ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

๓๗๕ - ปลายทางแห่งความรู้




เคยได้ยินมาว่าความรู้ทางโลกที่แท้จริงนั้น คือความรู้ที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่ความรู้ที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพื่อตนเองและพรรคพวกเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ในทางธรรมข้าพเจ้าจะถนัดการอธิบายในเชิงนี้มากกว่าทางโลก เพราะธรรมะเป็นสิ่งตรงไปตรงมา มีเหตุมีผลสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกัน แต่ทางโลกนั้นเต็มไปด้วยผลประโยชน์ที่ทับซ้อนและยังสลับซับซ้อนอย่างหาทางจบสิ้นไม่ได้ ยิ่งพูดก็ยิ่งเหนื่อยเหมือนกับมันไม่มีหนทางสิ้นสุด

ปลายทางแห่งความรู้(วิชชา)นั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าแท้จริงแล้วก็เป็นความว่างชนิดหนึ่ง ว่างในที่นี้คือความว่างจากจิตที่จะเข้าไปยึดเหนี่ยวอารมณ์ใด ๆ ไว้ เป็นทางปล่อยวางการปรุงแต่งจิต ขึ้นชื่อว่าการปรุงแต่งนั้น ตราบใดที่เรายังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็ย่อมมีการปรุงแต่งตราบนั้น แต่สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว ถึงจะการปรุงแต่งแบบเดียวกันกับคนทั่วไป แต่ท่านไม่ได้ยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นตัวตนบุคคลแล้ว เมื่อไม่ยึดก็ไม่มีภพให้เกาะเกี่ยว สายปฏิจจสมุปบาทก็ขาดสะบั้น ไม่มีการสืบเนื่องทางการเกิดอีกต่อไป นิพพานจึงเป็นสภาวะ ๆ หนึ่งที่รองรับจิตของพระอรหันต์ ใครถามว่าพระอรหันต์ตายแล้วเกิดหรือไม่ ก็ตอบว่าจะเกิดก็ไม่ใช่ จะว่าไม่เกิดก็ไม่ใช่ ใครได้ฟังแล้วก็รู้สึกงุนงงกับคำตอบนี้พอสมควร คำว่า “จะเกิดก็ไม่ใช่” คือไม่ได้เกิดหรือถือกำเนิดในสังสารวัฏอีก ส่วน “จะว่าไม่เกิดก็ไม่ใช่” คือกล่าวว่านิพพานไม่ใช่สูญ เป็นจิตที่อิสระพ้นจากการครอบงำใด ๆ ตลอดกาล ถ้าภาษาโลกคือนิพพานเป็นสภาวะสุขล้วน ๆ อันนี้พูดให้ชาวโลกเขาพอเข้าใจ แต่นิพพานที่เป็นจริงนั้น ไม่มีสมมติบัญญัติใด ๆ มาเกี่ยวข้อง สุขหรือทุกข์ไม่มีในนั้น เป็นเพียงสภาวะว่าง

การอธิบายเรื่องเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือ นิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะเป็นเรื่องเหนือวิสัย เป็นเรื่องเหนือโลก จะมีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้นที่จะอธิบายได้ แต่ก็จะอธิบายได้เพียงขีดจำกัดของภาษาที่มนุษย์จะพอเข้าใจได้
เรื่องเหล่านี้จึงล้วนเป็น ปัจจัตตัง คือ เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตน เช่น เราได้มีโอกาสรับประทานอาหารเลิศรส เราก็จะสามารถรับรู้รสของอาหารได้เพียงคนเดียว หากมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งตลอดชีวิตเคยกินแต่หัวเผือกหัวมัน เราจะสามารถอธิบายรสชาดของอาหารที่เรากินให้เขาเข้าใจได้ยากง่ายประการใด ความยากง่ายของการอธิบายธรรมะของพระพุทธเจ้าก็อุปมาได้อย่างนั้น

ในทางเดียวกันหากเพื่อนคนหนึ่งเคยกินอาหารหลากหลายมาบ้าง เราก็ยังสามารถอธิบายเทียบเคียงรสอาหารที่เรากินได้ และเชื่อว่าเพื่อนเราก็จะสามารถรับรู้ได้ไม่ยาก ก็คล้าย ๆ กับเราเกิดในเมืองพุทธศาสนา เราก็อธิบายหลักการเรื่องทำบุญ ทำทาน และกรรมของสัตว์ทั้งหลาย หากคุยกันในหมู่ชาวพุทธด้วยกันก็พอเข้าใจกันได้ไม่ยาก แต่หากนำไปพูดให้ชาวป่าชาวเขา หรือคนอีกซีกโลกหนึ่งซึ่งไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวพุทธศาสนามาก่อนก็คงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้เข้าใจ

