ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

๐๙๕-ความสุขในขวดแก้ว(จอกที่ ๒ -จบ-)




ภาพชายวัยกลางคน รูปร่างท้วมขาว นอนดิ้นทุรนทุราย กลิ้งไปมาอยู่กับพื้นอย่างทรมาณ ในมือเขายังคงถือแก้วน้ำสีเขียวไว้แน่น เพียงแต่มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียงน้อยนิด
“เขาเป็นอะไรไปครับ ทำไมเขาเป็นอย่างนี้” ชายนักเดินทางถามขึ้นอย่างร้อนใจ

“มันเป็นธรรมดาแหละ…ท่าน ในแก้วนี้มันสร้างความสุขให้พวกเราก็จริง แต่ภายในก้นแก้ว มันมีสารแห่งความทุกข์ทรมาณตกค้างอยู่…พวกเราที่ดื่มเข้าไป ก็จะมีสภาพเป็นอย่างนี้กันทุกคน น้ำในแก้วทุกใบ มันให้ทั้งความสุขและความทุกข์แก่เรา แล้วแต่ใครจะจับได้แก้วไหน ไม่มีใครสามารถจะทำนายจุดจบ และสภาพที่ต้องเจอตอนท้ายของการดื่มได้ ในโลกที่ท่านเห็นอยู่นี้ น้ำในแก้วทุกใบ มันเจือไปด้วยสารแห่งความสุข ซึ่งมีหลายประเภทไม่ซ้ำกัน ทั้งรูปร่าง และปริมาณ ขึ้นอยู่กับว่าใครรจะเลือกเป็นเท่านั้น” ชายร่างเล็กคนเดิมอธิบาย ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม เมื่อต้องเห็นเพื่อนในกลุ่มได้รับทุกขเวทนา

“แล้วทำไม คนนั้นเขาไม่หยุดดื่ม ทั้งที่รู้ว่ามันทรมาณขนาดนั้น” ชายนักเดินทางถาม

“อย่างที่อธิบายไปแล้ว เมื่อท่านชิมรสชาติที่ให้ความเจ็บปวด ประเภทใดก็ตาม ท่านต้องดื่มให้หมดถ้าไม่อย่างนั้น ท่านก็จะไม่มีสิทธิที่จะดื่มน้ำแก้วต่อไปได้อีก”

“ถ้าอย่างนั้น ผมไม่ขอดื่มน้ำนี่แล้วกัน…ผมกลัว” ชายนักเดินทางพูด แต่ก็มีเสียงหัวเราะดังออกมาจากกลุ่มคนเหล่านั้นอีก

“ท่านมีสิทธิ์ที่จะไม่ดื่มก็ได้ แต่ท่านต้องอยู่ในโลกนี้อย่างทรมาณแสนสาหัส เพราะทุกชีวิตในโลกนี้ จำเป็นต้องดื่มนำในแก้วนี้เพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้”

“หมายความว่า ผมไม่มีทางเลือกเลยใช่ไหมครับ” ชายนักเดินทางถาม

“ถูกแล้ว ชาวโลกที่นี่มีแต่คนที่สุขมาก ทุกข์ทรมาณน้อย หรือสุขน้อยทุกข์ทรมาณมากเท่านั้น”

ชายนักเดินทางรู้สึกกังวลกับแก้วน้ำที่ถืออยู่ในมือ เขาจะทราบได้อย่างไรว่าน้ำในแก้วใบนี้ จะส่งผลอย่างไรกับชีวิตเขา

“แล้วน้ำที่ให้ความสุขอย่างเดียวนี้มีไหม” ชายนักเดินทางถามขึ้นอีก ทุกคนในกลุ่มเงียบ และมองหน้ากันอย่างลังเล

“น้ำในตำนาน…ไง” ใครสักคนหนึ่งในกลุ่มพูดขึ้นมาอย่างลอย ๆ
“ในบรรดาแก้วน้ำที่ท่านเห็นอยู่นี้ มีอยู่แก้วหนึ่งที่บรรจุน้ำในตำนานไว้ ผู้ที่ได้ดื่มแล้วจะไม่มีวันได้รับความทุกข์ทรมาณ เพราะน้ำนั้นได้สร้างความสุขอย่างไม่มีบกพร่อง และไม่มีวันดื่มหมด พวกเราในนี้ก็แสวงหาน้ำชนิดนี้เช่นกัน แต่พวกเราเอง ก็ไม่อาจจะทิ้งรสชาติของน้ำ ที่ดื่มกันอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะรสชาติที่รื่นรม หอม หวาน น่าติดอกติดใจเหลือเกิน จนทำให้พวกเราไม่อยากแสวงหาน้ำในตำนานอีกต่อไป สู้ดื่มน้ำพวกนี้ดีกว่า
แม้ว่าจุดจบมันจะต้องได้รับความทรมาณสักเพียงใดก็ตาม”

