ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

๑๑๐-รักในศีลข้อ ๓



ชีวิตเราเกิดมาครั้งหนึ่ง คงต้องเคยตกหลุมใครสักคนบ้าง ยิ่งกระแสแห่งการปรุงแต่งโลก และการเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยเท่าใด ก็เผยให้เห็นจิตสันดานอันซับซ้อนของมนุษย์มากขึ้น แน่นอนว่าการตกหลุมรักไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หรือแปลกประหลาดอันใด
เราไม่อาจจะทราบที่ไปที่มาของชีวิตว่า เหตุใดเราจึงตกหลุมรักใครสักคนอย่างไม่ลืมหูลืมตา สิ่งนี้คงอธิบายได้ ๒ อย่างคร่าว ๆ ตามหลักแนวคำสอนทางพุทธศาสนา คือ

1.เคยผูกพันกันมาก่อนในอดีตชาติ ทำให้เจอกันครั้งแรกก็ไม่อาจจะลืมได้ลง แต่นั่นยังไม่อาจจะพิสูจน์ได้ ต้องรอกาลเวลาผ่านไปสักระยะ หากเรายังคงห่วงใย และคิดถึงคน ๆ นั้นอยู่ ประเด็นนี้จึงเป็นไปได้ค่อนข้างมากทีเดียว แต่ก็อย่างนั้นเอง เหตุเพราะความไม่รู้ในอดีตชาติ และการป้องกันความสับสนในชาติภพ จึงทำให้เราถูกปิดกั้น และไขว่ขว้า เสาะแสวงหารักแท้อย่างไม่ลืมหูลืมตาต่อไป

2.ความผูกพันและเห็นอกเห็นใจกันในชาติภพปัจจุบัน สิ่งนี้เรียกว่าเป็นรักแรกคงจะไม่ผิดนัก แต่รักแรกประเภทนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเลิกรามากที่สุด เหตุนั้นก็เพราะสายใยแห่งความผูกพันนั้นยังเบาบาง หากแต่ปัญญา ศีล จาคะ ไม่เสมอกันก็อยู่ร่วมกันโดยตลอดรอดฝั่งยากทีเดียว รักประเภทนี้จะมีมากขึ้นในสภาวะปัจจุบัน เพราะความเห็นอกเห็นใจกันนี้ สิ่งที่เป็นแรงดึงดูดและมีอิทธิพลมากที่สุดคือ รูปร่างหน้า ตา ผิวพรรณ การพูดจา ซึ่งเป็นสิ่งหลอกล่อให้ฝ่ายตรงข้ามหลงไหล ส่วนนิสัย ใจคอ ในส่วนลึกนั้นยังไม่เปิดเผยออกมา

ไม่น่าเชื่อว่าหลักการแห่งความรักที่จะครองคู่กันได้ยาวนาน มีเพียง ๒ ข้อ ใหญ่ ๆ และข้อปลีกย่อยอีกนิดหน่อยเท่านั้น หากแต่ว่ามันยากในเชิงปฏิบัติมาก ๆ เพราะกระแสสังคม และการปรุงแต่งมันเยอะมากกว่าสมัยก่อน ทำให้คนเราไม่อาจจะรู้ทันต่อกิเลส และบาป อกุศลทำให้เกิดการผิดต่อศีลเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะศีลในข้อ ๓ (กาเมสุมิจฉาจาร) ที่เรารู้ ๆ และท่องกันได้นั้นมันยังมีข้อปลีกย่อยอีกนับ ๑๐ แต่คนสมัยใหม่จับประเด็นได้เพียงเศษเดียว แล้วนำไปประพฤติเข้าข้างตัวเองว่า อย่างนี้ไม่ผิด โดยไม่เฉลียวใจศึกษาข้อมูลให้ดี ๆ ก่อน สุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็อยู่บนต้นงิ้วแล้ว(ข้าพเจ้าว่ามีเยอะ…)

