ทดสอบเชฟโรเลต “เทรลเบลเซอร์”

“เทรลเบลเซอร์” กำหนดนิยามใหม่แห่งยานยนต์อเนกประสงค์ที่พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์การขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าการจราจรในเมืองไปกับครอบครัว ลุยเส้นทางออฟโรดแบบสมบุกสมบันเต็มพิกัด ตลอดจนความสะดวกสบายในการเดินทางไกล เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ใหม่ ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรที่เปี่ยมด้วยทักษะชั้นสูงของเจนเนอรัล มอเตอร์ส บนพื้นฐานเดียวกันกับรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งทำให้รถอเนกประสงค์คันนี้ ผสมผสานสไตล์ในแบบรถยนต์นั่งเข้ากับศักยภาพและโครงสร้างของรถกระบะขนาดกลาง ทีมวิศวกรของจีเอ็มได้เดินทางมาอาศัยในประเทศไทยเพื่อออกแบบเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ให้มีสมรรถนะเข้ากับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของลูกค้าชาวไทย และเหมาะสมกับสภาพตลาดรถกระบะและรถอเนกประสงค์ในประเทศไทย ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ผลลัพธ์ที่ได้คือยานยนต์อเนกประสงค์ที่มีคุณสมบัติพร้อมสรรพลงตัวที่จำนวน 4 รุ่น

มร. มาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการ ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อมั่นว่าการเปิดตัวเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ใหม่ ซึ่งผลิตจาก ศูนย์การผลิตรถยนต์จีเอ็ม ประเทศไทย จังหวัดระยอง จะทำให้เชฟโรเลตสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดรถอเนกประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว

“เทรลเบลเซอร์ เป็นรถยนต์ที่แข็งแกร่ง พร้อมสำหรับทุกสไตล์การขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการบุกป่าฝ่าดงอย่างสมบุกสมบัน หรือการเดินทางอย่างนุ่มนวลบนท้องถนน เชฟโรเลต จะผลิตเทรลเบลเซอร์ทุกคันในประเทศไทย เพื่อคนไทย ก่อนที่จะเริ่มต้นการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตอันใกล้นี้ ผมเชื่อว่าเทรลเบลเซอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งยานยนต์คุณภาพระดับโลก ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความมุ่งมั่น และความใส่ใจในรายละเอียดของพนักงานเชฟโรเลต ทุกคนในประเทศไทย” มร.แอพเฟลกล่าวเสริม “เทรลเบลเซอร์ จะบุกตะลุยสร้างชื่อให้กับแบรนด์เชฟโรเลต และปูทางให้แก่รถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ด้วยความแข็งแกร่งรอบด้าน สมกับคำว่า รถอเนกประสงค์ อย่างแท้จริง” ประธานกรรมการจีเอ็ม และเชฟโรเลต ประเทศไทย กล่าว

 นอกเหนือจากการใช้พื้นฐานและแนวทางการออกแบบร่วมกันกับรถกระบะรุ่นพี่แล้ว เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ มีขั้นตอนการพัฒนาที่แตกต่างจากรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด เฉกเช่นเดียวกันกับรถเชฟโรเลตรุ่นอื่นๆ ที่มีกำหนดวางจำหน่ายทั่วโลก เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยทีมนักออกแบบและวิศวกรระดับโลกที่มีหน้าที่ผสาน การใช้งาน รูปลักษณ์ และสมรรถนะของเทรลบลเซอร์ อย่างลงตัว สมเป็นนิยามใหม่ของยานยนต์อเนกประสงค์

หรูหราเหนือระดับและลุยได้ทุกเส้นทาง

แม้เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ จะได้รับการออกแบบควบคู่มากับรถกระบะ โคโลราโด ที่ทำให้รถอเนกประสงค์คันนี้สามารถผนึกรวมคุณสมบัติความอเนกประสงค์ เข้ากับศักยภาพและโครงสร้างของรถกระบะขนาดกลางได้อย่างลงตัว แต่รถทั้ง 2 รุ่นกลับได้รับการพัฒนาอย่างแตกต่างกัน โดยเทรลเบลเซอร์ นั้นได้รับการออกแบบและพัฒนามาเพื่อเป็นผู้นำของรถระดับเดียวกันในตลาด ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับรถกระบะ โคโรลาโด