“แต่หากท่านต้องการแสวงหาน้ำในตำนาน ก็เชิญตามสะดวกเลย พวกเราจะไม่ห้ามหรือขัดขวางท่านแต่อย่างใด แต่จำเอาไว้ว่า ท่านต้องชิมน้ำที่อยู่ในแก้วบนโลกนี้ทุกใบ และห้ามชิมเกินกว่า ๓ ครั้งต่อแก้ว เมื่อใดที่ท่านชิมเกิน ๓ ครั้ง แสดงว่าท่านติดในรสชาติของน้ำในแก้วใบนั้น ท่านจะต้องดื่มกินน้ำแก้วนั้นจนหมด ทำให้ท่านต้องเสียเวลา และมีสภาพไม่ต่างอะไรกับคนในกลุ่มของพวกเรา”

“แล้วผมจะรู้ได้อย่างไร ว่าน้ำแก้วไหนเป็นน้ำในตำนาน” ชายนักเดินทางถาม

“ถึงเวลานั้น ท่านจะรู้ได้เอง เพราะรสชาติของน้ำในตำนานที่เขาเล่ากันว่า ไม่เหมือนน้ำที่เราดื่มกินกันอยู่ทุกวันนี้” ชายผู้นั้นตอบ

ชายนักเดินทางพยักหน้าอย่างเข้าใจ และตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเสาะแสวงหาน้ำในตำนาน โดยเริ่มต้นจากแก้วที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน บางทีอาจจะเป็นแก้วใบนี้ก็ได้ เขายกแก้วน้ำใบนั้นดื่ม รสชาติแห่งความสุขได้แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ตัวเขาแทบลอยล่องไปในอากาศ ไม่อาจจะบรรยายถึงรสชาติอันหอมหวานของน้ำในแก้วนี้ได้

เขาดื่มเพิ่มอีก ๒ ครั้ง เป็นการยืนยันในการติดใจในรสชาติแห่งความสุขที่ได้รับ โดยลืมความตั้งใจในตอนแรกที่จะชิมเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น

ในตอนท้าย ชายนักเดินทางก็ประสบความทุกข์ทรมาณ จากน้ำแห่งความทุกข์ที่อยู่ก้นแก้ว เขาพยายามที่จะไม่กินต่อ แต่ก็ไม่อาจจะวางแก้วใบนั้นลงได้

ความสุขที่เราได้รับและสัมผัสอยู่ในโลกปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างกันนัก หากเราดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ดื่มด่ำกับความสุขที่โลกสร้างสรรค์ให้โดยที่ลืมเรื่องบุญ กุศล เราก็จะประสบกับความทุกข์ในเบื้องปลายเสมอ แต่หากเรารู้จักคิด เลือกความสุข รู้จักเสพอย่างพอเหมาะ และไขว่ขว้าหาความสุขที่อยู่สูงกว่าความสุขในปัจจุบัน โดยอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงาม ไม่ติดยึดกับความสุขที่ได้รับมา สุดท้ายปลายทางเราก็จะได้พบเจอ และดื่ม ‘น้ำในตำนาน’ แก้วนั้น สักวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 17:05:34 น.
Counter : 1217 Pageviews.  

๐๙๔-ความสุขในขวดแก้ว(จอกที่ ๑)



ภาพการชนแก้วของบรรดานักเลงสุรา นั้นกลับมาหลอกหลอนข้าพเจ้าอีกครั้ง ทั้งที่พยายามจะลืมเลือนทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ทว่าสัญญาขันธ์ หรือ ความจำได้หมายรู้ มันก็ตกอยู่ในกฏแห่งไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน จึงมีความแปรปรวนไป ความคงทนอยูไม่ได้นาน (เสื่อม) และควบคุมบังคับบัญชาให้มันเป็นไปได้ตามใจเราปรารถนา บางเรื่องอยากจะลืม แต่เราก็บังคับให้มันลืมไม่ได้ เป็นต้น

การได้กลับคืนมาสู่งานเลี้ยงตามผับ ชื่อดังแห่งหนึ่ง แม้ว่าวันนั้นจะไม่มีคนพลุกพล่านมากนัก แต่มันก็ได้ทำให้เรานึกย้อนกลับไปยังอดีตที่ผ่านมา อดีตที่ติดยึดอยู่กับสุรา นารี และเสียงเพลง

