บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 

=> ประหยัดอย่างมหาเศรษฐี‏

"คาร์ลอส สลิม" สามารถใช้เงินนาทีละ 35,000 บาทได้ไปอีกร้อยปี แต่เขากลับคิดแล้วคิดอีกเวลาต้องจ่ายเงิน และก็ไม่ใช่เขาคนเดียวที่คิดและทำแบบนี้


ยังมีมหาเศรษฐีในโลกนี้อีกหลายคนที่ไม่ได้ทำตัวฟู่ฟ่าหรือแสดงฐานะอะไรมากมาย แถมยังเก็บออมเงินอย่างแปลกๆ อีกต่างหาก ซึ่งวิธีใช้ชีวิตของบรรดามหาเศรษฐี อาจให้แง่คิดแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นเศรษฐีจำนวน 6,864,605,142 คน บ้างก็ได้ เริ่มจากหลักง่ายๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย คือ การสร้างบ้านให้ธรรมดา เพราะแม้มหาเศรษฐีจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างหรูหราในแมนชั่นที่สุดแสนจะพรรณาและมหาเศรษฐีหลายคนก็ทำเช่นนั้น


ขณะที่บิล เกตส์ มีแมนชันขนาด 66,000 ตารางฟุต มูลค่า 147.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4,000 ล้านบาท ในเมืองเมดินา วอชิงตัน แต่มหาเศรษฐีสุดมัธยัสถ์อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ เลือกที่จะอยู่ในบ้านแบบเรียบง่าย โดยเขายังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านขนาด 5 ห้องนอนหลังเดิมในเมืองโอมาฮา อันเป็นหลังที่เขาซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2518 ในราคา 31,500 ดอลลาร์ หรือเกือบล้านบาท


และแม้ว่านิตยสารฟอร์บส์จะระบุว่าคาร์ลอส สลิม มีทรัพย์สินมหาศาล 60,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,878,600 ล้านบาท และรวยถึงขนาดที่สามารถใช้เงินนาทีละ 1,150 ดอลลาร์หรือกว่า 35,000 บาท ไปอีก 100 ปี กว่าทรัพย์สินจำนวนที่มีในปัจจุบันจะหมด แต่มหาเศรษฐีคนนี้ ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมกับที่เคยอยู่มาเป็นเวลากว่า 40 ปี


นอกจากมีบ้านธรรมดาๆ แล้ว มหาเศรษฐีผู้นิยมการประหยัด อย่างจอห์น คอดเวลล์ ชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งบริษัทมือถือ Phones 4U, เดวิด เชอริงตัน อดีตศาสตราจารย์ภาควิชาคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้แนะนำลาร์รี เพจแก่นายทุนจนได้หุ้นกูเกิลจำนวนหนึ่งมาเป็นรางวัล ทั้งยังทำโครงการธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์มากมาย, ชัค ฟีนีย์ นักธุรกิจอเมริกันผู้ก่อตั้งร้านค้าปลอดภาษี ล้วนเป็นคนรวยที่ชื่นชอบการเดิน ขี่จักรยาน และใช้บริการขนส่งมวลชนในการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในเมือง ทั้งที่บุคคลระดับมหาเศรษฐีเหล่านี้สามารถนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปประชุมระหว่างมื้อกลางวัน หรือนั่งรถเบนท์ลีย์พร้อมคนขับโก้หรูอย่างสบายๆ




แต่พวกเขาก็เลือกวิธีที่จะได้ออกกำลังกายนิดหน่อยและใช้ประโยชน์จากขนส่งสาธารณะ ซึ่งพฤติกรรมนี้ดีทั้งต่อเงินในบัญชีและสิ่งแวดล้อม


รายของฟีนีย์นั้น มัธยัสถ์ถึงขั้นใส่นาฬิกาเรือนละ 15 ดอลลาร์ หรือประมาณ 500 บาท นั่งรถโคช และไม่มีแม้แต่บ้านหรือรถยนต์ของตัวเอง


ชื่อของฟีนีย์อาจไม่เป็นที่คุ้นหูเพราะเขาไม่ชอบแสดงตัว เห็นได้จากในช่วงแรกที่เขาเริ่มบริจาคเงินเพื่อการกุศล ก็ทำแบบเงียบๆ โดยเขาบริจาคเงินไปแล้วกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ (124,000 ล้านบาท) ผ่านมูลนิธิที่เขาตั้งขึ้นด้วยหุ้นของบริษัทตัวเอง


ขณะที่เหล่าเซเลบสวมรองเท้าคู่ละ 700 ดอลลาร์และหิ้วกระเป๋าที่แพงมากกว่ารายได้ในรอบหลายปีของบางคนในประเทศโลกที่ 3 ฟีนีย์ตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมาย เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะใช้ถุงพลาสติกเป็นที่ใส่เอกสารและใช้บริการรถไฟใต้ดิน


แค่ลดรายจ่าย รายรับก็เพิ่ม


สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้อีกจากพฤติกรรมของมหาเศรษฐี คือซื้อเสื้อผ้าธรรมดาๆ เพราะขณะที่คนบางจำพวกลืมคำนึงถึงเงินในกระเป๋าและราคาของสินค้า แต่กลับทุ่มความสนใจไปกับการสวมใส่เสื้อผ้า-รองเท้ายี่ห้อดังนั้น มหาเศรษฐีผู้มัธยัสถ์บางคนมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยยากหรือเงินที่ต้องเสียไป ด้วยเหตุนี้ เชอริงตันจึงแต่งตัวง่ายๆ ด้วยกางเกงยีนส์และเสื้อยืด หรืออย่างรายของ อิงค์วาร์ คัมปรัด ผู้ก่อตั้งบริษัทเฟอร์นิเจอร์ Ikea ก็เลี่ยงการสวมสูท เช่นเดียวกับคอดเวลล์ซึ่งซื้อเสื้อผ้าธรรมดาแทนที่จะหมดเงินไปกับเสื้อผ้ายี่ห้อดัง


นอกจากนั้น มหาเศรษฐีอย่างคอดเวลล์และเชอริงตัน ยังเลือกตัดผมเองด้วย อาจเพราะไม่อยากเสียเวลาไปร้านตัดผมหรือขยาดค่าตัดผมที่สูงของร้านสมัยใหม่


