2010-01-14 ไปดูแขกชักว่าวกัน... Kite festival
ทุกวันที่ 14 มกราคม ของทุกปีเป็นวันฉลองเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ Makar Sankranti. การเรียกชื่อและวิธีการเฉลิมฉลอง จะแตกต่างกันไปแล้วแต่เมืองและศาสนา. การฉลอง Sankranti มีมาเป็นเวลาประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว ซึ่งนักโบราณคดีสัณนิษฐานว่าชนเผ่ามายาในอเมริกาใต้ก็ฉลองเทศกาลอย่างนี้เช่นกัน. สำหรับที่ Jaipur การฉลองเป็นไปในรูปแบบของเทศกาลว่าว. ก่อนวันที่ 14 ทุกบ้านจะทำความสะอาดบ้าน, ขัดล้างภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ก็คงเหมือนวันขึ้นปีใหม่ของบ้านเรา ที่ทุกบ้านต่างทำความสะอาดบ้าน.. ขึ้นปีใหม่, ใส่เสื้อผ้าใหม่เพื่อความเป็นศิริมงคล อะไรทำนองนั้น พอวันที่ 14 ก็มีการทำบุญแล้วก็มาฉลองกัน สายๆ หน่อยผู้คนก็จะออกมาชักว่าวกัน แต่เราไม่ได้ไปร่วมเทศกาลหิ... แล้วจะเล่าให้ฟังตอนท้ายๆ ก็แล้วกัน

หอดูดาว Jantar Mantar

ตื่นเช้าด้วยความกระปรี้กระเปร่า... สูดอากาศสดชื่นของ Jaipur เมืองสีชมพู หลังจากเสร็จกิจวัตรประจำวันตอนเช้าแล้วก็ขึ้นไปทานอาหารเช้าบนดาดฟ้า... นั่งคุยกันจนเกือบสิบโมง Mr.โกวะดันและไกด์ชื่อ Mahendra ก็มารับ จุดแรกที่จะไปชมคือหอดูดาว Jantar Mantar เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของ Jaipur ที่เราสนใจมากที่สุด ทึ่งในความสามารถของสมองอัฉริยะของคนในอดีต. Jantar หมายถึง เครื่อง ส่วนคำว่า Mantar คือ สูตร หรือ คำนวณ ดังนั้นสถานที่นี้มีไว้ใช้คำนวณจักรราศี. หอดูดาวแห่งนี้สร้างโดย Maharaja Jai Singh II เมื่อประมาณ 280 ปีก่อน ที่จริงพระองค์ทรงสร้างหอดูดาวแบบนี้ถึง 5 แห่ง รวมทั้งที่ Delhi ด้วย แต่ที่ Jaipur แห่งนี้เป็นหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุด และในปัจจุบันก็เป็นแห่งที่มีการอนุรักษ์ที่ดีที่สุดจากทั้ง 5 แห่ง. เสียดายที่ไกด์เร่งๆๆๆๆๆ เหมือนต้อนควายไปหนอง (อุ๊ย!! ว่าตัวเองเป็นควายหรือนี่ ) เข้าไปตอน 10 โมง 50 นาที ออกตอน 11 โมง 10 นาที ก็เท่ากับเข้าไปดูแค่ 20 นาทีเท่านั้นเองหิ อยากอยู่ต่ออีกสักชั่วโมงแต่เนื่องจากเราเป็นปรสิตทัวร์ (เกาะเค้ามาเท่วอ่ะนะ) เลยไม่มีปากมีเสียงใดๆ


บรรยากาศมุมหนึ่งของ Jaipur ยามสาย


ร้านค้าทั่วไปซื้อว่าวมาขายเฉพาะช่วงเทศกาลว่าว


อยู่เมืองไทยเป็นไกด์ตัวจริง... อยู่อินเดียเป็นไกด์ตัวปลอม... ภาพนี้ถ่ายจากทางเข้า Jantar Mantar


กระเบื้องแต่ละช่อง, สีกระเบื้องที่ต่างกัน จุดประสงค์หลักไม่ได้มีไว้เพื่อตกแต่งเพื่อความสวยงาม แต่เป็นเครื่องคำนวณบอกวัน, เวลา, ฤดูกาล ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ใช้เงาจากแสงอาทิตย์เป็นเครื่องอ่านค่า


นาฬิกา + ปฏิทิน แดด...


นาฬิกา + ปฏิทิน แดดแบบหลุม...


หอดูดาวสูงเท่ากับตึกห้าชั้น

หลังจากถูกเร่งให้กลับขึ้นรถก็เดินทางไปชม City Palace ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน, ขับรถไม่ถึง 5 นาที ก็ถึงแล้ว. ปัจจุบัน City Palace ได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ มีของเก่าสะสมแยกเป็นจำพวกเช่น ของใช้ส่วนพระองค์ของกษัตริย์, อาวุธต่างๆ. ตอนเดินเข้าประตูเห็นเด็กนักเรียนวัยรุ่น เข้าแถวเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์. ภายในพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเลยมีภาพเฉพาะนอกอาคาร

ชมพิพิธภัณฑ์เสร็จก็เดินทางไปโรงงานผลิตผ้าพิมพ์ลาย วันนี้เป็นวันหยุดของโรงงานแต่ส่วนของร้านขายยังเปิดบริการอยู่ พนักงานขายผู้เชี่ยวชาญกรรมวิธีการผลิตได้แสดงให้เราดูวิธีการแบบคล่าวๆ เราซื้อของสองสามชิ้น ราคาไม่ถูกเท่าไหร่เลย ป้าแมรี่ซื้อของฝากมากมาย จ่ายเงินเสร็จก็เดินทางไปชมป้อมแอมเบอร์ Amber Fort


นักเรียนต่อแถวเข้าชมพิพิธภัณฑ์หน้าทางเข้า


อยากได้ลานหน้าบ้านแบบนี้อ่ะ


ภายในลานพระราชวังก่อนเข้าไปชมด้านในซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์


ทางออก


เดินทางไปโรงงานผ้าพิมพ์ รูปนี้ถ่ายตอนรถวิ่งอยู่ มองที่เด็กผู้หญิงกำลังเล่นว่าวอาจดูยากหน่อย แต่ถ้าดูที่เงาก็จะเห็นว่าวชัดเจนขึ้น


มีคนนำหญ้ามาให้วัวกินเป็นระยะตลอดสองข้างทาง


ร้านขายของกิน บรรยากาศตอนสายๆ


ตลาดนม


ถึงโรงงานผ้าพิมพ์ พนักงานขายก็แสดงวิธีการพิมพ์ผ้า ที่เห็นคือแม่พิมพ์ทำจากไม้แกะสลัก


ถ้าต้องการให้ชิ้นงานมีหลากสีก็จะมีแม่พิมพ์ตามจำนวนสี ก็คล้ายๆ กับการซิลค์สกรีนนั่นแหล่ะ... เมื่อพิมพ์สีจนครบก็จะนำมาแช่น้ำยา (ไม่บอกสูตร) แล้วนำผ้าพิมพ์ลายไปซัก, รีด แล้วนำออกขาย

ป้อมแอมเบอร์ Amber Fort

ออกจากโรงงานผ้าพิมพ์ก็เดินทางไปเยี่ยมชม Amber Fort. ป้อมแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมือง Jaipur 11 กิโลเมตร. Amber Fort เป็นที่รู้จักกันดีในด้านสถาปัตยกรรมอันวิจิตร ซึ่งผสมผสานศิลปะแบบชาวฮินดูและชาวมุสลิมไว้ได้อย่างลงตัว ตัวป้อมปราการตั้งอยู่ติดทะเลสาบ Maota มีกำแพงยาวล้อมรอบเมืองชั้นนอกอีชั้นหนึ่งเพื่อปกป้องการรุกรานจากรัฐอื่น ได้รับคำบอกเล่าจากไกด์ (ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่า) ว่ากำแพงเมืองอินเดียนี้ มีอายุเก่าแก่กว่ากำแพงเมืองจีนเสียอีก ปัจจุบัน Amber Fort ถือเป็นจุดหมายที่สำคัญของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว Rajastan.


กำแพงเมืองแขก


มี Amber Fort เป็นฉากหลัง


ประตูขึ้นด้านหน้า... ถ้านั่งช้างขึ้นมาก็จะเข้าประตูนี้ พวกชราทัวร์ไม่ยอมขึ้น... เราผู้เป็นปรสิตทัวร์เลยอดนั่งช้างเลยหิ เสียดาย... เพราะค่านั่งช้างก็รวมกับค่าทริปอยู่แล้วนิ


นักท่องเที่ยวทั่วไปนั่งช้างขึ้นมาบนป้อม


ขอเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์


Hall of public Audience ห้องโถงว่าราชการ


ซุ้มโดมทางเข้าวัง


ทำความสะอาด


ทางเข้า Hammam หรือ Turkish Baths.