มร. ดาโกเบอร์โต้ ทริเบีย ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบยานยนต์ ประเทศบราซิล หัวหน้าทีมออกแบบทั้งรถกระบะโคโรลาโด และเทรลเบลเซอร์ กล่าวว่า “เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์มีลักษณะทางการออกแบบที่คล้ายคลึงกับรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโดในหลายมุม โดยรวมเอาความโดดเด่นของรถกระบะ พร้อมกับผสานความสะดวกสบายในการขับขี่ รูปลักษณ์เรียบหรูในแบบรถอเนกประสงค์ไว้อย่างลงตัว เรียกได้ว่า “หรูหราเหนือระดับ” คู่ “ลุยได้ทุกเส้นทาง” คือคำนิยามของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” ด้วยดีไซน์ตัวถังที่ผสานความคล่องตัวและหรูหราสะอาดตา เทรลเบลเซอร์ จึงสามารถสะท้อนได้ทั้งความแข็งแกร่งในสไตล์รถอเนกประสงค์ขนานแท้ และความนุ่มนวลสะดวกสบาย โดยทีมออกแบบของเชฟโรเลตมีเป้าหมายที่จะสร้างสรรค์ให้เทรลเบลเซอร์ ดูสะดุดตา ทันสมัย และคงไว้ซึ่งทุกเอกลักษณ์ของรถยนต์เชฟโรเลต ด้วยความยาวถึง 4,878 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,902 มิลลิเมตร และความสูง 1,848 มิลลิเมตร เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ จึงมีพื้นที่ภายในที่โอ่โถง นั่งได้สะดวกสบาย ในขณะที่ระยะฐานล้อระหว่างล้อหน้าและล้อหลังอยู่ที่ 2,845 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อจากล้อซ้ายถึงล้อขวาอยู่ที่ 1,570 มิลลิเมตร (ล้อคู่หน้า) และ 1,588 มิลลิเมตร (ล้อคู่หลัง)  ก็สามารถช่วยให้รถเอสยูวีสารพัดประโยชน์คันนี้เข้าโค้งได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นใจ และเมื่อต้องออกตะลุยภารกิจสมบุกสมบัน ตัวถังของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 267 มิลลิเมตร (255 มิลลิเมตรหากเลือกใช้ล้อขนาด 16 นิ้ว) ก็จะสามารถพาคุณก้าวข้ามได้ทุกอุปสรรคขวางกั้นได้อย่างสบาย ด้วยขนาดของตัวถังและรายละเอียดในการออกแบบ เทรลเบลเซอร์จึงแลดูคล้ายกลับรถเอสยูวีขนาดใหญ่ โดยในส่วนของผิวนอกของตัวถังนั้น ทีมออกแบบของเชฟโรเลตได้เน้นให้ตัวรถดูเรียบเนียน ราวกับเป็นโลหะชิ้นเดียว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีการเติมสีสันให้กับตัวรถด้วยเส้นสายและเหลี่ยมมุมที่เรียบหรู ดังจะเห็นได้จากแทบทุกส่วนของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นกระโปรงหน้า ประตู หรือท้ายรถ นอกจากนี้ การชุบโครเมียมในบางส่วนของตัวรถ ยังช่วยขับเน้นให้รายละเอียดบนผิวเหล็กของตัวถังดูโดดเด่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เทรลเบลเซอร์ยังปรัชญาการการออกแบบที่เรียกว่า “body in-wheels out”  เน้นรูปทรงตัวถังที่มีระยะระหว่างหัวรถ-ท้ายรถกับล้อด้านหน้าและหลังไม่มากนัก ก็ช่วยให้เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ มีรูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงความสมบุกสมบันของตัวรถอย่างชัดเจน“เราต้องการสร้างรถที่ดูแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความหรูหราเหนือระดับด้วยเช่นกัน” มร. ทริเบีย กล่าว “เทรลเบลเซอร์จะต้องเป็นรถที่เมื่อมองปราดเดียวก็รับรู้ได้ถึงความคล่องตัว พร้อมลุย และมีประสิทธิภาพ สามารถพาคุณฝ่าทุกอุปสรรคไปได้ โดยที่ยังคงรักษาความนุ่มสบายในการขับขี่ไว้อีกด้วย งานออกแบบตัวรถ ต้องเน้นย้ำถึงทุกคุณสมบัติดังกล่าว”