วันนี้ก็เลยนำเอาประเด็นข้อปลีกย่อยในเรื่องศีลข้อ ๓ มาสาธยายต่อยอดให้ทราบกัน โดยคัดลอกมาจาก เอกสารบทเรียนพระอภิธรรมชุดที่ ๗.๒ เรื่องกฏแห่งกรรม

กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม หมายถึงการประพฤติชั่ว ที่คนดีทั้งหลายรังเกียจและติเตียน คำว่า กาม หมายถึง เมถุนธรรม เป็นการกระทำของคนคู่หญิงกับชายก่อร่วมกัน เพราะความกำหนัด คือการร่วมประเวณี การประพฤติร่วมประเวณีที่ผิดศีลมีองค์ประกอบ ๔

องค์ประกอบของการประพฤติผิดในกาม ๔ ประการ คือ

1.มีวัตถุที่ไม่ควรเสพ ได้แก่ หญิง ๒๐ จำพวก*
2.มีจิตคิดจะส้องเสพในวัตถุอันไม่ควรนั้น
3.มีความพยายามในการส้องเสพ
4.มีการทำมรรคให้จรดถึงกัน มรรคในที่นี้หมายถึง อวัยวะเพศ คือ ทำอวัยวะเพศให้จรดถึงกัน


หญิง ๒๐ จำพวกแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
1.หญิงที่ยังไม่มีสามี ๑๐ จำพวก คือ
๑.๑ หญิงที่มีมารดารักษา คือมีมารดาปกครองดูแล
๑.๒ หญิงที่มีบิดารักษา คือมีบิดาปกครองดูแล
๑.๓ หญิงที่มีทั้งมารดาทั้งบิดารักษา
๑.๔ หญิงที่พี่น้องชายรักษา
๑.๕ หญิงทีมีพี่น้องหญิงรักษา
๑.๖ หญิงที่ญาติรักษา
๑.๗ หญิงที่โคตรคือวงศ์สกุลรักษา
๑.๘ หญิงที่ธรรมรักษา (หญิงที่บวชประพฤติธรรม)
๑.๙ หญิงที่รับหมั้นชายอื่นแล้ว
๑.๑๐ หญิงที่มีกฏหมายรักษา (คือ หญิงที่ทางบ้านเมืองออกกฏหมายประกาศให้ทรายว่า หญิงนี้ชายใดล่วงล้ำ ชายนั้นจจะถูกลงโทษ เพื่อเตียมไว้สำหรับคัดเลือกในสำนักพระราชา หรือเพื่อพระราชพิธีที่มีหญิงพรหมจารีเป็นองค์ประกอบ เป็นต้น)
๒. หญิงที่เป็นภรรยา ๑๐ จำพวก
๒.๑ หญิงที่เขาใช้ทรัพย์ซื้อมาเพื่อเป็นภรรยา
๒.๒ หญิงที่อยู่เป็นภรรยากับชายที่ตนมีความพอใจ
๒.๓ หญิงที่อยู่กับชายเพราะทรัพย์เป็นเหตุ (เช่น ยอมเป็นภรรยาเพื่อปลดหนี้
เป็นต้น)
๒.๔ หญิงที่อยู่กับชายเพราะผ้าเป็นเหตุ (คือ ยอมเป็นภรรยาเพราะเห็นแก่ผ้า เครื่องประดับ ยานพาหนะ ที่พึงได้รับ เป็นต้น)
๒.๕ หญิงที่ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายกำหนดให้จุ่มมือลงไปในภาชนะใส่น้ำ แล้วสัญญาว่าจจะอยู่ด้วยกัน
๒.๖ หญิงที่ชายปลดปล่อยจากความเป็นทาสแล้วแต่งตั้งให้เป็นภรรยา
๒.๗ หญิงที่เป็นทั้งทาสและภรรยา
๒.๘ หญิงที่เป็นทั้งคนรับจ้างทำงานอยู่ในเรือน เป็นทั้งภรรยาด้วย
๒.๙ หญิงเชลย
๒.๑๐ หญิงที่ชายอยู่ร่วมชั่วคราว (เมียเช่าชั่วคราว หรือแม้หญิงโสเภณีผู้ที่อยู่ในระหว่างเวลาที่ชายอื่นจองตัวอยู่กันชั่วคราว)