นี่คือปล่องไฟสำหรับจุดไฟต้มน้ำ ที่เห็นเป็นโพลงข้างในคือที่ต้มน้ำ อยู่ใต้อ่างอาบน้ำ


อ่างอาบน้ำ


สุขาของราชา


ระเบียงคดรอบๆ วัง ตกแต่งด้วยลวดลายอันสวยงาม


ซุ้มประตูทางเข้าสวน


ภาพนี้ถ่ายจากชั้นสอง มองสวนในมุมกว้าง


ภายในสวนมีน้ำพุ ซึ่งการจัดการระบบน้ำยังคงใช้ระบบเดิมตั้งแต่มีการก่อสร้างวังแห่งนี้ แต่ตอนที่ไปชมเขาไม่ได้เปิดน้ำพุให้ชม... เสียดายจริงๆ


ประตูเข้าวัง... ข้างในเป็นส่วนที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชม


เพดานที่ระเบียงคด มีการตกแต่งประดับประดาแทบไม่เหลือเนื้อที่ว่างเลย


ทางเข้าสู่ห้องโถงภายในวัง ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้า


ภายนอกอาคาร ภาพนี้เป็นทางเดินสู่ทางออก


ศาลาเอนกประสงค์ สมัยก่อนใช้แสดงดนตรี หรือแสดงการระบำ


หมองู


แพะคุ้ยขยะ ภาพนี้ถ่ายตรงทางออกเกือบถึงรถแล้วหล่ะ

เสียดายที่ไกด์พามาผิดเวลา เพราะใน Amber Ford มีวัดกาลี (Gali Temple) ซึ่งในไกด์บุ๊คบอกว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว ตอนจะเข้าไปเจ้าหน้าที่ที่ประตูวัดบอกว่าเหลือเวลา 3 นาทีจะถึงเวลาปิดประตูวัด เราเลยไม่ได้เข้าชมกัน ใช้เวลาที่ป้อมแอมเบอร์ 1 ชั่วโมง กับอีก 6 นาที จากนั้นเดินทางกลับ ระหว่างทางไกด์บอกให้คนขับจอดรถเพื่อแวะชม Jai Mahal (Lake palace) ใช้เวลาแค่ห้านาที อันนี้พอเข้าใจ เพราะเราอยู่ที่ฝั่งแค่ถ่ายรูปก็พอแล้ว จากนั้นก็ขับรถต่อเข้ามาถึงในเมือง แวะ Hawa Mahal (Wind palace) จอดให้เราชมแค่ด้านหน้าประมาณ 5 นาที พอเราบอกว่าอยากเข้าไปดูข้างใน ไกด์บอกไม่มีอะไรน่าชมหรอก แล้วก็ต้อนเราขึ้นรถเพื่อพากลับโรงแรม ไม่รู้ว่าเร่งอะไรกันนักกันหนา มาถึงโรงแรมตอน บ่ายสองห้าสิบห้านาที

นี่คือเหตุผลที่กล่าวไว้ในตอนแรกว่าทำไมพวกเราไม่ได้ไปเที่ยวชมเทศกาลว่าว เพราะไกด์เร่งโน่นเร่งนี่แล้วก็รีบกลับไปรับลูกของตัวเองไปเทศกาลว่าวนี่เอง (อันนี้ไกด์บอกเราด้วยปากของเขาเอง... ไม่ได้เสริมแต่งแต่ประการใด) แล้วจะรับงานมาทำไมอ่ะเนี๊ยะ

ขึ้นห้องทำธุระส่วนตัว แล้วนั่งพักผ่อนสักพักจึงพากันออกไปหาอะไรทาน มาทริปนี้กินข้าวไม่เป็นเวลา ดังนั้นเราจึงมีขนมกรุบกรอบติดกระเป๋าไว้เสมออิ..อิ... พากันเดินไปตามทางที่เราออกมาเดินเล่นกับแมรี่เมื่อคืน แต่ไม่เห็นมีร้านไหนเปิด เลยข้ามถนนไปอีกฝั่งแล้วเข้าไปตามถนนที่ดูเหมือนจะมีคนพลุกพล่าน เจอร้านอาหารเล็กๆ อยู่ข้างถนนชื่อร้าน Parantha Hut ราคาไม่แพงเท่าไหร่ ปริมาณอาหารหนึ่งจานทานได้เป็นสิบคนเลยที่เดียว (อันนี้โม้อ่ะ อิ..อิ.. แต่เยอะจริงๆ นะ)

ทานเสร็จก็เดินเล่นไปรอบๆ ไม่ไกลจากโรงแรม (ไม่ได้เอาแผนที่มา... กลัวหลง) เห็นชาวบ้านร้านช่องพากันออกมาเล่นว่าวกันให้อึกทึกครึกโครม เด็กเล็ก..เด็กโต ต่างวิ่งไล่เก็บว่าวที่ปลิวตกลงมา บางคนเก็บได้เป็นกอง คิดว่าประมาณสี่สิบห้าสิบตัวเลยทีเดียว เห็นแล้วก็เพลินดี


Jai Mahal - Lake Palace


Hawa Mahal - Wind Palace


สั่ง Papadum มาทานเล่นก่อน เพราะบ่ายสามกว่าแล้วเพิ่งมาทานเที่ยงกัน


หลังจากทำความสะอาดบ้าน, อาบน้ำ และไปทำบุญมาแล้ว ก็ถึงตอนเล่นว่าวกันให้สนุก


ระหว่างเดินกลับโรงแรมเจอแพะภูเขา (ติ๊ต่างเอาเอง อิ..อิ..)


ส่วนนี่เป็นแพะเมือง, สวมใสแฟชั่นนำสมัย แถมใส่บรา (ถุงครอบนม) ด้วย อิ..อิ..

กลับถึงโรงแรมก็เอนหลังพักผ่อน สองทุ่มกว่าจึงพากันขึ้นไปร้านอาหารที่อยู่บนดาดฟ้าของโรงแรม วันนี้มีการแสดงดนตรีและการเต้นรำ แขกที่มาพักพากันมานั่งทานอาหารเย็นและชมการแสดงจนโต๊ะเต็ม โชคดีที่มีโต๊ะหนึ่งกำลังลุกพอดี เราสั่งอาหารเบาๆ มาทาน เพราะเพิ่งทานอาหารเที่ยงไปตอนบ่ายสามกว่าๆ ยังไม่ค่อยหิวเท่าไหร่ พอทานเสร็จก็กลับเข้าห้อง.. อาบน้ำ... นอนด้วยความเหนื่อยล้า



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2553 21:36:40 น.
Counter : 5301 Pageviews.

2 comment
2010-01-13 ไปชัยปุระ (Jaipur) กัน ป๊ะ!!!
ส่วนที่แย่ที่สุดของการท่องเที่ยวคือการต้องตื่นแต่เช้า เพราะเป็นคนนอนดึกตื่นสาย เช้านี้ก็เช่นกัน แหกขี้ตาตั้งแต่เจ็ดโมง อากาศหนาวซึ่งเรานอนใต้ผ้าห่มอันอบอุ่นทำให้ขี้เกียจลุก. ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จแล้วก็แต่งตัว หลังจากทำครึ่งหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน (อีกครึ่งไม่ได้ทำ เพราะอากาศหนาว ไม่ได้อาบน้ำ อิ..อิ..) ก็จัดกระเป๋าเตรียมพร้อมไว้ ลงไปทานอาหารเช้าแล้วจะได้ไม่ต้องมา มะเลิกมะลาก เก็บกระเป๋าให้วุ่นวาย

วันนี้เราจะเดินทางจากอักรา (Agra) ไป ชัยปุระ (Jaipur) โดยมีคนขับรถชื่อ Mr.โกวะดัน ซึ่งจะเป็นพลขับจากนี้ไปจนทั่วราชาสถาน (Rajasthan) ขออธิบายนิดหนึ่งว่า ราชาสถานเป็นเหมือนภาค และจะมีเมืองต่างๆ เทียบได้กับจังหวัด ถ้าเที่ยบกับประเทศไทย ส่วนเมืองต่างๆ ในราชาสถานที่เราจะไปในทริปนี้คือ ชัยปุระ (Jaipur), พุชคาร์ (Pushkar), จ๊อดเปอร์ (Jodhpur), ไจซาลเมอร์ (Jaisalmer) จบทริปราชาสถานเที่ยวนี้ที่ อุไดเปอร์ (Udaipur)

ฟาเตปุระ (Fatehpur Sikri) เมืองแรกแห่งราชวงศ์โมกุล (Mughal)

รอจนกระทั่งเก้าโมงกว่า รถตู้และไกด์ชิบู ก็มารับ รู้งี้ของีบต่ออีกหน่อยก็ดีอ่ะ นั่งรถจากอักรามาทางตะวันตกเฉียงใต้ไม่ถึงชั่วโมง ก็จอดแวะชมวังฟาเตปุระ แม้จะสายแล้วแต่ยังมีหมอกจางๆ ไกด์พาเดินชมโดยรอบ พร้อมอธิบายประวัติและเกร็ดความรู้ได้อย่างละเอียดสมกับเป็นไกด์มืออาชีพจริงๆ (เราฟังมั่ง ไม่ฟังมั่ง, มัวแต่เพลินกับการถ่ายรูป อีกอย่างคือฟังไปก็ต้องกลับมาหาข้อมูลที่เป็นภาษาไทยอ่านอยู่ดี อิ..อิ..) เท่าที่ฟังมาเมืองนี้เป็นเมืองแรกที่ราชวงศ์โมกุลสร้างขึ้น ทำเลที่ตั้งเป็นเนินเขา โดยใช้หินทรายสีแดงในการก่อสร้าง พระราชวังฟาเตเปอร์นี้ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดสถาปัตยกรรมแบบโมกุล แต่หลังจากสร้างเมืองได้ 14 ปี ก็ต้องย้ายเมืองไปที่อักรา ทั้งนี้เนื่องจากฟาเตปุระ ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน เมืองจึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ฟาเตปุระสิครี ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1986


แหกขี้ตามาดื่มชัย เราตั้งชื่อเองไม่หวงลิขสิทธิ์ Bolly wood เอาไปตั้งชื่อหนังคงมีคนชมทะลุโรง อิ..อิ.. ด้านซ้ายมือของรูปเป็นสมุดบันทึกทำเองซึ่งสามารถดูวิธีการทำได้ที่ลิงค์นี้นะฮาร์ฟฟฟฟ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=annopwichai&date=29-11-2009&group=5&gblog=4


Auto rickshaw (ตุ๊กๆ แขก) ต่อคิวเติมน้ำมันกันอย่างบ้าคลัง รูปนี้ถ่ายออกจากหลังรถอ่ะ


Gangster เจ้าถิ่น


แผงขายผลไม้ข้างทาง


ประตูและกำแพงเมืองฟาเตปุระ เราต้องลงรถจุดนี้แล้วนั่ง Auto rickshaw เข้าไปอีกประมาณ 1 Km.