รถอเนกประสงค์ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ยังคงเอกลักษณ์ของเชฟโรเลต อย่างกระจังหน้าแบบสองชั้น ดูอัลพอร์ท ซึ่งในคราวนี้ มาพร้อมกับดีไซน์ลวดลายกระจังแบบ 3 มิติ เข้ากันเป็นอย่างดีกับกระโปรงรถที่มีขอบสันเด่นชัดเจน และไฟหน้าที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งสูง เพื่อเพิ่มความดุดันให้กับตัวรถ นอกจากนี้ ชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ขอบกระจังหน้า มือจับประตู กระจกมองหลัง ไฟหน้า ไฟตัดหมอก และกันชนหลัง ยังตกแต่งด้วยโครเมียม เพื่อเสริมให้เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ มีดีไซน์ที่หรูหรา เด่นสะดุดตา  สำหรับด้านข้างของตัวรถนั้น สะดุดตาด้วยเส้นสายร่องลึกพาดจากล้อหน้ายาวไปถึงล้อหลัง เพื่อสร้างเหลี่ยมมุมให้แก่ผิวตัวถัง และยังช่วยเน้นให้เห็นถึงการออกแบบตัวถังที่ลดช่องว่างระหว่างหัวรถ-ท้ายรถกับล้อด้านหน้าและหลัง  ด้านท้ายรถยังโดดเด่นด้วยกระจกหลังขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ไปถึงบริเวณมุมตัวถังทั้งสองด้าน ซึ่งทำให้เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ไม่มีเสาหลังคา หรือ C-pillar เหมือนรถเอสยูวีทั่วไป โดยในส่วนของไฟท้ายรถนั้น ก็มีดีไซน์รูปแบบเดียวกัน เพื่อสร้างจุดดึงดูดสายตาในบริเวณด้านบนของส่วนท้ายรถ

สัมผัสสมรรถนะเหนือชั้นแห่งการขับขี่ หรูหราพร้อมลุยทุกเส้นทาง

ภายในห้องโดยสารของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ได้รับการออกแบบอย่างเหนือชั้นด้วยห้องโดยสารที่กว้างขวางและที่นั่ง 3 แถวที่สามารถพับเก็บได้ ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดกลางแบบโครงสร้างบอดี้ ออนเฟรม ที่นั่งแถวที่ 2 และ 3 ยังได้รับการออกแบบอย่างชาญฉลาดโดยไม่เสียที่ว่างเหนือศีรษะผู้โดยสาร จึงทำให้ผู้โดยสารในแถวหลังสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบตัวรถได้อย่างง่ายดาย และทำให้ห้องโดยสารรู้สึกกว้างขวางขึ้นกว่าที่เคยอีกด้วย พร้อมเบาะนั่งโดยสารแบบโรงภาพยนตร์ที่ให้ความอิสระ ช่วยลดความรู้สึกกลัวที่แคบ ลดความอึดอัด ต่างจากรถยนต์อเนกประสงค์อื่นๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

แผงคอนโซลหน้าแบบเรียบหรู และห้องโดยสารในรูปแบบดูอัล ค็อกพิท สไตล์เชฟโรเลตขนานแท้ ทำให้เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ เป็นยนตรกรรมที่รวมเอาคุณลักษณะของรถยนต์นั่งไว้กับความบึกบึนแข็งแกร่งของรถอเนกประสงค์

ในส่วนของแผงคอนโซลนั้น ได้รับการออกแบบให้มีเส้นสายที่กลมกลื่นกับประตูรถ ทำให้ห้องโดยสารดูกว้างขวาง ทั้งนี้ พื้นที่ในห้องโดยสารของเทรลเบลเซอร์นั้น มีทั้งความกว้างและความสูงเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดรถอเนกประสงค์ จึงทำให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมเสมอสำหรับทุกเส้นทาง ทั้งนี้ แผงควบคุมอุปกรณ์ชิ้นสำคัญทุกประเภท ได้ถูกติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่เอื้อมถึงได้ง่ายจากที่นั่งคนขับเพื่อความคล่องตัว ในขณะที่ปุ่มควบคุมต่างๆ บนพวงมาลัยรถ ก็ช่วยให้ผู้ขับสามารถสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย

รถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งยังมาพร้อมกับห้องโดยสารที่กว้างขวาง และที่นั่ง 3 แถวที่สามารถพับเก็บได้ โดยที่นั่งสองแถวหลังนั้น ได้รับการออกแบบใหม่ให้ยกตัวสูงขึ้นกว่ารุ่นก่อน ทำให้ห้องโดยสารกว้างขึ้น โดยเบาะโดยสารแถวที่สองพับแบบ 60/40 สามารถปรับเอนได้อย่างอิสระมากถึง 60 องศา พร้อมพนักวางแขนและที่วางแก้วในตัว ที่นั่งแถวที่สามในด้านหลังนั้น ถูกแบ่งครึ่งด้วยคอนโซลเก็บของที่กลางตัวรถ และยังสามารถพับเก็บในแนวราบได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ยังคงรักษาความนั่งสบายไว้ นอกจากนี้ การขยับหรือพับเบาะนั่งก็ทำได้ง่าย เพียงดึงสายที่ติดอยู่กับตัวเบาะเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องไปเปิดหารายละเอียดวิธีการในคู่มือแต่อย่างใด เบาะนั่งในแถวที่ 3 นี้ยังให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่แม้ในการเดินทางระยะไกลอีกด้วย

การเลือกใช้วัสดุภายในที่มีโทนสีตัดกัน เบาะหนังสีอ่อน และผิวคอนโซลสองรูปแบบในหนึ่งเดียว ช่วยเสริมกลิ่นอายของความหรูหราในห้องโดยสาร และเมื่อต้องขับรถในตอนกลางคืน ระบบไฟ LED backlight สีน้ำเงินเฉพาะตัวของเชฟโรเลต ก็ช่วยให้ทุกข้อมูลการขับขี่ส่องสว่าง เห็นได้ชัดอยู่เสมอ

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ เป็นรถที่รองรับการขับขี่ได้ดีในทุกสภาวะพื้นผิว พร้อมพาบุกตะลุยในทุกการเดินทางไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือทางไกล นอกจากนี้ เชฟโรเลตยังเสริมทั้งความหรูหราและประโยชน์ใช้สอย ด้วยเบาะนั่งบุหนังโทนสีอ่อน คอนโซลที่ผสมผสานพื้นผิวสองสไตล์เข้าด้วยกัน และช่องเก็บของรวมกว่า 32 ช่องทั่วห้องโดยสาร ซึ่งรวมถึงช่องแบบมีฝาปิดสำหรับเก็บของมีค่า และช่องเก็บของขนาดใหญ่ใต้คอนโซลหน้า รวมทั้งช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมต่างๆ อย่างยูเอสบีและบลูทูธอีกด้วย สำหรับในส่วนของพื้นที่บรรจุสัมภาระด้านหลังตัวรถนั้น ก็มาพร้อมกับช่องพิเศษด้านข้างที่ออกแบบมาเพื่อบรรจุถุงกอล์ฟโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความใส่ใจในความต้องการของลูกค้าชาวไทยของทีมงานเชฟโรเลต

ขุมพลังเข้มเต็มสูบ

รถอเนกประสงค์ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ไม่เพียงแต่มีรูปลักษณ์สุดหรู แต่ยังให้สมรรถนะการขับขี่เหนือชั้นด้วยเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ ดีเซลเทอร์โบ ขนาด 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร เต็มเปี่ยมด้วยแรงม้าและแรงบิด ทั้งยังประหยัดน้ำมันและทำงานได้อย่างเรียบลื่น สำหรับเครื่องยนต์ขนาด 2.8 ลิตรนั้น ให้พละกำลัง 180 แรงม้า แรงบิด 470 นิวตันเมตร เมื่อใช้งานควบคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด หรือ 440 นิวตันเมตรเมื่อทำงานคู่กับระบบเกียร์ธรรมดา ในขณะที่เครื่องยนต์รุ่น 2.5 ลิตรนั้น ให้กำลัง 150 แรงม้า พร้อมกับแรงบิด 350 นิวตันเมตร