“ขอน้ำเปล่า…ครับ” ข้าพเจ้าแจ้งความประสงค์กับพนักงานเสริร์ฟ ที่เข้ามาถามตามหน้าที่ปกติของเขา บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าจะมองตามเด็กเสริร์ฟ เพื่อดูพฤติกรรมว่าเขา จะรินถูกแก้วหรือเปล่า มันเป็นความระแวงอย่างบอกไม่ถูก

“นี่คุณ…ดื่มเหล้าหรือเปล่า เอาหน่อยมั้ย เดี๋ยวผมรินให้…” เพื่อนที่รู้จักกันมานานหลายปี แต่เพิ่งได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรกถามขึ้น และคะยั้นคะยอยื่นข้อเสนอ สิ่งที่มีค่าที่สุดในสายตาของเขาให้ข้าพเจ้าดื่ม

‘ปฏิเสธ ไป..!’ ในใจมันคิดอย่างนั้น แต่จะทำอย่างไรดี ให้ดูนิ่มนวลและสุภาพที่สุด ข้าพเจ้าทำสีหน้าครุ่นคิด ไม่อาจจะหาคำพูดที่เหมาะสม สุดท้ายก็จำต้องพูดออกไปว่า

“ผมเลิกดื่มแล้วครับ …”

“เหรอครับ เอาหน่อยน่ะ ไม่ต้องเกรงใจ” เขาพูดต่อ
ข้าพเจ้าเริ่มแสดงสีหน้าที่บ่งบอกถึงความเป็นกังวลมากขึ้น จนทำให้อีกฝ่ายเริ่มเห็นถึงความผิดปกติ

“คงมีเหตุผลส่วนตัวใช่มั้ย…” เขาพูด

ข้าพเจ้าพยักหน้ายิ้มรับ เหตุผลส่วนตัว ถือว่าเป็นทางออกที่ดี ซึ่งก็เป็นเหตุผลส่วนตัวจริง ๆ และมันลึกซึ้งมากเกินกว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้ ในเวลาและสถานที่อันจำกัด

มันเป็นธรรมดาของสัตว์ คน และอีกหลาย ๆ สิ่งมีชีวิต ที่จะรู้สึกพอใจ สุขใจ เมื่อได้เสพ ได้ลิ้มลอง จากวัตถุอันเป็นสิ่งปรุงแต่งของโลก ถ้าเปรียบกับนักเดินทาง ในทะเลทรายอันยาวไกล และแสนจะแห้งแล้ง วันหนึ่งเขาได้พบกับโอเอซีส แหล่งพักพิงอันร่มเย็น กลางทะเลทราย เขาจึงหยุดพักเหนื่อยในที่อันร่มรื่นนั้น ด้วยความเหนื่อยล้า จากการเดินทาง ทำให้เขาเผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว

ภาพแก้วที่บรรจุน้ำมีสีสันชวนตา จำนวนมากมาย สุดลูกหูลูกตา ปรากฏขึ้นต่อหนน้าชายนักเดินทางผู้นั้น และบริเวณใกล้ ๆ นั่นเองก็มีกลุ่มคนจำนวนมาก กำลังยกแก้วน้ำต่างดื่มอย่างมีรสชาติ ดูสนุกสนานมีชีวิตชีวากันทุกคน ชายนักเดินทางจึงเดินเข้าไปถามคนกลุ่มนั้นด้วยความสงสัย

“นี่พวกท่าน กำลังดื่มอะไรกันเหรอ ดูท่าทางน่าสนุกจัง”

คนกลุ่มนั้นหยุดดื่มน้ำชั่วครู่ แล้วหันมามองชายนักเดินทาง ต่างพากันหัวเราะชอบใจ

“ท่านคงเพิ่งมาถึง ยังไม่รู้อะไร…นี่เขาเรียกว่า น้ำแห่งความสุข” ชายร่างเล็กที่สุดในกลุ่มอธิบาย พลางหัวเราะไปด้วย

“น้ำแห่งความสุขเหรอ…มันเป็นยังไงกัน”

“มันก็คือ น้ำที่เราดื่มกินไปแล้ว ทำให้เรามีความสุข สนุกสนาน ท่านลองเลือกชิมดูสักแก้วก็ได้ ที่นี่ให้ดื่มกันอย่างไม่มีวันหมดสิ้น แต่มีข้อแม้นิดเดียว ถ้าหากท่านชิมแล้ว รู้สึกชอบขึ้นมา ท่านจะต้องดื่มให้หมดแก้วก่อน จึงจะสามารถดื่มแก้วต่อไป” ชายร่างเล็กอธิบายต่อ

แม้ชายนักเดินทางจะรู้สึกสงสัยในข้อแม้ประหลาด แต่ก็ไม่อยากจะไตร่ถามไปมากกว่านี้ เขาหยิบแก้วบรรจุน้ำสีแดงสดใสที่อยู่ใกล้มือที่สุดมาใบหนึ่ง แต่ทันใดนั้น ได้มีเสียงร้องครวญครางจากใครสักคนหนึ่งในกลุ่มนักดื่มเหล่านั้น

*อ่านต่อ ความสุขในขวดแก้ว(จอกที่ ๒)




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2551 8:10:58 น.
Counter : 361 Pageviews.  

