Nantana's story
Group Blog
 
All blogs
 

"เปเปส อิกัน" งบปลาของชาวซุนดา








เผยแพร่ วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560
เรื่องและภาพโดย : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

ต้นกล้วยเป็นสัญลักษณ์ของพืชในเขตร้อนที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้นไม้ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ ในครัวอาเซียนเราใช้ใบกล้วยมาทำเป็นกระทงเป็นภาชนะใส่อาหาร หรือแค่ปูใบกล้วยใบแล้ววางอาหารบนนั้นนั่งล้อมวงใช้มือเปิบไม่ต้องล้างถ้วยชามให้เสียเวลา ประเทศในอาเซียนทุกประเทศรู้จักใช้ใบตองมาห่อใส่อาหารแล้วนำไปทำให้สุก ไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวาน

อาหารที่ฉันจะเล่าในตอนนี้ก็ใช้ใบตองมาห่อ มีชื่อว่า “เปเปส อิกัน” (Pepes Ikan) หมายถึง งบปลา นั่นเอง แต่เป็นงบปลาของชาวซุนดาที่อยู่บนเกาะชวาตะวันตก และเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย ที่จริงแล้วสามารถใช้เนื้อสัตว์อย่างอื่นแต่ในเมื่ออยู่บนเกาะมีปลามากมายอยู่แล้วงบปลาจึงนิยมกินกันมากกว่าอย่างอื่น ปลาที่ใช้ก็เป็นปลาทะเลที่หาได้ง่าย เช่น ปลาอินทรี ปลานวลจันทร์ทะเล และปลาทู

เครื่องแกงประกอบไปด้วย พริก หอม กระเทียม ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ มะเขือเทศ ตำรับซุนดานั้นต้องใส่แคนเดิ้ลนัทด้วยซึ่งเป็นเมล็ดของพืชที่จะใส่ในเครื่องแกงให้ความข้น เพื่อความสะดวกเราสามารถใช้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์แทนได้ โขลกแล้วก็ปรุงรสให้เรียบร้อยด้วยน้ำตาลโตนด เกลือ น้ำมะขามหรือน้ำมะนาว นำเครื่องแกงนี้ไปหมักกับปลาให้เข้าเนื้อ แล้วจึงนำมาห่อด้วยใบตอง ใส่มะเขือเทศ ตะไคร้หั่นท่อน ใบมะกรูด ใบกระวาน และใบแมงลักลงไปในห่อด้วยเพื่อเพิ่มความหอมของสมุนไพร นำไปนึ่งให้พอสุก แล้วจึงนำมาย่างไฟอีกทีให้หอมฟุ้งจรุงใจ

หุงข้าวสวยเอาไว้ เตรียมผักสดไว้กินแนมสักหน่อยพร้อมน้ำพริกกะปิครกเล็กๆ ก็เอร็ดอร่อยกันถ้วนหน้า ไม่ต้องสงสัยว่าอาหารอินโดนีเซียมีน้ำพริกกะปิด้วยหรือ ขอตอบว่ามีค่ะ ชาวอินโดนีเซียรวมถึงชาวมลายูเขาก็มีน้ำพริกกะปิที่เรียกว่า “ซัมบัล เบลาชัน” (Sambal Belacan) แต่ของเขาจะใช้พริกแดงทั้งพริกชี้ฟ้า และพริกขี้หนูสีจึงแดงสดแต่เผ็ดน้อย ส่วนหัวหอม กระเทียม กุ้งแห้งนั้นแล้วแต่เพราะน้ำพริกกะปิเขามีสาขาย่อยแตกออกไปได้อีกหลายแบบ ถ้ามีส้มจี๊ดก็ให้ใส่ด้วยจะได้น้ำพริกกะปิแบบต่างชาติ กินงบไทย งบลาวแล้ว ลองงบอินโดดูบ้างค่ะ



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)





 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 8:04:32 น.
Counter : 670 Pageviews.  