ขุมพลังขับเคลื่อนดูราแม็กซ์ทั้งสองรุ่นผ่านมาตรฐานยูโร 4 เป็นเครื่องยนต์ระบบ DOHC (DoubleOverhead Camshafts) ที่มาพร้อมกับดีไซน์ฝาสูบแบบใหม่ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี ลดการเกิดมลภาวะจากกากที่หลงเหลือหลังการเผาไหม้เชื้อเพลิง และยังลดการกระแทกกันระหว่างลูกสูบกับกระบอกสูบ จึงทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ส่วนตัวบล็อกเครื่องยนต์นั้น ก็เลือกใช้เสื้อสูบแบบยาว (deep skirt) จึงทำให้มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ฝาสูบใช้วัสดุอลูมิเนียม ช่วยลดเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ได้อีกด้วย

หัวฉีดแบบคอมมอนเรลในเครื่องยนต์ของเทรลเบลเซอร์ สามารถฉีดน้ำมันได้ด้วยแรงดันสูงถึง 1,600 บาร์ ในขณะที่ท่อร่วมไอดีที่ทำจากอลูมิเนียม มีอัตราส่วนกำลังอัดที่ 16:1 และหัวเผาเครื่องยนต์แบบใหม่ เสริมให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น และลดปริมาณมลภาวะที่ออกมาได้อีกด้วย นอกจากนี้ เพื่อให้เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ มีค่ามลพิษที่เป็นไปตามเกณฑ์ของมาตรฐาน ยูโร 4 จึงได้มีการติดตั้งระบบ EGR (exhaust gas recirculation) ที่ดึงเอาก๊าซในส่วนที่ยังเผาไหม้ไม่หมด กลับเข้าสู่กระบวนการการเผาไหม้ในเครื่องยนต์อีกครั้ง ในขณะที่ระบบ DOC (diesel oxidation catalyst) ก็ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศลงได้เป็นจำนวนมาก และยังไม่จำกัดอายุการใช้งาน สามารถรับมือกับเชื้อเพลิงที่มีระดับกำมะถันต่างๆ กันได้อย่างครบถ้วนและเพื่อให้เทรลเบลเซอร์สามารถมอบประสบการณ์การขับขี่ที่นุ่มนวลเหนือชั้น เชฟโรเลตจึงติดตั้งเพลาถ่วงสมดุลคู่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของปั๊มน้ำมันเครื่อง จึงทำให้เครื่องยนต์เดินเรียบ ไม่มีเสียงดังรบกวน

นอกจากนั้นเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ ในรุ่นความจุ 2.8 ลิตรนั้น มาพร้อมกับระบบเทอร์โบแปรผันที่ออกแบบมาเพื่อพละกำลังสูงสุดในทุกรอบเครื่องยนต์ และระบบเพลาถ่วงสมดุลที่ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ มีส่วนประกอบที่ทนทาน และได้รับการออกแบบมาให้ต้องเข้ารับการบำรุงรักษาเพียงหนึ่งครั้งทุกๆ การขับขี่ 20,000 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นความถี่การบำรุงรักษาที่ต่ำที่สุดในรถระดับเดียวกัน

พละกำลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล ดูราแม็กซ์ จะถูกส่งผ่านไปสู่ล้อหลังทั้งสอง ผ่านทางระบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด (สำหรับรุ่น 2.5 และ 2.8 ลิตร) หรือระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (เฉพาะรุ่น 2.8 ลิตร) ที่มาพร้อมกับระบบ DSC (Driver Shift Control) ซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถปรับเปลี่ยนเกียร์ได้เองแบบเกียร์ธรรมดา สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น แรงบิดจากเครื่องยนต์จะถูกส่งผ่านไปยังล้อหน้าผ่านทางตัวแบ่งกำลังระบบไฟฟ้า

ระบบเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ สามารถทำงานได้ในโหมด 2-High (ขับเคลื่อนล้อหลังเท่านั้น) 4-High 4-Low (ด้วยอัตราทดเกียร์ 2.62) และ Neutral ซึ่งสามารถเลือกได้ด้วยสวิทช์ระบบอิเล็กทรอนิกติดตั้งอยู่ใต้คันเกียร์ บริเวณคอนโซลกลาง ทั้งนี้ ผู้ขับขี่สามารถเลือกเปลี่ยนโหมดของระบบเกียร์ได้ในระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนที่ (เฉพาะการเปลี่ยนจากโหมด 2H ไป 4H เท่านั้น) โดยไม่ก่อให้เกิดเสียงดังหรือเครื่องเดินสะดุดแต่อย่างใด