การศึกษาพุทธศาสนาจึงเป็นการศึกษามีจุดหมายปลายทาง และสามารถพิสูจน์ได้ในชาติปัจจุบัน แล้วไม่ต้องรอให้ตายก่อนจึงค่อยบอกว่านิพพานมีจริง จะว่าไปแล้วก็เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งพุทธศาสนาซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ ที่บางศาสนาต้องรอให้ตัวเองตายก่อน แล้วจะได้เข้าไปอยู่กับสิ่งที่เรานับถือ ในตอนต้นของคำสอนของเขาฟังดูดี แต่ปลายทางยังเลื่อนลอยห่างไกลนัก แต่จุดหมายของพุทธศาสนาคือสภาวะนิพพานนั้น ก็ไม่ใช่คนจะปฏิบัติได้ง่าย ๆ ต้องฝึกอบรมตนเองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และต้องฝืนต่อสู้กับความอยากที่เรียกว่า ตัณหา นานาประการทั้งภายในและภายนอก สิ่งนี้เรียกว่าการฝึกฝนด้วยตนเอง และตนเองนี่เองก็พาตนเองไปสู่เป้าหมาย ดังพุทธพจน์ที่ว่า

"อกฺขาตาโร ตถาคตา"แปลว่า "ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก"


คนหลายจำพวกพอบอกว่าต้องอดทนปฏิบัติอย่างนี้ ๆ เป็นเวลาเท่านี้ ๆ แล้วจะได้อย่างนี้ ก็รู้สึกท้อใจและยากที่จะทำได้ ก็เลยไม่ค่อยสนใจปฏิบัติธรรม ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับกิเลสทุก ๆ วัน มีตัวอย่างจะเล่าให้ฟัง (ออกนอกเรื่องนิดหน่อย)
ข้าพเจ้าเคยบอกกับเพื่อน ๆ ที่ชอบเล่นหวยหลายครั้งว่า “ถ้าอยากถูกหวยนะต้องทำบุญก่อน เราต้องก่อเหตุก่อน ผลจะตามมา ถ้าเราทำบุญบ่อย ๆ ชาตินี้ อีกไม่เกิน ๗ ชาติต้องถูกหวยแน่ ๆ” พอทุกคนได้ยินว่าต้องรออีก ๗ ชาติก็เริ่มไม่เห็นด้วยคิดว่าข้าพเจ้าพูดตลกไป


ก็ปลูกมะม่วงยังต้องรอ ๕ – ๗ ปีถึงจะออกดอกผล การทำบุญก็ไม่ต่างกัน เพราะคนเราไม่เข้าใจในจุดนี้ เลยทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และไม่อยากรอ เพราะอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาครอบครองโดยไว หรือให้ทันใจที่สุด ซึ่งสิ่งนี้มันขัดกับหลักการและเหตุทางธรรมชาติ ยิ่งเราฝืนก็มีแต่ยิ่งแต่ทำร้ายตัวเอง เช่น อยากรวยมาก ๆ เหมือนคนอื่น หาทางทำมาหากินทั่วไปได้เงินน้อย รวยช้า จึงหันไปเล่นการพนัน แล้วก็พาตัวเองตกต่ำในที่สุด เป็นต้น

เป็นอันว่าจุดหมายปลายทางแห่งความรู้(วิชชา) นี้ก็คือสภาวะที่เราไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก และต้องอาศัยความอดทน บ่มอบรมจิตใจอย่างหนักมากมายหลายชาติ ใครกำลังใจอ่อนก็นานหน่อย (อาจจะหลายอสงไขย) แต่ใครกำลังใจเข้มแข็ง ฝึกฝนตนเองจนมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา กล้าแข็งสมบูรณ์ปลายทางของสังสารวัฏนี้ก็อาจจะสิ้นสุดลงในชาตินี้ ก็เป็นไปได้...

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //www.beulahchurchonline.orgมากมาย ครับ

สารบัญ




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2555 22:47:43 น.
Counter : 673 Pageviews.  