สวนภายในวัง


อีกมุมหนึ่งของสวน ตอนนี้สิบเอ็ดโมงกว่าแล้วยังเห็นหมอกอยู่เลย


สุดระเบียงคตเป็นทางเข้าส่วนในของราชวัง


Diwan-i-Khas เป็นท้องพระโรงว่าราชการ โด่งดังเพราะเสาหินกลางโถงที่แกะสลักอย่างงดงามตามศิลปะโมกุลแท้


มุมพักผ่อนข้างระเบียงคต


หินดัด... ต้นกำเนิดของเหล็กดัด อิ..อิ.. ภาพนี้ถ่ายจากภายใน Diwan-i-Khas


อ่างเก็บน้ำ จากภาพไม่ใหญ่เท่าไหร่ แต่ของจริงใหญ่มาก ถ้าสังเกตุดูดีๆ มีคนยืนอยู่ด้านซ้ายของภาพ


ศาลาหินสลัก ลวดลายสุดวิจิตรบรรจง


ลานเกมส์ ตรงกลางรูปถ้าดูดีๆ จะเห็นเป็นตาราง ใช้สำหรับเล่นหมากรุกโดยใช้คนเป็นหมาก... หรือเป็นเบี้ย


เวทีดนตรีกลางน้ำ ไกด์อธิบายว่า ที่ต้องอยู่กลางน้ำเพราะเมื่อเวลาบรรเลงดนตรีจะมีเสียงสะท้อนกังวาลจากผิวน้ำ... เลิศ...


บันไดขึ้นป้อม ไม่อนุญาตให้ขึ้น


Jama Masjid หรือ Jami mosque แปลว่าสุเหร่าวันศุกร์ (สุเหร่านี้เป็นคนละอันกันกับ Jama Masjid ที่ Dehli) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอาคารแรกๆ ที่ก่อสร้างขึ้นภายในวัง


ซุ้มประตูเข้าอาคารส่วนใน


ทุกส่วนประกอบทำด้วยหินทรายสีแดง ขนาดกันสาดยังทำด้วยหินเลย เดินดูรอบๆ แต่ไม่กล้าอยู่ใกล้ กลัวหล่นใส่หัว


ถึงเวลาพักอีกแล้ว อิ..อิ.. อายุรทัศนาจร


ดอกไม้ในสวน


ทางไปสุขา... คิดว่าป้ายนี้คงไม่ได้สร้างในสมัยโมกุลหรอกน๊า อิ..อิ..


Morning news


ทางหลายแพร่ง


นั่ง Auto rickshaw กลับไปขึ้นรถ

ถึงรถก็ต้องบอกลาคุณไกด์ชิบู เพราะเมืองถัดไปก็จะมีไกด์อีกคนมาทำหน้าที่ แต่ Mr.โกวะดัน ก็ยังคงเป็นสารถีให้เรา ออกรถแล้วก็นั่งชมวิวข้างทาง ดูเหมือนหมอกจะไม่จางลงเท่าไหร่ แต่ไม่เป็นไรก็ไม่ได้หนาจัดจนต้องลุ้นตัวโก่ง จอดพักกลางทางเพื่อเข้าห้องน้ำและหาอะไรทาน จุดที่จอดพักมีร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และที่สำคัญ... ห้องน้ำ มีชาวต่างชาติมากมายที่มาแวะจอดที่นี่

เดินทางต่อมาถึง Jaipur ตอนสี่โมงเย็น พอเข้าเขตตัวเมืองรถก็จอดรับไกด์ของ Amber tour ประจำ Jaipur ที่มายืนรอเพื่อจะพาเราไปโรงแรม. รถติดสี่แยกไฟแดง, มีเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 13-14 อุ้มน้องมาเคาะกระจกขอเงิน เราถ่ายรูปไว้และชอบรูปนี้มากๆ ก็เลยควักเงินจะให้ แต่รถดันออกเสียก่อนเพราะไฟเขียวได้ไม่ถึงหนึ่งวินาทีโอ้แม่เจ้า.. บีบแตรยังกะรีบไปสู่สรวงสวรรค์ยังงัยยังงั้นเลยอ่ะ รู้สึกเสียใจมากทุกครั้งที่เห็นรูปของเธอ ปกติการควักเงินออกจากกระเป๋านี่ไม่ใช่วิสัยเลยนะ (แบบว่าเค็มจนรู้ตัวเองหิ ) จนถึงทุกวันนี้ยังรู้สึกติดค้างเด็กคนนั้นอยู่ยังงัยชอบกล

ไม่ไกลจากจุดที่จอดรับคุณไกด์เท่าไหร่ ก็มาถึงโรงแรม Pearl Palace. นัดแนะกับคนขับและไกด์สำหรับ แพลนของพรุ่งนี้, แล้วทั้งคนขับและไกด์ก็แยกย้ายกันกลับเลย จากนั้นเช็คอินได้ห้อง 304 แล้วเอาของเก็บที่ห้อง ห้องสวยดี เตียงก็นุ๊มนุ่ม ก็เลยเอนหลังจนถึงห้าโมง จึงขึ้นไปห้องอาหารที่อยู่บนดาดฟ้า วิวสวยมองเห็น Jaipur โดยรอบ, ไม่ไกลจากโรงแรมมีป้อมเก่าแก่ทำให้ได้บรรยากาศที่ต่างออกไป สั่งอาหารเย็น พอทานเสร็จ พอลก็ลงไปเช็คเมลที่ห้องอินเตอร์เน็ตของโรงแรม ส่วนเราก็ออกไปเดินเล่นกับป้าแมรี่, อากาศเย็นสบายดี (แต่ต้องใส่เสื้อกันหนาวนะ). กลับถึงห้องสองทุ่มกว่า อาบน้ำอุ่น... สบายตัวดีจัง


เข้าสู่เขตราชาสถาน (Rajasthan)


คนเทินหม้อ เทินไห เทินฟืน มีให้เห็นตลอดทาง


สิบล้อแขก... มีภาพวาดประดับประดาสวยงาม และมีตัวหนังสือคิดว่าน่าจะเป็นกลอนคล้ายสิบล้อบ้านเรานะ จะถามคนขับก็พูดภาษาอังกฤษได้ไม่มาก เด๋วจาเป็นเรื่องใหญ่อีก


สองข้างทางเป็นทุ่งเครื่องเทศสลับบ้านและกระท่อม... รูปนี้เป็นทุ่งมัสตาร์ด


โรงงานอิฐก็มีให้เห็นเป็นระยะ.. ที่เห็นตรงกลางรูปเป็นปล่อยไฟจากเตาเผาอิฐ


เลี้ยงแพะกลางถนน.. ถนนโดนยึดไปหนึ่งเลนส์และรถต้องชะลออย่างแรง


นี่เป็นถนนสี่เลนส์ รถคันนี้ตามหลักสากลต้องขับอีกฝั่ง (หลังเกาะกลางถนนตามภาพ) แต่พี่แกใหญ่อ่ะ นอกจากขับผิดเลนส์แล้วยังขับไวมั๊กๆ ใจเราหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่มเลยหิ


แวะพักเที่ยงตอนบ่ายสอง.. รูปนี้เป็นหลักกิโลหน้าจุดจอดพัก


ผู้โดยสารชั้น V.I.P. มีให้เห็นจนชินตา... ไม่อยากบอกว่าหนาวมากนะน่ะ


ที่อินเดีย รู้สึกว่าเป๊ปซี่จะดังกว่าโค้กนะ


Jaipur... นครสีชมพู


ร่องรอยสถาปัตยกรรมอันวิจิตร มีให้เห็นตั้งแต่ขับเข้ามาในเขตเมือง น่าเสียดายที่โดนปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา


สี่แยกตำรวจโบก


ตลาดนัดใกล้กับ Jaigarh Fort


รูปเด็กอุ้มน้องมาขอเงินที่เล่าให้ฟัง... ในตาเธอมีประกายแห่งความหวัง...


วัฒนธรรมใหม่ที่กำลังกลืนกินวัฒนธรรมเก่าอย่างรวดเร็ว


วันที่ยาวนาน... ถึงโรงแรมเสียที


หนึ่งในปฏิมากรรมที่โรงแรมตั้งโชว์ให้แขกได้เพลิดเพลิน... ชอบมากกก


Sunset ที่ Jaipur.. รูปนี้ถ่ายที่ Roof top ซึ่งเป็นห้องอาหารของโรงแรม


กำแพงเมืองและป้อมปราการ อยู่ไม่ไกลจากโรงแรม



Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2553 22:38:53 น.
Counter : 4251 Pageviews.

1 comment
2010-01-12 Taj Mahal... Love & Passion - ทัชมาฮาล... ความรักและหลงใหล
สถานีรถไฟนิวเดลี (New Delhi Train Station)

ตั้งเวลาปลุกตอน ตีห้าสิบห้า เตรียมตัวเดินเดินทางไป Agra เพื่อเยี่ยมชมทัชมาฮาล ตามกำหนดการรถไฟจะออกเวลาหกโมงเช้า พอมาถึงสถานีรถไฟกลับพบว่ารถไฟดีเลย์โดยรถไฟจะออกจริงๆ ตอน 10 โมง ล่าช้าไป 3 ชั่วโมง... ไม่ต้องคิดที่จะปริปากคอมเพลนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะบางเที่ยวดีเลย์ 14 ชั่วโมง.... เลิศ!!! ในระหว่างสับสนชุลมุน ก็มีคนขับรถแท็กซี่เข้ามาชวนให้นั่งแท็กซี่ไปแทน ก็เท่ากับว่าเราต้องเสียค่ารถไฟและต้องจ่ายค่าแท็กซี่อีก และแน่นอนว่าค่าแท็กซี่ต้องเกินกว่าราคาโดยปกติแน่นอน พวกเราจึงปฏิเสธ และบอกว่าจะรอไปกับรถไฟ แต่คนขับรถแท็กซี่ทั้งตื้อและขู่ว่ารถไฟตกราง ยังงัยวันนี้ก็ไม่ได้ไป แต่เราก็ยืนกรานกระต่ายสองขาด้วยความหนักแน่นว่าจะรอรถไฟ... ในที่สุดฝ่ายข้าศึกก็ล่าถอยเพราะเห็นความมุ่งมั่นของพวกเรา อิ..อิ..