หญิงทั้ง ๒๐ จำพวกนี้ ได้ชื่อว่าวัตถุอันไม่ควรเสพ ถ้าชายใดล่วงเกินเกี่ยวกับประเวรี ชายนั้นได้ชื่อว่า ประพฤติกาเมสุมิจฉาจารแล้วทั้งสิ้น
เมื่อมาพิจารณาทางฝ่ายหญิง ก็อาศัยหญิง ๒๐ จำพวกนั่นเอง เป็นหลักพิจารณา สำหรับหญิงที่เป็นภรรยาแล้ว ได้แก่หญิง ๑๐ จำพวกหลัง ชายอื่นทั้งหลายที่ไม่ใช่สามีของตน ชื่อว่าเป็นวัตถุที่ไม่ควรเสพ และยังมีอีก ๒ บุคคลในฝ่ายหญิงที่ยังม่มีสามี คือ ๑ . ชายที่ไม่ใช่คู่หมั้นของตน ชื่อว่าเป็นวัตถุที่ไม่ควรเสพสำหรับหญิงที่รับหมั้นแล้ว และ ๒. ชายทุกคน ชื่อว่าเป็นวัตถุที่ไม่ควรเสพสำหรับหญิงที่มีกฏหมายรักษา สรุปแล้วหญิง ๑๒ จำพวกนี้ ถ้ามีความพอใจไปเกี่ยวข้องด้านเมถุนกับชายที่เป็นวัตถุที่ไม่ควรเสพสำหรับตนเข้า หญิงนั้นก็ชื่อว่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร และมีความผิดร่วมกับฝ่ายชายด้วย
ส่วนหญิง ๘ จำพวกที่เหลือ ได้แก่หญิงที่มีมารดารักษา เป็นต้น ไม่มีโอกาสจะทำผิดศีลข้อ ๓ นี้ ฝ่ายชายที่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ผิดศีล

ผลแห่งกาเมสุมิจฉาจาร
- การส่งผลในปฏิสนธิกาล การทำบาปที่ครบทั้งองค์ประกอบ ๔ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าการประพฤติผิดในกามเช่นนี้ส่งผล เมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ

- การส่งผลในปวัตติกาล ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลได้อีก

- จบการคัดลอกมาบางส่วน –

รายละเอียดปลีกย่อยปลีกย่อยของหญิง ๒๐ จำพวกซึ่งเราต่างมองข้ามไป ทำให้คิดไปว่า ศีลข้อนี้จะผิดเมื่อล่วงเกินหญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้น วัยรุ่นปัจจุบันมักจะเข้าใจอย่างนี้ และตามใจกิเลสแอบอยู่กินกันตามหอพักโดยที่ผู้ปกครองไม่รับทราบ ซึ่งก็ผิดเช่นเดียวกัน ผลที่ได้รับแม้จะว่าเล็กน้อย หากแต่ในกฏแห่งกรรม(ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญประเทศไทย) มันมีความเที่ยงแท้ชัดเจนอยู่ทุกกาลทุกสมัย เราไม่อาจจะปรับเปลี่ยนตั้ง สสร มาแก้ไขได้เลย แม้แต่พระพุทธเจ้าสักร้อยพระองค์ก็แก้ไขไม่ได้ เราทำได้เพียงเรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกที่ควร ที่เหมาะสม ไม่ผิดศีลธรรม หรือกฏเกณฑ์ของกฏแห่งกรรมและสังคมได้ตั้งไว้ เท่านี้ชีวิตเราก็ปลอดภัยทั้งโลกนี้และโลกหน้าแล้ว




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2551    
Last Update : 15 ธันวาคม 2551 8:08:08 น.
Counter : 722 Pageviews.  