ในเรื่องการใช้รถนั้น แม้มหาเศรษฐีอย่างลาร์รี เอลลิสัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออราเคิล เพลิดเพลินกับการใช้เงินไปกับรถยนต์ เรือ และเครื่องบิน แต่มหาเศรษฐีคนอื่นเลือกใช้พาหนะธรรมดา อย่างจิม วอลตันแห่งตระกูลวอลมาร์ท ร้านค้าชื่อดังของสหรัฐ เลือกขับรถกระบะที่ใช้มานาน 15 ปี ส่วนอาซิม เปรมจิ มหาเศรษฐีนักธุรกิจอินเดีย ก็ขับรถโตโยต้าโคโรลลา ขณะที่คัมปรัดแห่ง Ikea ขับรถวอลโว่ที่ใช้มานาน 10 ปี


แนวคิดง่ายๆ
ในเรื่องนี้คือ "ซื้อรถที่ไว้ใจได้ และใช้จนกว่าจะพัง" โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรถวันละคัน

สิ่งที่อาจสร้างความประหลาดใจแก่บางคน คือการที่ คาร์ลอส สลิม มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก ไม่มีเรือยอชต์หรือเครื่องบินส่วนตัว อาจเป็นเพราะสลิมยึดหลักที่ว่า "เพียงลดรายจ่าย รายรับก็จะเพิ่มขึ้น"ในทำนองเดียวกัน มหาเศรษฐีหลายคนก็เลือกที่จะไม่ครอบครองสิ่งหรูหรา อย่างบัฟเฟตต์ที่หลีกเลี่ยงสิ่งของฟุ่มเฟือย


สรุปแล้วสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากพฤติกรรมของบรรดามหาเศรษฐีติดอันดับโลก คือนิสัยของการใช้จ่ายอย่างประหยัด เพราะใครเลยจะทราบว่าบางทีความเป็นคนมัธยัสถ์นี่เองที่อาจมีส่วนช่วยให้มหาเศรษฐีเหล่านี้ สร้างเสริมฐานะจนร่ำรวยขึ้นมาถึงขนาดนี้ได้ และดูไปแล้วมหาเศรษฐีบางคนก็เลือกที่จะไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นจริงๆ


เมื่อมหาเศรษฐีทำได้ คนที่ไม่ใช่เศรษฐีอีกจำนวนมากในโลกนี้ก็น่าจะทำได้เช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของการเลิกใช้จ่ายสิ่งที่เป็นส่วนเกินความจำเป็น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้สามารถกระทำได้ ไม่ว่าคุณจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม และเมื่อฝึกหัดจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะเห็นว่าหนทางสู่ความเป็นเศรษฐี หรืออย่างน้อยก็สร้างความพอเพียงให้แก่ตัวเองและครอบครัวนั้น ไม่ไกลเกินเอื้อมจริงๆ


(เรียบเรียงจากอินเวสโทปิเดีย)




 

Create Date : 13 กันยายน 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 13:30:13 น.
Counter : 451 Pageviews.  

=> อยากได้อะไรให้เก็บเงินซื้อ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คอยติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่จะได้ยินอยู่เสมอ ก็คือปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่ได้ส่งผลกระทบทั่วโลก ที่ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาติไหนๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวกันไปทั่ว หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วเมื่อใดเศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งไม่มีใครสามารถยืนยันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถรับมือกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ได้ นั่นก็คือการหันมาสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง




หากใครที่กำลังพบว่าตนเองมีหนี้สินเนื่องจากการซื้อของด้วยเงินอนาคต อาทิ บัตรเครดิต การผ่อนของรายเดือนด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% คุณควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินเสียใหม่ เพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สำหรับฉบับนี้ เราขออนุญาตนำเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยด้วยการ หันมาใช้เงินสดในการซื้อของ ซึ่งคำแนะนำนี้จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้คุณไม่ก่อหนี้สินให้กับตนเองได้


ก่อนอื่นต้องยอมรับกันว่าในปัจจุบัน กลยุทธ์ทางการตลาดของสินค้าจำพวกไฮเทคทั้งหลายนั้น ต่างก็มีวิธีการจูงใจที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ พีดีเอโฟน เครื่องเล่น เอ็มพี3 ไอพอด กล้องดิจิตอล คอมพิวเตอร์โน๊ตบุค หรือแม้กระทั่งแพคเกจท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น โดยเรามักถูกจูงใจด้วยข้อเสนอผ่อนชำระรายเดือน ประเภทดอกเบี้ย 0% ซึ่งหากมองผิวเผินแล้วดูเหมือนว่าเราไม่ได้เสียอะไรเลย เพราะเป็นการซื้อสินค้าเงินผ่อนโดยไม่เสียดอกเบี้ย


แต่ในความเป็นจริงแล้วข้อเสนอแบบนี้นับเป็น กลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยล เพราะสามารถสร้างความรู้สึกให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองสามารถซื้อสินค้าราคาแพงได้โดยไม่ต้องใช้เงินก้อน และรู้สึกว่าเป็นรายจ่ายที่ไม่ได้หนักหนาจนเกินไป ตัวอย่างเช่น คุณอยากได้กล้องดิจิตอล ราคา 15,000 บาท ซึ่งหากจ่ายเป็นเงินก้อนก็จะรู้สึกว่าแพงมาก และอาจจะไม่มีเงินเก็บมากพอในขณะนั้น แต่เมื่อได้รับข้อเสนอให้ผ่อน 0% เป็นเวลา 6 เดือน ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงเหลือเพียงเดือนละ 2,500 บาท ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นตัวเลขที่สามารถจ่ายได้ และในที่สุดก็จะเกิดการก่อหนี้ให้กับตนเอง อีกทั้งยังเพิ่มภาระในการผ่อน ค่างวดไปหลายเดือน ซึ่งเงินแต่ละงวดที่หมดไปกับการผ่อนนี้ สามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นได้เลยทีเดียว


ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ด้วยเงินผ่อน ควรหันกลับมาคิดทบทวนให้ดี หากอยากได้จริงๆ ขอแนะนำให้เก็บเงินซื้อ และพยายามอย่าสร้างภาระให้กับตนเองเด็ดขาด ให้คิดเสียว่าเก็บเงินเพียงไม่กี่เดือน เดี๋ยวก็ได้ของชิ้นนั้นแล้ว และเมื่อถึงเวลานั้น กล้องดิจิตอลรุ่นที่คุณอยากได้ ก็อาจจะตกรุ่นไปแล้ว ทีนี้คุณยังมีโอกาสที่จะได้เลือกซื้อของรุ่นใหม่กว่า ด้วยลูกเล่นการใช้งานที่เพิ่มมากกว่าเดิม แถมไม่ต้องเป็นหนี้อีกด้วย หรือให้คิดง่ายๆ ว่า หากคุณไม่ซื้อของชิ้นนั้นเลย ก็เท่ากับว่าคุณก็ไม่ได้เสียเงินเลยสักบาท


สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณไม่ก่อหนี้สินให้กับตนเองได้ นั่นคือการยับยั้งชั่งใจ และพึงระลึกไว้เสมอว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐค่ะ อีกอย่าง ถ้าคนไม่เคยเป็นหนี้จะไม่รู้หรอกค่ะ ว่าการมีหนี้และต้องถูกตามทวงหนี้นั้น ทรมานแสนสาหัสเช่นไร





 

Create Date : 17 สิงหาคม 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 14:03:03 น.
Counter : 1276 Pageviews.  

=> “โรคจน” ปัญหาสุขภาพจิต

คติทางพุทธศาสนา กล่าวว่า ความสุขของคฤหัส เกิดแก่ การมีทรัพย์ การบริโภคใช้จ่ายทรัพย์ การไม่เป็นหนี้ การประกอบอาชีพไม่เป็นโทษ และถือว่าความยากจน เป็นทุกข์ในโลก แต่ทุกข์จากความยากจน ก็ไม่เท่าทุกข์จากการเป็นหนี้


คนที่เกิดมาในครอบครัวกลางๆ หรือค่อนข้างต่ำ กว่าจะสามารถสร้างตัวให้กลายเป็นคนร่ำรวยได้ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการเป็นอย่างน้อยได้แก่ เก่ง ขยัน ประหยัด


ให้เก่งแค่ไหน ขยันอย่างไร ถ้าขาดการประหยัด ไม่มีทางรวยได้ คนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีอยู่ได้จนทุกวันนี้ เพราะยึดมั่นในหลักการที่ว่า "รายได้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่รายเหลือ"


ส่วนต้นตอของโรคจนมีอยู่เพียง 2 ทางคือ


1.ไม่มีรายได้ เพราะไม่ได้ทำงาน หรือทำงานไม่ได้


2.รายจ่ายมากกว่ารายรับ


คนที่มีความยุ่งยากทางการเงินอยู่เป็นประจำนั้น ประสบการณ์ในวัยเด็กมักไม่สมหวังทางด้านวัตถุ อยากได้สิ่งซึ่งตามความเป็นจริงแล้วไม่ควรได้ มักคิดว่าคนอื่นๆ ร่ำรวย สุขสบายกว่าตนเองเสมอ ขาดความรู้สึกมั่นคง ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความสุข ทั้งในชีวิตครอบครัวและการงาน ไม่พอใจชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งในด้านส่วนตัว ความรัก กามารมณ์ รู้สึกหงอยเหงา ว้าเหว่ ชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของเงิน




ตรงข้ามกับคนที่มีเงินพอใช้ จะเป็นฝ่ายบังคับเงินได้มากกว่าปล่อยให้เงินบังคับ ถ้าอยากได้อะไรสักอย่าง ถ้ารู้สึกว่าแพงเกินกำลัง ก็ใช้เวลาในการเก็บสะสมทรัพย์ จนหมดความอยากไปเอง


ไม่เหมือนกับคนที่มีปัญหาทางการเงิน ถ้าอยากได้อะไรจะซื้อมาก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาเอาทีหลัง แรงจูงใจที่อยากได้ แรงเกินกว่าที่จะบังคับควบคุมได้


จากการศึกษาพบว่า คนเหล่านี้มีความกลัว วิตกกังวล และหวาดหวั่นสูง มีอาการเจ็บป่วยทางกาย ที่มีสาเหตุมาจากทางใจสูงกว่าคนทั่วไป
คนที่ป่วยเป็นโรคจนเรื้อรัง โดยเฉพาะที่ไม่ได้ติดต่อมาจากบรรพบุรุษ แต่เป็นเพราะแรงจูงใจให้จับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษนั้น ปกติมักเป็นคน ที่ไม่มีความสามารถสร้างความรู้สึก ที่มีคุณค่า มีราคา มีความสำคัญ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองได้ จึงใช้จ่ายเงินทอง เป็นอย่างมากเพื่อ


1.ซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งให้ตัวเองมีค่า มีราคา


2.ซื้อหาเพื่อนพ้องบริวาร มาคอยห้อมล้อม ยกยอปอปั้นตัวเอง ยามใดที่ขาดแคลน นอนแขม่วท้องตาปรอยมองเพดานรำพึงรำพัน


เมื่อมั่งมีมาก มิตรมาหมายมอง

เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา

เมื่อไม่มีมวลมิตรไม่มองมา

เมื่อมอดม้วยแม้หมูหมาไม่มามอง


3.ปรนเปรอตัวเอง คนจนประเภทนี้ ให้ความรู้สึกน่าสงสารเวทนา มักเริ่มจากแผลที่พ่อแม่ฝากไว้ในหัวใจ พ่อแม่ร่ำรวย แต่บ้างาน มัวแต่หาเงิน ไม่เอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดลูก ใช้เงินแทนความรัก เมื่อโตขึ้นหาเงินได้ ก็ใช้เงินเป็นทาสปรนเปรอความสุขให้กับตัวเอง และมักฝังใจว่าในโลกนี้ ไม่มีใครรักตัวเองจริงมากเท่ากับตัวเอง จึงเอาใจใส่ตัวเองเป็นอย่างดี เขาว่าอะไรดี อะไรใหม่ อะไรสวย ก็ไปซื้อหามา อะไรอร่อย ที่ไหนสนุกก็บากบั่นไปหา เพื่อนเขาเป็นอยู่อย่างไรต้องไม่ให้น้อยหน้า มีเงินเท่าไหร่ใช้จนหมด หลายคนคงได้ยินว่า