"รากูซัจม็วน" สตูไก่ฝรั่งเศส สู่งานเลี้ยงสำคัญของชาวเขมร






เผยแพร่ วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
เรื่องและภาพโดย : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

“ragout” มาจากคำว่า “ragoûter” มีความหมายว่า กระตุ้นความอยากอาหาร อาหารชนิดนี้มีมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นับเป็นอาหารฝรั่งเศสชนิดหนึ่งที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก สตูว์ที่เข้มข้นนี้เหมาะที่สุดกับขนมปังเนื้อหนักอย่างบาแก็ต (Baguette)

ในงานเลี้ยงสำคัญๆ เช่นงานแต่งงาน งานรับแขกบ้านแขกเมือง หรืองานปาร์ตี้ต่างๆ ของชาวเขมรมักจะเสิร์ฟอาหารที่ดูหรูหราแบบฝรั่ง หนึ่งในอาหารที่เป็นที่นิยมกันคือ รากูซัจม็วน ( រ៉ាហ្គូសាច់មាន់) คือ สตูว์ไก่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าอาณานิคมในอินโดจีน โดยมาจากอาหารที่ชื่อว่า “Ragoût de coq” ของฝรั่งเศส ถ้าเป็นสตูว์เนื้อวัวคือ “Ragoût de bœuf” ส่วน ขแมร์เรียกว่า รากูซัจโก (រ៉ាហ្គូសាច់គោ) ซึ่งเป็นที่นิยมในเวียดนามด้วยเช่นกัน

คำว่า “ragout” มาจากคำว่า “ragoûter” อันมีความหมายว่า กระตุ้นความอยากอาหาร อาหารชนิดนี้มีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นับเป็นอาหารฝรั่งเศสชนิดหนึ่งที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก สตูว์ที่เข้มข้นนี้เหมาะที่สุดกับขนมปังเนื้อหนักอย่างบาแก็ต (Baguette) ที่ชาวเขมรเรียกว่า นมปัง (នំប៉័ង) หรือเวียดนามเรียกว่า “บั๊นหมี่” (Bánh mì)

วิธีทำฉบับง่าย

สำหรับชาวเอเชียที่ไม่มีสมุนไพรฝรั่งจึงใส่แค่ใบกระวานเป็นพอ เริ่มจากนำไก่ไปหมักกับเกลือ พริกไทย และกระเทียมสับ จากนั้นจึงเอาหม้อตั้งไฟใส่น้ำมันลงไปเล็กน้อย ใส่กระเทียมสับและหอมหัวใหญ่ซอยลงไปผัดจนสุกใส จึงใส่เนื้อไก่และใบกระวานลงไปผัดพอให้ผิวไก่ตึง ใส่มะเขือเทศเข้มข้นหรือถ้าไม่มีก็ใช้ซอสมะเขือเทศแทน เติมน้ำสต็อกไก่ เมื่อเดือดปุดๆ จึงใส่มะเขือเทศ มันเทศหรือมันฝรั่ง แคร์รอต เห็ดช็อมปิญอง (Champignon) ที่เราเรียกว่า เห็ดกระดุม และถั่วลันเตา เคี่ยวไฟรุมๆ จนสุกดี ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย และน้ำตาลนิดหน่อย แต่ถ้าใช้ซอสมะเขือเทศแทนมะเขือเทศเข้มข้นกระป๋องแล้วก็ไม่ต้องเติมน้ำตาล เพราะในซอสมะเขือเทศปรุงรสมาแล้ว เราสามารถใช้เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อนกกระจอกเทศมาทำรากูได้ด้วยวิธีเดียวกัน เพียงแต่ระยะเวลาในการเคี่ยวเนื้อก็จะต่างกันตามความเหนียวของเนื้อแต่ละชนิด

รากูร้อนๆ เสิร์ฟพร้อมขนมปังฝรั่งเศสอบพอร้อนให้กรอบนอกนุ่มใน ฉีกจิ้มกินกับน้ำซอสรากู เป็นเมนคอร์สที่แสนวิเศษ และจะสมบูรณ์แบบกว่านี้หากมีไวน์สักแก้ว Bon appétit ! เอ๊ะ…นี่ฉันอยู่ประเทศกัมพูชาหรือฝรั่งเศสกันแน่?