ระหว่างรอ เราลากกระเป๋าไปหน้าสถานีรถไฟเพื่อหาอาหารเช้าทาน พอลและแมรี่ สั่งอาหารเช้าและกาแฟ เราสั่งแต่ชัย (ชายอดนิยมของชาวอินเดีย) แก้วแรกอร่อยดีเลยสั่งอีกแก้ว แป่ว! ไม่รู้ว่าคนชงไปซ่อมรถมาหรืองัยชัยถึงได้เหม็นกลิ่นน้ำมันได้ขนาดนั้น เราเลยไม่ดื่ม พอจ่ายบิลของเราแค่ 10 รูปี หรือ 6 บาท 75 ตังค์ พอลและแมรี่จ่ายค่าอาหารและกาแฟคนละ 61 รูปี ซึ่งเกินราคาที่โชว์ในเมนู พอลเลยกรีดร้องโวยวายอย่างบ้าคลั่ง อิ..อิ.. อธิบายซะ, คนเก็บตังค์ก็อธิบายบิลอย่างมั่วๆ สรุป โมโหซะเปล่า เพราะยังงัยก็รู้ว่าไม่ได้ตังค์คืนอยู่แล้ว


ป้ายสถานีรถไฟ New Delhi


รถไฟเทียบชานชาลาที่สถานีรถไฟ New Delhi

เนื่องจากดื่มชัยร้อนๆ บีบกระเพาะปัสสาวะได้ดีเลยทีเดียว จึงต้องเดินหาสุขา... ที่สถานีรถไฟ New Delhi หาห้องน้ำแทบไม่เจอ เดินหาจนเจออยู่แห่งหนึ่งแค่เดินผ่านหน้าห้องน้ำก็ยอมแพ้แล้วอ่ะ, ยอมอั้นให้กระเพาะปัสสาวะพิการดีกว่าขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในห้องน้ำอ่ะนะ. ยืนรอ... นั่งรอ... (แต่ไม่กล้านอนรอเพราะจากสภาพยังงัยก็นอนรอไม่ลง) เห็นที่สถานีมีการทำความสะอาดรางรถไฟโดยการฉีดน้ำ เห็นอุจจาระไหลมากองกันสุดยอดที่จะบรรยาย จากนั้นก็ใช้ปูนขาวโรย ชะงัดนักแล... ไม่มีกลิ่นแม้แต่นิด สรุปเอาเองว่าที่คนที่นี่ขี้ใส่รางรถไฟ เลยไม่จำเป็นต้องมีห้องน้ำหิ

ขนสัมภาระขึ้นรถไฟตอน 10 โมง, สิบโมงกว่าๆ รถไฟก็ออก จากนั้นมีพนักงานเสิร์ฟแต่งตัวแบบอินเดีย น้ำ, ชา, กาแฟ, อาหารเช้า แล้วเราก็นั่งพักผ่อนอย่างอบอุ่นตามอัธยาศัย


พนักงานเสิร์ฟบนรถไฟ


นั่งหนาวรอรถไฟช้าไป 3 ชั่วโมง.. More than a trip จริงๆ นะ


วิวข้างทาง... นี่เมืองหลวงนะเนี๊ยะ


วิถีชีวิตข้างทางรถไฟยามเช้า


รถไฟวิ่งผ่านสถานีเล็ก แต่ไม่จอดเพราะคันที่เรานั่งเป็นเอ็กซ์เพลสสำหรับนักท่องเที่ยว

ทัชมาฮาล (Taj Mahal)

บ่ายโมงตรง รถไฟเทียบชานชาลาที่สถานีรถไฟอักรา โดยมีไกด์มารอตรงตู้ที่เรานั่งมา ลืมบอกไปว่าตอนขึ้นรถไฟเห็นป้ายรายชื่อผู้โดยสารตรงประตูทางขึ้น พร้อมทั้งบอกที่นั่งให้เสร็จสรรพ การจัดการอย่างเป็นระบบนี่คงเป็นมรดกที่รับมาตอนเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่เนื่องจากประชากรที่นี่ล้นหลามจนไม่สามารถจัดการให้เป็นระบบระเบียบได้ ความแตกต่างอย่างลงตัวนี่เองที่เป็นสีสรรของอินเดีย

ขึ้นรถตู้ของบริษัททัวร์ (กรุ๊ปเรามี 3 คน) ขับตรงไปสู่โรงแรม Tourist Rest House เราเช็คอิน... ห้องที่นี่ดีกว่าห้องที่เราพักในเดลลี จากนั้นนั่งรถไปทัชมาฮาลแต่ไกด์ที่ไปรับที่สถานีรถไฟเป็นคนละคนกับไกด์ที่จะพาเราไปชมทัชมาฮาล ทริปนี้ใช้ไกด์เปลืองมากคือเมืองละคน

การเข้าชมทัชมาฮาลต้องเตรียมตัวนิดหน่อย คือ อุปกรณ์อิเลคทรอนิคไม่อนุญาตให้นำเข้าไป ยกเว้น กล้องถ่ายรูปและมือถือ, ห้ามนำอาหารทุกชนิดยกเว้นน้ำนำเข้าไปได้, ห้ามนำบุหรี่เข้าไป (สิงห์อมควันคงหงุดหงิดข้อนี้น่าดู) ตอนเข้าไปต้องเดินผ่านเครื่องตรวจเหมือนเดินเข้าสนามบิน แค่เดินผ่านจุดตรวจเข้าบริเวณภายนอกของทัชมาฮาลก็สัมผัสได้ถึงความอลังการ เดินมาถึงประตูใหญ่ทางเข้าด้านหน้า เดินไปหยุดไปแต่ไกด์อธิบายไม่หยุด สุดยอดจริงๆ ข้อมูลแน่นมั๊กๆ เสียดายที่เราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ที่จริงภาษาอังกฤษของเราก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่เท่าไหร่หรอกนะ แต่เจออังกฤษสำเนียงอินเดียเข้าไป คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ยังต้อง "ห๊า!อะไรนะ.. พูดใหม่อีกทีซิ"


สถานีรถไฟ Agra


รถแขก กับ เป๊ปซี่...ดีที่สุด ระหว่างทางไปทัชมาฮาล


ทางเข้าทัชมาฮาล, กว่าจะเดินมาถึงตรงนี้ก็ผ่านด่านร้านค้าที่เข้ามาดึงเราไปเลือกซื้อของฝาก ไกด์บอกว่าระวังโดนหลอกขายสินค้าราคาแพง (ไกด์จะพาไปซื้อเอง อิ..อิ..)


แค่ทางเดินเข้าสู่ทัชมาฮาลก็หรูเลิศอลังการ อู๊ยยยย... อยากให้ถนนลูกลังเข้าบ้านเราเป็นแบบนี้จัง อิ..อิ..


ประตูหน้าเข้าสู่ทัชมาฮาล ใหญ่โตมไหสวรรย์ (แปลว่า ใหญ่กว่ามโหฬารอ่ะนะ )


ด้านหลังของประตูมหึมานี้เป็นทัชมาฮาล


เดินเข้าประตูไปได้ครึ่งทางก็เจอคนติด (ไม่ใช่รถติด) เพราะต่างก็หยุดถ่ายรูปมุมนี้กันเกือบทุกคน เสียดายรูปที่ได้ไม่ดีเลย คงต้องไปเรียนถ่ายภาพจริงๆแล้วมั๊งเนี๊ยะ


เย๊!!! มาถึงอินเดียแล้วนะ


มีแต่คนถ่ายภาพอย่างนี้ เลยลองถ่ายมั่ง, กะว่าจะหยิบมาฝากอ่ะ อิ..อิ..


ก่อนขึ้นสู่ทัชมาฮาลต้องสวมถุงรอง รองเท้า ก่อน เค้าป้องกันพื้นสึก จะให้ถอดรองเท้าก็ไม่ได้เพราะหนาวซะขนาดนั้น


อาคารด้านซ้ายมือของทัชมาฮาลเป็นมัสยิด


ด้านข้างของทัชมาฮาล เดินไปเรื่อยๆ จนถึงด้านหลังของทัชมาฮาล ซึ่งเป็นแม่น้ำยมมุนา


ไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ขอแนบหน้าดูดซึมความอลังการหน่อย... รู้ว่าถ้าอยากเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีไม่ควรทำแบบนี้กับโบราณสถานแต่อดใจไม่ได้อ่ะ


Cloister - ระเบียงคด ตรงจุดนี้ใกล้ถึงทางออกแล้วอ่ะ


เบื้องหลังความสวยงาม... คนงานแบกหญ้าที่ตัดแล้วออกไปทิ้ง (คงเอาไปเลี้ยงสัตว์แหล่ะ) ดูสาหรี่ที่ใส่สีสดใสสวยงาม

อักราฟอร์ท (Agra Fort)

เดินออกจากทัชมาฮาล ไปขึ้นรถตู้ ป้าแมรี่ซื้อหนังสือภาพทัชมาฮาลและโปสการ์ดที่คนขายนำมาเร่ขายถึงรถ จากนั้นเดินทางไปป้อมอักราหรือ Agra ford ตามความเห็นส่วนตัวแล้วที่อักราฟอร์ดนี่น่าสนใจกว่าทัชมาฮาลซะอีก

ป้อมแห่งนี้เป็นที่คุมขังกษัตริย์ ซาฮ์ จาฮาน (Shah Jahan) ผู้สร้างอนุสรณ์สถานทัชมาฮาล ให้ภรรยาผู้เป็นที่รักคือ มุม ทัชมาฮาล (Mumtaz Mahal) ภรรยาผู้เสียชีวิตในการให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 ผู้ที่ขังกษัตริย์ซาฮ์ จาฮาน ไม่ใช่ใครอื่นไกลที่ไหน, แต่เป็นพระโอรสของพระองค์ที่ชื่อ ออรังเซบ (Aurangzeb) ระหว่างถูกจองจำ พระองค์เฝ้าดูทัชมาฮาล ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2.5 กิโลเมตร กษัตริย์ซาฮ์ จาฮาน ได้ถูกจองจำที่ป้อมแห่งนี้เป็นเวลา 8 ปี พระองค์จึงสิ้นพระชน ณ ป้อมแห่งนี้เอง ฟังแล้วเศร้าเน๊าะ


สะพานเดินข้ามคูเมืองเข้าสู่อักราฟอร์ด


มีคูเมืองล้อมรอบป้อม


ผ่านซุ้มประตูชั้นนอก เข้าสู่ซุ้มประตูชั้นใน


ซุ้มประตูชั้นในพร้อมกำแพงและป้อมปราการ


ผ่านด่านตรวจในซุ้มประตูชั้นใน แล้วเดินขึ้นเนินแคบๆ เพื่อเข้าสู่อักราฟอร์ท


และแล้วก็เข้าสู่อักราฟอร์ท


บริเวณภายในฟอร์ทมีพื้นที่กว้างขวาง และมีการบำรุงรักษาสถานที่เป็นอย่างดี


สถาปัตยกรรมงดงามแต๊เน้อเจ้า


ถ้าใครเคยดู The fall (2006) ที่นำแสดงโดย Lee Pace ก็คงจะเคยเห็นภาพแบบนี้มาแล้ว เพราะนี่เป็นฉากหนึ่งในเรื่อง เราถ่ายภาพนี้ก่อนที่จะมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้.... มุมเดวกันเลยอ่ะ


เจ้าหน้าที่ประจำป้อมส่วนใน เฝ้าดูนักท่องเที่ยวป้องกันการทำลาย ขูดขีด หรือหยิบฉวยอะไรก็ตามที่สามารถนำไปเป็นของทีระลึกแบบไม่ต้องจ่ายเอง... เค้ามะเคยทำน๊า, แค่รู้ว่าบางคนเคยทำเท่านั้นเอง อิ..อิ..