๑๐๙-การเคลื่อนตัวของพายุ


บ่ายวันหนึ่งในช่วงกลางฤดูร้อนที่ผ่านมา ข่าวพายุฤดูร้อนมีอยู่ทุกวัน เหตุนี้ดูจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง กระแสข่าวโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุก ๆ วันมันได้สร้างปัญหาและความยุ่งยากต่อการดำเนินชิวิตประจำวันของพวกเรา สาเหตุนั้นคงไม่ต้องกล่าวถึง ว่ามาจากอะไร เพราะเราต่างรู้ดีกันทุกคน

ข้าพเจ้ามองเห็นกลุ่มเมฆดำคลื้มลอยมาแต่ไกล มันบิดเกลียวรวมตัวกันเป็นกลุ่มเมฆที่น่ากลัว คล้ายกับรูปจานบิน มันดูต่ำมาก ๆ มากจนคิดว่าอยู่สูงจากพื้นไม่กี่เมตร ตั่งแต่เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็น เมฆที่รวมตัวกันเป็นรูปประหลาดและลอยต่ำมากเช่นนี้ แต่ไม่ช้าเมฆนั้นก็กลั่นตัวเป็นน้ำฝนตกลงมาเป็นสาย ๆ มองดูไกล ๆ คล้ายน้ำตกในหุบเขา

และอีกไม่นานมันคงเคลื่อนเข้ามายังบ้านที่อยู่ของข้าพเจ้า และก็ปรารถนาให้ฝนนั้นตกนาน ๆ เพื่อดับความร้อนของฤดูกาลครั้งนี้

แต่ก็ไม่เป็นไปอย่างที่นึกเอาไว้ มีเพียงฝนตกปรอย ๆ ที่หน้าบ้าน ภาพเมฆดำที่ทำทีว่าจะเป็นพายุใหญ่กลับค่อย ๆ เคลื่อนสลายไปเมื่อผ่านบ้านของข้าพเจ้า เพราะแสงแดดในตอนบ่ายนั้นรุนแรงกว่า เมฆฝนที่รวมกลุ่มกันก็สลายหายไปเหลือเพียงกลุ่มเมฆขาว ๆ ลอยประปราย ในเวลาเพียงแค่ชั่วหม้อข้าวเดือด

ฝนห่าใหญ่ได้ตกแล้วที่ชมภูทวีป ครั้นสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังพระชนม์ชีพอยู่ พระอริยเจ้าเกิดขึ้นมากมายราวกับเม็ดฝนที่ตกลง บัดนี้กาลเวลาเปลี่ยนไป กลุ่มเมฆที่เป็นต้นแห่งเม็ดฝน เคลื่อนที่จากอินเดียมาสู่ดินแดนภูมิภาคตะวันออก พร้อมกับปริมาณเม็ดฝนแห่งพระอริยบุคคล เริ่มลดลงตามกาลเวลา

ในอนาคตกลุ่มเมฆนี้จะค่อย ๆ สลายตัวจางหายไปในที่สุด แล้วดินแดนโลกแห่งนี้ก็จะทวีความแห้งแล้ง ร้อนแรงมากขึ้น รอจนกว่าพายุลูกใหม่จะพัดมาอีกคราวหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเวลานานแสนนาน จนไม่อาจจะคิดคำนวณเป็นตัวเลขสมมติได้เลย




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2551    
Last Update : 11 ธันวาคม 2551 19:42:26 น.
Counter : 377 Pageviews.  