๐๙๓-ธุดงค์ในเมืองใหญ่



ข่าวพระธุดงค์ เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายจากสัตว์ป่า มีอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างประปราย ปีหนึ่ง ๆ ก็ประมาณ ๒ – ๓ ข่าวเห็นจะได้ แต่ที่ดูจะตกอกตกใจก็คงเป็นคนที่อยู่รอบตัวของข้าพเจ้า

“เห็นมั้ย…ว่าในป่านั้นอันตรายแค่ไหน…”

ข้าพเจ้ากลับนิ่งเฉย ก็แล้วยังไง ทุกคนเกิดมาก็มีชะตากรรมเป็นของของตนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า เราก็ต้องตายอยู่ดีไม่ใช่หรือ…
เคยอ่านวาทะของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า

“สิ่งสำคัญไม่ใช่ก่อนตายเราอายุเท่าไหร่ หรือเรียนรู้โลกมาเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่ว่า ตอนตายนั้นใครจะหอบเอากิเลส ตัณหา ความเห็นผิด ติดตัวตามไปอยู่ด้วยมากน้อยแค่ไหน ต่างหาก”

ซึ่งเท่าที่จำได้ก็ประมาณนี้ ถ้าผิดพลาดในรูปประโยคบ้างก็ขออภัย แต่มั่นใจว่ามีความหมายอยู่นัยเดียวกันนี้

ในป่าแม้จะดูว่าอันตราย แต่จริง ๆ แล้วในเมืองใหญ่นี้อันตรายกว่าในป่า หลายร้อยเท่า บนเส้นทางที่เดินอยู่ในป่าแม้จะอันตรายก็จริง แต่เส้นทาง สายคอนกรีต ลาดยาง ก็อันตรายมากกว่าหลายร้อยเท่า แต่ผู้คนไม่สนใจที่จะพิจารณากัน ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีพระธุดงค์ที่เสียชีวิตจากอันตรายในป่า ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ยังน้อยกว่าผู้คนที่พากันไปตายอยู่บนถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ แค่ปีเดียวเสียอีก

ครั้นจะพูดจะอธิบายไปก็คงเข้าใจกันยาก มันยากเพราะกิเลสมันบังใจ มองไม่เห็น คิดไม่ได้ รู้ไม่ทันกิเลส เราจึงต้องทนทุกข์ และมองป่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว น่าอันตรายเสมอ

‘กลับเข้าเมืองก็ได้….’ ข้าพเจ้าจำต้องจนด้วยอารมณ์ และเหตุผลของญาติ ๆ ที่คิดว่าในเมืองที่ศริวิไลย์นี้ คงมีอะไรตอบสนองไม่ให้ข้าพเจ้าคิดถึงการบวชอีก

‘ยังไงในเมืองก็อันตรายกว่าในป่า…’

‘เอาสิ…ใครจะคิดยังไงก็ช่าง เรามันเป็นอย่างนี้’

ตอนนั้นความคิดมันก็ประมาณนี้เอง ไม่ค่อยยอมฟังใคร หากผู้นั้นมีทิฏฐิที่ไม่เข้ากัน ก็เงียบ หยุดพูด พยักหน้ายอมรับ แต่ในใจไม่เห็นด้วย และอยากจะไปให้พ้น ๆ จากวงสนทนา การอธิบายเหตุผลให้คนที่มีทิฏฐิมานะ ยอมรับได้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ดังนั้นการนิ่งเฉย การวางเฉยเสียบ้างก็เป็นการดีที่สุด และเราจะดำเนินชีวิตอยู่ในป่าคอนกรีต อย่างสบายใจ สบายกายที่สุด