อาคารที่ประทับระหว่างถูกจองจำ ลวดลายฝังแบบอินเลอันวิจิตรสวยงาม


ซูมเก๊าเสา (แปลว่า ซูมยอดเสา) อาคารหินอ่อนทั้งหลังประดับประดาด้วยหินหลากสี


หินอ่อนดัด (ไม่ใช่เหล็กดัด ) ให้บรรยากาศเหมือนโดนจองจำจริงๆ


เอากล้องลอดกรงหินอ่อน แล้วถ่ายทัชมาฮาลที่อยู่ไกลออกไป 2.5 กิโลเมตร ตอนที่ถ่ายประมาณบ่ายสามกว่าๆ หมอกก็ลงซะแล้ว... รูปนี้ถ้าเพ่งมองดีๆ จะเห็นเลขเด็ด, เง้อ... ไม่ใช่... จะเห็นทัชมาฮาลอ่ะนะ


ถ่ายหินอ่อนแกะสลักที่ผนังมาให้ดูใกล้ ช่างละเมียดเสียกระไร หุ..หุ..หุ..


ทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร หลังคาทองแอบทรงโดมเล็กๆ สวยเลิศ...


อาคารปูนปาสเตอร์ อาคารหลังนี้ก่อนสร้างด้วยปูนปาสเตอร์แล้วฉาบด้วยวัสดุพิเศษ (ไกด์เค้าบอกมาหิ) ซึ่งปูนปาสเตอร์มีคุณสมบัติดูดน้ำได้ดี ดังนั้นอาคารนี้จึงเย็นมากในฤดูร้อน


หลุมรองน้ำฝนกลางป้อม ซึ่งจะมีท่อต่อไปเก็บไว้ในถังพักน้ำใต้ฐานอาคารฤดูร้อน สุดยอดอัฉริยะ


คันทวย (Corbel) ซูมให้เห็นกัน จะจะ ไปเลยว่างดงามขนาดไหน


สะหลุงหลวง... พอดีมัวแต่ถ่ายรูปเลยไม่รู้ว่าไกด์อธิบายว่าอะไร เลยเอามาคิดเองว่า ถ้าไม่ใช่สะหลุงหลวง ก็กระถางธูปยักษ์ อ่ะนะ รู้แต่ว่าทำมาจากหินทราย แอบชะเง้อมองข้างในก็ไม่เห็นมีอะไร


วิวในป้อมอักรา ระหว่างทางเดินกลับ


ภายในป้อมอักราที่เราเพิ่งเดินออกมา

โรงงานหินอ่อนและโรงงานทอพรม

ออกจากอักราฟอร์ทแล้วไกด์ก็พามาโรงงานหินอ่อน ที่จริงจะเรียกว่าร้านขายก็ได้เพราะโรงงานจริงๆอยู่ด้านหลัง ส่วนที่เราเข้าชมเป็นโชว์รูม แต่จัดให้มีการแสดงวิธีทำให้ลูกค้าชม ตอนเดินเข้าไปพนักงานขายจะประกบคือลูกค้า 1 คน พนักงานขาย 1 คน และก็เชียร์ซื้อสินค้าอย่างบ้าคลั่ง โดยที่เราไม่มีโอกาสได้ปรึกษากันเลยอ่ะ ส่วนเราปฏิเสธอย่างเดียว ทั้งๆที่อยากได้ใจจะขาด แต่ราคาแพงโคตรๆ ที่จริงก็เข้าใจนะ ในฐานะเป็นคนผลิตงานศิลปะเหมือนกัน เข้าใจความยากลำบากและระยะเวลาในการผลิตผลงานแต่ละชิ้น. ป้าแมรี่ซื้อของหลายอย่างแต่เราก็ไม่กล้าถามว่าซื้ออะไรมั่ง แต่เท่าที่รู้คือโต๊ะจิบชาหินอ่อนสลักลายอินเลด้วยหินสี ซึ่งพนักงานขายบอกว่าหินสีที่ใช้เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ทำทัชมาฮาลซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งแสง ทางร้านมีบริการชิ๊ปปิ้งส่งถึงประตูบ้าน สะดวกสบายแท้.

แมรี่ชำระเงินเสร็จสรรพ ไกด์ก็ดึง..ดัน..ลาก..ถู... พาเราไปร้านใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นโรงงานพรม ก็เหมือนโรงงานหินอ่อนที่มีจากจัดแสดงวิธีการทอพรม โดยไม่มีการหวงความรู้แม้แต่น้อย ให้เราถ่ายได้ทุกขั้นตอน พอชมเสร็จก็ถึงขั้นตอนการเชียร์ขายพรม โอ้แม่เจ้า... สวยๆ ทั้งนั้น อดใจไม่ไหวเลยสุมหัวกับพอลระดมสมองว่าเอาดีไม่เอาดี ถ้าเอาจะเอาแบบไหน, ผืนไหน, ลายไหน, ขนาดไหน... สรุปว่าได้พรมแคชเมียร์ขนาด 5x7 ฟุต ราคา 40,000 รูปี (ลดจาก 42,000 รูปี) ตกเป็นเงินไทย 29,181.12 บาท หรือ 878.16 US$ ราคานี้รวมค่าขนส่งถึงหน้าบ้านเสร็จสรรพ แต่ไม่รวมภาษีศุลกากรซึ่งเราต้องชำระตอนที่เขามาส่งของ ฟังดูอาจจะแพงไปหน่อยแต่เมื่อคิดว่า 1 ตารางนิ้ว ต้องใช้มือถักถึง 324 ปม (knot) เลยทีเดียว


นำหินสีชิ้นเล็กประมาณปลายไม้จิ้มฟันมาเรียงและต่อกันด้วยกาวธรรมชาติ (ถามแล้วเค้าบอกว่าเป็นสูตรลับของทางโรงงาน)


งานที่ทำมีความละเอียดสูงมาก ชิ้นนี้ใช้หินต่างสีถึง 15 ชิ้น โดยใช้กาวธรรมชาติเป็นตัวยึด จากนั้นนำไปขัด (ตามรูปต่อไป) ให้เรียบก็จะได้หินหลากสีชิ้นเล็ก เพื่อนำไปประดับตกแต่งชิ้นงานอีกครั้งหนึ่ง


วิธีการขัดหินหลากสีที่ติดกาวแล้ว ยังอนุรักษ์วิธีการทำแบบดั่งเดิมอยู่


หินหลากสีที่ใช้ในการประดับตกแต่ง เป็นหินสีชนิดเดียวกับที่ใช้สร้างทัชมาฮาล ซึ่งแสงสามารถส่องทะลุได้


โต๊ะหินอ่อนขนาดเล็ก ใช้วางโคมไฟ หรือแจกันเพื่อประดับบ้าน


แผนกทำลาย... ไม่ได้ทำให้พินาศอะไรแต่อย่างใด แต่เป็นการออกแบบลายพรม ซึ่งต้องสร้างแพทเทิร์นก่อน


กี่ทอพรม... จะเห็นแพทเทิร์นอยู่ด้านขวามือ


พรมผืนนี้มีคนกำลังนั่งทอด้วยความชำนาญอยู่ 2 คน


หลังจากทอเสร็จ ก็จะเป็นหน้าที่ของแผนกตัดเล็มพรมให้เรียบเสมอกัน การตัดเล็มยังใช้กรรไกรตัดอยู่ ซึ่งเป็นวิธีโบราณที่ทำสืบต่อกันมา


พรมแคชเมียร์ทอมือของแท้นะเนี๊ยะ ขอสัมผัสหน่อย... สิ๊บปากว่า บ่เต๊าต๋าเห็น, สิ๊บต๋าเห็นบ่เต๊าเอามือลองคลำ, ลองเอามือลูบเบาๆ ก่าบ่เอามือขะหยำ ... อิ..อิ..


แล้วก็มาถึงขั้นตอนการเสนอขาย... เจ้าของมาเชียร์ขายเองเลยนะเนี๊ย, พนักงานขายต้องลากพรมมาเกือบยี่สิบม้วนกว่าเราจะตัดสินใจซื้อได้ ก็แต่ละลายล้วนแล้วแต่สวยงามทั้งนั้นหิ


พรมแคชเมียร์ผืนนี้แหล่ะที่ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่บ้านเรา สวยมั๊กๆ ที่จริงอยากได้พรมที่ทอจากไหม แต่ราคาแพงกว่าเกือบสามเท่าแน่ะ

ชำระเงินแล้วก็รีบพากันขึ้นรถเพราะหกโมงกว่าแล้ว แต่ไกด์อยากพาไปช๊อปร้านแอนทิคต่อ แต่พวกเรายืนกรานจะกลับโรงแรมเพราะทั้งหนาว ทั้งหิว ทั้งง่วงนอน โรงแรมที่พักคือ Tourist Rest Hous. พอพักได้ไม่แย่เท่าโรงแรมที่ Delhi เก็บของเข้าห้องพักแล้วลงไปทานมื้อค่ำที่ร้านอาหารของโรงแรมเพราะขี้เกียจออกไปหาร้านอาหารแล้ว



Create Date : 30 ตุลาคม 2553
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2553 15:28:31 น.
Counter : 3867 Pageviews.

