ออกแบบบ้านเพื่อนเก่า "บ้านครอบครัววัฒนคุณ" ตอนที่ 1



บ้านหลังใหม่นี้ กำลังจะเป็นบ้านหลังแรกที่ได้ออกแบบในรอบไม่รู้กี่ปี เพราะส่วนใหญ่ทำแต่อาคารสาธารณะกันจนแทบจำหลังสุดท้ายไม่ได้แล้ว เหตุเริ่มจากเพื่อนเก่าสมัยมัธยมปลายโทรมาปรึกษาเรื่องที่ดินและบ้านพักอาศัยที่อยู่ในปัจจุบันว่าเกิดประเด็นที่ต้องแบ่งโฉนดที่ดิน ทำให้โครงสร้างบ้านที่อาศัยตอนนี้ส่วนหนึ่ง หรือกึ่งหนึ่งล้ำเข้าไปในที่ดินอีกโฉนดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณชลิดา วัฒนคุณ หรือคุณเอ๋ เพื่อนของผมบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าอายุกว่า 60 ปี ของคุณปู่ของสามีของเธอ พอหลับตานึกถึงบ้านอายุประมาณนี้ ก็คิดถึงภาพของบ้านยุคโมเดิร์นตอนปลาย สมัยแรกๆในเมืองไทยช่วงนั้น ก็เลยบอกเธอไปว่า

“ลองคุยกับพี่ชายสามีดูก่อน ขอซื้อที่ดิน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทำอะไรกับบ้านหลังนี้ มันมีคุณค่าทางความทรงจำของสถานที่”

คือไม่ได้ขี้เกียจออกแบบ แต่เสียดายความเป็นมาของบ้านและกลิ่นอายในบริบทของเค้าน่ะครับ

เวลาผ่านไปพอสมควร ก็มีการแจ้งกลับมาว่า ยังตกลงกันหรือติดต่อไม่ได้ข้อนี้ผมก็จำไม่ได้ เธอและครอบครัวเลยตัดสินใจว่าคงต้องรื้อออกและสร้างบ้านของครอบครัวในที่ดินแห่งใหม่ที่แถวเมืองทองธานี ส่วนพื้นที่นี้ต่อไปเป็นที่ว่างเปล่าจะคิดแผนทำพื้นที่เชิงธุรกิจ หรือเก็บไว้ก่อนก็ค่อยว่ากันใหม่

วันที่ไปดูบ้าน บ้านสวยมาก เป็นบ้านสมัยนิยมในยุคนั้น (คงราวๆ พ.ศ.2490-2500 หรือเป็นบ้านยุค 60-70) ที่มีองคาพยัพทางสถาปัตยกรรมชัดเจน ไม่ว่าลักษณะช่องลม ช่องเปิดทั้งรูปแบบประตูทางเข้า – หน้าต่าง การใช้พื้นผิวทรายล้างและหินกาบประดับกับส่วนประกอบของผนังอย่างพองามไม่มากน้อยเกินไป การใช้ไม้เนื้อแข็งอย่างดีและรวมถึงละเอียดทางสถาปัตยกรรมปลีกย่อยต่างๆ มากมาย ที่แสดงความสง่างามและการมี “ตัวตน” แห่งยุคสมัยของมัน

ยืนพินิจและชื่นชมความสามารถทางการออกแบบของท่านสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ร่วมกับพี่สถาปนิก ลงความเห็นอย่างพร้อมกันว่า…”งามจริงๆ”

ยืนพินิจและชื่นชมความสามารถทางการออกแบบของท่านสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ร่วมกับพี่สถาปนิก ลงความเห็นอย่างพร้อมกันว่า…”งามจริงๆ”

ด้านหน้า ระเบียงยื่นที่พุ่งทะยานออกมาถูกรองรับด้วยช่องโค้งอย่างเหมาะสมและลงตัวด้วยสัดส่วนที่งดงาม สังเกตว่าช่วงของช่องหน้าต่างชั้นสองถูกทอนด้วยเส้นคอนกรีตแบ่งเป็นจังหวะแตกต่างจากชั้นหนึ่ง เป็นการสร้างความแตกต่างได้อย่างกลมกลืนกันระหว่างองค์ประกอบที่เหมือนกันทั้งสอง

ด้านหน้า ระเบียงยื่นที่พุ่งทะยานออกมาถูกรองรับด้วยช่องโค้งอย่างเหมาะสมและลงตัวด้วยสัดส่วนที่งดงาม สังเกตว่าช่วงของช่องหน้าต่างชั้นสองถูกทอนด้วยเส้นคอนกรีตแบ่งเป็นจังหวะแตกต่างจากชั้นหนึ่ง เป็นการสร้างความแตกต่างได้อย่างกลมกลืนกันระหว่างองค์ประกอบที่เหมือนกันทั้งสอง


รายละเอียดงามตา เส้นนอนและตั้ง วิ่งต่อเนื่องอย่างสัมพันธ์กัน


ด้านข้าง เยื้องไปทางหลังบ้าน รายละเอียดเส้นสายของลดทอนความหนักของเสาตัวบ้านด้วยการแบ่งเป็นต้นคู่ขนาบกัน ให้ดูบางเบาสวยงาม แต่ยังคงความแข็งแรงเชิงวิศวกรรมโครงสร้างอย่างสมบูรณ์