ความแข็งแกร่งและทนทานที่รองรับทุกการใช้งาน

คุณประโยชน์ของโครงสร้างแบบตัวถังบนแชสซีส์ หรือ body on frame (BOF) คือความแข็งแกร่งและทนทานแบบเดียวกับรถกระบะ พร้อมกับสมรรถนะที่ดีเยี่ยมและความกว้างขวางภายในห้องโดยสาร โครงสร้างอันสมบุกสมบันของเทรลเบลเซอร์ ยังรองรับการลากจูงสูงถึง 3,500 กก. ซึ่งโครงสร้างแบบโมโนค็อกของเอสยูวีอย่างแคปติวาไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ยังให้สมรรถนะการขับขี่ที่เหนือกว่าบนทางออฟโรด และมอบความทนทานสูงสุดอันเกิดจากคุณภาพที่เหนือกว่าของโครงสร้างแบบนี้

โครงสร้างของเทรลเบลเซอร์ (และโคโลราโด) เชฟโรเลตใช้ดีไซน์แบบกล่องเต็มรูปแบบ (fully-boxed frame) พร้อมเสริมให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นด้วยคานขวางเสริมแรงถึง 9 จุด ด้วยการเสริมแรงแบบนี้ทำให้แชสซีส์มีความทนทานต่อแรงบิดตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมกับความสมบุกสมบันและลุยได้ทุกการใช้งาน ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดแรงสั่นสะเทือนและช่วยเสริมความเงียบในห้องโดยสาร (NVH) ด้วย เนื่องจากแชสซีส์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นทำให้ทีมวิศวกรสามารถปรับปรุงแก้ไขส่วนประกอบหลายชิ้นที่อาจทำให้เกิดเสียงดัง และแรงสั่นสะเทือนในห้องโดยสาร นอกจากนี้ยกระดับสมรรถนะการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้นเพราะแชสซีส์มีการให้ตัวน้อยลง เอื้อให้วิศวกรมีโอกาสในการปรับตั้งช่วงล่างได้หลากหลายยิ่งขึ้นด้วยพื้นฐานอันแข็งแกร่ง ทำให้เทรลเบลเซอร์ มีศักยภาพในทางออนโรดและออฟโรดได้เต็มที่ เป็นหนึ่งในรถไม่กี่รุ่นในเซกเมนท์นี้ที่นำเสนอแชสซีส์ที่ให้การขับขี่ที่สะดวกสบาย ควบคู่กับการรองรับการลากจูงและลุยได้ทุกเส้นออฟโรด ถือเป็นความโดดเด่นและแตกต่างที่สำคัญในตลาดรถระดับนี้

เทรลเบลเซอร์มีบุคลิกการขับขี่ที่นุ่มนวลบนท้องถนนทั่วไป ด้วยการใช้คอยล์สปริงทั้งสี่ล้อคู่กับระบบช่วงล่างด้านหลังแบบ 5 ลิงค์ ระบบนี้เปิดโอกาสให้วิศวกรสามารถปรับแต่งช่วงล่างที่พร้อมสรรพทั้งสมรรถนะการขับขี่ที่ดีและการควบคุมตัวรถด้วยความมั่นใจ โครงสร้างของช่วงล่างแบบ 5 ลิงค์นั้นเป็นแบบตั้งฉากซึ่งทำงานอย่างเรียบง่าย คือ แต่ละชิ้นส่วนนั้นมีอิสระต่อกันระบบช่วงล่างแบบนี้ซึ่งพบได้ในรถอเนกประสงค์ระดับพรีเมียมเท่านั้น ทำให้เทรลเบลเซอร์มีการขับขี่ที่เหนือกว่ารถเอสยูวีที่ใช้โครงสร้างตัวถังบนแชสซีส์ทั่วไป สามารถสัมผัสได้ถึงความหรูหราและการขับขี่ที่นุ่มสบายที่สุดในรถระดับนี้ พร้อมตอบสนองด้านสมรรถนะได้อย่างมั่นใจคล้ายรถยนต์นั่งช่วงล่าง 5 ลิงค์ยังมีความโดดเด่นบนเส้นทางแบบออฟโรดเช่นกัน เมื่อจับคู่การทำงานร่วมกับคอยล์สปริงแล้ว จะให้ความยืดหยุ่นที่เหนือกว่า หมายความว่าช่วงล่างสามารถให้ตัวและดูดซับน้ำหนักได้มากขึ้นเพื่อการบุกตะลุยไปบนพื้นผิวถนนทุกรูปแบบ เทรลเบลเซอร์ยังมาพร้อมกับเหล็กกันโคลงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และช็อกอัพกระบอกคู่ทั้งสี่ล้อ ระบบเบรกยังเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอีกส่วนหนึ่งที่ทางวิศวกรใส่ใจมาก เทรเบลเซอร์ได้รับการติดตั้งระบบดิสก์เบรก 4 ล้อ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการเบรกของเทรลเบลเซอร์ถือว่าดีที่สุดในเซกเมนท์นี้ จากการทดสอบ เทรลเบลเซอร์สามารถเบรกลดความเร็วจาก 100 กม./ชม.ไปถึงหยุดนิ่ง ได้ในระยะทางราว 45 เมตร

อุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งอยู่ในเทรลเบลเซอร์คือ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบกระจายสัดส่วนแรงเบรก Dynamic Rear Brake Proportioning ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเบรกสูงสุดทั้งล้อคู่หน้าและคู่หลัง และรักษาเสถียรภาพการขับขี่เมื่อต้องกระแทกเบรกเต็มแรง ระบบควบคุมการขับขี่ของเทรลเบลเซอร์ ยังรวมถึง

-          ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถล (TCS) ทำงานร่วมกับระบบ ABS ในทุกย่านความเร็ว ผสมผสานการควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์และระบบเบรกเพื่อกำกับการหมุนของล้อในทุกย่านความเร็วเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้ในทุกสภาวะการขับขี่ เมื่อระบบนี้ตรวจจับได้ว่าล้อใดล้อหนึ่งเกิดสูญเสียการควบคุม ก็จะลดความเร็วหรือลดแรงบิดของล้อนั้นลงอัตโนมัติ หากอยู่ในสถานการณ์ร้ายแรงอย่างการลื่นไถลขณะเหยียบคันเรง ระบบนี้จะสั่งการให้ระบบเบรกทำงานเพื่อรักษาการควบคุมรถต่อไป

-          ระบบช่วยเบรกไฮโดรลิก (HBA) ตัวสูญญากาศในหม้อลมเบรกจะเพิ่มแรงดันลูกสูบเบรก เมื่อผู้ขับขี่กระแทกเบรกอย่างแรง

-          ระบบกระจายแรงเบรกอิเลกทรอนิกส์ (EBD) การควบคุมแรงเบรกทั้งคู่หน้าและคู่หลังให้ทำงานอย่างสมดุลเพื่อลดระยะการเบรกอย่างเหมาะสม และควบคุมทุกสภาวะการขับขี่

-          ระบบช่วยเบรกกระทันหัน (PBA) ระบบนี้จะตรวจจับการเบรกกะทันหัน และจะเพิ่มระดับแรงเบรกตามความต้องการ ระบบช่วยเบรกนี้จะช่วยให้ระบบเบรก ABS ทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่ารถที่ไม่มีระบบนี้ ซึ่งจะช่วยลดระยะการเบรกลงจากการที่ผู้ขับขี่เหยียบเบรกช้าไปหรือเหยียบเบรกไม่แรงเพียงพอ

-          ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESC; or StabiliTrak) ทำงานร่วมกับระบบ TCS ควบคุมการทรงตัวซึ่งปรับไปตามสถานการณ์การขับขี่โดยไม่สูญเสียสมรรถนะที่ดีไป ทำงานด้วยตัวเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงกลางตัวรถคอยจับทิศทางของเพลาล้อในแนวตั้ง ร่วมกับเซ็นเซอร์ของพวงมาลัยที่ตรวจจับการหมุนของแกนพวงมาลัย ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปควบคุมระบบเบรกของล้อทั้งสี่แยกส่วนกัน และลดพละกำลังลง เพื่อให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้อย่างมั่นคง