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)






 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 7:59:10 น.
Counter : 1032 Pageviews.  

"หมี่อะยัม" บะหมี่หน้าไก่อินโด






เผยแพร่ วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

เรื่องและภาพโดย : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

หมี่อะยัม (Mie Ayam) หรือ บะหมี่อะยัม (Bakmi Ayam) คือ บะหมี่หน้าไก่ ที่เป็นที่นิยมในอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะใส่เนื้อไก่แล้ว ยังมักจะใส่เห็ดลงไปด้วย เห็ดที่นิยมคือ เห็ดฟาง แต่เห็ดอีกชนิดที่ทำแล้วอร่อยคือ เห็ดนางรมหลวง (ออรินจิ) หากใส่ไก่และเห็ดจะเรียกชื่อเต็มๆ ว่า “หมี่อะยัมจามูร์” (Mie Ayam Jamur) ถ้าใส่เกี๊ยวด้วยจะเรียกว่า “หมี่อะยัม ปังสิต”(Mie Ayam Pangsit) ไส้เกี๊ยวจะเป็นเนื้อไก่สับแทนหมูสับ ถ้าใส่ลูกชิ้นเนื้อวัวลงไปด้วยจะเรียกว่า “หมี่อะยัม บักโซ” (Mie Ayam Bakso)

บะหมี่รสขาติแบบนี้เราคุ้นเคยกันดีเพียงแต่เปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นฮาลาล ส่วนผสมอื่นๆ ดูแล้วก็เป็นจีนชัดๆ ที่ดูจะเป็นพื้นเมืองหน่อยก็ตรงน้ำพริกซัมบัลที่เอาไว้เติมความเผ็ด ด้วยความที่อาหารจีน-อินโดนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนได้ง่าย ไม่ว่าประเทศไหนก็คุ้นเคยกับอาหารจีนอยู่แล้ว เพราะประชากรชาวจีนและไชน่าทาวน์มีอยู่ทั่วโลก ดังนั้นหมี่อะยัมจึงเป็นอาหารเส้นยอดนิยมที่ใครๆ ก็ชอบ

อธิบายวิธีทำเฉพาะส่วนที่แตกต่างจากบะหมี่ปกติ ส่วนแรกคือ น้ำซุปจะต้มจากโครงไก่ เมื่อต้มได้ที่แล้วจะใส่ต้นหอมซอยและกระเทียมผัดน้ำมันลงไปซึ่งทำให้น้ำซุปมีความหอมมากขึ้น เวลาเสิร์ฟน้ำซุปจะโรยด้วยต้นหอมซอยแบบสดอีกหน่อย

อีกส่วนคือ หน้าไก่และเห็ดผัดซีอิ้ว ให้ผัดทีละอย่าง เนื้อไก่นั้นจะหั่นเป็นชิ้นเล็กหรือจะสับหยาบๆ ก็ได้ โดยผัดกับกระเทียมสับ ขิงสับ และต้นหอมซอย ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว ซีอิ้วหวาน น้ำมันหอย น้ำมันงา และพริกไทย เห็ดผัดก็ทำเช่นเดียวกัน ส่วนอื่นๆ ก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทำแบบเดียวกับบะหมี่แห้งทั่วไป ผักที่เข้ากันดีกับบะหมี่คือ ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า และผักกาดหอม 

เมื่อเครื่องพร้อมแล้วก็จัดใส่ชามใส่เส้นใส่ผัก ตักหน้าไก่และเห็ดราด โรยกระเทียมเจียวหรือหอมเจียว ต้นหอม ใส่เกี๊ยวกรอบลงไปด้วยจะเพิ่มอรรถรสในการกินได้อย่างไม่น่าเชื่อค่ะ เสิร์ฟพร้อมกับถ้วยน้ำซุปไก่