เดินกลับจากที่ทำงาน…
ข้าพเจ้าชอบเดินมากกว่าที่จะขับรถไปทำงาน เพราะการเดินทำให้เรามองเห็นอะไร ๆ ได้มากขึ้น มองเห็นชีวิตคน การดิ้นรน การเสาะหา การแก่งแย่งกัน ขอทาน ช้างเร่ร่อน
และอื่น ๆ อีกมากมาย การเดินนี้ก็ไม่เดินเปล่า เป็นการเดินที่รู้จักใช้อารมณ์พิจารณาสิ่งที่อยู่ภายในกายคือ จิต อารมณ์ และ วัตถุรูปที่อยู่ภายนอก คือ สิ่งที่เข้ามากระทบ ว่าเราจะมีอารมณ์ตอบสนอง สิ่ง ๆ นั้นอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงสนุกไปกับการเดินกลับบ้านตอนเย็น และไปขึ้นรถเมล์ยังยังป้ายที่ต้องต่อรถช่วงที่สองเป็นประจำ แม้ว่าระยะทางจะไกลแต่ในความรู้สึกแล้วกลับใช้เวลาไม่นาน คนภายนอกที่ดูไม่ออก และไม่เข้าใจ คงคิดว่าข้าพเจ้าเป็นพวกบ้า หรือไม่ก็พวกตะหนี่ ขี้เหนียว ประหยัด มีรถยนต์แล้ว แต่ไม่รู้จักใช้ ซึ่งก็ช่างพวกเขาเถอะ ใครจะไปรู้ใจเราได้เท่ากับตัวของเราเอง

นี่เองจึงเป็นที่มาของการเดินธุดงค์ในเมืองใหญ่ เป็นการเดินไปพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริง ตามแต่สิ่งที่จะมากระทบ ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น สัมผัส ต่าง ๆ

หลายครั้งที่ต้องหลบฝูงช้าง ก็คือ รถยนต์ทั้งหลาย ที่ไม่ค่อยจะเดินกันเป็นระเบียบนัก มันอยากจะร้อง มันก็ร้อง แสดงถึงความไม่พอใจออกมา เมื่อมีคนเดินข้ามถนนช้าไม่ทันใจ หรือมีช้างตัวอื่นเดินตัดหน้ามัน ถ้าเป็นกลางคืนจะมีช้างประเภทหนึ่งอาละวาดเสมอ นั่นคือ ช้างตกมันซึ่งไปหาดูได้ในย่านรัชดา อาซีเอ พวกนี้คือพวกเมาแล้วขับทั้งหลาย มันสร้างความเดือดร้อน ยิ่งกว่าช้างตัวเป็น ๆ เสียอีก

ในป่ามีหุบเหวที่จะทำให้เราพัดตกได้รับอันตราย ในเมืองใหญ่ก็มีท่อระบายน้ำ ที่เปิดฝาทิ้งไว้ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นกับดักชั้นดี หากเราเดินไม่ระวังก็ตกท่อ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ในป่ามีอสรพิษที่คอยทำร้ายให้เราบาดเจ็บ ในเมืองก็เช่นกัน มันเยอะและร้ายแรงกว่าอสรพิษในป่าเสียอีก นั่นคือเหล่า ผู้หญิงที่แต่งตัวชวนบาดตา และคำพูดอันหลวกลวง หยาบโลนก็เป็นอสรพิษอย่างหนึ่งเช่นกัน ผู้ที่เข้าไปติดข้องไปสัมผัส ก็ไม่ต่างอะไรกับการเข้าไปเหยียบงูพิษในป่า ร้อยทั้งร้อยมันก็ต้องฉกกัดเราอยู่อย่างนั้นเอง

ในป่ามีไข้ป่าที่ทำให้เราล้มป่วย ในเมืองมีมลพิษ มลภาวะที่ทำให้เราเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง รวมทั้งโลกร้ายที่ยากเกินกว่าที่รักษา เชื่อเถอะว่าคนเมืองเป็นภูมิแพ้มากกว่าคนที่อยู่ป่า แล้วเป็นไข้ป่าเสียอีก เพียงแต่ไข้ป่ามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าเท่านั้นเอง

รวมความแล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีอันตรายทำให้เราบาดเจ็บได้พอ ๆ กัน อยู่ที่เราจะวางตัววางใจ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากน้อย แค่ไหน…เท่านั้น




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2551 7:53:06 น.
Counter : 335 Pageviews.  