๑๐๘-ภาพ ๓ มิติ



ย้อนเวลากลับไปประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เป็นที่กระแสอยู่ในช่วงสั้น ๆ นั่นคือ ความสนใจดูภาพ ๓ มิติ คนที่มองเป็น คนที่มองเห็นก็จะสนุกกับมัน แต่ต่างจากคนที่ยังมองไม่เห็นดูไม่ออก ก็ออกจะหงุดหงิดใจไม่น้อย ข้าพเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ที่ตอนแรกก็ดูไม่ออกว่าที่เขาว่ากัน เป็นรูปยานอวกาศ เครื่องบิน การ์ตูนนั้น เขาดูเขามองกันอย่างไร

มันเป็นความอึดอัดใจตามประสาเด็ก ที่มองอะไรไม่เห็นเหมือนกับเพื่อนในกลุ่ม ทั้งที่พยายามเพ่งพยายาม ทำตามเบลอ ๆ อย่างที่เขาว่ามาก็ยังไม่เห็น

จนเวลาผ่านไป จนเขาเลิกดูเลิกฮิตกันแล้ว ข้าพเจ้าจึงมองภาพ ๓ มิติออก แต่ก็ไม่รู้จะเอาไปคุยกับใครเพราะเขาเลือกนิยมกันเสียแล้ว

การสนใจมองหาสิ่งที่เป็นปริศนา สิ่งลึกลับ สิ่งที่หลบซ่อนอยู่เป็นนิสัยเบื้องลึกที่มีกันโดยทุกคน ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ไม่ต่างอะไรกับภาพ ๓ มิติที่ว่ามา แม้ภายนอกอาจจะว่าเป็นเพียงภาพเส้นธรรมดา ๆ แต่ถ้ามองออกดูเป็นจะเห็นสิ่งที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ภายใน
ดังที่บทสรรเสริญพระธรรมตามที่เราท่องสวดกันเป็นประจำคือ
ธรรมะมีคุณสมบัติเป็น สัณทิฏฐิโก คือ เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
ธรรมะมีคุณสมบัติเป็น อะกาลิโก คือ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
ธรรมะมีคุณสมบัติเป็น เอหิปัสสิโก คือ เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
ธรรมะมีคุณสมบัติเป็น โอปะนะยิโก คือ เป็นสิ่งที่น้อมเข้ามาใส่ตัว
ธรรมะมีคุณสมบัติเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คือ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

ซึ่งเป็นจริงดังที่กล่าวมา ผู้ที่ฟังธรรมมามากหากแต่ขาด โอปะนะยิโก คือ เป็นสิ่งที่น้อมเข้ามาใส่ตัว ก็ไร้ประโยชน์ไร้ค่า ในที่นี้ก็คือการฝึกปฏิบัติ จนถึงสุดท้ายคือ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คือ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน จึงเป็นการที่เราจะกล่าวจะพูดว่าภาพ ๓ มิตินี้เป็นเครื่องบิน หากแต่คู่สนทนา มองได้ ดูไม่ออก ขาดคุณสมบัติไม่ครบทุกข้อที่ว่ามา เขาก็จะมองเห็นเป็นเพียงเส้นหยึกหยัก ไม่มีรูปเครื่องบินปรากฏออกมาให้เห็น และจะรู้สึกคัดค้านต่อภาพที่อยู่ข้างหน้า จึงเกิดเป็นความลังเลสงสัยตามมา

ก็เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน หากแต่เราน้อมใจ นำธรรมะเข้ามาใส่ตัว ทุกอย่างที่เห็น ทุกคำพูด ทุกการกระทำก็ตกอยู่ในสภาวะธรรมทั้งหมด เพียงแต่สิ่งนี้มันยากที่จะมองออกเหมือนกับภาพ ๓ มิติเท่านั้นเอง




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2551    
Last Update : 11 ธันวาคม 2551 19:48:58 น.
Counter : 537 Pageviews.  