หมี่ชามนี้แทบจะไม่ต้องปรุงรสอะไรเพราะเครื่องที่ผัดมามีรสชาติอยู่แล้วแต่ใครอยากจะเติมเค็มเติมเผ็ดก็ใส่ซีอิ้วหรือน้ำปลาและพริกที่เรียกว่า ซัมบัล โอเล็ก (Sambal Oelek) ที่มีส่วนผสมของพริกแดง กระเทียม น้ำส้มสายชู และเกลือ หรือซัมบัล บะโซ (Sambal Bakso) ซึ่งเป็นพริกน้ำส้มสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยวของเขา คล้ายๆ กับพริกตำน้ำส้มบ้านเราเพียงแต่เขาจะเอาพริกแดงสดไปต้มให้เปื่อยก่อนที่จะมาตำ ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น แต่ฉันว่าใช้พริกตำน้ำส้มใส่ก๋วยเตี๋ยวหรือซอสพริกศรีราชาก็เข้ากันที่สุดและไม่ผิดเพี้ยนเพราะชาวอิเหนาเขาก็ใช้ทดแทนเช่นกัน



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)






 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 7:58:26 น.
Counter : 772 Pageviews.  

“อ่อมไก่” อาหารมิตรภาพไทย-ลาว






เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
เรื่องและภาพโดย : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

อ่อม เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวอีสาน และชาวลาว อาหารอีสานและลาวนั้นแทบจะแยกกันไม่ออก เรากินเหมือนๆ กันหลายอย่าง เพราะเราอยู่ใกล้กัน และเหนืออื่นใดเราอยู่ในวัฒนธรรมไทย-ลาวร่วมกัน เรามีรากของภาษาเดียวกัน

คำว่า “อ่อม” นั้นหมายถึงแกงที่มีเนื้อและผักหลายชนิดประกอบกัน ในประเทศไทยอ่อมของแต่ละภาคก็ต่างกัน อ่อมภาคเหนือเน้นเนื้อสัตว์และการเคี่ยวเนื้อสัตว์ให้เปื่อย อ่อมภาคอีสานคืออ่อมที่เหมือนกับอ่อมลาวที่เน้นผักหลายๆ ชนิด ใส่เนื้อสัตว์เพียงเล็กน้อย ส่วนอ่อมภาคกลางนั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย ดังที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำจำกัดความของ “อ่อม” ว่า อ่อม น. ชื่อแกงชนิดหนึ่ง คล้ายแกงคั่ว แต่ใส่มะระ มักใช้แกงกับ ปลาดุก เรียกว่า แกงอ่อมมะระ หรือ แกงอ่อมมะระปลาดุก

เพียสิง จะเลินสิน พ่อครัวชาวลาวที่เคยอยู่ในครัวของวังหลวง ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “อ่อม” ไว้ในตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง ของ เพียสิง จะเลินสิน ว่า “อ่อม” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ฮุม” แกงอ่อม จึงหมายถึงแกงที่ได้จากการตั้งไฟอ่อนๆ

