Let' s share to make the world beautiful.
Group Blog
 
All blogs
 

10. เครื่องเล่นพัฒนาเด็ก



ขณะอยู่ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่พัฒนาศักยภาพของเด็กหลายแห่ง อย่างเช่นที่ “มุคุโนะคิ” ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีปัญหาเรื่องความบกพร่องทางสติปัญญา

สถานเลี้ยงดูเด็กที่มีความผิดปกติมีอยู่ประมาณ 250 แห่ง ซึ่งรองรับเด็กได้ 30-40 % เท่านั้น เด็กบางคนส่วนต้องไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กธรรมดา บางคนอยู่ที่บ้าน ในเกียวโตมีเด็กที่ผิดปกติจำนวน 600 คน แต่มาอยู่ในสถานเลี้ยงดูเด็กที่มีความผิดปกติประมาณ 180 คน นับว่ายังไม่เพียงพอ ส่วนนักเรียนที่มุคุโนะคิมีราว 20 กว่าคน อายุตั้งแต่ 1 ปี 3 เดือน ไปจนถึง 5 ปี


มุคุโนะคิต่างจากสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วไปคือ มีการใช้หลักจิตวิทยาและคำนึงถึงสรีระวิทยาของระบบประสาทในการเลี้ยงดูเด็ก พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเฉพาะด้านของเด็กด้วย โดยให้ความช่วยเหลือเด็กโดยเริ่มจากการสร้างร่างกายที่แข็งแรง มีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ ทำให้เด็กสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต

การพัฒนาเฉพาะด้าน เช่น ให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวออกกำลังกายได้หลายท่า เช่น ยืดแขนไปข้างหน้าหลัง ซ้ายขวา, ใช้อุปกรณ์อย่างเช่นตุ๊กตาประกอบการเล่น, ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของตน, สามารถเลียนแบบผู้อื่นหรือเล่นสมมติ, ยอมรับคำแนะนำหรือคำสั่งจากผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีความเข้าใจภาษาและสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้

อาจารย์ชิบูย่า ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของที่นี่ เล่าให้ฟังว่า นักเรียนยังเป็นเด็กเล็ก ระบบการเรียนการสอนจึงเน้นการเล่นเป็นสื่อหลัก โดยเน้นกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมการเล่นให้เข้าถึงเด็กแต่ละคน อาจารย์ชิบูย่าพาชมอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มจากบอลลูนยักษ์ “เมื่อเด็กที่มีพัฒนาการช้ามาเล่น ก็จะฝึกการทรงตัว หากเด็กซนๆ มาเล่น จะเกิดการเรียนรู้ว่า การยืนอย่างมั่นคงบนบอลลูนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็จะสอนให้เด็กรู้จักเรื่องแรงดึงดูดของโลกที่มีต่อร่างกายของเรา เมื่อกระโดดโลดเต้นไปด้วยก็จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อไปด้วย”




ภายในห้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ให้เด็กเล่นมากมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการปรับความสมดุลของร่างกาย เช่น อุปกรณ์ให้เด็กนั่ง อุปกรณ์ฝึกดันตัว โดยให้เด็กนอนคว่ำลงแล้วใช้แขนขาดันไปข้างหน้า อุปกรณ์สำหรับเด็กตาบอด เป็นต้น










ขณะที่เราไปเยี่ยมโรงเรียน เป็นช่วงพักกลางวันพอดี พวกเราจึงได้เห็นเด็กๆ กินอาหารกันอยู่ เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า “ที่นี่จะไม่ใจดีเหมือนโรงเรียนทั่วไป จะบังคับให้เด็กกินอาหารที่จัดไว้ ถ้าเลือกแต่อาหารที่ตนเองชอบ จะทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อีกทั้งอยากให้เด็กสามารถปรับตัวได้ ในกรณีที่ไม่มีอาหารที่อยากกินอีกด้วย ส่วนบางคนไม่สามารถเคี้ยวอาหารตามปกติได้ เราได้มีการฝึกอย่างเป็นขั้นตอนจนสามารถป้อนข้าวได้ด้วยตนเอง




พี่แอนคิดว่านับเป็นโรงเรียนตัวอย่างอีกแห่งหนึ่ง ที่ส่งเสริมเด็กพิการ และเด็กที่มีพัฒนาการช้า ให้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ต่อจากมุคุโนะคิ เราพักกินข้าวกลางวันที่สวน Maru Yama แล้วเดินทางต่อไปที่สถานดูแลเด็กอีกหลายแห่ง ซึ่งแตกต่างกันอย่างไรนั้น พี่แอนขอเก็บไว้เล่าต่อตอนหน้าค่ะ
>




 

Create Date : 14 กันยายน 2553    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2560 13:20:59 น.
Counter : 998 Pageviews.  