๑๐๗-เบญจคีรี(ลูกที่ ๒)



“นี่มันอะไรกัน” ชายนักเดินทางรู้สึกแปลกใจ ว่าทำไมเนินดินขรุขระเล็ก ๆ จึงกลายเป็นภูเขาไปได้

“ดีมาก ๆ สิ่งที่ท่านเห็นมันอาจจะไม่ใช่อย่างที่ท่านคิดเสมอไป ท่านลองมองดูข้าพเจ้าอีกทีสิ” ชายร่างจิ๋วพูด

ชายนักเดินทางกวาดสายตามองหาชายร่างจิ๋วบริเวณเท้าของเขา แต่ก็ไม่พบ แต่เมื่อเขาเงยหน้าขึ้น จึงพบว่ามีชายผู้หนึ่งรูปร่างสันทัด สมบูรณ์มีความสูงระดับอกยืนอยู่ต่อหน้าเขา

“ถูกแล้ว…เนินดินเล็ก ๆ ไม่ได้ขยายใหญ่ขึ้นหรอก แต่ท่านตัวเล็กลงต่างหาก” ชายร่างจิ๋วคนเดิมอธิบาย ชายนักเดินทางถึงกับงวยงง

“ข้าพเจ้าตัวเล็กลงอย่างนั้นหรือ” ชายนักเดินทางถามอีก

“ใช่แล้วท่านตัวเล็กลง ทีนี้มองเห็นความน่ากลัว และความเหนื่อยจากของการเดินทางหรือยัง” ชายที่แต่ก่อนร่างจิ๋วถามขึ้น

“ข้าพเจ้าเห็นความน่ากลัวของการเดินทาง และความลำบากยากเย็นแล้วครับท่าน การเดินทางต่อไปของข้าพเจ้า ต้องเดินฝ่าเนินดินต้องปีนผ่านภูเขา และเหยียบย่ำ เบียดเบียนผู้อื่นอย่างมากมาย ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะหยุด เพื่อพบกับปลายทางที่ท่านว่ามา” ชายนักเดินทางที่มองเห็นความเป็นจริงพูด

“ดีแล้ว แต่สิ่งที่ท่านเห็นนี้มันยังหยาบอยู่นัก และเราทั้งคู่ก็ยังต้องเดินทางไปอีก หากแต่การเดินทางของเราครั้งนี้ จะสั้นลงเรื่อย ๆ ตัวของเราจะเล็กลงเรื่อย ๆ แล้วจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ดูใหญ่โตขึ้น ท่านลองนึกดูว่าเนินดินเล็ก ๆ ที่ท่านเห็นแต่ก่อนนี้ บัดนี้มันได้กลายเป็นภูเขาขนาดใหญ่ แต่ท่านลองมองดูกับพื้นอีกครั้งเถิด บนพื้นที่ท่านเห็นว่าราบเรียบนี้ ที่จริงมันประกอบด้วยเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ เป็นจำนวนมหาศาล ท่านมองเห็นหรือไม่…”

“ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลย” ชายนักเดินทางตอบ
“ถูกแล้วที่ท่านจะมองไม่เห็น เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดที่สุด จำเป็นต้องฝึกฝนการพิจารณาต่อไปอีกสักพัก เมื่อใดที่พิจารณาเห็นว่าเม็ดทรายที่พื้นใหญ่เท่ากับภูเขา เมื่อนั้นการเดินทางของเราทั้งคู่ก็สิ้นสุดลง”

“ข้าพเจ้าเข้าใจแล้ว แล้วเราจะได้อะไรตอบแทนจากการความสำเร็จครั้งนี้” ชายนักเดินทางถามอย่างสงสัย

“รางวัลที่เป็นรูปร่างตัวตนนั้นไม่มีหรอก แต่มีความสงบ ความร่มเย็น ไม่มีทุกข์ เป็นดินแดนอันเป็นนิรันดร์ พ้นจากการเดินทาง และไม่ต้องประสบเคราะห์ภัยอีกต่อไป”

ธรรมดาผู้ที่ไม่ได้หยุดพิจารณาถึงการเดินทาง ย่อมไม่ได้ชัดเห็นถึงความเป็นจริง และความน่ากลัวของการเดินทาง สิ่งที่ท่านเห็นอยู่นี้ เมื่อเราตัวเล็กลง เราจะมองเห็นถึงความน่ากลัวของการเดินทาง

