It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
All blogs
 
สุโขทัย ในห้วงยามแห่งอดีต



ว่ากันว่า ประเพณีลอยกระทงมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยเรียกว่า พิธีจองเปรียญ หรือ การลอยพระประทีป




ซากศิลาแลงสีน้ำตาลแดงขนาดมหึมาที่รายล้อมผม แม้จะผุพังจากพลังแห่งกาลเวลา ทว่า สร้างความรู้สึกให้ผมหลงเชื่อไปบางขณะว่า กำลังอยู่บนแผ่นดินสุโขทัยเมื่อ 700 ปีก่อน จินตนาการที่กำลังเดินย้อนรอยอดีต นำพาผมไปพร้อมกับมัน ความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย สะท้อนได้จากซากปรักหักพังของวัด วัง ที่แม้ปัจจุบันจะมีเพียงฐาน หรือเสา แต่ยังสัมผัสได้ใน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย



อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อดีตราชธานีไทยอย่างสุโขทัย นอกจากจะสงบร่มเย็นด้วยการปกครองแบบพ่อปกครองลูกตามที่ได้ร่ำเรียนกันมา ยังถูกทำให้เชื่อว่า ที่นี่คือต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง


ว่ากันว่า ประเพณีลอยกระทงมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยเรียกว่า พิธีจองเปรียญ หรือ การลอยพระประทีป และหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 มีบันทึกถึงงานเผาเทียน เล่นไฟ ที่คาดเดากันต่างๆ นานาว่าเป็นประเพณีลอยกระทง อย่างไรก็ตามความเชื่อเหล่านี้ไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน งานเผาเทียน เล่นไฟ กับประเพณีลอยกระทง จึงยังคงถูกผูกเงื่อนให้เกี่ยวโยงกันอย่างแก้ได้ยาก คล้ายกระทงสายที่ไหลต่อทอดยาวตามๆ กันไป




แม้หลักฐานจะบางเบา แต่สุโขทัยก็ยังเป็นจุดหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศพร้อมใจมุ่งหน้าไปร่วมงานประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ท่ามกลางแสงไฟที่สว่างไสวทั่วอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในยามค่ำคืนวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ช่างแตกต่างจากอุทยานฯในค่ำคืนอื่นๆ ที่มีเพียงแสงจันทร์ทอแสง ร่วมกับไฟสปอตไลท์ดวงย่อมที่สาดส่องโบราณสถานให้ตระหง่านงดงามในความมืด


นักท่องเที่ยวหลายคนอาจมองโบราณสถานและโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฉากการแสดงแสง-เสียง ที่แวะเวียนจัดขึ้นทุกปลายปี ทว่าสิ่งเหล่านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น ทุกร่องรอยแตกร้าว รูพรุนของหินศิลาแลง ต้องผ่านเหตุการณ์และระยะเวลานานหลายร้อยปี บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่นำก้อนหินศิลาแลงมาสร้างบ้านแปงเมือง เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรือง ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง กระทั่งล่มสลายในที่สุด


โบราณสถานที่เหลืออยู่มีโครงสร้างที่ชัดเจนทางสถาปัตยกรรม หากจินตนาการเป็นรูปร่าง คงต้องคารวะต่อความงามที่คนโบราณสรรค์สร้างไว้อย่างวิจิตร ทำให้แทบไม่น่าเชื่อว่าคนโบราณที่ไม่มีเครื่องใช้ไม้สอยทันสมัย หรือเครื่องจักรกลใดๆ จะทำได้ ความมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่นี้เองที่ทำให้สุโขทัยเป็นเมืองมรดกโลก ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหนือกาลเวลา




พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานภายในมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถือเป็นภาพสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย พระพุทธรูปองค์นี้คือ "พระอจนะ" หรือ "พระพูดได้" ตามตำนาน หากได้เข้ามานมัสการภายในมณฑปจะรู้สึกสงบเงียบ มั่นคงในจิตใจ แต่แฝงไว้ซึ่งความอ่อนโยน เนื่องจากพระอจนะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย หากใครมาสุโขทัยแล้วไม่ได้เข้ามาสักการะก็ถือได้ว่ายังมาไม่ถึง

นอกจากที่พึ่งทางศาสนาอย่างพระอจนะ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของสุโขทัย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ครั้งทรงปกครองอาณาจักรสุโขทัย วางรากฐานเมืองจนรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่พระราชกรณียกิจซึ่งเป็นที่จดจำ คือ ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ทำให้ชาติไทยมีตัวอักษรเป็นของตัวเองตราบทุกวันนี้