8. เด็ก ครอบครัว และชุมชน รวมเป็นหนึ่ง

กลับจากค่ายสัมมนาเยาวชนที่เมืองชิซูโอกะ เรามีเวลาพักผ่อนหนึ่งวันเต็มๆ ก่อนจะเดินทางด้วยรถไฟชินกันเซนจากโตเกียวไปเกียวโต พี่แอน ป๋วย โป่งเลือกไปโตเกียวดีสนีย์แลนด์ (ชมแต่บริเวณด้านหน้าเท่านั้น แค่เดินถ่ายรูป ชมบรรยากาศ ซื้อของที่ระลึกก็เพลิดเพลินแล้วละ)

เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่ามานานเกือบ 1,100 ปี (พ.ศ. 1337-2411) เป็นที่ประทับของพระจักรพรรดิ จึงมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่มาก โดยเฉพาะวัดเก่าแก่ซึ่งยังคงรักษาและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น วัดคินคะคุจิ ซึ่งเป็นวังของโชกุนอาชิคะงะโยชิมิตซึ ที่เราคุ้นเคยจากการ์ตูนเรื่อง เณรน้อยเจ้าปัญญา อิ๊กคิวซังนั่นเอง วัดคิโยมิตซึ ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมไปสักการะและดื่มน้ำบริสุทธิ์ เชื่อว่าดื่มแล้วจะโชคดี นอกจากนี้เมืองเกียวโตยังเป็นแหล่งของงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ และธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยงาม ต่างจากโตเกียว เมืองหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมที่ทันสมัย

ไปเทศบาลเกียวโต
คณะเยาวชนเดินทางมาถึงเมืองเกียวโตในยามเย็นของวันที่ 14 มิถุนายน โดยได้รับการต้อนรับจากเทศบาลเมืองเกียวโต เราได้ฟังการบรรยายเรื่องนโยบายสวัสดิการสำหรับเด็ก





วันรุ่งขึ้น พวกเราเดินทางไปเยี่ยมชมสถานดูแลและสนับสนุนสวัสดิการเด็กประจำท้องถิ่น “โทนันโนะโซโนะ”



เด็กๆ ผู้ดูแลเด็ก และคุณแม่จะมาใช้บริการที่ศูนย์ดูแลเด็กแห่งนี้ ใกล้ ๆ กันยังมีบ้านพักคนชราอยู่ด้วย

คุณซาชิ นากางาวะ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ เล่าให้ฟังว่า ในสัปดาห์หนึ่งจะมีคนชรามาอยู่ที่นี่หนึ่งวัน แล้วก็กลับบ้าน ส่วนมากเป็นคนในบริเวณนี้ และอีกส่วนหนึ่งเป็นคนชราที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งเขามักจะรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ทางศูนย์ฯ จึงพยายามจัดกิจกรรมให้ชุมชนได้พบปะกับคนชรา ช่วยให้เกิดความสุข และไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง

ขณะที่เด็กก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกับคนชราได้ เช่น กิจกรรมร้อยลูกปัด แม้คนชราจะมองไม่ค่อยเห็น แต่ก็มีเด็กคอยช่วยร้อยเชือก หากเด็กเลือกสีไม่สวย คนชราก็จะแนะนำ

“ผู้ใหญ่ผ่านโลกมามาก จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่เด็ก เมื่อเด็กได้ฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ จะรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่คอยดูแล ทำให้พวกเขามีความสุข เมื่อแต่ละวัยได้พบปะกัน จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน ทำให้ชุมชนพัฒนาขึ้น” คุณซาชิ นากางาวะ กล่าว



นอกจากมีกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก ทางศูนย์ยังจัดกิจกรรมในหลายระดับจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เน้นให้เกิดการทำกิจกรรมระหว่างคนต่างวัย เพื่อให้เกิดการสื่อสารและเข้าใจระหว่างกัน เช่น วัยรุ่นสมัครเป็นอาสาสมัครสอนเด็กปั้นดินน้ำมัน คุณป้าสอนเด็กมัธยมปลายให้รู้วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ทั้งยังสนับสนุนให้ชุมชนหรือองค์กรต่างๆ ได้พบปะสังสรรค์ระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ

พวกเราไปดูเด็กๆ กำลังทำกิจกรรมที่สนามด้านหน้า มีกิจกรรมสนุกๆ ที่แฝงไว้ถึงการสอนให้เด็กรู้จักกฎ กติกา และการอยู่ร่วมกัน เช่น หลังเล่นลูกบอล เด็กๆ ต้องนำลูกบอลมาคืน การร้องเพลงประกอบการเล่านิทานภาพ ทำให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถและความสนุกของตนเองอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็เพลิดเพลินไปกับเพลงจังหวะสนุกๆ

มองดูความน่ารักของเด็กๆ จึงอดไม่ได้ที่จะสนุกกับเด็กไปด้วย เหล่านี้เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และเรียนรู้เด็กจากการเล่นของเขา





กิจกรรมเล็กๆ เหล่านี้จึงช่วยสร้างเสริมพลังในการดำเนินชีวิต และทักษะในการเข้าสังคมให้แก่เด็ก ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของผู้คนในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น

เมื่อเด็ก ครอบครัว และชุมชน รวมเป็นหนึ่ง สังคมจึงเข้มแข็งและมีคุณภาพ

ตอนหน้า เรายังอยู่ที่เกียวโต ยังมีสถานที่พัฒนาศักยภาพของเด็กอีกหลายแห่งค่ะ




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2553 7:07:15 น.
Counter : 814 Pageviews.  

7. เข้าค่ายสัมมนากับเยาวชนญี่ปุ่น

ค่ำคืนของวันที่ 9 เราต้องเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าใบย่อมสำหรับไปค้างสามวันสองคืนที่จังหวัดชิซูโอกะ เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องชาเขียวและภูเขาไฟฟูจิ เราไปเข้าค่ายสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายด้านวิชาการที่โตเกียว ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่เมืองเกียวโต และแยกจากเพื่อนในคณะเพื่อไปพักกับครอบครัวญี่ปุ่นแบบฉายเดี่ยว ซึ่งล้วนแต่เป็นเวลาที่เราต่างตื่นเต้น

การเข้าค่ายสัมมนากับเยาวชนญี่ปุ่น จัดขึ้นที่บ้านพักเยาวชนซูเซนจิ (Shusenji Youth Hostel) มีกำหนดสามวัน กิจกรรมหลักคือ แบ่งกลุ่มพูดคุยตามหัวข้อที่สนใจ เยาวชนญี่ปุ่น 23 คนที่ร่วมสัมมนา ส่วนใหญ่ทำงานด้านสวัสดิการสังคม บางคนไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่ก็มีประสบการณ์จากการเป็นอาสาสมัครมาก่อน



สมาชิกในกลุ่มของพี่แอนมีพี่นัท ปุ้ม ทักษ์ เอมี่ มายูมิ ทาอิชิ และไอซาโอะ ส่วนพี่ย้ง เป็นล่ามประจำกลุ่ม ในวันแรก กลุ่มพี่แอนได้รับเกียรติจากคุณโมโรโฮชิ (Toshiro Morohoshi) หัวหน้าจากศูนย์เยาวชนมานั่งด้วย การพูดคุยในหัวข้อ “กิจกรรมเยาวชน” ประเด็น “โลกในฝันสำหรับเด็ก” จึงได้รับมุมมองที่น่าสนใจยิ่ง