เนินดิน ๕ ลูกซึ่งบัดนี้กลายเป็นภูเขาเสียแล้วนั้น หมายถึง ศีล ๕ ประการ ปุถุชนผู้หนาไปด้วยกิเลส ไม่ได้ฝึกสติรับรู้ถึงบาป อกุศล มักจะเหยียบย่ำ ภูเขา ๕ ลูกนี้อยู่เสมอ ต่างจากจิตของพระอริยชั้นต้น ท่านย่อมมองเห็นชัดต่างออกไป เนินดินที่เราเหยียบย่ำอยู่ประจำจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับท่าน

นอกจากเนินดินที่ว่าเล็กแล้ว ยังมีเม็ดทรายซึ่งเปรียบเสมือน อาสวะกิเลสที่ละเอียดที่สุด หากเรามองไม่เห็น กำจัดมันไม่ได้ มันก็จะก่อร่างสร้างตัวประกอบกัน กลายเป็นเนินดิน กลายเป็นภูเขา กลายเป็นเส้นทางให้เราเดินวนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสารเหล่านี้อย่างไม่รู้จบ

-จบ-




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2551    
Last Update : 6 ธันวาคม 2551 12:30:06 น.
Counter : 356 Pageviews.  

๑๐๖-เบญจคีรี(ลูกที่ ๑)



ชายนักเดินทางยังคงเดินทางไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง วันหนึ่งเขาเดินทางมาถึงดินแดนแห่งหนึ่ง เป็นดินแดนที่เขายังไม่เคยเดินผ่านมาก่อน หรืออาจจะผ่านมาแล้วแต่เขาเองก็จำความมันไม่ได้
เขาก้าวขาต่อไป ผ่านลำธารเล็ก ๆ สู่พื้นที่โล่งเตียนเบื้องหน้าที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา
เขาไม่มีความเหนื่อยหรือท้อแท้ในตอนนี้

ในขณะที่เขากำลังจะก้าวขาต่อไปนั้น

“หยุดก่อน ๆ …อย่าเพิ่งเหยียบ ๆ” มีเสียงหนึ่งร้องดังมาจากหนใดก็ไม่ทราบ ชายนักเดินทางจึงชะงักขาไว้ และพยายามกวาดมองหาที่ไปที่มาของต้นเสียงนั้น

“ใครกัน…” ชายนักเดินทางร้องทัก

“ข้าพเจ้าเอง อยู่ทางนี้ ๆ ก้มลงหน่อย ๆ…” ชายนักเดินทางจึงก้มลงมองกับพื้น เห็นมนุษย์ตัวจิ๋วมีขนาด ความสูงเพียงนิ้วเท้าของเขาเท่านั้น

“ท่าน ๆ …เป็นมนุษย์หรือเปล่า ทำไมตัวเล็กยังกลับมดขนาดนี้” ชายนักเดินทางร้องถาม

“ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์เช่นท่านนี่แหละ แต่ที่ข้าพเจ้าตัวเล็กก็เพราะเป็นความปรารถนาของข้าพเจ้าเอง”

“ความปรารถนาหรือ … ข้าพเจ้าไม่คิดการว่าการปรารถนาเป็นคนตัวเล็ก จะมีประโยชน์อะไร เพราะการเดินทางก็ลำบาก กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็ช้ากว่าคนตัวใหญ่” ชายนักเดินทางอธิบาย

