ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

๒๖๔ - ความกลัวกับโลกส่วนตัว



ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกบ่อยและหนักมากขึ้น คงก็เป็นธรรมดาของฤดูกาล เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของมนุษย์ ที่มีดีบ้าง ร้ายบ้าง มีสุข มีทุกข์ หมุนเวียนวนเป็นตามฤดูกาลแห่งชีวิต ไม่มีใครสามารถยึดสิ่งเหล่านี้ให้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไป ทุกอย่างจึงต้องมีการเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา

วันนี้นั่งทอดอารมณ์อยู่ในร้านอาหารอีสานคนเดียว นั่งนึกไปว่านับวัน ๆ ตัวเราเองยิ่งเริ่มห่างจากสังคมไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้กระมังที่เขาเรียกว่า การปิดตัวเอง หรือว่าโลกส่วนตัว

พอพูดถึงโลกส่วนตัว หลายท่านคงคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้คนอื่น มองว่าคนเราเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ความจริงแล้วมันน่าจะเรียกว่าการเลือกเส้นทางเดินของชีวิตดีกว่า คนที่มีโลกส่วนตัว เขาอาจจะเป็นคนที่มองโลกในแบบที่มันเป็น และตัวเขาเองก็เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น กล้าเลือกที่จะปฏิเสธคนรอบข้างได้หากรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง (หรือขัดต่อความคิดของตน) สามารถยืนอยู่ได้ด้วยลำขาของตัวเอง ไม่กลัวต่อคำพูดที่มากระทบไม่ว่าจะดีหรือร้าย ฯ

ในส่วนลึก ๆ เชื่อเถอะ...ทุกคนต่างมีโลกส่วนตัวกันทั้งนั้น เพียงแต่มันจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง บางคนไม่สามารถขาดเพื่อนได้เลย ต้องหาเรื่องชวนกิน ดื่มเที่ยว โดยตลอดเมื่อมีโอกาส ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักจะกลัวความเงียบเหงาอ้างว้าง ในจิตใจลึก ๆ มีความกลัวต่อความโดดเดี่ยว ต้องการคนปลอบใจเอาใจใส่ รักความสนุกสนาน เพื่อปิดบังในส่วนที่ตัวเองหวาดกลัวอยู่ลึก ๆ ในใจ ซึ่งแม้แต่ตัวเองก็ไม่อาจจะรู้ว่า ความหวาดกลัวดังกล่าว มันซ่อนอยู่ที่ใด และทำอย่างไรจึงจะสามารถขจัดความกลัวเหล่านี้ไปเสียได้

ในทางพุทธศาสนา ความกลัวนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เป็นความหลงที่ฝังอยู่ในลึก ๆ จนเราเรียกว่าสัญชาติญาณของความเป็นมนุษย์ และเพราะความไม่รู้ในเหตุ ในปัจจัยนั้น ๆ เราก็จึงเกิดความกลัวขึ้นมาอย่างไม่สามารถอธิบายได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราจำเป็นต้องเดินทางคนเดียว ในที่เปลี่ยวสงัดในช่วงเวลากลางคืน เราย่อมมีความกลัวขึ้นมาไม่มากก็น้อยด้วยกันทุกคน เหตุของความกลัวนั้น เพราะเรามองไม่เห็นถึงอันตรายที่จะอาจจะเกิดขึ้นรอบตัว แต่ในทางกลับกัน หากเรามีโอกาสเดินผ่านเส้นทางเดิมอีกครั้ง ในช่วงกลางวัน ความรู้สึกปลอดภัย และความหวาดกลัวก็จะลดน้อยกว่าตอนกลางคืนมาก เพราะในตอนกลางวันเราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน


การมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวนี่เองเปรียบเหมือนความไม่รู้ เมื่อไม่รู้เราจึงเกิดความกลัว

ส่วนการมองเห็น เปรียบได้กับความรู้ เป็นดั่งความสามารถมองเห็น เหตุปัจจัยได้ชัดเจน และสามารถหลบหลีกภัยอันตรายได้โดยง่าย เราจึงไม่มีความกลัวเมื่อได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