๓๗๔ - พายุแห่งความโศก




ชายชราผู้หนึ่งนั่งเหม่อมองอยู่ริมลำธารเล็ก ๆ ซึ่งไหลลงทางทิศใต้ ผ่านป่าเขาและหมู่บ้านของเขาเอง ในขณะที่พระอาทิตย์กำลังคล้อยต่ำลงซึ่งอีกไม่นานมันก็ต้องลับลาขุนเขาและความมืดจะค่อย ๆ มาเยือน เขาหันหน้ามองดูก้อนเมฆบนท้องฟ้าที่กำลังตั้งเค้า เป็นสัญญาณแห่งการมาเยือนของพายุใหญ่ บรรยากาศในช่วงเวลานี้ชวนให้เขารู้สึกหดหู่ใจได้ไม่น้อย ในขณะนั้นเขาก็เกิดความคิดว่า

' ระหว่างขุนเขากับเมฆดำทมึน สิ่งใดหนอจะบดบังแสงอาทิตย์ได้ก่อนกัน...? '

ชายชราครุ่นคิดและลุ้นติดตามดูเป็นเวลานาน ไม่ช้าความมืดมิดก็มาเยือน พร้อมกับสายฝนที่โปรยปราย ลงมา พระอาทิตย์ลับหายไปหลังเมฆดำทมึน แต่ทว่าชายชรากับไม่มีเวลามากพอที่จะเดินทางกลับถึงบ้าน ทั้งแสงสว่างก็ไม่มี อีกทั้งตัวก็ยังเปียกเพราะสายฝน


การใช้ชีวิตของคนเราทุกวันนี้ ไม่ต่างอะไรกันนักกับความคิดของชายชรา เราใช้เวลามากมายในชีวิต หาคำตอบในบางสิ่ง ซึ่งบางสิ่งนั้นมีค่าน้อยหรือแทบจะไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ เลย แต่เราก็ชอบที่จะเสาะแสวงหามัน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่เรารู้สึกตัวว่าเริ่มสายไปแล้ว ในตอนนั้นเรารู้สึกว่าเวลานั้นมีค่าเพียงใด และพยายามใช้เวลาที่เหลือน้อยนั้นให้เกิดประโยชน์ แต่ก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว

เช่นเดียวกัน ความโศกและความพลัดพราก ก็ไม่ต่างกัน ความโศกเปรียบได้กับพายุฝน ความพลัดพรากก็เปรียบได้กับดวงอาทิตย์ที่ต้องลับลาหุบเขา หากเรามัวแต่นั่งเหม่อมองดูว่าสิ่งเหล่านี้ สิ่งใดหนอจะมาก่อนกัน หรือเมื่อถึงเวลานั้นสิ่งใดจะทุกข์ทรมาณก่อนกัน หรือมัวแต่มองวิ่งตามความโศกและความพลัดพรากเหล่านั้น เพื่อไม่ให้สิ่งนี้ ๆ เกิดขึ้นมากับตัวซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะหนีมันพ้น

พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราหลีกหนีจากความโศกเศร้าหรือหนีจากความทุกข์ใด ๆ หากแต่สอนให้เรายอมรับ และเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนั้น และหาทางแก้ไขอย่างถูกวิธี

ย้อนเวลากลับไปหาชายชราที่นั่งอยู่ริมธารคนเดิม หากเขามองเห็นธรรมชาติว่าพระอาทิตย์ต้องอัสดงแน่ ๆ (คนเราต้องตายแน่ ๆ ) และมองเห็นว่าพายุต้องมาแน่ ๆ (ความโศกเศร้า อาลัยจากคนรักต้องมีแน่ ๆ) เขาจะไม่เสียเวลาจ้องมองคิดใคร่ครวญสิ่งนั้นอีก แต่จะหาวิธีทางเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากความมืดและสายฝน ซึ่งในที่นี้เปรียบได้ดังกับความทุกข์ซึ่งต้องมาเยือนแน่ ๆ

การใช้ชีวิตของเราจึงอยู่ที่มุมมอง ความเห็น และสติ ปัญญาของแต่ละคนที่จะเชื่อมโยงหาเหตุหาผล ใครสามารถค้นหาคำตอบของชีวิตได้ก่อน ก็รับประกันได้ส่วนหนึ่งว่าจะพ้นทุกข์ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับความวิริยะ พากเพียรในการจะเดินไปถึงจุดหมายของแต่ละคนด้วย เช่น ชายชราคนนั้นหากเขารู้แล้วว่าความมืดกำลังมาเยือน และฝนกำลังจะตก หากเขาไม่รีบกลับบ้าน หรือมัวโอ้เอ้แวะชมนกชมไม้ระหว่างทาง สุดท้ายความทุกข์ใหญ่แห่งสังสารวัฏก็มาเยือน จึงต้องมีวิริยะ และต้องมีสติ สมาธิ ประกอบด้วยจึงจะสามารถหลบฝนได้ทันและก่อนมืด

นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ง่าย ๆ ที่เราจะสามารถนำไปคิดประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้เราหลงจมอยู่กับความคิดหรือการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนาน ๆ จนกระทั่งลืมทำสิ่งที่มีค่า มีความหมายที่สุดของชีวิตไป


ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //seedmagazine.comมากมาย ครับ

สารบัญ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2555 0:01:18 น.
Counter : 890 Pageviews.  