11 comment
2010-01-11 Delhi : เดลี... ดินแดนแห่งบุรุษเพศ
มา Delhi ได้ 3 วันแล้วยังไม่เห็นผู้หญิงอินเดียทำงานเลย ที่โรงแรมก็มีแต่ผู้ชายทำ ทั้งทำความสะอาด เช็คอินเช็คเอ้าท์ ทำครัว เสิร์ฟ และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้ชายเดินขวักไขว่ตามท้องถนน เอ๊ะ!! ผู้หญิงหายไปไหนหมดเนี๊ยะ โดยมากจะเห็นผู้หญิงต่างชาติแบกเป้เดินไปมา ผู้หญิงอินเดียจริงๆ มีให้เห็นน้อยมาก ที่วัดฮินดูที่ไปเมื่อวาน (วันที่ 10) ต้องต่อแถวเข้าและแยกแถวชายหญิง ในแถวผู้หญิงมีไม่เกิน 30 คน ส่วนแถวผู้ชาย มี 600-700 คน ถามไกด์ก็เลี่ยงที่จะตอบ

วันนี้นัดไกด์ไว้ตอน 10 โมงครึ่ง นั่งรอถึงสิบเอ็ดโมงก็ยังไม่มา กำลังจะโทร.ตามก็เปิดประตูโรงแรมเข้ามาพร้อมคำขอโทษขอโพย บอกว่ารถติด จากนั้นเดินไปขึ้นรถที่หน้าสถานีรถไฟ แล้วไปธนาคารตรงวงเวียนหน้าสวนสาธารณะ ธนาคารอยู่ในตึกที่กำลังซ่อมแซม ไม่น่าเชื่อว่ายังเปิดให้บริการ ภายในธนาคารมี รปภ.ถือปืนยาว สี่ห้าคนยืนอยู่มุมอาคาร ดูน่ากลัวยังงัยชอบกล แลกเงิน 5,000 บาท ได้ 6,580 รูปี


มันหนาวอ่ะนะ เสื้อผ้าที่เตรียมไปก็ไม่หนาพอ


ตึกด้านหลังห้องแรกสุดคือธนาคาร, เชื่อหรือยังว่าไม่น่าจาเปิดให้บริการ


แลกเงินเสร็จก็เดินเล่นรอบสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นแหล่งช๊อปปิ้งอินเทรนด์ ตรงประตูมีป้ายลด 80% อีกป้าย ซื้อ 1 แถม 5 ว๊าว!!! ต้องการขายอารายขนาดนั้น อิ..อิ..


ชอบมุมนี้ กิ๊ปเก๋ดี เลยถ่ายมาให้ดู


เป็นนกพิราบอินเดียดีจัง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับไปปล่อยต่างจังหวัด แถมคนที่อินเดียยังใจดี มีอ่างน้ำให้ดื่มอีกต่างหาก


ตู้ ปณ. รอรัก อิ..อิ.. ไม่ได้ส่ง Postcard ให้ใครหรอกนะ เพราะจะขัดกับนโยบายความเค็ม


Sikh Temple

เดินเล่นพอเห็นสีสรร Trendy วัยรุ่นสูงวรรณะของอินเดีย แล้วขึ้นรถไปวัดซิก มีนามว่า "Gurudwara Bangla Sahib" เป็นวัดที่สร้างจากหินอ่อน ก่อนเข้าไปต้องโพกศีรษะ ถอดรองเท้าและถุงเท้า ล้างมือให้สะอาด และเดินผ่านน้ำศักดิ์สิทธิ์ (รู้สึกเหมือนเดินเข้าสระว่ายน้ำยังงัยมะรู้อ่ะ) เข้าไปข้างในวัดมีวงดนตรีเล่นและร้องสด ผู้คนนั่งสวดมนตร์ภาวนา, เจริญสมาธิ เราเดินชมรอบอาคารด้วยความสงบเสงี่ยมเจียมตัว จากนั้นเดินออกนอกอาคารวัด เค้าตักขนมศักดิ์สิทธิ์ใส่มือพอคำ.. กินแล้วโชคดีไปทั้งปี ถ้าใครอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ก็ไปได้ที่นี่เลยคัฟ //en.wikipedia.org/wiki/Gurudwara_Bangla_Sahib

เดินไปที่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด เหมือนสระว่ายน้ำขนาดใหญ่มากกกก เชื่อว่าถ้าได้ลงอาบ หรือนำน้ำมาลูบไล้บริเวณที่เป็นโรคผิวหนังก็จะหายไปในบัดดล หรือถ้านำมาล้างหน้า, หน้าก็จะใสผุดผ่องขาวนวลโดยไม่ต้องใช้ไวท์เทนนิ่ง (อันนี้แต่งเองอ่ะนะ) เราเอาเท้าไปจุ่มเพื่อสิริมงคลมาแล้วอ่ะ อิ..อิ..


วัดซิก ทำด้วยหินอ่อนทั้งหลัง


โดมทองคำคลุมแท่นศักดิ์สิทธิ์ ด้านซ้ายมือคือกลุ่มนักดนตรีและนักร้องเล่นกันสดๆ ช่วยบิ๊ลด์ (build) บรรยากาศได้เป็นอย่างดี


กระจกโมเสกบนเพดาน ของจริงสวยวิจิตรบรรจง แต่ถ่ายรูปออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่


ด้านนอกอาคารซึ่งกำลังตกแต่งซ่อมแซม


ประตูเงิน... เงินแท้ทั้งบานเลยนะ เจ้าประคูณณณ


ตอนออกต้องเดินผ่านซุ้มขนมหวานศักดิ์สิทธิ์ เค้าตักใส่มือเลยนะ มือใครสกปรกก็ตัวใครตัวมัน อิ..อิ...


สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำเย็นเฉียบ ไปสัมผัสน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลมาแล้ว เย้!!!


สองพี่น้อง เห็นภาพนี้น่ารักดีเลยเอามาให้ดูด้วย

ภายในบริเวณวัดยังมีโซนโรงทาน เข้าไปเยี่ยมชมทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ และได้เรียนรู้ความมีน้ำใจของชาวซิกมากขึ้น คนที่มาช่วยงานโรงทาน ล้วนแล้วแต่สมัครใจมาทำ ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น และอุปกรณ์, เครื่องปรุงต่างๆ ก็ไม่ได้ซื้อ มีแต่คนเอามาบริจาค


ภายในโรงทานเป็นอาคารหินอ่อน ใหญ่โตมโหฬาร


หม้อทองเหลืองขนาดใหญ่ ปรุงอาหารให้หลายพันคนต่อวัน


ช่วยเค้าทำแผ่น Chapati


นั่งปิ้งยืนปิ้งกันทั้งวัน... Chapati เป็นอาหารหลักของคนที่นี่... เหมือนคนไทยกินข้าวเป็นหลัก.


อาหารที่เตรียมแจกจ่าย หม้อขวามือสุดเป็น Chapati ดูสิ!!! หม้อไซด์ซุปเปอร์โคตรอภิมหาจัมโบ้ (ไปอินเดียครั้งนี้ แค่เห็นหม้อนี่ก็คุ้มแล้ว อิ..อิ..)


การแจกก็จะตักใส่ถัง (เหมือนถังตักน้ำแถวชานเมืองบ้านเรา) แล้วเดินไปตักใส่ถาดหลุมของคนที่มาทาน

ไปเกือบทุกประเภทของวัดแล้วจะขาดวัดยิวได้ยังงัย ว่าแล้วก็ขึ้นรถแล้วไกด์ก็พาไปยัง "Judah Hyam Hall Synagogue" ที่จริงข้างในก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษหรอก ข้างในซีเนก้า (ไม่รู้ว่าออกเสียงถูกป่าวนะ) ก็จัดที่นั่งให้คนมาฟังเทศก์ และมีโพเดี่ยมให้ Rabai (พระยิว) ได้สวดมนต์และเทศน์


สุเหร่ายิว - Judah Hyam Hall Synagogue


คงมีเชื้อสายยิวในชาติก่อน ชาตินี้ถึงได้เค็มขนาดนี้ อิ..อิ..

ออกจากสุเหร่ายิวแล้วก็เดินตามหาไกด์และคนขับรถในซอยข้างๆ มีร้านตัดผมข้างทางเรียงราย เจอทั้งสองคนแอบมาหาอะไรทานกันเสร็จพอดี เดินกลับรถแล้วพากันไป Lunch ที่ร้านอาหาร Veda เป็นร้านที่ Lonely Planet แนะนำ ร้านตกแต่งหรู เดินเข้าไปข้างในนึกว่าไป Dinner กัน ปิดม่านซะมืดสลัว อาหารที่นี่รสชาดสำหรับชาวต่างชาติจริงๆ รสจืดเอามากๆ ราคาไม่ค่อยแพง แต่ถ้าเทียบกับร้านอาหารในอินเดียก็จัดว่าราคาสูงพอควร ทานเที่ยงเสร็จก็ไป Shop ที่ Khan Market ตลาดสูงขึ้นไปอีกระดับ เห็นมีแต่ชาวต่างชาติไปซื้อกัน สินค้าราคาสูง (เช่น ปลอกหมอนอิง ราคา 19 $US) ก็ยังเห็นคนซื้อกันนะ แต่เราไม่ซื้อหรอก


ร้านตัดผมข้างทาง (ข้างทางจริงๆนะ)


ชุมชนข้างสุเหร่ายิว


เล้าไก่ข้างถนน ดูกรงสิ!! ซี่เบ้อเร่อ แต่ไก่ก็ดีนะ ไม่พยายามออกมาเลยหิ


Lunch ที่ร้าน Veda แถววงเวียนสวนสาธารณะ


บรรยากาศภายในร้าน


Shopping ที่ Khan Market


ร้านที่เข้าไปซื้อเครื่องเงิน


ที่เมืองไทยจอดซ้อนคันก็น่าโมโหแล้วนะ แต่ที่อินเดียจอดซ้อนสองคัน แล้วจาออกยังงัยอ่ะเนี๊ยะ


รถมาส่งที่ Main Bazaar หน้า New Delhi Train Station ตามเคย แล้วเดินไปโรงแรมอีกประมาณ 600 เมตร

รถมาส่งที่ Main Bazaar หน้าสถานีรถไฟนิวเดลลี บอกลาไกด์ Anuj เพราะพรุ่งนี้เราจะไป Agra โดยรถไฟ และทาง Amber Tour ก็จะมีไกด์ถิ่นมารอต้อนรับ




Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2553 11:49:22 น.
Counter : 2084 Pageviews.

