It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
All blogs
 
ประเทศไทยของเรากำลังจะเดินซ้ำรอย???ทำไมพระพุทธศาสนาถึงเสื่อมในอินเดีย






ทั้งที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย  แต่ต่อมาในขณะที่พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองไปในดินแดนต่างๆ  พระพุทธศาสนาในอินเดียเองกลับเสื่อมลง  จนในยุคหนึ่งกล่าวได้ว่าแทบไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่เลย  ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจาก  ๒  สาเหตุหลักต่อไปนี้คือ



1.สาเหตุภายใน                                                                               

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำ  โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง  ในแง่การปฏิบัติเพื่อมุ่งนิพพานนั้น  พระภิกษุสงฆ์คือผู้ที่สละโลก  ตั้งใจปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลส  ถือเป็นแบบอย่างของชาวพุทธโดยทั่วไป  และในแง่การเผยแผ่ศาสนา  พระภิกษุสงฆ์ก็อยู่ในฐานะของครูผู้สอน  โดยสาธุชนทั่วไปเป็นผู้รับฟังคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ  และทำบุญให้การสนับสนุนในการดำรงชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์




ในระยะแรกพระภิกษุสงฆ์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก  ปฏิบัติตนเป็นผู้นำ  เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์อื่นในการเผยแผ่พระศาสนา  พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น  เป้าหมายการบวชในสมัยนั้น  คือ  บวชเพื่อมุ่งพระนิพพานกันจริงๆ  ให้ความสำคัญทั้งพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป  นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแผ่สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตามต่อไป  พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว



ต่อมาผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีน้อยลง  ในหมู่พระภิกษุสงฆ์ก็มีทั้งผู้ที่มีใจรัก  มีความเชี่ยวชาญทางด้านพระปริยัติธรรมและผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านธรรมปฏิบัติ  แต่เนื่องจากการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นสิ่งที่สามารถวัดความรู้ได้  สามารถจัดการศึกษาเป็นระบบและให้วุฒิการศึกษาได้  ในขณะที่ธรรมปฏิบัตินั้น  เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน  เป็นของละเอียด  วัดได้ยาก  และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติ  มักมีใจโน้มเอียงไปในทางแสวงหาความสงบสงัด       ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่



เมื่อเป็นเช่นนี้  หลังจากเวลาผ่านไป  พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญด้านปริยัติธรรม  จึงขึ้นมาเป็นผู้บริหารการปกครองคณะสงฆ์โดยปริยาย  เมื่อผู้บริหารการคณะสงฆ์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรม  ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ในการส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์จะเน้นหนักในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก  เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและชำนาญ  แม้จะเห็นความสำคัญของธรรมปฏิบัติ  แต่เมื่อตนไม่คุ้นเคย  ไม่มีความชำนาญ  การสนับสนุนก็ทำได้ในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น  พระภิกษุสงฆ์รุ่นใหม่ๆจึงมักได้รับการฝึกอบรมในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก  ส่วนธรรมปฏิบัติก็ค่อยๆ  ลดน้อยถอยลง



การศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น  ในยุคแรกๆ  ก็ศึกษาเพื่อเน้นให้เข้าใจในพุทธพจน์  คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อนำมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติ  แต่ต่อมาเมื่อศึกษามากเข้าๆ  ก็มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นนักคิด  นักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง  ทนการท้าทายจากนักคิดนักปรัชญาของศาสนาอื่นๆ  ไม่ได้  เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอภิปรัชญา  เช่น  โลกนี้โลกหน้าว่ามีจริงหรือไม่  จิตมีการรับรู้ได้อย่างไรโลกเป็นอยู่อย่างไร  มีจริงหรือไม่  เป็นต้น  จึงพยายามหาเหตุผลทางทฤษฎี  ตามแนวคิดในทางพระพุทธศาสนาและใช้การให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์มาอธิบายปัญหาเหล่านี้  ทั้งๆ  ที่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์  เพราะถือว่าไม่เกิดประโยชน์  มีแต่จะเป็นเหตุให้ถกเถียงทะเลาะเบาะแว้งกัน  ทรงอบรมสั่งสอนแต่สิ่งที่นำไปสู่การขัดเกลากิเลส  มุ่งสู่พระนิพพาน  ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้วผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เอง