“ครอบครัวญี่ปุ่นน่าสงสารกว่าไทย แม้ญี่ปุ่นมีเครื่องใช้ทุกอย่าง แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่อยู่ ปล่อยให้เด็กเศร้าอยู่คนเดียว ส่วนครอบครัวไทย แม้พ่อแม่ออกไปทำงาน แต่ก็ยังมีปู่ย่าตายายคอยดูแล ปัญหาของไทยคือ ความยากจน แต่จิตใจไม่จนด้วย” คุณโมโรโฮชิเล่าให้ฟัง และยังบอกอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังคิดว่า ควรสร้างสถานที่ให้เด็กไปหลังเลิกเรียนหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาที่เด็กกลับบ้านแล้วไม่เจอใคร หรือจะให้เด็กเรียนวันเสาร์เหมือนเดิม เพื่อให้เด็กมีผลการเรียนที่มาตรฐาน

“เมื่อก่อนเด็กเรียนวันเสาร์ด้วย แต่ได้ยกเลิกไป เพราะวิจัยแล้วพบว่าการที่จะเรียนในโรงเรียนอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ มีสถาบันมากมายในสังคมที่จะสอนเรา โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว ถ้าสัปดาห์หนึ่งเรียนหกวัน โอกาสที่จะอยู่บ้านพูดคุยกันก็น้อยลง แต่เมื่อประเมินผลการเรียนของเด็ก ปรากฏว่าเด็กมีการเรียนต่ำลง สาเหตุนี้เพราะอะไร เป็นไปได้ไหมว่า เนื่องจากลดวันเรียนลง”

ขณะที่เสียงจากเยาวชนญี่ปุ่นอีกกลุ่มมองว่า แม้ประเทศญี่ปุ่นเพียบพร้อมด้านเทคโนโลยีและปัจจัยสี่ แต่พวกเขาก็ไม่พึงพอใจที่รัฐบาลเก็บภาษีในอัตราที่สูง อีกทั้งมีความวิตกกังวลว่า การที่ไม่มีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อาจทำให้ขาดความเข้มแข็งทางจิตใจได้ พวกเขาอยากให้รัฐบาลหันมาสนใจด้านความเข้มแข็งทางสังคมและจิตใจมากกว่ามุ่งเน้นพัฒนาด้านเทคโนโลยี

นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากการสัมมนาค่ะ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้แลกเปลี่ยนกัน เช่น ปัญหาของเด็กในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เด็กถูกทารุณกรรม ซึ่งส่วนใหญ่คือพ่อแม่ที่ทำร้ายเด็ก เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน ซึ่งมีสาเหตุจากการถูกเพื่อนรังแก เมื่อครอบครัวขาดความเอาใจใส่ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน

หันกลับมามองบ้านเรา ปัญหาที่เราบอกแก่เขา คือ เรื่องเด็กเร่ร่อน เด็กไม่มีสัญชาติ เด็กถูกทารุณกรรม เป็นต้น แต่พี่แอนคิดว่า เรายังโชคดีที่สังคมไทยต่างมีความเอื้ออาทร เมื่อมีปัญหาก็ช่วยกันคิดแก้ไข ไม่มุ่งเน้นพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งจนสุดโต่งเกินไป ทำให้ขาดความสมดุล

ในสังคมญี่ปุ่น พี่แอนประทับใจตรงที่ หากมีปัญหาเกิดขึ้น เขาจะเข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับปัญหาและช่วยกันแก้ไข เช่นจัดสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเรียนในระบบปกติได้ ดังนั้นการจัดการสถานที่ให้เหมาะสมต่อความพร้อมของเด็ก จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหา

นอกเหนือจากการสัมมนาแล้ว เรามีกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเยาวชน เช่น การเล่นกีฬาและงานเลี้ยงที่แสนประทับใจ โดยมีการแสดงของเยาวชนไทยและญี่ปุ่น






ฝ่ายเยาวชนไทยได้จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ แสดงดนตรีไทย เซิ้งกระติ๊บข้าว ฟ้อนภูไท และสอนรำวงมาตรฐาน ส่วนเยาวชนญี่ปุ่นร้องเพลงและรำแบบญี่ปุ่น




การเข้าค่ายสามวันนี้ นับเป็นเวลาไม่มาก แต่ก็ทำให้ได้ทราบทัศนคติของคนญี่ปุ่น นอกเหนือจากนี้ทำให้รู้ว่า เมื่อมาอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันหรือคนญี่ปุ่น ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้เราแตกแยกกัน

เชือกมิตรภาพเส้นนี้ แม้เป็นเกลียวเล็กๆ หากแต่เหนียวแน่นค่ะ




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2553 13:42:16 น.
Counter : 846 Pageviews.  

6. ฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัยโฮเซ และสัมผัสศิลปะการ์ตูนที่พิพิธภัณฑ์จิบลิ

เช้าวันที่ 9 มิถุนายน พวกเราไปฟังบรรยาย เยี่ยมชม และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยโฮเซ
 

 
 


จินตนาการที่สัมผัสได้ ในพิพิธภัณฑ์การ์ตูน
หลังจากกลับจากฟังบรรยาย คณะเยาวชนเดินทางต่อไปที่พิพิธภัณฑ์จิบลิ เราได้เห็นการจัดการสถานที่สำหรับเด็ก และสัมผัสผลงานของนักวาดการ์ตูน จนเกิดความสงสัยว่า เขาสามารถถ่ายทอดผลงานที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนทุกวัยได้อย่างไร

“พิพิธภัณฑ์จิบลิ” (Ghibli Museum) ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะ Inokashira เมืองโตเกียว จัดแสดงผลงานของ “ฮะยะโอะ มิยะซะกิ” (Miyazaki Hayao) นักสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น และผลงานของ "อิซะโอะ ทะกะฮะตะ" (Takahata Isao) นักวาดการ์ตูนที่มิยะซะกิร่วมงานด้วย

ทั่วโลกเขารู้จักภาพยนตร์การ์ตูนของมิยะซะกิกันดี เช่น My Neighbor Totoro, Spirit Away, Princess Mononoke  เพราะไม่เพียงแต่ภาพวาดสวยงาม การเคลื่อนไหวนุ่มนวล การดำเนินเรื่องชวนติดตาม เสริมสร้างจินตนาการ เขายังนำเสนอเรื่องราวของธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ สังคม ที่แฝงข้อคิดให้แก่เด็ก ๆ
 


พี่แอนกับเพื่อน ๆ ชวนกันไปถ่ายรูปตัวการ์ตูนโทโทโร่ตัวใหญ่ ที่ด้านหน้า เดินวนเวียนสักพักก็ยังไม่ได้เข้าไปข้างในสักที ที่แท้เขาตั้งใจทำเป็นประตูหลอกนั่นเอง เดินไปทางขวาจึงพบทางเข้าค่ะ บนเพดานภายในอาคารเราเห็นภาพวาดสีสดใส มีตัวการ์ตูน ผลไม้ ดอกไม้รายล้อมอยู่รอบดวงอาทิตย์ ผลไม้และดอกไม้บางชนิดไม่มีอยู่จริง ซึ่งผู้วาดได้จินตนาการขึ้นเอง
 


เราจะเริ่มชมที่ตรงไหนก่อนดี แหม มาพิพิธภัณฑ์การ์ตูนก็ต้องดูการ์ตูนเขาก่อนสิ เพื่อนร่วมคณะบางคนยังไม่เคยดูเลย เราจึงชมภาพยนตร์ขนาดสั้น 15 นาทีในโรงภาพยนตร์ เมื่อชื่นชอบกับความน่ารักของตัวการ์ตูนและเพลงประกอบใส ๆ ไปแล้ว จึงเดินชมห้องทำงานของนักเขียนการ์ตูน ห้องแสดงกระบวนการผลิตภาพยนตร์ ทำให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นการ์ตูน แม้เพียงเรื่องสั้น ๆ ก็ต้องใช้เวลาและจำนวนภาพไม่ใช่น้อย


ขณะอยู่ที่ชั้นล่างแล้วเงยหน้ามองขึ้นไป จะพบการออกแบบอาคารที่น่าสนใจ เห็นสะพานที่เชื่อมกันอย่างกับเขาวงกต สร้างความรู้สึกน่าค้นหา หน้าต่างติดกระจกสีสดใส เมื่อแสงลอดผ่านไปยังพื้น เราจึงเห็นความสวยงามของแสงบนพื้น ซึ่งสวยงามต่างกันไปต่างมุม ต่างเวลา
 