•ทำไมคนทำงานธนาคารจึงเป็นหนี้แขกยาม

•ทำไมภารโรงจึงมีเงินให้ครูกู้กินดอก เนื่องจากแรงจูงใจให้ใช้จ่ายสูงกว่า ความอดทนต่อความอยากได้ อยากเป็น อยากมี ผลก็คือ ยากจนกว่า ทำให้สุขภาพจิตเสียมากก็ใช้จ่ายมาก จ่ายมากก็จนมาก

•สูตรความจนมีอยู่ว่า คนจนทำรวยยิ่งจน คนรวยทำจนยิ่งรวย คนจนทำจนยิ่งไม่รวยก็สุขได้


แต่ก็อุตส่าห์มีคนทักท้วงว่า เกิดมาชาตินี้ขอเป็นคนจนดีกว่า เพราะเป็นมาจนเคยชินเสียแล้ว เกิดร่ำรวยปุบปับ ปรับตัวไม่ทัน อาจเป็นบ้าเอาง่ายๆ เพราะอย่างน้อยคนจนดีกว่าคนรวยอยู่หนึ่งอย่างคือ


คนรวยไม่กลัวรวยแต่กลัวจน ส่วนคนจนไม่กลัวทั้งจน ไม่กลัวทั้งรวย


แหล่งข้อมูล : //www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 27 กันยายน 2545




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 14:17:26 น.
Counter : 616 Pageviews.  

=> จาก กบช. ถึง กอช.

จาก กบช. ถึง กอช.


คอลัมน์ :ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย นวพร เรืองสกุล

nawasuvapoaporn@gmail.com



ความคิดว่าทุกคนควรมีเงินออมไว้ใช้ในวัยที่ไม่ทำงานแล้ว ทำให้ทางราชการหาลู่ทางนำคนทั้งหมดของประเทศเข้าสู่ระบบการออมเพื่อตนเอง


คนที่ออมอยู่บ้างแล้วคือ


(1) ข้าราชการ ออมทางอ้อมผ่านการได้เงินเดือนต่ำกว่าทางภาคเอกชน แลกกับการได้รับบำนาญที่แน่นอนตลอดชีพ และออมทางตรงผ่านโครงการของ กบข. (กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ) ที่คืนเป็นเงินก้อนตอนเกษียณหรือลาออกจากราชการ


(2) พนักงานในบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่เจ้าของบริษัทมองการไกลเพื่อลูกจ้าง มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงอาชีพ ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับคืนเป็นเงินก้อนเมื่อพ้นจากงาน


(3) ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีเงินกองทุนเพื่อการชราภาพ ที่ได้คืนเป็นเงินบำนาญจำนวนแน่นอนไปตลอดชีพ


(4) ประชาชนทั่วไปที่สนใจเก็บออมเงินสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) ได้ โดยรับคืนเป็นเงินก้อนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข


ทั้งหมดข้างต้นนี้ คนที่ดูเหมือนจะตกออกนอกขอบของการออมคือคนที่มีรายได้ไม่มากนัก ไม่เห็นประโยชน์ทางภาษีจากการออมตามข้อ 4 อาจจะไม่มีเงินออมขั้นต่ำต่อปีเท่าที่กฎหมายกำหนด และไม่รู้จักว่าจะไปซื้อกองทุนรวมได้ที่ใด


กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นความคิดที่ดีที่อยากจะให้คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามข้อ 3 ได้มีสิทธิมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 2 ทุกคน แต่มีโจทย์ใหญ่ว่าใครจะบริหารจัดการเงินก้อนโตนี้ จะบริหารโดยกองกลาง (เป็น กบข. ภาคเอกชน) หรือบริหารแบบตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อยๆ ขึ้นมาอีกหลายๆ กอง


โจทย์สำคัญที่ยังไม่ได้ตอบอีกข้อก็คือ แล้วจะทำยังไงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่แล้ว จะจับทุกคนไปรวมกันหมดเป็นภาคบังคับ แล้วบริหารรวมกัน


หรือวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ ตั้งกองเฉพาะคนที่อยู่ในประกันสังคมแต่ไม่ยอมอยู่หรือยังไม่ได้อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปัจจุบันเท่านั้น แค่นี้ก็ครอบคลุมเป้าหมายได้หมดแล้ว แต่ทำแบบนี้ตอนตั้งต้นเงินจะน้อย ไม่เหมือนกับปันเงินบางส่วนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปัจจุบันเข้าไปรวม




พูดเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องเทคนิคเกินไป และปัจจุบันนี้เรื่องนี้ก็เงียบๆ ไป จึงยังไม่จำเป็นต้องดูรายละเอียด


มาดูกองต่อไปกันดีกว่า คือกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)


หลักการของ กอช.คือ ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากจนหรือมีรายได้น้อยแค่ไหน ก็ควรมีเงินออมเพื่อการชราภาพด้วย (คล้ายที่กลุ่มประกันสังคมมี) โดยเป็นการออมร่วมกัน คือออมเองส่วนหนึ่ง รัฐบาล (ส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น หรือทั้งสองส่วน) จ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่ง เมื่อตอนสูงอายุ ก็จะได้เงินไปเรื่อยๆ แบบเงินบำนาญ


เงินก้อนนี้ที่เก็บออมไว้แต่เนิ่นๆ ควรจะทำให้ได้เงินตอนสูงวัยมากกว่าเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคน ต่อเดือนที่รัฐบาลจ่ายอยู่เวลานี้


การทำเรื่องนี้ให้ได้ผล ต้องคิดถึงการลงทุนเพื่อให้เงินที่ออมไว้งอกเงยขึ้นมามากๆ และรัฐบาลเองต้องรับภาระความเสี่ยงที่ได้สัญญาไว้ว่าจะจ่ายบำนาญ