ในที่นี้เราจะขอกล่าวถึงอ่อมอีสานหรืออ่อมลาวซึ่งจะอ่อมด้วยไก่ หมู วัว ควาย ปลา ปูนา หอย กบ เขียด ลูกฮวก (ลูกอ๊อด) แย้ ไข่มดแดง เครื่องในสัตว์ หรือเนื้อสัตว์อย่างอื่นๆ ก็ได้ตามแต่จะหามาได้ อ่อมที่นิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นอ่อมไก่ ถ้าเป็นของแท้ก็ต้องเป็นไก่บ้าน สับเป็นชิ้นเล็กๆ ทั้งกระดูก ถ้ามีแต่เนื้อล้วนมันบ่แซบ ผักที่ใส่ในอ่อมหลักๆ ก็คือผักใบหอม เช่น ต้นหอม ผักชีลาว ใบแมงลัก ชะอม ใบชะพลู (ผักอีเลิด) ผักคะแยง เป็นต้น ผักสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเหล่านี้นั้นมักจะเลือกใช้ตามชนิดของเนื้อสัตว์ เช่น ใบชะพลู มักจะใส่ในอ่อมเนื้อวัว ควาย ผักคะแยง มักใส่กับอ่อมกบ เขียด แย้ ปลา ส่วนผักชีลาว ชะอม และใบแมงลัก ที่ลาวเรียกว่าผักอีตู่นั้นเป็นผักที่ใส่ได้กับอ่อมทั่วๆ ไป ส่วนต้นหอมนั้นก็เป็นผักยืนพื้นที่ขาดไม่ได้ในแกงอ่อมทุกชนิด

ผักอื่นๆ ที่เสริมเข้าไป ได้แก่ มะเขือเปราะ มะเขือพวง ถั่วฝักยาว ยอดฟักแม้ว ยอดตำลึง ยอดมะระ ผักหวาน ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี แตง ฟัก ฟักทอง บวบ เห็ด ดอกฟักทอง ดอกแค สารพัดผักล้วนแต่เอามาใส่ในแกงอ่อมได้แทบทั้งนั้น หาอะไรได้ก็เอามาใส่สัก3-4 อย่างก็มากพอแล้ว พริกแกงอ่อมก็ทำง่ายๆ เพียงแค่โขลกพริกสด หัวหอม ตะไคร้หั่นฝอย โขลกหยาบๆ ก็พอ เอาน้ำพริกนี้ละลายน้ำใส่หม้อต้มให้เดือด ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลาร้า ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญที่ทำให้อ่อมนัว บางคนก็จะใส่น้ำปลาด้วยก็ไม่ว่ากัน แล้วใส่เนื้อสัตว์ และผักตามลงไป อย่างไหนสุกยากก็ใส่ลงไปก่อน อ่อมจะมีน้ำแกงไม่มากเท่ากับแกง บางบ้านชอบให้น้ำข้นนิดๆ ก็ใส่ข้าวเบือลงไปด้วย ข้าวเบือคือข้าวสารเหนียวแช่น้ำแล้วนำมาตำให้แหลก ใส่ลงไปพร้อมๆ กับเครื่องพริก หรือจะใส่ข้าวคั่วก็หอมดี แต่ข้าวคั่วนี้จะใส่ในขั้นตอนสุดท้าย

เพียงเท่านี้ ก็ได้อ่อมร้อนๆ ไว้กินกับข้าวเหนียว เป็นตาแซบเด้อ



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)






 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 7:57:54 น.
Counter : 824 Pageviews.  

"บุ๊นหม็อก" ขนมจีนลูกชิ้นหมูเมืองเหนือ






เรื่องและภาพโดย : นันทนา ปรมานุศิษฏ์

“บุ๊นหม็อก” (Bún Mộc) เป็นอาหารเส้นทางภาคเหนือของเวียดนาม เป็นขนมจีนที่มีน้ำซุปเหมือนก๋วยเตี๋ยวคือเป็นน้ำซุปซี่โครงหมู หรือจะใช้กระดูกหมูส่วนอื่นด้วยก็ได้ขอให้มีเนื้อติดกระดูกด้วย เช่นกระดูกคอหมู โดยนำกระดูกหมูไปลวกน้ำทิ้งครั้งหนึ่งเพื่อกำจัดกลิ่นคาว ไขมัน เลือด และสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ จากนั้นจึงนำกระดูกหมูลงต้มพร้อมกับหอมหัวใหญ่ เห็ดหอม (ในเวียดนามจะใช้ผงปรุงรสเห็ดที่ทำจากเห็ดขายเป็นกระปุก) ปรุงรสด้วยน้ำตาลกรวด เกลือ และพริกไทยเม็ดให้มีรสอ่อนๆ เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อให้กระดูกหมูเปื่อยและน้ำซุปหวานได้ที่