5 comment
2010-01-10 Delhi : นมัสเต เดลี
Jet Airways ลงจอดที่ Indira Gandhi International Airport ตอน 00:20 am. กว่าจะเบียดเสียดกันลงจากเครื่องแล้วไปแย่งกันต่อคิวตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นไปลุ้นระทึกว่ากระเป๋าเราจะมากับเครื่องหรือจะไปโผล่ที่บูดาเปส สรุปทุกอย่างเป็นไปตามแผนแต่ช้าไปแค่สามชั่วโมงครึ่งเอง ลากกระเป๋าเดินทางออกมาเจอมหาฝูงชน ที่จริงออกจะแปลกใจเพราะนี่ก็ตีหนึ่งกว่าๆ เข้าไปแล้ว แต่บริการรับส่งที่มายืนรอกันหน้าสะหร๋อนเหมือนมีการแสดง circus de soleil ตรงที่เรายืน ทำให้ออกจะเขินๆ นิดส์ๆ สอดส่ายสายตามองหาชื่อเราในป้ายแล้วป้ายเล่า ในที่สุดก็เจอ... โล่งใจไปที นึกว่าต้องไปต่อสู้ฟาดฟันกับ Taxi ซะแล้ว
ลากกระเป๋าตามคนของโรงแรมที่มารับไปยืนหนาวรอคนขับคนมารับ ว๊าว!!! บริการสุดหรู รถ Toyota Camry รุ่นใหม่ ไม่ถึงกับ Hybrid แต่ก็หรูหรามีระดับสมฐานะเรา อิ..อิ... กำลังก้าวจะขึ้นรถ แต่ เอ๊! ทำไมไม่ยอมเปิดประตูให้เรา หรือว่าเป็นธรรมเนียมที่นี่ที่ลูกค้าต้องเปิดประตูเอง...
"No!!! it's not our car yet." บริกรของโรงแรมเหล่มองเรา.
"OK...OK...ไม่ใช่ก็ไม่ใช่." รออีกไม่ถึงสามนาที และแล้วใจก็สลาย...


นี่งาย... รถโรงแรม (จ้าง Taxi มารับเราอีกทีหิ) เล็กจนต้องเอากระเป๋าเทินไว้บนหลังคาตามสไตล์อินเดีย. และแล้วก็รู้อนาคตว่าทริปนี้จะเป็นอย่างไร...


ตื่นเช้า ก็ไม่เช้าเท่าไหร่นะ แปดโมงกว่าแล้ว อากาศหนาว ประมาณ 7-8 องศาเซลเซียส เอาผ้าชุบน้ำเช็ดขี้ตา แล้วแปรงฟัน น้ำเย็นกว่าน้ำดื่มในตู้เย็นบ้านเราอีกอ่ะ น้ำอุ่นก็ไม่เห็นมีเลย ใส่เสื้อกันหนาวสามตัวที่เตรียมมาพร้อมกับผ้าพันคอสองผืน ห่มผ้าขาวม้าอีกหนึ่งผืน สวมถุงมือหนัง ยังรู้สึกเย็นหน้า ว๊าบๆ หนาวล้วงลึกถึงตับจิงๆ

ขึ้นไป Roof-top (ดาดฟ้าโรงแรมที่อินเดียทุกโรงแรมที่เราไปพักเป็นร้านอาหารของโรงแรมอ่ะนะ) กลัวว่าท้องจะเสียตั้งแต่วันแรกเด๋วจะไม่สนุกเลยสั่งผัดผักรวม และ Chai ซึ่งเป็นชานมร้อนอันเลื่องชื่อของอินเดีย อ่าน Trip อินเดียของพี่ Beebar ที่เขียนเล่าถึง Chai เลยอยากลองดื่มมั๊กๆ ได้ลองแล้วรสชาดดีทีเดียว คิดว่าคล้ายชานมบ้านเราอ่ะ หนาวๆ แบบนี้ดื่มชานมร้อนๆ สุโค่ย...


ผัดผักรวมอ่ะ... เกินคาด นึกว่าจะได้ผัดผักรวมแบบบ้านเราซะอีก


อีนี่ฉานม่ายด้ายสั่งอ่ะ แต่เค้าบอกว่ามันต้องกินกับผัดผัก... เอ่อ...เอ่อ... กินก็ได้.... เอ่อ!! จริงด้วย กินด้วยกันอร่อยดีแฮ๊ะ แผ่นแป้งนี้เรียกว่า Chapati วิธีการทำให้สุกโดยการย่างไฟ คนที่นี่กิน Chapati เหมือนคนบ้านเรากินข้าวอ่ะ


กินเสร็จก็ถึงเวลาไกด์มารับ บริษัททัวร์ที่เราใช้บริการคือ Amber Tour บริการสุดยอดจริงๆ แต่ราคาค่อยข้างสูง "You get what you pay" ทางเราจองห้องพักเอง แต่ Amber Tour เค้าจัดทัวร์ รวมไกด์, คนขับ, จองตั๋วเครื่องบิน (ภายในอินเดีย) และรถไฟ, จองบัตรเข้าชมต่างๆ จองโรงแรมเองเพราะทางบริษัทเค้าไม่รับจองโรงแรมต่ำกว่ามาตรฐานของเขา ถ้าใช้โรงแรมของเขาก็คงไม่มีปัญญาจ่ายกันอ่ะนะ
ต้องขอออกตัวก่อนว่า Trip นี้เราเป็น ไส้ติ่งทัวร์ แค่ติดมาด้วยไม่ได้ออกสิทธิ์ออกเสียง เค้าไปไหนก็ไปกัน ทั้งที่บ้างแหล่งท่องเที่ยวอยากแว๊บเข้าไปแต่ก็ไม่มีโอกาส แต่ไม่เป็นไร ถ้ามีโอกาสจะมาย้อนรอยเที่ยวใหม่ตามใจเราอยากไป
เดินจากโรงแรมไปขึ้นรถ โรงแรมอยู่ถนน Main Bazaar เป็น one way รถจอดอยู่หน้าสถานีรถไฟ New Delhi ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร


ถนน Main Bazaar เป็นแหล่งโรงแรมของพวก Backpacker สุดถนนเป็นสถานีรถไฟ New Delhi


Old Delhi

วันนี้เราจะไปเที่ยวกันย่าน Old Delhi ถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดของ Old Delhi ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ //en.wikipedia.org/wiki/Old_Delhi แต่เป็นภาษาอังกฤษอ่ะ
Old Delhi เป็นย่านชุมชนเก่าก่อนที่เค้าจะย้ายลงมาทางใต้ซึ่งเมืองที่สร้างใหม่นี้เรียกว่า New Delhi โดยมีชาวอังกฤษชื่อ Edwin Lutyens เป็นผู้วางผังเมือง ใครอยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ New Delhi ก็เข้าไปที่นี่เลย //en.wikipedia.org/wiki/New_Delhi
หนึ่งในผู้บริหารของทริปนี้ (เรียกซะหรูเลย อิ..อิ..) บอกว่า กลุ่มเราเป็นนักท่องที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป เราอยากจะเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวถิ่น ดังนั้นสถานที่สำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เราเลยอดเข้าไปชมเลยตรู เช่น Red Fort เห็นแต่ข้างนอก อยากเข้าไปจิงๆนะ บริษัททัวร์ก็มีตั๋วให้แล้ว แต่กลุ่มเราจะไม่เข้าไปเด็ดขาด "เพราะเราเป็นนักท่องเที่ยวที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป" บ้าชะมัด!!!!


โซนนี้เป็นโซนขายหนังสืออันเลื่องชื่อ พอดีวันนี้เป็นวันอาทิตย์ มีร้านเปิดขายบางตา


อากาศหนาวเย็น เห็นร้านและแผงขายเสื้อกันหนาวเต็มไปหมด


ร้านค้า ธนาคาร ปิดหมด... จัดวันเที่ยวได้โดนใจจริงๆ หิ (ปล. ป้ายธนาคาร เบี้ยวไปเบี้ยวมา ไม่รู้ว่าจงใจทำศิลป์หรือป่าวอ่ะ)


ร้านขายถั่ว


ย่านตลาดดอกไม้สด คนที่นี่ศรัทธาในศาสนากันมั๊กๆ ไม่เว้นแม้จะเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว


ตลาดเครื่องเทศที่ Old Delhi

ที่อินเดียเครื่องเทศถือเป็นสินค้าหลักชนิดหนึ่ง จึงมีตลาดขายเครื่องเทศโดยเฉพาะ ตลาดเครื่องเทศใน Old Delhi มีทั้งขายส่งและขายปลีก ทั้งขายกินเองในประเทศและส่งออกแบ่งให้ชาวโลกได้ลิ้มรสเครื่องเทศอันแสนหอมหวล อีกนั่นแหล่ะ! วันนี้วันอาทิตย์ร้านรวงปิดหมด ไกด์บอกว่าถ้าเป็นวันธรรมดาเดินเข้ามาในตลาดเครื่องเทศก็จะต้องจามกันทุกรายไป เพราะเครื่องเทศที่นี่ใหม่สด กลิ่นฉุนจัดจ้าน ไม่เป็นไร ไม่เห็นเครื่องเทศก็ไปเห็นวิถีชีวิตของคนในตลาดเครื่องเทศก็แล้วกัน
ตลาดเครื่องเทศเป็นชุมชน ชุมชนหนึ่ง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตตุรัส มีอาคารสามชั้นล้อมลอบ ชั้นที่สองและสามเป็นที่อยู่ของครอบครัวแรงงานในตลาดแห่งนี้นี่เอง ส่วนเจ้าของร้านเครื่องเทศก็จะเป็นคนอีกวรรณะหนึ่ง ซึ่งมาค้าขายแล้วก็กลับบ้านสุดหรูในตอนสิ้นวัน ครอบครัวแรงงานที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เลย ทั้งทำอาหาร กิน อยู่ หลับนอน ออกลูกออกหลานกันเป็นเจ็นเนอร์เลชั่นประมาณว่าชั้นจะไม่ไปไหนแล้วตลอดชีวิต อะไรทำนองนั้น