ถ้าหากลงทุนไม่ได้เงินพอจ่ายรายเดือนตามที่สัญญาไว้ หรือว่ามีเหตุบางประการเกิดขึ้นทำให้การหาเงินผิดแผน เช่น เก็บเงินได้ไม่ครบถ้วน ระบบทะเบียนไม่ดี ไม่รู้ว่าใครจ่าย ใครไม่จ่าย หรือใครตายไปแล้ว แต่ยังรับเงินอยู่ ความเสียหายต่างๆ เหล่านี้ตกเป็นภาระของรัฐบาลที่ไปสัญญาจำนวนเงินบำนาญรายเดือนไว้


แต่ถ้าท้อใจกับความเสี่ยงนี้แล้วรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ก็เจอกับความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง คือ การเลี้ยงดูผู้สูงวัยที่ไม่ใส่ใจเก็บออมเงินเพื่อตนเองตกเป็นภาระของรัฐเพียงฝ่ายเดียวในอนาคต ซึ่งถ้ารัฐรับภาระไม่ไหว คุณภาพชีวิตของคนในสังคมก็คงจะเสื่อมลงๆ


แนวคิดที่พอเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาสุดโต่งสองด้านนี้คือ พยายามปรับปรุงการบริหารจัดการให้ในที่สุดได้ผลใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ว่า ทุกคนต้องมีส่วนออมเงินของตนเองเพื่อความต้องการใช้เงินในวัยชราของตนเอง โดยรัฐมีส่วนช่วยสมทบบ้างหรือถ้าไม่สมทบเลย ก็ยังต้องเป็นผู้ควบคุมกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนและการเบิกจ่ายเงิน เพราะว่าเงินของแต่ละคนเป็นเงินรายเล็กรายน้อย ทุกคนไม่มีความรู้ความสามารถจะดูแลเงินลงทุนของตนเองได้


รัฐบาลในหลายประเทศได้พยายามตอบโจทย์ข้อนี้กันด้วยวิธีการบริหารจัดการโครงการแบบต่างๆ กัน แต่คงวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการไว้คือ


(1) ผู้กำลังอยู่ในวัยทำงานต้องออมเองด้วยส่วนหนึ่ง


(2) เงินออมนี้เพื่อใช้ในวัยเกษียณ และใช้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ได้เป็นเงินก้อน แล้วหมดไปตั้งแต่วันแรกๆ ที่ได้เงินคืน


เมื่อเวลาผ่านไป แต่ละระบบก็ปรับปรุงระบบของตนเองเพื่อปิดช่องโหว่ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น


ของไทยเราเอง กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ยังไม่ได้เริ่ม แต่แนวคิดยังอยู่และพัฒนามาเป็นกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)


กอช.ยังคงแนวคิดหลักคือ (1) ทุกคนต้องออมเพื่อตน (2) รัฐสมทบบางส่วน แต่ไม่มีการสัญญาว่าผู้ออมแต่ละคนจะได้เงินขั้นต่ำเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นเงินรายเดือนหรือว่าเงินผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน


กองทุนนี้ตั้งใจให้มีการออมเกิดขึ้น โดยรัฐช่วยบริหารจัดการให้ ส่วนที่มีการถกเถียงกันมากในการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ไม่ใช่อยู่ที่แนวคิดหลัก แต่อยู่ที่วิธีบริหารจัดการอย่างน้อยใน 3 ด้านคือ


(1) จะบริหารฐานข้อมูลอย่างไร ให้ถูกต้อง รวดเร็ว และราคาถูก


เรื่องนี้สำคัญ เพราะจะทำให้รู้ว่าใครส่งเงินเท่าใด ใครส่ง ใครไม่ส่ง ใครมีสิทธิเริ่มรับเงินคืน ใครได้เงินผลประโยชน์คืนเท่าใด ใครตายไปแล้ว


(2) จะบริหารจัดการเงินอย่างไรให้ได้ผลประโยชน์ดีพอสมควร


การบริหารออมระยะยาว เป็นอาชีพเฉพาะ ต้องการผู้บริหารที่ใจมั่นคง ตัดสินใจโดยอิงหลักการ ไม่อิงกระแส หรือแรงกดดันต่างๆ ในระยะสั้น แต่กองทุนยิ่งมีเงินมากเท่าใดยิ่งโดนแรงกดดันอื่นๆ มาสมทบ ด้านหนึ่งคือกังวลกับการถูกแทรกแซงด้วยการเมืองให้ไขว้เขวไปจากหลักการจัดการที่ดี อีกด้านหนึ่งคือห่วงกังวลกับเสียงเรียกร้องของสมาชิกผู้รับประโยชน์ที่ห่วงเงินของตัวเอง แต่ไม่รู้เรื่องการลงทุนระยะยาว ทำให้มองระยะสั้นๆ


(3) จะให้เงินคืนกับสมาชิกอย่างไร คืนเป็นเงินก้อนตอนครบอายุออม หรือว่าคืนเป็นงวดๆ เพื่อให้มีเงินใช้ไปจนตาย


เรื่องสุดท้ายนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญ คำตอบต้องเป็นการคืนเป็นงวดๆ เท่านั้น ไม่ควรคืนเป็นเงินก้อนตอนเกษียณ เพราะเท่ากับเป็นการล้มหลักการทั้งหมดของการออมเพื่อใช้ในวัยชราเลยทีเดียว แต่จะคืนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


แบบหนึ่งคือ ทยอยคืนเป็นงวดๆ เช่น 10 ปี ในระหว่างนั้นก็หาผลประโยชน์จากเงินที่เหลือให้ด้วย


อีกแบบหนึ่งคือคืนแบบบำนาญ หากกองทุนไม่ต้องการรับภาระ ดังที่เคยเป็นปัญหาที่ยกขึ้นมากรณีกองทุนบำนาญ ก็อาจจะต้องมีเงื่อนไข และการเตรียมความพร้อมบริษัทประกันเอาไว้ ให้มีกรมธรรม์ที่เหมาะสม ในเรื่องวิธีการจ่ายคืน และค่าเบี้ยประกัน เพื่อให้ผู้ออมโอนเงินจากกองทุนเงินออม ไปหาบริษัทประกัน แล้วบริษัทประกันเป็นผู้จ่ายคืนเป็นเงินบำนาญให้กับผู้ลงทุนอีกทอดหนึ่ง