ดังเช่นพระอรหันต์ ท่านไม่มีความกลัว ไม่มีความเสียวสะดุ้งตกใจ ไม่มีความเพ้อละเมอ ไม่มีความฝัน สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดกับท่าน เหตุนั้นเพราะท่านสามารถตัดอวิชชา ความไม่รู้ได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กิเลสอันเป็นดั่งเงามืด ท่านสามารถมองเห็นได้หมดทุกอณูแล้ว ไม่มีกิจธุระในสามภพให้ต้องเดินทางต่อ ท่านจึงไม่มีความกลัวต่อสิ่งใด ๆ แม้แต่ความตายที่อยู่เบื้องหน้าก็ตามที



เปรียบดั่งปลาตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในหนองน้ำแคบ ๆ แต่มันสามารถวิวัฒนาการ จนสามารถมีปีก และบินได้อิสระเหมือนเช่นเดียวกับพวกนก เมื่อมันมองลงมาดูหนองน้ำเล็กแห่งนั้น มันจะอยากกลับลงไปว่ายวนอยู่อีกเช่นนั้นหรือ...

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //www.212cafe.com และ

//statics.atcloud.com
มากมาย ครับ





 

Create Date : 27 สิงหาคม 2553    
Last Update : 27 สิงหาคม 2553 8:15:02 น.
Counter : 590 Pageviews.  

๒๖๓ - กิเลสหนัก



ธรรมชาติของน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำฉันใด ธรรมชาติของจิตมักจะไหลตามกิเลสได้ฉันนั้น การฝืนจิตใจไม่ให้ชอบหรือชังเป็นการฝืนธรรมชาติของจิต เพราะธรรมชาติของจิตมักจะปรุงแต่งไปตามเหตุที่มากระทบ และตอบสนองเป็นความรู้สึก เกลียด ชอบชัง หรือ เฉย ๆ ซึ่งน้อยนักที่เราจะรู้สึกมีอารมณ์เฉย ๆ ไม่เดือดร้อนทุกข์ใจ ซึ่งส่วนใหญ่ เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเฉย ๆ ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง อธิบายให้ง่ายขึ้น ก็คือเรื่องที่ไม่ให้คุณหรือให้โทษกับตัวเองนั่นเอง

แต่หากเรื่องเหล่านั้นที่มีกระทลมีผลต่อเราโดยตรงหรือโดยอ้อม การวางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบนั้นย่อมทำได้ยากกว่า บางเรื่องบางเหตุการณ์หากเราไม่เข้าไปยุ่งไปเกี่ยว ก็จะไม่ต้องได้รับความทุกข์ ตัวอย่างเช่น เราบังเอิญเดินผ่านคนที่รูปร่างหน้าตาดี จิตของเราก็เริ่มเข้าไปปรุงแต่ง ยึดติดกับรูป เป็นการเริ่มสร้างกระบวนการของปัญหาเกิดขึ้น ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ผลสุดท้ายหากเราไม่ได้รูปนั้นมาครอบครอง ก็จะสร้างทุกข์ให้กับจิตใจของเรา อย่างดีก็พอมีความคิดขึ้นมาหน่อยคือ สามารถตัดใจได้ เพียงแต่รูปนั้นก็ยังวนเวียนอยู่ในความคิดเราอีกหลายวัน กว่าจะค่อย ๆ คลายหายไปเอง และหากไม่มีปัญญาอันรู้เท่าทันอารมณ์ ก็จะบังเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำอีกไม่มีวันจบวันสิ้น

ท่านจึงแนะนำให้ชักสะพานแห่งตัณหาเสีย รู้จักวางเฉยในรูป (การวางเฉยนี้ คนละแบบกับ อุเบกขา ในพรหมวิหาร ๔) ไม่เอาใจไปผูกในรูป แม้รูปนั้นดับไป หรือ จากไปแล้ว ก็ไม่ผูกใจติดยึดกับสัญญาที่เกิดขึ้นมา