“มันก็จริงอย่างที่ท่านว่า แต่ก่อนข้าพเจ้าก็ตัวใหญ่พอ ๆ กับท่าน และเดินทางไปในทิศที่ท่านไป แต่ก็ไม่พบจุดหมายปลายทางอย่างที่เราหวังไว้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงหยุดนิ่งและพิจารณาถึงการเดินทางที่ผ่านมา และทำให้เข้าใจว่าการที่เราเดินทางอย่างไม่มีวันจบนั้น ก็เพราะเราเองต่างหากที่สร้างเส้นทางนั้นขึ้นมา ทุกครั้งที่เราเดินไป เราปรารถนาจุดหมายปลายทาง ในขณะนั้นเองเราก็ได้ปูเส้นทางของเราขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ มันเป็นเส้นทางที่เราขีดไว้ด้วยแรงปรารถนา แล้วเราก็เดินไปตามเส้นทางนั้น เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ แล้วยังไม่ถึงจุดหมาย เราก็ปรารถนาสิ่งใหม่ขึ้นมาอีก ก็เป็นการสร้างเส้นทางให้เราเดินอีกอย่างไม่มีวันจบ นี่เป็นเพราะความไม่รู้ ความไม่รู้ที่ว่านี้ก็คือ เราต่างคิดเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่ในปัจจุบันนี้ มันมีอยู่แล้วเพียงแต่เราเดินไปตามเส้นนั้นก็พอ หารู้ไม่ว่าเส้นทางที่เราเดินนั้น มันเกิดจากแรงปรารถนาของเราทั้งสิ้น แต่เมื่อใดที่แรงปรารถนานั้นหมดลง การเดินทางก็จะสิ้นสุด ไม่มีทางที่ต้องเดินต่อไป และนั่นแหละคือจุดหมายปลายทางที่แท้จริง”

ชายนักเดินทางหยุดนิ่ง และครุ่นคิดกับเหตุผลของมนุษย์จิ๋ว

“หมายความว่าหากเราเดินต่อไปเราจะไม่พบจุดหมาย ปลายทางอย่างนั้นเหรอ…” ชายนักเดินทางถาม

“จุดหมายนั้นมีแน่นอนขึ้นอยู่กับใครปรารถนาสิ่งใด แต่ปลายทางไม่มีสำหรับผู้ที่ยังเดินอยู่…” ชายตัวเล็กถาม

“ข้าพเจ้าปรารถนาเห็นปลายทางของการเดินทางนี้” ชายนักเดินทางบอก
“งั้นก็ถูกคนแล้ว เหตุนี้เองที่ข้าพเจ้าร้องทักไม่ให้ท่านก้าวขาต่อไป ท่านจงมองดูที่พื้นดินเบื้องหน้าท่านเห็นสิ่งใดบ้าง” ชายร่างจิ๋วพูด

ชายนักเดินางมองไปที่ปลายเท้าของเขา เบื้องหน้าก็เป็นเพียงเนินดิน ขรุขระลูกเล็ก ๆ

“ไม่เห็นมีอะไรเลย” ชายนักเดินทางบอก

“ลองมองพิจารณาใหม่อีกครั้งสิ ข้างหน้าของท่านเป็นเพียงเนินดินขรุขระก้อนเล็ก ๆ ใช่มั้ย ลองมองดูอีกครั้ง ค่อย ๆ พิจารณา ทำจิตให้เป็นสมาธิ แน่วแน่ ยกเลิกความปรารถนาการเดินทางที่ผ่านในอดีตให้หมดสิ้นไป…ลองดู” ชายร่างจิ๋วแนะนำ

ชายนักเดินทางพิจารณาตามนั้น ภาพเนินดินขรุขระเล็ก ๆ นั้น ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น เรื่อย ๆ เขาเริ่มมองเห็นมันชัดเจนขึ้นทีละน้อย ๆ
เนินดินนั้นได้ขยายใหญ่จนสูงเท่าเข่าของชายนักเดินทาง
ต่อมาได้ขยายใหญ่จนสูงมากกว่าศรีษะของเขา
ต่อมาได้ขยายใหญ่จนสูงมากกว่าต้นมะพร้าว
ต่อมาได้ขยายใหญ่จนสูงมากกว่าต้นตาล
ต่อมาได้ขยายใหญ่จนสูงเท่าเทียมเมฆ กลายเป็นภูเขาสูงนับได้ ๕ ลูกพอดี ๆ

อ่านต่อใน เบญจคีรี(ลูกที่ ๒)




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2551    
Last Update : 6 ธันวาคม 2551 12:19:45 น.
Counter : 1033 Pageviews.  

1  2  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.