ส่วนต่อเติมเมื่อหลายปีก่อน ทำออกมาเป็นพื้นที่ห้องนอนของคุณพ่อสามี เมื่อท่านเสียไปห้องนี้ก็กลายเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ของครอบครัว มีประตูต่อเชื่อมออกมาสู่พื้นที่ภายนอกที่มีลักษณะการโอบล้อมของการหักมุมของอาคาร และรับกับซุ้มไม้เลื้อด้านหน้า เกิดเป็น Open Court ในลักษณะของ Enclosure Space ตามภาษาของสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่ง

ยังมีรายละเอียด หรือที่เราสถาปนิกทั้งหลายติดปากเรียกว่า “ดีเทล” (Details) ที่สวยงามและให้ประโยชน์กับองค์อาคารอีกมากมาย

อย่างการออกแบบฝ้าชายคาที่มีการเจาะช่องกรุตาข่ายเล็กเพื่อการระบายความร้อนใต้หลังคา เป็นแนวคิดอมตะที่เรียกกันว่า “Stack Effect” ที่นักเรียนสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ในสถานศึกษาหลายคน หรือแม้แต่ตัวผมเองก็อาจจะละเลยเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้



รายละเอียดประกอบทั้งการจัดจังหวะของเส้นสายสถาปัตยกรรม และการเลือกบล็อกลมเพื่อการบังตาแต่ไม่บังลม ถูกสอดแทรกประสานเข้ามาใช้ในการประติดประต่อภาษาทางสถาปัตยกรรมให้กับบ้านเล็กๆ หลังนี้

ใต้พื้นส่วนนี้เป็นห้องเก็บของใต้ดิน เลยมีการออกแบบช่องระบายอากาศกับภายนอก ข้อด้อยยังมีที่ขนาดสัดส่วนเล็กไปบ้าง อากาศถ่ายเทค่อนข้างน้อย แต่ก็ถือว่าท่านผู้ออกแบบยังใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยนี้มาก


เข้าไปข้างในยิ่งมีสเน่ห์ สถาปนิกท่านที่ออกแบบสามารถเก็บซ่อนโครงสร้าง และดันฝ้าเพดานให้บ้านที่มีเนื้อที่ใช้สอยไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่กลับทำให้ดูโล่ง โปร่ง และสบายอย่างชาญฉลาด…นับว่าเป็นฝีมือการออกแบบระดับครูแห่งวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างแท้จริง


การสร้างช่องกรอบ ที่ทำให้ผนังกั้นหลายส่วนเกิดการทะลุผ่านของสายตา เป็นการออกแบบเพื่อลดความหนาแน่นของผนังทึบหลายจุดต่อเนื่องและสัมพันธ์กันได้อย่างน่ารัก พอเหมาะพอดี…มากมายความรู้สึก


ในขณะที่กำลังเดินส่อง คุณเอ๋ก็ขอตัวไปทำงานพักนึง เลยแอบถ่ายเจ้าของบ้านผ่านช่องเจาะผนังข้างบันได


บรรยากาศบริเวณ”หัวใจ” ของบ้านคือ ห้องรับประทานอาหารที่ท่านสถาปนิกออกแบบ “ความสลัว” ได้อย่างมีนัยยะของแสงที่พอดี ไม่มืดหรือสว่างเกินไป จนปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าการนั่งรับประทานอาหาร

จากทั้งหมดในเบื้องต้นของการพูดคุย สำรวจคร่าวๆ พบว่า…ที่น่าจะสนุกกับการทำงานครั้งนี้ คือจะเก็บวัสดุไม้ทั้งหมด (เพราะมีเยอะ และดีมากๆ) รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ อย่างประตู หน้าต่าง ของเดิมไปใช้ใหม่ เกิดเป็นโจทย์ในการออกแบบที่สำคัญ และเป็นหัวใจในการทำงานครั้งนี้ว่า…บ้านใหม่ ในที่ดินผืนใหม่จะส่งต่อความรู้สึกเก่าๆ เดิมๆ ที่คุ้ยเคยของครอบครัวนี้ในที่ว่างใหม่ๆ ได้อย่างไร

ในจังหวะที่ผมกำลังยิ้มหวาน แอบขี้โกงในใจบางเรื่องนิดๆ เพื่อนผมทำลายบรรยากาศอันรัญจวนด้วยประโยคไม่ยาวมากนัก ว่า…

“แก ออกแบบบ้านใหม่นะ ห้ามลอกแบบไปตั้งที่ใหม่เลยนะ!!!”

แหม่ กำลังจะสับขาเลี้ยงเข้าไปยิงประตู แต่โดนแหย่ขาฉกบอล ลอดดากไปเฉยเลย พับผ่า!!!


ก่อนกลับไปทำการบ้าน เซลฟี่กับเพื่อนเก่าสักหนึ่งภาพ


น้องหมาชื่อ “มาดี” อายุห้าปี ตัวป่วนตัวแสบประจำบ้าน น่ารักและซนมากครับ

พบกันใหม่ใน...ออกแบบบ้านเพื่อนเก่า "บ้านครอบครัววัฒนคุณ" ตอนที่ 2 ครับ


ขอบพระคุณที่แวะมาครับ

สตูดิโอไม่จำกัด




 

Create Date : 12 มกราคม 2560   
Last Update : 18 มกราคม 2560 11:15:34 น.   
Counter : 1605 Pageviews.  


archparty
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add archparty's blog to your web]