อีกมรดกที่ตกทอดกันมาพร้อมตำนานความเชื่อ คือ "ข้าวตอกพระร่วง" ตามตำนานเล่าขานกันว่าพระร่วงเจ้า กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ทรงผนวชและออกบิณฑบาตในวันออกพรรษาตักบาตรเทโว ท่านได้นำข้าวที่ฉันเหลือ ไปโปรยลงบนลานวัดเขาพระบาทใหญ่ แล้วทรงอธิษฐานให้ข้าวตอกดอกไม้นี้กลายเป็นหินชนิดหนึ่งอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน หากใครได้นำไปบูชาจะเจริญด้วยโภคทรัพย์ เป็นสิริมงคล และแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง แม้จะเป็นความเชื่อที่ยากแก่การพิสูจน์ให้ประจักษ์ แต่ข้าวตอกพระร่วงลักษณะเหมือนหินก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ เหล่านี้ เมื่อนำไปเจียระไนตามกระบวนการ จะได้เม็ดสีดำผิวมันเงา สวยงามคล้ายอัญมณีอย่างน่าประหลาด ทว่า ปัจจุบันกรมศิลปากรไม่อนุญาตให้มีการขุดข้าวตอกพระร่วงอีกต่อไป

หากเปรียบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นเมืองพี่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยก็เปรียบได้กับเมืองน้องที่คลานตามกันมา ศรีสัชนาลัยเดิมชื่อว่า "เมืองเชลียง" แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีสัชนาลัย ในสมัยราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย อุทยานฯ แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เพราะได้รับการบูรณะ บำรุงรักษาภูมิทัศน์ให้สวยงาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมวัดโบราณสมัยอาณาจักรสุโขทัยไว้มากมาย เช่น


วัดช้างล้อม ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า มีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่เป็นที่น่าเสียดาย พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไป คงเหลือเพียงองค์เดียวทางทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์



วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม นับว่ามีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่างๆ กันมากมายที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และเป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์เรียงราย รวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ เจดีย์ที่วัดเจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากหลายๆ แห่ง


วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกำแพงเมือง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม และมณฑปก่อด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี


วัดเขาสุวรรณคีรี อยู่ทางทิศตะวันตกถัดจากเขาพนมเพลิงไปเพียง 200 เมตร โดยตั้งอยู่บนอีกยอดเขาหนึ่งในเทือกเขาเดียวกัน มีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมองค์ระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ตรงก้านฉัตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาเดินจงกรมรอบก้านฉัตรเช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อม


วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์เจ็ดแถว กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง


วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดช้างล้อม 200 เมตร กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านหลังวัด โบราณสถานสำคัญประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีมณฑปรูปโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย


วัดนางพญา ตั้งอยู่แนวเดียวกันกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมากปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพพนมและลวดลายต่างๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลม ลักษณะเด่นก็คือ ลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังทำเป็นรูปลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนมเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น


วัดชมชื่น มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลง ห้องด้านหลังมีซุ้มจระนำที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว จากการขุดค้นบริเวณด้านหน้าพระวิหารพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ ในระดับลึก 7-8 เมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 และพัฒนาจนถึงสมัยทวาราวดี นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยเชลียงจำนวนมาก


นับรวมตอนนี้ก็มีถึงแปดวัดแล้ว หากมีอีกสักวัดคงดีไม่น้อยที่จะได้ไหว้พระเก้าวัดภายในพื้นที่เดียวกัน หนำซ้ำทุกวัดยังเป็นวัดโบราณอายุหลายร้อยปีทั้งสิ้น ฉะนั้นคงต้องไม่พลาดวัดที่เก้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดที่พลาดไม่ได้ คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กรุเก่าพระเครื่องดัง อย่างพระร่วงรุ่นหลังรางปืน เป็นที่หมายตาต้องใจผู้นิยมพระเครื่อง ทั้งประเภทที่หลงใหลในพุทธศิลป์หรือแม้กระทั่งความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธคุณ ชวนให้มาสัมผัสต้นทางแห่งความเชื่อราคาแพงเหล่านี้
นอกจากวัดโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ ที่กระจายรายล้อมอยู่ทั่วอุทยานฯ ศรีสัชนาลัย ยังมีแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวสุโขทัยในอดีต คือ ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) ที่บางคนชอบตั้งใจออกเสียงให้ผิดเพี้ยนเป็น เตาทุเรียน ครั้งเป็นนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะน้อยห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่ค้นพบเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกกว่า 500 เตา เรียกได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเมืองสุโขทัยในยุคนั้น


ถ้วยชามสังคโลก ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้งานและส่งออกขาย ทำให้มีแหล่งเตาทุเรียง ที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดสุโขทัย ทางจังหวัดจึงต้องจัดตั้งศูนย์ศึกษาฯ นี้ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านนี้โดยเฉพาะ เครื่องถ้วยชามสังคโลกที่ขุดค้นพบ มีทั้งที่สภาพดีอยู่และแตกหักเสียหายจำนวนมาก ส่วนเตาเผามีลักษณะยาวรี เหมือนประทุนเรือจ้าง ความยาวประมาณ 7-8 เมตร


เที่ยวชมของสวยของแปลกและสดับรับฟังตำนานจนอิ่มใจ แต่หาได้อิ่มท้องไม่ เมื่อนึกถึงอาหารที่เป็นหน้าเป็นตาของสุโขทัย คงหนีไม่พ้น "ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย" แค่ชื่อก็บ่งบอกภูมิศาสตร์ พอได้ชิมยิ่งประทับใจ ด้วยเอกลักษณ์แสนโดดเด่น มีถั่วฝักยาวหั่นแฉลบให้สัมผัสแปลกลิ้นแต่สุดแสนอร่อย เสร็จสิ้นจากอาหารคาวรสโอชา ต้องไม่พลาดล้างปากด้วยขนมพื้นเมืองที่มีให้เลือกกันหลากหลาย เช่น ขนมเกลียว ขนมเทียนสลัดงาสมุนไพร ขนมผิง ทองม้วน ทองพับ ถั่วทอดสองร้อยปี แม้ขนมบางชนิดจะพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ แต่รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ และกลิ่นกรุ่นที่หอมยั่วน้ำลาย คงต้องยกให้ขนมไทยโบราณจากอาณาจักรโบราณอย่างสุโขทัย

หนังท้องตึงแต่หนังตาห้ามหย่อน เพราะถึงเวลาย่อยอาหารคาวหวาน แถมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านมรดกโลกอีกแห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แม้ปัจจุบันอุทยานฯ กำแพงเพชรจะอยู่ห่างจากสุโขทัยพอสมควร ทว่า ในอดีตกำแพงเพชรก็อยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย องค์ความรู้ที่จะได้รับหากไปเยือน ช่างคุ้มค่าแก่การเดินทาง

ภายในอุทยานฯ แห่งนี้ค่อนข้างเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณ เริ่มต้นจากศูนย์บริการข้อมูล หากมองเผินๆ คงไม่มีอะไรนอกจากเอกสารแจกฟรี พอได้ก้าวเท้าเข้าไปแล้ว ความคิดกลับเปลี่ยน เพราะที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม แต่อัดแน่นไปด้วยประวัติความเป็นมาของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถาน โบราณวัตถุ และที่ขาดไม่ได้ในพิพิธภัณฑ์ยุคปัจจุบัน สื่อการเรียนรู้ประเภทภาพพร้อมเสียงเพียงกดปุ่ม ก็มีเช่นกัน

ความรู้ทางทฤษฎีช่วยเพิ่มพูนสติปัญญา หากขาดการปฏิบัติก็คงไม่ได้รับประสบการณ์ ดังนั้น ผู้แสวงหาความรู้รอบครอบจักรวาลจึงควรเริ่มต้นสำรวจร่องรอยอารยธรรม ภายในอุทยานฯ ประกอบด้วยวัดและแหล่งโบราณสถาน เช่น วัดพระธาตุ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วังโบราณ และศาลพระอิศวร เป็นต้น ความสำคัญและความงามทางสถาปัตยกรรมก็ไม่ได้ด้อยกว่าอุทยานฯ สุโขทัย และศรีสัชนาลัย


โดยเฉพาะวัดพระธาตุ สุดยอดกรุพระดังระดับเบญจภาคี อย่างพระกำแพงซุ้มกอ ที่แม้คนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องพระเครื่องพระบูชาก็ยังพอคุ้นหูกับชื่อนี้ เพราะพระกำแพงซุ้มกอจัดเป็นพระระดับสุดยอดของเมืองกำแพงเพชร มีความอมตะ ทั้งพุทธศิลป์และพุทธคุณ ได้รับการจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีที่สูงสุดของพระเครื่องเมืองไทย