๐๙๒-ท่ามกลางแสง...แห่งศรัทธา



ท่ามกลางแรงศรัทธา และเชื่อมั่นในความดีงาม และคุณของพระพุทธศาสนา เหมือนหนึ่งเปลวเทียนที่จุดติดท่ามกลางลมพายุ เทียนหลายต่อหลายเล่ม ดับวูบลงเพราะไม่อาจจะต้านต่อกำลังลมได้ ชายนักเดินทางถือเทียนเล่มนี้อย่างระวัดระวัง

เขาพยายามพยุงตัวเองให้เดินฝ่าพายุไปให้ได้ และต้องคอยระวัง แสงแห่งศรัทธาไม่ให้วูบดับลง
ยิ่งเดินทางไกลเท่าไหร่ ลมพายุก็ยิ่งแรงมากขึ้นเท่านั้น มีเสียงหนึ่งดังคล้อยมากับสายลมว่า
“จะเดินไปถึงไหน…จะถือเทียนเล่มนี้ไปเพื่ออะไร…เพราะถึงอย่างไร เจ้าก็ไม่สามารถฝ่าลมพายุนี้ไปได้อยู่ดี…มองดูรอบ ๆ กายเจ้าสิ…มีใครบ้างที่เขาต้องการ แสงแห่งเทียนเล่มนี้กันบ้าง…”

ชายนักเดินทางหันเทียนที่อยู่ในมือ ส่องมองดูคนรอบ ๆ กาย บางคนพิการ เดินไปเดินมาลำบาก บางคนเดินไม่ไหวนั่งฟุบลงกับพื้น บางคนก็กำลังคลานอย่างช้า ๆ เหมือนกับกำลังหาอะไรบางอย่างอยู่กับพื้น ทุกคนรอบ ๆ กายของชายนักเดินทาง มองไม่เห็นไม่สนใจเขาเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่เขามีแสงเทียนถืออยู่ในมือ พอที่จะนำทางคนพวกนั้นให้เดินทางออกจากพายุ และความมืดมิดได้

“เห็นมั้ย…คนพวกนี้ เขาไม่สนใจเจ้าแม้แต่นิดเดียว แล้วเจ้าจะทำเพื่อพวกเขาทำไมกัน สู้นำเทียนเล่มนี้เดินกลับไปบ้านที่เจ้าจากมาเสียดีกว่า”

นั่นสินะ… บางครั้งชายนักเดินทางก็รู้สึกท้อแท้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เขาทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร และได้อะไรตอบแทน ในเมื่อคนที่อยู่รอบกาย มองไม่เห็น ดูไม่ออกถึงความสำคัญของแสงสว่าง

พวกเขาไม่ได้ตาบอดสนิท แต่การอาศัยอยู่ในที่มืดนานๆ ก็ทำให้ประสาทตาไม่อยากจะตอบสนองต่อแสงสว่าง เปลวเทียนเล่มนี้ อาจจะมีกำลังน้อยเกินไปก็เป็นไปได้

สายลมยิ่งโหมกระหน่ำมากขึ้น…

เปลวไฟเริ่มต้านลมได้น้อยลง มันเริ่มสั่นไหวไปมา ชายนักเดินทางทรุดนั่งลงกับพื้นอย่างอาลัย แสงแห่งศรัทธาคงจะดับลงในไม่ช้า เพราะพายุนี้รุนแรงเหลือเกิน เขาไม่เหลือเรี่ยวแรงที่พอจะนำแสงเทียนแห่งศรัทธาเดินทางต่อไปได้

เสียงหัวเราะชอบใจจากใครสักคนหนึ่ง ดังก้องเข้ามาตามทิศทางลมพายุ

“นั่นแหละ…ถูกต้องที่สุดแล้ว เจ้าฝืนไปก็ไม่ได้อะไรดีขึ้นมา…” ในขณะนั้นเปลวเทียนกำลังจะดับวูบลง แต่ทว่า…


“ดูก่อน บุรุษผู้มีความเพียร แสงสว่างนี้ เราตถาตคได้จุดขึ้นแล้ว เธอเป็นผู้ปรารถนาที่จะนำแสงสว่างนี้ ส่งต่อให้เหล่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีนัยย์ตามืดบอดเหล่านั้น ได้มองเห็นโลกชัดตามความเป็นจริง หากภายภาคหน้า ไม่มีบุรุษเช่นเธอ ใยเลยแสงสว่างที่ตถาคตจุดขึ้นนี้ จะเดินทางไปถึงเหล่าสัตว์เหล่านั้นได้”

เรี่ยวแรงกำลังของชายนักเดินทางกลับคืนมาอีกครั้ง พร้อมกับเปลวเทียนแห่งศรัทธาได้ลูกโชติช่วง ต่อสู้กับลมพายุ อย่างไม่มีอาการสั่นไหวอีก เขาลุกขึ้นเดินต่อไป ด้วยกำลังใจและความเชื่อมั่น ว่าแสงเทียนแห่งศรัทธานี้ จะต้องเดินทางไปถึงยังสถานที่ที่จะเป็นเชื้อเพลิง สำหรับจุดแสงสว่างขนาดใหญ่ เพียงพอที่จะทำให้เหล่าสัตว์โลก ได้มองเห็นสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิตได้ ในอนาคตอันใกล้นี้




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2551 19:57:42 น.
Counter : 1125 Pageviews.  