กระสอบพริก, คนที่นี่คงไม่ชอบกินเผ็ดเท่าไหร่นิ แค่กระสอบพริกทั้งแผงล้มใส่อาจถึงตายได้เชียวนะ


ภายในตลาดเครื่องเทศ ภาพนี้ถ่ายจากชั้นสอง


ภายในตลาดเครื่องเทศ ภาพนี้ถ่ายจากดาดฟ้า


รูปเมื่อกี้เข้าไปอยู่ในโดมแล้วถ่ายเข้าไปในตลาด มุมขวาของรูปจะเห็นแรงงานทำอาหารกินกัน


สุเหร่าข้างตลาดเครื่องเทศ ถ่ายจากดาดฟ้าตลาดเครื่องเทศ


Old Delhi ภาพบรรยากาศวันอาทิตย์ นึกภาพไม่ออกเลยว่าวันธรรมดาจะแออัดขนาดไหน


เดินไปเดินมา ก็เจออนุสาวรีย์เตี้ยๆ อยู่ริมถนน จะว่าริมถนนก็ไม่เชิง ประมาณว่าระหว่างกลางถนนกับริมถนนก็แล้วกัน


เดินวนดูโดยรอบด้วยความฉงนว่า อะหยังหว่า แล้วก็ได้คำตอบว่าเป็นสถานที่ปัสสาวะ โอ้ว!! ซิมเปิดเผย.. ไม่ปกปิดค่าใช้จ่าย อิ..อิ.. ที่งงๆ ตอนแรกเพราะมันเป็นแค่กำแพงก่อขึ้นมา ไม่มีโถฉี่เลยนะ และก็ไม่ลับตาแม้แต่นิดเดียว อยากลองใช้บริการแต่ก็ไม่อาจหาญ


ไกด์เป็นคนท้องถิ่น มีมนุษยสัมพันธ์ดีมากมาย แนะนำร้านอาหารที่คนแถวนั้นโหวดว่าอร่อยดีแท้ เข้าไปสั่ง Aloo Gobi Parantha แผ่นใหญ่เท่าฝาโอ่งมาทาน Aloo คือมันฝรั่ง คนเหนือคงยืมคำศัพท์นี้มาใช้ เพราะคนเชียงใหม่เรียกมันฝรั่งว่า "มันอะลู" ส่วน Parantha เป็นแผ่นแป้งที่ทำให้สุกโดยอบในไหยัก ถ้าใครเคยดูในทีวี รายการสารคดีที่คนพื้นเมืองต่างประเทศเอาแผ่นแป้งแปะไว้ในโอ่งที่มีถ่านอยู่ด้านใน


ถ้าใครเคยได้ยินฝรั่งสบถ ว่า 'Holy Shit' แปลว่า คนๆนั้น ไม่สุภาพ ฝรั่งบางคนเลยเลี่ยง โดยสบถว่า 'Holy cow' นี่แหล่ะ Holy cow ตัวจริง เดินไปไหนมาไหนคนก็ให้ความเคารพ ไม่ถึงกับต้องไหว้ แต่จะปฏิบัติดีกว่าปฏิบัติกับคนด้วยกันเองซะอีกอ่ะนะ


นั่งสามล้อถีบ (ที่อินเดียเรียก Cycle Rickshaw) เที่ยวชม Old Delhi


แวะชมหมู่บ้านเก่าอนุรักษ์ไว้ คนที่อยู่ในหมู่บ้านนี้เป็นกลุ่มคนชั้นกลางมีฐานะ


บ้านบางหลังมีอายุเกือบร้อยปีเลยทีเดียว


นั่งสามล้อปั่นมาประมาณครึ่งชั่วโมง สิ้นสุดที่ Jama Masjid


Jama Masjid เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สุดใน Old Delhi มีอายุประมาณ 400 ปี ใครอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ก็คลิ๊กเข้าไปที่นี่ครับ //en.wikipedia.org/wiki/Jama_Masjid,_Delhi ค่าเข้าชมฟรี แต่ถ้าจะถ่ายรูปเสีย 200 RP. อัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้น 10 บาท ได้ 13 รูปี ที่จริงไกด์ก็บอกก่อนแล้ว แต่เราคิดว่าไหนๆ มาทั้งทีก็ต้องถ่ายสิ เงินแค่นี้ แต่พอคิดไปคิดมา ถ้าต้องจ่ายทุกที่ก็จะเสียเงินมากกว่าค่าโรงแรมอีกอ่ะ


ประตูทางเข้าทิศใต้ (Gate 3)


ป้อมมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ด้านซ้ายมือตอนเดินขึ้นบันได


ประตูหน้า ถ่ายจากลานในมัสยิด


ตัวอาคารมัสยิด ใหญ่โตมากๆ


ภายในมัสยิด


เสียดายกล้องเก็บภาพมุมกว้างไม่หมด นี่ถอยจนติดกำแพงแล้วนะเนี๊ยะ อุตสาห์ซื้อกล้องใหม่เพื่อมาอินเดียเป็นประเดิมเลยนะเนี๊ยะ


ตลาดนัดที่นี่เลิศสุดๆ มีพรมแขวนขายเรียงรายตามข้างทาง ถ้าเป็นตลาดนัดที่เชียงใหม่ ก็จะเป็นกุงเกงลิงผู้หญิงไซท์ช้าง ใส่ห่วงฮูล่าฮูป แขวนโชว์


ขับผ่าน Red Fort อันเลื่องชื่อ อยากเข้าไปใจจะขาด แต่คติพจน์ของกลุ่มเราคือ "เราเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกลุ่มอื่น ที่คนอื่นไปเราไม่ไป... เด็ด... ขาด.... "


Akshardham วัดฮินดู ใหญ่โตมโหฬาร วิจิตรพิสดารกว่าวัดใดในหล้า การเข้าไปเข้มงวดสุดๆ ห้ามพกพาอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเลคทรอนิค ใดๆ ทั้งสิ้น เลยไม่มีภาพภายในมาฝาก ได้แต่ภาพที่วัดอยู่ห่างออกไปประมาณ 2-3 กิโลเมตร ถ้าใครอยากเห็นภาพและอ่านรายละเอียดก็เข้าไปดูได้ที่นี่ครับ //en.wikipedia.org/wiki/Akshardham_(Delhi)


ปี 2010 อินเดียเป็นเจ้าภาพแข่งขัน Commonwealth Games เป็นการแข่งขันกีฬาสำหรับประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ขับรถผ่านอาคารแข่งขันกีฬาที่อินเดียเตรียมเป็นเจ้าภาพ เลยถ่ายมาให้ดูกัน ใครอยากเรียนรู้กับ Commonwealth Games ก็เข้าไปอ่านได้ที่นี่ครับ //en.wikipedia.org/wiki/2010_Commonwealth_Games


จะขับรถไปชม National Gallery of Modern Art Museum แต่ไกด์พาไปขับรถชมกลุ่มอาคารรัฐสภาของอินเดียก่อน ใครศึกษาเกี่ยวกับอินเดียแล้วอยากอ่านเพิ่มเติมก็ไปที่นี่ (มุขเดิม แต่เราใช้หาข้อมูลก่อนไปจริงๆ นะ) //en.wikipedia.org/wiki/Parliament_of_India


เห็นป้ายแล้วอยากบอกให้คนขับลองเลี้ยวซ้ายดู อยากรู้ว่าแพงเท่าไหร่เชียว (ปล.ด้วยความที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง อิ..อิ..)


National Gallery of Modern Art เสียดายมากๆ ที่มีเวลาแค่ชั่วโมงเดียวในการเข้าชม ไปถึงตอนสี่โมงเย็นแล้ว แกลอรี่ปิดห้าโมง ภายในพิพิธภัณฑ์ มีหลายตึก ตึกที่เราเข้าชมจัด Exhibition ของศิลปินที่โด่งดังในอินเดีย ทั้งศิลปินชาวอินเดียเอง และชาวต่างชาติที่ทำผลงานในอินเดีย อาคารหลังนี้มี 3 ชั้น แค่ชั้นแรกที่เราเดินชมก็ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงแล้ว กะจะเดินชมแบบไวที่ชั้นที่สองก็เกือบห้าโมงแล้ว เจ้าหน้าที่เดินตามแล้วชี้ให้ดูที่นาฬิกาข้อมือ ประมาณว่า เมิงออกไปได้แล้ว กรูจา กลับแล้ววววว เสียดายมั๊กๆ ยังงัยก็เข้าไปชมเวปไซด์ของเขานะ นี่เป็นเวปของเขาโดยตรง ไม่ใช่ Wikipedia ครับ //ngmaindia.gov.in/


ภายนอกอาคารนิทรรศการที่เราเข้าไปชม ภายในห้ามถ่ายภาพ และให้เราใส่สัมภาระ รวมทั้งกล้องถ่ายภาพไว้ในล๊อคเกอร์


รถมาส่งที่หน้าสถานีรถไฟ New Delhi แล้วเดินเข้า Main Bazaar Rd., ท่านหลอดอ๊อฟ เดอะคาว กำลังมีความสุขกับ Aloo Dinner


Main Bazaar Rd., ตอนเย็น เอารูปมาให้เปรียบเทียบกับตอนเช้าที่เดินออกไป ร้านรวงเปิดกันสะหนั่น คนเดินกันขวักไขว่ ถ้าจะให้เราเปรียบเทียบก็คงเหมือนถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ อ่ะนะ แต่ที่ถนนข้าวสารไม่มีวัว


เราเตรียม นมัสเต กับชาวอินเดีย แต่ไม่มีใครเลยที่ นมัสเตกับเราก่อน มีแต่ ตอนเดินเข้าตลาดเครื่องเทศ เจอฝรั่งทักทายเราด้วย "นมัสเต"



Create Date : 27 มกราคม 2553
Last Update : 28 มกราคม 2553 9:00:24 น.
Counter : 3373 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

annopwichai
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]



ชีวิตอิสระ, ชอบความเรียบง่าย, เป็นโรคภูมิแพ้ IT
New Comments
All Blog
MY VIP Friend