หลายท่านอาจจะฟังเรื่องมาบ้างจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ที่ท่านเทศน์ให้ฟัง ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ยังรู้สึกว่าที่ท่านเทศน์มานั้น ดูเหมือนจะง่าย แต่ลองลงมือปฏิบัติดูแล้ว พบว่ายากแสนยาก การฝืนกิเลสของตัวเองนี้ยากที่สุด มีหลาย ๆ ต่อหลายครั้งที่ต้องพลาดพลั้งไปนอนล้มให้กิเลสมันทับเอา เพราะหมดกำลังที่จะลุกขึ้นสู้ก็มี บางครั้งก็ชนะ แต่เป็นการชนะแบบชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ช้าก็กลับมาแพ้กิเลสมันอีก

ท่านจึงเปรียบว่าการตัดกิเลสให้ขาด ต้องขุดต้นตอของมันคือ "อวิชชาตัวเดียวเท่านั้นจบ" หากฆ่าได้เพียงลูกสมุนปลายแถว ไม่ช้ามันก็ลุกขึ้นมาฆ่าเราอีกวันยังค่ำ ข้าพเจ้าจึงชอบอุปมาที่ท่านเปรียบการ ฆ่ากิเลสแบบหินทับหญ้า หรือ ตัดเพียงยอด แต่ไม่ได้ขุดโคนออก เพราะมันช่างตรงกับตัวเองมากจริง ๆ

นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ นำมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนใหญ่แล้วคงมีน้อยคนที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ อย่างมากหากเข้าวัดก็ทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา หวังกันเพียง มนุษย์สมบัติ หรือ เพียงทิพยสมบัติ อันเป็นสมบัติที่ไม่เที่ยงแท้ ในยุคนี้จึงไม่ค่อยใฝ่หาวิธีตัดกิเลสกันอย่างจริงจัง เหตุนั้น เพราะนิพพานสมบัติเป็นสิ่งเล้นลับ คนที่ไม่มีวาสนาในการอบรมสั่งสอนผู้อื่น เมื่อท่านเข้าถึงนิพพานในขณะมีชิวิตอยู่ ก็จะเข้าข่ายพูดในเรื่องที่อธิบายได้ยาก เพราะไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ ที่นัยตาห่อหุ้มด้วยกิเลสจะเข้าใจได้ง่าย ๆ

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก

//www.rism.ac.th
มากมาย ครับ


ปล.ลอง อ่านปฏิจจสมุปบาท โดยย่นย่อ ที่ //www.watnai.org





 

Create Date : 23 สิงหาคม 2553    
Last Update : 23 สิงหาคม 2553 8:20:23 น.
Counter : 430 Pageviews.  

๒๖๒ - ความรัก




ธรรมดาของความรักที่ประกอบด้วยเยื่อแห่งตัณหา การจะตัดใจเสียให้ได้โดยเร็วพลันนั้น ปุถุชนคนธรรมดานั้นย่อมไม่อาจจะทำได้โดยง่าย แม้ความเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นก็ตามที ท่านก็ยังคงมีความห่วงหาอาลัยในความรักอยู่พอสมควร แล้วใยเลยกับบุคคลธรรมดา ผู้ไม่ได้ฝึกอบรมตามแนวทางของพุทธศาสนานั้น จะมีความติดความยึดในรักมากมายสักเพียงใด

ความรักนั้นมันเป็นดั่งดวงดาวบนท้องฟ้ากลางดึก แล้วแต่ใครจะจินตนาการว่า ดวงดาวนั้นประกอบต่อกันเป็นรูปอะไรได้บ้าง บางคนมองแล้วจินตนาการ นำดวงดาวมาต่อกันเป็นรูป สิงโต จระเข้ ค้างคาว รูปคนคู่ ฯ นั่นก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ซึ่งไม่สามารถที่จะห้ามได้ ความรักจึงมีอิสระในความคิดของแต่ละคน ที่จะจินตนาการและออกแบบมันออกมาเป็นเช่นไร

และความรักนั้น ถึงแม้ว่าเราอาจจะมองและจินตนาการกันไปหลายแบบ แต่สุดท้ายก็มีลักษณะที่เป็นอย่างเดียวกัน คือ

1.ความรักเป็นความปรารถนาให้ตนเองนั้นมีความสุข จากการได้รับสนองตอบต่อคนที่เรารัก นี่เป็นความรักประเภทโลกีย์ ความรักแบบนี้มันพร้อมเผาโลกทั้งโลก คนที่คาดหวังกับความรักประเภทนี้มากเกินไป เมื่อผิดหวังย่อมได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส ความรักประเภทนี้หากไม่ได้ประกอบด้วย ศีลธรรมมารองรับ สังคมย่อมวุ่นวายไม่รู้จบ พวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มของความรักเพียงข้างเดียว เป็นรักเพียงตอบสนองความอยากของตัวเอง หรือ จะเรียกว่าพวกรักตัวเองมากกว่า