ระบบนี้จะสั่งงานให้รถป้องกันการสูญเสียการควบคุมทุกรูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับสภาวะการขับขี่ ซึ่งอาจจะสั่งงานให้ระบบเบรกทำงานหนึ่งล้อ สองล้อ หรือสามล้อพร้อมกันได้ และหากจำเป็นก็อาจจะลดการทำงานของลิ้นปีกผีเสื้อเพื่อชะลอความเร็วรถลงด้วยเช่นกัน

ระบบ ESC ยังมีระบบช่วยเสริมการทำงาน ได้แก่

-          ระบบควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์ป้องกันการลื่นไถล ช่วยป้องกันไม่ใช่ล้อเกิดการล็อกจากแรงเบรกของเครื่องยนต์บนพื้นผิวถนนลื่นเพราะผู้ขับขี่ถอนเท้าออกจากคันเร่ง หรือเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำอย่างกะทันหัน เมื่อล้อที่ขับเคลื่อนอยู่นั้นเกิดการลื่นไถล ระบบควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์จะส่งสัญญาณไปยังตัวควบคุมเครื่องยนต์เพื่อให้เพิ่มแรงบิดขึ้น ทำให้ล้อที่ลื่นไถลนั้นหมุนไปในอัตราที่เหมาะสมกับความเร็วของตัวรถ

-          ระบบสร้างสมดุลขณะเบรกในโค้ง (CBC) จะทำงานเมื่อเกิดการเบรกในโค้ง ระบบแรงดันเบรกแต่ละล้อจะสร้างสมดุลให้ตัวรถมีเสถียรภาพต่อไป ลดสภาวะล้อหลังเสียการควบคุม (Oversteer) หรือหน้าดื้อโค้ง (Understeer)

-          ระบบชดเชยแรงดันน้ำมันเบรก (HBFA) เพิ่มแรงดันเบรกโดยอัตโนมัติเพื่อชดเชยในกรณีที่เบรกลดประสิทธิภาพลงจากการเบรกด้วยความแรงบ่อยครั้งติดต่อกัน

ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ เมื่อลงทางลาดชัน (HDC) เพิ่มความนุ่มนวลและการควบคุมอย่างง่ายดายขณะลงทางลาดชันที่มีพื้นผิวขรุขระ โดยที่ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องแตะเบรกแต่อย่างใด ด้วยการกดสวิทช์บนคอนโซลระบบนี้ก็จะทำงานร่วมกับ ABS ในการควบคุมความเร็วของแต่ละล้อ และหากตัวรถไหลลงด้วยความเร็วโดยที่ผู้ขับไม่ได้เหยียบคันเร่ง ระบบนี้ก็จะสั่งการให้เบรกทำงานโดยอัตโนมัติให้ตัวรถช้าลงทันที

-          ระบบระบบควบคุมป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางลาดชัน  (HSA) ช่วยป้องกันไม่ให้ตัวรถไหลถอยหลังเมื่อต้องจอดบนทางลาดชัน มีการทำงานที่คล้ายคลึงกับการใช้เบรกมือขณะช่วยออกตัวเหมือนที่หลายคนคุ้นชิน ระบบนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อรถต้องออกตัวบนทางลาดชันระดับ 3 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นขึ้นไป โดยช่วยให้รถอยู่นิ่ง ไม่ไหลถอยหลังเป็นระยะเวลา 2 วินาทีหลังจากผู้ขับขี่ปล่อยเบรก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่เหยียบคันเร่งและออกตัวได้อย่างปลอดภัย เทรลเบลเซอร์ ถือเป็นรถเอสยูวีขนานแท้ที่อัดแน่นด้วยคุณสมบัติเด่นที่ลูกค้าต้องการ ทั้งพละกำลัง สมรรถนะ ความกว้างขวาง ความประณีต ความอเนกประสงค์ ความแข็งแกร่ง ความทนทาน ความประหยัด และความสะดวกสบาย ทั้งหมดอยู่ในรถคันนี้

* grandprixgroup.com *




Create Date : 20 กรกฎาคม 2555
Last Update : 20 กรกฎาคม 2555 10:08:30 น. 0 comments
Counter : 9249 Pageviews.

angelica0819
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add angelica0819's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.