๓๗๓ - แรงบันดาลใจ




“รถยนต์เคลื่อนที่ได้ต้องใช้น้ำมันและการเผาไหม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ก็ขับเคลื่อนได้ด้วยแรงบันดาลใจฉันนั้น”




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2555 22:09:23 น.
Counter : 608 Pageviews.  

๓๗๒ - การกระทำ ความดีและความโลภ





“เรามีกรรม เป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น”


ทุกชีวิตล้วนตกอยู่ในวงเวียนแห่งกรรม กรรมหมายถึงการกระทำ ไม่ว่าจะดีหรือชั่วหากเรากระทำสิ่งใดไปแล้ว เราย่อมได้รับผลแห่งการกระทำนั้น ๆ ดั่งเช่นคำสอนที่เราได้ยินกันอยู่โดยบ่อยครั้งคือ “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งหากจะพูดกันโดยละเอียดแล้วต้องแก้ให้รู้ใหม่ว่า

“ทำความดีได้ความดี ทำความชั่วก็ได้ความชั่ว”

เพราะได้ดีในภาษาโลก เขาหมายรวมเอาว่าได้รับผลตอบรับที่ดี คือ โลกธรรมทั้งแปดฝ่ายดี สุข ลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไร หากได้ผลประโยชน์มาข้างต้นก็เรียกว่าได้ดี แต่ต่างจากคำว่า ความดี หมายถึงการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นกุศล ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม และไม่ทำให้จิตใจเราเกิดความเศร้าหมอง สิ่งนั้นเรียกว่าความดี ความดีนี้ก็ยังแบ่งได้อีกว่า การทำความดีเพื่อตัวเอง และการทำความดีเพื่อผู้อื่น สองสิ่งนี้ดูเหมือนว่าแยกกันแต่ความจริงแล้วการทำความดีบางอย่างทำครั้งเดียวก็ได้ทั้งตนเองด้วยผู้อื่นด้วย เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นในทางสาธารณะ หรือ งานอาสาต่าง ๆ ผู้อื่นย่อมได้ประโยชน์ ตัวเราเองก็ได้ประโยชน์ในแง่บุญกุศล เป็นความอิ่มเอิบใจ เป็นสุขใจเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี เป็นต้น

ทุกวันนี้เราอาจจะต้องกลับมาเรียนรู้พื้นฐานของความดีกันใหม่ เพราะหากสังคมใดสังคมหนึ่งขาดคุณธรรมความดีแล้ว สังคมนั้นก็ย่อมเกิดแต่ปัญหาสารพัด และเป็นปัญหาที่ไม่มีวันแก้ไขได้จบ เพราะคนขาดคุณธรรมสังคมจึงได้วุ่นวายสับสน มันสับสนเพราะอะไรก็เพราะปัญหาที่เกิดมาจากความโลภเป็นหลัก ซึ่งใครจะเรียกมันการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตามที แต่ที่แท้มันก็คือการกระตุ้นความโลภ กิเลส ตัณหาที่อยู่ภายในจิตใจของเราให้เบ่งบานขึ้น นี่เองเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่ง

เราสร้างสรรค์ เครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย แต่เราไม่ค่อยคำนึงถึงว่าสิ่งนั้นมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร ขอให้ผลิตภัณฑ์ออกมา ใช้หลักการโฆษณา การตลาด ถูกตาต้องใจผู้ใช้ จนเกิดเป็นกระแสบริโภคนิยม ทุกวันนี้เราจึงเห็นป้ายโฆษณาเยอะแยะ ลกตาเต็มไปหมด