2.ความรักที่ปรารถนาให้ตัวเองมีสุข และให้คนที่เรารักมีความสุขด้วย ต่างจากประเภทแรกอย่างมาก ประเภทนี้ก็เช่น คู่สามีภรรยา ที่เป็นคู่แท้ ไม่ได้มุ่งหวังแสวงหากามตัณหามากเกินกว่าการใช้ชีวิตอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีการนอกใจซึ่งกันและกัน เป็นความรักที่ความซื่อสัตย์ต่อกัน ตั้งอยู่บนศีลธรรมอันดี ต่างคนต่างมองเห็นสอดคล้องกัน อยู่บนฐานของความคิดเดียวกัน เป็นต้น

3.ในทางโลก ความรักที่ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข และมีความสุขจากการให้มากว่า ก็เช่น ความรักของ มารดา บิดา ที่มีต่อบุตร ซึ่งเป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นผู้ให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แต่ยังเป็นลักษณะของความรักแคบ ๆ ยังจำกัดวงอยู่ในครอบครัว หรือ กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ผูกพันกันเท่านั้น หากอาศัยปะปนกับผู้คนส่วนมาก ก็ยังคงมีความเห็นแก่ตัว ยังมีความรักประเภทอื่นแทรกแซงได้

4.ในทางธรรม ความรักที่ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความสุขจากการให้ และไม่ต้องการได้รับการตอบสนองจากความรักใด ๆ ความรักประเภทนี้ คือความรักที่ให้อย่างเดียว ไม่มีความเห็นแก่ตัวเจือปน เป็นความปรารถนาให้ผู้อื่น ไม่จำกัดว่าบุคคลนั้นจะเคยมีบุญคุณกับตัวเองหรือไม่ บุคคลที่มีความรักประเภทนี้ เป็นบุคคลที่หายิ่งในโลก ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เจริญพรหมวิหาร ๔ อยู่เป็นเสมอ ๆ
ความรักประเภทนี้จึงเป็นความรักที่สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้กับโลก(อย่างแท้จริง )

ข้าพเจ้าขอจำแนกความรัก(ตามความรู้สึก)ออกเป็น ๔ ประเภท อาจจะไม่เข้ากับตำราเล่มใด ๆ ก็ช่างเถอะ หากสังเกตุดี ๆ จะทราบว่าในชั่วชีวิตของคน ก็มีความรักวนเวียนอยู่ใน ๑-๔ ประเภทนี้ (แต่น้อยคนจะเคยสัมผัสความรักประเภทที่ ๔ ) หากเปรียบเทียบก็ได้เหมือนกับการปีนขึ้นบันไดของชีวิต
ในช่วงชีวิตที่เราที่เราเป็นวัยรุ่น วัยคะนอง เราก็มักจะพบเจอความรักประเภที่ ๑ เสียโดยมาก
เมื่อมีอายุมากขึ้น ก็เริ่ม มองความรักเปลี่ยนไป เริ่มรู้จักความรักที่ต้องการ ความสมหวังทั้งสองฝ่ายเป็นความรักประเภทที่ ๒
เมื่ออยู่ในยามวัยกลางคน เริ่มมีบุตรด้วยกัน ก็จะประสบกับความรักประเภทที่ ๓
แต่การที่จะก้าวเข้าสู่ความรักประเภที่ ๔ จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ฝึกอบรมธรรมะมาพอสมควร เป็นผู้ที่หาได้ยากในสังคม ผู้ที่ก้าวผ่านความรักประเภที่ ๔ จึงเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจความรักได้อย่างแท้จริง

เป็นความเห็นเกี่ยวกับความรักนำมาแบ่งปันกัน เพื่อให้หลายท่านได้นึกตรึกตรองดูว่า ความรักของตัวเองตอนนี้เป็นอย่างไรหรือ อยู่ขั้นไหน และมีวิธีการอย่างไรในการสร้างความรักที่บริสุทธิ์ยั่งยืนที่สุด บางคนเกิดมาชั่วชีวิต แต่ก็ยังมีความรักวนเวียนอยู่เพียงความรักประเภทที่หนึ่ง แม้จะมีชีวิตคู่แต่งงานแล้วก็ตาม

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //www.hilltribe.orgมากมาย ครับ




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2553    
Last Update : 18 สิงหาคม 2553 9:05:43 น.
Counter : 330 Pageviews.  