วัดพระนอน เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือ หรือบริเวณที่เรียกว่า "อรัญญิก" สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดสร้างจากศิลาแลงแทบทั้งสิ้น หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาพัก ภายในวัดตอนหน้าเป็นฐานอุโบสถเสาแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นวิหารซึ่งเดิมประดิษฐานพระนอนเป็นประธาน เสาวิหารใช้ศิลาแลงแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ ขนาดใหญ่ที่ว่านี้ ชวนให้สงสัยว่าปักลงไปได้อย่างไร เรียงรายอยู่ภายในอาคาร โครงหลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้ สังเกตได้จากช่องสี่เหลี่ยมตามหัวเสาสำหรับสอดหัวขื่อหัวคาน ผนังวิหารเรียงศิลาแลงเป็นผนังช่องลูกกรมหรือช่องลม ถัดจากวิหารไปทางด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม


วัดพระสี่อิริยาบถ อยู่ทางเหนือของวัดพระนอน ถัดขึ้นไปประมาณ 100 เมตร หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลาพักเช่นเดียวกับวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดคือ วิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตอนหน้าของวัด ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑป ลักษณะมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุมยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไป และประดิษฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน คือ เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือพระยืนขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ พระพักตร์เป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม


วัดช้างรอบ ตั้งอยู่บนยอดเนินสูงสุดของเขตอรัญญิก สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว ฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างสูงใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อขึ้นไปถึงลานด้านบน หรือลานทักษิณ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 68 เชือก ตัวช้างมีลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปพันธุ์พฤกษา เจดีย์ด้านบนเหลือเฉพาะฐานแปดเหลี่ยม และหน้ากระดานกลม ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการประดับลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประดับรูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี และหงส์ ด้านหน้าเจดีย์ประธานที่ฐานวิหารขนาดใหญ่ และถัดไปเป็นสระน้ำที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลง

วังโบราณหรือสระมน อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ติดกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณประตูสะพานโคม มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบ กึ่งกลางมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานอาคาร เศษกระเบื้องมุงหลังคา เศษภาชนะดินเผา และหลักฐานที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก

ศาลพระอิศวร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร เหลือเฉพาะฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง เดิมประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริดซึ่งมีจารึกที่ฐานว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ได้สร้างเทวรูปองค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยา จารึกยังได้กล่าวถึงการซ่อมแซมถนน คลองส่งน้ำ และการซ่อมแซมพระธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง ถือเป็นจดหมายเหตุสำคัญชิ้นหนึ่งในสมัยสุโขทัย

การเยือนดินแดนมรดกโลกครั้งนี้คงไม่มีคุณค่าใดๆ หากผู้มาเยือนไม่สนใจหรือไม่ต้องการเข้าใจประวัติศาสตร์ เพียงเพราะมองว่าเป็นของโบราณคร่ำครึ ไม่ทันสมัย ทว่าศิลาแลงก้อนโตที่เรียงรายเห็นเป็นฐานของอาณาจักรอันรุ่งเรืองในอดีต น่าจะสอนคนทันสมัย ยุคไฮเทคโนโลยีได้บ้าง เหตุใดกาลเวลาจึงไม่กลืนกินซากอารยธรรมเหล่านี้ให้หมดสิ้นโดยสมบูรณ์ เหตุใดศิลาแลงอายุหลายร้อยปีจึงยังอยู่ตราบทุกวันนี้ แม้เหลือเพียงฐาน แต่ฐานที่มั่นคงมิใช่หรือที่ประคับประคองให้สถาปัตยกรรมได้ตระหง่านงามอยู่ได้ อดีตคือฐานของปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ไทยควรค่าแก่การเรียนรู้ และหวงแหน

แม้ว่าทุกวันนี้ฝรั่งมังค่าจะแห่แหนกันเข้าเยี่ยมชมมรดกโลกของไทย ทว่า คงไม่มีชนใดจะเข้าใจในจิตวิญญาณตะวันออกเฉกเช่นชนตะวันออก


โดย : ปริญญา ชาวสมุน  ://www.bangkokbiznews.com



Create Date : 21 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2553 6:39:24 น. 1 comments
Counter : 2209 Pageviews.

 
เห้ย!!! ถ้าคนไทยหันมาสนใจและเคารพในเกียรติของบรรพบุรุษบ้าง"ก็คงจะดีเนอะ"


โดย: ประชาตัวขาว (ประชาตัวขาว ) วันที่: 13 ธันวาคม 2553 เวลา:17:23:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.