ระหว่างนี้ก็มาเตรียมลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นแบบนี้เองที่คนเวียดนามเรียกว่า “หม็อก” (Mộc) ถ้าเป็นที่เวียดนามเขาจะมีขายแบบบดสำเร็จมาเลยเรียกว่า “หย่อซ้อม” (Giò sống) แต่เราบดเองได้โดยใช้เครื่องบดสับอาหาร ใส่เนื้อหมูผสมกับมันหมูลงไปบดให้ละเอียดเนียนเหนียว ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา และพริกไทยปั่นอีกรอบให้เข้ากันดี หรือจะทุ่นเวลาด้วยการซื้อหมูเด้งมาแทนก็ได้ แล้วนำมาผสมเครื่องเพิ่ม ตักหมูบดใส่ชามโคมใบใหญ่ ใส่เห็ดหูหนูดำหั่นฝอยๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ต้นหอมซอยลงไปคลุกให้เข้ากันอีกทีแล้วแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำไปทอด อีกส่วนนำไปต้ม หากเราจะขี้โกงก็ใช้ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นกุ้งแทนก็เข้ากันดี แม้จะไม่เหมือนต้นตำรับก็ไม่เป็นไร ก็เราไม่ได้ไปอวดให้คนเวียดนามเห็นนี่ แต่ถ้าขยันหน่อยลองทำ “หม็อก” เองก็จะได้รสชาติเวียดนามแท้ๆ

ตั้งกระทะใส่น้ำมัน พอร้อนก็ปั้นลูกชิ้นหมูลงไปทอดให้สุกผิวเป็นสีทอง อีกส่วนก็ปั้นแล้วต้มในหม้อกระดูกหมู เมื่อลูกชิ้นลอยก็แปลว่าสุกแล้วให้ตักออกมาพักไว้ เอาหมูยอมาหั่นเป็นชิ้น หมูยอของฮานอยนั้นมีชื่อเสียง เรียกว่า จ๋าหลั่ว (Chả lụa) เป็นภาษาเหนือ หรือ หย่อหลั่ว (Giò lụa) ในภาษาใต้

เมื่อได้เครื่องครบก็มาจัดใส่ชาม นำเส้นขนมจีนมาใส่ลงไป วางเรียงหมูยอ และลูกชิ้นหมูลงไป ตักน้ำซุปร้อนๆ ราดพร้อมกระดูกหมูที่ติดเนื้อ ใส่ต้นหอม ผักชี พริกไทย เสิร์ฟพร้อมผักสมุนไพรสด เช่น ก้านผักบุ้งซอย ถั่วงอก ผักแพว ในเวียดนามจะมีสมุนไพรหลากหลายชนิด เช่น กินเย้อ (Kinh giới) ที่มีกลิ่นคล้ายใบแมงลัก และเตียะโต (Tía tô) คล้ายใบชิโสะ ที่เข้ากันดีมาก แต่ในไทยไม่มีก็ใส่อย่างอื่นแทน เช่น ใบแมงลัก ผักชีฝรั่ง และสะระแหน่ บีบมะนาวสักชิ้น ใส่พริกสดหรือพริกตำสักหน่อยให้มีรสเผ็ดนิดๆ โรยหอมเจียว ปรุงรสด้วยกะปิสักหน่อย กะปิของเวียดนามจะเป็นกะปิน้ำ ถ้าใช้กะปิไทยก็ให้ผสมน้ำอุ่นลงไปสักหน่อยแล้วคนให้ละลาย ใครไม่ชอบกะปิก็ใส่น้ำปลาแทน