มีคนพูดกันเรื่องการบริหารเงินกองทุนกันมากแล้ว บ้างก็ว่าให้จ้างเอกชนแยกกันบริหารบ้างก็ว่าให้ตั้งสำนักงานบริหารเงินเอง เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่รอได้ และไม่มีผลมากนักในการออกแบบระบบ เท่ากับเรื่องการจัดการด้านการส่งเงินเข้ากองทุน




การจัดการด้านข้อมูลและการนำส่งเงินเป็นเรื่องสำคัญตรงที่ว่า ถ้าบริหารจัดการตรงนี้ไม่ดี ข้อมูลที่ถูกต้องก็ไม่มี หรือถ้าจัดการได้แต่แพงมาก เงินที่จะหาได้จากการลงทุนก็จะถูกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน และการบริหารข้อมูลกินไปหมด


นึกถึงวิธีง่ายๆ ได้วิธีหนึ่ง ที่จะแก้ปัญหาทั้งข้อ 1 (ทำให้ข้อมูลถูก ดี และเร็ว) และข้อ 2 (ลงทุนได้โดยสมาชิกของกองทุนไม่เอะอะโวยวายเอากับผลการลงทุนที่บางปีอาจจะขาดทุน บางปีอาจจะได้กำไรมาก)
จะเป็นไปได้ไหมที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรฯ เป็นผู้รับฝากเงินรายบุคคล เป็นบัญชีห้ามถอนจนกว่าจะเกษียณ และเมื่อถึงเวลาก็ถอนได้โดยกำหนดจำนวนเงินที่จะถอนได้แต่ละปีอย่างชัดเจน อัตราผลตอบแทนของบัญชีนี้กำหนดให้ได้เท่ากับอัตราสูงสุดที่ธนาคารจ่ายให้กับนักลงทุนสถาบัน


ทำเช่นนี้ไม่ต้องทำทะเบียน เพราะธนาคารแต่ละแห่งมีระบบอยู่แล้ว


ทำเช่นนี้ไม่ต้องคิดตามว่าเจ้าของเงินอยู่ที่ไหน อายุเท่าใด นำส่งเงินเท่าใด เพราะสมุดบัญชีเงินฝากยืนยันด้วยตนเองอยู่แล้ว และเจ้าของเงินก็รู้ว่ามีเงินอยู่ในบัญชีเท่าใด


ทำเช่นนี้ไม่ต้องห่วงว่าเงินต้นจะหาย เพราะแต่ละคนคงมีเงินออมตลอดอายุไม่เกินการค้ำประกันเงินฝาก และไม่ต้องห่วงว่าบุคคลทั่วไปจะนำส่งเงินไม่ได้ เพราะธนาคารมีอยู่ทั่วไป และธนาคารออมสินเองก็เคยไปรับฝากเงินถึงในโรงเรียน เดินเก็บเงินในตลาดก็เคยทำมาแล้ว


อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดก็ไม่เกินกว่าเหตุ และเมื่อพูดถึงการฝากเงินไว้กับธนาคาร ปกติกองทุนต่างๆ ที่มีการบริหารจัดการอยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นกองทุน กบข. หรือกองทุน สปส. ก็มีส่วนหนึ่งฝากไว้เป็นเงินฝาก


เมื่อเงินออมในธนาคารใดรวมกันแล้วเกินจำนวนหนึ่ง รัฐบาลก็อาจจะกำหนดโดยการหารือกับผู้บริหารกองทุนให้กำหนดสัดส่วนผลตอบแทนเพิ่มขึ้นโดยมีส่วนหนึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็ได้ เพราะปกติการลงทุนก็ทำเช่นนั้น และปกติธนาคารก็ถือพันธบัตรอยู่แล้ว จึงเท่ากับบริหารแค่กำหนดผลตอบแทน ที่เหลือมีคนทำให้ โดยทำใจไปเลยว่าไม่หวังได้กำไรจากการซื้อๆ ขายๆ พันธบัตรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนส่วนเสริม


ในส่วนเงินที่รัฐบาล (ส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นก็ตาม) จะสมทบเข้ากองทุนนั้นสามารถนำไปบริหารจัดการแบบกองทุนใหญ่ๆ ที่ลงทุนในธุรกิจหลักๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบ จีไอซี เทมาเส็ก ฯลฯ


อันที่จริงไม่อยากยกสองกองทุนนี้เพราะเราไม่ทราบว่าเขาลงทุนในอะไร และกำไรหรือขาดทุนแค่ไหน ทั้งระยะสั้นหรือระยะยาว แต่หมายความเพียงว่า การตัดสินใจการลงทุนไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวอยู่แค่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ซื้อๆ ขายๆ ได้ทุกวันเท่านั้น


ดังนั้น การบริหารส่วนของเงินของรัฐใน กอช. จึงน่าจะทำให้ตลาดทุนของไทย และการลงทุนที่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยทุนของคนไทยพัฒนาขึ้น เราไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนทุกรูปแบบในบ้านเรา ถ้าทำให้ดี เงินก้อนนี้ที่แม้จะน้อยในตอนต้น แต่นานวันเข้าจะค่อยๆ เติบโตขึ้นและจะมีประโยชน์อย่างมากต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ


ส่วนการจะนำผลประกอบการไปประชาสัมพันธ์กับผู้ออมว่าอย่างไรนั้น เป็นเรื่องสำคัญรองลงมาแล้ว เมื่อเทียบกับว่าผู้ออมได้เงินผลตอบแทนไปแล้วส่วนหนึ่งที่ดีกว่าฝากเงินด้วยตนเอง แต่ไม่ว่าจะประกาศอย่างไร ก็มีแต่ทางจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ออมที่ออมสม่ำเสมอทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าผู้จัดการกองทุนจะมีความสามารถอันมหัศจรรย์ที่ลงทุนแล้วขาดทุนจนหมดตัวได้


ข้อเสนอนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ และถ้าหากว่ามีการนำไปพัฒนาต่อจนใช้การได้ในการปฏิบัติงานจริง ผู้เขียนและผู้ร่วมคิดทุกคนก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม



ที่มา
หน้า 6 ,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 7 ก.ค. 2553

วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09:52:01 น. มติชนออนไลน์




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 15:02:01 น.
Counter : 607 Pageviews.  