๒๖๑ - ควรหรือกับ...อภิสิทธัตถะ



เมื่อ ๔ – ๕ วันก่อน เดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย ก็บังเอิญเหลือบไปเห็นหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ขึ้นหน้าปกพาดหัวว่า "วางดาบเป็นอรหันต์ องคุลีมาร์ก หรือ อภิสิทธัตถะ” โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากจะยุ่ง หรือเขียนเรื่องการเมือง แต่ทว่าประเด็นนี้ ต้องแยกแยะเรื่องการเมืองออกมา ซึ่งประเด็นสำคัญ จึงเป็นเรื่องระหว่างคนเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ กับการล่วงล้ำเอาศาสนามาปะปนข่าวการเมือง และเปรียบเทียบอย่างไม่รู้ว่าสิ่งใดสูงสิ่งใดต่ำ นำเอาพระนามของพระโพธิสัตว์ ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาผสมปนเปกับชื่อนักการเมืองท่านหนึ่ง สิ่งนี้ควรแล้วหรือท่านทั้งหลาย

เจ้าชายสิทธัตถะกับพระพุทธเจ้าสมณโคดม แม้จะเรียกต่างกัน แต่ก็ป็นคน ๆ เดียวกัน ทุกคนที่ร่ำเรียนในประเทศไทยมานี้ ย่อมรู้เรื่องเป็นอย่างดี แม้จะมีบางคนกล่าวอ้างว่า ชื่อ 'สิทธัตถะ' นั้น ในอินเดียมีการตั้งชื่อนี้ตั้งเยอะแยะไม่เห็นเป็นไร ซึ่งก็นั่นมันที่อินเดีย คนที่คิดอย่างนั้น คงลืมไปแล้วว่าในอินเดียตอนนี้เหลือชาวพุทธแท้ สักกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราจะเอาอย่างนั้นบ้าง อีกร้อยปีข้างหน้า ประเทศไทยคงไม่ต้องแบ่งชั้นวรรณะเหมือนกับในอินเดียกันหรืออย่างไร จึงอยากฝากมาให้คิดกันยาว ๆ สักหน่อย

วันนั้นข้าพเจ้ารู้สึกโกรธมาก มันเป็นความโกรธที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ในวินาทีต่อมาได้กลับมาถามใจตัวเองว่า ทำไมเราจึงโกรธ ตัวเราก็ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอ ว่าให้ตัดความโกรธเสียให้ได้ "ปุถุชนคนทั่วไปผู้ที่หนาด้วยกิเลส ไม่ได้สดับรับฟังคำสอน และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นผู้โกรธง่าย "
เมื่อคลายจากความโกรธ ก็เหลือเพียงความขุ่นใจ และมองหาทางแก้ไข และถามตัวเองว่า

นี่เป็นการแสดงความลบหลู่หรือไม่ ?

- คำตอบ คือ อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่เป็นเพียงการล้อ หรือ เสียดสี ตามสันดานของนักข่าวการเมือง (ขอโทษที่ใช้คำว่าสันดาน)ซึ่งคนเขียนพาดหัวข่าวอาจจะไม่ได้เจตนา และก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ของนักข่าวก็เป็นคนดี มีวิจารณญาณ แต่มีเพียงคนส่วนน้อย ที่รู้เท่าไม่ถึงกาล เพราะคงไม่ค่อยได้อ่านหรือศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีอยู่ในหัวคนพวกนี้สักเท่าไหร่นักหรอก เพราะหากมี บ้านนี้เมืองนี้คงไม่เต็มไปด้วยข่าวใส่ร้ายป้ายสีกัน และวุ่นวายมากมายขนาดนี้