บุ๊นหม็อกนี้เป็นอาหารเส้นที่ฉันชอบมาก กินได้บ่อยๆ ไม่มีเบื่อ ทำก็ไม่ยากเลย วัตถุดิบก็หาได้ง่ายในบ้านเรา ลองทำดูนะคะ แล้วจะติดใจค่ะ



รวมรสโอชาครัวอาเซียน ผลงานเขียนนันทนา ปรมานุศิษฏ์ ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี 

"ฉันทำอาหารเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งได้ทำก็ยิ่งอยากจะค้นหาความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจานซึ่งมักจะมีเรื่องราวชวนให้เราตื่นเต้นเสมอ เช่นเมื่อได้เจอกับของแปลกใหม่ หรือแม้แต่เป็นสิ่งเดิมๆ แต่พบในที่ซึ่งคาดไม่ถึง ยิ่งศึกษามากเท่าใดก็ยิ่งรู้ว่าฉันไม่รู้มากขึ้นทุกที เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งอยากรู้ การผจญภัยไปในโลกของอาหาร...คือการผจญภัยในโลกกว้าง เมื่อคุณเปิดใจมากเท่าใดคุณก็จะได้สัมผัสกับโลกมากเท่านั้น" - (จากบทนำผู้เขียน โอชาอาเซียน)






 

Create Date : 11 มิถุนายน 2560    
Last Update : 12 มิถุนายน 2560 7:57:20 น.
Counter : 669 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

at heart
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ฉันเริ่มเขียนบล็อกที่นี่โดยเขียนเรื่องอาหารเกาหลีที่ใกล้ตัวก่อน โดยใช้ชื่อว่านันทนาอาจุมมา มีแฟนๆ ติดตามพอให้ชื่นใจ หลายปีมานี้ฉันหายไปจากบล็อกนี้ที่เริ่มด้วยอาหารเกาหลี เพราะต่อมาก็เขียนไปเรื่อยๆ จากอาหารเกาหลีสู่อาหารอาเซียน และสารพัดอาหาร มีผลงานหนังสือพอประมาณ ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นเรื่องกิน พอเป็นเรื่องอื่นๆ ก็เลยไปเขียนที่อื่น บัดนี้เมื่อเริ่มมีงานมากขึ้นก็เลยคิดว่ากลับมาอยู่ที่นี่ดีกว่า จะได้จัดเก็บเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นหลักแหล่ง การกลับมาของนันทนาในครั้งนี้จึงมีเรื่องราวที่หลากหลายขึ้นมิใช่แค่เรื่องอาหารเกาหลีเพียงอย่างเดียว

เรื่องวัฒนธรรมอาหารเป็นความสนใจส่วนตัว บล็อกนี้ก็ทำด้วยความรักและอยากที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กัน ส่วนอาชีพหลักนั้นคือนักสื่อสารมวลชนที่พยายามหนีความวุ่นวายในชีวิตด้วยการรับงานเขียนเป็นหลักทั้งบทความ บทสารคดี และเรื่องราวต่างๆ ที่มักจะต้องการการค้นคว้าข้อมูล ด้วยความสนใจในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สนใจมันเสียทุกเรื่อง

ฉันหวังว่าเราจะได้เดินทางไปด้วยกันอีกครั้งด้วยมิตรภาพที่อบอุ่นเช่นเคยนะคะ

https://www.facebook.com/gastronomylife

ประกาศ สำหรับเรื่องอาหารเกาหลีขณะนี้ถูก Photobucket เรียกค่าไถ่ที่ไปฝากรูปไว้ราคามหาโหด ฉันจึงมิอาจไปไถ่รูปตัวเองออกมาได้ ตอนนี้รูปที่ลงไว้เลยหายไปหมด ยังไม่มีทางออกค่ะ เพราะว่าเรื่องมันนานมาแล้ว เสียดายมากเพราะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมายโดยเฉพาะในยุคที่ไม่มีใครรู้จักอาหารเกาหลีเลย
Friends' blogs
[Add at heart's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.