หลังจากมีกระแสการใช้จ่าย เราก็ต้องสรรหาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งของต่าง ๆ ยิ่งคนมีความโลภมากก็ยิ่งอยากได้มาก ยิ่งทำงานมาก สุดท้ายเพื่อให้ได้ซึ่งเงินมา ก็ต้องทำทุกอย่างแม้แต่ธุรกิจที่ผิดศีลธรรม(เช่น การติดสินบนต่างๆ นา ๆ) หรือสิ่งที่เป็นอบายมุข เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาเข้าใจว่า “ได้ดี” และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็วนกลับเข้าโลกธรรม ๘ อีก

การยึดติดกับโลกธรรม ๘ จึงเป็นสิ่งทำให้เราขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจอย่างรุนแรง และเป็นที่มาของปัญหาต่าง ๆ มากมาย

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //www.vcharkarn.comมากมาย ครับ
สารบัญ




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2555 19:58:56 น.
Counter : 937 Pageviews.  

๓๗๑ - ในอดีต





บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังธรรมะอยู่บ่อย ๆ ความซึมซาบนั้นย่อมเกิดมีได้อย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะแสลงกับเรื่องราวของธรรมะ แต่เชื่อว่าทุกคนก็ย่อมทราบกันดีว่าธรรมะนั้นเป็นสิ่งประเสริฐจริง ๆ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนในชาตินี้ว่าจะพร้อมรับได้มากน้อยแค่ไหน หากเชื่อตามหลักพุทธศาสนาแล้วก็ขึ้นอยู่กับกรรมบรรดาลผล กรรมในที่นี้คือกรรมที่เรากระทำในปัจจุบันนี้เอง ตัวเรามีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงกรรมของเราได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการมองและการวางความเห็นให้ถูก คือแค่เปลี่ยนความคิดชีวิตเราก็เปลี่ยนแล้ว

คนรอบข้างมักจะมองเราไปในทางธรรมะมากกว่าทางโลก บางคนถึงกับแหย่ว่าทำไมไม่ไปบวชเสียเลยก็มี ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่ทำหน้าเจื่อน ๆ แบ่งรับแบ่งสู้ต้องหาข้ออ้าง หรือไม่ก็เฉไปคุยเรื่องอื่นเสียดีกว่า คนโดยมากที่พบมักจะชอบถามเพื่อแหย่เล่น เพราะเห็นข้าพเจ้าไม่ค่อยสุงสิงกับใครหรือสนิทใจกับใคร หรือไปเที่ยว ดื่ม กิน ตามวัย ซึ่งความจริงก็อึดอัดใจเช่นกันเวลาพบคนเหล่านั้น เพราะเขาไม่ได้เห็นความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ไม่น้อมใจเข้าหาปฏิบัติธรรม ชีวิตและมุมมองจึงแตกต่างกัน ข้าพเจ้ามักจะกล่าวหลายต่อหลายหนว่า ในอดีตชีวิตของข้าพเจ้าก็ไม่ต่างกับคนเหล่านั้น เป็นชีวิตที่พยายามหนีห่างจากการเป็นพระภิกษุ เมื่อมีอายุครบบวชตามประเพณี ก็หาข้ออ้างไม่ยอมบวช (แต่ในที่สุดก็ต้องบวชตอนอายุ ๒๕บวชอยู่ประมาณ ๗ วัน) พอพูดถึงเรื่องนี้จำได้ว่า หลวงคำสุขท่านเคยถามข้าพเจ้าอยู่คราหนึ่งว่าเคยบวชหรือยัง ข้าพเจ้าตอบไปว่า

“ได้บวชแล้ว... แต่ไม่ได้อะไร” ข้าพเจ้าตอบ

“ทำไมจะไม่ได้อะไร...” หลวงปู่สวนกลับมาทันที

ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับงุนงง กลับมาคิดอีกหลายตลบ ซึ่งคิดไปคิดมาอยู่หลายปี ก็จริงอย่างที่หลวงปู่บอก การบวชครั้งนั้นแม้เพียง ๗ วันก็เป็นการเปลี่ยนมุมมองทางศาสนาของข้าพเจ้า แม้ว่าวัดที่บวชจะเป็นวัดบ้าน ๆ และตื่นเช้ามาต้องมาถูพื้นกุฏิซึ่งเต็มไปด้วยขี้หมา พอดีหลวงพี่วัดนั้นท่านรักหมามาก เลยบ่อยให้วิ่งเล่นบนกฏิ เช้ามาก็ต้องเช็ดถูทุกวัน (เวรกรรม) แต่หลังจากสึกออกมาก็พยายามอ่านหนังสือธรรมะมากขึ้น มีมุมมองของวัดและพระภิกษุที่เปลี่ยนแปลง และชีวิตก็ค่อย ๆ หันเหมาทางธรรมจนถึงปัจจุบัน

