anusun's blog บันทึกไว้เป็นความจำ
Group Blog
 
All Blogs
 
คัดลอกมา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันนี้ (7 พ.ย.) รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพว่า ภาวะผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ และถกเถียงกันในระหว่างการประชุมนายทหารระดับสูงของกองทัพ โดยเห็นตรงกันว่า นายกฯ ขาดความเด็ดขาด และกล้าตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลถาโถมเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และนำพาให้ประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างหนัก ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ ได้สรุปข้อผิดพลาดของนายกฯ ในการบริหารจัดการน้ำท่วม มีทั้งหมด 12 ข้อ ประกอบด้วย

1.ขาดประสบการณ์ในการบริหารราชการ และไม่เข้าใจในการใช้เครื่องมือทางฝ่ายบริหารที่มีอยู่ ทั้งในส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

2.เลือกใช้กฎหมายที่มีอยู่ไม่ถูกต้องต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่รัฐบาลเองไม่กล้าที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่ต้น

3.เรื่องกำหนดตัวบุคคล หรือจัดองค์กรในการเข้ามาดูแลศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ใช้คนไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องน้ำเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะ ผอ.ศปภ.แทนที่จะเป็นกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นกระทรวงยุติธรรม

4.บทบาทของฝ่ายการเมืองมีลักษณะเป็นการทำเพื่อหวังผลทางการเมือง บนความทุกข์ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการแจกของ โดยแจกให้เฉพาะคนกลุ่มคนเสื้อแดง หรือผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลเป็นหลัก ทำให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนในหลายจุด

5.ความไม่เข้าใจของนายกฯ และรัฐมนตรี และ ศปภ.ต่อภูมิศาสตร์ หรือภูมิสถาปัตย์ หรือกายภาพของประเทศ ว่าทิศทางเดินทางของน้ำควรเดินไปทางไหน ซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ และธรรมชาติของภูมิภาค

6.รัฐบาลไม่เลือกพื้นที่ หรือจัดระดับความสำคัญ ว่า รัฐบาลจะให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่สงวนไม่ให้เกิดความความเสียหาย แต่รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง แทนที่จะเอามิติทางสังคมของประเทศไทยเป็นตัวตั้ง

7.การบริหารจัดการน้ำของนายกฯ แก้ปัญหาแบบคล้ายๆ ขายผ้าเอาหน้ารอด คือการเอาคนในพื้นที่ไปอยู่ท้ายน้ำ และเอาคนไปอยู่เส้นทางน้ำผ่านทั้งหมด จึงทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นทวีคูณ แม้แต่ ศปภ.ยังต้องอพยพและไปอยู่ท้ายน้ำเหมือนกับการอพยพประชาชน

8.รัฐบาล และ ศปภ.ปกปิดข้อมูลที่สำคัญบางอย่างกับประชาชน คือ ปริมาตรน้ำที่มีอยู่ พูดภาษาราชการเกินไป แทนที่จะบอกว่าขณะนี้ระดับไหนถึงไหน ขณะที่ปริมาตรน้ำเข้ามาใน กทม. แจ้งกันในเฟซบุ๊ก ทำให้ข้อมูลข่าวสารได้รับเพียงประชาชนคนชั้นกลางที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำไม่เคยรับรู้เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

9.การเมืองระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าฯ กทม.ที่ใช้เวทีบริหารจัดการน้ำ มาชิงพื้นที่ทางการเมือง ส่งผลให้การบูรณาการทั้งระบบล้มเหลว

10.วิธีการของรัฐบาลที่เรียกว่าจับราชการแยกออกจากกัน ด้วยการสร้างอาณาจักรตำรวจ ขึ้นมาแข่งกับทหาร โดยมอบหมายภารกิจของทหารให้ตำรวจทำ แทนที่จะให้จับโจรผู้ร้าย

11.การสื่อสารของรัฐบาลไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้ ที่ผ่านมารัฐบาลเสนอข้อมูลแบบซ้ำไปซ้ำมา

และ 12.เรื่องการขุดเจาะถนนเพื่อระบายน้ำถือว่ามีความจำเป็น แต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะทำเรื่องดังกล่าว

นายทหารระดับสูงจากกองทัพ ยังยืนยันด้วยว่า แม้กองทัพจะมองเห็นจุดด้อย และวิจารณ์การบริหารของนายกฯ แต่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่ต้องกลัวว่าทหารจะออกมาปฏิวัติ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ กองทัพต้องเลือกที่จะช่วยเหลือประชาชนก่อน และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาย้ำหลายครั้งว่า ทหารไม่ปฏิวัติแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่เกิดวิกฤตอุทกภัยเป็นต้นมา พบว่า ประชาชนไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มากขึ้น ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนพึงพอใจในการให้ความช่วยเหลือของทหารเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ แอแบคโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นเสียงสะท้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต่อผู้เข้าให้ความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ความพอใจของผู้ประสบภัยต่อหน่วยงานและคณะบุคคลที่เข้าช่วยเหลือ อันดับแรกคือ ทหาร ได้ 9.56 คะแนน รองลงมา คือ กลุ่มอาสา สื่อมวลชน ตำรวจ และส่วนงานกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

ขณะที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในภาพรวมของรัฐบาล ผู้ที่เข้าพักอาศัยในศูนย์พักพิง เห็นว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ขาดการเตรียมพร้อมที่ดีมากถึง 46.90% รองลงมาคือ การสื่อสาร แจ้งข้อมูลไม่ชัดเจน/ชาวบ้านหนีน้ำไม่ทัน 24.39% ส่วนผู้ที่ไม่เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิง เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง เกิดการซ้ำซ้อนในบางพื้นที่ 41.53% รองลงมาคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดประสิทธิภาพ ขาดผู้รู้จริง 20.56% ข้อมูลสับสน การประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน 19.85%


ขออนุญาตคัดลอกความเห็นที่ 8 ของกระทู้ //www.forum.munkonggadget.com/detail.php?id=62185






Create Date : 08 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2554 9:43:18 น. 0 comments
Counter : 733 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

anusun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add anusun's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.