=> รัฐเข็นกองทุนเงินออมฯดึงคนชราเข้าสู่ระบบ

นายกฯมอบ 5 กรอบดูแลคนชรา ประกาศเดินหน้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ ดึงคนชราเข้าสู่ระบบการออมเพื่อชราภาพ รัฐบาล-ท้องถิ่นส่งเงินสมทบ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่องทิศทางและรูปแบบการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทยในอนาคต ที่หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ สำนักงานก.พ.จังหวัดนนทบุรี และได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทย”ว่า เรื่องของการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุมีความสำคัญท้าทายสำหรับอนาคตของสังคมไทยอย่างมาก เพราะภาวะสังคมของผู้สูงอายุมีจำนวนร้อยละ 11 และอาจจะเพิ่มเป็น 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของจำนวนประชากร คล้ายกับสัดส่วนในสังคมโลกที่นำสู่ความท้าทายในการบริหารจัดการในการจัดสวัสดิการสังคม


อย่างไรก็ตาม ภาวะของความเปลื่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีการวิเคราะห์ว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงน่าจะมีผลกระทบอย่างไร ดังนั้นเพื่อให้มองเห็นว่าก่ารบริหารจัดการจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อความมีประสิทธิภาพที่ยั่งยืนนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของผ้สูงอายุและประชาชนในภาพรวม


ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนอายุยืน มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ทั้งนี้ จุดที่จำเป็นต้องตระหนักคือเมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นนั้นการจัดการต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ก่อน โดยสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการเข้าใจว่าคนแก่ในอนาคตนี่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปพ้นวัยทำงาน ไม่มีส่วนร่วมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเห็นชัดเจนว่าคนที่มีอายุ 60-70 ปีขึ้นไปหลายคนมีสุขภาพดี มีความสามารถในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมือง มีคุณค่าในการกระบวนการพัฒนาได้


"เราไม่ควรมองว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่เป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว เพราะผู้สูงอายุยังเป็นผู้ให้กับสังคมได้อย่างมาก เพราะประสบการณ์ที่สะสมมาเป็นเวลาที่ยาวนานไม่ควรมองข้าม"


ประการที่สอง ถ้ามองเรื่องของผู้สูงอายุในการเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเดียว ก็จะนำสู่ปัญหาที่หลายประเทศประสบขณะนี้ คือ สร้างระบบสวัสดิการที่ไม่ยั่งยืน เพราะอิงกับหลักคิดเดิมที่เอาเงินภาษีของคนวัยทำงานมาเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ และสุดท้ายจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมได้


ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรในสัดส่วนของกลุ่มอายุต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคม คนต่างวัย รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนแปลงชัดเจน จึงจะเห็นว่าครอบครัวขยายที่เคยอยู่ด้วยกันก็ลดลงไป และการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมที่ไม่สมดุลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมเมือง และในสังคมชนบทจะเห็นชัดเจน เพราะในชนบทหลายครั้งที่ตนไปเยี่ยมเยียนจะพบคนวัยทำงานหายไปเพราะมาอยู่ในสังคมเมืองจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้สูงอายุและเด็กอยู่ที่นั่นเป็นหลัก


นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภาคส่วนต่างๆก็เปลี่ยนแปลง เช่นกัน อาทิ ภาคการเกษตรที่เกษตรกรอายุเฉลี่ยสูงมาก ซึ่งคนที่ทำการเกษตรมาช้านาน ลูกหลานจะออกมาจากภาคเกษตรโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคเกษตรยังขาดระบบสวัสดิการ แม้กระทั่งในระบบราชการอายุเฉลี่ยของข้าราชการก็เพิ่มขึ้น จึงมีปัญหาในการดึงคนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งอายุเฉลี่ยมากกว่าตนคือเฉลี่ย 46 - 47 ปีแล้ว ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ที่เน้นผู้บริหารระดับสูงที่อายุ 20 ต้นๆเท่านั้น ทำให้เรามีความจำเป็นต้องปรับแนวความคิดและปรับรื้อหลายระบบเพื่อรองรับความท้าทาย




"ผมต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าการจัดการประเด็นนี้เราไม่ควรมองอยู่ในประเด็นที่จำกัด เช่น มุ่งไปเรื่องของการคิดว่าเราต้องมีสถานสงเคราะห์ บ้านพักคนชรามากน้อยแค่ไหน จะต้องโอนให้ท้องถิ่นดูแลได้หรือไม่ แต่เราต้องตั้งหลักให้ได้ว่าการบริหารสังคมของผู้สูงอายุจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลจะตั้งหลักดูแลปัญหานี้อย่างน้อย 5 หลัก"


นายกฯ กล่าวว่า


1. เป็นปัญหาที่ควรจะง่ายกับการบริหารจัดการถ้าเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพราะสัดส่วนประชากรสามารถพยากรณ์ทำได้แม่นยำขึ้น ว่าแต่ละปีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเท่าไรกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นไม่ควรมีข้ออ้างในการจัดการเรื่องนี้ว่าเราไม่พร้อมไม่รู้ไม่ทราบ


อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้มีกฎหมายและมีคณะกรรมการผู้สูงอายุระดับชาติที่ตนเป็นประธานดูแลโดยตรง และมีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ มีการกำหนดแนวทางวิสัยทัศน์ให้ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม ให้เขามีคุณภาพชีวิต มีกิจกรรม มีเครือข่าย มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา


2. ตระหนักถึงความรู้ ประสบการณ์ ศักยภาพของผู้สูงอายุ แทนที่จะมองว่าเป็นผู้รับ เราสามารถจัดการให้ผู้สูงอายุที่มีความพร้อมในการเป็นผู้ให้มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าและคุณค่าในเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามในส่วนนี้มีการดำเนินการหลายด้านทั้งระบบราชการและนโยบายมาตรการอื่นๆ เช่น ระบบราชการมีการปรับการเกษียณอายุราชการ และในหลายสายงานก็เปิดให้คนอายุเกิน 60 ปีรับราชการได้ จึงคิดว่าอีกหลายสายงานน่าจะเปิดผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้


ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวควรจะเกิดขึ้นในภาคเอกชนด้วย รวมทั้งท้องถิ่นควรใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุด้วย เช่น ถ่ายทอดการส่งเสริมอาชีพ การดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก อย่างไรก็ตามในระดับชาติมีโครงการคลังสมองที่ให้ผู้สูงอายุจัดเครือข่ายทำข้อเสนอแนะต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของภาครัฐด้วย


3. ต้องมีการสร้างหลักประกันเรื่องของรายได้ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมระบบสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดทิศทางเอาไว้แต่อาจไม่เข้าใจโดยทั่วกัน คือต้องการให้สังคมตระหนักว่าผู้สูงอายุมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับการดูแล สะท้อนจากการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกคน 500 บาทต่อเดือน ที่เป็นระบบที่ต้องการยืนยันหลักการนี้ และจะเห็นว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงผลกระทบการคลังด้วย เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถ้าคิดรายหัว 500x12 เดือน = รายละ 6 พันบาทต่อปี ซึ่งเรามีผู้สูงอายุ 7 ล้านคน ซึ่งอนาคตมีจำนวนมากขึ้น และนี่ยังไม่คำนึงถึงแนวโน้มการปรับเงินเพราะมีคำถามว่า 500 เพียงพอหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่า 500 บาทไม่เพียงพอ แต่นั่นไม่ใช่จุดหลักในการทำระบบสวัสดิการ เพราะรัฐบาลจะทำคือกองทุนเงินออมแห่งชาติที่ดูแลคนนอกระบบราชการและนอกระบบประกันสังคม เปิดให้คนชราเข้ามามีระบบการออมเพื่อความชราภาพได้โดยรัฐบาลจะสมทบเงินเข้าไปหนึ่งบาทท้องถิ่นสมทบอีกหนึ่งบาท เพราะระบบนี้ไม่ใช่การนำเงินภาษีมาจ่ายมาช่วยเท่านั้นแต่เจ้าตัวต้องมีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ยังในส่วนของกลุ่มชาวนา อสม. ที่คิดจะสมทบเงินของตัวเองเช่นกัน


"ถ้าเราส่งเสริมตรงนี้ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็จะเป็นส่วนเล็กๆเท่านั้น เพราะเป็นหลักประกันและส่งเสริมค่านิยมการออมในสังคมไทยด้วย และเป็นแหล่งทุนในการลงทุนในสังคมอีกทางหนึ่ง และจะเริ่มให้ท้องถิ่นมาเริ่มในการสมทบเงินให้มากที่สุด เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นท้องถิ่นยังมีบทบาทเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน เพราะมีฐานประชากรของคนในพื้นที่ แต่ระบบการจ่ายเงินที่มี 2 ทางคือธนาคารและท้องถิ่น ซึ่งวันข้างหน้าจะปรับเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น และจะไปนับเงินงบประมาณของส่วนกลางไม่ใช่ท้องถิ่น"


นายกฯ กล่าวว่า


4. แม้มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมและโครงสร้างก็ตาม เราควรยึดถือสิ่งที่เป็นจุดแข็งของสถาบันครอบครัว ต้องส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็งด้วยการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ครอบครัว ชุมชน ควรสนับสนุนให้เด็กๆดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่ต้องทำบ้านพักคนชราหรือสถานสงเคราะห์ เพราะถ้าดูแลครอบครัวด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีก็เป็นการรักษาสภาพของสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งซึ่งต้องอาศัยมาตรการหลายด้าน เช่น การดึงผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจของท้องถิ่นโดยมีค่าตอบแทน รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างวัยซึ่งสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกด้านทำให้มีช่องว่างมากขึ้น


"กรณีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่มีช่องว่างมากขึ้น เพราะเยาวชนยิ่งอายุน้อยก็จะปรับตัว เรียนรู้ด้านนี้ได้ไว ซึ่งจะสร้างช่องว่างมหาศาลในอนาคตถ้าไม่เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน เช่น หลักสูตรของสถานศึกษาที่ท้องถิ่นต้องเข้ามาจัดทำมากขึ้น เพราะรัฐบาลถอดหลักสูตรที่ไม่จำเป็นออกไปร้อยละ 30 และจัดสรเวลาการเรียนรู้จากกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะมากยิ่งขึ้นและเข้าใจสังคมมีความกลมเกลือนกับวิถีชีวิตมากขึ้น ซึ่งผมเสนอไปว่าสิ่งที่น่าทำคือการให้เยาวชนใช้เวลาส่วนหนึ่งกับคนแก่ เช่น สัก 1 ชั่วโมงให้ไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุเพื่อลดข่องว่างระหว่างวัย ด้วยการไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ และผู้สูงอายุก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ทำให้ส่งเสริมความสัมพันธ์คนระหว่างวัยมากขึ้นด้วย"


5. การบริหารจัดการต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่น ชุมชน พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเพราะมีความใกล้ชิดและน่าจะตอบสนองโดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ได้ด้วย ตัวอย่างที่ดีคือกรณีของศูนย์เด็กที่มีการถ่ายโอนงานไปให้ท้องถิ่นดำเนินการนั้น ไม่ใช่ดึงให้ส่วนกลางกลับมาบริหาร เพราะส่วนกลางจะช่วยสนับสนุนดึงภาควิชาการเข้ามาทำงานในเรื่องของการประเมินมาตรฐานและกำหนดแผนการบุคลากรไปช่วยท้องถิ่น ทั้งนี้การโอนงานศูนย์เด็กเล็กไปให้ท้องถิ่นเป็นธรรมดาที่เริ่มต้นจะมีปัญหาต่างๆ จึงอาจจะมองว่าท้องถิ่นทำไม่ได้ แต่ส่วนกลางต้องเข้าไปสนับสนุนในสิ่งที่ทำได้

อย่างไรก็ตาม งานผู้สูงอายุอาจจะมีปัญหาในการถ่ายโอนถ้าหน่วยงานที่เป็นส่วนกลางใช้แนวทางนี้เพื่อให้ท้องถิ่นจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มา รัฐเข็นกองทุนเงินออมฯดึงคนชราเข้าสู่ระบบ ; นสพ. กรุงเทพธุรกิจ : 25 มิถุนายน 2553





 

Create Date : 25 มิถุนายน 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 15:25:19 น.
Counter : 1236 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.