หลักธรรมในพระพุทธศาสนา  เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงแล้ว  ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นตรงกัน  เป็นภาวนามยปัญญา  (ความรู้แจ้งที่เกิดจากการภาวนา)  แต่เมื่อพยายามพิสูจน์ด้วยความคิดทางตรรกศาสตร์  ด้วยจินตามยปัญญา  (ความรู้คิด)  ไม่ได้รู้แจ้งด้วยตนเองเพราะไม่เห็นแจ้งย่อมมีความคิดแตกต่างหลากหลาย  ผลก็คือนักทฤษฎีของพระพุทธศาสนาเองก็มีความเห็นไม่ตรงกัน  ทะเลาะถกเถียงกันเอง  เกิดเป็นแนวคิดของสำนักต่างๆ  และแตกตัวเป็นนิกายต่างๆ  ในที่สุด  มีนักทฤษฎีในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นจำนวนมาก  เช่น  นาคารชุน  อสังคะ  วสุพันธุ  ทิคนาคะ  ภาววิเวก  ธรรมกีรติ  ศานตรักษิตะ  เป็นต้น



แนวคิดของพระนักทฤษฎีเหล่านี้มีความลึกซึ้งมาก  จนแม้นักวิชาการตะวันตกปัจจุบันมาเห็นยังตื่นตะลึง  แต่ผลที่เกิดก็คือ  เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ  และพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนสลับซับซ้อน  จนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจประหนึ่งว่าพระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น  แต่ก็มีพระภิกษุสงฆ์เพียงจำนวนน้อยที่รู้เรื่อง  และก็ยังคิดเห็นไม่ตรงกันอีก  ส่วนชาวพุทธทั่วไปกลายเป็นชาวพุทธแต่ในนาม  ไปวัดทำบุญตามเทศกาล  ตามประเพณีเท่านั้น


ขณะเดียวกันมีพระภิกษุสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งมีจำนวนมากกว่าได้หันไปปฏิบัติตนตามใจชาวบ้าน  ซึ่งต้องการพึ่งพาอำนาจลึกลับ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  จึงมีการเล่นเครื่องรางของขลัง  เวทมนตร์คาถาต่างๆ  วัตรปฏิบัติย่อหย่อนลง  จนถึงจุดหนึ่งเกิดเป็นนิกายตันตระ  ซึ่งเลยเถิดไปถึงขนาดถือว่า  การเสพกามเป็นหนทางสู่การตรัสรู้ธรรม  การดื่มสุราเป็นสิ่งดี  เป็นต้น


เมื่อเกิดความแตกแยกภายในพระพุทธศาสนา  ทั้งในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีที่ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบสิ้น  มุ่งแต่จะจับผิดโจมตีคนอื่นว่าสอนผิด  มีแต่พวกตนสอนถูก  และละเลยการชักชวนประชาชนให้เข้าวัดปฏิบัติธรรม  พระพุทธศาสนาจึงอ่อนแอลง




2.สาเหตุภายนอก

ในอินเดีย  นอกจากพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังมีศาสนาอื่นๆ  อีกมาก  ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลมากที่สุด  เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น  คนหันมานับถือมาก  ศาสนาพราหมณ์ก็ลดบทบาทลง  ผู้นำในศาสนาพราหมณ์ก็พยายามหาทางดึงศาสนิกกลับคืนอยู่ตลอดเวลา  มีการโจมตีพระพุทธศาสนาบ้าง  พยายามหยิบยกเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาหลายอย่างไปเป็นของตัวบ้าง  ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเทพเจ้าที่นับถืออยู่บ้าง  จนที่สุดได้กลายเป็นศาสนาฮินดู  ดังตำราเรียนเรื่องศาสนา  เมื่อกล่าวถึงศาสนาฮินดู  ก็มักจะมีคำว่าพราหมณ์ควบคู่กันไปเสมอ


เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลง  เนื่องจากความแตกแยกภายในแล้ว  ก็ได้มีการเปลี่ยนวิธีการจากการโจมตีพระพุทธศาสนา  มาเป็นการผสมกลมกลืน  โดยมีนักการศาสนา  ชื่อ  ศังกระ  (ประมาณ  พ.ศ.๑๒๘๐)  เป็นผู้นำในการปฏิรูปศาสนาฮินดู  มีการเลียนแบบวัดในพระพุทธศาสนา  สร้างที่พักนักบวชในศาสนาฮินดู  เรียกว่า  มฐะ  เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาฮินดูขึ้นเป็นครั้งแรก  ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนอื่นๆ  อีกมากมาย  ถึงขนาดมีการปรับคำสอนบอกว่าพระพุทธเจ้า  คือองค์อวตารปางที่  ๙  ของพระวิษณุ  แล้วนับเอาผู้ที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้า  เข้าเป็นชาวฮินดูทั้งหมด



ทางด้านของพระพุทธศาสนาเอง  เมื่อมีปัญหาความแตกแยกภายใน  ประกอบกับชาวพุทธโดยทั่วไป  ไม่มีความรู้ในพระธรรมอย่างถ่องแท้  เมื่อพบกับยุทธวิธีของศาสนาฮินดูเข้าเช่นนี้  ชาวพุทธก็ยิ่งสับสน  แยกไม่ออกระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น  ทั้งที่เป็นชาวพุทธก็เคารพนับถือกราบไหว้พระพรหม  เทพเจ้าต่างๆ  เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ  ด้วย  พระภิกษุสงฆ์เองบางส่วนก็หันไปเอาใจชาวบ้าน  เห็นเขานับถือเทพต่างๆ  เจ้าแม่ต่างๆ  ก็เอารูปปั้นของเทพเหล่านั้นมาไว้ในวัด  ให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชา


ที่สุด  ชาวบ้านจึงแยกไม่ออก  คิดว่าพระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูก็คือสิ่งเดียวกัน  ชาวพุทธแต่เดิมก็กลายเป็นชาวฮินดูไปค่อนตัวแล้ว  และต่อมาเมื่อเจอเหตุกระทบครั้งใหญ่คือ  ตั้งแต่ประมาณ  พ.ศ.๑๖๐๐  กองทัพมุสลิมบุกเข้ายึดอินเดีย  ไล่มาจากทางตอนเหนือและประกาศทำลายพระพุทธศาสนา  เผาวัดวาอาราม  ฆ่าพระภิกษุสงฆ์ทั้งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ตัดศีรษะพระภิกษุสงฆ์มาส่งให้  พระภิกษุสงฆ์จึงต้องสึก  มิฉะนั้นก็ต้องอพยพหลบหนีไป  พระพุทธศาสนาซึ่งขณะนั้นมีแต่พระภิกษุสงฆ์จำนวนน้อยที่รู้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า  แต่ชาวพุทธทั่วไปนั้นขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง  ดังนั้นเมื่อ  พระภิกษุสงฆ์หมด  พระพุทธศาสนาก็หมดจากประเทศอินเดียในที่สุด



น่าสนใจว่า  ในขณะที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของกษัตริย์มุสลิมนั้น  ศาสนาฮินดูกลับสามารถรักษาสถานภาพการเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ของอินเดียอยู่ได้ตลอดระยะเวลา  ๖๕๑  ปี  ภายใต้การปกครองของมุสลิมทั้งนี้เพราะศาสนาฮินดูได้เน้นให้ศาสนิกปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด  ศาสนิกจึงมีความผูกพันกับศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย  ทั้งพิธีกรรมในเวลาเกิด  การเรียน  การเป็นผู้ใหญ่  การแต่งงาน  การมีบุตร  การจาริกแสวงบุญ  การตาย  เทศกาลต่างๆ  มีข้อกำหนดให้ศาสนิกปฏิบัติในวาระโอกาสต่างๆ  อย่างละเอียด  ศาสนาจึงไม่ได้ฝากอยู่กับนักบวชเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นศาสนาที่ประกอบรวมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน  จึงเป็นเหตุให้ถูกทำลายได้ยาก


จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอินเดียดังกล่าว  เราอาจสรุปได้ว่า  ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา  จะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ



ชาวพุทธจะต้องศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติเพื่อให้เกิดปฏิเวธ  คือผลของการปฏิบัติ  โดยเป้าหมายของการศึกษา  ต้องเป็นไปเพื่อนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง  ไม่ใช้เพื่อนำมาอวดรู้  จับผิด  โจมตีคนอื่น  และปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ  ชาวพุทธจะต้องมีความสามัคคีกัน  เว้นจากการให้ร้ายโจมตีกัน  พระพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้อย่างแท้จริง



บทความจาก พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)


Create Date : 18 สิงหาคม 2559
Last Update : 18 สิงหาคม 2559 22:14:01 น. 4 comments
Counter : 1824 Pageviews.

 

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
เตยจ๋า Topical Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: #โอพีย์# (Opey ) วันที่: 19 สิงหาคม 2559 เวลา:0:28:34 น.  

 


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
เตยจ๋า Dharma Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: pantawan วันที่: 21 สิงหาคม 2559 เวลา:0:02:12 น.  

 
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
LoveParadise Travel Blog ดู Blog
เจ้าการะเกด Diarist ดู Blog
ก้นกะลา Music Blog ดู Blog
The Kop Civil Sports Blog ดู Blog
LeoNidS Book Blog ดู Blog
เตยจ๋า Dharma Blog ดู Blog


มาอ่านเรื่องสิ้นสลายของศาสนาพุทธในอินเดียแล้วรู้สึก
เศร้าใจ ประเทศไทยของเรากำลังจะเผชิญปัญหาแบบเดียว
กัน โดยไม่ค่อยมีใครใส่ใจหาวิธีแก้ไข ขอภาวนาให้อย่า
เกิดเหตุการณ์แบบอินเดียเลย


โดย: ดอยสะเก็ด วันที่: 21 สิงหาคม 2559 เวลา:21:55:17 น.  

 
เตยจ๋า Dharma Blog ดู Blog
สาธุ เพื่อการตื่นรู้ของชาวพุทธไทย



โดย: หอมกร วันที่: 21 สิงหาคม 2559 เวลา:22:32:01 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.