไปจนจบข่าวก็ยังไม่เห็นเจอนโยบายอื่นๆ ที่บอกว่ามีวิธีการไหนดึงดดูนักลงทุน จะมีสถาบันการศึกษาใดบ้างพัฒนาบุคลากรของตนให้เข้าทำงานในอาคารนั้น... จบข่าว





-- เรื่องกิน เรื่องใหญ่สำหรับฉัน แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับเขา

เป็นที่เลื่องลือและเป็นความจริงว่าคนภูฏานชอบกินพริกกับเนยแข็ง ซึ่งฉันมองว่าเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ทำให้อาหารของชาตินี้ไม่ค่อยถูกปากคนต่างชาติ ง่ายๆ เลย คนตะวันตกเจอคำว่าพริกเข้าไปก็ถอย คนตะวันออกอย่างฉันเจอพริกไม่ถอยแต่เจออาหารทุกจานมาในรูปแบบคล้ายๆ กัน คือ ผัดเนยใส่เนยแข็ง เจออาหารรสชาติคงที่เพราะเครื่องปรุงเดียวที่ใส่คือเกลือเข้าไปหลายมื้อก็เอือมได้ง่ายๆ แม้ว่ามื้อแรกจะรู้สึกว่าอร่อยไม่เลวก็เถอะ ส่วนคนอินเดียจากประเทศพี่ใหญ่ที่ได้รับสิทธิเข้าเที่ยวได้โดยไม่ต้องมีคนควบคุม เอ้ย ดูแล ผู้นิยมเครื่องเทศร้อนแรงคงจะเซ็งจิตอยู่ไม่น้อย แต่ก็เห็นร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวบางทีจัดอาหารอินเดียให้กินกันเลย

เหตุผลหนึ่งซึ่งหวานใจเอ่ยมาคือประเทศเล็กๆ ในหุบเขาก็มีวัฒนธรรมการกินที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยเป็นธรรมดา ถ้าเป็นสมัยเมื่อห้าหกสิบปีก่อน ฉันคงพยักหน้าหงึกๆ แต่มายุคนี้ อินเตอร์เน็ตก็มีแล้ว (แต่ยังไม่มีไวไฟ) มือถือก็มีแล้ว ใจคอจะไม่ลองกินของอะไรใหม่ๆ เลยรึ แต่มานึกอีกรอบ ขนาดประเทศเปิดมากๆ อย่างอินเดีย คนอินเดียเขายังกินแต่อาหารอินเดียเลย ดังนั้น เรื่องภูมิประเทศที่ตั้งของประเทศคงจะไม่ใช่เหตุผล มันเป็นเรื่องของรสนิยมและความคุ้นเคย ลิ้นใครก็ลิ้นใคร ใครชินอย่างไร ชอบอย่างไร ต่อให้มีเนื้อดีๆ นำเข้ามากองตรงหน้า เขาคงจะหั่นพริกผัดเนยแข็งกินกันอยู่ดี

พูดถึงเรื่องกินแล้วมาพุดถึงเรื่องดื่มบ้าง ภูฏานไม่ใช่ประเทศมือถือสากปากถือศีล แอบหลบมุมดื่ม เบียร์ภูฏานอร่อยมาก โดยเฉพาะเบียร์แบบไม่กรองชื่อ Red Panda รสชาติดีไม่แพ้เบียร์ที่พระตามโบสถ์ที่เบลเยี่ยมหมักเลยล่ะ ที่ภุฏานมีกฎหมายให้วันอังคารเป็นวัน Dry Day งดขายเหล้าในร้านทั่วไป แต่ร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวขายได้ ก็อย่างที่บอก ประเทศนี้มีโลกสองโลกอยู่ในประเทศเดียวกัน