๐๙๑-ข้างทางจงกรม




การได้หยุดพักผ่อน เพื่อเข้าวิปัสสนากรรมฐาน เป็นทางเลือกหนึ่งที่ข้าพเจ้าพอใจที่จะทำอยู่เสมอ กลิ่นไอแห่งพระอริยะ ลอยวนเข้ามาสัมผัสกับมโนจิตอยู่เป็นประจำ ข้าพเจ้าพยายามเสาะหาเวลาที่ว่าง เพื่อเสาะหาสิ่งที่เข้าใจว่า พระอริยะแห่งหุบเขา นั้นอยู่ที่ไหน…

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี ๒๕๕๑ มีข่าวสำนักปฏิบัติธรรมป่า ในเขตอำเภอใกล้บ้าน ดังเข้ามากระทบโสตข้าพเจ้า สองถึงสามครั้ง และพยายามขับรถหา จนถึงความพยายามในครั้งที่สาม จึงเดินทางมาถึงเพราะระยะทางนั้นไกลพอสมควร ทางเข้านั้นหากศรัทธาไม่ถึง ก็ล้มเลิกได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ข้าพเจ้าเข้าไปกราบหลวงปู่ในตอนเย็น และแจ้งให้ท่านทราบถึงวัตถุประสงค์ว่าอีก หนึ่งอาทิตย์จะมาเข้ากัมมัฏฐาน แต่วันนี้ติดธุระขอกลับบ้านไปก่อน หลวงปู่ก็พยักหน้ารับ และจัดการสั่งให้พระลูกวัดทำงานต่อ

ข้าพเจ้ากลับมายังบ้าน แต่ด้วยธุระการงานนั้นมากพอสมควร เป็นอันว่าเลยเวลาที่กำหนดกับหลวงปู่ไว้ คืนหนึ่งข้าพเจ้าได้ฝันเห็นหลวงปู่ ท่านบอกให้มาที่วัด และให้พาท่านไปกิจนิมนต์ในตัวอำเภอ หลังจากตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องไปวัดตามสัญญาที่ให้กับหลวงปู่ไว้ และ ก็เป็นโอกาสดีที่จะกลับเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ เสียที การกลับมาครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามาต่อสู้กับกฏแห่งกรรม อย่างที่เราไม่สามารถหนีมันได้ แม้ว่าจะรู้ชัดในความเป็นไปของชีวิตตัวเอง แต่เราเองก็ไม่อาจจะฝืนโชคชะตาได้เลย

ปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๑ เป็นช่วงที่กำลังผลัดฤดูเข้าสู่หน้าฝน พายุฝนลูกหนึ่งกำลังซัดกระหน่ำ ทำให้ฝนตกชุกอยู่เป็นสัปดาห์ ข้าพเจ้าขับรถมายังวัดของหลวงปู่ วันนั้นมีผ้าขาวซึ่งเป็นคนท้องถิ่นอยู่เพียงคนเดียว ข้าพเจ้าจึงเป็นคนแปลกถิ่น และต้องพักอยู่เพียงลำพัง ในกุฎิเล็ก ๆ มีขนาดเพียงเหยียดขาไปได้สุดก็ชนกับผนังพอดี

การปฏิบัติของพระที่วัดก็ถอดแบบมาจากสายพระป่าของ อาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทุกอย่าง ข้าพเจ้าขอข้ามที่จะอธิบายไปก่อนเพราะหลายท่านคงทราบ ข้อวัตรปฏิบัติแนวพระป่าดีอยู่แล้ว หากเขียนไปก็คงเป็นสารคดีเชิงธรรมะเรื่องยาวเป็นแน่

ชายป่าข้าง ๆ กุฎิ มีสถานที่เหมาะสมสำหรับนั่งสมาธิ ในตอนกลางวัน ข้าพเจ้าแบกมุ้งกรด เข้าไปในป่า และหาที่นั่งสมาธิในนั้น ฝนที่ตกมาในช่วงกลางคืน ทำให้ดินในบริเวณป่า ชุ่มไปด้วยน้ำและเปียกชื้นอย่างมาก ข้าพเจ้าเสาะหา กิ่งไว้เศษใบไม้ มารองนั่งเพื่อไม่ให้ความชื้นเข้ามารบกวนการนั่งสมาธิ