บทนี้อาจจะแสดงความรู้สึกที่รุนแรงสักหน่อย แต่ก็ด้วย ความศรัทธาต่อสิ่งดีงามของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เจตนาไม่ต้องการให้ใครมาดูหมิ่นศาสนาไปมากกว่านี้ หากเรื่องนี้ถูกปล่อยปละละเลยไป ไม่นานก็อาจจะเกิดบรรทัดฐานใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้ศาสนาของเราเสื่อมเสียเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก และศรัทธาของคนเป็นอันมาก และก็มีคนอีกมากมายที่อาจจะยังแยกแยะข่าวสาร และ ความดี ชั่วไม่ถูก สื่อมวลชนจึงมีผลต่อคนเหล่านี้เป็นอย่างมาก หากสื่อมวลชนยุคใหม่มีจิตสำนึก และให้ความรับผิดชอบต่อข่าวที่นำเสนอออกไป พยายามแก้ไขปรับปรุงในสิ่งที่ทำผิด นำเสนอเฉพาะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เชื่อว่าประเทศไทยต้องผ่านวิกฤติร้าย ๆ ไปได้แน่

เรื่องนี้พระเถระผู้ใหญ่ทางศาสนาก็ได้ให้ความเห็นท้วงติงมาแล้ว และวันนี้(๑๒ ส.ค. ๒๕๕๓)เองก็ได้ทราบมาว่า ทางคนเขียนพาดหัวนั้นได้เข้าขอขมา พระเถระชั้นผู้ใหญ่ไปแล้ว แต่นั่นคงยังไม่เพียงพอนักหรอก ในความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว คงต้องเขียนขอโทษ ชี้แจงเหตุผลที่มาที่ไปให้ประชาชนทราบในฉบับต่อไปต่างหาก

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ ในสังคมไทย หากแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เอง เป็นดั่งสนิมที่ค่อย ๆ กัดกินพุทธศาสนาให้ผุพังเร็วกว่าที่ควรจจะเป็น เหมือนดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรื่องก็เนื่องด้วยพุทธบริษัท ๔ และจะเสื่อมสลายไปก็ด้วยพุทธบริษัท ๔ ไม่เคารพยำเกรงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา และสมาธิ ไม่ใช่ศรัตรูอื่น นอกศาสนาแต่ประการใด

สิ่งเหล่านี้มันต่างอะไรกับการตัดเศียรของพระพุทธรูป เราต่างเคยประนามคนเหล่านั้นว่าเป็นพวกมารศาสนา หากแต่มารศาสนาที่ตัดเศียรพระไปนั้น ก็เป็นเพียงการขโมยวัตถุ แต่การดึงชื่อของพระพุทธเจ้าลงมาปะปนกับชื่อคนทั่วไป ทำให้ประชาชนสับสนเสื่อมศรัทธา การรักษาเยียวยาก็ไม่ได้ง่ายเหมือนสร้างเศียรพระพุทธรูปใหม่ แล้วอย่างไหนล่ะ มันจะมีโทษมากน้อยกว่ากัน ก็คิดเอาแล้วกัน...



ปล.
การนำชื่อพระโพธิสัตว์มาใช้ประกอบชื่อนั้น หากไม่ได้นำเพื่อมาล้อ หรือมีเจตนาหลบหลู่ เราก็สามารถนำชื่อนั้นมาใช้ได้ เพื่อเป็นกำลังใจในการรักษาและสร้างความดี ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้มีการห้ามแต่อย่างใด

แม้แต่ส่วนตัวของข้าพเจ้าชื่อ 'อัสติสะ' นี้ เป็นนามแฝงซึ่งได้แรงบัลดาลใจจากการอ่านหนังสือ ชาดก ๕๐๐ ชาติ เป็นระยะเวลาสั่งสมบารมีของพระพุทธเจ้า วัตถุประสงค์นำมาเพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างความดี มีเจตนาที่บริสุทธิ์ เพื่อทำนุป้องกันและส่งเสริมพุทธศาสนาผ่านตัวอักษรเล็ก ๆ เหล่านี้ ครับ...





 

Create Date : 12 สิงหาคม 2553    
Last Update : 12 สิงหาคม 2553 20:54:46 น.
Counter : 539 Pageviews.  

1  2  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.