-- คนภูฏานชอบคนไทย ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ

ฉันเดินทางบ่อยแต่ไม่เยอะประเทศ คนต่างชาติที่ฉันรู้จักแทบทุกคนจะชอบอาหารไทย บ้างว่าชอบเมืองไทย แต่พูดไม่เต็มปากเต็มคำว่าชอบคนไทย ส่วนที่ภูฏาน ฉันรู้สึกถึงความรู้สึกทางบวกกับคนไทยตั้งแต่ก้าวย่างแรกๆ ที่เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง พอเห็นพาสปอร์ตของฉันปุ๊บ เจ้าหน้าที่หัดพูดภาษาไทยกับฉันทันที เจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่ข้างๆ ก็มองฉันแล้วยิ้มให้ตาเป็นประกาย ส่วนผู้นำทางของฉันก็เอ่ยถามถึงโครงการฝนเทียมในพระราชดำริ ในกรุงทิมพูมีร้านที่ชายของนำเข้าจากเมืองไทยชื่อ 8 Eleven

ทำให้ฉันรู้สึกตระหงิดๆ ว่า ในภูฏานน่าจะเคยมีกระแสกรี๊ดประเทศไทยอยู่เหมือนกัน แต่พวกเขากรี๊ดกันด้วยเหตุผลใดกันหนอ...




>>ฝากข้อความ เชิญที่นี่






Create Date : 24 พฤษภาคม 2553
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 21:09:40 น. 5 comments
Counter : 891 Pageviews.

 
น่าไปมากเลยค่ะ


โดย: thank u teacher วันที่: 25 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:08:45 น.  

 
ตามไปเที่ยวด้วยคนนะ


โดย: Tree Rose วันที่: 26 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:01:09 น.  

 


โดย: chokun123 วันที่: 27 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:14:59 น.  

 
มาอ่านมุมมองภูฏานของคุณมิว

น่าสนใจหลายประเด็นค่ะ อ่านแล้วก็ยิ่งทำให้รู้สึกอยากไป (ติดที่งบนี่แหละ เพราะศึกษาแล้วก็เรียกว่างบสูงอยู่เหมือนกัน แต่อยากไปมากๆ)

เรื่องที่เค้ากรี๊ดคนไทย เคยอ่านเจอว่า กษัตริย์เค้าค่อนข้างยึดแนวทางใกล้เคียงกับในหลวงน่ะค่ะ ประเทศนี้ใช้ค่าความสุขมวลรวมของประชาชนเพื่อการพัฒนาประเทศแทนค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม แล้วพอกษัตริย์เค้าเห็นในหลวงเราทำงานเพื่อคนไทย รู้สึกว่าจะมีการศึกษาและดำเนินแนวทางคล้ายๆ กัน และคนภูฏานเองก็ได้รับข้อมูลเมืองไทยและในหลวงในลักษณะนั้นนะคะ (ก็เลยพอจะเข้าใจคนที่ถามเรื่องฝนเทียมค่ะ)

เบียร์ภูฏานอร่อยมาก โดยเฉพาะเบียร์แบบไม่กรองชื่อ Red Panda - อ่านประโยคนี้จบ จดไว้ในสมองเลยว่า ถ้าได้ไปเป็นหนึ่งใน The Must ของเราแล้วหละ ปกติไม่ได้ดื่มของมึนเมามานานแล้ว แต่เล่นบอกอย่างนี้อย่างไรก็ต้องลองซะแล้ว


อ่านแล้วรู้สึกว่า นี่ถ้าเขียนเป็นหนังสือขาย น่าจะน่าสนใจเชียวค่ะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 5 มิถุนายน 2553 เวลา:17:18:45 น.  

 
สวัสดีค่ะทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนกันนะคะ

@คุณสาวไกด์ใจซื่อ บันทึกนี้เป็นแค่ความรู้สึกคร่าวๆ เท่าที่ได้สัมผัสแค่สองสามวันค่ะ ถือได้ว่าแค่แตะๆ แบ่งปันความเห็นส่วนตัว ถ้าต้องเขียนเป็นหนังสือขาย คงต้อง "ลงสนาม" ทั้งทางกว้างและทางลึกกว่านี้ แต่ความเห็นของคุณเป็นกำลังใจให้มากเลยค่ะ เดี๋ยวย้ายไปอยู่ฮ่องกง ได้อยู่จริง เจอจริง มีเวลาให้ทำความรู้จักมากหน่อย อาจจะคิดเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้เห็นฮ่องกงที่มากกว่า "เกาะสำหรับชอปปิ้ง"


โดย: Mutation วันที่: 7 มิถุนายน 2553 เวลา:11:25:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.