บริเวณใกล้ ๆ มีทางเดินจงกรม ซึ่งเป็นทางที่พระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมเคยใช้มาก่อน แต่ช่วงนี้คงไม่มีใครเดินจงกรมมานานเป็นอาทิตย์เพราะ พื้นที่เปียกชื้น เริ่มมีใบไม้ปกคลุมรกมากขึ้น ข้าพเจ้าเข้าไปเกลี่ยทางเพื่อที่จะใช้เดินจงกรม ทางยาวประมาณ ๘ เมตร เดินวนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น สลับกับการนั่งสมาธิ

ในช่วงบ่ายวันนั้น ข้าพเจ้าเดินมาจนสุดปลายทางเดินจงกรม และกำลังจะกลับตัว ปรากฎว่ามีนกตัวหนึ่งมาเดินวนไปเวียนมาอยู่ที่ปลายเท้าของข้าพเจ้า จึงคิดในใจว่า

‘นกตัวนี้แปลกจริง ไม่กลัวคน…’

เมื่อขยับมือไล่ มันก็บินหนี ไปเกาะอยู่ที่กิ่งไม้ใกล้ ๆ และไม่ยอมห่างจากทางจงกรมของข้าพเจ้าเลย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดอะไรมาก และเดินจงกรมต่อไปอีกรอบหนึ่ง

‘ธรรมดาสัตว์ย่อมกลัวอันตรายจากมนุษย์ แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้นกตัวนั้นไม่กลัวอันตรายจากเรา… นอกเสียจากมันทำเพื่อปกป้องสิ่งที่มันรักมากที่สุด…’

‘นั่นไง…’ ข้าพเจ้าคิดได้ และมองไปที่ตอไม้ข้าง ๆ ทางจงกรม ข้างในมีโพรงเล็ก ๆ มีลูกนกวัยกำลังกินกำลังนอนอยู่ ๒ – ๓ ตัว ที่น่าเวทนาคือมันกำลังทุกข์ยาก จากมดดำฝูงหนึ่งกำลังมุมกัดเจ้าลูกนกทั้งหลาย เพราะเหตุนี้เอง เจ้านกตัวนั้นจึงได้วนเวียนอยู่บริเวณทางเดินจงกรม เพราะมันต้องการจะเข้าไปช่วยลูกนก แต่เพราะข้าพเจ้าเดินจงกรมอยู่เลยเป็นการรบกวนมันโดยไม่ตั้งใจ

ข้าพเจ้าหยุดเดินจงกรม และออกห่างจากตอไม้นั้น ไม่ช้านกตัวนั้นก็เข้ามาในโพรง และช่วยลูกนกจากการทำร้ายของมดดำฝูงนั้น

‘เกือบไปแล้ว…สินะ’

เราเองก็ต่างปรารถนาบุญ กุศล โดยที่ไม่ได้มองสิ่งที่อยู่รอบตัวเลย ว่าเขาจะทุกข์ ยากและได้รับอันตรายจากการกระทำของเราอย่างไรบ้าง ลูกนกอาจจะต้องตาย หากข้าพเจ้ายังฝืนเดินจงกรมบนเส้นทางนั้นต่อไป สิ่งนี้แม้ว่าเราจะไม่ได้เจตนา เพราะเหตุแห่งความไม่รู้ ไม่ได้ตั่งใจจะเบียดเบียนหรือทำร้ายสรรพสัตว์ในทางอ้อม แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลกรรมมันก็จะตกมาสู่เราเสมอ อย่างน้อยก็คงมีเศษกรรมหลงเหลือมาสนอง ในชาติภพต่อไป


ย้อนกลับมาเปรียบเทียบการแสวงหาสัจธรรมในชีวิตจริงของข้าพเจ้าแล้ว มันไม่ได้แตกต่างกันเลย ญาติ ครอบครัว พี่น้อง ผองมิตรนั้น ไม่ต่างอะไรกับลูกนกที่กำลังรอความช่วยเหลือ และยังช่วยตัวเองไม่ได้ จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลจากแม่นกเสียก่อน

การเดินบนเส้นทางธรรมของข้าพเจ้า จึงจำเป็นต้องรอเวลา รอเวลาที่ลูกนกเหล่านั้นได้เติบโต เพียงพอที่จะต่อสู้กับอันตรายรอบตัว และเรียนรู้ในการหาอาหารด้วยตนเอง เมื่อถึงเวลานั้น ข้าพเจ้าก็จะกลับมาเดินบนเส้นทางจงกรมสายนั้น…อีกคราว




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2551 8:39:30 น.
Counter : 558 Pageviews.  

1  2  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.