เดินไปเดินมา อาจนึกว่าตัวเองหลงเข้ามาอยู่ในภาพยนตร์ของมิยะซะกิก็เป็นได้ เพราะฉากและตัวละครจากแผ่นฟิล์มได้ปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้าเรา  เสียดายที่เขาห้ามถ่ายรูปในตัวอาคาร จึงได้แต่เก็บภาพบรรยากาศรอบนอกมาฝากค่ะ

เอ แล้วมิยะซะกิเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างไร คำตอบนี้เช่นเดียวกับการสร้างภาพยนตร์การ์ตูน เขาเริ่มจากร่างภาพบนกระดาษ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เริ่มจากวาดสิ่งที่เขาอยากให้มีบนกระดาษ เขาวาดลักษณะอาคาร ฉาก และตัวละครจากภาพยนตร์การ์ตูน เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้จริง เช่น หุ่นทหาร รถเมล์แมวเหมียว  พี่แอนคิดว่า ที่สำคัญเขาต้องไม่ลืมวาดเด็ก ๆ พร้อมรอยยิ้ม และแววตาแห่งความสุขอย่างแน่นอนค่ะ

พี่แอนเชื่อว่าหากเราใช้การ์ตูนอย่างสร้างสรรค์ การ์ตูนจะเป็นสื่อบูรณาการการเรียนรู้ การศึกษา และพัฒนาสังคมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการนำไปใช้ในด้านการตลาดและลิขสิทธิ์ ส่งเสริมอาชีพคนไทย เกิดความภาคภูมิใจในงานฝีมือของคนไทย เงินตราไทยก็ไม่รั่วไหลอีกด้วย

ในโรงภาพยนตร์และภาพห้องโถงกลาง (ภาพจากเว็บไซต์ของจิบลิ)





 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2564 18:41:40 น.
Counter : 1448 Pageviews.  

5. เยี่ยมชมโรงเรียนไซเซกะคุชะ

ยามเช้าวันที่ 8 คณะเยาวชนได้ไปเยี่ยมศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องเด็กที่ประสบปัญหาประจำเขตโตเกียว เพื่อฟังบรรยายและชมวีดีทัศน์ ทำให้ได้ทราบถึงปัญหาใหญ่คือ การทารุณกรรมเด็ก ปัญหาใหม่คือเด็กไม่ไปโรงเรียน โดนเพื่อนกลั่นแกล้ง บางคนเก็บตัวไม่ไปไหน มีแนวโน้มว่าพ่อแม่ไม่สนใจลูก





โรงเรียนไซเซกะคุชะ
รถบัสพาเราออกจากโตเกียว มุ่งสู่จังหวัดไซตามะ เพียง 1 ชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือ โรงเรียนไซเซกะคุชะ (NPO Saiseigakusha) พี่แอนและเพื่อนๆ ได้ฟังบรรยาย ชมสถานที่ และร่วมกิจกรรมกับนักเรียนที่นี่ด้วย

โรงเรียนไซเซกะคุชะ มีนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ก่อนเป็นโรงเรียนกวดวิชา ปัจจุบันเป็นโรงเรียนฟรีสคูล (free school) ไม่ได้สอนตามหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการหรอกนะคะ ฟรีสคูลในญี่ปุ่นต่างจากยุโรป คือรับเฉพาะเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน โดยจัดหลักสูตรขึ้นตามความเหมาะสม และความต้องการของผู้เรียน

“นักเรียนที่นี่มีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาใหม่ในสังคมญี่ปุ่น คือ ไม่ชอบไปโรงเรียน เนื่องจากถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง โดนรังแก ทำให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงกลายเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพ บางคนก็มีปัญหาเรื่องความบกพร่องทางสติปัญญา ไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติได้” ครูโคบายาชิ มิเซโอะ โรงเรียนไซเซกะคุชะบอกกับเรา

ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดการจัด “การเรียนรู้โดยการสื่อสาร” สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียนค้นพบความสามารถของตัวเอง มีความมั่นใจ เช่น จัดให้มีการแสดงละคร ซึ่งนักเรียนต้องดำเนินการเองทุกอย่าง จัดค่ายศึกษาธรรมชาติและเรียนรู้สังคม เช่น ทัศนศึกษาที่ จ. กาญจนบุรี ที่ประเทศไทย เป็นต้น

โรงเรียนยังได้จัดหลักสูตรการทำอาหาร ช่างไม้ สันทนาการและกีฬา สำหรับชั่วโมงเกษตร นักเรียนจะได้ลงมือปลูกผักหลายชนิดในแปลง เช่น หัวไชเท้า ฝึกเก็บเกี่ยวหัวไชเท้า นำผักที่ปลูกไว้มาปรุงเป็นอาหารมื้อเที่ยงแล้วรับประทานร่วมกัน การเคลื่อนไหวทำให้รู้จักร่างกายของตนเอง รู้ที่มาของการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ นอกจากนี้มีอาสาสมัครหมุนเวียนกันมาร่วมกิจกรรมทุกวัน นักเรียนได้ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน



บ่ายวันนี้ หลังจากฟังนักเรียนร้องเพลงดังสนั่น เต้นจนพื้นสะเทือนแล้ว เรายังได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งพี่แอนมองว่าเป็นเกมที่ง่ายมากค่ะ แค่พูด “คอนนิจิวะ” ซึ่งแปลว่า สวัสดีตอนบ่าย เมื่อเดินผ่านนักเรียนญี่ปุ่น ส่วนนักเรียนญี่ปุ่นก็ต้องพูด “สวัสดีค่ะ” หรือ “สวัสดีครับ” กับคนไทย จากนั้นเล่นเกมแบ่งกลุ่ม เช่น ใครชอบทะเลมาอยู่กลุ่มนี้ ใครชอบภูเขาไปอยู่กลุ่มโน้น พร้อมชี้แจงเหตุผล สุดท้ายได้ผลัดเปลี่ยนกันนวดตามไหล่และมือ เพื่อช่วยผ่อนคลาย

นอกเหนือจากความสนุก กิจกรรมธรรมดานี่ละ มีวัตถุประสงค์บางอย่างแอบแฝงอยู่

คุณคายูมิผู้ประสานงานโครงการ ซึ่งเป็นครูที่นี่มาก่อนไขปริศนาเกมต่างๆ ว่า เด็กที่นี่ไม่กล้ามองสบตาผู้อื่น เกมทักทายสวัสดีจึงช่วยให้นักเรียนได้กล่าวสวัสดีและมองหน้ากัน ส่วนเกมชอบภูเขาหรือทะเล แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเดียวกัน และสนใจความคิดเดียวกันนี้ว่า ชอบเพราะอะไร ทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น สุดท้ายการนวดทำให้เข้าใจความรู้สึกอีกฝ่ายหนึ่ง พยายามนึกถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งว่าเขาจะชอบไหม นวดแรงไปไหม เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกสบาย

กิจกรรมแสนสนุกนี้หมดเวลาแล้ว รถบัสค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากโรงเรียน คุณครูและเด็กๆ โบกมือล่ำลาจนลับสายตา เราได้บันทึกภาพสุดท้ายนี้ไว้ ไม่เพียงแต่พวกเขาจะได้รับประสบการณ์จากคนต่างถิ่นแล้ว คณะเยาวชนไทยก็ได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากพวกเขาเช่นกัน

“อย่าลืมว่า เด็กนักเรียนที่เราได้เจอวันนี้ ขาดความมั่นใจ เพราะถูกเพื่อนแกล้งในโรงเรียนมานาน มีความท้อแท้ ไม่กล้า การที่พวกเราได้ทำกิจกรรมร่วมกับเขา ช่วยให้พวกเขามั่นใจมากขึ้น ก่อนจะทำอะไรก็ตาม ทุกคนต้องสร้างความมั่นใจในตัวเองเสียก่อน” คุณคายูมิให้ความกระจ่างแก่พี่แอนและเพื่อนๆ ขณะเดินทางกลับโตเกียวค่ะ




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 17:15:10 น.
Counter : 679 Pageviews.  

1  2  3  

แอนเทล
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add แอนเทล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.