ถามว่าเป็นสุขไหม มันก็มีชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่ว ๆ ไป เพียงแต่จุดหมายปลายทางและเป้าหมายของชีวิตต่างกัน มีทุกข์ สุขปน ๆ กัน ยังตกอยู่บนดินแดนของโลกธรรม ทุกวันนี้ปรับตัวชีวิตทางโลกและทางธรรมได้ลงตัวมากขึ้น ไม่เหมือนตอนช่วง ๓- ๔ ปีที่ผ่านมาที่ชอบทำอะไรมุทะลุ ยอมทิ้งการงานและภาระหน้าที่เพื่อให้ได้สิ่งที่หวังในทางธรรม เช่น เมื่อ ๔ ปีก่อนตัวเองก็เคยเกิดความคิดว่าจะทิ้งเรือนไปอยู่ป่าเป็นอนาคาริก จะถือห่มผ้าขาว คิดว่าไม่ได้บวชพระอีกก็ไม่เป็นไร เราจะหนีออกจากบ้านซะเลย เป็นตาย ๗ วันได้รู้กัน คิดวนไปวนมาอยู่ ๓ วัน แต่ก็ตัดใจเสียเพราะครอบครัวต้องไม่เห็นด้วยและจะทุกข์ใจเสียมากกว่า หารู้ไม่ว่าข้าพเจ้าต้องทนอยู่อย่างฆราวาสนี้เป็นทุกข์กว่ามากมายหลายเท่า เพราะเพศฆราวาสนั้นเป็นไปด้วยฝุ่นละออง เต็มไปด้วยภาระมากมาย ไม่รู้จักจบสิ้น สังสารวัฏของเราก็จะยาวนานไปอีก และอีกไม่กี่เดือนถัดมาก็ต้องกลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพ ฯ เพื่อหาเงินใช้หนี้สิน ตอนนั้นจำได้ว่าน้ำตาข้าพเจ้าไหลออกมาเอง มันไม่ได้ร้องไห้ แต่มันซึมออกมา ช่วงนั้นคิดว่าคงไม่ได้บวชแล้วแน่ ก็ออกเดินทางเที่ยวเขาค้อก่อนกลับมาทำงานกรุงเทพ ฯ ขอสูดบรรยากาศที่บ้านให้เต็มที่ก่อน ในระหว่างกำลังไหว้พระบรมธาตุ ก็พอดีไปพบพระธุดงค์ ท่านเรียกไปสนทานาด้วย ข้าพเจ้าก็เปรยชีวิตบางส่วนเพื่อระบายความในใจบ้าง เพราะนาน ๆ จะมีโอกาสพบพระธุดงค์เสียที ท่านก็ถามอายุ การงาน แล้วข้าพเจ้าก็เปรยว่าอยากบวชเช่นท่านบ้าง ท่านก็ตอบว่า

“ยังก่อน ๆ ยังไม่ถึงเวลา...” ท่านพูดแค่นั้น

ย้อนกลับก่อนเข้ากรุงเทพ ฯ ก็แวะมาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่คำสุข(เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันท่านละสังขารไปแล้ว) ท่านก็ว่าข้าพเจ้ายังมีกรรมที่ต้องชดใช้อีก ท่านคงหมายถึงหนี้สิน ซึ่งข้าพเจ้าก็ยอมรับและเห็นด้วย แต่ในใจลึก ๆ คงมีอะไรมากกว่านั้นแน่ ๆ

มาถึงทุกวันนี้ข้าพเจ้าเติบโตมากขึ้น ธรรมะค่อย ๆ โอบอุ้มและช่วยสอนตัวเองอยู่เสมอในคราวที่มีความทุกข์และปัญหา ยอมรับความเป็นจริงของโลกและใช้ชีวิตอยู่กับมัน บางครั้งก็ถูกกิเลสเหยียบจนโงหัวไม่ขึ้น มารู้อีกทีได้แต่สมน้ำหน้าตัวเอง แต่ก็ยังดีที่เรารู้ว่ากิเลสคืออะไร มันครอบงำเราตอนไหน วันนี้มันอาจจะเป็นเจ้านายเรา แต่วันหน้าก็ไม่แน่ หากเราไม่ตายไปเสียก่อนนะ...

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //i1204.photobucket.comมากมาย ครับ

สารบัญ




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2555    
Last Update : 23 มิถุนายน 2555 22:56:40 น.
Counter : 710 Pageviews.  

1  2  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.